Skip to main content
sharethis

คุยกับเทพ บุญตานนท์ ผู้เขียนหนังสือ “ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” แกะรอยประวัติศาสตร์การปลูกฝังความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในกองทัพไทย ที่มีรุ่งโรจน์ ร่วงโรย กลับมามีบทบาทใหม่ และผลพวงของสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อค้ำจุนราชบัลลังก์ที่สืบเนื่องต่อมาจนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

  • กษัตริย์ในอดีตถูกท้าทายด้วยกองกำลังติดอาวุธอยู่เนืองนิจในสมัยที่มูลนายสามารถเกณฑ์ไพร่พลได้ สะท้อนความไม่มั่นคงในราชบัลลังก์ที่พร้อมถูกล้มได้ตลอดเวลา
  • การปฏิรูปกองทัพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทำให้กษัตริย์เป็นผู้มีกองกำลังเพียงหนึ่งเดียว เป็นหมุดหมายสำคัญในการเริ่มสร้างทหารประจำการที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แบบแผนการสร้างจิตสำนึกแบบกษัตริย์นิยมหลายอย่างถูกนำมาจากตะวันตกและปรับใช้กับบริบทของไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเชิงโครงสร้างไปจนถึงพิธีกรรม
  • ความจงรักภักดีต่อกษัตริย์เป็นสิ่งที่วัดได้ยาก ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลและบุญญาบารมีของกษัตริย์แต่ละพระองค์ กบฏ ร.ศ. 130 และการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนถึงความคิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แตกต่าง
  • หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทบาทกษัตริย์ในกองทัพถูกลดลง แต่ยังมีหน่ออ่อนของความเป็นกษัตริย์นิยมและอนุรักษ์นิยมที่ต่อมาจะกลับมามีบทบาทสูงในช่วงสงครามเย็น

ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพไทยเป็นหนึ่งในความเข้าใจทั่วไปที่สามารถพบเห็นได้จากทั้งสโลแกนตามค่ายทหาร ตามบทบาทของทหารในพระราชพิธีและการถวายอารักขา ไปจนถึงงบประมาณประจำปีที่กองทัพมีในแต่ละปีเพื่อใช้ในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในเมื่อสรรพสิ่งบนโลกมีที่มาและที่ไป คำถามที่ยากไปกว่านั้นก็คือ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นแบบนี้เกิดขึ้นทำไม เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรที่เป็นสิ่งที่น่ากังวลภายใต้บริบทสังคมการเมืองที่เราอาศัยอยู่

หนังสือ “ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” โดยเทพ บุญตานนท์ ที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ของเขาระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ได้นำข้อค้นพบที่จะตอบคำถามยากๆ ข้างต้นมาเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อเดือน มี.ค. 2565 นี้เอง และระหว่างที่แท่นพิมพ์ยังร้อนๆ ประชาไทคุยกับเทพ เพื่อไล่เรียงการเกิดขึ้น ร่วงโรย และกลับมาใหม่ของความเป็น “ทหารของพระราชา” แบบไทยๆ

จุดเริ่มต้นทหารของพระราชา

“งานชิ้นนี้เลยเริ่มต้นศึกษากระบวนการการเริ่มต้นขึ้นของกองทัพสมัยใหม่ พอกองทัพสมัยใหม่เกิดขึ้น จะมีการนำเข้าความรู้จากตะวันตกมาด้วยนอกจากยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางการทหาร รูปแบบการรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับกองทัพสมัยใหม่ที่นำเข้ามาจากตะวันตกคือพิธีกรรม ประเพณีต่างๆ ในการทหาร”

เทพตอบคำถามเกี่ยวกับช่วงระยะเวลาที่ทำการศึกษาของงานวิจัย ที่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2411 ถึง พ.ศ. 2500 อันเป็นยุคสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) เริ่มปฏิรูปกองทัพตามครรลองการมีกองทหารประจำการของชาติ (standing army) เรื่อยมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ตามมาด้วยการลดบทบาทและพระราชอำนาจของกษัตริย์ในกองทัพ มาจนถึงการกลับขึ้นสู่อำนาจหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยฐานอำนาจของผิน ชุณหะวัณและสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่บริบทสงครามเย็นทำให้กษัตริย์ไทยกลับมาฟื้นฟูบทบาทของตนเองในกองทัพเพื่อต่อกรกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งพิธีกรรมหรือแนวคิดการสร้างความจงรักภักดีต่อกษัตริย์หลังจาก พ.ศ. 2490 จะมีลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่แตกต่างในทางขนาดและปริมาณ

ท้องเรื่องหลักของการกำเนิดทหารพระราชา สามารถท้าวปมไปได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างกองทหาร ขุนนาง และกษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงก่อนการปฏิรูปกองทัพโดย ร.5 เทพเล่าว่าในยุคสมัยที่เจ้าขุนมูลนายและกษัตริย์มีกำลังพลในสังกัดจากการเกณฑ์ไพร่ ทำให้การดำรงอยู่ของพระมหากษัตริย์และการสืบสันตติวงศ์มีความตึงเครียดอยู่ตลอด ร่องรอยความพยายามของกษัตริย์ในการทำลายความพยายามล้มราชบัลลังก์สามารถเห็นได้จากกฎหมายจารีตที่ห้ามขุนนางนัดพบกันอย่างลับๆ หรือทำกิจการใดเกินกว่ากฎหมายกำหนดก็มีโทษถึงตาย หรือหากขุนนางคนใดไม่มาร่วมพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ก็ถือว่ามีความผิดถึงประหารชีวิตทั้งครอบครัว

“มองสภาพในสมัยอยุธยาที่การรัฐประหารเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงมาก ยิ่งมองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่ ร.1 ถึง ร.5 การเปลี่ยนรัชสมัยไม่มีครั้งไหนที่ทำอย่างราบรื่นเลย จะต้องมีเรื่องก่อนตลอด ร.1 ก็คือปราบดาภิเษกพระเจ้าตากขึ้นมา หลัง ร.2 ขึ้นครองราชย์ก็มีกรณีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น ช่วง ร.3 ก็จะมีกรณีของกรมหลวงรัตน์รณเรศ ก่อน ร.4 ขึ้นครองราชย์ ช่วงต่อ ร.5 ก็มีเรื่องสมเด็จเจ้าบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้เลือกเองว่าใครจะขึ้นมาเป็นกษัตริย์ เราจะเห็นได้เลยว่าระบบการจัดการกำลังพลแบบเดิมทำให้เกิดการท้าทายสถาบันกษัตริย์ได้ตลอดเวลา ด้วยการที่ทุกคนสามารถมีทหารในมือได้”

ความพยายามในการใช้กำลังยึดอำนาจเกิดขึ้นแทบเป็นเรื่องปกติเมื่อเปลี่ยนรัชสมัย โดยเฉพาะในโมงยามที่กษัตริย์อ่อนแอและไม่ได้รับการสนับสนุนจากขุนนางที่มีกองกำลังเข้มแข็ง ในหนังสือของเทพก็มีการกล่าวถึงความพยายามยึดอำนาจจาก ร.1 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า แม้ตลอดรัชสมัยจะไม่มีความขัดแย้งระหว่างกันใหญ่หลวง แต่ก่อนที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจะถึงทิวงคต ก็สนับสนุนให้รัชทายาทพระองค์แย่งชิงราชสมบัติกับ ร.1 ในช่วง ร.2 ก็มีความพยายามยึดอำนาจโดยเจ้าฟ้าเหม็นและเชื้อสายของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทั้งสองกรณีจบลงด้วยความล้มเหลวและคณะผู้ก่อการถูกประหารชีวิต สะท้อนว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์สามารถถูกท้าทายด้วยอำนาจของมูลนายอื่นๆ ได้ตลอดเวลา

เรื่อยมาจนถึงรัชสมัย ร.5 ที่ขึ้นครองราชย์ด้วยการสนับสนุนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมาชิกคนสำคัญของตระกูลบุนนาค เกิดการวัดกำลังทางทหารกันอย่างตึงเครียดกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศซึ่งดำรงตำแหน่งวังหน้าผ่านการสนับสนุนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เช่นกัน ความขัดแย้งเกิดขึ้นหลัง ร.5 พยายามดำเนินพระราโชบายรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางและกระทบกับเจ้าขุนมูลนายอื่นๆ ในด้านการเก็บภาษี ความตึงเครียดเช่นนี้ทำให้ ร.5 ชะลอการปฏิรูปลง ก่อนจะเริ่มก่อร่างการปฏิรูปกองทัพ รวมอำนาจทางทหารมาไว้ที่พระองค์ในปี 2430 หรือ 2 ปีหลังจากพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศถึงทิวงคต 

ปรับใช้ ‘กองทัพของพระราชา’ จากตะวันตก

เทพเล่าว่า การปฏิรูปกองทัพของ ร.5 มีหลักการก็คือการไม่ให้เจ้าขุนมูลนายมีกองกำลังส่วนตัว รวบอำนาจการมีกองทัพเป็นของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ภายใต้ผู้บังคับบัญชาที่พระมหากษัตริย์ไว้วางใจ ในทางปฏิบัติ ร.5 เดินหน้าพระราโชบายโดยการเลิกไพร่ เลิกทาส และปิดท้ายด้วยการมีพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 (พ.ศ.2448) หรือ พ.ร.บ. เกณฑ์ทหาร ที่ในทางหลักการระบุถึงความจำเป็นในการฝึกหัดการรบในทางยุทธวิธีสมัยใหม่ และชี้ให้เห็นว่าระบบเกณฑ์ไพร่ไปรบเป็นเรื่องไม่สมควรแก่กาลสมัย โดย พ.ร.บ. กำหนดให้ชายฉกรรจ์อายุ 18 ปี เข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นเป็นทหารกองหนุนขั้นที่ 1 อีก 5 ปี และเป็นทหารกองหนุนขั้นที่ 2 อีก 10 ปี จึงถือว่าหมดหน้าที่ราชการ โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน เครื่องใช้และการยกเว้นภาษี โดยผู้ที่ปลดจากการเป็นกองหนุนขั้นที่ 2 จะไม่ต้องจ่ายภาษีอีกตลอดชีวิต

ภาพช้างบรรทุกปืนใหญ่ของกำลังไพร่พลเกณฑ์มณฑลพิษณุโลก กำลังจะเดินกระบวนไปปราบฮ่อธงเหลือง ณ หลวงพระบาง เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2418.ภาพจากสมุดภาพรัตนโกสินทร์ ภาพจาก Wikipedia

ด้านหนึ่ง การเกณฑ์ทหารคือการนำประชากรเข้าสู่ระบบราชการสมัยใหม่ อีกด้านหนึ่ง การนำคนเข้าสู่ระบบราชการ ก็เป็นโอกาสที่จะปลูกฝังสำนึกความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของกองทัพแต่เพียงผู้เดียวด้วย เทพเล่าว่า ในยุคที่ไม่มีสงครามให้กษัตริย์นำเสนอบทบาททางการทหารของพระองค์ พระมหากษัตริย์นับตั้งแต่ ร.5 สร้างบทบาททางการทหารให้แก่พระองค์ผ่านพิธีกรรมและการหาโอกาสมีพระราชปฏิสันถารกับทหาร ตัวแบบพิธีและแนวปฏิบัติเหล่านี้มีจากประเทศตะวันตกที่ลูกเจ้าขุนมูลนายไปเห็นกัน เช่น อังกฤษ เยอรมนี เดนมาร์กและรัสเซีย ประเทศที่ขณะนั้นพระมหากษัตริย์มีบทบาทในกองทัพและการเมือง อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกองทัพของพระราชา

เทพยกตัวอย่างเหตุการณ์วัฒนธรรมทางการคัดเลือกในโรงเรียนนายร้อย สถานศึกษาสำหรับทหารที่จะขึ้นระดับผู้บังคับบัญชาที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2430 ที่ในเวลาต่อมาจะเป็นพื้นที่สำหรับให้กษัตริย์มีบทบาทกับว่าที่นายทหารทั้งหลาย ร่องรอยทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่อาจจะบ่งชี้ถึงแนวคิดการสร้างทหารที่ภักดีต่อพระมหากษัตริย์ คือระเบียบการให้ลูกหลานขุนนางชั้นสูงสามารถเข้ารับการศึกษาได้โดยไม่ต้องสอบเข้า ต่างจากสามัญชนที่ต้องได้รับการคัดเลือก เนื่องด้วยเชื่อว่ากลุ่มขุนนางจะมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์มากกว่า

“ด้วยสภาวะชนชั้นนำไทย เวลาไปเจออะไรมาเขาก็จะเอาอย่างนั้นมาปรับใช้กับสังคมไทย โดยเฉพาะในกองทัพ ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการเกิดขึ้นของโรงเรียนนายร้อย ช่วงแรก โรงเรียนนายร้อยก่อนที่กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จะมาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย ก็ไม่ได้จำกัดว่าใครมีสิทธิได้เรียนโรงเรียนนายร้อยขนาดนั้น แต่สมัยของสมเด็จพิษณุโลกประชานาถกลับมาเป็น ผบ.โรงเรียนนายร้อย มันเริ่มมีการระบุว่าตระกูลไหนบ้างที่จะสามารถเข้ามาเรียนโรงเรียนนายร้อยได้เลย

“จริงๆ แล้ว [แนวคิดข้างต้น] มาจากรัสเซีย รัสเซียก็ระบุว่าตระกูลไหนบ้างที่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนทหารมหาดเล็กได้เลยโดยไม่ต้องสอบ มันมีอิทธิพลที่รับมาใช้จากบรรดาลูกที่ไปเรียนมา”

ในวันที่กษัตริย์ไม่ต้องนำหน้ากองทหารไปรบทัพจับศึกที่ไหน การแสดงออกซึ่งความเป็นทหารของพระราชา และพระราชาของทหารยังสามารถเห็นได้ผ่านพระราชกรณียกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จไปเยี่ยมเยียนทหาร การแสดงความเอาใจใส่ทหาร หรือไปดูการซ้อมรบ ความสัมพันธ์กับกองทัพเช่นนี้กลายเป็นเรื่องจำเป็นของพระมหากษัตริย์ เนื่องด้วยปัจจัยทางความมั่นคงของราชบัลลังก์ แม้แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ที่เคยมีความบาดหมางกับเหล่านายทหารในสมัยเป็นมกุฎราชกุมาร ก็ยังมีการเสด็จราชดำเนินชมการซ้อมรบของทหารบกอยู่ตลอด และไม่ได้ไปแล้วกลับ แต่ไปพักค้างคืน นอกจากนั้น หากดูพระราชหัตถเลขาหลังซ้อมรบที่พระราชทานให้แก่ทหารที่เข้าซ้อมรบ จะเห็นว่ามีการใช้คำว่า “ทหารของฉัน” อยู่ตลอดเวลา 

เทพเล่าว่า พิธีกรรมคือการเน้นย้ำให้ทหารตระหนักว่าตัวพระมหากษัตริย์เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเขา และพวกเขาควรนึกถึงบุญคุณในแง่การได้รับพระราชทานเงินเดือนหรือโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาทหารในกลุ่มนายร้อยที่สถาบันกษัตริย์ให้ความสำคัญมากกว่าทหารชั้นประทวน ในส่วนนี้ก็จะเจอพิธีกรรมหลายๆ อย่างที่เน้นไปที่กลุ่มนักเรียนนายร้อย เช่น พิธีสำเร็จการศึกษาที่สมัย ร.5 เรียกว่างานรื่นเริงประจำปี ต่อมาพิธีนี้ถูกเรียกในสมัย ร.7 ว่าพิธีพระราชทานกระบี่ ในพิธีพระราชทานกระบี่ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ในหลวง ร.7 ที่ได้ระแคะระคายถึงข่าวคราวการเคลื่อนไหวของคณะก่อการ ยังได้มีพระบรมราโชวาทแก่นักเรียนนายร้อยในพิธีดังกล่าวเมื่อ 24 มีนาคม 2474 เน้นย้ำให้ทหารไม่ยุ่งกับการเมือง เพราะถ้ายุ่งกับการเมืองเมื่อไหร่ ก็จะกลายเป็นเกิดความวุ่นวายเหมือนในประเทศจีนในสมัยนั้น

“...เพราะฉะนั้นหน้าที่สำคัญของทหารนั้น คือให้ความปลอดภัยแก่ประเทศและประชาชน ถ้าทหารเราจะประพฤติตนมีอาชีพอย่างอื่นนอกจากอาชีพของตนเป็นผิดทั้งนั้น ถ้าเราจะประพฤติเหมือนที่มีอาชีพค้าขาย นึกแต่จะเพิ่มรายได้ เช่นนั้น ย่อมเป็นของทำไม่ได้ ผิดอาชีพของตนโดยแท้จริงเดียว หรืออีกอย่างหนึ่งจะมั่วแต่หลงคิดแผนการเมืองต่างๆ นานา ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือนนั้นก็ผิดเหมือนกัน ไม่ว่าประเทศใดๆ หมด เขาย่อมถือว่านายทหารประจำการไม่มีหน้าที่จะคิดหรือจะไปพูดยุ่งเกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าทหารยุ่งกับการเมืองแล้ว ผลก็ย่อมตรงข้าม ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือในเมืองจีน พวกนายทหารต่างๆ ต่างรวมทหารเป็นก๊กเป็นเหล่า รบกันไม่รู้จักจบจักสิ้นเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นหลักสำคัญอันหนึ่ง ทหารต้องไม่เกี่ยวกับการเมือง หน้าที่ของทหารต้องรักษาความสงบ...”  

(คัดจากตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในการพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อย วันที่ 24 มี.ค. 2474)

“สมัยรัชกาลที่ 5 งานรื่นเริงประจำปีจะมีพิธีทั้งช่วงเช้าและค่ำ คือมีพิธีลากยาวมาก ตอนเช้าเป็นพิธีอย่างเป็นทางการ พระราชทานประกาศนียบัตร ตอนเย็นก็เป็นกาลาดินเนอร์ เป็นงานเลี้ยงเพื่อแสดงความยินดีกับทหาร ซึ่งก็มีพิธีดังกลาวอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยความที่มีปัญหากับกองทัพอยู่บ้าง ก็จะไปบ้างไม่ไปบ้าง ก็จะมีผู้แทนพระองค์ไป แต่พอในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่มีการปรับเป็นพิธีพระราชทานกระบี่ เพราะงบประมาณน้อยลง มีเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่ารัชกาลที่ 7 ไปพิธีนี้ทุกครั้ง และทุกครั้งที่ไปก็จะมีพระบรมราโชวาทอะไรที่ชัดเจนและเน้นย้ำว่าทหารเป็นทหารที่มีหน้าที่ต้องปกป้องประเทศและตัวสถาบันกษัตริย์” 

พิธีพระราชทานกระบี่ยังคงถูกสืบต่อมาเช่นนั้นจนถึงทุกวันนี้ ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้จะไม่เสด็จออกพระราชทานปริญญาบัตรตามมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ก็ยังคงเสด็จไปพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยจนกระทั่งถึงเวลาที่มีพระอาการประชวรเพิ่มมากขึ้นในปลายรัชสมัย

ความจงรักภักดี: จับต้องยาก แต่ซึมลึก

การแสดงออกซึ่งความเป็นเนื้อเดียวกันไม่ได้จำกัดอยู่ที่การต้องทำอะไร แต่ยังหมายรวมถึงการเลือกที่จะไม่ทำอะไรด้วย สิ่งหนึ่งที่เทพค้นพบคือ ในยุคที่การสื่อสารมวลชนและสิ่งพิมพ์ยังคงจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ การตอบโต้กับทหารหรือพระบรมราโชวาทของ ร.6 และ ร.7 ไม่ได้มีการตั้งตัวเป็นศัตรูกับกองทัพในทางสถาบันแบบตรงๆ เลยแม้กระทั่งในยามที่การคงอยู่ของราชบัลลังก์ถูกท้าทายถึงขีดสุด ยกตัวอย่างเช่นพระบรมราโชวาทของ ร.7 ในเดือน มี.ค. 2475 หรือหลังการกบฏ ร.ศ. 130 ตัว ร.6 ที่ประพันธ์พระราชนิพนธ์เรื่อง “ฉวยอำนาจ” ก็เลือกที่จะให้เหตุผลของการกบฏว่าเป็นเพราะกองทัพไปเชื่อคำยุยงของเจ้านายบางคน แต่แท้ที่จริง กองทัพยังเป็นกองทัพที่ภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือในโมงยามที่สถาบันถูกท้าทายถึงขีดสุดก็คือก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ก็ตาม

กองทหารบกรถยนต์ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ภาพจาก Wikipedia

“[การตอบโต้ของ ร.6 ในหนังสือพิมพ์] ตอบโต้กับชนชั้นนำมากกว่า ร.6 ไม่เคยด่ากองทัพ ไม่เคยด่าทหารในกองทัพเลย แต่ด่าชนชั้นนำที่เป็นทหาร”

“ไม่ได้วิพากษ์ตัวกองทัพ ตัวสถาบัน ตัวพลทหาร แต่วิพากษ์เจ้านายด้วยกัน หรือบรรดาชนชั้นสูงที่เป็นทหาร ทหารในสมัย ร.6 ร.7 ก็คือนักการเมือง เขาไม่ได้เป็นแค่ทหาร ถ้าพูดในแง่การเมือง พวกเขาเหล่านี้ก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง มันต้องมีนโยบายอะไรที่ไม่เห็นพ้องต้องกันไปกับ ร.6 ก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ และคนเหล่านั้นก็วิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 6 เหมือนกันนะ แต่ในแง่ของกองทัพ กษัตริย์ไทยไม่เคยวิพากษ์กองทัพเลยนะ ไม่เคยด่าแรงๆ อย่างมากก็เตือนสติ แต่เขาจะไม่ด่ากองทัพ จะไม่ทำตัวว่าเป็นศัตรูกับกองทัพ”

“คือถ้าคุณเริ่มวิพากษ์กองทัพ กองทัพก็จะรู้สึกว่าคุณไม่ใช่พวก พอคุณไม่ใช่พวก ก็จะไปหาหัวหน้าคนใหม่”
เทพเล่าว่าการปลูกฝังแนวคิดความจงรักภักดีกับกษัตริย์ในหมู่กองทัพเป็นสิ่งที่วัดความสำเร็จได้ยาก เพราะความจงรักภักดีเป็นเรื่องส่วนบุคคล และพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์มีความแตกต่างกันในด้านบุญญาบารมี ทำให้พระราชกรณียกิจและความพยายามในการทำให้กองทัพและกษัตริย์คือพวกเดียวกันก็ต่างกันไปตามแต่รัชสมัย สมัย ร.5 กับ ร.6 ก็ใช้วิธีการเดียวกัน แต่ทหารมีความจงรักภักดีกับ ร.5 มากกว่า เนื่องจากกลุ่มทหารเคยมีความไม่พอใจ ร.6 ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นทุนเดิมในกรณีที่มหาดเล็ก ร.6 เคยวิวาทกับทหาร และเรื่อยมาจนถึงการจัดตั้งกองเสือป่า ที่ทำให้ทหารรู้สึกว่า ร.6 ให้ความสำคัญกับกิจการอื่นมากกว่ากองทัพ จนบานปลายมาเป็นเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130

แม้วัดผลไม่ได้ แต่เทพมีข้อสังเกตว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพก็ซึมลึกและกลายมาเป็นแนวตั้งรับต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งยังทำให้สถาบันกษัตริย์และองคาพยพยังคงหลงเหลือที่ทางในระบอบใหม่ และต่อมาก็เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขให้เกิดกบฏบวรเดชและการกลับมามีบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในเวลาต่อมา

“เราจะเห็นคนอย่างดิ่น ท่าราบ จริงๆ ดิ่น ท่าราบเป็นเพื่อนสนิทกับพระยาพหลฯ เขาเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ตอน 2475 เขาก็ไม่หักหลังเพื่อนในแง่หนึ่ง แต่ในแง่หนึ่งเราจะเห็นว่าทหารอนุรักษ์นิยมกับทหารหัวเมืองมีแนวโน้มที่จะจงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ เราก็รู้กันว่าจริงๆ ทหารที่เข้าร่วม 2475 จริงๆ แล้วมันมีกระจุกหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งประเทศ และการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรและรัชกาลที่ 7 ก็ไม่ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง”

“กรมพระกำแพงเพชรก็พูดชัดเจนว่า ถ้าจะรบก็รบได้ เพราะว่าทหารหัวเมืองน่าจะเป็นทหารที่จงรักภักดีอยู่ แล้วเราก็จะเห็นสภาวะว่าบรรดาทหารหัวเมืองส่วนใหญ่ก็เป็นทหารอนุรักษ์นิยม คือทหารที่ไม่ได้เรียนนอก ไม่ได้ทุนเรียนดีๆ การก้าวหน้าในระบบราชการก็จะไม่เหมือนกับกลุ่มคณะราษฎรที่ได้ทุน เป็นทหารที่เรียนดี พอกลับมารับราชการ ทหารที่ได้รับทุนเหล่านี้ก็จะได้อยู่ในศูนย์กลางก็คือ กทม. กันทั้งนั้น ส่วนทหารที่ไม่ได้ทุนก็จะผ่านโรงเรียนนายร้อยแบบเก่าซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม”

อนึ่ง เทพคิดว่าช่วงที่กองทัพแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มากที่สุดไม่ได้อยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นยุคที่บทบาทกลุ่มที่สนับสนุนพระมหากษัตริย์กลับมามีบทบาททางการเมืองหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 หนึ่งจุดที่สะท้อนชัดเจนถึงข้อสังเกตนี้คือหนึ่งในเหตุผลของการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ระบุว่าต้องการปกป้องและทำนุบำรุงสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นจึงเริ่มเห็นบทบาทการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีในมุมกลับ จากเดิมที่กษัตริย์เป็นผู้แสดงออก ก็กลายเป็นกองทัพแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีแทนการทำนุบำรุงหรือปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังคงเป็นหนึ่งในข้ออ้างที่ถูกใช้ในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจมาจนถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557

“2475 มีภาวะหลายๆ อย่างที่จะทำให้ตัวสถาบันกษัตริย์หมดพระราชอำนาจไปในด้านความชอบธรรม บุญญาบารมี และปัญหาต่างๆ ที่แก้ไขอะไรไม่ได้ ขณะเดียวกัน กองทัพเองก็ไม่ต้องยืนอยู่กับสถาบันกษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำอะไรต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงหลัง 2475 ที่กองทัพ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ไปยืนอยู่กับความชอบธรรมของการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ แต่ในช่วงหลัง พ.ศ.2490 มันมีภาวะที่เกิดขึ้นของการล้มรัฐบาลพลเรือนที่ชอบธรรม ก็ต้องมีการหาข้ออ้างว่าทำไมทหารถึงไปล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“ปัญหาคอรัปชั่นก็เป็นปัญหาที่ถูกอ้างตลอดเวลา แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นและเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2490 และจะเป็นอย่างสืบเนื่องต่อมา คือการใช้คำว่ารัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงให้สถาบันดีขึ้น ไม่ตกต่ำลงไปเหมือนเดิม การรัฐประหารที่อ้างเหตุผลอย่างนี้ ว่ารัฐประหารโดยนำเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นข้ออ้าง...ทหารก็ไม่มีข้ออ้างอื่นใดในการแสดงให้ประชาชนเห็นว่าพวกเขาจงรักภักดี เพราะเขาใช้สถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขึ้นสู่อำนาจ 

“พิธีกรรมต่างๆ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้น มีขึ้นมีลง จนกระทั่ง พ.ศ. 2490 ที่จะเริ่มอยู่ตัวและตายตัวมากๆ  และก็เป็นส่วนสำคัญที่ทหารใช้โชว์ จะกลับกันแล้ว พิธีกรรมหลัง 2490 ยังมีลักษณะก้ำกึ่ง แต่หลัง 2500 พิธีกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกษัตริย์ต้องการเน้นย้ำว่าทหารต้องมีความจงรักภักดีเท่าใดนัก อาจจะมีส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือทหารต้องมีพิธีกรรมเหล่านี้เพื่อยืนยันว่าตัวเองเป็นทหารที่จงรักภักดีกับสถาบันกษัตริย์ให้ประชาชนได้เห็น”

การร่วงโรยและฟื้นคืนของบทบาทกษัตริย์ในกองทัพ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเป็นหมุดหมายของการนำอำนาจทางทหารออกไปจากมือของกษัตริย์ แต่เทพเล่าว่า ระหว่างที่กระบวนการสร้างกองทัพแห่งชาติภายใต้รัฐธรรมนูญดำเนินไป ก็มีสิ่งที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรียกว่ามรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดำเนินไปคู่ขนานกันด้วย ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้สามารถมองเห็นได้ผ่านพิธีกรรมทางทหาร

“รูปแบบการ perform (แสดง) พิธีกรรมยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะในสมัยที่จอมพล ป. ขึ้นสู่อำนาจ พิธีกรรมที่จอมพล ป. ได้มีการperform และให้ทหารใช้ อย่างการสวนสนาม โอเคว่าอาจจะเปลี่ยนจากหน้าพระบรมรูปทรงม้าที่เป็นสัญลักษณ์ของความอนุรักษ์นิยมมากๆ มาเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือพิธีพระราชทานกระบี่ก็เปลี่ยนเป็นพิธีมอบกระบี่ โดยจอมพล ป. ก็จะเป็นประธานในพิธีแทน และจะมีพิธีอื่นๆ อีกที่กษัตริย์จะไม่เข้ามามีบทบาท และจอมพล ป. ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกจะเข้ามามีบทบาท พิธีเหล่านี้ ในด้านหนึ่งมันคงหลักการของการให้ความสำคัญต่อคนๆ เดียว แทนที่จะเป็นตัวสถาบันทางการเมือง เพราะพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือการปลูกฝังให้ทหารจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ไม่ใช่ต่อสถาบัน”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินตรวจแถวและทักทายทหารที่จะไปร่วมรบในสงครามอินโดจีน ภาพจาก Wikipedia

“เราก็คิดว่าเขา [จอมพล ป.] คงจะรู้แหละว่าพิธีเหล่านี้จะทำให้ทหารมีความจงรักภักดีต่อตัวเขาที่เป็นผู้นำชาติ ไม่ใช่ไปที่ตัวสถาบันทางการเมือง หรือพรรคการเมือง หรืออะไรต่างๆ นานา แม้จอมพล ป. จะบอกว่าทหารต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามันเป็นหมุดหมายสำคัญ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าจอมพล ป. ก็คือคนที่ทำให้ประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญด้วย เป็นหนึ่งในคณะราษฎรคนสำคัญ แล้วจอมพล ป. ก็นำรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการปกครองประเทศมาโดยตลอดว่า ตัวรัฐธรรมนูญและฉันคือสิ่งที่ทำให้ประเทศนี้รอดมาได้ บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ ถึงเอกราชของประเทศ” 

ในทางกลับกัน เทพเล่าว่าเป็นจอมพล ป. คนเดียวกันนี้ ก็เป็นคนที่ฟื้นฟูบทบาทของกษัตริย์ในทางการเมืองและการทหารหลังกลับมาขึ้นสู่อำนาจภายใต้การสนับสนุนของผิณ ชุณหะวัณและสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ภายใต้บริบทสงครามเย็นที่สหรัฐฯ มองว่าหนึ่งตัวแปรสำคัญในการต่อสู้กับค่ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ประเทศไทยคือสถาบันพระมหากษัตริย์

เทพเล่าต่อไปว่า การกลับมาของจอมพล ป. หลัง 2490 มาพร้อมกับการนำพิธีกรรมและโครงสร้างกองทัพของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น การโอนกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ไปจัดตั้งเป็นกรมทหารมหาดเล็กซึ่งเป็นหน่วยทหารส่วนพระองค์ที่ถูกยุบไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์เพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ นับตั้งแต่พิธีถวายพระเพลิง ร.8 เรื่อยมาจนถึงขบวนพิธีบรมราชาภิเษก ร.9

ในรัชสมัย ร.9 จะเริ่มเห็นบทบาทของพระมหากษัตริย์กับกองทัพมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการเสด็จไปยังพระราชพิธีต่างๆ หรือดูการซ้อมรบ เทพยกตัวอย่างการเสด็จพระราชดำเนินไปดูการซ้อมรบของทหารเรือที่ชลบุรีครั้งหนึ่งที่จากเดิมควรเป็นพิธีเล็กๆ แต่รัฐบาลก็ทำให้เป็นกิจกรรมใหญ่โตเมื่อ ร.9  ตัดสินพระทัยจะเสด็จไป มีการเชิญทูต รัฐมนตรี ส.ส. และนักการเมืองไปรอรับเสด็จ เมื่อ ร.9 ไปถึงแล้วก็ทรงประทับค้างคืนและเสด็จออกไปทอดพระเนตรซ้อมรบในทะเลด้วย
อีกสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นคือหลังการกลับมาของจอมพล ป. คือการพระราชทานชื่อค่ายทหาร เดิมทีค่ายทหารจะมีชื่อเรียกตามที่ตั้ง แต่ในภายหลังมีการพระราชทานชื่อตามชื่อพระบรมวงศานุวงศ์ที่รับราชการทหาร หรือวีรบุรุษในท้องที่นั้นที่ปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนหรือแสดงออกซึ่งความรักชาติและพระมหากษัตริย์ เช่น ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก ค่ายสุรนารี ค่ายติณณสูลานนท์ ไปจนถึงค่ายพหลโยธิน ที่ ร.9 ก็เป็นผู้พระราชทานชื่อค่ายนี้ และต่อมาในเดือน มี.ค. 2563 ถูกพระราชทานชื่อค่ายเป็นค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อค่ายพิบูลสงคราม เป็นค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

มากไปกว่านั้น การเข้ามาของเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชนทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ยิ่งทำให้บทบาทของกษัตริย์กับกองทัพเป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาชนด้วย หลังทศวรรษที่ 2530 เมื่อบารมีของ ร.9 อยู่ในจุดสูงสุด พระราชพิธีสวนสนามและปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลที่ลานพระบรมรูปทรงม้าถูกท่ายทอดสดในโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ กลายเป็นการเติมเต็มพระราชประสงค์ของ ร.7 ที่อยากให้ประชาชนเข้าถึงพิธีนี้ได้มากขึ้น เพราะในยุคนั้น ประชาชนสามารถเฝ้าชมการสวนสนามได้ตามถนนพระราชดำเนิน ซึ่งมีพื้นที่น้อย การถ่ายทอดสดเช่นนี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญถึงพระราชพิธี และความสำคัญในการถ่ายทอดให้ประชาชนได้เห็นผ่านสื่อ ในพิธีดังกล่าวจะมีการพระราชทานพระบรมราโชวาทต่อทหาร ซึ่งก็เป็นโอกาสเดียวที่พระบรมราโชวาทต่อทหารในพื้นที่พิธีจะไปถึงประชาชนและทหารอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่พิธีด้วย

ทหารของพระราชากับทหารของประชาชน

ทหารเดินสวนสนามในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 และวันกองทัพไทย ภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เทพทิ้งท้ายว่า พิธีกรรมในกองทัพที่ถูกทำอย่างต่อเนื่องจะมีความทรงพลังเท่าใดนั้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับบุญญาบารมีของกษัตริย์ แต่การปลูกฝังแนวคิดกษัตริย์นิยมมักเป็นเรื่องของตัวบุคคล สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อกังวลสำหรับเขาก็คือเมื่อทหารถูกปลูกฝังให้จงรักภักดีกับสถาบันกษัตริย์ ทหารก็มักจะลืมไปว่าพวกเขามีองค์กรอย่างรัฐบาลที่ทหารต้องเชื่อฟังคำสั่ง สิ่งนี้จึงเป็นภาวะที่ทำให้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่ารัฐบาลที่ไม่ได้รับการยอมรับจากกองทัพ หรือรัฐบาลที่ไม่สามารถแสดงออกหรือพิสูจน์ได้ว่ามีความจงรักภักดีอย่างแท้จริง ก็จะไม่ได้ยอมรับหรือสนับสนุนจากกองทัพอย่างที่รัฐบาลเผด็จการที่เน้นย้ำเสมอว่าจงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กรณีที่รัฐบาลพลเรือนยึดโยงกับคะแนนเสียงของประชาชนก็อาจทำให้กองทัพรู้สึกว่าไม่ใช่พวกเดียวกันกับเขา

“ท้ายที่สุดแล้ว หนังสือเล่มนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่การปฏิรูปกองทัพไปจนถึงยุคประชาธิปไตย ทหารในกองทัพไทยไม่เคยได้รับการปลูกฝังหรือสร้างสำนึกให้ตระหนักว่าพวกเขามีหน้าที่รับใช้ประชาชนและรัฐบาล ในทางกลับกัน พวกเขากลับถูกปลูกฝังให้เชื่อฟังพระมหากษัตริย์รวมไปถึงผู้นำเผด็จการที่มาจากกองทัพ ด้วยปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เราเข้าใจปรากฎการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยว่าเหตุใดรัฐบาลพลเรือนจึงไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ ยิ่งกว่านั้นกลับต้องเตรียมตัวเตรียมใจที่จะถูกโค่นล้มอำนาจโดยกองทัพได้ตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของกองทัพรวมไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ 

“ทว่าในทางตรงกันข้าม รัฐบาลทหารเผด็จการหรือรัฐบาลพลเรือนที่ยืนยันและแสดงออกอย่าชัดเจนว่าพวกเขามีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ก็จะรักษาเสถียรภาพทางการเมืองไว้ได้ โดยมีกองทัพคอยทำหน้าที่ค้ำจุน การเมืองไทยจึงมีสภาวะผันผวนสลับไปมาระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกับรัฐบาลทหารเผด็จการอยู่เรื่อยไป”

คัดจากตอนหนึ่งของหนังสือ ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี

ข้อมูลเพิ่มเติม

เทพ บุญตานนท์, ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งความศรัทธาและภักดี, กรุงเทพ:มติชน 2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net