Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองโมง-หนองกลาง ถูกเอกชนอ้างสิทธิ์ที่ดิน ฟ้องคดีเพิ่มข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมฯ รวม 9 ราย 3 คดี หลังห้ามปรามผู้ที่ใช้รถแบ๊คโฮโค่นต้นไม้ ไม่ให้สภาพป่า เหตุเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาหลายชั่วอายุคน

 

20 เม.ย. 2565 ศิรประภา สงค์มา ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองโมง-หนองกลาง บ้านเขวาโคก-เขวาพัฒนา ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด แจ้งว่า หลังมีผู้เข้ามาตัดไม้ในพื้นที่ป่า (นับแต่วันที่ 15 มิ.ย.64) ประชาชนในพื้นที่เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่กลับถูกกลุ่มเอกชนอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน ยื่นฟ้องคดีศาลร้อยเอ็ด จำนวน 4 คน ข้อหาร่วมกันบุกรุกนั้น ต่อมาเมื่อ 15 ก.พ.65 ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง พร้อมเสนอให้โจทก์​ไปฟ้องทางแพ่งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง และหากดำเนินการยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งเสร็จ​แล้วนั้น ให้โจทก์​ถอนฟ้องจำเลยทั้ง 4 ในคดีนี้ และศาลมีคำสั่งนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 19 เม.ย.65 นั้น

 

ล่าสุด วานนี้ (19 เม.ย.65) ศิรประภา บอกต่อว่า ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้ว กลุ่มเอกชนดังกล่าว ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพิ่มเติม จากเดิมฟ้องข้อกล่าวหาบุกรุกจำนวน 4 คน ครั้งนี้ได้แจ้งคดีชาวบ้านเข้ามาอีก ข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (3 คน) และหมิ่นประมาท (4 คน) รวมเป็น 9 ราย 3 คดี ซึ่งตนเอง (ศิรประภา) เป็นจำเลยคดีที่ 2 คือช่วงนั้นได้ถ่ายรูปคนที่กำลังทำลายป่า เพื่อไว้เป็นหลักฐาน แต่กลับถูกฟ้องข้อหา พ.ร.บ.คอมฯ โดยศาลได้ไต่สวนโจทก์เพื่อพิจารณาและรับฟ้อง และนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 11 พ.ค.นี้

ส่วนคดีหมิ่นประมาท ทางโจทก์อ้างว่าชาวบ้านทำการขัดขวาง ข่มขู่ ตะโกนต่อว่าผู้ที่กำลังตัดไม้ และขัดขวางการรังวัดในการทำงานของเจ้าที่ดิน

ทองคูณ สงค์มา คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างชุมชนเขวาโคก–เขวาพัฒนา กล่าวถึงที่สาธารณประโยชน์หนองโมง-หนองกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นผืนป่าที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันยังมีสภาพความเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของชุมขน แต่กลับถูกเอกชนออกโฉนดทับพื้นที่บริเวณดังกล่าวเกือบเต็มทั้งแปลง

"ซึ่งมาทราบภายหลังว่า เป็นการออกโฉนดที่ดินที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายที่ดิน จึงต้องการให้มีการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่มีการออกทับที่ดินสาธารณประโยชน์ของชุมชน ทั้งที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน และยังไม่มีการออก นสล.แต่การที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้เอกชน ถือเป็นการทำลายแหล่งอาหารซึ่งเป็นผืนป่าชุมชนแหล่งสุดท้ายในเขตทุ่งกุลา ที่ชุมชนใช้สอยร่วมกัน" คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ฯ กล่าว

ทองคูณ บอกด้วยว่า กรณีข้อพิพาทเกิดขึ้นมานับแต่ปี 2536 ชาวบ้านได้ร่วมกันติดตามกระบวนการแก้ไขปัญหามาตลอด แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข กระทั่งมีผู้อ้างสิทธิ์เข้ามาทำลายป่า หวังประโยชน์ส่วนตน เมื่อชาวบ้านร่วมปกป้องกลับถูกฟ้องคดี โดยกรณีหนองโมง - หนองกลาง ล่าสุด พีมูฟทวงสิทธิ์ กระทั่งมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 1 ก.พ.65 จากนั้นได้มีการประชุมอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหา 9 ด้านของขบวนการแฉระชาชนเพื่ิสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เมื่อ 8 ก.พ. 65 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ อาคาร กพร.มติที่ประชุมมีข้อเสนอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวในการชะลอการดำเนินคดีของชาวบ้าน และให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบที่ดินทับซ้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบและหาข้อสรุปการแก้ไขปัญหา โดยการตวจสอบสถานะของที่ดินและตรวจสอบแนวเขต ซึ่งการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย ถือว่ายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จนมีประชาชนในพื้นที่ถูกฟ้องคดีเพิ่มขึ้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net