Skip to main content
sharethis

กรอ.เผยโควิด-19 ฉุดยอดตั้งโรงงานใหม่6เดือนแรกเหลือ 1,110 แห่ง

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (1ต.ค.-30มิ.ย.65) ยอดตั้งโรงงานใหม่ 1,110 โรงงานล เงินลงทุน 56,354.19 ล้านบาท โดยการจ้างงาน 31,330 คน กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และผลิตภัณฑ์โลหะ ตามลำดับ ในส่วนของการขยายโรงงานมีจำนวน 152 โรงงาน เงินลงทุน 41,510.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.41 % การจ้างงาน 37,550 คน เพิ่มขึ้น 52.02 % ขณะเดียวกันมีการเลิกประกอบกิจการลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำนวน 361 โรงงาน ลดลง 8.38% เงินลงทุน จำนวน 21,427.65 ล้านบาท ลดลง 4.57% เลิกจ้างงาน 12,172 คน ลดลง 8.74% สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่โรงงานขนาดเล็กส่วนใหญ่และขนาดกลางบางส่วนได้รับผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด-19

ทั้งนี้แม้ยอดตั้งโรงงานใหม่จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดประกอบกิจการใหม่ 1,894 แห่ง แต่คาดว่าแนวโน้มการลงทุนจะเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เพราะสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง อีกทั้งประเทศไทยยังมีมาตรการภาครัฐสนับสนุนการลงทุน ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการทางการเงินและการคลัง คาดว่าในปีนี้ยอดตั้งโรงงานแห่งใหม่และขยายกิจการโรงงานตลอดทั้งปีน่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องเฝ้าจับตา ผลกระทบสงคราม อย่างระมัดระวัง

สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ได้ตั้งเป้าไว้ในปีงบประมาณ 2565 นั้น ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีการออกมาตราการทางกฎหมาย เพื่อดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยกว่า 30 ฉบับ โดยมีผลบังคับใช้แล้ว 9 ฉบับ และอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อรอประกาศบังคับใช้อีกกว่า 20 ฉบับ เช่น การเพิ่มโทษผู้ลักลอบทิ้งกาก หรือแอบ ปล่อยน้ำเสียโดยไม่ทำการบำบัด การต้องทำรายงานประเมินความเสี่ยงสำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง การแสดง ข้อมูลโรงงานบริเวณหน้าโรงงานผ่าน QR code เป็นต้น นอกจากนี้ยังสั่งดำเนินคดีกับโรงงานที่ไม่รายงานการรับหรือนำกากออกนอกโรงงานกว่า 4 หมื่นราย รวมทั้งโรงงานที่ไม่ทำรายงานประเมินความเสี่ยงอีกกว่า 700 โรงงาน

ด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ระบบ กรอ.นำระบบจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (E-fully Manifest) มาใช้ในการกำกับดูแลสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำครบวงจร สามารถติดตามรถขนส่งสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในระบบ E-fully Manifest ได้แบบ real time โดยหลังจากเปิดใช้งานระบบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 การบำบัด / กำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดย 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 64 - มีนาคม 65) ของเสียอันตรายเข้าสู่ระบบ 0.79 ล้านตัน ของเสียไม่อันตรายเข้าสู่ระบบ 10.8 ล้านตัน และการกําจัดมูลฝอยติดเชื้อภายใต้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความเห็นชอบให้โรงงาน 9 ราย นํามูลฝอยติดเชื้อมาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาของโรงงานเป็นการชั่วคราว เป็นการสนับสนุนให้สามารถนำมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี ทำให้ความสามารถในการรับมูลฝอยติดเชื้อไปกําจัดเพิ่มขึ้นเป็น 1,150 ตันต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อปริมาณที่เกิดขึ้น โดยมีการกําจัดมูลฝอยติดเชื้อรวมแล้วทั้งสิ้น 13,247.55 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 65)

สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านเงินทุน มีการสนับสนุนผู้ประกอบการในการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร ครึ่งปีแรกมีการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรแล้วมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นต้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/4/2565

กสม.แนะกำหนดกลไกตรวจสอบกันอ้างเหตุตั้งครรภ์เลิกจ้าง เผยประสานแก้ปัญหาห้างขนย้ายเสียงดังกลางคืน

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 14/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

1. กสม. แนะกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนดกลไกให้ชัดเจนป้องกันไม่ให้นายจ้างใช้ช่องว่างทางกฎหมายเลิกจ้างลูกจ้างหญิงด้วยเหตุแห่งการตั้งครรภ์ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ระบุว่า ช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 ได้ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อแก้ไขปัญหาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ซึ่งปรากฏว่า มีกรณีผู้ประกอบการเอกชนเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์จำนวน 10 ราย และคนพิการจำนวน 1 ราย บางรายถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย และบางรายถูกกดดันให้เขียนใบลาออก โดยอ้างว่า บริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ และมีความจำเป็นต้องลดอัตรากำลัง โดยที่ลูกจ้างบางรายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและเป็นเสาหลักของครอบครัว เมื่อถูกเลิกจ้างจึงตกอยู่ในสภาวะตึงเครียด และได้รับผลกระทบด้านภาระค่าใช้จ่ายในการตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตร ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อทารกในครรภ์ ผู้ร้องเห็นว่า การกระทำดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่สอดคล้องตามอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศ และหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) โดยเห็นว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้ถูกร้อง เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรงในการคุ้มครองและดูแลลูกจ้าง

ให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงขอให้ กสม. ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ กสม.ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบและประสานการคุ้มครองไปพร้อมๆ กัน โดยในการตรวจสอบ กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 48 บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิของมารดาให้ได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งย่อมหมายถึงการคุ้มครองและช่วยเหลือลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ทั้งในช่วงระหว่าง ก่อนและหลังการคลอดบุตรด้วย และมาตรา 71 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก สตรี คนพิการ ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ประกอบกับ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 43 กำหนดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิง เพราะเหตุมีครรภ์ อันเป็นบทบัญญัติเด็ดขาดและไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา ค.ศ. 2000 ข้อ 8 ที่กำหนดให้การเลิกจ้างลูกจ้างหญิงในระหว่างตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่าง การลาคลอด และในช่วงระยะเวลาหลังจากกลับไปทำงานแล้ว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เว้นแต่เป็นการเลิกจ้างด้วยสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตร รวมทั้งอนุสัญญาฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. 1982 ยังกำหนดให้การตั้งครรภ์และการหยุดงานเนื่องจากลาคลอดบุตรเป็นเหตุผลที่ไม่ควรนำมาใช้ในการเลิกจ้างด้วย

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า กรณีตามคำร้องนี้นายจ้างมีการเลิกจ้างลูกจ้างหญิงซึ่งอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ โดยให้เหตุผลและความจำเป็นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เท่านั้น ไม่ปรากฏพฤติการณ์หรือหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างหญิงเพียงเพราะเหตุมีครรภ์ เนื่องจากลูกจ้างกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างในคราวเดียวกันนี้มีทั้งที่ตั้งครรภ์และไม่ตั้งครรภ์

ขณะที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้ถูกร้อง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องกรณีบริษัทเอกชนเลิกจ้างลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์ซึ่งนายจ้างบางรายไม่จ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างหรือจ่ายแต่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยพนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันลูกจ้างที่ได้รับความเสียหายตามคำร้องนี้ได้รับเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างครบถ้วนแล้ว และลูกจ้างบางรายได้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม สภาพการจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม และนับอายุงานต่อเนื่องแล้ว จึงถือว่า กรมฯ ได้บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับบริษัทเอกชนผู้เป็นนายจ้าง ให้ลูกจ้างได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายแล้ว ในชั้นนี้ จึงไม่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเลิกจ้างลูกจ้างหญิงในระหว่างตั้งครรภ์ ที่ผ่านมายังเกิดขึ้นหลายกรณีแม้กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะคุ้มครองลูกจ้างหญิงซึ่งตั้งครรภ์โดยห้ามมิให้นายจ้างยกเหตุดังกล่าวในการเลิกจ้าง แต่นายจ้างบางรายอาจอาศัยช่องว่างในทางปฏิบัติ หลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย หรือไม่จ่ายค่าชดเชยเลย โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศมาพิจารณาประกอบการกำหนดความคุ้มครองและจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการเลิกจ้างลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์โดยไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต และส่งเสริมแนวทางในการดำเนินการคุ้มครองลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครอง สิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดังนี้

1) กำหนดกลไกหรือแนวทางเฉพาะในการตรวจสอบสาเหตุแห่งการเลิกจ้างลูกจ้างหญิงให้แน่ชัดว่ามิใช่การเลิกจ้างเพราะเหตุตั้งครรภ์ ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์นั้น มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์จากการถูกเลิกจ้างในทางปฏิบัติ

2) ส่งเสริมและเผยแพร่มาตรการในการบรรเทาการเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์ที่ผู้ประกอบกิจการได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แก่ผู้ประกอบกิจการอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะมาตรการลดจำนวนลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลิกจ้างอย่างเหมาะสม และแนวทางการดำเนินการในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ มาตรการหรือแนวทางดังกล่าวควรเพิ่มเติมสาระสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์จากการถูกเลิกจ้างและการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานด้วย

3) กำหนดมาตรการกรณีการพิจารณาลดอัตราการจ้างงานอันเนื่องมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ลูกจ้างกลุ่มเปราะบาง อันได้แก่ ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ ลูกจ้างผู้พิการ เป็นลูกจ้างอันดับท้าย ที่จะถูกพิจารณาให้ออกจากงาน และให้นายจ้างถือปฏิบัติโดยทั่วกัน

2. กสม.ประสานการคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว กรณีห้างสรรพสินค้าขนย้ายของเสียงดังเวลากลางคืน ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ระบุว่า ผู้ร้องอาศัยอยู่ในหมู่บ้านทุ่งเศรษฐี เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งกำแพงรั้วบ้านของ ผู้ร้องอยู่ติดกับห้องเก็บสินค้าของห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กแห่งหนึ่ง และในเวลากลางคืนพนักงานขนส่งสินค้าของห้างมักขนย้ายสินค้าเสียงดังรบกวนการนอนหลับของผู้ร้องและครอบครัว จึงขอความช่วยเหลือนั้น

กสม. ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวอาจกระทำได้ด้วยวิธีการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือองค์กรอื่นใด ในด้านสิทธิมนุษยชน หรือการประสานกับบุคคลอื่นใดในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ร้อง จึงรับไว้เป็นคำร้อง เพื่อดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยส่งเรื่องให้สำนักงานเขตประเวศและห้างสรรพสินค้าแห่งดังกล่าวดำเนินการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจภายในระยะเวลาที่กำหนด

จากนั้น กสม. ได้ติดตามการดำเนินงานของสำนักงานเขตประเวศ โดยได้รับแจ้งเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ว่า สำนักงานเขตฯได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งห้างสรรพสินค้าผู้ถูกร้องให้แก้ไขปัญหาการขนย้ายสินค้าเสียงดัง ซึ่งปัจจุบันผู้ถูกร้องได้แก้ไขปัญหาแล้ว โดยล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ได้สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ร้องทางโทรศัพท์ และได้รับแจ้งว่า พนักงานของห้างสรรพสินค้าไม่ได้ขนย้ายสินค้าเสียงดังรบกวนแล้ว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ได้พิจารณาผลการแก้ไขปัญหากรณีตามคำร้องดังกล่าว และเห็นว่าปัจจุบันปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

“เมื่อเกิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หาก กสม. เห็นว่าเป็นกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน หรือสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้โดยยังไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบซึ่งมีหลายขั้นตอนนั้น การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนอื่นใด เป็นกลไกสำคัญที่ กสม. ดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ร้องหรือผู้ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที” ที่ปรึกษาประจำ กสม. กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/4/2565

แรงงานสาขาดิจิทัลขาดแคลนมหาวิทยาลัย 101 แห่ง จบแค่ 6 พันคน

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยกับสื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' ว่าขณะนี้ประเทศไทยต้องการกำลังคนในสายงานดิจิทัล ปีละไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ตำแหน่ง แต่คนที่มีทักษะสูงเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ยังน้อย จากข้อมูลล่าสุดนักศึกษาที่เรียนจบสาขาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ, วิทยาการคอมพิวเตอร์ ฯลฯ มีประมาณ 12,000 คนเท่านั้น แต่เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมจริง ๆ ประมาณ 5,000 คน เท่ากับว่าแต่ละปียังขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้ราว 25,000 คน

“ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง ให้แรงงานเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้น เพราะดีมานด์แรงงานด้านนี้ทยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ไทยมีเป้าหมายที่อยากพัฒนาประเทศ และบุคลากรทางด้าน deep technology มากขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น สิ่งที่ดีป้าและหลาย ๆ หน่วยงานกำลังดำเนินการ คือเร่งรีสกิลคนไทยทุกช่วงวัยให้มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านโครงการต่าง ๆ”

“เพราะผู้ที่มีทักษะทางด้านดิจิทัลจะได้เปรียบทั้งโอกาสในการหางาน และโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ และหากดูสถิติของปี 2563 อัตราการว่างงานของคนไทยอยู่ที่ 1.95% ในจำนวนนี้มีผู้ที่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เกือบ 6% ถือว่าการแข่งขันในตลาดแรงงานสูงมาก ทั้งยังมีนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรี, นักศึกษาอาชีวศึกษาปวช. ปวส.ที่เรียนจบแล้ว และกำลังจบจะเข้าสู่ตลาดอีกราว 1 ล้านคน”

รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยตกเป็นจำเลยหลายด้าน ทั้งถูกกล่าวหาว่าผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีดีมานด์ความต้องการคนสูงนานแล้ว ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความต้องการแรงงานด้านนี้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว ทั้งคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีก 10 ปี

“แต่มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบัณฑิตได้ทันต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากสถาบันต่าง ๆ ขาดแคลนทรัพยากรทางด้านอาจารย์ผู้สอน รวมถึงอุปกรณ์การเรียน และเครื่องมือที่ทันสมัย ขณะเดียวกัน แม้ทาง สจล.จะมีสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ, สาขาวิทยาการข้อมูล และการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) ภายใต้คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผลิตบุคลากรทางด้านนี้โดยตรง แต่กลับมีนักศึกษาทุกชั้นปีเฉลี่ยไม่เกิน 100-200 คนเท่านั้น”

“เพราะเราจำเป็นต้องควบคุมเรื่องคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ แต่ถ้าจะต้องเร่งผลิตบัณฑิตให้ได้จำนวนมาก ๆ ต้องเพิ่มอาจารย์ผู้สอน แต่การจะเพิ่มอาจารย์ผู้สอนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐด้วย เนื่องจากมีกฎระเบียบและเงื่อนไขมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น สิ่งที่ง่ายสุดคือต้องใช้งบประมาณจากมหาวิทยาลัยมาจ้างอาจารย์จากภายนอกมาช่วยสอน แต่ปัญหาก็ตามมาอีกคือจ้างได้แค่ระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพราะไม่เกิดความมั่นคงในวิชาชีพ”

รศ.ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวว่า เนื่องจากค่านิยมส่วนใหญ่ของนักเรียนที่เรียนสายวิทย์-คณิต จะเลือกสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์, พยาบาล, วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์มากกว่า เพราะเขามองว่าอาชีพเหล่านี้มั่นคง จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้นักเรียนไม่ทราบว่า ยังมีคณะต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์เทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำให้ขาดบุคลากรค่อนข้างมาก

“พีไอเอ็มเราเปิดสาขาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหมด 5 สาขา ในคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ, สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์, สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, สาขาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ และสาขาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ แต่ละชั้นปีมีนักศึกษา 40-50 คนเท่านั้น เพราะนักศึกษายังขาดความเข้าใจต่อการนำวิชาความรู้ไปประกอบวิชาชีพในอนาคต”

“ที่สำคัญ อาจเป็นเพราะภาครัฐให้การสนับสนุนนักศึกษาที่เรียนสายนี้น้อยเกินไป เช่น โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ก็จำกัดเฉพาะสาขาที่เกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์แต่ไม่ครอบคลุมสาขาที่เกี่ยวกับดิจิทัล ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง สาขาที่เกี่ยวกับดิจิทัลเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ทั้งเป็นสาขาที่มีโอกาสมหาศาล”

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สายงานเป็นที่ต้องการและขาดแคลนมากในอุตสาหกรรมนี้คือ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ cyber security เนื่องจากมีการโจมตีทางไซเบอร์ และการทำทุจริตเกี่ยวกับข้อมูลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ตลาดมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้เป็นจำนวนมาก และจากข้อมูลล่าสุดปรากฏว่า ตลาดทั่วโลกต่างต้องการแรงงานในสาขาอาชีพนี้สูงถึง 2 ล้านตำแหน่ง

“โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกขาดแคลนบุคลากรสาขาอาชีพดังกล่าวมากที่สุด เพราะยิ่งโลกดิจิทัลพัฒนามากเท่าไหร่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์จะสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะข้อมูลของภาครัฐ และเอกชนที่ต้องการความปลอดภัยในระดับสูงสุด สำหรับประเทศไทย ตำแหน่งงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังมีปริมาณน้อย ยกตัวอย่าง องค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 10,000 คน แต่มีพนักงานทางด้านไอทีแค่ 30 คน”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563-2567) พบว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นกลุ่มที่มีความต้องการบุคลากรทักษะสูงในจำนวนมากที่สุด รวม 30,742 ตำแหน่ง ตามด้วยอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 29,289 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 17,732 ตำแหน่ง

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี/เชิงสุขภาพ 15,432 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 14,907 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา 13,306 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต 12,458 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 12,231 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 10,020 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9,836 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 6,434 ตำแหน่ง และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 5,219 ตำแหน่ง

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2563 จากมหาวิทยาลัย 101 แห่ง พบว่าสามารถผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัลในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก มีจำนวน 5,916 คน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 21/4/2565

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เดินหน้าเฟส 3 "โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ"

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ให้ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งจากข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ มัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 22,168 คน โดยในแต่ละปีนักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ "แรงงานไร้ฝีมือ" ในการนี้ กระทรวงแรงงาน จึงบูรณาการร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานต่างๆ เพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มดังกล่าว ดูแล สนับสนุนเรื่องตำแหน่งงาน หรือส่งเสริมการประกอบอาชีพหลังจากฝึกอบรมจบหลักสูตรแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ "แรงงานมีฝีมือ" อันจะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับนี้ เป็นสิ่งที่ ก.แรงงานให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นการทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแบบพุ่งเป้า อาศัยความร่วมมือการบูรณาการจากทุกภาคส่วนโดยมีเป้าหมายคือประชาชน

"กระทรวงแรงงานมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านแรงงาน ด้วยการส่งเสริมการมีงานทำ การพัฒนาทักษะฝีมือตามความต้องการของตลาดแรงงาน การคุ้มครองแรงงานในทุกกลุ่ม ทุกมิติให้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เพื่อให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น"

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับเป็นความร่วมมือระหว่าง 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ซึ่งคาดว่า ในปีการศึกษานี้จะมีเด็กนักเรียนที่เรียนจบชั้น ม.3 แล้วไม่มีโอกาสได้เรียนต่อมีจำนวนสูงขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและพิษภัยโควิด-19 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ ให้นักเรียนครอบครัวยากจน ในปี 2564 เพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจน ภายใต้โครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ผู้สำเร็จการฝึกทักษะอาชีพดังกล่าวจำนวนกว่า 460 คน มีงานทำหรือประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว

การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ของคณะผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดฝึกอบรมโครงการในปี 2565 ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน โดยดำเนินการฝึกอบรมให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เข้ารับการฝึกอบรม จำนวนรวม 20 คน ฝึกอบรมในสาขา 1) ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก 2) ช่างซ่อมและบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ 3) ช่างแต่งผมสตรี 4) ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ 5) ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม 6) ช่างยนต์ และ 7) ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ฝึกอบรมในสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ระหว่างวันที่ 20 เม.ย.-17 มิ.ย. 2565 และฝึกในสถานประกอบกิจการ ระหว่างวันที่ 20 มิ.ย. - 20 ก.ค. 2565 จากโครงการดังกล่าวมีผู้ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ จากหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประกอบอาชีพทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีงานทำ หลายคนเข้าสู่ตลาดแรงงานทำง่นในสถานประกอบกิจการในฐานะแรงงานมีฝีมือ เช่น นายมงคลชัย ผึ่งผาย และนายโกวิทย์ หนุนภิรมย์ขวัญ เป็นช่างไฟฟ้าในอาคาร ของร้าน เอพี เทคนิคแอร์ จังหวัดลำพูน นายกวีศิลป์ มั่นธรรม เป็นช่างเชื่อมโลหะ ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส เค ที เทรลเลอร์ แอนด์ ทรัค และนายวัชรินทร์ พรมแต้ม เป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ที่ บริษัท Sabai รถไฟฟ้า จำกัด จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้บางคนเปิดเป็นกิจการส่วนตัว เช่น นายสุขสันต์ ตาก่ำ ปัจจุบัน เปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ที่จังหวัดลำพูน และ นางสาวรมิตา จิตสัมพันธ์สุข ประกอบอาชีพส่วนตัว ผลิตขนมเบเกอรี่ส่งร้านในจังหวัดเชียงใหม่ และขายออนไลน์ เป็นต้น

การเสริมทักษะฝีมือให้เยาวชน โดยเฉพาะนักเรียนชายขอบรุ่นใหม่ให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพจะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ยั่งยืนต่อไป ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเข้าร่วมโครงการได้ที่ สถาบัน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 20/4/2565

รมว.แรงงานถกทูตอิสราเอลเร่งขยายตลาดแรงงาน

19 เม.ย. 2565 ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางออร์นา ซากิฟ (Ms.Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขอบคุณเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่ได้ดูแลพี่น้องแรงงานไทยที่ไปทำงานในรัฐอิสราเอลเป็นอย่างดี ทำให้คนไทยมีงานทำ มีอาชีพ และได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อการมีงานทำ นำรายได้เข้าประเทศ

ทั้งนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอบคุณรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอลที่ได้ดำเนินการตามข้อตกลงด้านแรงงานเรื่องการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) มาอย่างต่อเนื่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการหารือประเด็นแนวทางการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอล ว่า เป็นการหารือเพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดส่งให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทย เนื่องจากทางการอิสราเอลได้เพิ่มโควต้าให้มีการจัดส่งจากเดิม 5,000 คน เป็น 6,800 คน

“นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงแนวทางการให้แรงงานไทยได้วีซ่าอุตสาหกรรม (Industrial Visa) เนื่องจากนายจ้างอิสราเอลยอมรับในช่างเชื่อมฝีมือคนไทยมากกว่าชาติอื่นๆ และต้องการช่างเชื่อมเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้คนแรงงานไทยสามารถไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้ นอกเหนือจากภาคเกษตรที่ทำอยู่แล้ว” นายสุชาติ กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงแรงงาน โดย กกจ.ได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลแล้ว จำนวน 50,868 คน แรงงานที่ไปทำงานส่วนใหญ่จะเดินทางไปทำงานกับนายจ้างในกิจการภาคเกษตรและกิจการปศุสัตว์ มีระยะเวลาการจ้างงานครั้งแรก 2 ปี และสามารถต่อสัญญาจ้างได้อีก 3 ปี 3 เดือน รวมเป็นไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำจำนวน 5,300 เชคเกลอิสราเอล โดยแรงงานไทยเหล่านี้ เมื่ออยู่ครบสัญญาจะนำประสบการณ์ทางเกษตรที่ได้รับจากการทำงานกลับมาพัฒนาประเทศและประกอบอาชีพของตนเองต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/4/2565

สหภาพแรงงาน ขสมก. ค้านจ้างเอกชนวิ่งรถโดยสาร EV 400 คัน

นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า ในเวลา 09.00 น. วันที่ 20 เม.ย.นี้ ตนเอง พร้อมสมาชิกจะไปยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เกี่ยวกับเรื่องคัดค้านการจ้างรถโดยสารเอกชน จำนวน 400 คัน เนื่องจากขณะนี้ได้ออกแถลงการณ์เรื่องดังกล่าว โดยมีข้อความว่า

ตามที่ รมว.คมนาคม ได้เปิดเผยแผนการดำเนินการให้ ขสมก. จ้างเหมาเอกชนวิ่งให้บริการรถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 400 คัน ระหว่างรอแผนฟื้นฟูองค์การ คาดเปิดประกวดราคาในเดือน พ.ค.นี้ และทราบผู้ชนะ เดือน มิ.ย.65 ก่อนทยอยให้บริการในระยะแรก 224 คัน ภายในเดือน ส.ค.65 ครบตามแผนภายในสิ้นปี 2565 โดยวิ่งเส้นทางย่านสำคัญใจกลางเมือง เชื่อมต่อขนส่งรูปแบบอื่น ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ระบุช่วยลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุง-พนักงาน-เชื้อเพลิงนั้น

สหภาพแรงงานฯ เห็นว่า การนำรถใหม่เข้ามาวิ่งให้บริการประชาชน และเก็บค่าโดยสาร 30 บาท/วัน นั้น สหภาพแรงงานฯ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการบริการประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่สหภาพแรงงานฯ ไม่เห็นด้วยกรณีให้เอกชนนำรถเข้ามาให้ ขสมก.จ้างเหมาวิ่งคันละ 6,000 กว่าบาท/วัน เหตุใดรัฐบาลไม่จัดหารถใหม่ 400 คันดังกล่าว ให้ ขสมก.โดยตรง เรื่องนี้สหภาพแรงงานฯ เห็นว่า มีวาระซ่อนเร้น หรือเป็นการแปรรูป ขสมก.อย่างชัดเจน ทำให้พนักงานสับสน ขาดขวัญและกำลังใจ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

นายบุญมา กล่าวว่า ไม่มีรถ ไม่มีเส้นทาง ไม่มี ขสมก. องค์การยื่นหนังสือขอใบอนุญาตประกอบการขนส่ง จำนวน 107 เส้นทาง (เส้นทางปฏิรูป) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อนุญาตตามคำขอ องค์การไม่มีรถใหม่ เข้าบรรจุในเส้นทางดังกล่าว และปรากฏว่ามีเส้นทางอีกจำนวน 77 เส้นทาง ที่ ขบ. เปิดให้มีการประมูลแข่งขันกันระหว่างองค์การกับภาคเอกชน จำนวน 28 เส้นทาง ผลปรากฏว่า องค์การประมูลไม่ได้ เพราะไม่มีรถใหม่

ดังนั้นเส้นทางทั้ง 28 เส้นทาง ภาคเอกชนก็ได้ไป ในอนาคตอันใกล้ ขสมก.คงเหลือแต่ชื่อ จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคน ที่จะต้องปกป้ององค์การจากกลุ่มทุนที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงพนักงานและประชาชน

สหภาพแรงงานฯ เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม และรัฐบาล เร่งรัดจัดหารถใหม่ให้กับ ขสมก. ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2562 มาแล้วหลายครั้ง เช่น ซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) 489 คัน ซื้อรถ EV จำนวน 35 คัน ซื้อรถไฮบริด 1,453 คัน เช่ารถไฮบริด 400 คัน เช่ารถเอ็นจีวี 300 คัน ปรับปรุงรถเก่า 323 คัน รวม 3,000 คัน ซึ่งต่อมาองค์การได้ดำเนินการจัดซื้อรถใหม่เอ็นจีวี 489 คัน คงเหลือ 2,188 คัน และซ่อมบำรุงรถเก่า 323 คัน จึงตั้งคำถามว่าเหตุใดไม่ดำเนินการต่อ ในเมื่อมติ ครม.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และสหภาพแรงงานฯ ได้เรียกร้องมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล จึงขอให้ รมว.คมนาคม และรัฐบาล เร่งรัดจัดหารถใหม่ให้กับ ขสมก. เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการที่เป็นผู้มีรายได้น้อยเป็นส่วนมาก

ที่มา: Thai PBS, 19/4/2565

มูลนิธิศุภนิมิต จับมือแสนสิริ ร่วมผลักดันสิทธิความเท่าเทียมแรงงานในภาคก่อสร้าง

18 เม.ย. 2565 ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิแรงงานเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการนำพาองค์กรไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่ UN SDGs กำหนดให้ถึงเป้าหมายไว้ในปี 2030

มูลนิธิศุภนิมิตฯ ดำเนินพันธกิจในการช่วยเหลือเด็กมากว่า 70 ปี และมีประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือในกลุ่มประชากรข้ามชาติมากกว่า 20 ปี ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และรูปแบบสาธารณสุขมูลฐาน (Development of Primary Health Service of the Migrants) รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group – MWG) ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประชากรข้ามชาติได้รับเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ดังนั้น มูลนิธิจึงได้ร่วมกับแสนสิริ เพื่อระบุต้นเหตุปัญหาของการเข้าถึงสิทธิของแรงงานในภาคก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงสิทธิในฐานะแรงงาน และสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลพื้นฐาน ผ่านการลงเยี่ยมแรงงานเพื่อทำแบบสอบถาม และการให้ความรู้เบื้องต้นแก่ผู้รับเหมา และตัวแรงงาน เป็นการยกระดับสิทธิแรงงานไปสู่ระดับสากล และสร้างมาตรฐานในการสนับสนุนสิทธิแรงงาน และสิทธิเด็กในพื้นที่ก่อสร้าง

“อย่างน้อยการที่เราจับมือกับแสนสิริในครั้งนี้ สามารถช่วยให้องค์กรได้เข้าถึงหลายข้อ จาก 17 ข้อของ UN SDGs ที่กำหนดไว้ เช่น การมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี Good Health and Well Being การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ Decent Work and Economic Growth รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ Reduced Inequality”

ดร.สราวุธกล่าวต่อว่า เราวางแผนในการดำเนินการ 2 ปี โดยมุ่งเน้นสิทธิแรงงานทางด้านการประกันสังคม การใช้วันลา การจ้างงาน ค่าจ้าง และค่าล่วงเวลา สิทธิสตรี อาทิการจ้างงานที่เท่าเทียม การไม่กระทำความรุนแรง สุขภาพ และอนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิเด็ก อาทิ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะมีส่วนร่วม นอกจากนั้นยังให้การอบรมทักษะพื้นฐานสำหรับเด็กและทักษะอาชีพเสริมให้แรงงานอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2022 จะดำเนินการนำร่องโครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานใน 10 ไซต์ก่อสร้างของแสนสิริ และเจาะกลุ่มแรงงานหญิงก่อนเป็นกลุ่มแรก นอกจากนั้นขยายผลต่อไปยังกลุ่มลูกคนงานก่อสร้าง ต่อจากนั้นในปี 2023 จะต่อยอดไปยังแรงงานข้ามชาติชาย และแรงงานไทยในโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ของแสนสิริต่อไป เพื่อยกระดับสิทธิแรงงานในภาคก่อสร้างได้อย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรม

โดยคาดหวังว่าจะได้ข้อมูลครบถ้วนทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพเกี่ยวกับต้นเหตุปัญหาของการเข้าถึงสิทธิแรงงานในภาคการก่อสร้าง สามารถสร้างมาตรฐานการดูแลสิทธิแรงงานก่อสร้างในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และตอบโจทย์พันธกิจของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของเด็ก การบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน การส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม การเสริมสร้างจิตสำนึกแก่มวลชนเพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม การให้ การแบ่งปันช่วยเหลือเด็กเปราะบางยากไร้ และร่วมพัฒนาสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

สำหรับในประเทศไทย มีแรงงานในธุรกิจก่อสร้างอยู่ที่ 2.7 ล้านคน โดยเป็นแรงงานไทย จำนวน 2.2 ล้านคน และแรงงานข้ามชาติ 500,000 คน หรือคิดเป็น 17% ของภาคแรงงานทั้งหมด (ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน) และมีแรงงานข้ามชาติหญิงในธุรกิจก่อสร้างสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ 200,000 คน หรือ 40% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เมียนมา และลาว ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิที่พึงมีมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแรงงานด้วยกัน

การใช้แรงงานที่ถูกกฎหมายและดูแลการจ้างงานให้สวัสดิการอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นเรื่องที่อาจเพิ่มต้นทุนให้กับนายจ้าง แต่ถ้าคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามสมควร จึงเป็นประเด็นที่ทุกองค์กรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ควรให้ความสำคัญ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/4/2565

"เบนซ์" ประกาศเลิกใช้ "พริตตี้" ทุกงานแสดงรถยนต์ในไทย

รายงานจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ว่าบริษัทให้ความสำคัญกับความหลากหลาย (diversity) และความเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม โดยเริ่มจากการเปลี่ยนค่านิยม ที่อยู่คู่กับงานจัดแสดงรถยนต์ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน นั่นก็คือวัฒนธรรมการใช้ “พรีเซนเตอร์” ที่ทุกคนรู้จักในนาม “พริตตี้”

การใช้ “พริตตี้” ช่วยโปรโมทรถยนต์ในงานอีเวนต์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย จนอาจส่งผลต่อมุมมองของคนไทยที่มีต่อพริตตี้ และหลาย ๆ ครั้งก็ส่งผลกระทบกับคุณค่าของผู้หญิงและอาจนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อพวกเธอ

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เล็งเห็นว่า คุณค่าของแต่ละบุคคล อยู่ที่หลากหลายองค์ประกอบ ไม่ใช่แค่เพศสภาพ จึงเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยการสร้างนิยามใหม่ เพื่อให้พรีเซนเตอร์คนนี้ถูกให้เกียรติ และสร้างจุดยืนใหม่ๆ ในวงการ ด้วยการนำเสนอ

- พรีเซนเตอร์…ที่ไม่จำกัดเพศ สีผิว หรือรูปร่าง

- พรีเซนเตอร์…ที่ไม่จำเป็นต้องแต่งตัววาบหวิว

- พรีเซนเตอร์…ที่ได้รับการอบรมเรื่องรถยนต์ และมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ให้ข้อมูลอย่างแม่นยำ

จากนี้ไป เมอร์เซเดส-เบนซ์จะใช้ทีม “Digital Guide” (ดิจิทัล ไกด์) กลุ่มคนที่จะมาทำหน้าที่ในการให้ความรู้เรื่องรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ทุกรุ่น ในงานจัดแสดงรถยนต์ทุกงานในประเทศไทย

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 18/4/2565

โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบ ม.3 กำหนดเปิดฝึกทั่วประเทศเริ่ม 18 เม.ย. 2565

17 เม.ย. 2565 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ และอีกหลายหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดมาตั้งแต่เดือนต.ค.64 อย่างครบวงจรตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ได้แก่ การสำรวจหาเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ ม.3 และเชิญชวนให้สมัครเข้าร่วมโครงการ กระบวนการกลางน้ำ ได้แก่ การฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและสนับสนุนสงเคราะห์ระหว่างฝึกอบรม กระบวนการปลายน้ำ ได้แก่ การสำรวจและเตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับเด็กที่ผ่านการฝึกอบรมภายใต้ปฏิทินการดำเนินงาน 12 ขั้นตอน ซึ่งขณะนี้ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศได้ดำเนินโครงการมาถึงขั้นตอนที่ 8 การเปิดฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพ โดยแต่ละจังหวัดจะเริ่มเปิดการฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.65 เป็นต้นไป ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนสนใจสมัครเข้าฝึกอบรม จำนวน 837 คน

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทุกจังหวัดได้เปิดหลักสูตรสาขาฝึกอบรมที่มีความหลากหลายทางอาชีพซึ่งเป็นอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการสูง จำนวน 23 หลักสูตร อาทิ ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างซ่อมและบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม (ผ้า) ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบอาหารไทย ช่างสีรถยนต์ เป็นต้น ทุกหลักสูตรอบรมภาคทฤษฎีที่สถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน และภาคปฏิบัติ(ฝึกงาน)ที่สถานประกอบกิจการในเครือข่าย ประมาณ 4-6 เดือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการฝึกอบรมจะได้รับการสนับสนุนเงินสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ปกครองและการเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตผ่านกิจกรรมนันทนาการจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดด้วย

“ภายหลังจบการฝึกอบรมตามโครงการฯ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด และสถานประกอบกิจการในจังหวัด จะร่วมกันหาตำแหน่งงานว่างที่มีความเหมาะสมตามหลักสูตรสาขาที่ฝึกอบรมรองรับนักเรียนที่จบการฝึกอบรมให้ทั้งในจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมทั้งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจะช่วยประสานงานเพื่อสร้างความเข้าใจกับสถานประกอบกิจการถึงการจ้างแรงงานเด็กและการให้โอกาสเด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปี ได้ทำงานมีรายได้เพียงพอดูแลตนเองและครอบครัวเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

ที่มา: NEW18, 17/4/2565

ก.แรงงานเตือนภัย SMS หลอกคนหางาน อ้างชื่อบริษัทดังให้เงินเดือนสูง ทำงานที่บ้านได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า ขณะนี้มีผู้แอบอ้างว่าเป็นบริษัทชื่อดัง มีพฤติการณ์ส่ง SMS ชักชวนคนหางาน อ้างรับสมัครคน จำนวน 100 คน อายุ 23 - 50 ปี ทำหน้าที่ประมวลผลจากบริษัท คำสั่งซื้อจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เงินเดือน 30,000 - 50,000 บาท และวันละ 1,000 – 5,000 บาท สามารถทำงานที่บ้านได้ งานง่ายใช้เวลา 10 - 15 นาที เมื่อทำงานเสร็จรับเงินทันที โดยผู้แอบอ้างได้ให้ช่องทางการติดต่อผ่านทางแอปพลิเคชัน Line ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อไป ผู้แอบอ้างกลับไม่ได้แจ้งรายละเอียดของงาน แต่ให้โอนเงินลงทุนขั้นต่ำ 200 บาท อ้างว่าจะได้กำไรจากยอดเงินฝาก 30% สามารถสร้างรายได้ 800 – 1,000 บาทต่อวัน พร้อมสอนวิธีการลงทะเบียน นอกจากนี้ยังได้นำหนังสือจดทะเบียนบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องมาสวมรอยแอบอ้างด้วย

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการหลอกลวงคนหางานอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ประชาชนจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบ จึงกำชับกระทรวงแรงงาน เฝ้าระวัง และติดตามตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน เนื่องจากนำมาซึ่งความเสียหาย เสียเงิน เสียโอกาส ซ้ำเติมคนหางานที่กำลังลำบาก”

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการดูแลคุ้มครองคนหางาน รับเรื่องร้องทุกข์ วินิจฉัยคำร้องทุกข์และช่วยเหลือคนหางานที่ประสบปัญหาจากการหางานทำในประเทศและต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีหลอกลวงคนหางานโดยใช้ตำแหน่งงานที่ไม่มีอยู่จริง และรายได้ที่สูงหลอกล่อ เพื่อนำไปสู่การลวงให้โอนเงินลงทุนดังกล่าว มีความผิดตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการโฆษณาการจัดหางาน ซึ่งการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาสามารถแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ตามท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือแจ้งเบาะแสได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 02 254 6763 หรือโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: สยามรัฐ, 16/4/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net