Skip to main content
sharethis

โรงงานในทวีปเอเชียเผชิญภาวะชะลอเมื่อเดือน มี.ค. 2022 ที่ผ่านมา

กิจกรรมโรงงานส่วนใหญ่ในทวีปเอเชียเผชิญกับภาวะชะลอตัวในเดือน มี.ค. 2022 ขณะที่สถานการณ์วิกฤตในยูเครน ทำให้อุปสงค์ของจีนตกต่ำและราคาต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้น

โดยกิจกรรมโรงงานในจีนประสบภาวะชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 2 ปี ส่วนกิจกรรมโรงงานในเกาหลีใต้ก็เผชิญกับภาวะชะลอตัวเช่นกัน  เนื่องจากมีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2020 ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ ต้องแบกรับต้นทุนสินค้านำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น เช่น น้ำมัน โลหะ และเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนกิจกรรมโรงงานในไต้หวัน เวียดนาม และมาเลเซีย ก็เผชิญกับภาวะชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น

ที่มา: Doo Prime News, 1/4/2022

ไต้หวันผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค อนุญาตให้แรงงานต่างชาติกักตัวในหอพักที่ได้มาตรฐานได้

ไต้หวันลดขั้นตอนการป้องกันโรคสำหรับการนำเข้าแรงงานต่างชาติ โรงแรมกักตัวไม่ต้องส่งให้กองแรงงานท้องที่ตรวจสอบและอนุมัติก่อนอีกต่อไป และนอกเหนือจากโรงแรมกักตัวและศูนย์กักตัวของรัฐแล้ว อนุญาตให้นายจ้างสามารถจัดหาหอพักที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นสถานที่กักตัวและสังเกตอาการตนเองของแรงงานต่างชาติได้ โดยกระทรวงแรงงานได้ประกาศแนวปฏิบัติการจัดหาและบริหารจัดการหอพักป้องกันโรคของแรงงานงานต่างชาติ เพื่อช่วยเหลือบริษัทจัดหางานและนายจ้างในการจัดหาและบริหารหอพักที่ได้มาตรฐานสำหรับการป้องกันโรคของแรงงานต่างชาติ

ทั้งนี้ แนวปฏิบัติการจัดหาและบริหารจัดการหอพักที่จะใช้เป็นสถานที่กักตัวและสังเกตอาการตัวเองของแรงงานต่างชาติ ต้องสอดคล้องกับเงื่อนไข 4 ประการ ดังต่อไปนี้ 1) ต้องได้มาตรฐานเดียวกับโรงแรมกักกันโรคและผ่านการตรวจสอบจากกองแรงงาน กองอนามัยและสำนักการโยธาในท้องที่ 2) ต้องมีผู้บริหารจัดการด้านการป้องกันโรค และพนักงานที่ต้องสัมผัสกับแรงงานต่างชาติ ต้องผ่านการฝึกอบรมความรู้ด้านการป้องกันโรค 3) ต้องดูแลและควบคุมการตรวจ PCR และ ATK รวมถึงจำนวนวันกักตัวของแรงงานต่างชาติให้ครบตามที่ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคกำหนด และ 4) ต้องผ่านการสุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการกักกันโรคจากหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/4/2022

ภายในปี 2034 สหรัฐฯ อาจจะขาดแคลนแพทย์สูงถึง 124,000 ราย

ข้อมูลจากสมาคมวิทยาลัยแพทย์อเมริกัน (AAMC) ระบุว่าปัญหาขาดแคลนแพทย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นผลมาจากแรงงานสูงอายุ โดย 2 ใน 5 ของแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ทุกวันนี้กำลังจะถึงวัยเกษียณในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีการประมาณการว่าภายในปี 2034 สหรัฐฯ อาจเผชิญปัญหาขาดแคลนแพทย์สูงถึง 124,000 ราย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนราว 7,000 คนต่อปี

ทั้งนี้ผู้อยู่อาศัยในเมืองและผู้ป่วยที่มีรายได้สูงอาจไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้เหมือนกับผู้อยู่อาศัยในชนบทของประเทศ เนื่องจากโรงพยาบาลในชนบทมากกว่า 130 แห่งได้ปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2010 และชุมชนในชนบทกว่า 4,200 แห่ง กำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรการแพทย์

ที่มา: The News-Press, 3/4/2022

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ยังคงเดินหน้าผลักดันการขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 65 ปี

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ยังคงเดินหน้าผลักดันการขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 65 ปี โดยให้เหตุผลว่าฝรั่งเศสถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเกษียณอายุเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

ทั้งนี้ฝรั่งเศสมีกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในวันที่ 10 เม.ย. 2022 ตามด้วยการเลือกตั้งรอบสุดท้ายในวันที่ 24 เม.ย. 2022 โดยผลสำรวจความคิดเห็นระบุว่าความนิยมในตัวประธานาธิบดีมาครงเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ที่มา: CNBC, 4/4/2022

โครงการผู้ฝึกหัดทักษะอาชีพชาวต่างชาติเริ่มต้นใหม่ในจังหวัดนางาโนะของญี่ปุ่น

โครงการผู้ฝึกหัดทักษะอาชีพชาวต่างชาติเริ่มต้นใหม่ในจังหวัดนางาโนะ ตอนกลางของญี่ปุ่น หลังจากเมื่อเดือนที่แล้วญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายการควบคุมการข้ามแดนเข้าประเทศเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

องค์กรด้านสถานพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองโคโมโระรับผู้ฝึกหัดทักษะอาชีพ 80 คนจากอินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ ผู้ฝึกหัดทักษะอาชีพจะเข้าฟังการบรรยายสองเดือนหลังจากพ้นช่วงเวลากักตัว จากนั้นจึงเริ่มฝึกหัดทักษะในสถานที่ต่าง ๆ ภายในและนอกจังหวัดนางาโนะ

ในวันอังคารที่ 5 เม.ย. 2022 ผู้ฝึกหัดทักษะอาชีพ 20 คนจากอินโดนีเซียเรียนบทเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับการพยาบาล

ผู้ฝึกหัดทักษะอาชีพอายุ 22 ปีคนหนึ่งเผยว่า ตนรอมาประมาณ 2 ปี ดังนั้นจึงดีใจว่าสามารถเดินทางมาญี่ปุ่นได้แล้ว และกล่าวว่า ตนจะตั้งใจเรียนให้ได้คุณวุฒิประกอบอาชีพเป็นผู้ดูแลต่อไป

อามาริ โยโกะ หัวหน้าองค์กรด้านสถานพยาบาลแห่งนี้ระบุว่า ผู้ฝึกหัดทักษะอาชีพรอคอยโอกาสนี้มานาน ดังนั้นตนจึงดีใจอย่างยิ่งว่า ผู้ฝึกหัดเหล่านั้นสามารถมาญี่ปุ่นได้แล้ว และกล่าวต่อไปว่า ตนต้องการให้ผู้ฝึกหัดชอบการพยาบาลและตั้งใจเรียนเพื่อให้สอบผ่าน

ที่มา: NHK, 5/4/2022

สหภาพแรงงานกรีซหยุดงานประท้วง 24 ชั่วโมงเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของกรีซ ที่มีสมาชิกเป็นแรงงานภาครัฐและเอกชนกว่า 2.5 ล้านคน นัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ 24 ชั่วโมง หลังจากที่เมื่อเดือน มี.ค. 2022 กลุ่มสหภาพแรงงานได้เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 13% เป็น 751 ยูโร เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 25 ปีที่ 7.2% ซึ่งก่อนหน้านั้นรัฐบาลกรีซได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 2% เป็น 663 ยูโร เมื่อเดือน ม.ค. 2022

ที่มา: The Morning Star, 6/4/2022

นักวิชาการชี้ 'ภาวะลาออกครั้งใหญ่' ในสหรัฐฯ อาจเป็น 'ภาวะการเปลี่ยนงานครั้งใหญ่' มากกว่า

ชาวอเมริกันหลายล้านคนตัดสินใจลาออกจากงานในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มากถึงราว 4.5 ล้านคน ซึ่งหมายถึง อัตราการลาออกที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3% เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วคนกลุ่มนั้นลาออกไปทำอะไรกัน

คริส เด็คเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเนแบรสกา โอมาฮา (University of Nebraska Omaha) ให้ความเห็นว่า ภาวะการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิดทำให้กระบวนการเกษียณของผู้ที่มีอายุมากหน่อยเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ควร

ข้อมูลจากสำนักสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) ระบุว่า อัตราการลาออกในสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 2.9% จากการที่มีผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงานลาออกราว 4.4 ล้านคนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ซึ่งเป็นเดือนที่มีคนกลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานราว 6.7 ล้านคน

เจย์ ซากอร์สกี อาจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจ มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) ไม่เชื่อว่า การระบาดใหญ่ของโควิดคือ เหตุผลที่ทำให้คนเกษียณมากกว่าปกติ แต่ยอมรับว่า สหรัฐฯ ประสบ ‘ภาวะการตบเท้าลาออกครั้งใหญ่’ อยู่จริงในบางมุม แต่ไม่ใช่ในทุกแง่

ความเห็นของ ซากอร์สกี มีความจริงอยู่บ้าง เพราะสถิติการลาออกของสหรัฐฯ นั้นเริ่มมีการจัดเก็บมาตั้งแต่เดือนธันวาคมของปี ค.ศ. 2000 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า สำนักงานสถิติแรงงานไม่มีตัวเลขอ้างอิงจากก่อนหน้านั้นมาใช้เปรียบเทียบกับตัวเลขในปัจจุบันให้เห็นภาพที่ชัดเจน

ซากอร์สกี ยังระบุด้วยว่า ตัวเลขคนที่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวน 6.7 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์นั้นไม่ได้เลวร้ายจนถึงขั้นต้องใช้คำว่า ‘ภาวะตบเท้าลาออกครั้งใหญ่’ อีกแล้ว และน่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ภาวะการเปลี่ยนงานครั้งใหญ่” มากกว่า

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง การเปลี่ยนงานครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ว่านี้ ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ลุกจ้างรัฐบาลส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ลาออกเพื่อเปลี่ยนงานเท่าใด และอัตราการลาออกที่สูงนั้นมาจากกลุ่มธุรกิจบริการต้อนรับ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร และบาร์ รวมทั้ง ธุรกิจค้าปลีกด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันลาออกในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างคงที่ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19

และผลการสำรวจโดย Harris/USA Today เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า 20% ของคนที่ลาออกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รู้สึกเสียใจที่ลาออก และ 25% บอกว่า ตนรู้สึกคิดถึงวัฒนธรรมการทำงานที่ตนลาออกมา

คริส เด็คเกอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งเนแบรสกา โอมาฮา คาดว่า ความต้องการแรงงานจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะยาว ในช่วงที่ อุปทานแรงงานในอเมริกาจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ว่า ประชากรนั้นเริ่มมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลต้องหันมาพิจารณานโยบายตรวจคนเข้าเมืองอีกครั้ง เพื่อหาทางสร้างสมดุลระหว่างการไหลเข้าของคนต่างชาติ และบรรยากาศการเมืองยังขัดแย้งกันพอสมควร เพื่อช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานต่อไป

ที่มา: VOA, 11/4/2022

COVID-19 กระทบแรงงานเวียนามถึง 16.9 ล้านคน ในไตรมาส 1/2022

ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในเวียดนามมากกว่า 16.9 ล้านคน ได้รับผลกระทบหนักจากโรคติดเชื้อ COVID-19 ในไตรมาส 1/2022 ซึ่งลดลง 7.8 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านสถานการณ์แรงงานและการจ้างงานในไตรมาส 1/2022 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม ระบุว่าส่วนหนึ่งของกลุ่มคนกว่า 16.9 ล้านคน ข้างต้นเป็นคนตกงานราว 900,000 คน และมีรายได้ลดลง 13.7 ล้านคน

นอกจากนั้นเวียดนามพบประชาชนถูกระงับการทำงานหรือธุรกิจ 5.1 ล้านคน รวมถึงถูกลดชั่วโมงทำงาน ถูกพักงาน หรือถูกบังคับให้ทำงานแบบแบ่งกะ 5.7 ล้านคน ในไตรมาส 1/2022 ที่ผ่านมา

ที่มา: Vietnam+, 12/4/2022

ปี 2021 ไต้หวันอนุมัติเงินบำเหน็จชราภาพแก่แรงงานต่างชาติ 3,197 ราย เป็นเงิน 50.3 ล้านเหรียญไต้หวัน กว่า 90% เป็นแรงงานไทย

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ณ ข้อมูลของกระทรวงแรงงาน สิ้นปี 2021 ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันมีจำนวนลดลงเหลือ 669,992 คน ในจำนวนนี้ ทำงานในภาคการผลิตและเป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงานจำนวน 443,104 คน และจากสถิติของกองทุนประกันภัยแรงงานพบว่า ในปีเดียวกัน กองทุนฯ ได้อนุมัติการยื่นขอเงินบำเหน็จ/บำนาญชราภาพของอดีตแรงงานต่างชาติที่เคยมาทำงานในไต้หวัน เคยเป็นสมาชิกกองทุน อายุครบตามเกณฑ์ คือครบ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 3,197 ราย มากกว่ายอดจำนวนที่อนุมัติในปี 2562 ที่มี 1,192 ราย ถึง 2 เท่าตัว และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่หรือกว่า 90% ผู้ยื่นขอเป็นแรงงานไทย

ในจำนวนอดีตแรงงานต่างชาติที่ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 3,197 ราย มี 2,916 ราย รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพเป็นก้อนครั้งเดียวจำนวน 2,916 ราย เงินบำเหน็จชราภาพที่ได้รับ เฉลี่ยคนละ 76,357 เหรียญไต้หวัน สูงสุด 600,000 เหรียญ ส่วนผู้ได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือน 281 ราย ยอดเงินที่ได้รับอนุมัติ 50,331,398 เหรียญไต้หวัน

ที่มา: Radio Taiwan International, 15/4/2022

ฝรั่งเศสจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้น 2.65% ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2022 เป็นต้นไป

ฝรั่งเศสจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้น 2.65% ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2022 เป็นต้นไป โดยค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนสำหรับพนักงานประจำในฝรั่งเศสจะเพิ่มขึ้นจาก 1,603.12 ยูโร เป็น 1,645.58 ยูโร ส่วนค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงจะเพิ่มขึ้นจาก 10.57 ยูโร เป็น 10.85 ยูโร

ที่มา: The Connexion, 15/4/2022

 พนักงาน 'PepsiCo-Nestle' ในยุโรปไม่พอใจบริษัทกรณีนโยบายรัสเซีย

พนักงานบริษัทสินค้าบริโภคชั้นนำหลายแห่งออกมาแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของบริษัทตนที่ยังคงดำเนินธุรกิจในรัสเซียอยู่ โดยหลายคนได้ตัดสินใจลาออกเพื่อเป็นการประท้วงแล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ในเวลานี้บริษัท มอนเดเลซ (Mondelez) ผู้ผลิตคุ้กกี้โอรีโอ (Oreo) บริษัทเนสท์เล่ (Nestle) และบริษัทเป๊ปซี่โค (PepsiCo) คือธุรกิจผู้ผลิตสินค้าบริโภคชั้นนำของโลกที่กำลังประสบปัญหาความไม่พอใจจากพนักงานในภูมิภาคยุโรปตะวันออก เนื่องจากเหตุผลที่ว่า

แรงกดดันจากภายในองค์กรเหล่านี้เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ ยูเครนเรียกร้องให้บริษัทชาติตะวันตกทั้งหลายทำมากกว่าแค่การดำเนินตามมาตรการลงโทษมอสโก ด้วยการตัดสายสัมพันธ์ทางธุรกิจทั้งหมดกับมอสโกเสีย เพราะเงินต่างๆ ที่ได้มาจากธุรกิจในประเทศมหาอำนาจนี้ ล้วนเป็น “เงินเปื้อนเลือด” ทั้งสิ้น

รอยเตอร์รายงานโดยอ้างจากหนังสือเวียนของเนสท์เล่ว่า บริษัทแห่งนี้ประสบปัญหาพนักงานในยูเครนลาออกไปจำนวนหนึ่ง และปัญหาการถูกก่อก่วนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่พุ่งเป้าไปยังจุดยืนของบริษัทที่ยังเดินหน้าทำธุรกิจในรัสเซียต่อไป

เมื่อเดือนที่แล้ว พนักงานของบริษัทผู้ผลิตคุ้กกี้โอรีโอในแถบทะเลบอลติกส์ อันได้แก่ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย จำนวนกว่า 130 คนร่วมลงนามในหนังสือร้องทุกข์ที่ส่งให้กับ เดิร์ก แวน เดอ พุต เพื่อขอให้บริษัทยุติการดำเนินกิจการในรัสเซีย ขณะที่ พนักงานคนอื่นให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ตนรู้สึกช็อกมากที่ยังเห็นบริษัทเดินหน้าแผนส่งเสริมการขายคุ้กกี้ชุด “เดอะ แบทแมน” ในรัสเซีย พร้อมแผนงานจับฉลากรางวัลเงินสดถึง 500,000 รูเบิล หรือราวะ 6,000 ดอลลาร์ต่อไป แม้ว่า ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องนี้จะประกาศยกเลิกการเปิดตัวฉายในรัสเซียไปแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกัน บริษัทสินค้าผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เช่น ยูนิลีเวอร์ (Unilever) และ พีแอนด์จี (P&G) เปิดเผยว่า ตนยังคงเดินหน้าทำธุรกิจในรัสเซียอยู่ เพราะสินค้าบางประเภทของตนนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าอ้อมและนม ซึ่งชาวรัสเซียยังจำเป็นต้องใช้อยู่ พร้อมๆ กับ เพื่อให้ตนสามารถเดินหน้าโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรรมได้ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท มอนเดเลซ บริษัทเนสท์เล่ และบริษัทเป๊ปซี่โค ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมผู้ผลิตขนมประเภทบรรจุห่อของโลก ยังไม่ได้เปิดเผยว่า ในเวลานี้บริษัทยังดำเนินธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ใดในรัสเซียอยู่

ที่มา: VOA, 15/4/2022

ไต้หวันหยุดงานไม่ได้รับเงินเดือน 13,000 คน ภาคการผลิต การขนส่งเพิ่มขึ้นชัดเจน

18 เม.ย. 2022 กระทรวงแรงงานไต้หวัน ประกาศสถิติการใช้มาตรการลดชั่วโมงการทำงาน หรือให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า มีกิจการ  2,167 แห่ง และพนักงาน 13,517 คนที่ต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับสถิติของวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา มี 2,008 กิจการและพนักงาน 12,198  คน พบว่าสถิติล่าสุด มีกิจการที่สั่งให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 159 แห่ง 1,319 คน

กระทรวงแรงงานระบุว่า สถิติในครั้งนี้ สามกิจการหลักมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ กิจการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น 27 แห่ง 359 คน กิจการด้านการขนส่งและคลังสินค้าเพิ่มขึ้น 13 แห่ง 388 คน และกิจการด้านการบริการสนับสนุนเพิ่มขึ้น 57 แห่ง 372 คน

กระทรวงแรงงานชี้แจ้งว่า กิจการด้านการบริการสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นบริษัทท่องเที่ยว ช่วงนี้ยังคงดำเนินมาตรการให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ส่วนกิจการด้านการขนส่งและคลังสินค้า พบว่ามีบริษัทสายการบินแห่งหนึ่ง พนักงานถูกสั่งให้หยุดงานกว่า 300 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก

จากข้อมูล กิจการที่ดำเนินมาตรการให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนมากที่สุด แบ่งเป็น  กิจการด้านการบริการสนับสนุน 1,345 ราย รองลงมาคือกิจการค้าปลีกและค้าส่ง 236 ราย กิจการที่พักและร้านอาหาร 142 แห่ง จำนวนพนักงานที่ถูกสั่งให้หยุดงานมากที่สุด แบ่งเป็น พนักงานในกิจการด้านการบริการสนับสนุน  8009 คน กิจการด้านการขนส่งและคลังสินค้า 1,412 คน และภาคอุตสาหกรรมการผลิต 1,156 คน

ที่มา: Radio Taiwan International, 18/4/2022

พนักงาน Apple ในนิวยอร์ก เรียกร้องขอเพิ่มค่าแรง 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง

พนักงาน Apple สโตร์สาขา Grand Central Terminal ภายใต้ชื่อกลุ่ม Fruit Stand Workers United ซึ่งในเวลานี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ได้ออกมาเรียกร้องขอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นจำนวน 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง ทั้งนี้กลุ่ม Fruit Stand Workers United เพิ่งจัดตั้งรวมกลุ่มกันในช่วงต้นปี 2022

ด้านโฆษกของ Apple ออกมาระบุว่ามีความยินดีที่จะเสนอค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของพนักงานเต็มเวลา และพนักงานพาร์ตไทม์ รวมถึงการดูแลด้านสุขภาพ, ค่าเล่าเรียน, วันลาเพิ่มเติมของพนักงานเพื่อดูแลบุตรแรกเกิด และอื่นๆ

ส่วนเกณฑ์การจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาได้นั้น พนักงานจะต้องรวบรวมรายชื่อพนักงานอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์จากสาขา Grand Central Terminal จากนั้นให้ยื่นเรื่องมายังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่ยื่นคำร้องต่อสหภาพแรงงาน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการโหวตของพนักงาน ซึ่งต้องได้รับเสียงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรับรองการเป็นสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการ

ที่มา: CNBC, 18/4/2022

ผู้ขับรถแท็กซี่หยุดงานประท้วงขอขึ้นค่าโดยสาร

กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ในเมืองเดลีของอินเดีย หยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ขึ้นค่าโดยสารซึ่งขณะนี้ถูกกำหนดโดยแพลตฟอร์มเรียกรถข้ามชาติอย่างอย่าง Ola และอูเบอร์ Uber นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน, ต่ออายุใบอนุญาตให้บริการอีก 2 ปี เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มผู้ขับแท็กซี่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19

ที่มา: The Hindustan Times, 18/4/2022

ปี 2021 สายด่วนแรงงานของไต้หวัน รับเรื่องร้องทุกข์จากแรงงานต่างชาติ 2.5 แสนคน/ครั้ง

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติโทรศัพท์ขอรับความช่วยเหลือจากสายด่วนคุ้มครองแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตลอดปี 2021 มีแรงงานต่างชาติโทรศัพท์ใช้บริการสูงถึง 254,617 คน/ครั้ง ขณะที่ปี 2563 ให้บริการ 209,641 คน/ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าปี 2019 ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิดที่มีจำนวนผู้ใช้บริการ 186,014 คน/ครั้ง กระทรวงแรงงานกล่าวว่า ผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่โทรไปสอบถามข้อมูลและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรค COVID-19

โดยแรงงานต่างชาติที่ใช้บริการกว่าครึ่งหรือ 53.3% โทรศัพท์ในช่วงนอกเวลาทำงาน ซึ่งรวมวันหยุดและกลางคืน แรงงานที่โทรศัพท์ใช้บริการมากสุดได้แก่ เวียดนาม 42.7% ตามด้วยแรงงานอินโดนีเซีย 12.1% ฟิลิปปินส์ 9.6% ส่วนแรงงานไทยใช้บริการเพียง 3.7%

ที่มา: Radio Taiwan International, 22/4/2022

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net