Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่ากลุ่มเหยียดทรานส์หลายกลุ่มจะอ้างว่าการให้กลุ่มคนข้ามเพศลงแข่งกีฬาตามเพศสภาพของตนเองได้จะทำให้เกิดความ "ข้อได้เปรียบ" ในการแข่งขัน แต่งานวิจัยต่างๆ ก็ลบล้างความเข้าใจผิดนี้ เช่น มีงานวิจัยที่ระบุว่าผู้หญิงตามเพศกำเนิดส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับการที่ให้หญิงข้ามเพศแข่งกีฬาหญิง และมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าคนข้ามเพศไม่ได้มีข้อได้เปรียบในทางการกีฬา


ที่มาภาพประกอบ: Sven Mieke (Unsplash License)

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาช มหาวิทยาลัยชั้นนำในออสเตรเลีย ระบุว่านักกีฬาหญิงส่วนใหญ่ไม่เชื่อข้ออ้างของกลุ่มกีดกันคนข้ามเพศจากกีฬา ความเชื่อที่ว่าคือคนข้ามเพศมี "ความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม" ในการแข่งขันกีฬา มีนักกีฬาหญิงเพียงร้อยละ 24 เท่านั้นจากกลุ่มสำรวจที่เชื่อในเรื่องนี้ ขณะที่นักกีฬาชายเชื่อในเรื่องนี้มากกว่าอยู่ที่ร้อยละ 46

ทั้งนี้ยังเคยมีงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์และข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าผู้หญิงข้ามเพศไม่ได้มีข้อได้เปรียบทางกายภาพใดๆ ในการลงแข่งกับผู้หญิงตามเพศกำเนิด เพราะถ้าทำตามหลักข้อกำหนดของคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติแล้ว หญิงข้ามเพศที่จะแข่งกีฬาประเภทหญิงได้ต้องเทคฮอร์โมนมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

นอกจากนี้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดยังระบุว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เคยถูกมองว่าเป็นฮอร์โมนที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้สมรรถภาพของนักกีฬาต่างกันเลย แม้กระทั่งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติก็แก้กฎให้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้โดยระบุว่าหญิงข้ามเพศไม่จำเป็นต้องลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลงก่อนแข่งขัน

งานวิจัยเหล่านี้มีการเผยแพร่ทางสื่อหลังจากที่หลายรัฐในอเมริกาพยายามออกกฎกีดกันหญิงข้ามเพศไม่ให้เล่นกีฬา เช่นในรัฐ แอริโซนา, โอคลาโฮมา และเคนทักกี และเมื่อไม่นานนี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ก็แถลงในเชิงกีดกันคนข้ามเพศอ้างว่าผู้ที่มีเพศกำเนิดชายไม่ควรจะแข่งกีฬากับผู้ที่เป็นหญิงตามเพศกำเนิด นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลียก็สนับสนุนให้มีการแบนหญิงข้ามเพศจากกีฬาผู้หญิงเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะมีการถกเถียงอภิปรายกันทั้งในหมู่นักการเมืองและกลุ่มนักคิดในหน้าสื่อ แต่นักกิจกรรมและกลุ่มองค์กรการกีฬาจำนวนมากก็เห็นพ้องว่าคนข้ามเพศสามารถเล่นกีฬาตามเพศสภาพของตัวเองได้อย่างไม่มีปัญหา ทั้งนี้ยังมีเรื่องปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องเพศสภาพที่ทำให้กีฬามัน "ไม่แฟร์" เพราะมันเป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลมีคุณสมบัติต่างกันมาแข่งขันกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะทางกายภาพ (โดยไม่เกี่ยวกับเพศสภาพ) หรือคุณสมบัติเรื่องการมีโค้ชที่ดีกว่าและมีทรัพยากรที่ดีกว่าในการฝึกซ้อม

งานวิจัยที่ระบุว่านักกีฬาหญิงที่เป็นผู้หญิงตามเพศกำเนิดหรือ Cisgender Woman ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับการที่จะให้หญิงข้ามเพศหรือ Transgender Woman เข้าร่วมแข่งขันด้วยนั้น เป็นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาชนี้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักกีฬา 6 ประเภท จากทีมสโมสรกีฬา 12 ทีมที่คัดเลือกมาแบบสุ่ม

งานวิจัยดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมสุขภาวะ "วิกเตอเรียนเฮลท์" ในออสเตรเลีย เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาการที่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ถูกกีดกันเลือกปฏิบัติจากการกีฬา ซึ่งไม่ใช่แค่คนข้ามเพศเท่านั้น ในยุคก่อนหน้านี้ผู้หญิงที่นิยามตัวเองเป็นเลสเบียนก็รู้สึกถูกกีดกันเลือกปฏิบัติจากงานกีฬาบางส่วนด้วย

ริชาร์ด เฮิร์น ผู้ก่อตั้งกลุ่มปั่นจักรยานที่รองรับความหลากหลายชื่อ "ไพรดเอาท์" กล่าววิจารณ์วาทะที่เหยียดและกีดกันคนข้ามเพศของนักการเมืองอย่างบอริส จอห์นสัน ว่า เป็นคำพูดที่ "แบ่งแยกผู้คน" และ "กำปั้นทุบดิน" ที่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น รวมถึงวิจารณ์ว่านักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่กีดกันคนข้ามเพศเหล่านี้ ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ใดๆ ในเรื่องที่ตัวเองพูด ในทางตรงกันข้ามกลับพูดในสิ่งที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

"ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ระบุเกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมของคนข้ามเพศในกีฬามาเป็นเวลามากกว่าหลายปีแล้ว มันก็ดูเหมือนว่าคนบางคนแค่ไม่อยากจะยินดีไปกับเรื่องที่ว่าคนข้ามเพศสามารถเข้าร่วมแข่งขันกีฬาได้" เฮิร์นกล่าว

"ผมคิดว่ามันเป็นสถานการณ์ที่น่าเศร้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนข้ามเพศถูกมองข้ามอย่างมากในวงการกีฬาอยู่แล้ว" เฮิร์นกล่าว

"ผู้หญิงข้ามเพศไม่ได้มีข้อได้เปรียบที่สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งกีฬา และการเข้าร่วมแข่งกีฬาของพวกเธอก็ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อผู้หญิงตามเพศกำเนิดแต่อย่างใด" เฮิร์นกล่าว

"ในการที่พวกเธอจะได้รับการพิจารณาว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมในการลงแข่งขันในระดับกีฬาชั้นนำหรือไม่นั้น หญิงข้ามเพศที่เป็นนักกีฬาจะต้องผ่านการเทคฮอร์โมนแล้วและถูกตรวจวัดอย่างเข้มงวดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีถึงจะสามารถฝึกซ้อมและแข่งขันได้" เฮิร์นกล่าว

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่ว่าหญิงข้ามเพศที่ลงแข่งกีฬาอย่าง ลีอา โทมัส และ ลอเรล ฮับบาร์ด ที่เคยลงแข่งขันกีฬากับหญิงตามเพศกำเนิด แต่ทั้งสองต่างก็พ่ายให้กับหญิงตามเพศกำเนิดทั้งคู่ "การเป็นหญิงข้ามเพศไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าพวกเธอจะชนะ" เฮิร์นกล่าว

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ทำไมหญิงข้ามเพศถึงไม่ได้ได้เปรียบในกีฬาหญิง

สิ่งที่เฮิร์นพูดมีหลักฐานในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร "เนเจอร์" ซึ่งเป็นวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำ  ระบุว่า ถึงแม้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของผู้หญิงตามเพศกำเนิดช่วงก่อนหมดประจำเดือนจะน้อยกว่าผู้มีเพศกำเนิดชายถึงประมาณ 10 เท่าโดยเฉลี่ย เทียบกับช่วงอายุเดียวกัน แต่ทว่าผู้หญิงตามเพศกำเนิดช่วงก่อนหมดประจำเดือนก็สามารถแสดงถึงพละกำลังและสามารถเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในระดับใกล้เคียงกับผู้ชายได้ผ่านวิธีการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (เช่น การยกน้ำหนัก) นอกจากนี้ระดับการสังเคราะห์โปรตีนกับระดับการสลายตัวของกล้ามเนื้อระหว่างหญิงและชายยังใกล้เคียงกันด้วย

อีกทั้งยังมีหลักฐานพบว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและฮอร์โมนเพศชายอื่นๆ ไม่มีความจำเป็นต่อการที่ผู้หญิงจะสามารถใช้พละกำลังได้ถึงขีดสุดหรือสร้างมวลกล้ามเนื้อได้ในระดับสูงสุดแต่อย่างใด ฮอร์โมนที่จำเป็นกับเรื่องนี้มากกว่าเป็นฮอร์โมนการเจริญเติบโตหรือ "โกรทฮอร์โมน", ฮอร์โมนที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายอินซูลินที่เรียกว่า IGF-1 และ เอสโตรเจนในผู้หญิงก็มีโอกาสจะมาทำหน้าที่เชิงแอนาบอลิก (เช่น การสร้างหรือซ่อมแซมมวลกล้ามเนื้อ) แทนเทสโทสเตอโรนได้

หลักฐานเหล่านี้จึงบ่งชี้ว่าถึงแม้หญิงข้ามเพศส่วนมากจะเคยมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงมาก่อนในช่วงก่อนจะเทคฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศ แต่นั่นก็ไม่ทำให้พวกเธอได้เปรียบเพราะปริมาณมากน้อยของเทสโทสเตอโรนไม่ได้บทบาทในการสร้างกล้ามเนื้อและความเข้มแข็งแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม สหภาพเสรีภาพอเมริกัน (ACLU) มองว่ากลุ่มกีดกันคนข้ามเพศเหล่านี้ต้องการแบนคนข้ามเพศจากกีฬาโดยอาศัยมายาคติความเข้าใจผิดที่ "เป็นอันตราย" ซึ่งไม่เพียงแค่อันตรายต่อคนข้ามเพศเท่านั้น แต่เป็นอันตรายต่อหญิงตามเพศกำเนิดด้วย

องค์กรเมอร์เมด ซึ่งเป็นองค์กรด้านความหลากหลายทางเพศระบุว่า สาเหตุที่มายาคติที่ใช้กีดกันคนข้ามเพศเช่นนี้เป็นอันตราย เพราะว่ามันก่อให้เกิดการพยายามใช้อำนาจควบคุมร่างกายของผู้หญิง (body policing) ด้วย ในแง่ที่ว่าผู้หญิงจะถูกควบคุมว่าต้องมีเรือนร่างแบบใด และพวกเขาจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ผู้หญิงมีเรือนร่างในแบบที่พวกเขาไม่ต้องการ เช่น การมีกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การกีดกันโดยอาศัยอำนาจควบคุมเรือนร่างผู้หญิงเช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับนักกีฬาที่ชื่อ คาสเตอร์ เซเมนยา ที่ลงแข่งกีฬาหญิงมาก่อน แต่เธอมีพัฒนาการทางเพศที่แตกต่างจากคนอื่นทำให้องค์กรกรีฑาโลกสั่งให้ตรวจสอบเพศกำเนิดของเธอ และในเวลาต่อมาเธอก็ถูกตัดสิทธิจากกีฬาผู้หญิง เรื่องนี้ทำให้เซเมนยาให้การต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปในปี 2563 ว่า "การกีดกันนักกีฬาผู้หญิงหรือทำให้สุขภาพของพวกเราเกิดอันตรายเพียงเพราะความสามารถตามธรรมชาติของพวกเรา ทำให้องค์กรกรีฑาโลกอยู่บนข้างที่ผิดในประวัติศาสตร์"


เรียบเรียงจาก
Majority of female athletes have no problem competing against trans women in sports, study finds, Pink News, 20-04-2022
Total testosterone is not associated with lean mass or handgrip strength in pre-menopausal females, Nature, 13-05-2021
There’s no good reason to ban trans women from sports, according to science and experts, Pink News, 07-04-2022
งานวิจัย Evaluating LGBTI+ Inclusion within Sport and the Pride Cup Initiative, Monash University, 29-07-2020
Trio of degrading, unscientific anti-trans sports bans passed by Republicans, Pink News, 26-03-2022


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Caster_Semenya

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net