Skip to main content
sharethis

เสวนา ครป.house '#ข่มขืน #คุกคาม เรื่องยากจะเปิดปากของผู้ถูกกระทำ' 'มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล' ห่วงสังคมไทยเข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้มาจากการที่ผู้กระทำมีปัญหาทางจิต ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องทางจิต แต่เป็นเรื่องการใช้อำนาจที่มีเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ - อดีต กสม. ชี้กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นมิตรต่อผู้ถูกคุกคามทางเพศ 


    
24 เม.ย. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้จัดกิจกรรมสนทนาบนแอปพลิเคชั่น Clubhouse “ครป.house ตอน #ข่มขืน #คุกคาม เรื่องยากจะเปิดปากของผู้ถูกกระทำ” โดยมีผู้สนทนาประกอบด้วย สุนี ไชยรส ผู้ประสานงานร่วมขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, รวิยา วงษ์อัยรา พิธีกร พริตตี้เกิร์ล นางแบบ ดำเนินรายการโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. 
    
จะเด็จ เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สังคมชายเป็นใหญ่นั้น เป็นสังคมที่เกิดจากการบ่มเพาะกันมาตั้งแต่มิติครอบครัว จนถึงการศึกษา ที่ปลูกฝังให้เด็กผู้ชายว่าเขาต้องเป็นคนที่มีอำนาจและยิ่งใหญ่ 
    
ทั้งนี้เหตุที่ทำให้ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศไม่ค่อยร้องเรียน อย่างแรกคือครอบครัว คนทั่วไปมีมายาคติว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเป็นผู้หญิงไม่ดี แต่งตัวยั่วยวนก็ดี ไปเดินในที่เปลี่ยวก็ดี กินเหล้าก็ดี เป็นฝ่ายเดินไปหาผู้ชายเองก็ดี มายาคติพวกนี้ตีตราคนในครอบครัวของผู้ถูกกระทำด้วย หลายกรณีกลายที่พ่อแม่ของเด็กที่เป็นเหยื่อ เป็นฝ่ายทุบตีทำร้ายลูกของตน หาว่าทำให้เสื่อมเสีย หลายคนก็เลยไม่กล้าจะบอกพ่อแม่ บางกรณีผู้ถูกกระทำเป็นผู้ค้าประเวณี (Sex Worker) ไปแจ้งความแล้วตำรวจไม่รับแจ้งความ บอกว่าทำอาชีพอย่างนี้ก็สมควรโดน หลายกรณีเป็นปัญหาที่กระบวนการยุติธรรม มีกรณีที่ผู้เสียหายแจ้งความไปหลายรอบ ตำรวจไม่รับแจ้งความ หลายกรณีตำรวจให้ผู้กระทำไกล่เกลี่ยกับผู้ถูกกระทำ ผู้ถูกกระทำก็จำใจเลือกที่จะยอมเพราะมองว่าสู้คดีไปก็แพ้ ทั้งมีตัวอย่างกรณีที่ผู้หญิงโดนเพื่อนชายข่มขืน ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาชี้ว่า ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายไปที่ห้องพักของฝ่ายชายเอง เท่ากับว่าเป็นการยินยอมเอง ปัญหาการตีตราเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง 
    
มูลนิธิฯ ก็พยายามรณรงค์ มีโครงการที่เราทำร่วมกับคุณซินดี้ (สิรินยา บิชอพ มิสไทยแลนด์เวิลด์ในปี พ.ศ. 2539) เอาชุดของเหยื่อการข่มขืนกระทำชำเราสวมใส่ขณะที่ถูกข่มขืน มาจัดแสดงนิทรรศการ ให้เห็นกันชัดๆไปเลยว่าเหยื่อเหล่านี้แต่งตัวธรรมดามากๆ เหยื่อที่เป็นเด็กก็แต่งตัวอย่างเด็ก ก็ยังถูกข่มขืน คนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็ถูกข่มขืนในชุดปฏิบัติงาน ทำให้เห็นชัดว่าเรื่องการข่มขืน ไม่ใช่เพียงเรื่องความหื่นกระหายทางเพศ แต่เป็นเรื่องของอำนาจ มายาคติการแต่งกายยั่วยวนไม่ใช่ข้ออ้างที่สมเหตุสมผลที่จะยอมรับความชอบธรรมในการคุกคามทางเพศ
    
มาที่กรณีล่าสุดที่กำลังเป็นข่าว เราก็จะเห็นปัญหาแรกคือเรื่องการเลี้ยงดู ต่อมาก็เรื่องระบบการใช้อำนาจของผู้ซึ่งเป็นนักการเมือง เป็นถึงระดับที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ผู้ถูกกระทำหลายคนต้องทนเก็บบาดแผลเอาไว้ เกิดสภาวะทางจิตใจ เป็นโรคซึมเศร้า บางคนทนไม่ได้ต้องหนีออกนอกประเทศไป กรณีลักษณะนี้ผู้ถูกกระทำหลายคนกว่าที่จะมารับความช่วยเหลือที่มูลนิธิฯ ก็เกิดปัญหา ทั้งอายุความเกิน (ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน3เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด) ทั้งเรื่องหลักฐานหายไปหมดเพราะเรื่องระยะเวลา เนื่องจากผู้หญิงไม่กล้าร้องทุกข์ในทันที 
    
อีกเรื่องที่ตนห่วง คือการที่สังคมไทยเข้าใจว่า ปัญหาเหล่านี้มาจากการที่ผู้กระทำมีปัญหาทางจิต ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องทางจิต แต่มันเป็นเรื่องการใช้อำนาจของตนที่มีเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ

อดีต กสม. ชี้กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นมิตรต่อผู้ถูกคุกคามทางเพศ

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ประสานงานร่วมขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) กล่าวว่าเรื่องการคุกคามทางเพศที่ปรากฏออกมาในความจริงเป็นเพียงส่วนน้อยจากกรณีจำนวนมากที่ยังอยู่ในความเงียบ ด้วยความที่มีมายาคติมากมายที่ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าที่จะออกมาทวงความยุติธรรมให้ตนเอง โดยเฉพาะค่านิยมเรื่องการที่ผู้หญิงต้องบริสุทธิ์ก่อนแต่งงาน เหล่านี้ทำให้หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เพราะไม่อยากให้ครอบครัวรู้ ไม่อยากให้สามีรู้ ทั้งกระบวนการยุติธรรมที่เราหวังว่ามันจะเป็นมิตรต่อผู้หญิง รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT+) ซึ่งก็น่าเสียดายว่าตอนเรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 (สุนีเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในฉบับนี้) และฉบับปี 2550 ก็พูดชัดเจนเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมสำหรับคดีทางเพศ แต่พอมารัฐธรรมนูญปัจุบัน (ฉบับปี2560) เรื่องเหล่านี้ถูกตัดออกไปหมดแล้ว 
    
ทุกวันนี้สังคมก็ยังเข้าใจว่าการข่มขืนเป็นคดียอมความได้ อันนี้ก็ผิด และการข่มขืน อนาจาร คุกคาม มันก็มีหลายประเภท แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ แล้วเจอตำรวจ หรือทนายความให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ก็ทำให้การต่อสู้ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่
    
เราสู้กันมาจนได้กฎหมายห้ามคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน ที่มักเกิดขึ้นโดยนายจ้าง หัวหน้างาน ซึ่งแม้มีกฎหมาย แต่มีคนร้องเรียนน้อยมาก เพราะผู้ถูกกระทำก็เกรงกลัวในเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน กลัวการตกงาน หรือแม้กฎหมายระบุให้การที่สามีข่มขืนภรรยาถือว่าเป็นความผิด แต่ก็มีการแจ้งความน้อย เพราะมายาคติของสังคมที่ซับซ้อน
    
ปัญหาเรื่องพนักงานสอบสวนหญิงที่ปัจจุบันมีน้อย เพราะนโยบายของรัฐบาลที่ไม่รับให้มีเพิ่ม จริงๆ มีทางออกอยู่ อย่างแรกคือเรียกร้องให้มี ถ้าไม่มีก็ให้ขอยืมตัวมาจากสถานีตำรวจที่มี แล้วในอนาคตก็ต้องทำให้มีพนักงานสอบสวนหญิงเพิ่ม กระนั้นนักกฎหมายที่สู้คดีทางเพศยังได้บอกไว้ว่า ให้ผู้เสียหายเอาบุคคลที่ตนไว้ใจ แม้จะไม่ใช่ทนายความ ให้เข้าไปร่วมรับฟังการสอบสวนได้ แต่ตำรวจก็มักจะไม่ให้โดยอ้างว่าการสอบสวนเป็นเรื่องเฉพาะตัว หรืออ้างเรื่องผู้เสียหายอายุเกิน 18 ปีบริบูรณ์ ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นสิทธิ และเป็นทางเลือกในกรณีที่ไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงซึ่งเป็นปัญหาการเมือง เป็นปัญหาที่เกิดจากนโยบายรัฐบาล 
    
อีกด้านหนึ่ง “อัยการ” เองก็เริ่มเรียกร้องบทบาทที่จะเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลกระบวนการของตำรวจ เรียกร้องที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบหลักฐานร่วมกับตำรวจตั้งแต่ต้น เราต้องเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะว่าชอบ หรือไม่ชอบต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องเรียกร้องกันในทางการเมือง
    
เราคงจะเห็นแล้วว่าเป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงคนหนึ่งลำบากขนาดไหนกับการที่จะลุกขึ้นมา เผชิญอำนาจ อิทธิพล และมายาคติที่ตนถูกกดทับเอาไว้ สังคมก็มีอคติ กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เป็นมิตรต่อผู้ถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งกระบวนการ กฎหมายจำเป็นต้องก้าวให้ทัน และสังคมก็ควรต้องให้กำลังใจผู้ถูกกระทำด้วย

พิธีกร พริตตี้เกิร์ล นางแบบ ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เผชิญการถูกคุกคามทางเพศ

รวิยา วงษ์อัยรา พิธีกร พริตตี้เกิร์ล นางแบบ ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เผชิญการถูกคุกคามทางเพศมาหลายรูปแบบจากบุคคลหลายสถานะตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงคนในสังคมชั้นสูง ว่าตนเผชิญการถูกคุกคามมาตั้งแต่สมัยอยู่ในวัยนักเรียน จนกระทั่งช่วงที่ไปทำงานเป็นพนักงานประจำในสาย PR Agency ซึ่งตนก็แปลกใจว่าตอนหลังที่ตนผันมาทำงานในสายพริตตี้เอ็มซี ด้วยการแต่งตัวที่มีความเซ็กซี่ก็ดี แต่ตนกลับเผชิญการถูกคุกคามทางเพศน้อยกว่าตอนที่ทำงานประจำ ต้องแต่งตัวเรียบร้อยให้ดูเป็นมืออาชีพเสียอีก 
    
ตัวอย่างการถูกคุกคามเรื่องแรกที่รวิยาขอเล่าคือ ตอนที่ทำงาน PR Agency มีบุคคลในแวดวงไฮโซจะจ้างตนเป็นที่ปรึกษาทางการตลาด ให้เลขานุการส่วนตัวติดต่อมา ครั้งแรกๆที่ได้พบกัน ภาพที่รวิยาจำคือเป็นผู้ใหญ่ที่ดูน่าเคารพมากๆ เป็นแฟนกับดาราในวงการบันเทิง มีฐานะร่ำรวยมาก มีการพารวิยาไปแนะนำตัวกับคุณแม่ มีการนัดทานข้าวบ้าง ซึ่งเขาก็วางตัวดีมาตลอด ดูน่าเชื่อถือ จนกระทั่งในวันที่บุคคลนี้ได้นัดรวิยาไปดูสถานที่ที่จะเปิดร้านที่ต่างจังหวัด รวิยาก็นั่งรถบุคคลผู้นี้ไป โดยได้นำสุนัขขนาดเล็กใส่กระเป๋าพาไปด้วย หลังจากเสร็จงาน บุคคลนี้ก็เริ่มหาเหตุ อ้างรอเจอดารา พาไปทานข้าวร้านดารา ไปที่ต่างๆตลอดทั้งวัน จนกระทั่งเมื่อพาไปที่คอนโดมิเนียม แล้วบุคคลนี้เริ่มดื่มไวน์ พอเริ่มดื่มเยอะขึ้นก็เริ่มเปลี่ยนไป จนเริ่มมีการพูดว่าจะขอรวิยาแต่งงาน ตอนนั้นรวิยายังเข้าใจว่าเป็นการพูดเล่น จนเมื่อพาไปร้านอาหารของดาราคนหนึ่ง จังหวะที่ตนไปเข้าห้องน้ำแล้วออกมา บุคคลนี้ได้นำสุนัขของตนไปซ่อน แล้วแกล้งบอกรวิยาว่า “ตังเม(ชื่อเล่นของรวิยา)สนใจแต่หมา ไม่สนใจพี่ พี่เลยจับไปโยนทิ้ง” แล้วก็บอกให้ตนคุยโทรศัพท์กับดาราที่เป็นแฟนของบุคคลนี้ว่าอยากจะเลิกกันเพื่อจะได้มาคบกับรวิยา จุดนั้นรวิยาเริ่มโกรธแล้ว ความรู้สึกเคารพที่เคยมีเริ่มไม่เหลือแล้ว ตอนขับรถกลับรวิยาขอเป็นคนขับเอง ก็ขับด้วยความเร็วสูงเพราะตนโมโหมากแล้ว จนบุคคลนั้นเริ่มกลัว ขอขับเอง แต่ก็ยังอ้างขอขึ้นไปเอาของที่คอนโดมิเนียมอีก แล้วขอให้รวิยาขึ้นไปด้วย จนที่ในห้องพัก บุคคลนั้นบอกกับรวิยาว่า “คืนนี้อยู่กับพี่เถอะนะ” รวิยาก็ปฏิเสธ จนบุคคลนี้ถึงขั้นก้มกราบรวิยา รวิยาก็ยังไม่ยอม เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ บุคคลผู้นี้ก็ทั้งโน้มน้าวเชิงข่มทำนองว่าไม่เคยมีใครกล้าปฏิเสธตนบ้าง ตนมีเงินเลี้ยงดูรวิยาได้บ้าง ตนรู้ว่ารวิยาไม่ได้สนใจอยากมีสัมพันธ์กับตน หรือสนใจความร่ำรวยของตนเลยจากการให้เลขาฯตามจับตาดู ตนเลยประทับใจบ้าง กระทั่งมีจังหวะ รวิยาจึงได้อุ้มสุนัขหนีออกจากห้องอย่างรวดเร็ว แล้วตัดสินใจเหมารถกลับกรุงเทพฯเอง ซึ่งหลังจากที่หลุดมาจากบุคคลผู้นี้ได้แล้ว รวิยาร้องไห้มาตลอดทางด้วยไม่คิดจะต้องมาเจอเหตุแบบนี้ 
    
รวิยายังได้เล่าต่อถึงอีกเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ คือการได้ออกรายการโทรทัศน์ในลักษณะการแข่งขันเชิงเรียลลิตี้ของช่องดิจิตัลช่องหนึ่ง ซึ่งทางรายการได้มีการวางตัวผู้ที่จะชนะการแข่งขันเอาไว้แล้ว กระนั้นก็ได้มีการจัดชุดเสื้อผ้าสำหรับการถ่ายบันทึกรายการให้รวิยาด้วยชุดที่โป๊มากๆ จนผ่านการแข่งขันรอบต่างๆมา เมื่อถึงช่วงที่รวิยากำลังจะต้องถูกคัดตกรอบแล้ว ดารานักแสดงสาวคนหนึ่งที่เป็น “เมนเตอร์” ของรายการนี้บอกว่า รวิยาแต่งตัวโป๊ ซึ่งรวิยาได้แย้งว่า ชุดที่สวมในรายการทั้งหมด ทางรายการเป็นผู้จัดเตรียมให้ จากนั้นก็ให้รวิยาเล่าเรื่องที่แสดงความเป็นผู้หญิงเก่ง แกร่งของรวิยา รวิยาก็เล่าว่าตัวเองเจอการถูกคุกคามทางเพศมาเยอะมาก เจอการถูกทำร้ายร่างกาย เจอนักศึกษาชายในรั้วมหาวิทยาลัยปีนหอพักมาที่ห้องเพื่อจะข่มขืน ถูกผู้ชายโทรข่มขู่ว่าจะนำพวกมารุมโทรม แต่ก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง สามารถที่จะแบ่งปันเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้หญิงคนอื่นๆได้ แต่เมนเตอร์คนดังกล่าวกลับพูดในรายการว่า ที่รวิยาเจอเหตุการณ์เหล่านี้ เพราะ “แต่งตัวโป๊หรือเปล่า” รวิยาตกใจ คาดไม่ถึงมากๆว่าจะต้องเจอการกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ (Victim Blaming) แบบนี้จากผู้หญิงด้วยกันเช่นนี้ ซึ่งหลังจากรายการนั้น แม้ว่าจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ย มีการขอโทษจากทางผู้จัดรายการ และตัดเอาส่วนของรายการที่เป็นปัญหาของรายการออกไปจากการออกอากาศ แต่เหตุการณ์นี้ก็ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง จนอาการโรคซึมเศร้าของรวิยากลับมากำเริบ จมอยู่กับความทุกข์ รู้สึกโทษตัวเองกับเรื่องในอดีตมานานนับเดือน ถึงขั้นไม่อยากพบผู้คน และถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย โชคดีที่ยังมีกำลังใจดีพอให้ผ่านพ้นห้วงความรู้สึกเช่นนั้นมาได้

การแก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบริบทความรุนแรงทางเพศในสังคม

เมื่อเข้าสู่ช่วงของการให้ผู้ฟังได้ขึ้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยน ได้มีผู้ฟังขึ้นมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย รวมถึงกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ที่ได้ขึ้นมาอภิปรายถึงปัญหาทางกฎหมายที่ทำให้คดีการข่มขืนผู้หญิงข้ามเพศ (Trans woman) หลุดพ้นจากความผิดฐาน “กระทำชำเรา” ไปเป็น “อนาจาร” โดยที่ศาลวินิจฉัยว่าอวัยวะเพศที่มาจากการผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ใช่อวัยวะเพศหญิงตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ครั้นไปร้องต่อราชบัณฑิตยสถานให้พิจารณาแก้ไขคำนิยามศัพท์ ก็ได้รับการตอบกลับว่าต้องให้มีกฎหมายรับรองเพศสภาพก่อน
    
นอกจากนี้ ทั้งจะเด็จ เชาว์วิไล และกิตตินันท์ ธรมธัช ยังได้ร่วมกันอภิปรายกันไปถึงการแก้ไขความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เกิดขึ้นเมื่อปี2562 โดยที่ไม่มีการประชาพิจารณ์ ไม่มีเครือข่ายองค์กรด้านสตรีและความเท่าเทียมทางเพศได้รับทราบหรือรับเชิญเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมาธิการในการแก้ไขกฎหมายนี้เลย มาทราบกันก็เมื่อการแก้ไขกฎหมายเสร็จสิ้นประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งการแก้ไข ป.อาญา ในครั้งนี้ได้ส่งผลให้นิยามของคำว่า “กระทำชำเรา” ที่เคยได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2550 ว่า ให้หมายถึงการกระทำล่วงล้ำต่ออวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปาก อันจะครอบคลุมถึงการกระทำรุกล้ำทุกรูปแบบไม่ว่าจะโดยนิ้วมือ หรือวัตถุใดๆ ก็เข้าข่ายกระทำชำเรา กลับกลายเป็นว่าต้องเป็นการกระทำรุกล้ำโดยอวัยวะเพศของผู้กระทำเท่านั้น ถ้ารุกล้ำโดยสิ่งอื่น ความผิดจะกลายเป็น “อนาจาร” 
     
และเรื่องการที่สามีข่มขืนภรรยานั้น ได้กลายเป็นความผิดที่ “ยอมความ” กันได้ หากไม่ได้เป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งเหล่านี้วงสนทนาเห็นว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบริบทความรุนแรงทางเพศในสังคม ทั้งเป็นการถอยหลังลงคลองของกฎหมายโดย สนช. อันเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่ได้เข้ามาโดยวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยอีกด้วย 
    
วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. ได้กล่าวสรุปการสนทนาครั้งนี้ว่า ด้วยมิติสังคมชายเป็นใหญ่ มายาคติมากมายที่กดทับผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ วัฒนธรรมการกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) รวมถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวนั้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศนั้นต้องตกอยู่ในความมืดที่ยากจะก้าวข้ามออกมาเพื่อทวงความยุติธรรมที่พึงควรได้รับ เป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปแก้ไขปัญหากันทั้งระบบวัฒนธรรม ค่านิยม กฎหมาย รวมถึงการเมือง ที่สำคัญคือสังคมต้องช่วยกันเสริมพลัง (Empower) ให้ผู้ถูกกระทำกล้าที่จะพูด กล้าที่จะส่งเสียง กล้าที่จะทวงคืนความเป็นธรรม เพื่อให้ปัญหาการคุกคามทางเพศ อันถือเป็นอาชญากรรม ไม่เป็นสิ่งที่ถูกซ่อนในเงามืดโดยผู้กระทำนั้นสามารถพ้นผิดลอยนวลได้ เพราะผู้ถูกกระทำเป็นฝ่ายที่ถูกสังคมกดทับไว้อีกต่อไป และเราต้องช่วยกันให้กำลังใจแก่เหล่าเหยื่อผู้ที่กล้าก้าวข้ามออกมาทวงคืนความเป็นธรรมให้ตนเองด้วย 
    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net