Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษเมื่อหลายองค์กร เครือข่าย นักวิชาการ และภาคประชาชนในเชียงใหม่ ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้ “ผู้ว่าฯเชียงใหม่มาจากการเลือกตั้ง” อีกครั้งหลังจากมองเห็นปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการที่ผ่านมานั้นไม่สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งยังมองเห็นความเหลื่อมล้ำมากมาย

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อหลายองค์กร เครือข่าย นักวิชาการ และภาคประชาชนในเชียงใหม่ ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้ “ผู้ว่าฯเชียงใหม่มาจากการเลือกตั้ง” หลังจากมองเห็นปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการที่ผ่านมานั้นไม่สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งยังมองเห็นความเหลื่อมล้ำมากมาย จนทำให้ประชาชนคนเชียงใหม่ องค์กร กลุ่ม ที่สนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่า มากกว่า 75 องค์กร ได้ออกมาแสดงทัศนะความเห็นต่อเรื่องนี้ และพยายามขับเคลื่อนรณรงค์ ผลักดัน ลงประชามติ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร  พ.ศ … ต่อสภาผู้แทนราษฏร อีกครั้ง

โดยถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 ชาวเชียงใหม่ได้ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. .. โดยเริ่มต้นจากแกนนำขับเคลื่อนโดย สวิง ตันอุด,ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ,ชำนาญ จันทร์เรือง พร้อมด้วยเครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเองและภาคประชาชนชาวเชียงใหม่ ร่วมกันเสนอร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ.... เสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร  ต่อมา วันที่ 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และยุบสภา ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ตกไป

จนกระทั่ง เมื่อเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา เมื่อมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จึงทำให้เกิดกระแสความตื่นตัว ให้หลายองค์กร เครือข่าย นักวิชาการ และภาคประชาชนในเชียงใหม่ ได้รวมกลุ่มกันเป็น ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ (ภรช.) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และได้มีการออกแถลงการณ์เรื่องการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา 

โดยคำแถลงระบุว่า กราบเรียนพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ที่เคารพรักยิ่ง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 2565 นี้ นอกจากจะเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่ชาวกรุงเทพฯ ได้กลับมามีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯของตนเองอีกครั้ง ยังเกิดคำถามสำคัญที่ยิ่งต่อพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่และต่างจังหวัดว่าในเมื่อกรุงเทพฯเป็นจังหวัดหนึ่ง และเชียงใหม่ก็เป็นจังหวัดหนึ่งเช่นกัน พี่น้องคนกรุงเทพฯ เป็นคนไทย คนเชียงใหม่ก็เป็นคนไทย คนกรุงเทพฯ เสียภาษีอากร คนเชียงใหม่และคนต่างจังหวัดอื่นๆ ก็เสียภาษีอากรเหมือนกัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และทุกๆฉบับที่ผ่านมา ล้วนระบุชัดเจนว่าคนไทยทุกคนมีความเป็นมนุษย์ และมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่เหตุใดคนเชียงใหม่กลับไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าฯของตนเอง

ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ พ.ศ.2518 คนเชียงใหม่ส่วนหนึ่งได้เริ่มเรียกร้องขอมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯของตนเองและการเรียกร้องก็ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไม่เคยมีข่าวว่ามีการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่กรุงเทพฯ แต่แล้ว รัฐบาลไทยในอดีตกลับจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ส.ค. 2518 

ท่ามกลางปัญหาจราจรที่ติดขัดมากขึ้นๆ เพราะเชียงใหม่ ที่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศกลับไม่มีระบบรถไฟฟ้า รถราง หรือแม้แต่รถเมล์ ตัวเมืองเชียงใหม่มีสถาบันอุดมศึกษามากถึง 11 แห่ง มีโรงเรียนมัธยมชั้นนำนับ 10 แห่งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ราว 9 แห่ง มีโรงเรียนนานาชาติถึง 10 กว่าแห่ง เชียงใหม่กลายเป็นเมืองโตเดี่ยวระดับภาค หรือที่เรียกว่าเอกนครระดับภาคที่รวมศูนย์ความเจริญไว้ทุกๆ ด้าน แตกต่างจากอำเภอรอบๆ ราวฟ้ากับเหว และทุกๆ ช่วงต้นปีเชียงใหม่ต้องเผชิญปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อคนเชียงใหม่และต่อธุรกิจการท่องเที่ยวอันเป็นเส้นเลือดสำคัญที่นับวันรุนแรงยิ่งขึ้น

ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุที่กล่าวมา พร้อมกับระบบเทคโนโลยีข่าวสารอันสุดแสน/ทันสมัย ระบบการบริหารของจังหวัดกลับสุดแสนล้าหลัง ผู้ว่าฯอายุ 59 ปี มาจากการแต่งตั้งที่คนเชียงใหม่ 1.7 ล้านคนไม่รู้จัก มาบริหาร 1 ปี ก็เกษียณอายุ เป็นเช่นนี้ปีแล้วปีเล่า ขณะที่ปัญหาต่างๆ ของ 25 อำเภอในจังหวัดหนักหน่วงขึ้นทุกวันๆ ปัญหาพืชผล ข้าวเหนียว หอม กระเทียม ลำไย ลิ้นจี่ ฯลฯ ราคาตก ธุรกิจแต่ละด้านซบเซามาหลายปี ระบบการบริหารจังหวัดที่ล้าสมัยจึงไม่อาจแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้เลย.

พี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ที่เคารพรักยิ่ง องค์กรต่างๆ ที่กล่าวนามข้างล่างนี้ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกันและเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมมือร่วมใจกันรณรงค์เพื่อให้คนเชียงใหม่ทั้งจังหวัดมองเห็นต้นตอของปัญหาเหล่านี้ ได้เวลาที่ผู้ว่าฯเชียงใหม่จะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาหาเสียงกับประชาชน เสนอนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของคนเชียงใหม่และบ้านเมืองของเขา

ต่อจากนี้ไป เราจะร่วมกันรณรงค์เพื่อนำเสนอปัญหาต่างๆ และทางออกของปัญหานี้ และเราเชื่อว่ายังจะมีองค์กรอีกมากมายที่จะมาร่วมงานกับเรา เพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง เราขอแสดงความยินดีกับพี่น้องคนกรุงเทพฯ และเราหวังว่าพวกท่านจะช่วยสนับสนุนการรณรงค์ของเราด้วย

ย้ำที่เรียกร้อง ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง เพราะบริหารไม่สอดคล้อง และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สะสมมายาวนาน  

ไพรัช ใหม่ชมภู ผู้ประสานงานการขับเคลื่อนเบื้องต้น ของภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ (ภรช.) ได้ออกมากล่าวว่า ที่คนเชียงใหม่ออกมารณรงค์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ในครั้งนี้ เพราะทุกคนมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ที่กระทบถึงคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น ฝุ่นควัน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สาธารณสุข ความยากจน โครงสร้างพื้นฐาน หรือปัญหาที่เกิดในบางพื้นที่ เช่น การจราจรในตัวเมือง คลองแม่ข่า ป่าแหว่งฯ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขในระดับจังหวัดเลย  เพราะผู้บริหารสูงสุดในระดับจังหวัด ที่มีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหานั้นไม่มีเลย มีแต่ส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น เยอะมากและมีความซ้ำซ้อน แก้ปัญหาไม่ได้ต้องส่งเรื่องไปกรุงเทพ ให้อธิบดีปลัดกระทรวง รัฐบาลตัดสินใจให้ ซึ่งมีความล่าช้า ไม่ทันการ และไม่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้เลย

“นอกจากนั้น เรื่องงบประมาณ เชียงใหม่ไม่มีงบประมาณเป็นของตนเอง งบประมาณที่พัฒนาเชียงใหม่ รัฐบาลก็ส่งมาตามส่วนราชการต่างๆ ในแต่ละปีเท่าไรไม่ทราบ ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัจจุบัน ที่รัฐบาลแต่งตั้งมาก็ไม่มีอำนาจอะไร ย้ายนายอำเภอยังไม่ได้ เช่นเดียวกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ที่ประชาชนเลือกมา ก็ไม่มีอำนาจบริหารในจังหวัดแต่อย่างใด เพราะผู้ว่าฯ ต้องมาควบคุม กำกับอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นชาวเชียงใหม่ จึงอยากได้ผู้นำสูงสุด ที่มีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาได้ และมีงบประมาณเป็นของตนเองสำหรับการบริหาร หลายคนก็บอกว่า แล้วผู้นำสูงสุดที่เราอยากได้มาจากไหน ก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่คือที่มาของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จริงๆ แล้วอาจไม่ใช้ชื่อนี้ก็ได้ เช่น นายกเชียงใหม่มหานคร,ผู้ว่าเชียงใหม่มหานคร,ประธานเชียงใหม่มหานคร เป็นต้น”


ไพรัช ใหม่ชมภู

ผู้ประสานงานฯ ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ยังได้กล่าวถึงข้อดีของการเลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ อีกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ คือการเลือกผู้นำสูงสุดของเชียงใหม่ ที่มีอำนาจบริหารตัดสินใจและมีงบประมาณของตนเอง เรื่องนี้ต้องมีกฎหมายเฉพาะของเชียงใหม่ เป็นพระราชบัญญัติ ในกฎหมายต้องปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ ปรับปรุงส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในเชียงใหม่ ทั้งหมดเชียงใหม่ก็จะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ผู้บริหารสูงสุดมาจากการเลือกตั้งของประชาชนวาระ 4 ปี โดยผู้บริหารสูงสุดของเชียงใหม่ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะยึดโยงกับประชาชน รับผิดชอบต่อประชาชน 

ธเนศวร์ เจริญเมือง หนุนเต็มที่ รณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่


ธเนศวร์ เจริญเมือง

ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด และเป็นผู้ผลักดันแนวคิดเรื่อง การกระจายอำนาจและการเมืองในท้องถิ่น มาอย่างยาวนาน กล่าวว่า เห็นด้วยมากๆ กับรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่กันอีกครั้ง เพราะถ้าหากผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง เขาก็ย่อมฟังเสียงของประชาชน  ใส่ใจทุกข์สุขของประชาชน และบ้านเมืองท้องถิ่นของตนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงต้องค่อยๆปรับกันอีกหลายๆ ปี เพราะผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้ง นั้นมีมาตั้งแต่ยุค ร.5 ยุคข้าหลวงมาเป็นผู้ว่าฯ ตั้งแต่ 2476 ซึ่งปีหน้าก็จะครบ 90 ปีแล้ว 

“ดังนั้น จึงขอให้ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ นั้นมีความอดทนและก็ขับเคลื่อนรณรงค์กันต่อไป ถ้ารัฐเห็นด้วยก็ปรับปรุง ให้เป็น พ.ร.บ.กันต่อไป”

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้เคยพูดเรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากงานเสวนา 'Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา' โดยได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ในที่สุดแล้ว การปกครองส่วนภูมิภาคต้องถูกยุบ

“ในทางทฤษฎี ผมเห็นด้วยว่ายุบแน่นอน ยุบอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมามีแต่ทำให้ หนึ่ง ประชาชนสับสน และสองก็คือ พวกเขาเป็นตัวสำคัญที่กดท้องถิ่นเอาไว้ไม่ให้มันโต…แต่จะเปลี่ยนภูมิภาคหรือยุบไปเลยได้ไหม ก็อยู่ที่การปกครองระดับประเทศ และความเข้มแข็งของท้องถิ่นเอง”

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนกังวลเรื่องอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้ง นั้นจะเชื่อมโยงกับทาง องค์การบริหารส่วนจังหวัด อบจ.ได้อย่างไร หรือทับซ้อนกันหรือไม่

ไพรัช ใหม่ชมภู ผู้ประสานงานเบื้องต้น ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. .... ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 26 ตุลาคม 2556 เชียงใหม่มหานครจะเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่ มีสถานะเป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หน่วยงานราชการที่ตั้งอยู่ในเชียงใหม่ปัจจุบัน แยกได้ดังนี้

1. ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการ พนักงานและภารกิจ โอนไปสังกัดเชียงใหม่มหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเดียวกัน

2. ภารกิจหน่วยงานราชการส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในจังหวัดมีเป็นการบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน การรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นต้น โอนไปเป็นหน้าที่ของเชียงใหม่มหานคร

3. ยกเลิกหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด อำเภอ และส่วนราชการภูมิภาค) ข้าราชการ พนักงานโอนไปสังกัดเชียงใหม่มหานครหรือกลับสังกัดเดิม อำเภอก็จะเป็นหน่วยงานบริหารของเชียงใหม่มหานคร อาจเรียกว่าอำเภอเหมือนเดิมหรือเขตผู้บริหารขึ้นตรงต่อผู้ว่าเชียงใหม่มหานคร สำหรับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นการปกครองลักษณะท้องที่ปรับบทบาทเป็นหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นตรงต่อ ผู้อำนวยการเขต/อำเภอ หรือขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร

“สรุปก็คือ เชียงใหม่ จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 ระดับ ระดับจังหวัด (ระดับบน) คือ เชียงใหม่มหานคร ระดับล่างคือ เทศบาล (อบต.จะยกสถานะเป็นเทศบาล) ผู้ว่าเชียงใหม่มหานคร ก็จะมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการสาธารณะในจังหวัด มีอำนาจในการตัดสินใจ และมีงบประมาณบริหารเป็นของตนเอง”

เช่นเดียวกับ วิชาญ ชัยชมพู ตัวแทนสมาคมลูกจ้างเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้แสดงความคิดเห็นในกลุ่มภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ ว่า จะขอเป็นฟันเฟืองหนึ่งขอร่วมขับเคลื่อนไปกับคนเชียงใหม่ทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ อย่างไม่มีเงื่อนไขเพราะเมืองเชียงใหม่ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จุดไฟ ก่อเชื้อ สานงานต่อ ก่องานใหม่ เพื่ออนาคตที่ดีของคนเชียงใหม่ 

นวพล คีรีรักษ์สกุล กล่าวว่า ตนในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงใหม่ เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งและอยากให้มีเริ่มรณรงค์กับประชาชนเลยครับ

พรหมศักดิ์ แสงโพธิ์ ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ประสานงานคณะทำงานประชาสังคมเพื่อเชียงใหม่จัดการตนเอง ก็ได้นำเสนอในกลุ่มว่า อยากให้สร้างกลุ่ม “ผู้ว่ามาจากการเลือกตั้ง” รวบรวมคนเด่น คนเก่ง ที่หลากหลาย เป็นที่ยอมรับได้ จุดมุ่งหมาย ที่ทุกฝ่ายต้องการยังต้องใช้เวลาอีกนาน ในรุ่นเราจะทำได้ดีที่สุด แค่วางแนวทางแนวคิด ให้คนรุ่นใหม่ คนรุ่นต่อไป ถ้าหากยังหวังว่าจะเกิดขึ้นได้จริงๆ คนเด่น คนเก่ง ต้องตระหนักว่า รุ่นนี้แค่ระดมสมองวางโครงสร้างที่ทุกคน ทุกฝ่าย ยอมรับและพอใจ และจะกลายเป็นกระแส ในรุ่นต่อไป รุ่นของเราเป็นแค่ รุ่นคิดสร้างสรรค์ Creativity เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รุ่นของเราก็อย่าละทิ้งกลุ่มกัน

สมาชิกภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ อีกคนหนึ่งได้บอกเล่าว่า เชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากว่า 700 ปี มีทรัพยากรธรรมชาติ มีพืชผัก ผลไม้ ข้าวปลาอาหาร ที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยว มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี มีภาษาพูด ภาษาเขียน เป็นของตนเอง มีสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน มีสถานพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ มีบ่อน้ำมัน แต่ยังมีอีกหลายหมู่บ้านและตำบล ยังไม่มีไฟฟ้า ถนนลาดยาง มีประชากรที่มีรายได้ต่ำ ความเหลื่อมล้ำทั้งของคุณภาพชีวิต ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับแต่งตั้งมาจากส่วนกลางมีสักกี่คนที่เดินทางไปเยี่ยมเยือนดูแลพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ครบทุกหมู่บ้าน ดังนั้นถึงเวลาแล้ว ที่คนเชียงใหม่ จะเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยตนเอง เหมือนกับกรุงเทพมหานคร 

ย้อนศึกษา ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ....ที่เคยยื่นต่อสภา 

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. .... ที่เคยยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 26 ตุลาคม 2556 มีรายละเอียด ดังนี้

พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร กำหนดระเบียบการบริหารราชการไว้ว่า ราชการส่วนกลางในพื้นที่เชียงใหม่มหานครมีอำนาจดูแลกิจการที่มีผลกระทบต่อมหาชนทั้งประเทศ เช่น ภารกิจความมั่นคง เศรษฐกิจ และให้อำนาจท้องถิ่นในการบริหารท้องถิ่นเอง โดยท้องถิ่นต้องดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐไม่สามารถแทรกแซงอำนาจการตัดสินใจของท้องถิ่นได้เว้นแต่เกี่ยวกับการทหาร การต่างประเทศ เงินตรา และศาล 

องค์การการปกครองส่วนท้องถิ่นในเชียงใหม่มหานครมีสองระดับได้แก่ องค์กรระดับบนคือเชียงใหม่มหานคร จัดการเรื่องที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่เชียงใหม่ โครงการขนาดใหญ่ และอำนาจหน้าที่ต่อเทศบาล ระดับล่างคือเทศบาลทำหน้าที่พัฒนาในพื้นที่และเรื่องคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ 

โครงสร้างการบริหารประกอบไปด้วยสามองค์กรที่มีฐานะเท่าเทียมกัน ได้แก่
1) สภาเชียงใหม่มหานคร
2) ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร
3) สภาพลเมือง 

สภาเชียงใหม่มหานครประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง มีอายุสภา 4 ปี โดยนายกรัฐมนตรีมีสิทธิยุบสภาได้ตามคำร้องขอของผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร ประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาได้ และหากประชาชนเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาทั้งหมด ให้ถือเป็นการยุบสภา

สภามีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิกสภา ข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา วิธีการประชุม การเสนอและพิจารณาร่างข้อบัญญัติ การเสนอญัติติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อยของกิจการอื่นซึ่งเป็นหน้าที่ของสภาเชียงใหม่มหานคร 

ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครมาจากการเลือกตั้ง สมัยละหนึ่งคน มีวาระครั้งละ 4 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ มีอำนาจเช่น (มาตรา 60) กำหนดและบริหารราชการ ยุบสภา ประสานร่วมมือกับข้าราชการส่วนกลางเช่นทหารตุลาการในการพัฒนาเชียงใหม่มหานครหรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ประชาชนสามารถลงชื่อถอดถอนผู้ว่าได้ 

สภาพลเมืองประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 100 คน จากการเลือกกันเองภายใน 4 ภาคส่วนคือ ภาคประชาสังคม ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบน ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่พัฒนาข้อเสนอประชาชนเพื่อเสนอให้กับฝ่ายบริหาร ตรวจสอบโดยใช้กระบวนการทางสังคม ส่งเสริมบทบาทและความเข้มแข็งของพลเมือง  สภาพลเมืองได้รับงบประมาณปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละสองของงบประมาณเชียงใหม่มหานครทั้งนี้ ส่วนกลางจะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบเหมือนผู้ตรวจการฯ 

อย่างไรก็ตาม ชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ..ต่อสภา เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา ได้ออกมาอธิบายเพิ่มเติมว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.โดยภาคประชาชนจะต้องเข้าข่ายตามหมวด 3 และหมวด 5 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งกรณีร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่ฯ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ สิ่งที่ทำได้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด14 การปกครองท้องถิ่น

นอกจากนั้น ชำนาญ จันทร์เรือง ยังได้สรุปสั้นๆ ถึงความแตกต่างจาก พ.ร.บ.ที่เชียงใหม่เคยยื่น ว่ามีนิดเดียวคือ ท้องถิ่นระดับล่างเดิมของเราเสนอให้มีเฉพาะเทศบาล แต่อันนี้มี อบต.เหมือนปัจจุบัน /ส่วนแบ่งรายได้จากเดิม 70/30 เป็น 50/50 

ชี้ประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน คนเชียงใหม่เรียกร้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ มากว่า 30 ปีแล้ว


ณัฐกร วิทิตานนท์

ในขณะที่ ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้มองว่าการที่คนเชียงใหม่ ออกมารณรงค์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่กันอีกครั้งว่า รู้สึกเหมือนประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหนครับ เพราะสมัยตนยังเรียนชั้นมัธยมก็เคยมีกลุ่มคนเชียงใหม่ออกมาเรียกร้องประเด็นนี้เหมือนกัน แต่นั่นมันเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว ซึ่งถูกเบี่ยงเบนประเด็น จากจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ตั้งแต่ตอนนั้น เขาก็ให้ อบต.มาแทน แต่อย่างน้อยก็ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แม้จะไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง แต่ก็ขยับไปได้ไกลขึ้นด้วยรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่คงพูดอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ น่าติดตามว่าการเคลื่อนไหวระลอกนี้จะพาเราไปถึงตรงไหน

“ปัญหาของผู้ว่าฯ แต่งตั้งที่พูดถึงกันมากคือ เหลืออายุราชการน้อย หลายๆ จังหวัดได้ผู้ว่าฯ ปีเดียวเกษียณ ทำแต่งานประจำ ไม่คิดแก้ปัญหาระยะยาว และผู้ว่าฯ ไม่เข้าใจปัญหา เพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น หรือเคยทำงานในพื้นที่มาก่อน ถ้าเปลี่ยนให้ประชาชนแต่ละจังหวัดได้เลือกเองก็ย่อมจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะจะต้องมีเรื่องของคุณสมบัติเข้ามาเกี่ยว ต้องมีความผูกพันกับจังหวัดนั้นๆ ไม่ทางใดทางหนึ่ง ระบุเกณฑ์อายุ และกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง แน่นอน มันเป็นคนละประเด็นกับศักยภาพการแก้ไขปัญหาของผู้ว่าฯ สารพัดเรื่อง ตราบใดที่อำนาจ เงิน รวมถึงบุคลากรยังถูกรวมศูนย์เอาไว้ที่ส่วนกลาง และไม่ได้แก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของจังหวัดที่เป็นส่วนภูมิภาคกับ อบจ.ที่เป็นส่วนท้องถิ่น”

แน่นอน มีหลายคนตั้งข้อสังเกตกันว่า กรณีถ้าเกิดผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง ในส่วนของ อบจ. นายอำเภอ หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะต้องมีการปรับตัว ปรับวิธีคิดรูปแบบการทำงานกันอย่างไรต่อไปบ้าง 

ณัฐกร บอกว่า อำนาจของผู้ว่าฯ กับนายก อบจ.โดยรวมไม่เหมือนกัน แต่ผู้ว่าฯ ถืออำนาจสำคัญคือกำกับดูแล อบจ.ในหลายด้าน จากแง่นี้ดูเหมือนผู้ว่าฯ ใหญ่กว่านายก อบจ. แต่ในอีกด้าน ผู้ว่าฯ ไม่มีรายได้ของตัวเอง ต้องเสนอโครงการของบจากรัฐบาล ขณะที่ อบจ.มีแหล่งรายได้ของตน จึงตอบสนองพี่น้องประชาชนดีกว่า จากที่ว่ามา ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไม่พ้นภาวะเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน คล้ายๆ ที่เคยเกิดขึ้นในระดับตำบลมาแล้ว ซึ่งมีทั้งนายก อบต.กับกำนันที่ต่างฝ่ายก็มาจากการเลือกตั้งจนทำงานขัดแย้งกัน

“เชื่อว่าการรณรงค์ครั้งนี้ลึกๆ แล้วมีเป้าหมายหลากหลาย บ้างหวังเพียงให้มีผู้ว่าฯ มาจากเลือกตั้งของประชาชนแค่นั้น บ้างหวังสูงกว่านั้น แต่ ณ ตอนนี้ขอให้ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ก่อนจะฝันถึงจุดอื่น ความเคลื่อนไหวคราวนี้ที่เชียงใหม่อาจไปจุดประกายให้ผู้คนในต่างจังหวัดทั่วประเทศหันมาสนใจเรื่องการกระจายอำนาจ หรือลุกขึ้นมาเรียกร้องแบบคนเชียงใหม่บ้าง ท่ามกลางกระแสข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมืองหลวงที่ถาโถมเข้ามาทุกวัน”

เชิญพรรคการเมือง เข้าร่วมสนับสนุนนโยบายกระจายอำนาจ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่มาจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม มีการสรุปเบื้องต้นกันว่าปัจจัยที่จะทำให้ ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จนั้น นอกจากพลังของชาวเชียงใหม่ที่ออกมาเรียกร้องและสนับสนุนกันแล้ว พรรคการเมืองที่มีนโยบายกระจายอำนาจ ได้เป็นรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศ ก็เป็นกลไกสำคัญ ที่จะมีการนำไปสู่การผลักดันการเสนอเป็น พ.ร.บ. หรือการแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง 

ซึ่งล่าสุด มีรายงานว่า ทางสำนักงานเลขาธิการภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ กำลังประสานขอรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ของผู้ประสานงานพรรคการเมืองทุกพรรค ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความประสงค์จะร่วมอุดมการณ์กับคนเชียงใหม่ โปรดแจ้งชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์ มาได้ที่นายชูศักดิ์ ทองนาค หมายเลขโทรศัพท์ 089-4353883 เพื่อจะได้เชิญผู้ประสานงานพรรคการเมืองประชุม เตรียมการจัดเวทีเสวนาหัวหน้าพรรคการเมืองนโยบายต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่  โดยทุกคนมีความคาดหวังกันว่า เชียงใหม่ จะเป็นจังหวัดนำร่องให้กับการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ผุดแคมเปญลงชื่อ เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ 

ในขณะที่ กลุ่ม We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง ได้เริ่มขยับแคมเปญลงชื่อ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ โดยระบุว่า ขณะที่การแข่งขันเสนอนโยบายในการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยากำลังเข้มข้น ผู้สมัครทุกคนพยายามแข่งกันทำนโยบายที่ถูกใจประชาชน แต่อีก 75 จังหวัดทั่วประเทศไทยยังคงมีผู้ว่าฯ แบบแต่งตั้ง  เราอยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของเราเองเช่นกัน และอยากเห็นทุกพรรคการเมืองบรรจุการแก้ไข รธน.ให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ทั่วประเทศ เป็นนโยบายพรรคก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า มีเหตุผลมากมายที่เราควรเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้เอง ดังนี้ 1. เกิดการแข่งขันเสนอนโยบายที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ 2. เกิดการกระจายทรัพยากรที่ทั่วถึง 3. ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น เพื่อป้องกันการทุจริตได้ตลอดเวลา 4. จังหวัดได้คนที่เข้าใจปัญหาท้องถิ่นของตนอย่างแท้จริงและคนธรรมดามีสิทธิลงรับเลือกตั้ง  5. ตัดปัญหาผู้ว่าฯ ถูกโยกย้ายแบบตรวจสอบไม่ได้ 6. ส่งเสริมประชาธิปไตยและความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวม ไม่กระทบระบอบกษัตริย์

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี' คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกย้ำว่า มีเหตุผลหนักแน่นมากมาย ที่สนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น ผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถกำหนดนโยบายได้เหมาะสม ตรงเป้าตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แก้ปัญหาได้ทันท่วงที ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน จัดให้มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่จำเป็น ปลุกศักยภาพของท้องถิ่นจากการตื่นตัวของประชาชน ได้มากกว่าผู้ว่าราชการที่เวียนกันมา 'กำกับ/ปกครอง' ระยะสั้นๆ จากส่วนกลาง 

"การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับ ในทุกจังหวัด และยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ไม่ได้เป็นการทำลายความเป็นรัฐเดี่ยว หรือทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสหพันธรัฐ โปรดดูอังกฤษ และ ญี่ปุ่น เป็นตัวอย่าง ดังนั้น เมื่อภูมิใจในความเป็นไทย ก็ควรเชื่อมั่นในวิจารณญาณของคนไทยในการตัดสินใจเลือกผู้บริหารจังหวัดของตนเอง หากผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ไร้ความสามารถหรือโกงกิน ประชาชนควรใช้สิทธิถอดถอนได้ ถ้ากลัวการผูกขาดโดยบ้านใหญ่ ป้องกันได้ด้วยการกำหนดวาระ"

ทั้งนี้ กลุ่ม We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง ได้เชิญชวนขอพลังจากประชาชนทุกคน ร่วมส่งเสียงถึงทุกพรรคการเมือง และผู้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้าทุกคนว่า เราต้องการกฎหมายที่เปลี่ยนให้ทุกจังหวัดสามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้เอง และเราต้องการคุณภาพชีวิตที่เรากำหนดเอง ผ่านการลงชื่อในแคมเปญ Change.org/WeAllVoters เพื่อนำไปสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป

“ปลดล็อคท้องถิ่น" ทำลายอำนาจรัฐส่วนกลาง ทวงคืนอำนาจประชาชน 

เช่นเดียวกับ คณะก้าวไกล ก็ได้เดินหน้าสร้างแนวร่วม ให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อรณรงค์"ปลดล็อคท้องถิ่น เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนไทยอย่างแท้จริง" ให้ได้รายชื่อมากกว่า 5 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2560 ว่าด้วยหมวด 14 ที่เกี่ยวกับ การปกครองส่วนท้องถิ่น" เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริการสาธารณะในทุกรูปแบบ สร้างประโยชน์ สร้างการกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนในท้องถิ่น ที่สำคัญเพื่อคืนอำนาจอธิปไตยเพื่อกำหนดชีวิต ความเป็นอยู่และอนาคตของประชาชนด้วยมือของประชาชนเอง โดยร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่าด้วยหมวด 14 ดังกล่าว เสนอโดย คณะก้าวหน้า.... โดยผู้ที่สนใจจะร่วมลงชื่อสามารถร่วมลงชื่อผ่านทางออนไลน์ได้ที่ htt://progressivemovment.in.th/campaign-decentralization

 


ข้อมูลประกอบ
1. การปกครองส่วนภูมิภาคต้องถูกยุบ,ธเนศวร์ เจริญเมือง ,The101world,24 พ.ค. 2021 
2. We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง, https://www.facebook.com/Were-all-voters
3. 'คณะก้าวหน้า' ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่นกระจายอำนาจ ดันร่างแก้ไข รธน. หมวด 14,ประชาไท,14 มีนาคม 2565 

หมายเหตุ : 13.18 น วันที่ 25 เม.ย.65 ประชาไทดำเนินการปรับแก้ข้อมูลบางส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net