Skip to main content
sharethis

เวนดี โบว์แมน หญิงสูงอายุนักกิจกรรมชาวออสเตรเลีย จากรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ชนะคดีต่อต้านเหมืองแร่ที่อยู่ใกล้เคียงกับฟาร์มและชุมชนของเธอ ทำให้ชุมชนไม่ต้องเสี่ยงต่อมลภาวะทางอากาศ ทางเสียง และทางน้ำ ที่มาจากรุกทำเหมืองแร่ในพื้นที่เกษตรกรรมอีกต่อไป

เวนดี โบว์แมน เกษตรกรแห่งนแอมเบอร์เวล รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ออสเตรเลีย (ที่มา: The Canberra Times)

หลังจากที่มีการต่อสู้มาเป็นเวลานานหลายสิบปี เวนดี โบว์แมน หญิงสูงอายุผู้ปฏิเสธไม่ยอมขายที่ดินฟาร์มของเธอประมาณ 1,100 ไร่ให้กับบริษัทเหมืองแร่ยานโคลก็ได้รับชัยชนะจากการที่สัญญาอนุมัติเหมืองแร่หมดอายุ หลังจากที่บริษัทเหมืองแพ้คดีหลายครั้ง นอกจากนี้เธอยังผลักดันต่อจนทำให้แน่ใจว่าบริษัทเหมืองแร่จะไม่สามารถซื้อที่ดินของเธอได้ในอนาคตแม้ว่าเธอจะเสียชีวิตไปแล้ว

พื้นที่ฟาร์มของโบว์แมนตั้งอยู่ใน ฮันเตอร์ วัลเลย์ ใกล้กับหมู่บ้านแอมเบอร์เวล รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เธอบอกว่าสาเหตุที่เธอต่อต้านเหมืองแร่นี้มาตั้งแต่แรกนั้นเป็นเพราะต้องการปกป้องหมู่บ้านของเธอและแหล่งน้ำในหมู่บ้านของเธอนั้นมีความสำคัญมาก เธอบอกว่าโครงการเหมืองแร่ทั้งหมดนี้ "เป็นเรื่องงี่เง่ามาก" เพราะจะก่อมลภาวะทางน้ำให้กับคนที่อาศัยอยู่ปลายน้ำและต้องพึ่งพาแหล่งน้ำนี้

ด้วยเหตุนี้โบว์แมนจึงเริ่มขับเคลื่อนให้มีการเคลื่อนไหวในชุมชนเพื่อต่อต้านโครงการเหมืองแร่ของยานโคล จนกระทั่งในปี 2557 โบว์แมนก็ชนะคดีนี้เป็นครั้งแรกในชั้นศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อมของนิวเซาธ์เวลส์ซึ่งตัดสินว่าการขยายเหมืองแร่ของยานโคลนั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อยานโคลสามารถซื้อที่ดินของโบว์แมนได้เท่านั้น ซึ่งโบว์แมนปฏิเสธไม่ยอมขายให้มาตลอด ทั้งๆ ที่มีหลายคนในพื้นที่ยอมขายที่ดินของตัวเองให้กับบริษัทเหมืองยานโคล

เรื่องนี้ทำให้ฝ่ายยานโคลยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์นิวเซาธ์เวลส์ในปี 2558 แต่คำตัดสินก็ออกมาว่าโครงการของยานโคลจะดำเนินการต่อได้ก็ต่อเมื่อมีการซื้อที่ดินทั้งหมดในพื้นที่สำเร็จเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าโบว์แมนและหลายคนในพื้นที่ชุมชนของเธอไม่ขายที่ดินให้

จนกระทั่งในที่สุดโครงการเหมืองแร่นี้ก็ถูกยกเลิกโดยสิ้นเชิง จากการที่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสนับสนุนให้มีการฟ้องร้องต่อการขยายเหมืองแร่ของยานโคลและบอกว่าการอนุมัติโครงการนี้ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 17 เมษายน 2565 แล้ว

โบว์แมนเคยได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมนานาชาติโกลด์แมนจากการที่เธอต่อสู้กับเหมืองแร่นี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งรางวัลโกลด์แมนนี้เป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลหรือกลุ่มคนที่อาศัยการขับเคลื่อนจากรากหญ้าในการพยายามคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโลก

อย่างไรก็ตามโบว์แมนบอกว่าที่เธอและชุมชนชนะได้ในครั้งนี้เป็นเพราะ "มีคนมากมายที่ทำสิ่งต่างๆ เพื่อหยุดยั้งมัน มันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเมื่อมาคิดดูแล้วว่าพวกเราต่อสู้มาเป็นเวลานานมาก และในตอนนี้มันได้สิ้นสุดลงแล้ว"

"มันคุ้มที่ได้ทำลงไป" โบว์แมนกล่าว

โบว์แมนเปิดเผยว่า เธอรู้ดีว่าชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่ใกล้เหมืองถ่านหินนั้นเป็นอย่างไร เธอเคยเผชิญกับมันมาก่อนหลังจากที่สามีของเธอชื่อ มิค โบว์แมน เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี 2527 มีที่ดินในย่านเดียวกับเธอขายที่ดินให้กับคนทำเหมือง หลังจากนั้นก็มีแต่เสียงระเบิดและฝุ่นละอองหนาทึบปกคลุมไปทุกที่ มีการใช้เสียงดังตลอดทั้งวันทั้งคืนจนไม่มีใครสามารถนอนหลับได้ นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่บางคนทนไม่ไหวจนต้องขายที่ดินไปในที่สุด

โบว์แมนเริ่มก่อตั้งกลุ่มชื่อ "ไมน์วอทช์" มาตั้งแต่ปี 2534 เพื่อช่วยเหลือขับเคลื่อนกลุ่มเพื่อนเกษตรกรที่ตกอยู่ภายใต้การกดดันให้ขายที่ดินให้กับบริษัทเหมืองแร่ โบว์แมนเล่าว่าในตอนนั้นบริษัทเหมืองแร่ใช้วิธีการ "แบ่งแยกและปกครอง" ด้วยการควานหาเกษตรกรที่กำลังมีปัญหาทางการเงินอยู่แล้วก็เสนอ "ข้อเสนอที่พวกเขาไม่อาจปฏิเสธได้" แต่ก็บีบให้ต้องปกปิดไม่บอกเรื่องข้อเสนอนี้ต่อใครด้วย ทำให้โบว์แมนมองว่ามันเป็นเรื่อง "การทำธุรกิจในแบบที่น่ารังเกียจ"

เรียบเรียงจาก

NSW woman wins epic coalmine battle, The Canberra Times, 22-04-2022
Facebook Group,
Environmental News, 24-04-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net