เรียนรู้เรื่องโฮมสคูล ผ่านมุมมองครอบครัวบ้านเรียน หนึ่งทางเลือกของการศึกษาในยุค COVID-19

  • ทำความรู้จัก โฮมสคูล หรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว
  • ชี้ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการศึกษาโฮมสคูลในไทย ยังคงมีอยู่ ควรหาทางออกร่วมกัน
  • เสนอให้ กศน. กำกับดูแลการศึกษาโฮมสคูล แทน สพฐ. ชี้สอดคล้องเหมาะสมกับการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาตลอดชีวิต
  • ย้ำเสนอแนะไปยังศธ. ใส่ใจเข้าใจเรื่องโฮมสคูลให้มากขึ้น

หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้พ่อแม่หลายครอบครัว ต้อง Work from Home เมื่อเจอมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้ง เด็กๆ นักเรียน ต่างก็ได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถไปเรียนในระบบโรงเรียนได้ หลายโรงเรียนถึงขั้นต้องปิดเรียน On Site ปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นแบบ Online แทน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาอุปสรรค เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับการจัดการศึกษาในระบบของไทย เนื่องจากทั้งครูและนักเรียน ไม่ถนัด ไม่คุ้นชินกับระบบ ทำให้ทุกคนในบ้านต่างต้องปรับกิจกรรมและพฤติกรรมกันถ้วนหน้า แน่นอน สถานการณ์โควิด-19 ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคน เริ่มค้นหาทางออกด้วยตนเอง และทำให้หลายครอบครัวหันมาสนใจการจัดการศึกษาทางเลือกโดยครอบครัว หรือโฮมสคูลกันมากขึ้นด้วย

ทำความรู้จัก โฮมสคูล หรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงการศึกษาไทยหลายประการ การเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่ง  คือ การให้สิทธิแก่ครอบครัว ในการจัดการศึกษาให้แก่สมาชิกได้โดยถูกต้อง ตามกฎหมายที่เรียกว่า การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home School) ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในการจัดการศึกษา และเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการศึกษาของประชาชนให้แพร่หลายขึ้นทางหนึ่ง

แนวคิดการจัดการศึกษาโดยครอบครัวนี้ ได้รับการยอมรับจากประเทศต่าง ๆ เนื่องจากผู้ปกครองมีความเชื่อว่าการจัดการศึกษาโดยครอบครัว จะก่อให้เกิดผลดีในด้านต่างๆ ดังนี้คือ 1.พ่อแม่ ผู้ปกครองมีโอกาสเลือกและปรับแนวทางการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับแผนชีวิต ความเชื่อ ความต้องการและความพร้อมของเด็กได้อย่างยืดหยุ่น แทนการส่งเด็กไปโรงเรียนที่บังคับให้เด็กเรียนทุกอย่างเหมือนๆ กัน พร้อมๆ กัน ในขณะที่เด็กหลายคนอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ 2.เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของตน ดีกว่าเรียนกับผู้อื่น ซึ่งโดยปกติจะมีความรักและความเอื้ออาทรน้อยกว่าพ่อแม่ 3.การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลา โดยไม่มีการเปิดเทอมหรือปิดเทอมที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่อง จะช่วยปลูกฝังคุณลักษณะแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้แก่เด็ก

ด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้การจัดการศึกษาโดยครอบครัวขยายวงกว้างขึ้น โดยมีวิธีการดำเนินการจัดการศึกษาที่ปฏิบัติในประเทศต่างๆ ดังนี้ 1.ผู้ปกครองสอนบุตรหลานอยู่กับบ้านโดยไม่ต้องส่งไปเรียนในโรงเรียน 2.มีกฎหมายรองรับเพื่อให้ผู้ปกครองดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  3.รัฐให้การสนับสนุนและเข้ามาดูแลในเรื่องมาตรฐานและการจัดการเรียนการสอน 4.รูปแบบการจัดการศึกษาให้ผู้ปกครองสามารถจัดการศึกษาตามหลักสูตรที่วางไว้อย่างกว้าง โดยมีการเรียนการสอนและเนื้อหาหลากหลาย 5.อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ร่วมกันเป็น “ครู” เพื่อถ่ายทอดความรู้ตามรูปแบบและวิธีการของแต่ละบุคคล

Home School จึงเป็นรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ผู้เรียนสามารถเรียนอยู่ที่บ้านได้  หรือบางครั้งเราก็มักจะใช้คำว่า Home Schooling แปลว่า การศึกษาโดยครอบครัว หรือการศึกษาแบบบ้านเรียน  Home School ถือเป็นรูปแบบการเรียนที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงในประเทศไทยในขณะนี้ เพราะมีความยืดหยุ่นในการเรียนสูง สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่ไม่ประสงค์จะเรียนในโรงเรียนด้วยระบบปกติได้เป็นอย่างดี โดยการเรียนแบบ Home School นั้น จะเน้นที่ความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การค้นพบความสามารถหรือความถนัดที่แท้จริงของตัวเอง

การเรียนแบบ Home School หรือ การศึกษาโดยครอบครัว  ถือเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบครัวจัดโดยสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย ปัจจุบัน การเรียนแบบ Home School สามารถเรียนได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ดูแลและวางแผนการศึกษาให้กับผู้เรียนเป็นหลัก โดยการจัดทำแผนการศึกษา ผู้เรียนและผู้ปกครองในฐานะเป็นผู้จัดการศึกษา สามารถเลือกที่จัดทำแผนจัดการศึกษาได้ 2 รูปแบบ คือ กลุ่ม 8 สาระการเรียนรู้ กับกลุ่มประสบการณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อม ความถนัด ความสนใจของผู้เรียน โดยยึดหลักตามหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 และกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ.2547

อีกประเด็นสำคัญก็คือเรื่องวุฒิการศึกษาของเด็กโฮมสคูล เทียบเท่ากับในระบบโรงเรียน

การจดทะเบียนการศึกษาในเขตที่เราอาศัยอยู่ ผู้ที่ต้องการจดทะเบียนกับเขตการศึกษาจะสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับ ม.ปลาย โดยไม่ได้บังคับในเด็กเล็กและอนุบาล สามารถจดได้ตั้งแต่อายุครบ 7 ปี หรือระดับ ป.1 ซึ่งทางเขตการศึกษาจะให้ผู้ปกครองเขียนหลักสูตรที่จะสอนลูกว่าจะสอน ให้คะแนนหรือเกณฑ์การวัดผลประเมินผลลูกอย่างไร โดยทางเขตมีการแนะนำสำหรับการจัดการเรียนการสอนของผู้ปกครองให้อย่างเหมาะสม  เมื่อเด็ก ๆ เรียนผ่านทุกปีพร้อมกับเขตการศึกษาได้รับรายงานผลการเรียนจากพ่อแม่ ทางเขตฯ ก็จะออกใบประกาศให้ ซึ่งสามารถเอาไปสอบได้เหมือนกับนักเรียนในระบบ และผู้ปกครองก็จะได้รับเงินอุดหนุนการศึกษาจากภาครัฐอีกด้วย โดยผู้ปกครองจะสอนเอง หรือนำเงินนั้นไปจ้างครูมาสอนก็ได้แล้วแต่การจัดการ

อย่างไรก็ตาม การจะตัดสินใจให้ลูกเรียนที่บ้าน หรือโฮมสคูล นั้นทำได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายกับทุกคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของผู้ปกครองและเด็ก วิถีชีวิตของแต่ละคน แนวคิดและอาจรวมไปถึงความเข้าใจในแนวทางของครอบครัวด้วย

ภาพกิจกรรม บ้านเรียนม่อนภูผาแดง

พิชชาพา เดชา ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนม่อนภูผาแดง บอกเล่าให้ฟังที่ตัดสินใจจัดการศึกษาโดยครอบครัวนี้ว่า เริ่มรู้จักโฮมสคูลเมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว เพราะครอบครัวของรุ่นพี่ที่อยู่ที่อเมริกาเขาทำโฮมสคูลให้ลูกๆ ของเขา แต่ตอนนั้นเรารู้แค่ว่าโฮมสคูล จะเป็นการซื้อหลักสูตรจากโรงเรียนแล้วมาสอนเองที่บ้านเท่านั้น ก็เพิ่งมารู้ทีหลังว่าการทำโฮมสคูลสามารถทำได้หลายทาง ทั้งจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียน จดทะเบียนกับเขตการศึกษา หรือลงทะเบียนกับการศึกษาทางไกล และยังสามารถลงเรียนหลักสูตรต่างประเทศได้ด้วย

“เราก็พูดคุยกับรุ่นพี่ตลอดและสังเกตว่าเด็กๆ จะค่อนข้างมีอิสระในการเรียน กรอบการเรียนรู้ค่อนข้างกว้างเด็กๆ ดูมีความสุขในการเรียนแบบนี้มาก ตั้งแต่นั้นเราก็ศึกษามาเรื่อยๆ จนมีลูกก็คิดว่าจะให้ลูกโฮมสคูลช่วงอนุบาลเพราะอยากใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด ให้เขาได้เล่น ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติให้เต็มที่หลังจากนั้นวัยประถมค่อยพาเข้าโรงเรียนก็ได้ เริ่มจากช่วงโฮมสคูลชั้นอนุบาล การที่เราปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างอิสระ ไม่วางกรอบให้ท่องหรือคัดเราได้สังเกตเห็นพัฒนาการเขาอย่างใกล้ชิด ดูมีความสุขในการเรียนรู้ที่เป็นอิสระ  และก็ได้เห็นว่าพัฒนาการบางอย่างของเขาดูช้า แต่บางอย่างก็ไวอย่างเรื่องความคิดจินตนาการที่ค่อนข้างกว้างและออกนอกกรอบไปไกลแล้ว เราคิดว่าถ้าดึงเขากลับเข้ามาอยู่ในกรอบอาจทำให้ความคิดสร้างสรรค์หรือพัฒนาการบางอย่างของเขาหยุดชะงักก็ได้  เราจึงตัดสินใจทำโฮมสคูลต่อในระดับประถม เพราะเราจะรู้จุดเด่น จุดด้อยของเขา เราก็จะสามารถทำแผนการเรียนการสอนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพัฒนาการของลูกมากที่สุดได้ด้วย”

แน่นอนว่า มีผู้ปกครองหลายคนสนใจอยากจะเอาลูกเรียนโฮมสคูล แต่ยังวิตกกังวล ไม่กล้าตัดสินใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่ครอบครัวมักอ้างว่าไม่มีความพร้อมเรื่องเวลาและไม่มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ? ทั้งๆ ที่ก็มีหลายบ้านเรียนก็มีทักษะพื้นฐานมาจากครอบครัวชาวบ้านธรรมดาๆ ยังสามารถจัดโฮมสคูลได้

พิชชาพา เดชา ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนม่อนภูผาแดง

พิชชาพา บอกว่า จริงๆ โฮมสคูลสามารถทำได้หลายรูปแบบ ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องสอนเด็กทุกวิชา หรือทำตามตารางเป๊ะเหมือนในโรงเรียน แต่เราสามารถจัดสรรเวลายืดหยุ่นตามความเหมาะสมของสภาพครอบครัวได้ การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเรียนรู้ไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ทุกวิชาอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กอยู่แล้ว บางวิชาบางหัวข้อที่เด็กสนใจ  แต่ผู้ปกครองไม่มีความรู้ไม่สามารถสอนได้  เราก็สามารถให้เด็กลงคอร์สเพิ่มเติมได้  ซึ่งเราสามารถเลือกได้เลยแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายก็มี  เดี๋ยวนี้มีให้เลือกเยอะมาก เราสามารถให้เขาค้นคว้าเองจากอินเตอร์เน็ต จากหนังสือ จากห้องสมุดได้ 

“ยกตัวอย่างบ้านเรียนที่เป็นแผนแบบกลุ่มประสบการณ์ เด็กก็สามารถเรียนรู้จากวิถีชีวิตหลักของครอบครัวได้ ครอบครัวค้าขาย ก็ได้วิชาคณิตศาสตร์ การงานพื้นฐานอาชีพ ศิลปะ  สังคมก็อยู่ในนี้ทั้งนั้น หรือบางบ้านเป็นแผน 8 กลุ่มสาระก็จัดตารางสอนตามความสะดวกของครอบครัวได้เลยช่วงเย็น ช่วงเช้า ช่วงก่อนนอน เพราะที่สุดแล้ว การทำโฮมสคูลหรือบ้านเรียน  ไม่ได้หมายความว่าการยกโรงเรียนมาไว้ที่บ้าน ตารางเรียนไม่ต้อง 8 โมงถึง 4 โมง แต่เป็นการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  มันยืดหยุ่นได้ตามความสนใจของผู้เรียน ตามบริบทของแต่ละครอบครัว หลักๆ ที่สำคัญของเราคือการมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ หากมีข้อนี้แล้วจะช่วยให้เขาสามารถเรียนรู้ได้เองอย่างมีความสุข อีกอย่างเราควรมองที่พัฒนาการของลูกเท่านั้น ไม่เอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเราจะได้ไม่ฟิกพัฒนาการของลูกจนเกินไป ผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกได้”

ผู้จัดการบ้านเรียนม่อนภูผาแดง ยังพูดถึงจุดเด่นของการจัดการศึกษาโดยครองครัว หรือโฮมสคูล ด้วยว่า เราสามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนได้เอง ตามสถานการณ์ได้เลย ปกติเด็กโฮมสคูลไม่ได้เรียนแต่ที่บ้าน ก็จะมีออกไปรวมกลุ่มทำกิจกรรมกันตามสถานที่ต่างๆ เป็นประจำ พอมีสถานการณ์โรคระบาดเข้ามา  เราก็สามารถปรับกิจกรรมกลุ่มเป็นแบบออนไลน์ได้เลย  การเรียนบางวิชาที่ต้องออกไปตามศูนย์ต่างๆ ก็สามารถปรับเป็นออนไลน์ได้เลย เด็กไม่จำเป็นต้องออกไปเสี่ยงข้างนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่สถานการณ์รุนแรง  เด็กโฮมสคูลส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบอยู่แล้ว เด็กเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ด้วยเช่นการทำงานบ้าน การปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ วาดรูป เป็นต้น

“ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถออกไปไหนได้เขาก็ยังเรียนได้ตลอดเวลาจากที่บ้าน ข้อดีอีกอย่างคือเด็กได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้ปกครองได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เด็กมีอิสระในการเรียนที่เป็นตัวเองมากที่สุด”

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การจัดการศึกษาในรูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือบ้านเรียนที่ผ่านมา ตามกฎหมายที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดและวางกรอบเอาไว้คือ ผู้ปกครองและผู้เรียนสามารถจัดทำแผนการเรียนการสอนและการประเมินผล ได้ทั้ง 3 รูปแบบ คือ แผน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แผนกลุ่มประสบการณ์ และแบบบูรณาการ (กลุ่มประสบการณ์อิงกับ 8 กลุ่มสาระ) ซึ่งแต่ละครอบครัวบ้านเรียน สามารถที่จะเลือกในแนวทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้มีความสอดคล้องเหมาะสมผู้เรียน

พิชชาพา บอกว่า บ้านเรียนม่อนภูผาแดง เลือกทำแผนแบบกลุ่มประสบการณ์ โดยเน้นการเรียนรู้ตามวิถีชีวิต เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะวางกรอบเป้าหมายกว้างๆ เพื่อให้แผนสามารถยืดหยุ่นได้เป็นไปตามความสนใจและพัฒนาการของผู้เรียน รวมทั้งบริบทของครอบครัวได้ด้วย

ภาพกิจกรรม บ้านเรียนอริยะ

นวิยา อาริยะ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนอาริยะ บอกว่า ต้องเกริ่นนำก่อนว่าตั้งแต่ตอนประถม คุณแม่อ่านอัตชีวประวัติของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แล้วประทับใจในประโยคหนึ่งของท่านที่ว่า

"Everybody is a genius. But, if you judge a fish by its ability to climb a tree, it'll spend its whole life believing that it is stupid."

"ทุกคนล้วนมีความเป็นอัจฉริยะ แต่หากเราตัดสินความสามารถของปลาด้วยการให้มันปีนต้นไม้ มันก็จะใช้ชีวิตทั้งหมดที่เหลือนั้น เชื่อว่าตัวมันแสนโง่เขลา"

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดคำถามในใจกับระบบการศึกษาในโรงเรียนมาตลอดตั้งแต่ครั้งนั้นว่าการที่ให้เด็กทุกคนเรียนวิชาที่เหมือนกัน วัดผลด้วยการสอบเหมือนๆ กันนั้น จะช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถของเด็กแต่ละคนได้จริงหรือ ในเมื่อในความเป็นจริง มนุษย์เรามีความแตกต่างและหลากหลายทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความสนใจและความถนัด น่าเสียดายที่ตอนนั้นระบบการศึกษาแบบบ้านเรียนยังไม่แพร่หลายในเมืองไทยและยังไม่มีกฎหมายรองรับด้วย

“จนเมื่อได้เป็นคุณแม่ จึงเริ่มศึกษาข้อมูลเรื่องการทำบ้านเรียนอยู่หลายปีจนมั่นใจว่าคือระบบการศึกษาที่ตรงใจ ตอบโจทย์ความต้องการและวิถีชีวิตของตนกับลูก จึงดำเนินการยื่นจดทะเบียนบ้านเรียนกับทางเขตพื้นที่การศึกษาของตัวเอง โดยบ้านเรียนอาริยะ เราเลือกจัดทำบ้านเรียนแบบกลุ่มประสบการณ์ ด้วยความที่คุณแม่มีความเชื่อว่ามนุษย์เรามีความแตกต่างและหลากหลายทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความสนใจและความถนัด หลักการในการจัดการศึกษาของคุณแม่จึงคำนึงถึงตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ และการจัดแผนการศึกษาแบบกลุ่มประสบการณ์นั้นทั้งสอดคล้องกับความต้องการและเหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียนซึ่งสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของครอบครัวค่ะ”

นวิยา อาริยะ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนอาริยะ

นวิยา บอกว่า หลังเกิดวิกฤติโควิด ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือปลอดภัยจากโรคโควิดและประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงวิกฤติโรคระบาดแบบนี้ นอกจากนั้นยังทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น เพิ่มความอบอุ่น ความสุขและกระชับสายสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว

“อยากให้ผู้ปกครองที่สนใจ แต่ยังไม่มั่นใจนั้น  ลองศึกษาถึงหลักการของบ้านเรียนจนเข้าใจอย่างถ่องแท้และเชื่อมั่นเสียก่อนว่าการศึกษาที่จัดโดยครอบครัวเพื่อบุตรหลานในปกครองของตนนั้นเป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนาตัวเด็กตามความชอบ ความสนใจ ความถนัดของเจ้าตัวและยืดหยุ่นสอดคล้องไปกับเวลาและวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัว เป็นแผนการศึกษาที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับครอบครัวและตัวผู้เรียนรายบุคคล ไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น แผนการศึกษาของแต่ละบ้านเรียนไม่มีคำว่าดีกว่า ด้อยกว่า มีศักยภาพสูงกว่าหรือต่ำกว่าบ้านอื่น”

ภาพกิจกรรม บ้านเรียนทักข์อิทธิพร

ศรีไพร ทักข์อิทธิพร ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนทักข์อิทธิพร และเป็นที่ปรึกษาครอบครัวบ้านเรียนเครือข่ายบ้านเรียนจังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าว่า เราทำบ้านเรียนมาได้ปีที่ 3 แล้ว มีลูก 2 คน เรียนโฮมสคูลหมด เหตุผลหลักๆ เลยคือลูกชอบการเรียนรู้แบบโฮมสคูล เพราะได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบและสนใจ เพราะเราจัดต่อเนื่องจากระดับปฐมวัยเคยถามความเห็นของลูกแล้ว และลูกก็เลือกเองที่จะเรียนในรูปแบบโฮมสคูล ถ้าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของแม่ตั้งแต่เริ่มแรกเลย คือเป็นห่วงลูกในทุกๆ ด้าน เพราะตอนนั้นลูกยังเล็ก ประกอบกับสถานการณ์โควิด จึงตัดสินใจให้ลูกเรียนรู้ที่บ้านน่าจะโอเคที่สุด ตอบโจทย์ทั้งแม่ทั้งลูก

ศรีไพร ทักข์อิทธิพร ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนทักข์อิทธิพร

ต่อกรณีที่หลายครอบครัวสนใจอยากทำโฮมสคูลให้ลูก แต่ก็ติดขัดเรื่องเวลา เพราะต้องทำงานประจำข้างนอก

ผู้จัดการบ้านเรียนทักข์อิทธิพร ได้ให้คำแนะนำเอาไว้อย่างน่าสนใจ

“ความเห็นส่วนตัวนะคะ หากบ้านไหนตั้งใจที่จะนำลูกมาเรียนโฮมสคูลปัญหาเรื่องเวลาก็จะไม่มีค่ะ หากพ่อแม่ทำงานประจำทั้งคู่ก็ไม่จำเป็นต้องมีใครลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกสอนลูก  ขอแค่มีใครสักคนที่บ้านอยู่ดูแลลูก ช่วงหลังเลิกงานและวันหยุดก็สามารถมาสอนลูกได้ค่ะยิ่งเด็กโตเขาสามารถเรียนรู้เองได้โดยหลากหลายช่องทางเช่นสืบค้นในอินเทอร์เน็ต google YouTube หรือเรียนรู้ในแบบฝึกหัดเองได้ หรือบางบ้านอาจจะจัดให้เด็กเรียนพิเศษออนไลน์ซึ่งลูกสามารถเรียนกับคุณครูโดยตรงได้ สำหรับเด็กระดับปฐมวัยยิ่งไม่มีปัญหาเพราะการเรียนรู้จะเน้นพัฒนาการ 4 ด้าน การเล่นเพื่อเรียนรู้เสริมทักษะตามความพร้อมอยู่แล้ว”

ศรีไพร บอกอีกว่า ที่ผ่านมา จะเห็นชัดเจนเลยว่า ลูกเรียนรู้อย่างมีความสุข ได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบและสนใจมีอิสระในการเรียนรู้ และปลอดภัยจากสังคมรอบด้าน  พ่อแม่สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและปลูกฝังความคิดด้านต่างๆ เช่น ด้านศีลธรรม ด้านมนุษยธรรม ปลูกฝังให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพเป็นต้นกล้าที่พร้อมเติบโตสู่โลกกว้างได้

“ครอบครัวเราจดบ้านเรียนในรูปแบบกลุ่มประสบการณ์ตามแนวทางการศึกษาทางเลือก สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเป็นการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หลักสูตรการศึกษามีความยืดหยุ่นตามตัวผู้เรียนและบริบทของครอบครัว เรียนรู้บนฐานกิจกรรม ซึ่งเด็กๆสามารถเรียนในสิ่งที่เขาชอบและที่เขาถนัดโดยไม่มีชั่วโมงเรียนหรือเวลามาเป็นกรอบจำกัด สิ่งไหนที่เห็นว่าลูกถนัดก็สามารถเสริมและดันไปให้สุดหรือสิ่งไหนที่เห็นว่าลูกอ่อนก็สามารถเพิ่มได้ตามความพร้อมของผู้เรียนโดยไม่ต้องอิงหลักสูตรของโรงเรียน แต่อิงตัวผู้เรียนเป็นหลักค่ะ”

ภาพกิจกรรม บ้านเรียนเพลิน PLearn Homeschool

จุติพร เลิศธนาผล ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนเพลิน PLearn Homeschool ซึ่งเพิ่งตัดสินใจจัดการศึกษาในรูปแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูลให้ลูก และเพิ่งได้รับการอนุมัติจากทางเขตการศึกษามาหมาดๆ ได้บอกเล่าให้ฟังว่า เอาจริง ๆ นะคะ เพราะปัญหาเรื่องโควิดนี่แหละ ซึ่งก่อนหน้านั้น ที่บ้านก็สอนลูกเองมาตลอดอยู่แล้วควบคู่กับการให้เขาไปโรงเรียน  ทีนี้พอมีโควิดแล้ว เราไม่สบายใจที่จะให้ลูกไปโรงเรียน  ก็เลือกเรียนออนไลน์ หรือบางช่วงที่โรงเรียนสอนออนไซต์ เราก็จอแบบฝึกหัดมาสอนเอง ก็เห็นชัดว่าลูกเบื่อในวิชาที่เขารู้แล้ว และไม่ชอบเรียนในวิชาที่เขาไม่เห็นคุณค่า เลยคิดว่าเราควรจะให้เขาได้เรียนรู้ตามที่เขาสนใจ โดยเราช่วยอำนวยความสะดวก และชี้แนะน่าจะเหมาะกับลูกมากกว่า ก็เลยมาศึกษาเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว และยื่นจดแผนโฮมสคูลกับเขตพื้นที่การศึกษาฯ ในที่สุด

ต่อวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองหลายคน อยากจัดโฮมสคูลให้ลูก แต่ยังลังเล วิตกกังวล ไม่กล้าตัดสินใจ

“เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ดีนะคะ การทำโฮมสคูลต้องมีใครสักคนที่มีเวลา จะพ่อ แม่ หรือญาติ หรือครู ต้องมีใครสักคนที่ช่วยสอน ช่วยไกด์เด็กได้นะคะ ทั้งนี้น่าจะขึ้นอายุกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุของเด็ก ความสามารถในการรับผิดชอบตนเองของเด็กด้วย ส่วนเรื่องการยื่นจดแผนและเป็นผู้จัดการบ้านเรียนนั้นพ่อหรือแม่ทำให้ลูกได้  แม้ว่าจะทำงานฟูลไทม์  เพียงแต่จะต้องหาใครสักคนที่ช่วยดูแลเขาได้ ถ้าน้องเป็นเด็กปฐมวัยหรือประถมต้นซึ่งยังต้องการการดูแลค่อนข้างใกล้ชิดอยู่ ก็จำเป็นที่จะต้องมีใครสักคนอยู่กับเขาจริงๆ ใครสักคนที่จะสอนหรือดูแลเขาได้  ในขณะที่เด็กประถมปลายหรือมัธยม  เราอาจจะให้งาน หรือปล่อยให้เขาเรียนรู้เอง แล้วมาตรวจงาน มาพูดคุยเกี่ยวกับตัวงานนั้น  และสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ภายหลังได้ อันนี้แล้วแต่ศักยภาพของเด็กและความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือวิธีการจัดการเลยค่ะ”

จุติพร เลิศธนาผล ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนเพลิน PLearn Homeschool

ผู้จัดการบ้านเรียนเพลิน บอกถึงจุดเด่นข้อดีของการจัดทำบ้านเรียน ด้วยว่า ก็คือเป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน เป็นไปตามสภาพของครอบครัว บ้านเรียนนั้นปรับได้ตามแต่ที่เราต้องการ  โดยที่มีเป้าหมายคือผู้เรียนได้เรียน ขอให้ยึดเป้านั้นเป็นหลัก  แล้วก็ทำงานให้สอดคล้องเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จริงๆ เลือกเรียนในสิ่งที่เด็กอยากรู้ ควรรู้ เหมาะสมกับบริบท และสังคมของเด็ก

“บ้านเรียนเป็นการศึกษาที่ออกแบบได้ มันเหมือนกับการตัดเสื้อไม่ใช่การซื้อเสื้อสำเร็จรูป ได้เสื้อเหมือนกันแต่ถ้าเราตัดเย็บแบบที่มันเหมาะกับตัวเรามันก็จะใส่ได้พอดีตัวมากกว่า การศึกษาแบบบ้านเรียนก็เช่นเดียวกัน เราเลือกวิชาเรียน เลือกวิธีเรียนที่เหมาะกับตัวลูกเรา เพราะฉะนั้น เขาก็จะเรียนรู้ได้ดีได้มากขึ้น ได้เร็วขึ้น ความเข้าใจมันลึกซึ้งกว่า ที่สำคัญ สามารถ Social distancing ได้จริง การทำบ้านเรียนมันเลือกสังคมให้ลูกได้มากกว่าการไปโรงเรียน จริงอยู่ ไปโรงเรียนจะพบผู้คนหลากหลายก็จริง แต่เราไม่สามารถดูแลเขาใกล้ชิดได้ เพราะฉะนั้น โอกาสของการ bully มันมีได้  แล้วบางครั้งเด็กก็จะไม่มาฟ้องพ่อแม่  ถ้ามันไม่เหนือบ่ากว่าแรงเขาจริงๆ กว่าพ่อแม่จะรู้อะไรมันก็อาจจะช้าไป”

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ทำการศึกษาข้อมูลเรื่องโฮมสคูลจนเข้าใจแล้ว บ้านเรียนเพลิน ได้เลือกจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่มประสบการณ์ ซึ่งคิดว่าจะเหมาะกับผู้เรียนของเราซึ่งเป็นคนที่มีจิตอิสระ คิดอะไรคิดนอกกรอบ ทำอะไรค่อนข้างจะตามใจ แต่ก็เมื่อสนใจสิ่งใดก็จะสนใจอย่างลึกซึ้ง เรามองว่าการจดแผนแบบกลุ่มประสบการณ์มีความยืดหยุ่นและเหมาะกับผู้เรียนและครอบครัวมากกกว่า

ภาพกิจกรรม บ้านเรียนฟีนิกซ์-โฟนิค-ฟีน่า-Phenomenon Homeschool

สกาวรัตน์ วงศ์มั่นกิจการ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนฟีนิกซ์-โฟนิค-ฟีน่า-Phenomenon Homeschool และเป็นที่ปรึกษาบ้านเรียนกรรมการศูนย์ประสานสิทธิ์การศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย ได้บอกเล่าที่มาของการตัดสินใจจัดการศึกษาในรูปแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูลให้แก่ลูกๆ ทั้ง 4 คน ว่า  ก่อนนั้น ก็เคยพาลูกคนโตเข้าโรงเรียน ตอนนั้นลองดู ลองหาโรงเรียน ลองเรียนมาหลายที่ ด้วยเพราะครอบครัวนี้มีพื้นฐานของการทำงานอาชีพครูทั้งฝ่ายสอนและฝ่ายบริหาร เราได้สัมผัสมาหมด เพราะฉะนั้น ปัญหาภายในเรารู้เราเห็น ไม่ใช่แค่โรงเรียนเดียวนะคะ ตลอดชีวิตของพ่อแม่เราที่เป็นครู เป็น ผอ.โรงเรียน เป็นประธานผู้ปกครองต่างๆ เราได้เข้าไปร่วมวง เห็นปัญหา เห็นทั้งมุมมืดมุมสว่าง เราจึงเลือกที่จะหาพื้นที่ที่น่าจะดีที่สุด หรือเรียกง่ายๆ คือ เลือกโรงเรียนที่แย่น้อยที่สุดให้ลูกเรา แต่สุดท้ายก็ไม่มีที่ไหนตอบโจทย์ได้เหมาะสม เราจึงเลือกโฮมสคูลให้ลูกเอง

สกาวรัตน์ วงศ์มั่นกิจการ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนฟีนิกซ์-โฟนิค-ฟีน่า-Phenomenon Homeschool

“คือต้องยืนยันยืนหยัดแนวคิดเยอะมาก เพราะฉีกกรอบทุกกรอบของคนที่บ้านเขาเชื่อเขาทำกันมา แต่ในระหว่างทางนั้น เราไม่ได้ปิดกั้นโรงเรียนนะคะ ถามลูกตลอดว่า ไปเรียนในโรงเรียนไหม ลูกเราคบเพื่อนหลากหลาย เพื่อนในโรงเรียนก็มีเยอะค่ะ ไม่น้อยไปกว่าเพื่อนโฮมสคูล แต่สังคมที่แตกต่างหล่อหลอมคนที่แตกต่าง เห็นได้ชัดเลยว่า เพื่อนในโรงเรียนกับเพื่อนโฮมสคูล มีสิ่งที่ต่างกันเหมือนกันอย่างไร ยิ่งได้ฟังแนวคิดลูกเราในการเลือกคบเพื่อน เรายิ่งชัดเจนว่า โฮมสคูลสอนอะไรได้มากกว่า รวมถึงเรื่องของการดูแลสุขภาพ ที่ลูกสาวเป็นภูมิแพ้หนักมาก ไม่ง่ายเลยกับการดำเนินชีวิตในโรงเรียนที่ครูเองก็ต้องดูแลเด็กหลายคน เราเข้าใจครูนะคะ เข้าใจหน้าที่ เราไม่ได้โทษว่าครูไม่ดี หรือดีไม่พอ เข้าใจในบริบทการดำเนินชีวิตในวังวนการศึกษาของไทย เอาจริงๆ จะโรงเรียนหรือโฮมสคูลก็มีทั้งข้อดีข้อเสียนั่นล่ะค่ะ แต่เราลองมานั่งลิสต์แล้วเราพบว่า โฮมสคูลเป็นการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิต เป็นช่วงจังหวะที่ครอบครัวสามารถปรับ ขยับ บริหารเวลา บริหารการเงิน บริหารการเรียนรู้การเติบโตได้อย่างเหมาะสม และเรียนรู้เติบโตไปด้วยกันด้วยหัวใจของคำว่าครอบครัว รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเติบโตทางความคิด mind set ของลูก การเคารพตนเองและผู้อื่น การดูแลตัวเองรับผิดชอบตัวเองในแบบที่วันหนึ่งไม่มีเราหรือเราเป็นอะไรไป เขาจะอยู่และดูแลตัวเองให้ดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้ กระทั่งตอนนี้ ก็ทำโฮมสคูลให้ลูกๆ ทั้ง 4 คนค่ะ ม.5/ป.4/ป.2และอนุบาล1”

แน่นอน ย่อมทำให้ผู้ปกครองหลายคนรู้สึกทึ่ง เมื่อรู้ว่าครอบครัวนี้ สามารถจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้กับลูกๆ หลายช่วงชั้นเรียน ถึง 4 คนพร้อมกัน  ในขณะที่มีผู้ปกครองอีกหลายคนกำลังสนใจอยากทำโฮมสคูลให้ลูกตัวเองบ้าง  แต่ยังกังวล ไม่กล้าตัดสินใจ

สกาวรัตน์ บอกว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราทั้งหลายจบมาจากระบบการศึกษาแบบไหน เราน่าจะรู้กันดี ส่วนหนึ่ง การจะปลีกตัวเอง ปลีกครอบครัว ออกมาจากความเหมือน เพื่อสร้างความแตกต่าง เราก็คงต้องกล้าที่จะต่าง และกล้าที่จะยืนหยัดในแนวทางตนเอง เพราะฉะนั้น คือเราต้องกล้าคิดและเชื่อมั่นในตัวเอง ส่วนนี้ความสำคัญอยู่ที่แค่ความแข็งแรงทางจิตใจเลย

“อาจจะต้องชวนมองภาพสมัยก่อนเลย เด็กผู้ชายจะไปเรียนที่วัด เรียนกับพระ เด็กผู้หญิงที่เป็นลูกหลานคนธรรมดาก็เรียนกับแม่ เรียนกับคนในบ้าน เรียนรู้งานบ้านงานครัว สูตรอาหารที่ว่าเด็ดก็มาจากการเรียนรู้จากพ่อแม่ปู่ย่าตายายสอนสั่งมานี่ล่ะค่ะ เรียนอยู่กับครอบครัวอยู่ที่บ้าน เพื่อจัดสรรงานบ้านงานเรือน ซึ่งนั่นล่ะค่ะ คือการเรียนรู้ เรียนเหมือนบ้านเรียนเลย ซึ่งก็เหมาะกับวิถีของสังคมในสมัยนั้น พอผ่านมาอีกช่วงหนึ่ง ที่มีโรงเรียนเพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น มีโรงงาน มีอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ตลาดต้องการคนเพื่อเข้าไปทำงานเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้

สกาวรัตน์ บอกอีกว่า พอมาถึงสมัยนี้ พ่อแม่อย่างเราๆ หลายคนยังถูกสอนด้วยระบบเดิมๆ โดยไม่ทันได้รู้ว่า เทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนแปลงไว ไปไว มันมีความรู้ให้หยิบจับอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น สามารถติดต่อกับคนไกลๆ อีกฟากโลกได้เพียงแค่กดปุ่มบนเครื่องมือสื่อสาร แต่ทำไมพ่อแม่ลูกถึงดูห่างไกลกันมากขึ้นทุกที ไกลจากคำว่าครอบครัว นั่นเพราะหลายคนยังไม่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าทันได้ ถ้าเราปรับใช้ได้ ดึงเอาทุกทรัพยากรในสมัยนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของลูก

“ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนทำบ้านเรียนให้ลูกได้ กับเรื่องของเวลาเช่นกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลา บริหารแนวทางการเรียนรู้ให้ลูกว่าทำแบบไหนอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด อย่างพ่อแม่ทำงานประจำทั้งคู่ ลูกอยู่กับตายาย ทำอย่างไรได้ล่ะ เราก็คุยทำความเข้าใจกันค่ะ ระหว่างบุคคลในครอบครัวเลย พร้อมกับตารางกิจกรรมคร่าวๆ ที่วางไว้ เวลาว่างกลับมาหรือวันว่างเราก็ทำกิจกรรมไปกับลูก เรียนรู้ไปด้วยกันได้ค่ะ นั่นคือวิถี นั่นคือบริบทของครอบครัวที่ลูกก็ได้เรียนรู้เติบโตไปกับพ่อแม่ด้วยเช่นกัน” 

สกาวรัตน์ ยังพูดข้อเด่นข้อดีของการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน ด้วยว่า ขอยกจากประสบการณ์ของครอบครัวตัวเองนะคะ เพราะเราได้ทดลอง ได้ลงมือทำ และได้ตกผลึกในกระบวนการดำเนินการในระดับหนึ่งทีเดียว ที่ใช้คำว่าระดับหนึ่ง นั่นเพราะทุกๆ วันเราต้องเจอหลากหลายเหตุการณ์ ในทุกวันที่ไม่ใช่ละครหรือภาพยนตร์ที่จะเซ็ตได้ว่า วันนี้ต้องเป็นแบบนี้ พรุ่งนี้ต้องเป็นแบบนั้น เราจึงต้องเรียนรู้ ยืดหยุ่น และยังต้องปรับใช้ ยังต้องเติบโตไปกับลูกในทุกๆ วัน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด

“การทำบ้านเรียนในมุมของแม่มีข้อดีเรื่องของ 1.การเรียนบ้านเรียนทำให้เด็กๆ เราได้ดูแลสุขภาพตนเองในพื้นที่หรือในห้วงเวลาที่เรายังสามารถเรียนรู้ได้ การเรียนรู้ไม่ได้หยุดชะงัก คือการเรียนรู้ตลอดเวลาจริงๆ เรียนรู้การดำเนินชีวิตให้ปลอดภัยและเติบโต 2.สามารถบริหารเวลา บริหารกิจกรรมการเรียนรู้ได้ ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่อย่างไร  เพื่อให้เหมาะสมลงตัวกับจังหวะที่อาจจะออกจากบ้านไม่ได้ หรือต้องดูแลตัวเองมากขึ้นหากต้องออกไปทำกิจกรรมข้างนอก 3.เด็กๆ ได้รู้จักการปรับตัวกับวิถีใหม่และสามารถทำกิจกรรมในพื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์ได้ เรียนรู้จักการปรับใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง 4.เด็กๆ ได้พักผ่อนนอนหลับเต็มอิ่มเต็มที่ กับจังหวะที่การออกจากบ้านน้อยลง อยู่บ้านมากขึ้น 5.ได้มีเพื่อนต่างชาติมากขึ้นค่ะ  เห็นได้จากการเล่นเกมส์ หรือการใช้สื่อโซเชียลพูดคุยกับเพื่อนๆ ตอนนี้โลกเราแคบลงด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาและจังหวะดีๆ ที่ทำให้เราได้มีโอกาส และเห็นความสำคัญของการได้ลงมือเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีอย่างจริงจัง”

เป็นที่สังเกตว่า การจัดการศึกษาในรูปแบบบ้านเรียน หลายครอบครัว เลือกที่จะจัดทำแผนการเรียนการสอนและการประเมินผล แบบกลุ่มประสบการณ์ เป็นส่วนใหญ่  

“ใช่ค่ะ ครอบครัวเราก็เลือกทำแผนแบบกลุ่มประสบการณ์ค่ะ เหตุเพราะว่าเราเห็นถึงอิสระในการคิดการเรียนรู้ การได้ปลดปล่อยพลังงานทางสมองของเด็กเรา เรียนรู้จากคำว่าไม่รู้ ด้วยการลงมือทำ โดยไม่ต้องพะวงว่า สิ่งที่ทำลงไปจะต้องถูกตัดสินด้วยคะแนนหรือถูกตีกรอบด้วยการกำหนดว่าอายุเท่านี้ ต้องเรียนเรื่องนี้ แต่เรามีอิสระที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับอายุ วัย เด็กอยากรู้อะไรเราสามารถปรับใช้ทุกองค์ความรู้ของเรา ทุกทรัพยากรที่มีตามบริบทครอบครัวและสังคมรอบด้าน เพื่อให้ลูกได้เรียนได้รู้ตามที่เขาต้องการได้ ส่วนนี้ไม่ใช่ว่า อยากเรียนอะไรแล้วสิ่งนั้นจะมาตั้งอยู่ตรงหน้าเพื่อให้ลูกเราลงมือทำนะคะ บางอย่างบางจังหวะเศรษฐกิจในครัวเรือนก็ไม่ได้เอื้อ สิ่งนี้เป็นโจทย์หนึ่งที่อยู่ในการดำเนินชีวิตเลยค่ะ ให้เขารู้จักวางแผน เช่นอยากเรียนถ่ายภาพ ไม่มีเงินซื้อกล้องใหญ่ๆ ดีๆ เด็กเราต้องฝึกแก้ปัญหาว่า จะทำอย่างไรเพื่อไปถึงจุดหมายได้ ของบ้านเราใช้กล้องธรรมดาถ่ายภาพไปก่อนในช่วงแรก แต่ภาพถ่ายกลับออกมาไม่ธรรมดา คนเห็นภาพถ่ายและแนวคิด ได้พูดได้คุยและเห็นวินัยในการฝึกฝน ตอนนี้เรื่องเงินแทบไม่สำคัญเลย เมื่อมีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนกล้องถ่ายรูปตัวใหญ่ให้ ยิ่งกระตุ้นให้เด็กเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้ รักข้าวของที่ได้มาด้วยศักยภาพตนเอง และค้นพบแนวทาง ความชอบความถนัด ส่วนเรื่องวิชาการ เราก็ไม่ได้ทิ้งนะคะ ซึ่งเด็กเราก็สามารถเลือกสรรเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นทุกความรู้นั้นคือสิ่งที่เขาต้องรู้เพื่อนำไปใช้งาน ทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วหากมองดีๆ เราจะเห็นได้เลยว่า ทุกสาระการเรียนรู้ สอดแทรกอยู่ในทุกช่วงเวลาของการดำเนินชีวิตในทุกๆ วันของเราอยู่แล้วค่ะ”

ชี้ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการศึกษาโฮมสคูลในไทย ยังคงมีอยู่ ควรหาทางออกร่วมกัน

จากคำบอกเล่าประสบการณ์การเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้จัดการบ้านเรียน และในฐานะเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ปกครองบ้านเรียนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องวิธีคิด ระเบียบ นโยบาย กฎหมาย ของบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงเป็นปัญหาและอุปสรรคในการจัดการศึกษาที่ยังไม่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่กันอยู่

พิชชาพา เดชา ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนม่อนภูผาแดง บอกว่า จากประสบการณ์คือการติดต่อประสานงานต่างๆ ค่อนข้างล่าช้า เจ้าหน้าที่ไม่มีความพร้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการทำบ้านเรียน  การให้คำแนะนำด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ จึงค่อนข้างสับสน ยังแนะนำตามรูปแบบที่คุ้นชินยังไม่ค่อยเปิดรับกับรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่น แผนการจัดการศึกษาแบบกลุ่มประสบการณ์ เป็นต้น

ศรีไพร ทักข์อิทธิพร  ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนทักข์อิทธิพร บอกว่า ที่เห็นก็คือเอาหลักสูตรและมาตรฐานของโรงเรียนมาใช้กับบ้านเรียนซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือกซึ่งตนคิดว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายของการศึกษาทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นแผนการเรียน การวัดผล และการออกใบปพ.ที่ไม่ตรงกับแผนการเรียน

เช่นเดียวกับ นวิยา อาริยะ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนอาริยะ เท่าที่ได้รับรู้จากการบอกเล่าและการได้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ในการประชุมชี้แจงและยืนยันแผนการศึกษาแบบกลุ่มประสบการณ์ระหว่างผู้ปกครองเจ้าของแผนกับเจ้าหน้าที่เขตการศึกษาที่รับผิดชอบพื้นที่นั้น ส่วนตัวมีความเห็นว่าทางเจ้าหน้าที่ยังมีความไม่เข้าใจในตัวบทกฎหมายของบ้านเรียนที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างถ่องแท้และคงยึดติดอยู่กับขนบเดิม ระบบเดิมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานตามความเคยชิน จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและไม่เข้าใจกันระหว่างฝ่ายบ้านเรียนกับเจ้าหน้าที่รัฐขึ้น

จุติพร เลิศธนาผล ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนเพลิน PLearn Homeschool ก็บอกว่า จากประสบการณ์เดียวที่มีกับกระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน คือ การยื่นจดแผนการศึกษาบ้านเรียน พบว่า มี พ.ร.บ.ที่จะรับรองบ้านเรียน แต่ในบางประเด็นกฎหมายลูก รวมไปถึงนโยบาย และวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอาจจะไม่ชัดเจนพอ เวลาที่เตรียมตัว ค้นหาข้อมูลกับเวลาที่พบเจ้าหน้าและการปฏิบัติจริง ไม่เป็นไปตามตัวหนังสือ อีกประเด็นซึ่งไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือเปล่า คือเจ้าที่ที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานมีไม่เพียงพอ หรือมีหน้าที่ซ้ำซ้อนหรือเปล่า เวลาติดต่อไปไปจะไม่ว่าง ติดงานอย่างอื่นตลอด แนวโน้มปริมาณบ้านเรียนน่าจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นน่าจะมีการเพิ่มงบประมาณ เพิ่มเจ้าหน้าที่รู้ ที่เข้าใจการศึกษาทางเลือกมากขึ้นนะจะดีมากขึ้น

ในขณะที่ สกาวรัตน์ วงศ์มั่นกิจการ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนฟีนิกซ์-โฟนิค-ฟีน่า-Phenomenon Homeschool บอกว่า มีประเด็นหลากหลายมาก จากการที่ตนเองเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาครอบครัวบ้านเรียน สิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญมากๆ คือ ความเชื่อมั่นในตัวเองก่อน ด้วยระบบสังคมที่ถูกทำให้เข้าใจว่า คนมีความรู้ที่จะสอนคนอื่นได้ คือคนที่เรียนจบและมีวุฒิการศึกษาสูงๆ

“แต่จริงๆ แล้วคนทุกคนมีองค์ความรู้ของตัวเอง และพ่อแม่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นครูของลูกอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องสอนลูกทุกวิชา แต่วิชาหรือความรู้ใดที่เราไม่รู้ เราพาลูกไปแหล่งเรียนรู้ได้ค่ะ เราเชื่อมั่นได้ค่ะว่า ความสุขและความรักที่จะทำ คือการเรียนรู้ที่ดี จะทำให้เกิดการใฝ่เรียนใฝ่รู้ด้วยตัวของเด็กเอง อยากให้ลูกดี เราทำดีให้ลูกดู ลูกเรียนรู้และทำดีต่อๆไป สิ่งดีๆ ก็จะค่อยๆ เติบโตเป็นรากแก้วสำคัญของการดำเนินชีวิตเขาต่อไปได้ อีกส่วนหนึ่งคือ ความเข้าใจในวิถีการเรียนรู้ เข้าใจว่าทุกการดำเนินชีวิต อันนี้หมายรวมทุกภาคส่วนเลยนะคะ พ่อแม่ที่จะทำบ้านเรียนเข้าใจแล้ว ส่วนงานราชการหรือส่วนต่างๆ ของสังคม หากมีความเข้าใจ จะเห็นเลยว่า ทุกๆ สิ่งที่ลูกเราลงมือทำคือการเรียนรู้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเสื้อผ้าสวมใส่ การวิ่งเล่นไปทั่ว การเดินไปร้องเพลงไปของลูก หรือแม้แต่การร้องไห้หรือโวยวายเมื่อไม่พอใจ เหล่านี้คือโอกาสแห่งการเรียนรู้ทั้งนั้น พ่อแม่บ้านเรียนใช้ทุกช่วงจังหวะเป็นพื้นที่การเรียนรู้ การสอนสั่ง การแนะแนวแนะนำได้หมดเลยค่ะ แค่เราต้องเข้าใจ เข้าใจเขาเข้าใจเรา เข้าใจตัวเองตอนที่มีอารมณ์และสามารถจะบอกตัวเองเพื่อหาพื้นที่ผ่อนคลายอารมณ์เพื่อเลือกใช้เหตุผลคุยกับลูก สำรวจตัวเองไปด้วยกันเพื่อหาเหตุและแก้ไขสิ่งที่ทำให้ลูกร้องไห้ไปด้วยกัน อันนี้ทำได้ตั้งแต่เด็กเลยนะคะ ไม่ต้องรอให้โตแล้วค่อยมาคุย แค่ปรับให้เหมาะสมเท่านั้นเอง”

เสนอให้ กศน. กำกับดูแลการศึกษาโฮมสคูล แทน สพฐ. ชี้สอดคล้องเหมาะสมกับการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาตลอดชีวิต

ที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนปัญหาระหว่าง สพฐ.กับผู้ปกครองบ้านเรียน มาเป็นระยะๆ ยังติดขัดเรื่อง มุมมอง แนวคิด นโยบาย การบริหารจัดการและการวัดผลประเมินผล ยังไม่สอดคล้องกัน ยังคงเป็นปัญหาสะสมมาต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวคิด นโยบายของ สพฐ.ยังคิดแบบในกรอบ ในระบบแบบเดิมๆ  จนมีหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ปรับโอนมาให้ทาง กศน.รับผิดชอบงานของบ้านเรียนแทน เพราะแนวคิด ปรัชญาการทำงาน นโยบายของ กศน.นั้นสอดคล้องกับรูปแบบของบ้านเรียน เป็นอย่างมาก เช่น การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาตามอัธยาศรัย การศึกษาทางไกล แม้แต่รูปแบบการวัดผลประเมินผล ก็มีรูปแบบคล้ายๆ กัน อย่างการวัดผลประเมินผล ตามกลุ่มประสบการณ์ และตามช่วงชั้น ฯลฯ

นวิยา อาริยะ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนอาริยะ บอกว่า เห็นด้วยที่ว่าควรโอนมาให้ทางกศน.ดูแลบ้่านเรียน น่าจะเหมาะสมกว่า ด้วยความที่การศึกษาที่จัดโดยครอบครัวแบบบ้านเรียนนั้นมีลักษณะ แนวคิดและปรัชญาที่คล้ายคลึงกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่าง กศน.มากกว่า

พิชชาพา เดชา ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนม่อนภูผาแดง ก็บอกว่า ส่วนตัวมองว่า หากมีหน่วยงานที่มีความรู้ความเข้าใจหรือรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกันเข้ามาดูแลโดยตรงจะดีมาก เห็นด้วยหากจะมีการปรับโอนให้การศึกษาโฮมสคูลมาอยู่ในความรับผิดชอบของ กศน.เพราะรูปแบบการทำงานเป็นการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีความสอดคล้องกันน่าจะช่วยให้การทำงานการประสานงานต่างๆ ง่ายขึ้น

เช่นเดียวกับ ศรีไพร ทักข์อิทธิพร  ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนทักข์อิทธิพร บอกว่า ถ้าย้ายไปแล้วไม่มีปัญหาก็เห็นด้วยอย่างมาก

ในขณะที่ จุติพร เลิศธนาผล ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนเพลิน PLearn Homeschool บอกว่า ประเด็นนี้คงจะตอบได้ไม่ดีนัก เพราะไม่รู้การทำงานของ กศน. เลย แต่ที่รู้อย่างหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ทางราชการก็จะปฏิบัติงานแบบระบบราชการ ในขณะที่บ้านเรียนซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือก ก็อยากจะดำเนินงานในแนวที่เป็นทางเลือกไม่ถูกตีกรอบ เพราะฉะนั้น หน่วยงานที่ดูแลบ้านเรียนควรจะเข้าใจในจุดนี้ด้วย

สกาวรัตน์ วงศ์มั่นกิจการ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนฟีนิกซ์-โฟนิค-ฟีน่า-Phenomenon Homeschool บอกว่า โดยส่วนตัวคิดว่า ปัญหาทุกอย่างมีทางออก แก้ไขได้ แค่หน่วยงานต้องรับฟัง ต้องเปิดพื้นที่และร่วมผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผนในก้าวแรกเลย อย่างการทำคู่มือหรือเอกสารอะไรที่จะนำมาใช้ก็ต้องมาจากความเข้าใจ เช่นจะออกระเบียบอะไรมา เราก็ต้องเข้าใจบริบทและแนวทางของกลุ่มนั้น เพื่อระเบียบหรือข้อปฏิบัติที่ออกมาจะได้ไม่กระทบต่อสิทธิหรือกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ ทำได้อย่างไร ก็คือการเชิญผู้เชี่ยวชาญผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ เข้าร่วมวงหารือวางแผนด้วย แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่า ไม่ร่วมแก้ แต่ยังพยายามแถไปให้ความผิดพ้นตัวพ้นจากสิทธิที่ครอบครัวหรือพ่อแม่ลูกจะทำได้ ยิ่งทำให้คนในหน่วยงานที่เข้าใจและยินดีทำงานให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริงไม่สามารถขยับอะไรได้เท่าที่ควร

“ส่วนเรื่องการปรับสังกัดบ้านเรียน เอาจริงๆ แล้ว หากระบบราชการทำงานด้วยความเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ที่เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน และเปิดพื้นที่ เปิดใจ ยอมรับความแตกต่าง ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายได้ค่ะ”

ย้ำเสนอแนะไปยังศธ. ใส่ใจเข้าใจเรื่องโฮมสคูลให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ปกครอง ในฐานะผู้จัดการศึกษาบ้านเรียน ได้แสดงมุมมองความคิดเห็น ข้อเรียกร้อง เสนอแนะ ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ หรือกรรมาธิการด้านการศึกษา ในสภา โดยได้ชี้ทางออกในการแก้ไขปัญหาในการเรื่องของข้อกฎหมาย นโยบาย การบริหารการจัดการศึกษา รวมทั้งการประเมินผลการเรียนในกลุ่มบ้านเรียน

ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนทักข์อิทธิพร เสนอว่า อยากให้แยกการทำหลักสูตรระหว่างโรงเรียนและบ้านเรียนที่เป็นการศึกษาทางเลือกออกจากกันให้ชัดเจน ให้นำกฎหมายบ้านเรียนตามแนวทางการศึกษาทางเลือกสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ มาใช้ให้เหมือนกันทุกเขตทั่วประเทศทั้งการเขียนแผน การวัดและประเมินผลหรือการออกใบปพ.1../ฉ.

ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนเพลิน ก็ได้เสนอเอาไว้ว่า กระทรวงและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับนโยบายจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติคือข้าราชการชั้นผู้น้อยและผู้ปกครองรวมไปถึงผู้จัดการบ้านเรียน หรือไม่อย่างนั้นก็จะต้องมาลงพื้นที่ดูสภาพของผู้เรียนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่บนหอคอยงาช้างแล้วชี้นิ้วสั่ง ฝันให้การศึกษาในประเทศเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ในขณะที่สภาพความเป็นจริงในพื้นที่ไม่ได้เป็นสักเศษเสี้ยวกระผีกของที่พวกเขาฝันกันเลย

เช่นเดียวกับ สกาวรัตน์ วงศ์มั่นกิจการ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนฟีนิกซ์ฯ และในฐานะที่ปรึกษาบ้านเรียนกรรมการศูนย์ประสานสิทธิ์การศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย ก็ได้ออกมาเสนอแนะเอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า เรื่องนี้อย่างที่บอกเลย หัวใจสำคัญคือการทำงานอย่างมีส่วนร่วม การทำงานอย่างโปร่งใส เปิดใจเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปร่วมวงหารือในการทำงานตั้งแต่ก้าวแรก เพื่ออย่างน้อย เราจะได้รู้ว่า สิ่งที่เป็นระเบียบออกมา ได้เกิดมาจากคนที่ต้องนำไปใช้จริง โดยผู้ที่จะถูกเชิญเข้าไปร่วมวงทำงานด้วยกันควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ เห็นภาพใหญ่ภาพรวมและปัญหาต่างๆ มาพอประมาณ ไม่ใช่จะเชิญใครเข้าไปได้นะ หรือในลักษณะที่เข้าไปร่วมวงทำงานก็ต้องเป็นวงคุยหารือตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ออกระเบียบมาแล้วให้ตอบว่าชอบหรือไม่ชอบและไม่รู้เลยว่า ข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็นของเราจะกระจ่างใจในวงผู้ออกระเบียบนั้นจริงหรือไม่ หากไม่เข้าใจ ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอแนะของเราอาจจะถูกปัดทิ้งไป ระเบียบที่ออกมาใช้ก็ไม่สามารถนำมาใช้งานเพื่อการพัฒนาได้อย่างแท้จริง รวมถึงการวัดและประเมินผลบ้านเรียน ยิ่งควรผลักดันการทำงานอย่างมีส่วนร่วม

“การทำงานที่ทางราชการเปิดใจยอมรับว่า การจัดการศึกษารายบุคคลนั้น มีความหลากหลาย ไม่ควรถูกตีกรอบเพียงเพื่อการทำงานที่ง่ายของเจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียว ให้การวัดและประเมินผลเป็นไปเพื่อการพัฒนาผู้เรียน และส่งเสริมศักยภาพรายบุคคลได้อย่างเหมาะสม ไม่ควรถูกตัดสินด้วยประสบการณ์หรือแนวคิดของใครเพียงคนเดียวกลุ่มเดียว ระเบียบหรือหลักการมีอยู่แล้วค่ะ ครอบครัวสามารถร่วมวงเสนอแนวทางการทำงานเพื่อการจัดการศึกษาร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอย่างเข้าใจได้ หากมีพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจ และยินดีเปิดใจเพื่อร่วมเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน จะสามารถร่วมกันดูแลและสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ สู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพและเต็มศักยภาพได้ค่ะ”

ข้อมูลประกอบ

  • การจัดการศึกษาโดยครอบครัวในสังคมไทย (Home School in Thai Society),ดร.ศรีวรรณ  มีคุณ,วารสารศึกษาศาสตร์ ปีที่ 14 ฉบับที่ี 2 เดือนพฤศจกายน 2545-มีนาคม 2546
  • โฮมสคูล "Home school" อีกทางเลือกของการเรียน,KomChadLuekOnline, 20 ก.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท