Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การทำสงครามยึดยูเครนของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ไม่ได้มาจากความต้องการเพียงประโยชน์เฉพาะทางเศรษฐกิจการเมืองเท่านั้น หากแต่เป็นการตกผลึกของระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสังคมรัสเซียเองด้วย ซึ่งได้ก่อให้เกิดการแปรรูปรัฐมาสู่รัฐอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จภายใต้ความคิดชาตินิยม (authoritarian nationalism)

การก่อตัวของความรู้สึกนึกคิดของสังคมที่เปลี่ยนรูปรัฐรัสเซียมาสู่รัฐอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จภายใต้ชาตินิยมเริ่มปรากฏชัดขึ้นในเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองของรัสเซียตั้งแต่นโยบายเปเรสตรอยก้าและกราสนอสต์ของอดีตประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ ที่ได้ทำให้สิบเอ็ดสาธารณรัฐได้โอกาสสร้างอำนาจต่อรองเพื่อหลุดพ้นจากการควบคุมของรัฐบาลสหภาพโซเวียต อันนำมาสู่ความพยายามรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 2534 ของกลุ่มทหารและชนชั้นในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งล้มเหลว และบอริส เยลต์ซิน ผู้นำการต่อต้านรัฐประหารซึ่งได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากกอร์บาชอฟก็ไม่สามารถที่จะประคับประคองเศรษฐกิจของรัสเซียให้กระเตื้องขึ้นมาได้

ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและการเมืองนับแต่นั้นมา ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางความคิดของหลายกลุ่มในรัสเซีย ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มปัญญาชน กลุ่มศาสนารัสเซียออร์โธดอกซ์ กลุ่มสื่อสารมวลชนที่โหยหาอดีตของความเป็นชาติพันธ์สลาฟ กลุ่มคนเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นแผงของชนชั้นนำในด้านต่างๆ ของสังคมรัสเซีย ทั้งทางความคิด ความเชื่อ และเศรษฐกิจ ลักษณะร่วมกันที่สำคัญของแผงชนชั้นนำกลุ่มนี้ได้แก่ การต่อต้านประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งรวมถึงการต่อต้านความเป็น/วัฒนธรรมตะวันตกด้วย โดยที่รากฐานทางความคิดด้านนี้ก็คือ่ความเชื่อที่ว่าความคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นความคิดแบบปัจเจกชนเสรีนิยม ซึ่งจะทำลายรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมรัสเซียที่ยึดถือความรู้สึกร่วมกันของกลุ่มชน (Collective mentality)

ล้กษณะร่วมกันประการที่สอง ได้แก่ ความเชื่อเรื่อง รัฐเข้มแข็งปกครองพลเมือง โดยมีกรอบการอธิบายว่ารัฐเข้มแข็งเท่านั้นที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขสงบได้ โดยจะหยิบยกความปั่นป่วนในแต่ละช่วงของสังคมที่รัฐไม่เข้มแข็งมาเป็นตัวอย่างประกอบ โดยเฉพาะในยุคของเยลต์ซิน และเน้น “รัฐ” ที่เชื่อว่าเป็นองค์อธิปัตย์สูงสุดจะดูแลทุกคนในสังคมได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการร่วมกับของผู้คน อันเป็นกรอบความคิดหลักที่ปฏิเสธประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง และที่สำคัญ รัฐรัสเซียที่เข้มแข็งได้เคยทำให้จักรวรรดิรัสเซียยิ่งใหญ่ในช่วงเวลาอดีต

ลักษณะร่วมกันประการที่สาม ได้แก่ ความรู้สึกโหยหาอดีตของความเป็นชาติพันธ์ุสลาฟ การสร้างความรู้สึกเชื่อมต่อผู้คนให้ได้มากและกว้างขวางที่สุดให้ยอมรับในอำนาจรัฐได้ทำให้เกิดการยกย่องความเป็นลักษณะพิเศษของชาติพันธ์ุสลาฟที่เป็นชาวบ้านทั่วไป (narod) แต่ก็ต้องเป็นสลาฟรัสเซียเท่านั้น ยูเครนไม่ถูกจัดอยู่ในความเป็นเราของสลาฟรัสเซีย กลุ่มนี้ขยายตัวอย่างมากจนถูกเรียกไปในทำนองว่าพวกคลั่งไคล้ความเป็นสลาฟ (Slavophiles)

กลุ่มศาสนารัสเซียออร์โธดอกซ์ ซึ่งแม้ได้รับการฟื้นคืนชีพมาจากเคลื่อนไหวของกอร์บาชอฟและเยลล์ซินก็ตาม แต่รากฐานของศาสนารัสเซียออร์โธดอกซ์เป็นศาสนาที่รับใช้รัฐอำนาจนิยมมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ดังนั้นกลุ่มศาสนารัสเซียออร์โธดอกซ์จึงเป็นหนึ่งเดียวอย่างแยกไม่ออกจากรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จชาตินิยม และได้สนับสนุนรัฐในทุกวิถีทางตลอดในช่วงที่ผ่านแม้ในสงครามยูเครนนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแสดงตนในเชิงปฏิเสธการเรียกร้องสันติภาพของศาสนาคาทอลิก วาติกัน

การเคลื่อนไหวทางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดร่วมกันนี้ ได้ให้กระแสของการรื้อฟื้น “ความทรงจำ” (Pamyat แปลว่า ความทรงจำ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เริ่มในกลุ่มปัญญาชนก่อนและขยายออกไปอย่างกว้างขวางสู่นักสื่อสารมวลชน นักวรรณกรรม และนักบวช) ความทรงจำจะเน้นถึงอดีตที่มีคุณค่าของสังคมรัสเซีย พร้อมกับอดีตของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และย้ำว่ากำลังถูกบั่นเซาะทำลายจาก “ตะวันตก” และ “ภายนอก” 

ใครที่ไม่ยอมรับรัฐเผด็จการอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จและชาตินิยมรัสเซียก็จะถูกตราหน้าทันที่ว่าเป็นคนขายชาติ ดังที่ปูตินได้พูดถึงคนขายชาติอยู่เป็นระยะ (แหม เหมือนชนชั้นนำไทยเลยที่ชอบใช้คำว่า “คนชังชาติ ฮา) และคนรัสเซียทั่วไปก็จะถูกทำให้มีความเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ปกครองเขา พวกเขาอยู่ตรงกลางๆ (การสัมภาษณ์คนในรัสเซียประเด็นต่างๆ หากถามเรื่องการเมือง เรื่องสงครามยูเครน คนทั่วไปจะหลีกเลี่ยงการตอบ ดูได้จากเวปยูทูป 1420)

ความเปลี่ยนแปลงของโลกหลังสงครามเย็นยุติที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วน ไม่แน่นอน ขณะเดียวกันในแต่ละประเทศก็เกิดการเถลิงอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้บาดลึกมากขึ้น คนจำนวนมากในหลายรัฐหันกลับไปดึงเอาความคิดชาตินิยมและการสร้างรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นมาโดยหวังว่าชาติและรัฐที่จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จนั้นจะช่วยปัดเป่าปัญหาต่างๆ ลงไปได้ การขึ้นมาต่อรองอำนาจมากขึ้นของกลุ่มฝ่ายขวาในทุกร้ฐของโลกใบนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน

ความหวังนี้ดำรงอยู่ แต่ในความเป็นจริง การครองอำนาจของรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบชาตินิยมนั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ แล้ว กลับจะทำให้สังคมนั้นๆ ประสบปัญหามากยิ่งขึ้น และจะชักจูงให้สังคมก้าวไปสู่หุบเหวแห่งหายนะมากขึ้นตามไปด้วย กรณีของรัสเซียจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนรูปรัฐมาสู่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบชาตินิยม ได้ทำให้เกิดฆาตกรรมสงครามขึ้น และคนในสังคมรัสเซียจะรู้สีกอย่างไรภายหลังเมื่อรู้ถึงฆาตกรรมสงครามนี้

นอกจากพลังการต่อรองในระดับนานาชาติแล้ว ปัจจัยที่พอจะยับยั้งปูตินและความคิดที่อยู่ภายในสังคมรัสเซียได้บ้าง ก็คือ พลเมืองของรัสเซียเอง ที่จะต้องหาทางส่งเสียงผ่านอำนาจกดทับนี้ให้มากขึ้น หนักแน่นขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้ว โลกทั้งหมดก็จะตกอยู่ในความลำบากยากเข็ญอย่างแน่นอน

หากมองสังคมไทย เราก็จะเห็นคล้ายๆ กับที่ปรากฏทั่วโลก กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เน้นอำนาจรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จและชาตินิยมยังคงครองอำนาจเหนือสังคมอยู่และได้ก่อปัญหาความขัดแย้งทั่วทุกหัวระแหง เพียงแต่กลุ่มนี้ยังไม่สามารถครองอำนาจรัฐเด็ดขาดได้ จึงทำให้แต่เพียงรังแกประชาชนคนธรรมดาเป็นปัจเจกบุคคลเท่านั้น สังคมไทยก็คงจะต้องหาทางยุติพวกเขาให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อที่จะให้สังคมไทยได้มีพลังในการสร้าง Software เอ้ย ไม่ใช่ SoftPower กันได้อย่างเสรี

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนได้ความคิดมาจาก Judith Devlin หนังสือเรื่อง Slavophiles and Commissars : Enemies of Democracy in Modern Russia และวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Timothy Michael Spence เรื่อง The Development of Russian nationalism under Gorbachev (1985-91) (School of Slavonic and East European Studies University of London) ขอขอบคุณไว้ ณ.ที่นี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net