สุรพศ ทวีศักดิ์: อภิสิทธิ์ทางศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในประวัติศาสตร์ยุคก่อนสมัยใหม่ ศาสนาหลักๆ อย่างฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม ต่างพยายามที่จะมี “อภิสิทธิ์ทางศาสนา” (religious privileges) เหนือศาสนาอื่นๆ และความเชื่ออื่นๆ เสมอ 

ความพยายามมีอภิสิทธิ์ทางศาสนาอย่างแรกเลย คือความพยามจะเป็นศาสนาของรัฐ เห็นได้จากการเผยแพร่ศาสนาโดยพระศาสดาและสาวก นอกจากจะเป็นการนำเสนอว่าศาสนาของตนเป็น “ศาสนาที่แท้จริง” มากว่า เป็นทางพ้นทุกข์ และทางสู่สวรรค์ที่ถูกต้องกว่า เพื่อเปลี่ยนความเชื่อของผู้คนที่นับถือศาสนาพหุเทวนิยม ผีสาง เทวดาต่างๆ ให้หันมานับถือศาสนาของตนแล้ว ยังพยายามที่จะเป็นศาสนาของรัฐ ด้วยการทำให้ผู้ปกครองหันมานับถือศาสนาที่แท้นั้นๆ และใช้ศาสนานั้นๆ เป็นหลักการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย หรือจัดระเบียบสังคม ทำให้เกิด “รัฐศาสนา” นั้นๆ ขึ้นมา นี่คือวิธีการหรือ “ประเพณี” ของการทำให้ศาสนาหลักๆ มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนา และความเชื่ออื่นๆ ในรัฐหรือสังคมต่างๆ ในยุคก่อนสมัยใหม่

ดังที่เราทราบกันดี ศาสนาหลักๆ ดำรงอยู่ได้ยาวนานหลายพันปี ส่วนหนึ่งเพราะกษัตริย์อุปถัมภ์และสนับสนุนการเผยแพร่ศาสนา หรือบางทีกษัตริย์ก็เป็นนักบวชหรือผู้นำศาสนาเสียเอง และยังมีการใช้อำนาจรัฐขจัดศาสนาอื่นๆ นิกายอื่นๆ และความเชื่ออื่นๆ ที่ถูกตีตราว่าเป็น “ความเชื่อนอกรีต” อีกด้วย และบางครั้งการเผยแพร่ศาสนาก็กระทำด้วยสงครามทำลายศาสนาอื่นๆ และบังคับเปลี่ยนคนศาสนาอื่นๆ ให้หันมานับถือศาสนาของตน ศาสนาจึงไม่ใช่สิ่งที่มีแต่ “ด้านดี” เพียงด้านเดียวดังที่โฆษณาชวนเชื่อ 

นอกจากนั้น อภิสิทธิ์ทางศาสนายังหมายถึง อภิสิทธิ์ด้าน “อัตลักษณ์ทางศาสนา” (religious identities) ด้วย เช่น อภิสิทธิ์ด้านสถานะและอำนาจของบรรดาผู้นำศาสนา และองค์กรศาสนา หรือศาสนจักรต่างๆ เช่น ผู้นำทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสดา นักบวช หรือกึ่งนักบวช นอกเหนือจากพวกเขาจะถูกโปรโมทในฐานะเป็น “อภิมนุษย์” หรือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ความคิด ความเชื่อแล้ว พวกเขายังเป็นผู้นำทางการเมืองและกลุ่มศาสนานั้นๆ ด้วยในตัว มีฐานันดรศักดิ์หรือศักดินาของพวกนักบวช ผู้นำศาสนา พวกเขามีอำนาจเป็นผู้สวมมงกุฎให้กษัตริย์ หรือผู้ประกอบพิธีกรรมสถาปนากษัตริย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายศาสนา มีตำแหน่งและอำนาจวินิจฉัยในศาลศาสนา เป็นพระราชาคณะหรือมีศักดินาพระในระบบศักดินามายาวนาน 

การเกิดปรากฏการณ์ของ “การเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง” (political secularization) ในยุคสมัยใหม่ คือปรากฏการณ์ของการยกเลิกอภิสิทธิ์ทางศาสนาใดๆ ด้วยการไม่เอาหลักความเชื่อของศาสนานั้นๆ มาใช้เป็นหลักการปกครอง (เช่น ไม่มีการปกครองโดยธรรม โดยอำนาจเทวสิทธิ์และอื่นๆ) และการบัญญัติกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายศาสนา, ศาลศาสนา ยกเลิกศาสนาของรัฐหรือศาสนาประจำชาติ ยกเลิก “อำนาจเทวสิทธิ์/อำนาจปกครองโดยธรรม” ของระบบกษัตริย์ที่เคยมีในยุคก่อนสมัยใหม่ เหล่านี้คือการ “เอาศาสนาหรือหลักความเชื่อทางศาสนาออกไปจากการปกครอง” และ “แยกศาสนจักรออกจากโครงสร้างอำนาจรัฐ” ด้วยการเปลี่ยนศาสนจักรที่เคยมีอำนาจรัฐให้เป็นเอกชน ยกเลิกตำแหน่งทางการเมืองของพวกนักบวชหรือผู้นำศาสนาทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม ในระบบการปกครองสมัยใหม่ของตะวันตกยังมีปัญหาว่าอภิสิทธิ์ทางศาสนาในรัฐไม่ได้หมดไปจริง จึงมีการตั้งคำถาม วิจารณ์ และเรียกร้องให้ยกเลิก “พิธีสาบานตนต่อพระเจ้า” ในการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือประมุขของรัฐ เพราะถือว่าขัดหลัก “ความเป็นกลางทางศาสนา” ของรัฐโลกวิสัย ที่ถือว่าผู้นำประเทศหรือประมุขของรัฐต้องไม่มีสถานะเป็น “ตัวแทน” ของศาสนาใดๆ หรือต้องไม่มีระเบียบปฏิบัติเสมือนผู้นำหรือประมุขของรัฐเป็นตัวแทนของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรถูกเชิดชูให้โดดเด่นเป็นพิเศษในพื้นที่สาธารณะทางการเมือง

ในประเทศอังกฤษ สมาคมโลกวิสัยแห่งชาติ (National Secular Society) รณรงค์เรียกร้องให้แยกศาสนาจากรัฐมากว่า 100 ปี เช่น เรียกร้องให้ยกเลิกศาสนจักรนิกายอังกฤษ (Church of England), ศาสนจักรเพรสไบทีเรียนแห่งสกอตแลนด์ (Presbyterian Church of Scotland) อันเป็นศาสนาทางราชการ ยกเลิกตำแหน่งบิชอปในสภาขุนนางหรือสภาสูง ยกเลิกพิธีสวดขอพรพระเจ้าอันเป็นพิธีทางการอย่างหนึ่งของรัฐ ซึ่งหมายถึงการยกเลิกอภิสิทธิ์ของศาสนานิกายนี้ และยกเลิกตำแหน่งประมุขของนิกายนี้ของกษัตริย์หรือราชินีอังกฤษด้วย เพราะตำแหน่งประมุขของรัฐไม่ควรเป็นเป็นตำแหน่งตัวแทนของศาสนาใดๆ ที่ขัดกับหลักความเป็นกลางทางศาสนาและความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา 

ถ้ายกเลิกได้ ผลที่ตามมาก็คือ ศาสนจักรจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการปกครองอีกต่อไป แต่ประมุขของรัฐและรัฐบาลก็ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนในการบริหารงานของศาสนจักรได้ ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นอิสระจากกัน กล่าวคือ ฝ่ายศาสนาไม่มีอภิสิทธิ์ใช้อำนาจรัฐสนับสนุนกิจการทางศาสนาของตน หรือไม่มีสิทธิ์ยุ่งเกี่ยวกับกิจการปกครองของรัฐ และรัฐก็ไม่สามารถใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ สมาคมโลกวิสัยฯ เชื่อว่า การยกเลิกอภิสิทธิ์ทางศาสนาดังกล่าว จะทำให้การปกครองของอังกฤษเป็น “ประชาธิปไตยแบบโลกวิสัยที่แท้จริง” (truly a secular democracy) 

ดังนั้น เวลาเราพูดถึง “การเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง” มันไม่ใช่เรื่องยากเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะเข้าใจ มันคือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโครงสร้าง เป็นเรื่องของการจัดโครงสร้างอำนาจรัฐ การบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ การกำหนดบทบาทหน้าที่ของรัฐหรือรัฐบาล, หน่วยงานราชการต่างๆ และบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐให้ “เป็นกลางทางศาสนา/ความเชื่อที่ไม่ศาสนา” ที่จำเป็นต้องเอาศาสนาหรือความเชื่อทางศาสนา ศาสนจักร, องค์กรศาสนา, ตำแหน่งนักบวชหรือผู้นำทางศาสนาออกไปจากโครงสร้างอำนาจรัฐ ให้ทุกสิ่งเกี่ยวกับศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล หรือเป็นเรื่องของเอกชนทั้งหมด 

พูดอีกอย่างคือ รัฐไม่อุปถัมภ์หรือส่งเสริมศาสนาใดๆ จึงทำให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และองค์กรศาสนา, นักบวชหรือผู้นำศาสนาก็ไม่สามารถใช้การเมืองหรืออำนาจรัฐสนับสนุนกิจการทางศาสนาของตน ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีอภิสิทธิ์ในองค์กรศาสนา และไม่มีนักบวชหรือผู้นำศาสนามีอภิสิทธิ์เข้าไปดำรงตำแหน่งสาธารณะทางการเมือง

ส่วน “การเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม” (social secularization) ยังเป็นขบวนการทางสังคมวิทยาที่ดำเนินต่อไป แม้ยุคสมัยใหม่จะแยกศาสนาจากรัฐในโครงสร้างทางการเมืองแล้ว โดยสังคมโลกวิสัยยังคงเฝ้าระหวังอภิสิทธิ์ทางศาสนาที่อาจกระทบต่อเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในลักษณะต่างๆ ได้ เช่น.-

1. อภิสิทธิ์จากข้ออ้างที่ว่า จะต้องให้อำนาจผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ชี้ขาดความถูก-ผิดในเรื่องความเชื่อและอัตลักษณ์ทางศาสนา (แต่สังคมโลกวิสัยถือว่า การตีความเรื่องความเชื่อหรืออัตลักษณ์ทางศาสนาเป็นเสรีภาพที่เท่าเทียมของปัจเจกบุคคลทั้งหลาย) 

2. อภิสิทธิ์จากข้ออ้างที่ว่า กิจกรรมทางศาสนาและการเผยแพร่ศาสนาใดศาสนาหนี่งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐหรือถูกยกให้มีสถานะโดดเด่นเป็นพิเศษในพื้นที่สาธารณะ (แต่สังคมโลกวิสัยถือว่ารัฐเป็นกลางทางศาสนา ไม่สนับสนุนศาสนาใดๆ เป็นพิเศษ)

2. อภิสิทธิ์จากข้ออ้างที่ว่า สมาชิกกลุ่มศาสนาของคุณหรือกลุ่มศาสนาอื่นๆ ควรปฏิบัติตามหรือยอมรับอย่างเป็นพิเศษต่อกฎหรือประเพณีทางศาสนาของกลุ่มคุณ (แต่สังคมโลกวิสัยไม่ยอมรับอำนาจของกฎหรือประเพณีของกลุ่มศาสนาใดๆ ที่จะใช้บังคับกับกลุ่มคนศาสนาอื่นๆ แม้แต่กลุ่มศาสนาเดียวกันก็ไม่มีสิทธิ์ใช้กฎศาสนาเหนือเสรีภาพปัจเจกบุคคลได้ เช่น หากปัจเจกบุคคลต้องการเปลี่ยนศาสนา เขาย่อมมีเสรีภาพจะเปลี่ยนได้ และกฎทางศาสนาต้องไม่ละเมิดเสรีภาพ และความเสมอภาคทางเพศ เป็นต้น)

3. อภิสิทธิ์จากข้ออ้างที่ว่า ศาสนาบางศาสนามีลักษณะพิเศษต่างจากศาสนาอื่นๆ ควรเป็นศาสนาที่สามารถใช้หลักคำสอนในการบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปภายในกลุ่มศาสนาของตน และสังคมวงกว้างได้ (แต่สังคมโลกวิสัยไม่ยอมรับให้มีกฎหมายศาสนา ศาลศาสนาที่ใช้เฉพาะกลุ่มศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือใช้เป็นการทั่วไปกับพลเมืองทุกคน) 

4. อภิสิทธิ์จากข้ออ้างที่ว่า ความเชื่อหรืออัตลักษณ์ทางศาสนาใดๆ ควรเป็นที่มาของ “ข้อยกเว้นต่างๆ” หรือให้ “ทางเลือกพิเศษ” ที่เป็นเหตุให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือนโยบายที่ใช้เป็นการทั่วไปกับพลเมืองทุกคน (แต่สังคมโลกวิสัยไม่ยอมรับแนวทางการปฏิบัติที่ทำให้เกิดการ “ได้เปรียบ/เสียเปรียบ” เพราะความเชื่อและอัตลักษณ์ทางศาสนาใดๆ)

5. อภิสิทธิ์จากข้ออ้างที่ว่า ผู้มีสถานะหรือตำแหน่งทางศาสนาสูงกว่า (เช่น ชุมชนหรือผู้นำศาสนาทั้งหลาย) คือผู้มีความสามารถพิเศษในการเป็นตัวแทนของกลุ่มหรือสังคมของพวกเขา (แต่สังคมโลกวิสัยไม่ยอมรับสถานะหรือตำแหน่งที่เป็นตัวแทนความเชื่อหรือโลกทัศน์ใดๆ เพราะถือว่าความเชื่อหรือโลกทัศน์ต่างๆ เป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล)

6. อภิสิทธิ์จากข้ออ้างที่ว่า มุมมองทางศาสนาของผู้ใหญ่ควรอยู่เหนือความเชื่ออิสระใดๆ ของเด็ก หรือสิทธิต่างๆ ของเด็ก (แต่สังคมโลกวิสัยถือว่า เสรีภาพแห่งมโนธรรม ความคิดอิสระและสิทธิเด็กควรได้รับการคุ้มครองจากอำนาจครอบงำและการบังคับยัดเยียดความเชื่อใดๆ) 

7. อภิสิทธิ์จากข้ออ้างที่ว่า การวิจารณ์ความเชื่อหรืออัตลักษณ์ทางศาสนาใดๆ ควรมีข้อห้ามในทางสังคมและกฎหมาย (แต่สังคมโลกวิสัยถือว่าการวิจารณ์ศาสนาเป็นเสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพในการพูด การแสดงออก และปฏิเสธกฎหมายหมิ่นศาสนา) 

เมื่อนำอภิสิทธิ์ทางศาสนาด้านต่างๆ ดังกล่าวมาวิเคราะห์สังคมไทยที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ จะพบว่าสังคมเรามีอภิสิทธิ์ทางศาสนาในด้านต่างๆ อยู่มาก ทั้งที่ปรากฏอยู่ในสถานะทางศาสนาของประมุขของรัฐในรัฐธรรมนูฐที่กำหนดให้กษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ หลักการปกครองโดยธรรม รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนา รัฐจัดงบประมาณให้องค์กรศาสนาของรัฐ การมีกฎหมายเฉพาะในทางศาสนา เช่น กฎหมายสงฆ์ กฎหมายอิสลาม ระบบฐานันดรศักดิ์ของนักบวช ผู้นำศาสนา การบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น

 

ที่มาภาพ: www.khaosod.co.th/newspaper-column/amulets/news_3268156

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท