Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้วงจรที่ผลิตซ้ำ สร้างอำนาจและความมั่งคั่งให้กับชนชั้นนำเพียงหยิบมือเดียวของประเทศหรือคนกลุ่ม 1 % โดยที่คนส่วนใหญ่อีก 99 % ซึ่งเป็นคนทำงานถูกจำกัดลิดลอนสิทธิ เสรีภาพ ไร้อำนาจต่อรอง ทำให้ถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ และได้รับส่วนแบ่งจากการทำงานอย่างไม่เป็นธรรม จนเกิดเป็นสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ปรากฏการณ์นี้เป็นผลมาจากการที่เราตกอยู่ภายใต้วัฏจักรที่เรียกว่า “วงจรอุบาทว์แห่งความเหลื่อมล้ำ”


1 ความเหลื่อมล้ำในสังคมและการยอมจำนน

วงจรอุบาทว์นี้เริ่มต้นจากการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำทางความคิดแบบอุปถัมภ์หรือเจ้าขุนมูลนายที่เป็นมรดกตกทอดมาจากสังคมศักดินาโบราณที่พร่ำบอกให้คนส่วนใหญ่ยอมรับและจำนนกับความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคกันของผู้คนในสังคมว่าเป็นเรื่องปกติ กรอบคิดนี้อธิบายว่าคนบางกลุ่มสมควรมีอำนาจและได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ในสังคมด้วยเหตุที่พวกเขามีชาติกำเนิดในตระกูลที่สูงส่ง หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี หรือมีสถานภาพทางสังคมและตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูง คนเพียงหยิบมือเดียวพวกนี้สมควรที่จะได้รับความเคารพนับถือและมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่นๆ พวกเขาสามารถสะสมความมั่งคั่งสร้างความร่ำรวยจนเป็นมหาเศรษฐีติดระดับโลก การผูกขาดกิจการต่างๆ ไว้ในกำมือของพวกตน การเข้าควบคุมทรัพยากร ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศไว้กับพวกตน ขณะที่คนส่วนใหญ่ยากไร้จนเกิดเป็นความเหลี่อมล้ำอย่างชัดเจนถือเป็นเรื่องธรรมดา และความเหลี่อมล้ำนี้ได้ทำให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองเหนือรัฐและคนอื่นๆ ในประเทศ


2 สถาปนา “รัฐบาลอำนาจนิยม” “ทุนนิยมพวกพ้อง”

อำนาจและความมั่งคั่งอันล้นฟ้าของชนชั้นนำเพียงหยิบมือเมื่อผนวกเข้ากับการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยตกอยู่ภายใต้กรอบคิด “อุปถัมภ์” ได้หล่อหลอมให้เกิดเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “อำนาจนิยม” ขึ้นในสังคมไทย ชนชั้นนำกลุ่มน้อยในสังคมประสบความสำเร็จในการทำให้คนส่วนใหญ่ยินยอมมอบอำนาจทางการเมืองให้กับคนส่วนน้อย มีการพยายามสร้างภาพให้เห็นว่า “ประชาธิปไตย” แบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีสิทธิมีเสียงในการแสดงออกเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย แล้วยัดเยียดระบบการเมืองแบบที่พวกเขาเรียกมันว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่สงวนอำนาจไว้กับคนส่วนน้อย กีดกันคนส่วนใหญ่ออกจาการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจทางการเมืองมาให้กับประชาชน จนคนไทยจำนวนมากหลงเชื่อ ไม่มั่นใจและเชื่อมั่นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เราจึงได้ยินเสียงเรียกร้องขอ “นายกฯพระราชทาน” หรือเกิดปรากฏการณ์การออกมาเป่านกหวีด กวักมือเรียก“อัศวินขี่ม้าขาว” ให้ออกมาแก้ปัญหา จนนำไปสู่การทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในประเทศไทย

นี่คือสาเหตุที่ทำให้ชนชั้นนำเพียงหยิบมือเดียวสามารถสถาปนาระบอบการเมืองการปกครองแบบอำนาจนิยมและทุนนิยมพวกพ้อง(Crony Capitalism) ขึ้นมาบริหารประเทศ โดยผ่านการรัฐประหารบ้าง กลไกการเลือกตั้งบ้าง โดยที่กลุ่มคน 1 % ใช้ความได้เปรียบจากความเหลื่อมล้ำที่ตนเองมีจนสามารถเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลครอบงำเหนือพรรคการเมือง กระบวนการเลือกตั้ง และกลไกต่างๆของรัฐ จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่พวกตนสามารถเข้าไปมีอิทธิพลกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองได้


3 การผลิตซ้ำกรอบคิด “อุปถัมภ์”

สิ่งที่รัฐบาลอำนาจนิยมหรือรัฐบาลทุนนิยมพวกพ้อง (ที่ล้วนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย)ทุกรัฐบาลทำเหมือนๆ กันก็คือการผลิตซ้ำ ตอกย้ำชุดความคิดแบบ “อุปถัมภ์นิยม” เพื่อให้ยังคงครอบงำเหนือผู้คนส่วนใหญ่ของสังคมเพื่อให้ยอมรับ ยอมจำนนต่อความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของผู้คนว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยอย่างมั่นคงสถาพรต่อไป เพื่อลดกระแสต่อต้านจากคนส่วนใหญ่ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและเพื่อที่พวกตนจะได้เสวยสุข สะสมความมั่งคั่ง อำนาจและความได้เปรียบของพวกตนต่อไป จากนั้นก็ใช้อำนาจรัฐกำหนดนโยบาย ออกกฎหมาย สร้างมาตรการ กลไกต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องของกลุ่มคน 1 % จนนำไปสู่การผูกขาดในกิจการต่างๆ ไว้ในกำมือของคนเพียงไม่กี่ตระกูล เกิดสภาวะที่เรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ขยายความเหลื่อมล้ำอย่างไม่รู้จบ

กลุ่มคน 1 % สามารถครอบงำทางความนึกคิดของผู้คนในสังคมด้วยกรอบคิดแบบ “อุปถัมภ์” หรือ “เจ้าขุนมูลนาย” “ไพร่ฟ้า-ข้าไท” ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากสังคมศักดินาโบราณ แม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชจะถูกโค่นล้มลงตั้งแต่ปี 2475 แต่กรอบคิดนี้ยังไม่ได้ถูกทำลายลง แต่กลับมีการผลิตซ้ำเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของชนชั้นนำกลุ่มน้อยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่สามารถถูกปลูกฝังและหยั่งรากลึกในสังคมไทยได้ แม้ประชาชนจะได้รับชัยชนะการต่อสู้กับฝ่ายอำนาจนิยมหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะ 24 มิถุนายน 2475, ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภา 2535 แต่กระบวนการให้การศึกษาทางการเมืองแบบที่เรียกว่า Civic Education เพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตยที่ตื่นรู้ไม่สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบจนสามารถเบียดขับวัฒนธรรมศักดินาออกไปได้

กรอบคิดแบบ “อุปถัมภ์” นี้ได้หล่อหลอมทำให้คนส่วนใหญ่หลงเชื่อ ยอมรับและยอมจำนนในความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันของผู้คน ทั้งๆ ที่ความเชื่อชนิดนี้ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องเป็นตกเป็นผู้เสียประโยชน์ ภายใต้กรอบคิดนี้ความไม่เสมอภาคทั้งหลายที่ดำรงอยู่ในสังคมไม่ว่าจะเป็นผลมาจากการถือกำเนิดในชาติตระกูลที่แตกต่าง ฐานะทางเศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่แต่ละคนมีแตกต่างกันนั้น ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย คนที่อยู่ในสถานภาพที่สูงกว่าสมควรได้รับการเคารพนับถือ


4 รับเชื้ออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแบบ “ตลาดเสรี”

ชนชั้นนำไทยที่เข้ากุมอำนาจรัฐได้พากันสมาทานรับเชื่ออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแบบ “ตลาดเสรี” ที่เน้นการแข่งขันเสรี ให้กลไกตลาดทำงาน โดยรัฐไม่เข้าแทรกแซงมาเป็นกรอบในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ที่สอดรับกับจริตของชนชั้นนำไทยที่ต้องการสะสมความมั่งคั่งอย่างไร้ขีดจำกัดและรักษาความเหลื่อมล้ำและความได้เปรียบของพวกตนไว้

ย้อนไปเมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประเทศไทยได้เดินทางมาสู่ทางสามแพร่งว่าจะเลือกเดินไปทางไหน คณะราษฎรผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มอบหมายให้ปรีดี พนมยงค์ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกที่เรียกกันว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ซึ่งปรีดีเลือกที่จะให้ไทยเดินทางไปสู่เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม แต่ถูกต่อต้านโดยชนชั้นนำและฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัชกาลที่ 7 ทำให้แนวทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมไม่สามารถนำมาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ เพื่อประนีประนอมกับชนชั้นนำและฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยังคงมีอำนาจและอิทธิพลอยู่อย่างมากในขณะนั้น รัฐบาลคณะราษฎรจึงหันมาเลือกใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมที่มุ่งสร้างระบบทุนนิยมโดยรัฐ คือให้รัฐเข้าดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับผู้คนจำนวนมากเช่นกิจการด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ เสียเองที่เรียกกว่า “รัฐพาณิชย์” ซึ่งทำให้เกิดการจัดตั้ง “รัฐวิสาหกิจ” ขึ้นมากมายในเวลาต่อมา

แนวนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมของคณะราษฎรถูกใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อเนื่องมาจนกระทั่งสงครามเย็นระหว่างค่ายทุนนิยมกับค่ายคอมมิวนิสต์ลุกลามมาถึงประเทศไทย อเมริกาซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของประเทศที่รับเชื่อในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะผลักดันให้รัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากชาตินิยมเป็นแบบตลาดเสรี ที่ต้องการให้รัฐถอนตัวจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย และปล่อยให้เป็นเรื่องของเอกชนและรัฐทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริม คอยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลป. พิบูลสงคราม จนกระทั่งการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 20 ตุลาคม 2501 ที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังจึงประสบความสำเร็จและถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสมาทนต่ออุดมการณ์เศรษฐกิจแบบตลาดเสรีในประเทศไทย

นับแต่นั้นมาชนชั้นนำไทยทุกยุคทุกสมัยพยายามบอกให้คนไทยเชื่อว่าอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจชนิดนี้คือทางเลือกเดียวเท่านั้นที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ภายใต้อุดมการณ์ดังกล่าวรัฐไทยก็ได้เริ่มวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่อยู่ในกรอบของการส่งเสริมลัทธิตลาดเสรี มีการออกพ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สร้างมาตรการ ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้สิทธิพิเศษและแรงจูงใจต่างๆ จัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเอาใจนายทุนนักธุรกิจอย่างออกนอกหน้า


5 เชื่อมร้อยเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่

องค์ประกอบถัดมาของวงจรอุบาทว์นี้ปรากฏชัดเจนเมื่อเหล่าชนชั้นนำได้เอาประเทศไทยไปผูกติดไว้กับแนวความคิดเสรีนิยมใหม่และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ที่เติบโตและขยายตัวนับแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยทุกชุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540ที่ไทยต้องเข้ารับการช่วยเหลือและทำหนังสือแสดงเจตจำนงต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF และธนาคารโลก  ส่งผลให้ไทยต้องปรับนโยบาย มาตรการต่างๆ ให้เป็นไปตามกรอบคิดที่เรียกว่า “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) ซึ่งนำไปสู่การเปิดเสรีทางการค้า การเงิน การลงทุนอย่างเต็มที่ รัฐได้เพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ทำให้ดินแดนไทยกลายเป็นสวรรค์ของนักลงทุนที่มีต้นทุนต่ำ ค่าจ้างถูก สร้างระบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นเอาใจผู้ประกอบการ คิดค้นสารพัดวิธีที่จะควบคุมแรงงานไม่ให้เรียกร้องต่อรองได้ สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อ ให้สิทธิพิเศษต่างๆ กับนักลงทุน จำกัดสิทธิการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองของคนงาน คิดค้นนวตกรรมใหม่เพื่อแข่งขันช่วงชิงนักลงทุน ที่เรียกกันว่า “แข่งกันลงสู่ก้นเหว” หรือ Race to the Bottom โดยผู้ใช้แรงงานต้องตกเป็นเหยื่อของการขูดรีด เอารัดเอาเปรียบในกลยุทธ์การแข่งขันนี้ ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เน้นพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติหรือ FDI  ได้นำไปสู่การแข่งขันตัดราคากับประเทศผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งอื่นๆ ทำให้มีการกดค่าจ้างแรงงานให้ถูกที่สุดค่าแรงเท่าที่จะทำได้ ยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนมากขึ้น มีการลดมาตรฐานทุกอย่างเพื่อดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ เช่นการลดภาษี โดยเฉพาะรายได้จากภาษีนำเข้าที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แนวโน้มของกระแสโลกาภิวัตน์ที่ระบบผลิตและการค้ามีลักษณะไร้พรมแดน ผลของการปฏิวัติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศน์ การคมนาคมขนส่งที่เป็นไปอย่างรวดเร็วได้ทำให้การเคลื่อนย้ายของทุนเป็นไปอย่างง่ายดายและรวดเร็วชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน การที่ทุนมีลักษณะที่ไร้พรมแดนและพร้อมเคลื่อนย้ายได้ตลอดเวลาส่งผลให้อำนาจการต่อรองของฝ่ายแรงงานสูญเสียไป นายจ้างมักอ้างว่าหากเรียกร้องมากๆ จะย้ายไปลงทุนที่อื่นๆ ซึ่งประเด็นนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในหลายประเทศรวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นายจ้างหอบกระเป๋าใบเดียวเข้ามาลงทุนพอได้แหล่งลงทุนใหม่ที่ดีกว่าถูกกว่าได้เปรียบได้กำไรมากกว่า นายจ้างก็พร้อมหอบกระเป๋าหนีไป


6 ควบคุมทำลายขบวนการแรงงานและองค์กรภาคประชาชน

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่คนทำงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในอัตราที่ต่ำที่สุดของโลกคือมีคนทำงานเพียงร้อยละ 1.5 ของคนทำงานทั้งหมดที่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองได้ การที่คนทำงานส่วนใหญ่ไม่สามารถรวมตัวและทำการเจรจาต่อรองร่วมได้ ทำให้คนทำงานต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีค่าจ้างต่ำ สวัสดิการที่เลวร้าย ต้องทำงานหนักและยาวนานในแต่ละวันและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลี่อมล้ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วย

รัฐไทยปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ทำให้รัฐไทยไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นหลักการและกลไกสากลในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของคนทำงานมาตลอด การไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้สะท้อนถึงการไม่ยอมรับสิทธิดังกล่าวของคนทำงานในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้กฎหมาย และแนวปฏิบัติต่างๆ ในด้านแรงงานในไทยไม่สอดรับกับกติกาสากลดังกล่าว กฎหมายแรงงานไทยไม่ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน มีลักษณะเป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง รัฐใช้กรอบความความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติมาใช้แก้ปัญหาแรงงาน จึงทำให้มองการรวมตัวของแรงงานในแง่ลบ เห็นสหภาพแรงงานเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน

เพื่อรักษาความเหลื่อมล้ำและความได้เปรียบของชนชั้นนำไว้ รัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยจึงพยายามที่จะควบคุมและทำลายอำนาจต่อรองของประชาชน ล่าสุดมีความพยายามที่จะผลักดัน พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรหรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ. ควบคุมNGOs ออกมาบังคับใช้

สังคมที่ขบวนการแรงงานอ่อนแอ รวมตัวกันไม่ได้และองค์กรภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็งจะทำให้สังคมนั้นขาดการตรวจสอบถ่วงดุลกับชนชั้นนำส่วนน้อยที่กุมอำนาจอยู่ ทำให้ชนชั้นนำเหล่านั้นยิ่งสามารถขยายอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์และความมั่งคั่งได้มากยิ่งขึ้น


7 ลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำตลาดแรงงานให้ยืดหยุ่น

เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับระบบทุนนิยมซึ่งชนชั้นนำรับเชื่อ พวกเขาได้ดำเนินการเพื่อลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน ควบคุมตลาดแรงงานและรูปแบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รูปแบบการจ้างงานหลากหลายชนิดได้ถูกคิดค้นและนำมาใช้กับการจ้างงานในประเทศ ทำให้คนทำงานต้องถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมากยิ่งขึ้น แน่นอนทั้งหมดนี้ได้เอื้อให้คนส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นนำได้รับประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล และยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้นไปอีก


8 ลดบทบาท ภาระของภาครัฐในทางเศรษฐกิจ สังคม

มาตรการลดภาระให้กับชนชั้นนำ ได้ทำให้รัฐมีรายได้จำกัด สิ่งที่พวกเขาดำเนินการก็คือการจำกัดบทบาททางสังคมของรัฐ เพื่อลดภาระทางด้านการเงินการคลังของรัฐ นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบเหล่านี้เป็นมาตรการที่ดำเนินการโดยรัฐของชนชั้นนำเพียงหยิบมือเดียว ซึ่งได้เพิ่มภาระให้กับคนส่วนใหญ่ และยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำและเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้ถ่างมากขึ้น ในวงจรอุบาทว์นี้การพูดถึงและการเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยและการสร้างรัฐสวัสดิการกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่รัฐของชนชั้นนำทำคือ การสังคมสงเคราะห์ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสิทธิของประชาชนในฐานะพลเมืองของรัฐ แต่เป็นเพราะความเมตตากรุณาจากชนชั้นนำที่ให้กับประชาชนผู้ยากไร้ที่ถูกมองว่าต้องอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของชนชั้นนำ โดยที่ประชาชนจะต้องสำนึกในบุญคุณของเหล่าชนชั้นนำเหล่านั้น

ด้วยกลไกต่างๆ ที่ดำเนินภายใต้วงจรอุบาทว์ที่ได้ทำให้ประเทศไทยเคลื่อนตัวเองไปอยู่บริเวณที่สเปกตรัมของระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบ “เผด็จการทุนนิยม” (Liberal Autocracy) ในพื้นที่สีเขียว ที่มีระบอบการเมืองเป็นเผด็จการอำนาจนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบเชื่อในตลาด ซึ่งถือเป็นพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อการขยายตัวของความเหลื่อมล้ำในสังคม


สร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งเพื่อพาประเทศไทยออกจากวงจรอุบาทว์แห่งความเหลื่อมล้ำ

Evelyne Huber ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากUniversity of North Carolina  ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารJaCobin ฉบับวันที่ 20 มกราคม 2019ว่า “ปราศจากคนทำงานทั้งหลาย ไม่มีทางที่เราจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่งในโลก หาได้มาจากการประทานของนายทุนชนชั้นนำ   ทว่ามาจากการต่อสู้ของคนงานที่ผ่านการจัดตั้งทั้งสิ้น”[1]

หากปรารถนาที่จะทำลายวงจรอุบาทว์แห่งความเหลื่อมล้ำ ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะต้องเริ่มต้นที่การจัดตั้งคนทำงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เป็นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวงจรอุบาทว์นี้ 8 สิ่งที่เราจะต้องทำเพื่อสร้างวงจรแห่งความเสมอภาคเป็นธรรมมีดังนี้

 

1 ขยายการจัดตั้งสร้างขบวนการแรงงานและองค์กรภาคประชาชนให้เข้มแข็ง

ปัจจัยสำคัญที่เปิดช่องให้วงจรอุบาทว์แห่งความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยทำงานได้อย่างสะดวกง่ายดายคือ คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนทำงานขาดการรวมกลุ่มขาดอำนาจต่อรองเพื่อถ่วงดุลถ่วงอำนาจของรัฐและชนชั้นนำ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้พวกเขามีอิสรเสรีภาพในการตัดสินใจ ดำเนินการต่างๆ เพื่อผลประโยชน์และขยายอำนาจของตนอย่างไร้ขอบเขต

ในอดีตขบวนการแรงงานจะหมายถึงการรวมตัวของคนทำงานจากหลากหลายสาขาอาชีพมารวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองร่วมกัน ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของคนทำงาน ขบวนการแรงงานจึงประกอบด้วยคนทำงานจากหลากหลายอาชีพ และเป้าหมายของการต่อสู้ก็มิได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นค่าจ้าง สวัสดิการ หรือสภาพการจ้างของสมาชิกเท่านั้น แต่เลยไปถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศโดยรวมด้วย

ปัจจุบัน “ขบวนการแรงงาน” ได้ถูกทำให้เป็นขบวนการสหภาพแรงงานหรือTrade Union Movement ซึ่งมีความหมายแคบกว่าคือเป็นเพียงขบวนการขององค์กรสหภาพแรงงานซึ่งถูกจำกัดไว้กับคนทำงานที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานสองฉบับคือ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 เท่านั้น

สิ่งนี้ได้กีดกันคนทำงานจำนวนมหาศาลออกจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงาน การเปลี่ยนไปของคำจำกัดความของคำว่า “ขบวนการแรงงาน” เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ขบวนการแรงงานมีขนาดเล็ก คับแคบ และไม่ครอบคลุม ซึ่งส่งผลให้ความเป็นตัวแทนคนทำงานและอำนาจการต่อรองลดน้อยลงไปด้วย รัฐและทุนประสบความสำเร็จในการแยกสลายคนทำงานออกเป็นส่วนๆ โดยการออกกฎหมายแบ่งแยกคนทำงานกลุ่มต่างๆ ออกจากกัน เช่นในระบบ นอกระบบ เอกชน รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ และพัฒนารูปแบบการผลิตและการจ้างงานแบบใหม่ เช่นการผลิตแบบ Supply Chain การผลิตแบบ Outsourcing และการจ้างงานบน Platform อีกทั้งสร้างทัศนคติ ความเชื่อและค่านิยมให้คนทำงานในภาคส่วนต่างๆ รู้สึกแปลกแยกออกจากกัน สร้างมายาคติให้คนทำงานประเภทต่างๆ เกิดความรู้สึกว่าตนไม่เหมือนคนทำงานกลุ่มอื่นๆ ทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ ในหมู่คนทำงานบางกลุ่มว่าตนเองไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานผลที่เกิดตามมาคือจิตสำนึกทางชนชั้นของคนทำงานได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

ขบวนการแรงงานในประเทศไทยวันนี้ถือว่าอยู่ในสภาพที่อ่อนแอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในเชิงปริมาณเรามีคนทำงานเป็นสมาชิกสหภาพน้อยกว่า 600,000 คน จากกำลังแรงงานทั้งหมดราว 39 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ การมีสมาชิกสหภาพในสัดส่วนที่น้อยส่งผลให้อำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงานต่ำ ในเชิงคุณภาพ

สหภาพแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นสหภาพขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่าสหภาพสถานประกอบการซึ่งมีมากมายเกือบ 1,500 แห่ง กระจัดกระจายแยกกันอยู่ ทำให้ขบวนการแรงงานโดยรวมขาดความเป็นเอกภาพส่งผลให้มีอำนาจต่อรองของฝ่ายคนทำงานลดต่ำลงไปอีก ในบรรดาสหภาพขนาดเล็กๆ ที่อยู่อย่างกระจัดกระจายนี้มีจำนวนไม่น้อยถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานเสียงสำหรับการเลือกตั้งในองค์กรไตรภาคีต่างๆ หาได้ทำหน้าที่เจรจาต่อรองเพื่อมวลสมาชิกอย่างแท้จริงไม่ เราจึงพบว่ามีการทำข้อตกลงร่วมระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้างที่ไปจดทะเบียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานน้อยมากคือเฉลี่ย 200-400 ฉบับต่อปีเท่านั้นขณะที่เรามีสถานประกอบการในระบบประกันสังคมเกือบห้าแสนแห่ง

นอกจากองค์กรสหภาพระดับพื้นฐานจะมีขนาดเล็กและกระจัดกระจายแล้ว องค์กรระดับสูงขึ้นไปเช่น สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้างและองค์กรที่รวมตัวกันในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เรียกกันว่ากลุ่มสหภาพย่านอุตสาหกรรมฯ นั้น ล้วนมีจำนวนสมาชิกไม่มากและขาดความเป็นเอกภาพเช่นกัน มีความซ้ำซ้อนในองค์กรสมาชิกค่อนข้างมาก ขาดการประสานงานและแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจนระหว่างองค์กรแรงงานระดับต่างๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรศูนย์กลางแรงงานระดับชาติที่จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานหรือที่เรียกว่าสภาองค์การลูกจ้างมีมากถึง 15 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงบทบาทในฐานะองค์กรระดับชาติที่จะต้องผลักดันเคลื่อนไหว เรียกร้องเกี่ยวกับกฎหมายและนโยบายระดับชาติ องค์กรระดับชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันช่วงชิงผลประโยชน์ งบประมาณ และตำแหน่งที่จะได้จากระบบไตรภาคีที่รัฐจัดตั้งขึ้น

ขณะที่มีองค์กรระดับสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จดทะเบียนมีจำนวนมากถึง 22 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมแล้ว มีเพียงสหพันธ์แรงงานที่เป็นสมาชิกและได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ (Global Union Federations) เท่านั้นที่ยังทำกิจกรรมอยู่ ในประเทศไทยสหพันธ์แรงงานไม่มีบทบาทในการเจรจาต่อรองมากนัก เนื่องจากกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดบทบาทไว้

เพื่อฟื้นฟูและสร้างขบวนการแรงงานให้มีความครอบคลุม เข้มแข็ง มีพลัง มีอำนาจต่อรอง สามารถเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนทำงานทุกคนได้อย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่พวกเรานักจัดตั้ง ผู้ปฏิบัติงานและสหภาพแรงงานจะต้องมาช่วยกันค้นหาปัญหา อุปสรรคและปัจจัยที่ทำให้ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอ และช่วยกันทลายกำแพงที่ขวางกั้นสิทธิ เสรีภาพในการรวมตัวของคนทำงานลง การรณรงค์ในประเด็น “เราทุกคนคือคนทำงาน” เพื่อสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นให้เกิดขึ้นและรวบรวมคนทำงานจากทุกภาคส่วนให้มาทำงานร่วมกันสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งเป็นเอกภาพและมีพลังพอที่จะต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของมวลพี่น้องคนทำงานทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง

ยุทธศาสตร์ในการที่จะสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งจะต้องทำให้ 2 ด้านคือ

1) เปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของสหภาพแรงงานเพื่อให้เอื้อต่อการสร้างขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง เช่น

ผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87และ 98 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายแรงงานฉบับต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ซึ่งจะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองได้

เข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยเพื่อร่วมเรียกร้องและสร้างการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เพราะภายใต้ระบอบการเมืองแบบเผด็จการ สิทธิและเสรีภาพของคนทำงานจะถูกลิดรอน

ปฏิรูปกลไกและกฎระเบียบของระบบไตรภาคีที่ได้นำไปสู่ความแตกแยกขัดแย้งระหว่างองค์กรแรงงานต่างๆ

ปลดปล่อยคนทำงานจากความหวาดกลัว สร้างเชื่อมั่นและจิตสำนึกทางชนชั้นให้เกิดขึ้นในหมู่คนทำงาน

วิพากษ์วัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่ครอบงำเหนือสังคมไทย ไม่ยอมรับในความเสมอภาคเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำลายความเชื่อมั่นของคนทำงาน

2) สร้างความเข้มแข็งจากภายในขบวนการแรงงาน ซึ่งทำได้ในสองทางคือ

เชิงปริมาณ จะต้องเร่งขยายการจัดตั้งอย่างจริงจัง เพื่อผนวกเอาคนทำงานทุกภาคส่วนเข้าสู่ขบวนการแรงงาน ต้องขยับสัดส่วนของคนที่เป็นสมาชิกสหภาพที่อยู่ในอัตราต่ำร้อยละ 1.5 ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การจะขยายฐานสมาชิกสหภาพอาจจะต้องพิจารณาว่ารูปแบบสหภาพแรงงานแบบสถานประกอบการอาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป จะต้องพิจารณารูปแบบของสหภาพแบบอื่นๆ เช่น สหภาพอุตสาหกรรม สหภาพแบบช่างฝีมือ หรือสหภาพแรงงานทั่วไปที่เปิดรับสมาชิกได้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ โดยต้องจัดตั้งแบบนอกกรอบกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

ด้วยขบวนการแรงงานไทยมีขนาดเล็กมาก จำเป็นที่จะต้องทำงานแนวร่วมและสร้างพันธมิตรกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้แก่กันและกัน

เชิงคุณภาพ จะต้องสร้างความเป็นเอกภาพและความสามารถในการทำงานของขบวนการแรงงาน องค์กรสหภาพแรงงานในทุกระดับที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายมากมายทำให้ไม่มีความเป็นเอกภาพ มีความจำเป็นที่จะต้องหาทางควบรวมกันให้เหลือน้อยลง ซึ่งในหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการไปแล้ว การสร้างสหภาพที่มีการบริหารงานได้อย่างประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของสมาชิกให้ได้ การสร้างความเป็นประชาธิปไตยภายในองค์กรสหภาพแรงงานในทุกระดับมีความสำคัญมาก การใช้เครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก การสร้างพันธมิตรกับองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ จะช่วยทำให้ขบวนการแรงงานไม่โดดเดี่ยวและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น การเชื่อมร้อยกับขบวนการแรงงานสากลถือเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกยุคโลกาภิวัตน์

นักวิชาการสองคนคือStefan Schmalz and Klaus Dörre ได้ช่วยกันพัฒนาแนวความคิดเรื่อง “ทรัพยากรอำนาจของฝ่ายคนทำงาน” “Power Resources Approach” เพื่อใช้ศึกษาและวางยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงาน เขาเห็นว่าทรัพยากรที่จะทำคนทำงานมีอำนาจประกอบด้วย 4 ด้านด้วยกันคืออำนาจเชิงโครงสร้าง (Structural Power) อำนาจจากการรวมตัว (Associational Power) อำนาจเชิงสถาบัน (Institutional Power)และอำนาจเชิงสังคม (Societal Power) จำเป็นที่จะต้องค้นให้พบว่าเรามีทรัพยากรด้านไหนและยังขาดด้านไหน จะเสริมสร้างและใช้มันเพื่อสร้างอำนาจให้กับคนทำงานได้อย่างไร


2 สร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย

สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปก็คือจะต้องต่อสู้เพื่อต่อต้าน คัดค้านการครอบงำทางความคิดของกรอบความคิดแบบ “อุปถัมภ์” ที่ครอบงำ ครองความเป็นใหญ่เหนือชีวิตจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ จนทำให้พวกเขายอมรับ ยอมจำนนกับความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคที่ดำรงอยู่ การให้การศึกษาทางการเมือง เพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตยตื่นรู้ รู้จักเข้าใจในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่พลเมือง เชื่อมั่นในความเสมอภาคเท่าเทียมของผู้คน รังเกียจ ทนไม่ได้กับการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น การให้การศึกษาทางการเมือง หรือ Civic Education เป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง กว้างขวาง และดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถสร้างนักประชาธิปไตยที่มีจำนวนมากเพียงพอ เราจะไม่สามารถต่อกรกับเหล่าอภิสิทธิชนที่มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดีได้ ความหวังที่จะสร้างประชาธิปไตยให้หยั่งรากลงดินบนแผ่นดีนี้ก็คงจะเป็นไปไม่ได้


3 เสนออุดมการณ์เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยให้เป็นทางเลือก

 เพื่อตอบโต้กับกรอบคิดโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ขบวนการแรงงานและภาคประชาสังคมต้องวิพากษ์ให้เห็นปัญหาและจุดอ่อนของอุดมการณ์เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ว่ามีข้อจำกัดและส่งผลเสียอย่างไรต่อผู้คนและสังคมไทย จากนั้นต้องเสนอตัวแบบใหม่ของสังคมที่เสมอภาคเป็นธรรม ที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่และสังคมโดยรวม โดยให้ข้อมูลตัวเลขและตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม แบบที่รศ. ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี และศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ หรือนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์แห่งเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมหรือ WeFair หรือดร. เดชรัต สุขกำเนิด ทำอยู่ เพื่อให้สังคมได้มองเห็นทางเลือกที่จะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่


4 จัดตั้งพรรคการเมืองหรือสนับสนุนพรรคการเมืองที่สอดรับกับผลประโยชน์ของประชาชน

เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่สังคมเสมอภาคเป็นธรรมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องช่วงชิงอำนาจรัฐจากชนชั้นนำและพรรคการเมืองที่สนับสนุนชนชั้นนำ ในหลายประเทศที่คนทำงานสามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและมีสมาชิกในสัดส่วนของประชากรที่มากอย่างในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ขบวนการแรงงานในประเทศเหล่านั้นสามารถตั้งพรรคการเมืองของตนเองได้ และอาศัยสมาชิกสหภาพเป็นฐานเสียงสนับสนุนพรรคการเมืองของตน หรือพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของคนทำงาน หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประเทศเหล่านั้นจึงสามารถมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานเข้าไปบริหารประเทศ ซึ่งแน่นอนย่อมดูแลรักษาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ไว้ได้อย่างดี เราถึงเห็นความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สังคม การมีรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้น

ประเทศไทยก็เช่นกัน ถ้าเราสามารถขยายการจัดตั้งได้มากเพียงพอ สร้างพลเมืองประชาธิปไตยที่ตื่นตัว มีความรู้ความเข้าใจในระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่ดีพอ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะมีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่ประกาศเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานได้


5 ปฏิรูปทุกสถาบันให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากตัวแทนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่จะต้องทำคือการปฏิรูปทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ความเสมอภาคเท่าเทียมกันของผู้คน ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ทั้งสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สร้างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางของประเทศที่คำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

การปฏิรูปนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ 4 ข้อแรกประสบความสำเร็จ


6 เปลี่ยน Free Trade เป็น Fair Trade

ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่บูชาตลาด บูชาทุน เทิดทูลนักลงทุน พึ่งพิงการส่งออก ซึ่งเป็นที่มีมาแห่งความเหลื่อมล้ำและไร้เสถียรภาพจะต้องถูกเปลี่ยนไปสู่การค้าที่เป็นธรรม หรือ Fair Trade โดยเอาแนวความคิดแบบที่เรียกว่า Social Market Economy มาใช้ คือไม่ปล่อยให้ตลาดมีเสรีแบบมือใครยาว สาวได้สาวเอา หรือปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่รัฐเข้าไปกำกับ แทรกแซงตลาดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม


7 ปฏิรูประบบการเก็บภาษีและการใช้จ่ายเงินของรัฐ

จะต้องมีการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีเสียใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อให้ความมั่งคั่งไม่กระจุกตัวอยู่กับคนเพียงไม่กี่ตระกูล การจัดสรรงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนจะต้องเป็นไปในทิศทางที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ไม่รั่วไหล


8 สร้างรัฐสวัสดิการ สังคมที่เสมอภาคเป็นธรรม

องค์ประกอบสุดท้ายของวงจรของการสร้างสังคมเสมอภาคเป็นธรรมคือการสร้างรัฐสวัสดิการ ที่ทำให้มั่นใจว่าทุกคนในสังคมไทยจะมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีสวัสดิการและชีวิตที่มั่นคง

วงจรแห่งความเสมอภาคเป็นธรรมนี้จะผลักให้ประเทศไทยเข้ามาอยู่ในพื้นที่สเปกตรัมของระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย Democratic Socialism ที่เป็นหลักประกันว่าผู้คนจะมีความเสมอภาคเป็นธรรมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

ทั้งหลายทั้งปวงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่สามารถสร้างขบวนการแรงงานและขบวนการภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งเพื่อร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวงจรดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net