28 เม.ย. 'วันรำลึกแรงงานสากล' สหภาพแรงงานเรียกร้อง 'จะต้องไม่มีใครเสียชีวิตจากการทำงาน'

ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการทำงาน 3 ล้านคน เนื่องใน 'วันรำลึกแรงงานสากล' (International Workers’ Memorial Day) 28 เม.ย. สมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ (ITUC) เรียกร้องว่าการเสียชีวิตจากการทำงานจะต้องสิ้นสุดลง อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานจะต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนทำงานทุกคน


ที่มาภาพ: ที่มาภาพ: BWINT

Summary

  • ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เจ็บป่วยจากการทำงานประมาณ 374 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากการทำงานประมาณ 3 ล้านคน
  • ปฏิญญาครบรอบ 100 ปีของ ILO ยอมรับว่า "สภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัยเป็นพื้นฐานของการทำงานที่มีคุณค่า" และทุกวันที่ 28 เม.ย. ของทุกปี ได้กำหนดให้เป็น 'วันรำลึกแรงงานสากล' (International Workers’ Memorial Day)
  • สมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ (ITUC) เรียกร้องว่าการเสียชีวิตจากการทำงานจะต้องสิ้นสุดลง อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานจะต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนทำงานทุกคน

ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการทำงาน 3 ล้านคน


ที่มาภาพ: ITUC

28 เม.ย. 2565 ข้อมูลที่คาดการณ์โดยสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ (ITUC) ระบุว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เจ็บป่วยจากการทำงานประมาณ 374 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากการทำงานประมาณ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 450,000 คน เสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงาน, ประมาณ 400,000 คน เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงาน, ประมาณ 360,000 คน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงาน และประมาณ 35,000 คน เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงาน

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้แสดงให้เห็นว่าเหตุใดสุขภาพและความปลอดภัยจึงต้องเป็นสิทธิสำหรับทุกคนที่ทำงาน จากการที่ความเจ็บป่วยได้คุกคามไปทุกที่ ในการประชุมแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference) เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นการประชุมไตรภาคีในระดับโลก ตัวแทนสหภาพแรงงาน นายจ้าง และภาครัฐ ได้เห็นชอบร่วมกันว่าประเด็นอาชีวอนามัยและความปลอดภัยควรได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานจะต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนทำงานที่มีผลผูกพันในการปกป้องคนทำงานทุกคนในทุกที่ 

ทั้งนี้ปฏิญญาครบรอบ 100 ปีของ ILO ยอมรับว่า "สภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัยเป็นพื้นฐานของการทำงานที่มีคุณค่า" และทุกวันที่ 28 เม.ย. ของทุกปี ได้กำหนดให้เป็น 'วันรำลึกแรงงานสากล' (International Workers’ Memorial Day)

สิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน


ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific

ประเด็น 'อาชีวอนามัยและความปลอดภัย' ถูกบรรจุเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของ ILO เทียบเท่าเช่นเดียวกับประเด็นสำคัญๆ อย่าง การห้ามใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก, สิทธิเสรีภาพในการรวมและต่อรองร่วม, ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน และการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน

ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ILO ได้นำอนุสัญญาด้านสุขภาพและความปลอดภัยมาปรับใช้ ซึ่งบางส่วนเป็นข้อตกลงทั่วไป บางส่วนก็เป็นข้อเสนอแนะเฉพาะด้าน

อนุสัญญาของ ILO อย่างน้อยหนึ่งฉบับ คือ 'อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 [The Occupational Safety and Health Convention, 1981 (No. 155)]' ได้ระบุเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจะต้องกลายเป็นอนุสัญญาพื้นฐาน กำหนดให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต้องปฏิบัติตามเป็นเงื่อนไขของการเป็นสมาชิก ILO ไม่ว่าพวกเขาจะผ่านกระบวนการให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลก 187 ประเทศเป็นสมาชิกของ ILO

นอกจากนี้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 ยังกำหนดให้รัฐบาลต้องวางระบบสุขภาพและความปลอดภัยเชิงป้องกัน ที่เกี่ยวข้องกับภาระหน้าที่เกี่ยวกับนายจ้าง เช่น ข้อกำหนดในการปรึกษาคนทำงานและตัวแทน ให้สิทธิ์แก่คนทำงานในการฝึกอบรม ให้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลฟรี และสามารถปฏิเสธงานอันตรายได้โดยไม่มีการลงโทษ

อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 [The Occupational Safety and Health Convention, 1981 (No. 155)]

ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานอนุสัญญานี้กำหนดให้แต่ละรัฐมีนโยบายคุ้มครองความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานในระดับประเทศให้แก่คนทำงานทุกคน และให้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่ออาชีวอนามัยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน หรือเชื่อมโยงกับการทำงานโดยรวมถึงการออกแบบขั้นตอนการทำงาน การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตราย การฝึกอบรม การสื่อสารและความร่วมมือกันในทุกระดับ และการคุ้มครองลูกจ้างและผู้แทนจากการลงโทษทางวินัยอันเป็นผลจากการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยจะต้องมีมาตรการบังคับ และการลงโทษผู้ฝ่าฝืนด้วย

ทำอย่างไรการทำงานถึงจะปลอดภัยที่สุด


ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific

นอกจากนี้กลุ่มสหภาพแรงงาน ต้องการเห็นความคืบหน้าในอนุสัญญา ILO ฉบับอื่นๆ อีก เช่น อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 161 [Occupational Health Services Convention, 1985 (No. 161)] ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลต้องประกันว่าคนทำงานสามารถเข้าถึงบริการด้านอาชีวอนามัยที่ได้รับเลือกจากการปรึกษาหารือกับคนทำงานและตัวแทนของพวกเขา โดยขยายความคุ้มครองจากแรงงานในระบบที่มีอยู่ ร้อยละ 20 ให้ได้เข้าถึงบริการด้านอาชีวอนามัยที่สามารถจัดการกับความเจ็บป่วยจากการทำงาน อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนทำงานทั่วโลกถึงกว่า 2 ใน 3 

ส่วนอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 [Promotional Frameworkfor Occupational Safety and Health, 2006 (No. 187)] ที่ว่าด้วยการส่งเสริมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยผ่านสถาบันระดับชาติไตรภาคีก็มีความสำคัญเช่นกัน กลุ่มสหภาพแรงงานต่างต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้รวมทั้งอนุสัญญาด้านสุขภาพและความปลอดภัยของ ILO อื่นๆ ทั้งหมดได้รับการให้สัตยาบันและดำเนินการ และสหภาพแรงงานทั่วโลกจะเรียกร้องให้ ILO และรัฐบาลสมาชิก 187 ดำเนินการมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการนำไปบังคับใช้จริง ด้วยจำนวนผู้ตรวจแรงงานที่เพียงพอและการรณรงค์ในวงกว้าง เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงประเด็นความปลอดภัยในการทำงาน

อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 [Promotional Frameworkfor Occupational Safety and Health, 2006 (No. 187)]

จัดเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศฉบับพื้นฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน มีสาระครอบคลุมในเรื่องต่อไปนี้ 1.การมีนโยบายระดับชาติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง โดยกำหนดให้สอดคล้องตามแนวปฏิบัติและสภาพการณ์ภายในประเทศ 2.การมีระบบการดำเนินงานระดับชาติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานที่รับผิดชอบ บุคลากร กฎหมาย/ข้อบังคับ กลไกการบังคับใช้ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนงานความปลอดภัยฯ ของประเทศ 3.การมีแผนงาน/โครงการระดับชาติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมเชิงป้องกัน การคุ้มครองลูกจ้างโดยขจัดหรือลดความเสี่ยงและอันตรายจากการทำงานให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้ และ 4.การจัดทำรายงานข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระดับชาติ เพื่อสรุปสถานการณ์ สถิติการประสบอันตรายจากการทำงาน นโยบายแผนงาน ตลอดจนผลการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมีการเผยแพร่รายงานข้อมูลดังกล่าว

ทั้งนี้สหภาพแรงงานจะต้องสามารถจัดตั้งคณะกรรมการด้านสุขภาพและความปลอดภัยร่วมกันได้ในสถานที่ทำงานทุกแห่ง และมีตัวแทนด้านความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานซึ่งครอบคลุมไม่เพียงแค่สถานที่ทำงานขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพและผู้ประกอบอาชีพอิสระด้วยเช่นกัน 

ด้านองค์กรแรงงานทั่วโลกก็ได้ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างหลากหลายและยาวนาน เช่น สมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งยุโรป (ETUC) เรียกร้องให้มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานเป็นศูนย์, สหภาพแรงงานภาคการผลิตและเหมืองแร่ระดับโลกอย่าง IndustriALL ก็มีการรณรงค์การยุติความตายในเหมืองถ่านหินทั่วโลก เป็นต้น

นอกจากนี้กลุ่มสหภาพแรงงานยังต้องการเห็นประเด็นอาชีวอนามัยและความปลอดภัยถูกบรรจุในระบบสาธารณสุข และกำลังทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง รวมทั้งยังต้องการเห็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ต้องมีการระบุถึงมาตรฐานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้สถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับภูมิภาค ต้องยืนกรานว่าการลงทุนของพวกเขาต้องการผลลัพธ์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่เหมาะสมสำหรับคนทำงาน 

บทเรียนจาก COVID-19


ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในสถานที่ทำงานถือเป็นภัยพิบัติด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ คนทำงานจำนวนมาก ทั้งคนงานด้านสุขภาพ คนทำงานการศึกษา จากฟาร์มหนึ่งไปสู่อีกฟาร์มหนึ่งในภาคการเกษตร ภาคการขนส่งและการค้าปลีก และในสถานที่ทำงานที่มีมีความแออัดสูง เช่น ในโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กและโรงงานแปรรูปอาหาร ต่างเผชิญกับอันตรายเฉพาะอันเนื่องมาจากความรุนแรงของโรคนี้ รวมทั้งความล้มเหลวในการดำเนินการป้องกันอาชีวอนามัยขั้นพื้นฐาน

การแพร่เชื้อที่บ้านก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการระบาดใหญ่ แน่นอนว่าผู้คนนำโรคนี้มาสู่ครอบครัวจากที่ทำงานของพวกเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือคนงานด้านสุขภาพ ครูหรือนักเรียนในโรงเรียน ลูกค้าหรือพนักงานบริการ ผู้สัญจรหรือคนขับรถขนส่งสาธารณะ เกือบทุกที่ที่ผู้คนติดโรคและนำมันกลับมายังที่บ้าน

การต่อสู้เพื่อวางกฎเกณฑ์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั่วโลกจะไม่สิ้นสุด เป็นเวลากว่า 20 ปีที่กลุ่มสหภาพแรงงานเรียกร้องให้มีอนุสัญญาว่าด้วยอันตรายทางชีวภาพเพื่อป้องกันโรคในที่ทำงาน (Biological Hazards Convention) อย่างเช่นโรค COVID-19 นี้ โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีกำหนดจะเจรจาในปี 2567 และ 2568 ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากโรคระบาดเช่นเดียวกับ COVID-19 ป้องกันการสัมผัสในสถานที่ทำงาน 

ความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน

บทเรียนอย่างหนึ่งของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 คือการที่ผู้หญิงหญิงมีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงเป็นแรงงานสำคัญในหลายอุตสาหกรรม เช่น สุขภาพและการดูแล การศึกษา การค้าปลีก และการเกษตร ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่สุดในระหว่างการระบาดใหญ่

คนทำงานหญิงจำนวนมากไม่ได้รับการคุ้มครองที่เท่าเทียม แม้กระทั่งหน้ากากอนามัยก็ยังออกแบบมาเพื่อใบหน้าของผู้ชายที่ใหญ่กว่า ผู้หญิงจำนวนมากอยู่ในอาชีพที่ได้รับค่าจ้างต่ำและเข้าถึงสิทธิและบริการด้านอาชีวอนามัยได้อย่างจำกัด สิ่งที่น่าสยดสยองยิ่งกว่านั้น คือการล็อกดาวน์ได้นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

และไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงมากกว่าเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วผู้อพยพและชนกลุ่มน้อยก็มักจะทำงานที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งหมายความว่าพวกเขามีโอกาสน้อยที่จะหลีกเลี่ยงสถานที่ทำงานที่เป็นอันตราย 

28 เม.ย. ร่วมเรียกร้อง 'จะต้องไม่มีใครเสียชีวิตจากการทำงาน'


ที่มาภาพ: ITUC

อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานจะต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนทำงานทุกคนในทุกที่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนทำงานเจ็บป่วยและบาดเจ็บมากขึ้น ป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียเพื่อนร่วมงานและครอบครัวที่โศกเศร้าจากการสูญเสีย

คนทำงานจะต้องมีสิทธิปฏิเสธการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการป้องกันในที่ทำงานของตน และต้องมีสหภาพแรงงานเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิเหล่านั้นจะกลายเป็นความจริง - เหนือสิ่งอื่นใดในวันรำลึกแรงงานสากล 28 เม.ย. นี้ เราต้องทำทุกอย่างที่กล่าวมานั้นให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วต้องรอถึงเมื่อไหร่?

 

ที่มาข้อมูล
https://28april.org
What is IWMD? (TUC, Retrieved 6 April 2022)
2022 WORKERS MEMORIAL DAY MATERIALS (AFL-CIO, 2022)
International Workers’ Memorial Day – dying to work must end now! (Hazards, number 157, 2022)
สรุปข้อมูลการให้สัตยาบัน อนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 (มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 28 กรกฎาคม 2559)
โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบเพื่อการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพ (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 2561)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท