Skip to main content
sharethis

กสม. เผยผลประสานคุ้มครองสิทธิชาวบ้านปิล๊อกคี่ ถูกขับไล่ฐานยิงเสือโคร่ง ป้องกันตัว ด้านอุทยานฯ แก้คำสั่งและกำหนดแนวทางแก้ไขร่วมกันแล้ว ภาค ปชช.สะท้อนปัญหาจัดการน้ำ แม้มีช่องทางให้ชุมชนมีส่วนร่วม แต่ล่าช้า และขาดการถ่วงดุล ทำให้การตัดสินใจยังรวมศูนย์

 

28 เม.ย. 65 ทีมสื่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานต่อสื่อวันนี้ (28 เม.ย.) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 15/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

ศยามล ไกยูรวงศ์ (กลาง) และ วสันต์ ภัยหลีกลี้ (ขวา) 2 สมาชิก กสม.

ชี้ชุมชนท้องถิ่นยังขาดการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการน้ำ 

เมื่อ 21 เม.ย. 65 กสม. ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์จัดการและบริการข้อมูลสาธารณะ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดเวทีเสวนา “Policy Dialogue ก้าวสู่ปีที่ 5 พ.ร.บ.น้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 : สิทธิมนุษยชนในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรม เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์น้ำปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการบริหารจัดการน้ำบนฐานสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ห้องประชุม 709 สำนักงาน กสม. และผ่านระบบออนไลน์

ในประเด็นปัญหาการบริหารจัดการน้ำ นักวิชาการและภาคประชาสังคมร่วมกันสะท้อนว่า แม้ปัจจุบันจะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 2561 เป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปี โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ตลอดจนจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำที่สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ปัจจุบัน การบริหารจัดการน้ำในประเทศตามกฎหมายฉบับนี้ยังมีลักษณะเป็นการรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจโดยรัฐ เนื่องจากแม้กฎหมายจะกำหนดให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำอันมีองค์ประกอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ แต่กลไกดังกล่าวยังจัดตั้งขึ้นอย่างล่าช้าและขาดการถ่วงดุลอำนาจในสัดส่วนที่เหมาะสม ทำให้ชุมชนยังไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ภาครัฐยังคงวางบทบาทเป็นผู้กุมอำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำซึ่งไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการบัญญัติกฎหมายที่ต้องการสร้างมิติใหม่ในการมีส่วนร่วมของประชาชน

กสม. ร่วมสถาบันวิชาการ จัดเวทีระดมความเห็นต่อพระราชบัญญัติน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 และปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับการประเมินสถานการณ์น้ำในประเทศ กสม.ได้รับเสียงสะท้อนและข้อมูลทางวิชาการว่า ประเทศไทยอาจไม่ได้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยแต่ละลุ่มน้ำมีปริมาณน้ำพอเพียงที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งภาคเกษตรกรรม ครัวเรือน และอุตสาหกรรม และแม้ในภาคอีสานก็ยังมีปริมาณน้ำฝนในระดับที่เพียงพอ แต่ปัญหาคือประเทศไทยยังขาดการวางแผนกักเก็บและบริหารจัดการน้ำในภาพรวม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้เข้าใจธรรมชาติของน้ำในพื้นที่โดยจะสามารถรายงานข้อมูลตลอดจนวางแผนและออกแบบการใช้และกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกระจายอำนาจในการบริหารจัดการน้ำให้ลงไปในระดับพื้นที่โดยหน่วยงานรัฐส่วนกลางมีบทบาทเป็นเพียงผู้ติดตามกำกับดูแล จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายสะท้อนว่าต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ดี ชุมชนควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลปริมาณแหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐรวบรวมไว้เพื่อออกแบบและจัดทำแผนที่น้ำระดับชุมชนของตนด้วย

“การบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนในแต่ละลุ่มน้ำนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับท้องที่ ชุมชน และร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำและการพิจารณาจัดทำโครงการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชนในแต่ละพื้นที่ และความต้องการใช้น้ำของแต่ละกลุ่ม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Impact Assessment : SEA) ของแผนแม่บทลุ่มน้ำ และมีการประเมินความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือน้ำเสีย เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งการเยียวยาความเสียหาย โดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานของรัฐที่ใช้น้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนจังหวัด จึงจะเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อันสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” กสม.กล่าว

ผลประสานคุ้มครองชาวบ้านปิล๊อกคี่ ยิงเสือโคร่งป้องกันตัว

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน ม.ค. 2565 จากชาวบ้านหมู่บ้านปิล๊อกคี่ อำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จำนวน 5 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือโคร่ง) ที่ใกล้สูญพันธุ์ และข้อหาอื่นๆ รวม 11 ข้อหา โดยชาวบ้านระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายจากเสือโคร่งที่จะเข้ามากัดกินฝูงปศุสัตว์ในหมู่บ้าน และเป็นผลให้อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี ผู้ถูกร้อง มีคำสั่งขับไล่ผู้ร้องกับพวกทั้ง 5 ราย รวมถึงญาติพี่น้องออกจากบ้านพักอาศัยและให้รื้อถอนบ้านพักหรือโรงเรือนออกไปให้พ้นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ภายใน 30 วัน ซึ่งเรื่องนี้ กสม. เห็นว่าเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และควรได้รับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน จึงได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคำร้องและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565

ต่อมา เมื่อ ก.พ. 2565 กสม.ได้รับการแจ้งผลการดำเนินงานจากอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) สรุปว่าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วพบว่า ชาวบ้านผู้ร้องกับพวกเป็นเพียงผู้อาศัยในบ้านเท่านั้น มิได้เป็นเจ้าของบ้าน อีกทั้งบุคคลอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในการกระทำความผิดของผู้ร้องกับพวก จึงแก้ไขคำสั่งเดิมที่กำหนดให้ผู้ร้องกับพวก รวมถึงญาติหรือบริวารออกไปให้พ้นจากเขตอุทยานแห่งชาติฯ เป็นกำหนดให้เฉพาะผู้ร้องกับพวกรวม 5 คน ออกไปให้พ้นจากเขตอุทยานแห่งชาติฯ

นอกจากนี้ กสม.ยังได้รับแจ้งด้วยว่า อุทยานแห่งชาติเขาแหลมได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเสือที่มากัดกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายแล้ว

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ได้พิจารณาผลการแก้ไขปัญหาของหน่วยงาน และเห็นว่าปัญหาได้รับการแก้ไขตามสมควรแล้ว จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net