Skip to main content
sharethis

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ปัจจุบันถูกจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก เพิ่งจะซื้อสื่อโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ด้วยเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงแม้เขาจะพูดถึงแผนการของตัวเองเอาไว้ แต่สหภาพยุโรปก็เตือนว่ายังคงเขาก็ต้องทำตามกฎหมายใหม่ของอียู และนักข่าวที่ติดตามในเรื่องนี้ก็ได้วิเคราะห์ไว้ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่มัสก์ซื้อทวิตเตอร์เป็นเพราะอะไรกันแน่

 

29 เม.ย. 2565 อีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัทเทสล่าซื้อโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ด้วยเงิน 44,000 ดอลลาร์ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาอ้างว่าจะทำให้ทวิตเตอร์ยึดหลักการของ "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" มากขึ้น รวมถึงยังสรรหาคำกล่าวอ้างสรรพคุณอื่นๆ

แต่อย่างไรก็ตามทางสหภาพยุโรปก็เตือนมัสก์เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมาว่าถึงแม้เขาจะเป็นเจ้าของทวิตเตอร์แต่เขาก็ต้องทำตามกฎหมายบริการดิจิทัลของสหภาพยุโรปอยู่ดี กฎหมายดังกล่าวนี้ออกมาไม่กี่วันก่อนหน้าที่มัสก์จะซื้อทวิตเตอร์ เป็นกฎหมายที่มีเป้าประสงค์ต้องการหยุดยั้งการเผยแพร่วาจาปลุกปั่นความเกลียดชังที่เรียกว่า "เฮทสปีช" หรือเนื้อหาผิดกฎหมายอื่นๆ และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องการกำกับดูแลโซเชียลมีเดียให้ดีขึ้นในระดับโลกก็ได้

ถึงแม้มัสก์จะอ้างว่าทวิตเตอร์เปรียบเสมือน "เมืองดิจิทัล ที่จะทำให้การถกเถียงอภิปรายในเรื่องที่สำคัญต่ออนาคตของมนุษยชาติ มารวมกันอยู่ที่นี่" และบอกว่าทวิตเตอร์เป็น "รากฐานของประชาธิปไตยที่ใช้การได้" แต่นักข่าวนิวยอร์กไทม์ที่รายงานเรื่องกฎหมายใหม่ของอียูก็ระบุว่า ในสหรัฐฯ มีปัญหาเกี่ยวกับการแพร่กระจายข้อมูลผิดๆ และเฮทสปีชในโซเชียลมีเดียซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ "อันตรายต่อประชาธิปไตย" และมองว่ากฎหมายของอียูจะมา "แก้ปัญหาเหล่านี้"

เทียร์รี บรูตง กรรมาธิการตลาดภายในประจำคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวเตือน มัสก์ว่า "อีลอน มันมีกฎอยู่นะ ... ขอยินดีต้อนรับคุณแต่ว่านี่คือกฎของพวกเรา ไม่ใช่กฎของคุณที่จะนำมาใช้ได้ที่นี่"

กฎหมายใหม่ของอียูที่เรียกว่า 'กฎหมายการบริการดิจิทัล' (Digital Services Act) มีเป้าประสงค์ต้องการลดผลกระทบที่เป็นภัยอันตรายต่อผู้คนที่เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซ โดยให้พวกบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ทั้งหลายต้องปฏิบัติตามกฎของพวกเขา อย่างเช่นการลบเนื้อหาหรือผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายของประเทศสมาชิกอียูออก เช่นเนื้อหาที่ ส่งเสริมการก่อการร้าย, การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก, เฮทสปีช และการค้าแบบหลอกลวงต้มตุ๋น

นอกจากนี้กฎหมายบริการดิจิทัลของอียูที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้ายังกำหนดห้ามไม่ให้มีการโฆษณาโดยมุ่งเป้าไปที่เด็กหรืออาศัยข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหวอย่างเช่น ศาสนา, เพศสภาพ, เชื้อชาติสีผิว และความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งนี้ยังระบุให้โซเชียลมีเดียต้องทำระบบการแจ้งเตือนเนื้อหาที่ผิดกฎให้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับผู้ใช้งาน ซึ่งถ้าหากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่เหล่านี้ฝ่าฝืนกฎใหม่พวกเขาก็มีโอกาสเผชิญโทษปรับเป็นเงินร้อยละ 6 ของรายได้ต่อปีจากทั่วโลก และถูกสั่งให้ปรับปรุงการปฏิบัติงานของพวกเขา

แต่สาเหตุที่แท้จริงที่นักธุรกิจอย่างมัสก์ต้องการเป็นเจ้าของทวิตเตอร์เป็นเพราะอะไรกันแน่ แมตต์ เลอวีน คอลัมนิสต์ของบลูมเบิร์กผู้ที่คอยติดตามรายงานและวิเคราะห์ข่าวในเรื่องนี้ตลอดช่วงเดือนก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ เดอะ นิวยอร์กเกอร์ในแง่ที่ว่ามัสก์ต้องการใช้ทวิตเตอร์ในการขยายผลประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเองอย่างไร มุมมองด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของมัสก์เป็นอย่างไรกันแน่ และทำไมอิทธิพลของทวิตเตอร์ถึงไปไกลมากกว่าเรื่องมูลค่าทางการเงิน

เลอวีนมองว่าเป็นไปได้ที่มัสก์มีชุดความคิดทางการเมืองและทางสังคมในแบบของตัวเองที่เชื่อว่าทวิตเตอร์ควรจะดำเนินการอย่างไร ขณะเดียวกันมัสก์ก็ทำตัวเป็น "คนมีชื่อเสียงที่ดูเพี้ยนๆ" ในทวิตเตอร์ซึ่งเขามองว่าเป็นการสร้างมูลค่าให้กับตัวเขาเองและมัสก์คงจะต้องการเป็นเจ้าของพื้นที่สร้างมูลค่าตัวนี้ด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตในบทสัมภาษณ์ของเลอวีนอีกว่า เศรษฐีอย่างมัสก์เคยใช้วิธีการเน้นสร้างภาพเพื่อสร้างมูลค่าให้ตัวเองเช่นนี้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดหุ้นของบริษัทเทสลาที่เขาเป็นซีอีโออยู่แล้ว สิ่งที่มัสก์ทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น เล่นมุขตลกในโซเชียลมีเดีย สร้างภาพให้ตัวเองดูเป็นตัวละครจากนิยายวิทยาศาสตร์ สร้างภาพลักษณ์ให้บริษัทเทสลาดูเป็นบริษัทแห่งอนาคต ทั้งหลายเหล่านี้คือการสร้างมูลค่าให้กับตลาดทุนของเขาเองทั้งสิ้น

มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต้องเป็นทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่ไม่เหมาะแก่การใช้ทำเงินมากเท่าใดนักเมื่อเทียบกับเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม เลอวีนมองว่า นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับมัสก์ เพราะสิ่งที่มัสก์ต้องการคือการใช้ทวิตเตอร์ในการสร้างมูลค่าให้ตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋า แบบเดียวกับที่ดาราหรือคนดังๆ หลายคนทำ รวมถึงอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย

 

"ผมคิดว่าผู้คนเริ่มเล็งเห็นแล้วว่าอีลอน มัสก์ สร้างมูลค่าให้บริษัทของเขาอย่างมากโดยการทำตัวเพี้ยนๆ บนทวิตเตอร์" เลอวีนกล่าว

 

นอกจากเหตุผลในแง่การเงินหรือผลประโยชน์แล้ว เลอวีนเคยเขียนไว้ในคอลัมน์ของตัวเองก่อนหน้านี้ โดยเปรียบเทียบการเล่นโซเชียลมีเดียของคนรวยกับการเล่นวิดีโอเกมเอาไว้ เลอวีนระบุว่าเวลาที่คนเราเล่นวิดีโอเกมนั้น นอกจากจะได้รับความสนุกสนานแล้วบางทีก็มีความรู้สึกร่วมไปกับอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองที่ผูกโยงเอาไว้กับวิดีโอเกมนั้นๆ ด้วย แล้วพอถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มอยากเสนอต่อเกมนั้นๆ ว่าควรปรับปรุงในแง่ไหนบ้าง นี่อาจจะเป็นเหตุผลในแง่ส่วนตัวที่มัสก์ซื้อทวิตเตอร์ก็เป็นได้

ถึงแม้มัสก์จะพูดถึงแผนการต่างๆ เกี่ยวกับทวิตเตอร์ไว้ แต่เลอวีนก็มองว่ามันไม่ได้หมายความว่ามัสก์จะทำแบบนั้นได้จริงเสมอไป และเขาไม่ใช่คนที่กุมบังเหียนทุกเรื่องในทวิตเตอร์เอาไว้ เพราะในมุมมองเชิงการเงินแล้วมัสก์ยังคงต้องเสนอแผนธุรกิจให้กับคนนอกไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือหุ้นส่วนของเขาอยู่ดี รวมถึงมีระบบกระบวนการอื่นๆ อยู่นอกเหนือจากการสั่งการ

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่มัสก์อ้างถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่สื่อเดอะ นิวยอร์กเกอร์ มองว่ามักจะเป็นสิ่งที่พวกฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมอ้างใช้เพื่อก่อเฮทสปีชโดยไม่ถูกแบน เลอวีนพูดถึงเรื่องนี้ว่ามัสก์เองก็เคยทำตัวเป็น "เกรียนคีย์บอร์ด" ในทวิตเตอร์ที่ข่มเหงรังแกคนอื่นเช่นกัน นั่นทำให้เขามองว่าพฤติกรรมในแบบที่เขารับได้อาจจะถูกกดมาตรฐานให้ต่ำลงมาหน่อยในทวิตเตอร์

แต่ขณะเดียวกันเลอวีนก็ไม่เชื่อว่ามัสก์จะทำได้ดีนักในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้กับกลุ่มคนที่มาจากประเทศที่มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น เช่น จีน และไม่รู้ว่าเขาจะมีคำตอบที่ดีกว่าหรือไม่ถ้าหากเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาลเผด็จการเหล่านี้ เทียบกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ทำได้ไม่ดีนัก

เลอวีนมองว่าทวิตเตอร์เป็นโซเชียลมีเดียที่มีลักษณะเฉพาะตัว มันอาจจะขายโฆษณาไม่ได้มากเท่าอินสตาแกรมที่เน้นรูปสวยๆ ที่จะสามารถเสนออย่างอื่นที่ใกล้เคียงกันได้ หรือเทียบกับเฟซบุ๊กที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานว่าชอบอะไรแล้วมันก็จะพยายามเสนอโฆษณาสิ่งเหล่านั้นให้ แต่สิ่งที่ผู้คนจะนึกถึงเมื่อพูดถึงทวิตเตอร์คือมันเป็นเครื่องมือที่ผู้คนจะเข้ามาเพื่อโต้เถียงเอาชนะ เล่นมุขตลกแผลงๆ หรือใช้เกรียนผู้คน มันไม่ได้เป็นมิตรกับโฆษณามากเท่าบริษัทโซเชียลอื่นๆ ที่ใหญ่กว่ามันถึงทำเงินได้ยากกว่า แต่มันก็ส่งผลสะเทือนต่อโลกในแง่ที่คนใช้เป็นพื้นที่ถกเถียงทางการเมือง

 

 

 

เรียบเรียงจาก

'Elon, There Are Rules': EU Says Twitter Must Comply With New Digital Services Act, Common Dreams, 26-04-2022

https://www.commondreams.org/news/2022/04/26/elon-there-are-rules-eu-says-twitter-must-comply-new-digital-services-act

 

EU Enacts Landmark Social Media Law to End Self-Regulation by Big Tech, Common Dreams, 23-04-2022

https://www.commondreams.org/news/2022/04/23/eu-enacts-landmark-social-media-law-end-self-regulation-big-tech

 

Why Elon Musk Bought Twitter, The New Yorker, 26-04-2022

https://www.newyorker.com/news/q-and-a/why-elon-musk-bought-twitter

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net