Skip to main content
sharethis

พานาโซนิค ปิดโรงงานเครื่องเย็นชลบุรี ย้ายฐานไปจีน-ญี่ปุ่น

29 เม.ย. 2565 เพจเฟซบุ๊กข่าวสารชลบุรี-ระยอง เปิดเผยว่า บริษัท พานาโซนิค เเอ็พไลแอ็นซ์ รีฟริกเจอเรชั่น ดิไวซ์ (ไทยแลนด์) ปทุมธานี ประกาศปิดกิจการ อย่างเงียบ ๆ

โดยวันที่ 30 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการยุติการผลิตทุกอย่าง และประกาศปิดกิจการถาวร ในวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่จะถึงนี้ เพื่อย้ายฐานผลิตไปประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ตามบริษัท ในเครือ พานาโซนิคสุวินทวงศ์ตั้งอยู่ที่ ถ.สุวินทวงศ์ ต.คลองอุดมชลจร อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการผลิตเกี่ยวกับตู้แช่ และได้เปิดกิจการนานมากกว่าสิบปีแล้ว ที่ประกาศปิดกิจการไปในปี 2564 ที่ผ่านมา

โดยมีประกาศดังต่อไปนี้

ประกาศจากกลุ่ม บริษัท พานาโซนิคในประเทศไทยการโอนย้ายการผลิตชิ้นส่วนประกอบสําหรับเครื่องเย็น

ขอขอบพระคุณที่ท่านให้ความไว้วางใจและสนับสนุนพานาโชนิคด้วยดีเสมอมา

กลุ่ม บริษัท พานา โซนิคทั่วโลกกําลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มคักยภาพและประสิทธิภาพในการผลิตให้ดียิ่งขึ้นโดยจะยุติการผลิตชิ้นส่วนประกอบสําหรับเครื่องเย็น (Refrigeration Devices) ในประเทศไทยในวันที่ 31 มี.ค. 2565

ให้การดำเนินงานผลิตชิ้นส่วนประกอบสาหรับเครื่องเย็นของโรงงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานีจะถูกโอนย้ายไปรวมอยู่ที่ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้ บริษัท พานาโซนิค เเอ็พไลแอ็นซ์ รีฟริกเจอเรชั่น ดิไวซ์ (ประเทศไทย) จํากัด จะยุติการดำเนินกิจการลงในวันที่ 30 ก.ย. 2565 บริษัท ฯ จะให้ความช่วยเหลือ พนักงานที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้

โดยพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมทั้งในกลุ่ม บริษัท และใน บริษัท อื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมกับดูแลผลประโยชน์พนักงานควรได้รับตามสิทธิ์ ทั้งนี้ เราจะยังคงจัดหา ผลิตภัณฑ์จากโรงงานในต่างประเทศและให้บริการแก่ลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจของเราในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยตัวแทนขายของบริษัท จะติดต่อกับลูกค้าเพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

เราขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนประกอบสําหรับเครื่องเย็นในประเทศไทยของเรามาโดยตลอด

พานาโชนิคยังมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยและคงความสําคัญของประเทศไทยในฐานะการผลิตหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กกรอนิกส์ยานยนต์ ชึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนยกระดับศักยภาพสายการผลิตของโรงงานในประเทศไทยรวมถึงการติดตั้งระบบหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop Systems) ที่ช่วยสร้างพลังงาน สะอาดและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนชิงสอดรับกับวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมปี พ.ศ. 2593 ของพานาโชนิค (Panasonic Environment Vision 2050)

เรายังคงมุ่ง มั่นที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพการบริการลูกค้าและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นหนึ่งในความสาคัญสูงสุดของกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของเรา

โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากทุกท่านด้วยดีต่อไปฝ่ายสื่อสารองค์กรกลุ่ม

บริษัท พานาโซนิคในประเทศไทย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/4/2565

สภาองค์การนายจ้างยื่นหนังสือคัดค้านขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ ดร.ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ ในโอกาสนำตัวแทนคณะสภาองค์การนายจ้างฯ ซึ่งมีสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ สภาองค์การนายจ้าง สภาอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างธุรกิจการค้าและบริการไทย สภาองค์การนายจ้างธุรกิจและอุตสาหกรรมแห่งชาติ และสมาคมนายจ้าง 40 - 50 สมาคมนายจ้าง เข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดพิจารณา "ค่าแรงขั้นต่ำ" ตามความเป็นจริงและเหมาะสม ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นจาก 331 บาทเป็น 492 บาททั่วประเทศ

โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ดร.จำลอง ช่วยรอด คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติ กล่าวว่า การพิจารณาอัตรา "ค่าจ้างขั้นต่ำ" แต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างพิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน แม้ว่าอัตรา "ค่าจ้างขั้นต่ำ" ในปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว

ในปี 2565 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตรา "ค่าจ้างขั้นต่ำ" ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

ดร.ทวีเกียรติ กล่าวว่า ในวันนี้สภาองค์การนายจ้างฯ มีมติยังไม่เห็นด้วยที่จะขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ" ในช่วงนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ผู้ประกอบการนายจ้างบางประเภทต้องหยุดกิจการชั่วคราว แรงงานขาดแคลน ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น กลุ่มนักท่องเที่ยวยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบ

ตลอดจนสถานการณ์สู้รบของประเทศเพื่อนบ้านและสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน รัสเซียยังไม่นิ่งกรณีจะขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ" จึงขอให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเนื่องจากสภาองค์การนายจ้าง และสมาคมนายจ้าง ยังไม่เห็นสมควรขึ้นในช่วงนี้ และเห็นสมควรให้คณะกรรมการไตรภาคี โดยฝ่ายภาครัฐเป็นผู้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำเสนอ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 29/4/2565

ส.ส.เพื่อไทย เรียกร้อง 'ประยุทธ์' เร่งเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ

นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.อุบลราชธานี และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะปล่อยราคาน้ำมันดีเซลให้ราคาเกิน 30 บาท ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ต้อนรับวันแรงงานสากล จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งเป็นลิตรละ 32 บาท และจะขึ้นไปถึงลิตรละ 35 บาทในอีกไม่นานนี้ ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตาม เงินเฟ้อจะยิ่งพุ่งสูง ค่าครองชีพของ ชาวนา เกษตรกร กรรมกร ผู้มีรายได้น้อยจะต้องสูงขึ้นมากตามไปด้วย และจะสร้างความลำบากให้กับ ชาวนา เกษตรกร กรรมกร และผู้มีรายได้น้อยอย่างมาก

ดังนั้นคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย จึงอยากเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เร่งเพิ่มรายได้ให้กับ ชาวนา เกษตรกร กรรมกร และผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้มีค่าใช้จ่ายเพียงพอตามทันค่าครองชีพที่พุ่งสูง ต้องเร่งเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานอยู่ได้หลังจากที่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ขึ้นมานานแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงชีพได้ ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้เร่งดำเนินการเพื่อเป็นของขวัญแก่ผู้ใช้แรงงานในวันแรงงานสากลนี้

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องให้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงกว่านี้ ในภาวะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีความขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะข้าวสาลี น่าจะต้องทำให้ราคาข้าวไทยมีราคาสูงขึ้น ส่งออกได้มากขึ้นกว่านี้มาก ไม่ใช่ชาวนาและเกษตรกรต้องมาเจอ น้ำมันแพง ข้าวของแพง ค่าครองชีพสูง ปุ๋ยแพง อาหารสัตว์แพง แต่ผลผลิตทางการเกษตรราคากลับไม่ขึ้น หรือขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ชาวนา และเกษตรกรจะอยู่กันไม่ได้ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทย เพื่อให้มีเงินไหลเวียนในระบบมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ ผู้มีรายได้น้อย และ คนหาเช้ากินค่ำให้เพียงพอกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงมาก

ส่วนกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ในการเพิ่มรายได้ให้กับ ชาวนาและเกษตรกร ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่มากขึ้น เพิ่มพื้นที่ชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ และต้องทำการตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยขายได้ในราคาที่ดีกว่านี้ อย่ามัวแต่ยุ่งกับปัญหาข่าวฉาวของพรรค และทะเลาะกันหนักในพรรค โดยละเลยหน้าที่ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการบริหารที่ต่ำอยู่แล้ว ยิ่งต่ำลงไปอีก

ที่มา: เดลินิวส์, 29/4/2565

อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ทำเงินเฟ้อพุ่ง เร่งนายจ้างเลิกจ้างเร็วขึ้น

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความคิดเห็นถึงกรณีองค์กรผู้ใช้แรงงาน เสนอให้มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาททั่วประเทศ

ดร.เดชรัต ให้ความเห็นว่า แม้จะเห็นด้วยกับการเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 492 บาททั่วประเทศ ก็มองว่าค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศ ถือว่าค่อนข้างสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ถึง 5 เท่า

ประกอบกับปัญหาของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ยังคงประสบปัญหาถึง 2 อย่างในขณะนี้ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ กับปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงชะลอตัว ทั้งจากภาวะสงครามและราคาน้ำมัน ดังนั้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรงในอัตราที่สูงมาก จะส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงมากขึ้น และเศรษฐกิจภาพรวมที่กำลังจะฟื้นตัวก็อาจจะชะลอตัวลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดเมื่อปี 2556 รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และหากเทียบกับความสามารถในการผลิตของแรงงานในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าแรงงานมีความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ดังนั้นจึงควรที่จะปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ที่ราวร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเชื่อว่าหากปรับในอัตราคงที่ ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันจะอยู่ที่ราว 360-380 บาท

นอกจากนี้พบว่า อัตราการปรับขึ้นค่าแรงตลอดระยะเวลา 10 ปี ถือว่ามีอัตราการปรับขึ้นค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันควรพิจารณาปรับค่าแรงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เกณฑ์ 2 ปัจจัย คือ

1.อัตราค่าครองชีพในปัจจุบันหรือภาวะเงินเฟ้อ ที่หากมีอัตราเงินเฟ้อที่สูง ก็ควรที่จะมีการปรับอัตราค่าแรง ให้แรงงานสามารถมีกำลังในการซื้อที่เท่าเดิม  และ 2.ควรจะพิจารณาจากความสามารถในการผลิตของแรงงาน ที่หากมีความสามารถมาก นายจ้างก็ควรให้รางวัลตอบแทนการผลิตที่แรงงานสร้างให้ อย่างไรก็ตาม หากมีการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเกินไป จะส่งผลเสีย 2 อย่างตามมา คือ 1.สภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะฟุบต่อเนื่องยาวนาน และจะทำให้แรงงานอาจถูกเลิกจ้าง หรือสูญเสียตำแหน่งงานในหลายสาขาการผลิต

2.จะเป็นการกระตุ้นให้ต้นทุนของนายจ้างในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และในระยะยาวจะส่งผลให้นายจ้างลงทุนในการนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี เข้ามาใช้ทดแทนแรงงาน ซึ่งจะทำให้แรงงานถูกลดจำนวนลง

ที่มา: TNN, 28/4/2565

วันแรงงานสหภาพแรงงานเรียกร้อง ขสมก. แก้ปัญหาองค์กร 20 ข้อ

นายบุญมา ป๋งมา รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า ในเวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ค.นี้ ตนพร้อมสมาชิกจะไปยื่นหนังสือถึงนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ สำนักงานใหญ่ ขสมก. เนื่องจากวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันกรรมกรสากล (วันแรงงานแห่งชาติ) ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญของกรรมกร และพนักงานที่ต้องตรากตรำในการประกอบอาชีพ จึงเป็นโอกาสที่ดีของพนักงานที่จะเสนอความต้องการผ่านตัวแทนสหภาพแรงงานฯ เพื่อให้ผู้บริหารนำไปปรับปรุงแก้ไข สร้างขวัญและกำลังใจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพนักงาน มีข้อเรียกร้อง 20 เรื่องดังนี้

1.ให้จัดหาอู่รถโดยสาร (รถเมล์) โดยการซื้อหรือเช่าซื้อ เพื่อให้เป็นทรัพย์สินของ ขสมก. ปรับปรุงพื้นที่อู่ที่ชำรุด และให้ตรวจสอบการใช้พื้นที่อู่เขตการเดินรถที่ 1-8 เกิดการใช้พื้นที่เป็นประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอู่ท่าอิฐ และท่าจอดรถใต้สะพานพระรามสี่ 2.เร่งรัดปรับเบี้ยเลี้ยงพนักงานเก็บค่าโดยสาร จาก 20 บาท เป็น 40 บาท ตามที่คณะกรรมการบริหารกิจการสัมพันธ์ได้เห็นชอบแล้วในสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงขอให้ปรับเบี้ยเลี้ยงให้พนักงานเก็บค่าโดยสาร เป็น 40 บาท/วัน เฉพาะที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543

3.เร่งรัดจัดประชุมเจรจาข้อเรียกร้อง ที่สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2543 เนื่องมีปัญหาอยู่เป็นจำนวนมาก 4.ให้ปรับเพิ่มเงินสมทบให้กับพนักงานผู้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้ฝ่ายนายจ้างจ่ายเงินสมทบเป็นขั้นบันใด ไม่น้อยกว่าปีละ 1 บาท จนกว่าจะครบ 15% ตามที่กฎหมายกำหนด 5.ให้จัดหารถเมล์ใหม่แทนรถเก่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.62 ที่มีสภาพทรุดโทรมมาก 6.ขอให้หยุดเดินรถในเส้นทางที่ไม่สามารถประมูลได้จำนวน 28 เส้นทาง เนื่องจากเอกชนได้เส้นทางไปแล้ว เช่น สาย 71 สาย 77 สาย 140 สาย 515 สาย 97 และสาย 39 เป็นต้น 7.ขอให้พนักงานขับรถ และ พนักงานเก็บค่าโดยสาร มีวันหยุดเพิ่มจากเดิมอีก 1 วัน เป็นเดือนละ 5 วัน

8.ขอให้เปิดรับสมัครพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกเขต เนื่องจากขณะนี้มีพนักงานลาออก/เกษียณ/เลื่อนตำแหน่ง และป่วย ทำให้ทั้งสองตำแหน่งขาดทุกเขต ขอให้เปิดรับในวันที่ 1 พ.ค.65 เป็นต้นไป 9.ให้ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในองค์การ และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใส 10.ต้องให้สภาพแรงงานฯ มีส่วนร่วมในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผลประโยชน์ของสมาชิกฯ ตามสภาพการจ้าง 11.ให้ประเมินผลประสิทธิภาพ คู่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาเช่าสัญญาณ GPS และเหมาซ่อม 12.ให้เปลี่ยนเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC ให้เป็นเครื่องเล็ก และเปลี่ยนระบบให้เป็น 5G ระบบไม่เสถียรทำให้เก็บค่าโดยสารไม่ได้ ขาดรายได้เป็นจำนวนมาก

13.ขอให้ปรับเบี้ยขยันพนักงานที่ทำงานติดต่อกันเกิน 22 วัน ขึ้นไปให้ปรับเป็น 300 บาท 14.ให้ปรับโครงสร้างให้เป็นบัญชีโครงสร้างเงินเดือนจากบัญชี ก. กับบัญชี ข. เป็นบัญชีเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมกับพนักงาน 15.ขอทราบความคืบหน้าการต่อสัญญาเช่าอู่บางพลี เนื่องจากหมดสัญญาในปี 66 16.ให้ตรวจสอบอัตรากำลังแฝง และพนักงานทำงานไม่ตรงตำแหน่ง เนื่องจากสร้างความเหลื่อมล้ำในสถานที่ทำงาน 17.ขอให้สนับสนุนเงินในกิจกรรมของสหภาพแรงงานฯ ในการอบรม-สัมมนา และประชุมใหญ่สามัญประจำปี ไม่น้อยกว่าปีละ 300,000 บาท

18.ขอให้ปรับการลาพักผ่อนประจำปีสำหรับพนักงานที่ไม่ใช้สิทธิการลา ให้ปรับเป็นการจ่ายเป็นเงินแทน 19.ตามข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ให้มีผลผูกพันธ์เฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เท่านั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ และ 20.ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการนำเสนอรัฐบาลให้ปรับปรุงรถโดยสารปรับอากาศและรถเมล์ธรรมดา (รถเมล์ร้อน) ครีมแดง ซึ่งเป็นทรัพย์สินขององค์การ และให้เก็บค่าโดยสารรถปรับอากาศ 15 บาทตลอดสาย รถครีมแดงบริการฟรี โดยให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย

ที่มา: เดลินิวส์, 28/4/2565

ผลสำรวจแรงงานปี 2565 พบหนี้ครัวเรือนพุ่งถึง 99% สูงสุดรอบ 14 ปี

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยปี 2565 ว่า แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมถึง 67.7% และ 32.3% มีเงินออมที่มาจากรายได้ ส่วนใหญ่ของแรงงานไม่มีอาชีพเสริม และจากการสำรวจเพิ่มเติม พบว่า แรงงานมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 99% ซึ่งสูงจาก 95% ในปี 2562 โดยการสร้างหนี้ส่วนใหญ่มาจากการใช้จ่ายประจำวัน หนี้บัตรเครดิต สูงที่สุด และนำเงินไปใช้เงินกู้ รองลงมาเป็นหนี้ที่เกิดจากที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ส่วนผลสำรวจทัศนะทั่วไปของแรงงานไทยในปัจจุบัน พบว่า แรงงานกังวลปัญหาเศรษฐกิจ ราคาสินค้าในอนาคต การแพร่ระบาดของโควิด-19 การใช้หุ่นยนต์มาแทนแรงงาน โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล คือ ค่าครองชีพ ราคาสินค้า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การว่างงาน ส่วนการใช้จ่ายในวันแรงงาน 1 พ.ค.2565 คาดว่า จะมีเงินสะพัดเพียง 1,525 ล้านบาท ลดลง 14.9% ทั้งนี้ แรงงานยังเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่เหมาะสม มีความคาดหวังที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แรงงานในปัจจุบัน มีหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย 5,000-10,000 บาทต่อเดือน ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ โดยผลสำรวจพบว่า มีหนี้เพิ่มขึ้น 99% หรือหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 217,952.59 บาท เพิ่มขึ้น 5.09% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจมา ยกเว้นปีที่มีการล็อกดาวน์ที่ไม่มีการสำรวจ

ทั้งนี้ แรงงานไม่กังวลในเรื่องการตกงาน เพราะมองว่า เศรษฐกิจไม่ทรุดตัวไปมากกว่านี้ โดยปัจจุบัน ไทยมีการว่างงานเพียง 2% แต่สิ่งที่แรงงานกังวลมากสุด คือ ราคาสินค้า จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง

ทางด้านข้อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาท เห็นว่า มีโอกาสการปรับขึ้นค่อยข้างยาก เพราะเป็นการปรับขึ้นสูงมาก จากปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 336 บาท ถ้าจะปรับขึ้นหากจะมีการปรับขึ้นมองว่าควรจะปรับขึ้น 3-5% ตามอัตราเงินเฟ้อ หากปรับในอัตราสูง จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และจะเป็นการเร่งให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น และปลดแรงงาน

สำหรับการลอยตัวน้ำมันดีเซลที่จะเริ่ม 1 พ.ค.2565 โดยปรับขึ้นแบบบันได หลังจากรัฐตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร จะปรับขึ้น 32-35 บาทต่อลิตร ประเมินว่ามีผลต่อการชะลอตัวเศรษฐกิจ และต้นทุนราคาสินค้า

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/4/2565

WHO หารือกระทรวงแรงงาน เตรียมพร้อมภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

27 เม.ย. 2565 คณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) นำโดย ดร.ซามีรา อาสมา (Dr. Samira Asma) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ประจำสำนักงานใหญ่ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดร.สเตลลา ชุงกอง (Dr. Stella Chungong) ผู้อำนวยการการเตรียมความพร้อมเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วานนี้ (26 เมษายน 2565) ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือโครงการนำร่องกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยมีนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลจากการบูรณาการทำงานร่วมกันตามนโยบายรัฐบาลที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ที่ได้ให้กระทรวงแรงงานบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาหลายด้าน อาทิ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อนำเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย, โครงการ Factory Sandbox, การตรวจคัดกรองเชิงรุก RT-PCR 100% ภายใต้โครงการ “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน”, การจัดหาเตียง Hospitel รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19, การเปิดสายด่วนให้ความช่วยเหลือ ประสานหาเตียงรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19, การตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนเพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นต้น

นายสุชาติ ยังกล่าวต่อว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานเร่งให้การช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มแรงงาน และรักษาระดับการจ้างงาน ประคับประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ อีกทั้งยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคส่งออกเติบโตต่อเนื่อง โดยมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ

ประการที่ 1 รักษาการจ้างงานและรักษาศักยภาพธุรกิจภาคส่งออกที่มีภาคแรงงานกว่า 2 ล้านคน ใน 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากหลายประเทศไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ประการที่ 2 การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ซึ่งในช่วงแรกมีวัคซีนจำกัด จึงต้องจัดสรรให้ผู้สูงอายุก่อน ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศ จึงขอรับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และป้องกันไม่ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานต้องนำเชื้อโควิด-19 ไปติดผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว

จึงได้ดำเนินโครงการ Factory Sandbox ตามนโยบายรัฐบา ลด้วยหลักการเศรษฐศาสตร์คู่กับสาธารณสุข ทั้งการตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล เยียวยา การให้ความช่วยเหลือ การฉีดวัคซีน ตรวจคัดกรองโควิด-19 เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจเดินได้

ประการที่ 3 สำนักงานประกันสังคมมีโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศรวมกว่า 200 แห่ง ซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการรองรับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อาศัยสถานพยาบาลเหล่านี้ในการตรวจคัดกรอง ดูแลรักษา และฉีดวัคซีนแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

ประการที่ 4 กระทรวงแรงงานได้ทำงานใกล้ชิดกับสหภาพแรงงาน จึงทำให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด บรรลุวัตถุประสงค์และตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

“กระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณองค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ให้การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการดูแลผู้ใช้แรงงานให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจส่งออกเติบโตในรอบ 11 ปี

ช่วยเหลือสถานประกอบการจนทำให้สามารถรักษาการจ้างงาน และบางบริษัทสามารถจ่ายโบนัสได้ถึง 8 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ลูกจ้างกลุ่มยานยนต์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวข้ามช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปได้” นายสุชาติกล่าว

ดร.ซามีรา อาสมา กล่าวว่า ขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ได้ให้เข้ามาหารือ เพื่อให้ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการนำร่องกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า

“ขอชื่นชมรัฐบาล กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคเอกชนที่ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกันเพื่อหาความสมดุลในการดูแลสุขภาพของพี่น้องแรงงานช่วงโควิด-19 โดยไม่ให้ภาคธุรกิจต้องปิดกิจการ

โดยไม่ได้สนใจแค่เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญหลักเศรษฐศาสตร์คู่สาธารณสุข และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีเลิศในการให้ต่างชาติได้เรียนรู้จากประสบการณ์บริหารความเสี่ยงเพื่อนำไปปรับใช้ในช่วงวิกฤตได้ต่อไป”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/4/2565

สภาองค์กรนายจ้างระบุข้อเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเกือบ 50% เป็นไปไม่ได้ เสนอรัฐปรับอัตราค่าจ้างตามความผันผวนของเงินเฟ้อ หวั่นการเมืองแทรกแซง

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาททั่วประเทศ โดยระบุว่า ข้อเสนอของตัวแทนลูกจ้าง ยังไม่ชัดเจนว่าตัวเลข 492 บาท มีที่มาอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยมีอยู่ 8 ระดับตามพื้นที่ ซึ่งหากยึดค่าจ้างขั้นต่ำใน กทม.ที่อัตรา 331 บาทต่อวัน มาคำนวณ จะเท่ากับ มีการปรับค่าจ้างขึ้นไปถึงวันละ 161 บาท หรือขึ้นถึง 48.6% ซึ่งเป็นอัตราที่นายจ้างรับไม่ไหว การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะพิจารณาร่วมกัน โดยต้องพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง แม้จะเห็นใจแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่สาเหตุของเงินเฟ้อครั้งนี้มาจากเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้มาจากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น และผู้ประกอบการไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าได้เหมือนภาวะเงินเฟ้อปกติ

“สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศขณะนี้ก็ยังไม่ค่อยดี ไม่ใช่เวลาที่จะปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะเดียวกันยอมรับว่า มีความกังวลว่า เรื่องค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ จะถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อสนองนโยบายประชานิยม จนมีการแทรกแซงไปยังคณะกรรมการไตรภาคี ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อหวังผลทางการเมือง”

รองประธานสภาองค์กรนายจ้าง เสนอว่าหากรัฐบาลต้องการดูแลแรงงาน สามารถเลือกให้ความช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ในระยะสั้น 3 เดือน หรือ หากจะมีการปรับค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรนำอัตราเงินเฟ้อมาประกอบการพิจารณา ซึ่งหลายสำนักประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 5% ก็ไม่ควรขึ้นค่าจ้างเกิน 5% จากอัตราในปัจจุบัน ซึ่งหากคำนวณโดยอัตราค่าจ้างใน กทม. ก็จะเท่ากับปรับขึ้นมาอีก วันละ 16.50 บาท หรือเดือนละไม่เกิน 500 บาท ก็น่าจะอยู่ในระดับที่ช่วยเหลือกันได้

เมื่อวันที่ 25 เมษายน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกัน 492 บาทโดยระบุว่าได้รวบรวมข้อมูลความเป็นจริง จากแรงงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากหน่วยงานรัฐ ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และในสถานการณ์ของประเทศไทย ถึงภาวะการดำรงชีพของคนงานและประชาชนที่มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในช่วงของการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศให้เท่ากัน ทั้งในระยะยาวรัฐบาลต้องสร้างมาตรฐานและหลักประกันที่มั่นคงแก่คนงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“นายทุนออกมาปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่คนงานยื่นข้อเสนอต่อรัฐ เพียงแค่ยื้อชีวิตให้ไปต่อได้เท่านั้น”

“คุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกัน รัฐบาลต้องยืนยันปรับค่าจ้าง เพื่อความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ 492 บาทต่อวัน เท่ากันทั้งประเทศ” ข้อเรียกร้องนี้ สูงกว่านโยบายพรรคพลังประชารัฐช่วงหาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ที่จะยกระดับค่าแรงค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400-425 บาทต่อวัน ไม่รวมเงินเดือนระดับอาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน และปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน

ที่มา: คมชัดลึก, 26/4/2565

ปลัดแรงงาน ยันเร่งสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน ส.ค. 65 นี้ ชี้ 492 บาททั่วประเทศเป็นไปไม่ได้

26 เม.ย. 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกันที่ 492 บาท ว่า เป็นข้อเรียกร้องที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานต้องการ ซึ่งเราก็รับไว้พิจารณา ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีด้วย

“แต่เราได้ชี้แจงแล้วว่า หลักการพิจารณาเป็นไปตามที่คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ จะหารือเรื่องของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเรามีไทม์ไลน์อยู่แล้วในการพิจารณา และตอนนี้เราก็เริ่มพิจารณาแล้ว ซึ่งในขณะนี้ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูลตัวเลขจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเราพยายามเร่งรัดให้แต่ละจังหวัดสรุปตัวเลขให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน หรือไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ และคณะอนุกรรมการจากทุกจังหวัดจะต้องนำข้อสรูปส่งมาที่ส่วนกลาง ในส่วนของส่วนกลางเองก็จะพยายามทำให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม ไม่เกินเดือนกันยายน 2565 ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นไปตามไทม์ไลน์ และคงจะได้รู้ในเวลานั้น ส่วนเรื่องที่สมควรจะขึ้นค่าแรงหรือไม่นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัว คิดว่าน่าจะขึ้น แต่จะขึ้นเท่าไร ไม่อาจทราบได้ ตัวผมเองพยายามจะเร่งให้เสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ฝ่ายนโยบายได้ตัดสินใจต่อไป” นายบุญชอบ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ถึง 492 บาททั่วประเทศ ตามคำเรียกร้อง นายบุญชอบ กล่าวว่า เวลาทำจะต้องดู 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 ดูในสถิติเก่าๆ ว่า การขึ้นค่าแรงของคณะกรรมการไตรภาคี เคยขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นนั้นหรือไม่ 2.หากต้องการขึ้นแบบนั้น ต้องดูที่นโยบาย

“ยกตัวอย่างเมื่อปี 2556 รัฐบาล สมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำหนดให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศเป็น 300 บาท แต่ว่าวันนี้ สิ่งแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า ในแต่ละจังหวัดมีฐานของตัวเอง จังหวัดต่ำสุดคือ 313 บาท จังหวัดสูงสุดคือ 336 บาท ต่างกัน 23 บาท ดังนั้น โอกาสที่จะทำให้มาเท่ากัน ถ้าพูดตรงๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตอนที่เราให้พนักงานไตรภาคีจังหวัดพิจารณา เขาต้องเอาจากฐานเดิมว่า ล่าสุดคือเท่าไร พร้อมกับตัววัดต่างๆ ซึ่งมีสูตรคำนวนอยู่แล้ว ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่ตัวจังหวัดก่อน เราไม่สามารถชี้ได้” นายบุญชอบ กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลเข้าใจปัญหาของประชาชน แต่ว่าในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งมีสูตรในการคำนวนอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับจังหวัดด้วย เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพต่างๆ เชื่อว่ากรรมการไตรภาคีมองถึงประโยชน์ส่วนรวม ไม่ได้มองข้างตัวเองเป็นหลัก จึงอยากให้มั่นใจว่าคณะกรรมการมองทั้ง 2 ด้าน ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง และเชื่อว่าสิ่งที่จะออกมาเป็นสิ่งที่เหมาะสม มีเหตุและมีผล และขอยืนยันเช่นนี้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/4/2565

"ครูคลังสมอง" 1,903 อัตราจ่อยื่นถวายฎีการ้องทบทวนถูกเลิกจ้าง

25 เม.ย.2565 ตัวแทนบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือครูคลังสมอง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสถานี โทรทัศน์ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังถูกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เลิกจ้างครูคลังสมองทั้ง 1,903 อัตราในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และอ้างว่าภารกิจประสบความสำเร็จ

น.ส.หนึ่งฤทัย ชัยรส ตัวแทนครูคลังสมอง กล่าวว่า กรณีการถูกบอกเลิกจ้าง ส่งผลกระทบต่อครูเป็นอย่างมาก เพราะบางคนมีภาระหนี้สินจากการกู้สถาบันการเงินตามสิทธิ์ของสพฐ. สินเชื่อรถยนต์ ค่าเช่าบ้าน และบางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก หากต้องเลิกจ้างครูวิทย์คณิต จะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน เพราะอาจจะได้ครูที่ไม่ได้จบคุรุศาสตร์ทางด้านนี้โดยตรงมาสอน และในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ตัวแทนครูจะเข้ายื่นถวายฎีการ้องทุกข์ เพื่อขอให้ สพฐ.พิจารณาทบทวนการจ้างครูคลังสมองต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 25/4/2565

รายงานชี้ตลาดยานยนต์เปลี่ยน เสี่ยงตกงาน 7-8 แสนคน

25 เม.ย. 2565 KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนเป็น EV ทำไมไทยเสียเปรียบคู่แข่ง?” เผยไทยอยู่ภาวะซ้ำรอยออสเตรเลีย หลังค่ายญี่ปุ่นฐานผลิตหลักปรับตัว-แผนผลิตรถอีวี จีน-อินโดนีเซียแซงไทยตลาดส่งออกรถจาก 1.7% เหลือ 1.3% ชี้ตลาดเปลี่ยนเป็นรถ EV กระทบการผลิตชิ้นส่วน มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จะลดลงจาก 53% เหลือเพียง 34% ห่วงแรงงานจำนวน 7-8 แสนคนอยู่ในภาวะเสี่ยงตกงาน

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทย โดยเติบโตจากการลงทุนทางตรงและการย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นเป็นหลัก แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นเพราะนโยบายเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ การเปิดเสรีทางการค้า และนโยบายสร้างแรงจูงใจ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตามข้อสังเกต คือ การย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงนั้นเกิดขึ้นหลังการทำข้อตกลงพลาซาในปี 1985 ที่ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากจึงทำให้ญี่ปุ่นเสียความสามารถในการแข่งขันและย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย

แต่ตอนนี้ประเทศไทยอาจไม่โชคดีที่มีคนช่วยเหมือนในอดีต KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนเป็น EV ทำไมไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ?” ประเมินว่าอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งนโยบายลดภาษีอย่างเดียวจะไม่ได้ผลในการพัฒนาอุตสาหกรรมอีกต่อไป

แต่ต้องพัฒนานวัตกรรมของไทยเอง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยยังพึ่งพาแต่นวัตกรรมจากญี่ปุ่นเป็นหลัก ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ไทยไม่สามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เหมือนที่เคยเป็นฐานการผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอีกต่อไป

ในระยะสั้น KKP Research ประเมินว่ายังเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งโลกจะหันมาใช้ EV แทนรถยนต์ ICE (Internal Combustion Engine, เครื่องยนต์สันดาปภายใน) ทั้งหมดในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ เนื่องจากกำลังการผลิตแร่ลิเทียม ซึ่งต้องใช้ในการผลิตแบตเตอรี่อยู่ที่ 1 แสนตันต่อปี ซึ่งเพียงพอกับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV เพียง 11 ล้านคันเท่านั้น ในขณะที่ผลิตรถยนต์ทั่วโลก 80 ล้านคันต่อปี ซึ่งหมายความว่าในระยะสั้น ยอดขายรถยนต์ EV จะเติบโตได้อย่างมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 30% ลดลงจากช่วง 2019-2021 ที่โตเฉลี่ยปีละ 70% KKP

Research คาดว่ายอดขาย EV ทั่วโลกในปี 2025 จะมีสัดส่วน 16.9% ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมด ในขณะที่สำหรับไทย จะโตได้ในอัตราที่ต่ำกว่าและมีสัดส่วนเพียง 4.5% เพราะราคา EV ยังแพงกว่า ICE มากและมีทางเลือกน้อย อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ที่กำลังพัฒนา เช่น Solid-State Battery และ Hydrogen Fuel Cell รวมถึงกำลังผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ราคารถยนต์ EV ลดต่ำลง และสนับสนุนให้ยอดขายรถยนต์ EV เติบโตได้เร็วขึ้น

สถานการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคล้ายกับออสเตรเลียในอดีต ย้อนไปปี 1970 ออสเตรเลียผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก โดยมีการผลิตกว่า 5 แสนคัน ต่อปี แต่ตอนนี้การผลิตลดลงเหลือแค่ 5 พันคัน ต่อปี เพราะการปรับตัวที่ไม่ทันการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในออสเตรเลีย ทำให้บริษัทญี่ปุ่นตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์คล้ายกับออสเตรเลียในอดีต คือ

รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง แต่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยังปรับตัวช้าจากแผนการผลิตรถยนต์ EV ที่น้อยกว่ารถยนต์ค่ายยุโรปและอเมริกามาก ซึ่งจะส่งผลเสียเพราะไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์ญี่ปุ่น คล้ายกับบริษัท GM-Holden ในออสเตรเลียที่ไม่ปรับตัวตามความต้องการของตลาดโลก

การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น จีนและอินโดนีเซียอาจกำลังส่งออกแซงไทย สัดส่วนการส่งออกรถยนต์ในตลาดโลกไทยมีสัดส่วนลดลงจาก 1.7% เหลือ 1.3% ในขณะที่จีนเพิ่มขึ้นจาก 0.7% เป็น 1.5% โดยไทยโดนจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศออสเตรเลีย และโดนอินโดนีเซียแย่งส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและฟิลิปปินส์

ไทยกำลังเผชิญปัญหา Economies of scale เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่เป็นประเทศพวงมาลัยขวา (Right-Hand Driving) ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กอยู่แล้ว โดยมีสัดส่วนแค่ 1 ใน 6 ของโลก เมื่อเจอกับปัญหาตลาดในประเทศที่หดตัวลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ลดลง และการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้คนน้อยลงทำให้ปริมาณการผลิต (Scale) มีความสำคัญมากขึ้นมาก จะทำให้ไทยเสียเปรียบด้านต้นทุน หรือ การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ในขณะที่การเปลี่ยนมาผลิตพวงมาลัยซ้ายทำได้ยาก

การมี FTA กับประเทศจีน ทำให้สามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่มีภาษี และการนำเข้ารถยนต์ EV จากจีนมีแนวโน้มที่จะถูกกว่าการผลิตเองภายในประเทศ เพราะปริมาณการการผลิตรถยนต์ EV ที่จีนมีขนาดใหญ่กว่าไทย ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อคันถูกกว่า และไม่มีความจำเป็นที่ไทยต้องนำเข้าชิ้นส่วน เช่น แบตเตอรี่มาประกอบเอง สถานการณ์คล้ายกับออสเตรเลียในอดีตที่เริ่มมี FTA กับไทยและท้ายที่สุดนำเข้ารถยนต์จากไทยแทน

มูลค่าเพิ่มหลักกว่า 30% ของรถยนต์ไฟฟ้า คือ Li-Ion Battery ซึ่งไทยแทบไม่มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทาน และเสียเปรียบคู่แข่งในหลายมิติ 1) ไทยไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนจีน การผลิตแบตเตอรี่จำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งปัจจุบันจีนครอบครองการผลิตจำนวนมาก โดยบริษัท CALT ในจีนครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% ซึ่งสะท้อนข้อจำกัดในการเข้าตลาดสำหรับคู่แข่งรายใหม่

2) อินโดนีเซียเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเพราะเป็นแหล่ง Nickel ที่สำคัญของโลกมากถึง 30% ประกอบกับต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า และตลาดที่ใหญ่กว่า ทำให้เริ่มเห็นหลายบริษัท เช่น LG Energy Solution และ Hyundai Motor ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับสองของโลกเริ่มเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย น่ากังวลว่าท้ายที่สุดประเทศไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดของยานยนต์ไปให้จีนและอินโดนีเซียมากขึ้นเรื่อย ๆ

KKP Research ประเมินว่าการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ EV จะทำให้ชิ้นส่วนที่ถูกกระทบรุนแรงต้องหยุดการผลิตลงและหากสมมติให้ประเทศไทยยังสามารถทำหน้าที่ผลิตและส่งออกรถยนต์ได้จำนวนเท่าเดิม แต่เปลี่ยนไปผลิต EV แทน มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จะลดลงจากในปัจจุบันที่ 53% เหลือเพียง 34% เท่านั้น

โดยมูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่จะเกิดจากการผลิตแบตเตอรี่เป็นส่วนสำคัญแทน ซึ่งยังไม่นับรวมกรณีเลวร้ายที่ไทยส่งออกรถยนต์ได้ลดลงด้วยทั้งหมดจะส่งผลต่อเนื่องให้แรงงานจำนวน 7-8 แสนคนอยู่ในภาวะเสี่ยงตกงาน และหากไทยต้องเปลี่ยนจากประเทศผู้ผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกกลายมาเป็นประเทศที่ต้องนำเข้ารถยนต์ส่วนใหญ่ ดุลการค้าไทยในทศวรรษหน้ามีความเสี่ยงกลายเป็นขาดดุลได้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 25/4/2565

กลุ่มสหภาพแรงงานส่งจดหมายเปิดผนึกขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ

25 เม.ย. 2565 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกัน 492 บาท ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวระบุว่า จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรื่อง ขอให้รัฐบาลเร่งปรับค่าจ้าง เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน เรียน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ใช้ความพยายามเพื่อผลักดันให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อความเป็นธรรมในสังคม และการดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เหตุด้วยสภาวการณ์เศรษฐกิจโดยรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั้งของประเทศไทย และทั่วโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้ราคาสินค้าทุกรายการ ทั้งอาหารการกิน เครื่องมือ เครื่องใช้ ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ทำให้คนงานและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และประชาชนต่างใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างยากลำบาก และยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนงานจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้ ไร้อาชีพ บางคนต้องเข้าโครงการทำงานที่บ้าน (Work from home) เพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 แต่ต้องแบกรับภาระจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต แทนผู้ประกอบการที่ตนทำงานให้ ทำให้แต่ละคนต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ในขณะที่ค่าจ้างไม่ได้มีการปรับมาเกือบ 3 ปีแล้ว นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งประเทศไทยถูกจัดลำดับจาก CS Global Wealth Report เมื่อปี 2018 จนถึงปัจจุบันว่าเป็นประเทศที่ “มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก”

หลายประเทศได้ให้น้ำหนักและความสำคัญกับคนงาน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ที่กล่าวเช่นนั้นเหตุผลเชิงประจักษ์ ก็คือ การที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุน และมีการจ้างงาน อัตราการว่างงานสามารถควบคุมได้ย่อมเป็นสัญญาณการเติบโตของประเทศ แล้วการที่ประเทศใดๆ สามารถสร้างงานย่อมหมายถึง การสร้างคน สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการหมุนเวียน เกิดการผลิต มีการจ้างงาน เกิดรายได้ มีการจับจ่าย เพราะท้ายที่สุดแล้วรายได้ของแรงงานย่อมหมายถึงภาษีที่รัฐสามารถจัดเก็บได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนั่นคือ เป้าหมายที่แท้จริงของการสร้าง ความมั่นคง ความมั่งคั่ง ความยั่งยืนให้กับประเทศ

ครั้งสุดท้ายของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกแบ่งออกเป็น 10 ราคา ตามเขตพื้นที่ คือ 313, 315, 320, 323, 324, 325, 330, 331, 335 และ 336 บาท แต่หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึงอาจเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลและผู้ประกอบการบางแห่งอ้างว่า ระบบการผลิต การจ้างงาน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะตกต่ำ ธุรกิจ สถานประกอบการ ร้านค้า ต้องลดการผลิต บางแห่งต้องปิดกิจการไปเลย ทำให้เกิดการเลิกจ้างแต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่อาศัยสถานการณ์โรคโควิด ปลด เลิกจ้างคนงาน โดยไม่จ่ายเงินใดๆ ทำให้คนงานเป็นจำนวนมากขาดรายได้ ไร้อาชีพ ดังที่กล่าวมา แม้รัฐบาลพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และแจกจ่ายเงินให้แก่ประชาชนในโครงการต่างๆ

รวมทั้งมาตรการของระบบประกันสังคม แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนงานมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะการช่วยเหลือเป็นเพียงระยะสั้นๆ และเงินที่นำมาแจกก็ล้วนเป็นเงินที่กู้มา ซึ่งจะเป็นหนี้สาธารณะในอนาคต ที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องร่วมชดใช้ แต่ในอีกด้านหนึ่งในขณะที่ประชาชนทุกข์ยากอย่างหนักแต่รัฐบาลเองกลับไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้อยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยไม่เดือดร้อน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความทุกข์ยากของประชาชนที่มีอยู่แล้วกลับเพิ่มสูงมากขึ้น ข้อมูลทั้งจากสถาบันทางการเงิน สถาบันวิจัยของรัฐและเอกชนหลายแห่งต่างวิเคราะห์ที่สอดคล้องกัน คือ ภาวะอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบด้านแรงงานอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงาน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เคยแถลงนโยบายต่อสาธารณะว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยวันละ 425 บาท จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้แต่ประการใด และที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เคยยื่นนำเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 421 บาท และ 700 บาท โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2560 เหตุผลในการขอปรับเพิ่มนั้นมาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแสดงถึงความต้องการถึงความเดือดร้อนค่าจ้างไม่พอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัว แม้กระทั่งลูกจ้างในภาครัฐที่รัฐเป็นผู้จ้างงานเองแต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐประกาศโดยอ้างว่าลูกจ้างภาครัฐไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อหลักปฏิญญาสากล ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

อย่างไรก็ตาม การเสนอเรื่องตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ใช้ข้อมูลการสำรวจจากความเดือดร้อนของคนงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2560 ผลสรุปจากแบบสอบถามคือค่าใช้จ่ายรายวันๆ ละ 219.92 บาท เดือนละ 6,581.40 บาท (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร) ค่าใช้จ่ายรายเดือน (เช่น ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต การศึกษาบุตร ดูแลบุพการี ค่าใช้จ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน) เดือนละ 14,771.52 บาท หากนำค่าใช้จ่ายรายวัน และ รายเดือน มารวมกันจะอยู่ที่ 21,352.92 บาท เป็นค่าจ้างที่พอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่วันละ 712 บาท แต่ คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกันและมีมติเสนอตัวเลขในการปรับค่าจ้างเชิงประนีประนอมโดยคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนมาเฉลี่ยด้วย 30 วัน

ดังนั้น ตัวเลขที่เสนอปรับค่าจ้างในครั้งนี้จึงอยู่ที่ วันละ 492 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เหตุเพราะราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีการปรับพร้อมกันทั้งประเทศไม่ได้เลือกเขต เลือกโซน เลือกจังหวัด และ เกือบทุกรายการราคาสินค้าในต่างจังหวัดสูงกว่าในกรุงเทพมหานคร และส่วนกลาง

ข้อเสนอทั้งหมดดังกล่าว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้รวบรวมข้อมูลความเป็นจริง จากแรงงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากหน่วยงานรัฐ ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และในสถานการณ์ของประเทศไทย ถึงภาวะการดำรงชีพของคนงานและประชาชนที่มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในช่วงของการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศให้เท่ากัน ทั้งในระยะยาวรัฐบาลต้องสร้างมาตรฐานและหลักประกันที่มั่นคงแก่คนงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ที่มา: มติชนออนไลน์, 25/4/2565

กสร.เตือนนายจ้าง หยุดการสูญเสียจากการทำงานในที่อับอากาศ แนะปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ยังคงมีข่าวเหตุการณ์ลูกจ้างเสียชีวิตจากการทำงานในที่อับอากาศ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมีความห่วงใยในความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของลูกจ้างเนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศเป็นพื้นที่ที่มีทางเข้าออกจำกัด และมีการระบายอากาศที่ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายจากการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงขอให้นายจ้าง และลูกจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 รวมทั้งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยไว้อย่างชัดเจน เช่น กำหนดให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีการประเมินสภาพอันตรายในที่อับอากาศ กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์ช่วยเหลือ และช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงาน กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศต้องได้รับการอบรมตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่าอุบัติเหตุจากการทำงานในที่อับอากาศนั้น สามารถป้องกันได้หากทุกฝ่ายตระหนักและคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน จึงขอเตือนไปยังนายจ้าง และลูกจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของลูกจ้างและนายจ้าง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานสอบถามได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9128-39 ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1-12 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3และ 1546

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 25/4/2565

รมว.แรงงาน ถกร่วม 127 บริษัทจัดหางาน เร่งเครื่องขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ

22 เม.ย. 2565 ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ประจำปี 2565 มีตัวแทนผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 127 บริษัท เข้าร่วม ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้มีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ เพราะประเทศผู้รับแรงงานบางประเทศ มีการปรับนโยบายและชะลอการรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงาน แต่ปัจจุบันประเทศผู้รับแรงงานเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายในการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยปีงบประมาณ 2566 ตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศไว้ประมาณ 50,000 คน ไม่รวมการเดินทางแบบ Re-entry จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแรงงานไทย และภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ

“วันนี้กระทรวงแรงงานได้เชิญผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 127 บริษัท และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในภารกิจการจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ มาร่วมกันหารือ รับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้การจัดส่งแรงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม แรงงานไทยได้รับประโยชน์สูงสุด รับค่าจ้าง สวัสดิการ และการคุ้มครองที่เหมาะสม ตลอดจนป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อปลดล็อก Tier 2 Watch List” นายสุชาติ กล่าวและว่า ขอบคุณผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศที่มีการจัดหางานอย่างมีจริยธรรม ให้ความสำคัญกับประโยชน์สูงสุดของแรงงานไทยซึ่งเป็นกลไกหลักในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต่างให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้แรงงานไทยในการไปทำงานในต่างประเทศมาโดยตลอด ปีนี้กระทรวงแรงงานจะเป็นเรี่ยวแรงหลักในการเจรจากับทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรค ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มแรงจูงใจในการจ้างแรงงานไทยของนายจ้างในต่างประเทศ เพื่อรักษาตลาดแรงงานเดิม และเร่งขยายตลาดแรงงานใหม่

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ กกจ. คือการส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายขยายตลาดแรงงานใหม่ในต่างประเทศ

“ปีที่ผ่านมา สามารถจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานกับซาอุดีอาระเบีย ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น อยู่ระหว่างความพยายามในการจัดทำบันทึกความร่วมมือโครงการวีซ่าเกษตรออสเตรเลีย (Australian Agriculture Visa (AAV) Program) กับออสเตรเลีย และเสนอให้มีการจัดส่งแรงงานรูปแบบ G to G (Government to Government) และ A to A (Agency to Agency) ภายใต้การกำกับดูแล ควบคุมของกระทรวงแรงงาน กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยดำเนินการควบคู่กับการคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มิให้แรงงานไทยถูกหลอกลวงจากสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน ที่ปัจจุบันนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลอย่างมากในการโฆษณาเชิญชวนหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/4/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net