ผุดแคมเปญขึ้นค่าแรงของพนักงานบริการเป็น 2 เท่าสำหรับนักการเมืองและข้าราชการไทย

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงาน ระบุตั้งแต่ปี 63 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 555 วัน ที่ธุรกิจสถานบันเทิงถูกรัฐสั่งปิดส่งผลให้พนักงานบริการไม่มีงานทำ ชี้ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานเป็นแม่และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการเยียวยาที่ล่าช้าของรัฐ พร้อมผุดแคมเปญประกาศขึ้นค่าแรงของพนักงานบริการเป็นสองเท่าสำหรับนักการเมือง และข้าราชการไทย เพราะเงินเดือนของบุคคลเหล่านี้มาจากภาษีของประชาชนรวมถึงพนักงานบริการ ลั่นจะขึ้นค่าแรงจนกว่ารัฐจะชดเชยและยกเลิกความผิดทางอาญากับพนักงานบริการ

29 เม.ย.2565 มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า สืบเนื่องจากวันที่ 1 พฤษภาคม ทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันแรงงานสากล มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จึงออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานสากลโดยมีใจความสำคัญในแถลงการณ์ระบุว่า  กลุ่มพนักงานบริการหรือมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เรารวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมสิทธิของพนักงานบริการ โดยมีสมาชิกในกลุ่ม คือ คนทำงานบริการในสถานบริการ บาร์ คาราโอเกะ อะโกโก้ อาบอบนวด นวดสปา และคนทำงานในพื้นที่อิสระ รวมไปถึงบนแพรตฟอร์มออนไลน์ เราพนักงานบริการทำกิจกรรมเพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงาน และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ได้รับสิทธิ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและตีตรา

555 วัน ที่ถูกสั่งปิดไม่ใช่เรื่องตลก นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงตอนนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ มกราคม ปี 2563 จนกระทั่งปัจจุบัน มีการเยียวยาจากภาครัฐที่พนักงานบริการไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด 120วัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวลง ถูกไล่ออก เกิดภาวะตกงานทั่วประเทศ อีกทั้งการบริหารจัดการแก้ไขของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเราชนะ เราไม่ทิ้งกัน เรารักกัน หรือเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ซึ่งพบว่าเงินเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง บางมาตรการก็เข้าไม่ถึงโดยเฉพาะพนักงานบริการที่ไม่มีประกันสังคมมีถึง 95% รวมไปถึงพนักงานบริการที่เป็นแรงงานข้ามชาติหรือชาติพันธุ์

ผลกระทบที่เกิดกับพนักงานบริการที่มีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง คือ ตกงานไม่มีรายได้ จากการถูกสั่งปิดร้าน มีภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ให้เป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการจนถึงปัจจุบัน แต่การเยียวยาที่ไม่เพียงพอ รัฐบาลไม่มีแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างชัดเจน เสียงจากพนักงานบริการ “ไม่รู้จะได้กลับมาทำงานได้เมื่อไร ไม่มีเงินเยียวยา เงินเก็บหมดไปหนี้สินเพิ่มพูน” เห็นชัดว่าว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลยซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่ผิดพลาด ความล่าช้าของรัฐบาล ไม่เพียงส่งผลกระทบกับพนักงานบริการเพียงคนเดียวเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวของพนักงานบริการ ซึ่งพนักงานบริการ 80% เป็นแม่ เป็นหลักของครอบครัวซึ่งต้องดูแลคนในครอบครัว

เรากลุ่มพนักงานบริการยื่นหนังสือเรียกร้องถึงรัฐบาลในการเยียวยาครั้งล่าสุดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 22 ธันวาคม 2564 โดยมี ตัวแทนของพนักงานบริการ ที่ทำงานในสถานบริการอาทิเช่น อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ นวดสปา และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ เรียกร้องให้รัฐบาลได้ฟังเสียงเรา รวมไปถึงส่ง “รองเท้าส้นสูง” รองเท้าที่ใส่ทำงานซึ่งถือเป็นตัวแทนพนักงานบริการให้กับรัฐบาล เพื่อติดตาม ทวงถาม ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการชดเชยให้กับพนักงานบริการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร่งด่วน และมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนโดยเร็วที่สุด

ภาพที่ทุกคนเห็นมาตลอดและทราบดีว่าธุรกิจการท่องเที่ยวและงานบริการถือว่าเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของประเทศไทยมาตลอด งานวิจัยในหลายสำนักที่นำเสนอว่า ธุรกิจบริการทางเพศ สร้างรายได้ ปีละ 1.2 – 4 แสนล้านบาท เพียง 1% จากรายได้เป็นเงินกว่า  4 พันล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาเยียวยาพนักงานบริการที่เป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ในทางตรงข้าม พนักงานบริการกลับไม่ถูกยอมรับการเป็นแรงงาน ถูกทำให้เป็น อาชญากร จากกฎหมาย ตั้งใจมองไม่เห็นทิ้งพนักงานบริการไว้ข้างหลัง

วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากล และเราในฐานะแรงงานหนึ่งในวงล้อเศรษฐกิจของประเทศ ในยุคข้าวยากหมากแพงที่ทุกอย่างขึ้นราคา เราเองก็ขอประกาศขึ้นค่าแรงของพวกเราเป็นสองเท่าสำหรับนักการเมือง และข้าราชการไทย  เพราะเงินเดือนของบุคคลเหล่านี้ล้วนมาจากภาษีของพวกเรา แต่ในเวลาที่เราเดือดร้อนกลับทำเป็นมองไม่เห็น  เราจะขึ้นค่าแรง จนกว่ารัฐบาลจะชดเชยให้กับพนักงานบริการ และยกเลิกความผิดทางอาญากับเรา  ทั้งนี้เครือข่ายพนักงานบริการในหลายประเทศทั่วโลกได้เห็นชอบ และตอบรับร่วมแคมเปญนี้กับเราแล้ว

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล  ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวแทนพนักงานบริการจากมูลมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าวย้ำว่า เราได้เรียกร้องต่อรัฐบาลไปตั้งแต่ปี 2563 จนถึงตอนนี้ รัฐบาลยังไม่ยอมที่จะชดเชยเยียวยาให้พนักงานบริการ  หลายอาชีพสามารถทำมาหากินได้แล้ว แต่สถานบริการยังปิดอยู่ มันเป็นหน้าที่ ที่รัฐต้องเยียวยาเพราะพวกเราตกงานเพราะคำสั่งของรัฐบาล  นอกจากนี้เรายัง ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องขอ การชดเชยและเยียวยาไปยังรัฐรวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2563 รัฐบาลยังไม่มีท่าทีที่จะให้การช่วยเหลือ โดยอ้างว่ามีโครงการเยียวยาอยู่แล้ว ล่าสุดกลุ่มพนักงานบริการได้หอบรองเท้าที่ใช้ทำงาน ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของพนักงานบริการไปเพื่อเรียกร้องยังหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 ธันวา 2564

“หลังจากนั้นมีหน่วยงานจากกระทรวงแรงงานเข้าพูดคุยและขอข้อมูลจากกลุ่มพนักงานบริการเพื่อทำโครงการเยียวยายื่นต่อสำนักนายก แต่จนถึงนาทีนี้เรื่องโครงการดังกล่าวยังคงเงียบ เราจึงจัดแคมเปญเรียกร้องให้รัฐชดเชยเยียวยาจากคำสั่งปิดสถานบริการ ตราบใดที่รัฐยังไม่ชดเชยให้กับพนักงานบริการกลุ่มพนักงานบริการเราจะเริ่มคิดค่าแรงเป็น 2 เท่าเฉพาะลูกค้าที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการไทยในวันที่แรงงานที่จะถึงนี้ จนกว่าจะได้รับการชดเชยจากการที่รัฐ ในเมื่อรัฐออกนโยบายที่ทำให้พนักงานบริการตกงานและเดือดร้อนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแคมเปญนี้ได้เผยแพร่และได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพนักงานบริการจากหลายประเทศ ภายใต้ข้อความ  We charge double for politicians and government workers of Thailand till sex workers there are paid.” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวแทนพนักงานบริการจากมูลมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท