Skip to main content
sharethis

ส.ส. 'มานพ คีรีภูวดล' พรรคก้าวไกล เรียกร้องหยุดผลิตซ้ำอคติเกลียดชังและยัดเยียดให้ชุมชนชาติพันธุ์เป็น 'แพะ' ในปัญหาหมอกควัน เป็น 'จำเลย' ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 มานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้โพสต์เฟสบุ๊ค เรียกร้องหยุดผลิตซ้ำอคติเกลียดชังและยัดเยียดให้ชุมชนชาติพันธุ์เป็น 'แพะ' ในปัญหาหมอกควัน เป็น 'จำเลย' ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นธรรม โดยระบุไว้ดังนี้

[หยุดผลิตซ้ำอคติเกลียดชังและยัดเยียดให้ชุมชนชาติพันธุ์เป็น “แพะ” ในปัญหาหมอกควัน เป็น “จำเลย” ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นธรรม]

หยุดการทำงานแบบรัฐรวมศูนย์อำนาจนิยมที่มุ่งแต่การกดปราบ ผลักประชาชนเป็นศัตรู

ช่วงวันที่ 27 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ปรากฎข่าวจากสื่อหลายสำนัก ได้รายงานข่าวการจับภาพผู้ที่ถูกกล่าวหา ว่าเป็นไปในลักษณะ “การเผาป่า” ณ พื้นที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีประโยคพาดหัวข่าวด้วยถ้อยลักษณะการกล่าวหา สร้างบรรยากาศ อารมณ์ความเกลียดชัง เชื้อไฟความรุนแรง อาทิ 

“พบมือเผา” 

“จับภาพคนลอบเผาป่าสงวนคาหนังคาเขา”

และนำไปสู่การแสดงความเห็นในชุมชนออนไลน์จำนวนมาก ที่ตอกย้ำบรรยากาศของความเกลียดชังและความรุนแรง

ต่อมา เมื่อมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานระดับพื้นที่ และคนในชุมชน พบว่า พื้นที่ดังกล่าวคือ “แปลงใช้ประโยชน์ทำกิน” เป็น “ไร่หมุนเวียน” ที่ใช้ปลูกข้าวไร่และพืชอาหารตามปกติฤดูของชุมชนของบ้านป่าคา (หย่อมบ้านอมโก๋น) ม.11 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ราว 4 ไร่ 

ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับอนุมัติให้บริหารจัดการเชื้อเพลิงในระบบ fire d และได้บริหารจัดการเชื้อเพลิงไปแล้ว และภาพการเผากองเศษไม้ที่ปรากฎนั้น คือเศษไม้ที่ยังเผาไหม้ไม่หมด เป็นกิจกรรมปกติของการจัดการไฟและเชื้อเพลงในพื้นที่ลักษณะนี้

ดังนั้น กรณีเช่นนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง ที่จะถูกนำไปกล่าวหาว่าเป็นการ “เผาป่า” หรือเป็น “มือเผา” และการบริหารจัดการไฟในระบบไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์บนที่สูง ก็ไม่สมควรถูกนำไปเหมารวมให้เป็น “แพะ” ในปัญหาหมอกควันไฟป่าของเชียงใหม่ รวมถึงเป็น “จำเลย” ในกระแสสิ่งแวดล้อม

ส่วนประเด็นเรื่อง “ป่าสงวน” หน่วยงานภาครัฐต้องเป็นผู้สร้างความเข้าใจกับสังคม ว่าข้อเท็จจริงนั้น ประเทศไทยได้ประกาศเขตป่าสงวนและเขตป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชนจำนวนมาก ที่ต่างอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศโดยไม่มีการกันแนวเขตออก จึงทำให้สถานะของที่ดินของประชาชนกลายเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม กลายเป็นเงื่อนไขของอีกหลายปัญหาและสร้างข้อพิพาทขัดแย้งมาถึงปัจจุบันนี้

อีกคำถามสำคัญ ถึงกลไกการทำงานในนามของ “ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่” ที่มีองค์ประกอบสำคัญทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง หน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหน่วยงานท้องที่ท้องถิ่นระดับพื้นที่ กองทัพที่มีเทคโนโลยีโดรนที่สามารถถ่ายภาพประชาชนเผากองเศษไม้ได้อย่างชัดเจนนั้น 

เหตุใดจึงไม่มีการตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดเสียก่อน ทั้งที่ควรเป็นกลไกที่มีข้อมูล ความรู้ความเข้าใจระดับพื้นชัดเจนกว่าใคร แต่เหตุใดจึงปล่อยให้มีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณะ เป็นข้อหาทางสังคมที่มีความรุนแรง ตอกย้ำอคติทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกับวิถีไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์บนที่สูงที่เป็นอีกระบบการอนุรักษ์ป่ามายาวนานและความหวาดกลัว วิตกกังวล ความไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกของคนในชุมชนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จะถูกแยแสใส่ใจหรือไม่และการทำงานของกลไกลักษณะนี้ ท้ายที่สุดจะเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของเชียงใหม่หรือเป็นไปเพื่อสิ่งใด ?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก!!

และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะต้องถามหา “ความรับผิดชอบ” จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและสื่อที่เกี่ยวข้องและปัญหาที่ถูกเรียกว่า “หมอกควันไฟป่า” จะไม่มีวันแก้ไขได้ด้วยอคติของความเหยียดหยันทางชนชั้นและชาติพันธุ์ จะไม่มีวันแก้ไขได้จากอำนาจนิยมของเหล่าผู้ปกครองหรือสรรพอาวุธและจะไม่มีวันแก้ไขได้หากไร้ความเป็นธรรม

ปล. หากตัวอย่างสื่อใดที่ปรากฎ ได้ลบข่าวเดิมที่ไม่ถูกต้อง หรือได้ลงข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องแล้ว ทางเราก็ขอขอบคุณ และขออภัยที่ต้องมานำเสนออีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net