‘พระภิกษุไตวายเรื้อรัง’ รักษาได้ที่วัด สปสช.หนุน ‘เครื่องล้างไตอัตโนมัติ’ บริการฟรีด้วยสิทธิบัตรทอง

สปสช. พร้อมคณะฯ เข้าเยี่ยมพระภิกษุที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง และบำบัดทดแทนไตผ่านเครื่องล้างช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ภายใต้นโยบายผู้ป่วยบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมได้ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.จักราวุธ จุฑาสงฆ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ (นพ.สสจ.นครสวรรค์) และ พญ.รจนา ขอนทอง ผอ.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เข้าเยี่ยมพระภิกษุที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ณ วัดเทพนิมิตโฆสิตาราม ต.ปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และได้รับเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis Machine : APD) ในการฟอกไตในเวลากลางคืน 

พระภิกษุจิตกร อายุ 36 ปี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เปิดเผยว่าปัจจุบันใช้สิทธิรักษาพยาบาลของบัตรทอง โดยมีศูนย์แพทย์ครอบครัว วัดช่องคีรี เป็นหน่วยปฐมภูมิ และ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เป็นหน่วยงานประจำรับต่อ ซึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังและได้เลือกใช้วิธีการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตนเองมาประมาณ 2 ปี ต่อมา รพ.นครสวรรค์ประชารักษ์ได้นำเครื่อง APD มาให้ใช้จนถึงปัจจุบัน เกือบ 1 ปีแล้ว ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก สามารถล้างไตได้ในเวลากลางคืนได้โดยไม่ต้องตื่นขึ้นมาเติมน้ำยากลางดึก ทำให้พักผ่อนได้อย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้ก็ยังได้รับการดูแลและให้คำปรึกษาจากทีมศูนย์แพทย์ ฯ และทีม รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เป็นอย่างดี 

นพ.จักราวุธ กล่าวว่า จ.นครสวรรค์ มีผู้ป่วยสะสมทำการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (HD) และการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) ประมาณ 1,800 ราย มีสัดส่วนแต่ละวิธีใกล้เคียงกัน ส่วนผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างอัตโนมัติ (APD) มี 12 รายที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เป็นผู้ดูแล 

ทั้งนี้ โรคไตวายเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประชาชนที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ สปสช. และภาคีต่าง ๆ ในการควบคุมและป้องกันการเกิดภาวะไตวายเรื้อรังโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง เพื่อตอบรับนโยบายใหม่ของ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ให้ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการรักษาตามความเหมาะสมภายใต้ข้อมูลแพทย์และพยาบาล โดย จ.นครสวรรค์ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งหน่วยบริการและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานและเข้าถึงบริการได้สะดวก 

พญ.รจนา กล่าวว่า นโยบายล่าสุดจาก สธ. ที่ให้ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีฟอกไตได้เองตามความเหมาะสม โรงพยาบาลได้มีแผนการจัดเตรียมเตียงฟอกไตจากเดิม 13 เตียง เพิ่มเป็น 18 เตียง ซึ่งคาดว่าจะรองรับผู้ป่วยได้อย่างพอเพียง โดยตั้งแต่มีการเริ่มนโยบายใหม่ พบว่าผู้ป่วยเก่าที่ขอเปลี่ยนวิธีการรักษา CAPD เป็น HD น้อยมาก (4.2%) และผู้ป่วยใหม่มีอัตราเลือกการรักษาจาก CAPD มากกว่า HD เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลจะยังคงสนับสนุนการเข้าถึงบริการทั้ง CAPD และ HD อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ป่วยมีทางเลือก รวมถึงส่งเสริมการรักษาด้วย APD ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มหรือกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาในการดำรงชีวิตด้วยเช่นกัน 

สำหรับ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ปัจจุบันมีเครื่อง APD 12 เครื่อง แจกจ่ายไปยังผู้ป่วยในพื้นที่ได้ใช้ แต่ปัญหาคือเครื่อง APD ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย จึงต้องใช้การล้างท้องด้วยตนเองเสริมขึ้นมา ถ้ามีเพียงพอก็จะทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ด้าน นางภัณฑิรา ภัสสร พยาบาลวิชาชีพ กล่าวว่า มีผู้ป่วยหลายรายที่เมื่อทราบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังแล้วจะมีความวิตกกังวล เพราะการรักษาที่ต้องมาทำที่โรงพยาบาลเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่มีผู้ดูแล หรือผู้ดูแลต้องทำงานกลางวันไม่สะดวก หรือผู้ป่วยบางรายก็ต้องทำงานในตอนกลางวันทำให้สูญเสียรายได้ ดังนั้นการมีเครื่องล้างไตอัตโนมัติก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำงานหรือใช้ชีวิตกลางวันได้เหมือนเดิม 

นางภัณฑิรา กล่าวอีกว่า พยาบาลและทีมสหวิชาชีพมีการให้คำปรึกษากับผู้ป่วยถึงวิธีการล้างไตด้วยตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และมีการเยี่ยมบ้านเป็นระยะร่วมกับทีมศูนย์แพทย์ รวมถึงการดูแลการจัดเก็บ-การส่งน้ำยาล้างไตให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตและมีการติดตามเยี่ยมอย่างใกล้ชิดผ่านสื่อออนไลน์ 

“ถ้าเครื่องนี้ สปสช. สนับสนุนมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะสามารถป้องกันการติดเชื้อ ไม่รบกวนสุขภาพของผู้ป่วย ไม่เกิดความดันตก ไม่เกิดความเครียดขณะรักษา ช่วยเพิ่มระดับคุณภาพชีวิต” นางภัณฑิรา ระบุ 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. เพิ่มนโยบายผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมได้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีกติกาว่าผู้ป่วยไม่ประสงค์จะล้างไตทางหน้าท้อง แต่ต้องการบำบัดทดแทนไตโดยวิธีการฟอกเลือด แพทย์ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้าน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจและตัดสินใจ ได้ใช้วิธีที่ถูกต้องในการบำบัดทดแทนไต โดย สปสช. เคารพสิทธิ์การตัดสินใจของผู้ป่วยและพร้อมลดภาระค่ารักษาให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่คุกคามสุขภาพประชาชน และมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2565 นี้ สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณ 9,731.3395 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างครอบคลุมและทั่วถึง อย่างพระจิตกรที่เข้ารับการรักษาผ่านบัตรทอง ได้รับเครื่อง APD ในการรักษาตนเอง และรวมถึงน้ำยาที่ใช้ในการล้างไตฟรีให้กับผู้ป่วยตลอดการรักษา 

สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท