Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนิสิต ม.เกษตร บางเขน ว่าเมื่อปีที่แล้ว (2564) ถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลเมืองประจวบฯ โทรหาที่บ้านคุกคาม-ถามข้อมูลโดยไม่แจ้งเหตุผล คาดอาจเพราะลงทะเบียนเรียนออนไลน์ หัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์นอกขนบ’ จัดโดย Common School ของคณะก้าวหน้า 

 

30 เม.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนิสิต (ขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อ-นามสกุล) อายุ 21 ปี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตบางเขน เมื่อ 28 เม.ย. 65 ระบุว่า ประมาณวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ช่วงระหว่างที่เขามาเรียนที่ กทม. บ้านที่ต่างจังหวัดโทรมาบอกเขาว่ามีตำรวจสันติบาล จ.ประจวบคีรีขันธ์ พยายามมาสืบเรื่องของเขา โดยไม่มีการแจ้งเหตุผล และไม่มีหมาย 

นิสิตคนเดิมกล่าวต่อว่า จากการสอบถามเรื่องราวจากทางบ้านพบว่า เจ้าหน้าที่มาหาผู้ใหญ่บ้านเพื่อสอบถามเรื่องราวของเขา ผู้ใหญ่บ้านจึงให้เจ้าหน้าที่ติดต่อมาที่บ้านของเขาอีกที เพื่อถามข้อมูลต่างๆ เช่น เขาทำอะไร อย่างไร เป็นใคร ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตจากลักษณะการถามของเจ้าหน้าที่ว่า ดูเหมือนเจ้าหน้าที่ไม่ทราบด้วยว่าตัวของเขาทำผิดอะไร พ่อของเขาจึงตอบกลับไปว่าถ้ามีเรื่องอะไรพ่อเขาจะคุมลูกของเขาเอง ซึ่งดูเหมือนตำรวจจะพอใจกับคำตอบนี้  

นิสิตคนเดิมเล่าให้ฟังว่า เขาไม่ทราบว่าทำไมเจ้าหน้าที่ต้องตามสืบเรื่องของเขา เพราะว่าเขาไม่เคยวิจารณ์เรื่องการเมืองบนโลกออนไลน์โดยเปิดเป็น ‘สาธารณะ’ แต่เขาคาดว่า อาจเป็นเพราะเขาไปลงเรียนออนไลน์หัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์นอกขนบ’ ของ Common school (คอมมอน สกูล) จัดโดย คณะก้าวหน้า และมีประกาศรายชื่อผู้ได้เข้าร่วมบนเพจเฟซบุ๊ก จึงคาดว่าอาจเป็นเรื่องนี้

ภาพวันปฐมนิเทศของคลาสออนไลน์ 'ประวัติศาสตร์นอกขนบ' ของ Common School โดยคณะก้าวหน้า เมื่อ 15 พ.ค. 2564

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นิสิต มก.คนเดิมมีการปรึกษากับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าทำไมตำรวจต้องทำแบบนี้ ซึ่งได้รับคำตอบว่า เจ้าหน้าที่ต้องการทำสงครามประสาท และกดดันทางผู้ปกครองให้เกิดความกลัว จะได้มาควบคุมตัวเด็กอีกที และเขาตั้งข้อสังเกตว่า ตำรวจที่มาถามหาเขาน่าจะโดนสั่งมาจากเบื้องบนอีกที เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานไม่ทราบเลยว่าทำไมต้องมาสืบเรื่องของเขา และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาเลย 

หลังจากวันนั้น มีการมาหา่เขาอีกประมาณ 1-2 ครั้ง โดยครั้งสุดท้าย เจ้าหน้าที่มาขอเบอร์นิสิตจากพ่อ ซึ่งเขาก็ให้พ่อเขาให้เบอร์โทรไป เพราะว่าตัวนิสิตเองก็อยากคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรง เพราะต้องการเข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ต้องมาตามสืบเรื่องเขา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยติดต่อมาหาเขาโดยตรง มีแต่ติดต่อมาหาพ่อ-แม่เขาอย่างเดียว 

นิสิตคนเดิมมองว่าสิ่งที่ตำรวจทำ มันคือการคุกคาม มันไม่ใช่หน้าที่ราชการ และไม่ได้มีหมายทางราชการมาเลย มันคือการมาหามากดดันให้เรากลัว เพื่อคุกคาม แต่พ่อเขามองว่า เขาทำตามหน้าที่ของเขา เขาไม่ได้คุกคามอะไร แต่มันส่งผลกระทบต่อครอบครัวเขาเหมือนกัน เพราะพ่อเขาก็มาคุมตัวเขาอีกที 

นิสิตคนเดิมกล่าวถึงความรู้สึกว่า เขาไม่ได้กังวลอะไรเลย เพราะเขาไม่ได้ทำผิด และเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายหรือมาตักเตือนโดยตรง แต่ติดต่อผ่านทางบิดา-มารดาและมาโดยไม่มีข้อมูลอะไรเลย อย่างมากเขาอาจโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ให้เห็นแค่เฉพาะ ‘เพื่อน’ มากกว่า หรือการคัดกรองคนที่จะเข้ามาติดต่อทางโลกออนไลน์ ขณะที่ครอบครัวช่วงแรกๆ มีความกังวล แต่เขาไม่ได้มาห้ามทำอะไร 

“ผมว่ามัน (ผู้สื่อข่าว - สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำ) ไร้สาระ มันไม่สมควร… อยู่ดีๆ ก็มา และก็ไม่รู้ว่ามีอีกกี่คนที่ต้องเจอแบบผม แต่ผมอยากให้มหาวิทยาลัย take action… อาจจะมีอีกหลาย ม.ก็ได้ที่ต้องเจอปัญหาอย่างผม ตอนนี้การเมืองมันเป็นเรื่องที่ควรจะพูดกันได้” นิสิตคนเดิมกล่าว 

นิสิต มก.กล่าวต่อว่า ที่เขาอยากให้มหาวิทยาลัยมีมาตรการที่ชัดเจน เพราะว่าปกติมหาวิทยาลัยไม่มีช่องทางส่งเรื่อง อย่างมาก ตัวเขาเองปรึกษากับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และคนที่ไปติดต่อศูนย์ทนายฯ ให้ ก็คืออาจารย์ 

“อย่างแรกเลยคือให้เปิดรับช่องทางในการแจ้งเรื่องการคุกคาม อยากให้ช่วย ให้การคุ้มครองนิสิตที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะว่าการแสดงความคิดเห็นมันไม่ควรจะอาชญากรรม มันไม่ควรเป็นคดีความ” นิสิต มก. กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับคลาสออนไลน์ที่นิสิตพูดถึงคือ คลาสเรียนออนไลน์ หัวข้อ “ประวัติศาสตร์นอกขนบ” ซึ่งเป็นหลักสูตรในโครงการ “ตลาดวิชาอนาคตใหม่” โดยคอมมอน สกูล (Common School) คณะก้าวหน้า ซึ่งผู้ที่ลงเรียนจะสามารถฟังบรรยายผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถพูดคุยซักถามกับวิทยากรได้โดยตรง ขณะเดียวกัน การบรรยายมีการเผยแพร่ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กสำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ แต่จะไม่สามารถสื่อสารกับวิทยากรได้ 

การบรรยายของคลาสนี้มีทั้งสิ้น 4 ครั้งในเดือน มิ.ย. 2564 ตามหัวข้อ ‘สยามไม่เคยเสียเอกราช หรือกึ่งอาณานิคม’, “เสียดินแดนหรืออาณาจักรสยามได้ดินแดน”, “รัฐสมัยใหม่ หรือการปฏิรูปเพื่อเอกราชหรือ” และ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์และมรดก”

ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งด้วยว่า เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2565 มีเจ้าหน้าที่คุกคามประธานสภานิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต บางเขน ที่บ้านในต่างจังหวัด เพื่อสอบถามเรื่องราว และความเคลื่อนไหว รวมถึงมีการชวนไปรับขบวนเสด็จอีกด้วย  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net