Skip to main content
sharethis

สมัชชาคนจน และ 65 องค์กรเครือข่าย จัดกิจกรรมเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 3 ชูธง 'จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน : รัฐสวัสดิการ สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิการศึกษา สิทธิสุขภาพ สิทธิแรงงาน' เรียกร้องพรรคการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผลักดันประเทศสู่รัฐสวัสดิการ

2 พ.ค.2565 ช่วงบ่าย วันนี้ (2 พ.ค.) ที่อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สมัชชาคนจน และ 65 องค์กรเครือข่าย จัดกิจกรรมเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 3 (ภาคกลาง) “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน : รัฐสวัสดิการ สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิการศึกษา สิทธิสุขภาพ สิทธิแรงงาน” โดยมีตัวแทนของพรรคการเมือง เช่น พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคสร้างอนาคตไทยและพรรคสามัญชน มารวมรับฟังข้อเสนอของภาคประชาสังคม

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่าย กล่าวว่าก่อนหน้านี้มีการจัดไปแล้ว 2 ครั้ง โดยเวทีสัญจรจะมีทั้งหมด 7 ครั้ง สำหรับครั้งนี้ประเด็นข้อเสนอสำคัญคือเรื่องรัฐสวัสดิการ ทั้งนี้พวกตนเริ่มต้นจากตัวรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสมัชชาคนจนและมี 65 องค์กรเครือข่ายที่ร่วมกันมาในวันนี้ ก่อนหน้านี้มีกระบวนการยกร่างร่วมกันมา วันนี้จึงถือโอกาสเสนอให้พรรคการเมือง ส่วนหนึ่งเป็นข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้พรรคการเมืองไปดำเนินการ

นิติรัตน์ ระบุว่าเครือข่ายต้องการให้ประเทศเราในรัฐธรรมนูญควรมุ่งสู่การเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข หลักประกันรายได้ ระบบบำนาญ ระบบขนส่งสาธารณะและสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้าเป็นธรรม สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับ

สำหรับรายละเอียดข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนต่อเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นข้อต่อพรรคการเมืองมีดังนี้

  • ให้มีการระบุเจตจำนงของรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า “ประเทศไทยจะมุ่งสู่การเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ”
  • การกำหนดสิทธิสวัสดิการโดยรัฐแก่พลเมืองทุกคนที่อาศัยบนผืนแผ่นดินไทย อย่างถ้วนหน้า ให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการในด้านต่าง ๆ ได้ในฐานะพลเมืองของประเทศ  เสนอถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญปี 2489 “ บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันตามกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำนิดก็ดี  โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย”
  • การปฏิรูปภาษีโดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax)  เพื่อดึงทรัพยากรจากกลุ่มคนรวยสุดมากระจายให้คนทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม ด้วยการเพิ่มรายได้รัฐสำหรับจ่ายเป็นระบบสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า (Universal Welfare System) และจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณใหม่ (Budget Reprioritization) โดยให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้าเป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ

ข้อเสนอจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

1. รัฐสวัสดิการ

1.1 การสาธารณสุข การศึกษา ระบบบำนาญ การขนส่งสาธารณะเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้เท่าเทียม ถ้วนหน้า และเป็นธรรม

1.2 การสาธารณสุข

  • สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน การรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • การบริการสาธารณสุขของรัฐต้องทั่วถึง มีประสิทธิภาพ รวมกองทุนด้านสุขภาพให้เป็นระบบเดียว และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนมีส่วนร่วม
  • การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย รัฐต้องจัดให้โดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อเหตุการณ์

1.3 การศึกษา

  • สิทธิในการรับการศึกษาหรือการฝึกอบรมอาชีพจนถึงระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และไม่เสียค่าใช้จ่าย (ต้องอุดหนุนมากกว่า 12 ปี)
  • รัฐต้องสนับสนุนค่าครองชีพในระหว่างการศึกษา
  • ผู้พิการหรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากต้องได้รับสิทธิและการสนับสนุนอย่างเท่าเทียม
  • รัฐต้องคุ้มครองและส่งเสริมการจัดการศึกษาขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือก การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

1.4 ค่าครองชีพ

  • มีสิทธิได้รับค่าครองชีพจากรัฐให้เพียงพอต่อการดำรงชีพและการพัฒนาตนเองตามช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา (เงินอุดหนุนเด็กเล็ก / บำนาญถ้วนหน้า)
  • มารดามีสิทธิในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตรที่จะได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐ (การลาคลอดโดยได้รับเงินเดือน การได้รับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตร)
  • บุคคลทุกคนที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าครองชีพรายเดือน เพื่อเป็นหลักประกันรายได้โดยมีจำนวนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1.5 การขนส่งสาธารณะ

  • มีสิทธิได้รับการบริการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง ปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม

1.6 ที่อยู่อาศัย

  • สิทธิเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
  • รัฐต้องจำกัดการถือครองที่อยู่อาศัยและกระจายการถือครองที่อยู่อาศัย ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • การทำกิจการบ้านจัดสรร อาคารชุด ต้องไม่แย่งทรัพยากรจนเกิดผลกระทบกับชุมชนเดิม

1.7 เรื่องอื่นๆที่ต้องแก้ไข

  • โครงการทางการเมือง ระบบเลือกตั้ง ที่ต้องเป็นธรรม (บัตรเลือกตั้ง การจัดตั้งพรรคการเมือง ระบบรัฐสภาที่เป็นธรรม ระบบยทุติธรรม ศาล องค์กรอิสระ ฯลฯ)
  • การกระจายอำนาจ ให้พื้นที่จัดการตนเอง เช่นจังหวัดจัดการตนเอง ภาษีท้องถิ่น เลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด ลดขนาดมหาดไทย)
  • ปฏิรูประบบภาษี จัดระบบการคลังเพื่อสังคม
  • เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเปิดโอกาสให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ประชาชน มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net