Skip to main content
sharethis

องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศเสนอ 6 ข้อเรียกร้อง “Vote For Sexual Diversity” โหวตเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพ อาทิ ประกาศให้กรุงเทพเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อประชาชนหลากหลายทางเพศ และแสดงวิสัยทัศน์ต่อประเด็น #สมรสเท่าเทียม

3 พ.ค. 2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศเสนอ 6 ข้อเรียกร้อง “Vote For Sexual Diversity” โหวตเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเสนอให้ผู้สมัครผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครต้องกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนหลากหลายทางเพศ ดังนี้

1. ประกาศให้กรุงเทพเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อประชาชนหลากหลายทางเพศ ในฐานะที่กรุงเทพมหานครถูกยกย่องให้เป็นเมืองสวรรค์ของประชาชนหลากหลายทางเพศ และททท.(องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย) มีแคมเปญส่งเสริมนักท่องเที่ยวหลากหลายทางเพศให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย บุคลากรของสำนักงานเขตทุกพื้นที่จึงต้องให้บริการประชาชนในทุกๆ มิติของชีวิตโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการสาธารณะ บริการด้านสุขภาพอนามัย เป็นต้น

2. จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศของกรุงเทพมหานคร

เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเยาวชน ครอบครัว ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศร่วมกับบุคลากรของกรุงเทพมหานคร

3. บริหารจัดการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงประชาชนหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ เช่น พื้นที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน สถานบันเทิง รวมทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติ การแพร่ระบาคไวรัสโควิค 19 ต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมให้ประชาชนหลากหลายทางเพศมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจร่วมดำเนินงานและประเมินผลในคณะกรรมการชุดต่างๆของกรุงเทพมหานคร เช่น สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

4. จัดตั้งบริการสายด่วนให้คำปรึกษาและส่งต่อเฉพาะประชาชนหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดฉุกเฉิน ถูกกระทำความรุนแรง ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ

5. กำหนดมาตรการทางกฎหมาย กฎระเบียบ ในสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนหลากหลายทางเพศมีโอกาสในการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เช่น การรับสมัครนักเรียน การรับสมัครงาน โดยไม่ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ และปราศจากการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ

6. แสดงวิสัยทัศน์ต่อประเด็น #สมรสเท่าเทียม เพื่อช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวกับสาธารณะมากขึ้น

 

เสนอโดยองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ 26 องค์กร

1)มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

2)มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษชยน

3)มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ

4)มูลนิธิซิสเตอร์

5)มูลนิธิเอ็มพลัส

6)มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร

7)สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

8)ศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยด้านเพศภาวะ เพศวิถีและสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล

9)โครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศประเทศไทย

10)คลินิกแทนเจอรีน สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี

11)ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

12)องค์กรพิ้งค์มังกี้ เพื่อความหลากหลายทางเพศ จังหวัดลพบุรี

13)สำนักพิมพ์สะพาน

14)โรงน้ำชา

15)กลุ่มพยูนศรีตรัง จังหวัดตรัง

16)กลุ่มทำทาง

17)กลุ่มคนตาบอดผู้มีความหลากหลายทางเพศ

18)Trans for career Thailand

19)Non-Binary Thailand

20)SAGA Thailand

21)Intersex Thailand

22)AroAce-clusionist:Aromantic&Asexual Exist

23)GIRLxGIRL

24)ชวินโรจน์ พัชรพร นักวิชาการอิสระด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ

25)ศรัทธารา หัตถีรัตน์ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ

26)พริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net