พบรัสเซียใช้โลมาเป็นเครื่องมือทางทหาร ผู้เชี่ยวชาญชี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แมวก็เคยเป็นสายลับ

รายงานการวิเคราะห์ของสถาบันข่าวสารด้านยุทธนาวีของสหรัฐฯ (USNI) เผยแพร่บทบรรณาธิการระบุว่ากองทัพรัสเซียใช้โลมาที่ฝึกฝนมาเป็นพิเศษในการคุ้มกันฐานทัพเรือที่สำคัญที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งของภูมิภาคไครเมีย อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดและมีหลายประเทศที่ใช้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลไม่ว่าจะเป็น โลมา, วาฬ หรือแมวน้ำ ในการสงครามเช่นนี้ รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย

ภาพโลมา ถ่ายโดย Noah Wulf

บทวิเคราะห์ที่เขียนโดย เอส ไอ ซุตตัน นักวิเคราะห์ด้านยุทธการเรือดำน้ำ ที่เผยแพร่ในสื่อ USNI ระบุว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมของแม็กซาร์แสดงให้เห็นว่ามีการสร้างแหล่งเก็บกักโลมาที่ทางเข้าท่าเรือเซวาสโตโปล ซึ่งเป็นฐานทัพเรือรัสเซียที่ถูกมองว่า "มีความสำคัญมากที่สุด" ในทะเลดำ ซุตตันเปิดเผยว่ามีการนำแหล่งกักโลมามาตั้งไว้ที่นี่ตั้งแต่เดือน ก.พ. ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่รัสเซียเริ่มเปิดฉากรุกรานยูเครน

สำนักข่าวแม็กซาร์ที่เป็นเจ้าของภาพถ่ายดาวเทียมกล่าวยืนยันว่าพวกเขาเห็นด้วยกับการวิเคราะห์นี้ รวมถึงทำการเผยแพร่ภาพเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นภาพแหล่งกักกันโลมาในมุมที่ใกล้ขึ้น

แอนดรูว แลมเบิร์ต ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยุทธนาวีจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่าเขาไม่แปลกใจที่เห็นว่ามีการใช้โลมาเป็นหน่วยคุ้มกันในสงคราม เพราะการใช้โลมาเช่นนี้มีอยู่ที่ท่าเรือซาเวสตาโปลมานานแล้วก่อนหน้าที่สงครามครั้งล่าสุดจะเกิดขึ้น

ในความเป็นจริงแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น กองทัพเรือสหภาพโซเวียตก็เคยดำเนินโครงเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในทะเลอย่างโลมามาก่อน รวมถึงโครงการฝึกฝนโลมาใกล้กับท่าเรือซาเวสตาโปลด้วย พอหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย โครงการเหล่านี้ก็ถูกส่งต่อให้กับกองทัพยูเครน แต่กองทัพยูเครนก็แทบจะไม่ดำเนินการใดๆ ต่อ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะพยายามทำให้โครงการฝึกโลมานี้ยังคงมีอยู่ต่อไปก็ตาม แต่พอหลังจากที่รัสเซียใช้กำลังเข้ายึดครองและผนวกรวมไครเมียในปี 2557 รัสเซียก็ทำให้โครงการโลมานี้กลับมาอีกครั้ง

แลมเบิร์ตกล่าวว่านอกเหนือจากโลมาแล้วรัสเซียยังทำการฝึกฝนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอย่างวาฬเบลูกาจากแถบขั้วโลกเหนือด้วย

ขณะเดียวกันรัสเซียก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีโครงการใช้สัตว์ในการสงครามเช่นนี้ สื่อวิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพเรืออเมริกันก็เคยมีโครงการคล้ายๆ กับของรัสเซีย รวมถึงมีการฝึกฝนโลมาและแมวน้ำด้วยเป้าหมายคล้ายๆ กับของรัสเซียมาจนถึงทุกวันนี้

สาเหตุที่กองทัพเรือประเทศเหล่านี้มองว่าโลมามีความสามารถในการคุ้มกันทางการทหารได้เพราะว่าโลมาเป็นสัตว์ที่มีทั้งความคล่องแคล่ว ว่องไว และมีคลื่นโซนาร์ที่ใช้ในการสำรวจ คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้โลมาถูกมองว่าใช้ปฏิบัติการในการคุ้มกันทางน้ำได้ดีโดยเฉพาะจากผู้บุกรุกที่เป็นนักประดาน้ำ

แลมเบิร์ตกล่าวว่า โลมามีความเหมาะสมกับปฏิบัติการใต้ผืนน้ำมากเป็นพิเศษจากการที่มันมีความคล่องแคล่ว ว่องไว ปรับตัวได้เก่งในการล่า และสามารถสังหารเหยื่อใต้น้ำได้ ทำให้มันเหมาะสมกับการสังหารนักประดาน้ำ อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าโลมาเหล่านี้ถูกฝึกฝนให้เน้นสังหารนักประดาน้ำอย่างจริงจังหรือมีปฏิบัติการที่มันสามารถสังหารนักประดาน้ำได้จริง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่นักประดาน้ำที่ไปอยู่แถวท่าเรือซาเวสตาโปลในตอนกลางคืนอาจจะตกเป็นเป้าหมายได้

สาเหตุที่ต้องมีการป้องกันท่าเรือจากนักประดาน้ำเหล่านี้ ซุตตันให้เหตุผลว่า เป็นไปได้ว่าโลมาในทะเลดำอาจจะถูกวางภารกิจให้ต่อต้านปฏิบัติการทางทหารที่ใช้นักประดาน้ำ โดยเน้นเป้าหมายป้องกันไม่ให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษของยูเครนแทรกซึมท่าเรือจากใต้ผืนน้ำและเข้ามาทำลายเรือรบของรัสเซียที่มีมูลค่าสูงในท่าเรือนี้

ความสามารถอีกอย่างหนึ่งของโลมาคือการที่มันสามารถใช้คลื่นโซนาร์ในการตรวจจับตำแหน่งของวัตถุในแบบที่เรียกว่า เอ็คโคโลเคชัน (echolocation) ได้ เช่น การตรวจจับตำแหน่งของทุ่นระเบิดใต้น้ำ

แซม ลาโกรน บรรณาธิการสื่อ USNI ระบุว่าโลมาสามารถตรวจจับวัตถุต่างๆ ที่เครื่องมือกลไกหรือเครื่องมืออิเล็กโทรนิคไม่สามารถตรวจจับได้ นอกจากนี้โลมายังมีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะเผลอทำให้ทุ่นระเบิดเหล่านี้ทำงาน เพราะโลมามีความคล่องตัวในน้ำ ต่างจากเรือที่มี "คุณลักษณะทางแม่เหล็ก" ซึ่งอาจจะเผลอทำทุ่นระเบิดระเบิดได้โดยไม่ได้ตั้งใจ

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับนักประดาน้ำที่เป็นมนุษย์แล้ว โลมาไม่เพียงแต่ว่องไวกว่า แต่ยังสามารถฝึกฝนได้มากกว่า เพราะมันสามารถดำลงไปในน้ำแล้วผุดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องทนกับภาวะเมาความกดอากาศ หรือโรคลดความกด (decompression sickness อาการที่เกิดจากแรงกดของน้ำลดลงเฉียบพลันขณะลอยตัวขึ้น) แบบที่นักประดาน้ำมนุษย์ต้องเผชิญ

ลาโกรนกล่าวอีกว่าโลมายังเป็นสัตว์ที่ใช้ลาดตระเวนได้ดีด้วย เทียบได้กับเป็น "สุนัขเฝ้ายามแห่งท้องทะเล"

แต่การนำสัตว์มาใช้ในการทหารเช่นนี้ ทำให้ต้องมีการกักบริเวณพวกมันไว้นอกจากนี้ยังมีโอกาสถูกใช้งานเป็นกองหน้าในศึกสงคราม จึงเกิดเป็นปัญหาในเรื่องจริยธรรมการปฏิบัติต่อสัตว์ นักกิจกรรมเคยเรียกร้องมาเป็นเวลานานแล้วให้สหรัฐฯ ยกเลิกโครงการโลมาบอกว่ามันเป็นวิธีการที่โหดร้ายและล้าสมัย

มีคำถามว่าทั้งๆ ที่เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันพัฒนามาไกลแล้วแต่ทำไมยังคงมีการใช้งานสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเหล่านี้อีก เพจของโครงการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า "บางวันมันอาจจะเป็นไปได้ที่จะทำภารกิจเหล่านี้สำเร็จด้วยโดรนใต้น้ำ แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันก็ยังเทียบไม่ได้กับสัตว์เหล่านี้"

เรื่องการใช้สัตว์ในสงครามเช่นนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด แลมเบิร์ตเปิดเผยว่าตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพเรืออังกฤษก็ทำการใช้รางวัลล่อให้สิงโตทะเลที่ถูกฝึกฝนมาจากละครสัตว์ให้ช่วยค้นหาเรือดำน้ำให้

ในปี 2502 สหรัฐฯ ก็ได้ก่อตั้งโครงการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของกองทัพเรือ ซึ่งมีการปฏิบัติงานที่ซานดิเอโก เว็บไซต์ของโครงการระบุว่าพวกเขาทำการฝึกฝนโลมาปากขวดและสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนียเพื่อการ "ตรวจจับ, ตรวจหา, ระบุตำแหน่ง และค้นหาวัตถุที่ท่าเรือ, พื้นที่ชายฝั่ง และใต้ท้องทะเลลึก"

โลมาที่ถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการคุ้มกันโดยสหรัฐฯ นั้นมีการใช้เป็นครั้งแรกในสงครามเวียดนาม มีโลมาที่ถูกตั้งชื่อให้หลายตัวทำหน้าที่คุ้มกันไม่ให้ข้าศึกฝ่ายเวียดนามว่ายน้ำเข้ามาทำลายคลังแสงที่ท่าเรือได้สำเร็จ ในปี 2546 กองทัพเรือยังได้ส่งโลมาไปที่ท่าเรือของอิรัก 9 ตัวโดยทางเครื่องบินเพื่อใช้พวกมันในการตรวจจับทุ่นระเบิดด้วย

ซุตตันระบุในเว็บไซต์ของตัวเองว่าในปี 2565 มีอยู่ 4 ประเทศที่มีโครงการใช้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเพื่อการทหาร คือ สหรัฐฯ, รัสเซีย, เกาหลีเหนือ และอิสราเอล โครงการจากประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้โลมา แต่ก็ยังมีการใช้วาฬเบลูกา, แมวน้ำ และสิงโตทะเล ด้วย ขณะเดียวกันสัตว์เหล่านี้ต่างก็เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับมาแล้วทั้งสิ้น แม้กระทั่งสัตว์บกอย่างแมวด้วย

ในช่วงสงครามเย็น สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ เคยทุ่มงบประมาณหลายล้านดอลลาร์ไปในการติดตั้งเครื่องดักฟังภายในตัวแมวเพื่อให้มันช่วยดักฟังข้อมูลของรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่ามันล้มเหลวตั้งแต่วันแรก

นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีที่หน่วยงานข่าวกรองอิหร่านเคย "จับกุม" กระรอก 14 ตัว กล่าวหาว่ามันข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศโดยได้รับการติดตั้งเครื่องมือสอดแนมของชาติตะวันตก ในปี 2556 ตำรวจอียิปต์ก็เคยควบคุมตัวนกกระสาตัวหนึ่งกล่าวหาว่ามันสอดแนมเพียงเพราะมันมีเครื่องมือติดตามที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ติดตามการเคลื่อนไหวของพวกมันเพื่อการศึกษา

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีที่ผ่านมายังเคยมีข่าวที่ระบุถึงกรณีทางการรัสเซียใช้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลด้วย จากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่ามีการนำโลมาในทะเลดำไปวางกำลังในฐานทัพรัสเซียที่ตั้งอยู่ใน ทาร์ทัส ประเทศซีเรีย เป็นเวลาหลายเดือนในปี 2561

 

เรียบเรียงจาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท