Skip to main content
sharethis

งบปี 66 อนุมัติวงเงินรวม 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 2.7% ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการงบเพิ่มขึ้น รัฐวิสาหกิจได้งบเพิ่มสูงสุดถึง 162,000 ล้านบาท แต่เป็นตั้งงบเพื่อใช้หนี้เป็นหลัก กระทรวงเกษตรฯ งบเพิ่ม 16,214 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเพิ่มให้กรมการข้าวทำเกษตรแปลงใหญ่ งบสวัสดิการยังกะพร่องกะแพร่ง ไม่ถ้วนหน้า ไม่เพียงพออย่างที่หาเสียง งบท้องถิ่นยังลุ่มๆ ดอนๆ ในขณะที่งบส่วนภูมิภาคโตวันโตคืน กลาโหมงบลดลงจริง แต่งบบุคลากรยังเพิ่มในทุกเหล่าทัพ กองทัพเรือยอมถอยเรือดำน้ำกลัวงบตกน้ำ กองทัพอากาศได้ F-35 มาแทน

 

 

4 พ.ค.2565 หลังจากวานนี้ (3 พ.ค.)เว็บไซต์สำนักงบประมาณ เผยแพร่ร่าง พระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แล้ว ตั้งงบประมาณที่ 3,185,000,000,000 ล้านบาท นั้น ล่าสุดวันนี้ (4 พ.ค.) เวลา 17.06 น. ที่ผ่านมา ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นข้อสังเกตเบื้องต้น งบปี 66 ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล' ว่า รายละเอียดหลายเรื่องคงต้องรอเอกสารงบประมาณหลังวันที่ 17 พ.ค. และเราจะเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่การอภิปรายงบประมาณวาระที่ 1 ในวันที่ 1 มิ.ย. ได้เลย

รายละเอียด 5 ข้อ ที่ศิริกัญญาตั้งไว้มีดังนี้

งบปี 66 อนุมัติวงเงินรวม 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 85,000 ล้านบาท หรือ 2.7% ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการงบเพิ่มขึ้น

ปี 2566 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่งบประมาณประเทศฝืดเคือง ถึงแม้ว่าจะตั้งงบแบบขาดดุลและต้องกู้ชดเชยเกือบเต็มเพดานแล้วก็ตาม แต่งบประมาณในปีหน้าจะยังคงต่ำกว่างบประมาณปี 63 หรือช่วงก่อนวิกฤต นอกจากจะสะท้อนปัญหาการจัดเก็บรายได้ที่ตกต่ำตามภาวะวิกฤตแล้ว ยังสะท้อนว่าเม็ดเงินภาครัฐที่จะอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจก็มีไม่มากเช่นเดียว

หน่วยงานที่ได้งบเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือรัฐวิสาหกิจได้งบถึง 162,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 27% แต่เป็นตั้งงบเพื่อใช้หนี้เป็นหลัก

เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ในปีนี้ รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบเพิ่มในอัตราสูงที่สุดในบรรดาหน่วยงานทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้คืนหนี้ที่รัฐบาลยืมมาใช้ในอดีต เป็นการอุดหนุนบริการสาธารณะ หรือลงทุนเพิ่มเป็นส่วนน้อย เช่น

• ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้รับงบประมาณ 84,508.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,041 ล้านบาท (เพิ่ม 22%) โดยงบประมาณที่ตั้งทุกปีเป็นการชดเชยภาระหนี้ของรัฐที่ใช้เงินของธกส.ออกไปก่อน เช่น โครงการประกันรายได้เกษตร โครงการจำนำผลผลิตทางการเกษตร

• ธนาคารออมสิน ได้รับงบประมาณ 8,256.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,296.72 ล้านบาท (เพิ่ม 109%) โดยงบประมาณที่ตั้งทุกปีเป็นการชดเชยภาระหนี้ที่ใช้เงินธนาคารออมสินออกไปก่อน เช่น ชดเชยต้นทุนเงินและภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ SME ชดเชยหนี้ NPL จากโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินในช่วงโควิด เป็นต้น

• นอกจากนี้ ยังมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับงบประมาณ 21,524.79 ล้านบาท (เพิ่ม 69%) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับงบประมาณ 22,783 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 25%) โดยงบที่ตั้งทุกปี ส่วนใหญ่เป็นการชำระหนี้เงินกู้โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ชำระหนี้โครงการก่อสร้างทางรถไฟต่างๆ และงบอุดหนุนค่าบริการรถไฟ

สาเหตุที่ต้องมีการตั้งงบจ่ายคืนหนี้มากขึ้น เพราะรัฐบาลกู้เพิ่มจนจะชนเพดาน ตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยภาระหนี้ส่วนนี้อยู่ที่ 34.2% ของงบประมาณ ใกล้ชนเพดานที่ 35% แล้ว ทำให้งบประมาณที่รัฐบาลจะเหลือไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ในปีนี้ลดน้อยลงไปด้วย

หน่วยงานที่ได้รับงบเพิ่มสูงสุดรองลงมา คือ กระทรวงเกษตรฯ งบเพิ่ม 16,214 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเพิ่มให้กรมการข้าวทำเกษตรแปลงใหญ่

กรมการข้าวได้รับงบประมาณเพิ่ม 15,000 ล้านบาท ตามแผนงานเกษตรเพิ่มมูลค่า คาดว่าจะถูกนำไปใช้กับโครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรแปลงใหญ่ ต้องติดตามกันต่อว่าจะมีการตัดงบที่ใช้จากเงินนอกงบประมาณอย่างมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว สินเชื่อรวบรวมข้าว รวมถึงมาตรการช่วยค่าเก็บเกี่ยวหรือไม่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ

แต่กรมที่เป็นที่สนใจของประชาชนจากสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ ทั้งลัมปีสกินและอหิวาห์แอฟริกันในสุกร รวมถึงยังต้องรับมือป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกอย่างกรมปศุสัตว์ งบเพิ่มขึ้นเพียง 51 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1 %เท่านั้น ทั้งที่สถานการณ์ปศุสัตว์ของไทยต้องการปฏิรูปกระบวนการผลิตเพื่อรองรับกับสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์อย่างเร่งด่วน

หน่วยงานที่ได้งบเพิ่มเป็นอันดับ 3 คือ กระทรวงทรัพย์ฯได้งบเพิ่มเกือบ 9% ต้องลุ้นว่าจะคืนงบเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหรือไม่

โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากที่สุดในส่วนของแผนงานยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นการคืนงบประมาณสำหรับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เป็นข่าวดังเมื่อปีที่ผ่านมาว่าถูกปรับลดงบประมาณลงในปี 65 จำนวน 885 ล้านบาท ต้องมาลุ้นกันต่อว่าจะเป็นการเพิ่มงบค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหรือไม่ หลังจากที่โดนตัดงบไปจนต้องเลิกจ้างไปเกือบ 2,000 คน

งบสวัสดิการยังกะพร่องกะแพร่ง ไม่ถ้วนหน้า ไม่เพียงพออย่างที่หาเสียง

• งบประมาณปีสุดท้ายของรัฐบาลนี้ ยังไม่เห็นวี่แววที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เช่น งบสวัสดิการเงินเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดยังคงไม่ถ้วนหน้ายังจากที่รอมา 4 ปี! แถมถูกลดงบไป 325 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมาตั้งงบไว้ไม่เคยพอ และต้องของบกลางเพิ่มทุกปี

• ตั้งงบกองทุนบัตรประชารัฐฯ ไม่เพียงพอใช้ทำสวัสดิการ จากที่รัฐบาลประกาศว่าจะเพิ่มผู้ได้รับสวัสดิการเป็น 20 ล้านคน แต่กลับตั้งงบไว้เพียง 35,000 ล้านบาท จากที่เคยตั้งไว้สูงถึง 49,500 ล้านบาทในปี 64 ซึ่งเท่ากับว่าจะไม่เพียงพอสำหรับการให้สวัสดิการตามฐานผู้มีบัตรเดิม 14 ล้านคนด้วยซ้ำ หากไม่มีการตัดสวัสดิการบางอย่างลง ประชาชนอาจจะต้องรอลุ้นว่าจะได้งบกลางมาเติมในช่วงกลางปี

• งบประมาณของสำนักงานประกันสังคมยังคงเพิ่มขึ้นไม่มาก ส่อแววว่ารัฐบาลจะลดเงินสมทบในส่วนของรัฐลง และไม่ชำระหนี้เดิมที่ค้างอยู่กว่า 60,000 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ตลอดการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลได้ลดเงินสมทบฝั่งลูกจ้าง และนายจ้าง รวมถึงนำเงินกองทุนฯ ไปใช้เยียวยาไปมากกว่าแสนล้านบาท ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีแผนในการเติมเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคม ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่กองทุนจะไม่สามารถประกันสิทธิของผู้ประกันตนได้ เช่นเดียวกับกองทุนการออมซึ่งตั้งงบไว้ไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายเงินสมทบ

• งบกระทรวงศึกษาธิการลดลง 4,500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงบบุคลากรลดเพราะจำนวนครูเกษียณเพิ่มขึ้น และงบรายหัวลดลงตามจำนวนนักเรียน อย่างไรก็ดี ควรใช้โอกาสนี้เพิ่มงบรายหัวเด็กที่จะถึงตัวนักเรียนโดยตรงที่ไม่ได้ปรับงบต่อหัวเพิ่มมา 10 ปีแล้ว ที่สำคัญยังไม่เห็นวี่แววการตั้งบประมาณโครงการฟื้นฟูการเรียนรู้เด็กจากช่วงโควิดในปีนี้อีกเช่นเคย

งบท้องถิ่นยังลุ่มๆ ดอนๆ ในขณะที่งบส่วนภูมิภาคโตวันโตคืน

• งบประมาณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 5,200 ล้านบาท คาดว่าส่วนหนึ่งจะเป็นเงินชดเชยภาษีที่ดินให้กับ อปท. ที่ค้างจ่ายมา 2 ปีแล้ว แต่ยังคงชดเชยไม่ครบตามจำนวนที่ติดหนี้กว่า 50,000 ล้านบาท จากการลดภาษีที่ดิน 90% แถมยังตั้งงบคืนให้อปท. ไม่ครบทุกแห่งอีกด้วย

• งบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดพุ่งขึ้นถึง 25% ทั้ง ๆ ที่โครงการในลักษณะเดียวกันได้รับงบเงินกู้ผ่านโครงการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากไปแล้วเกือบ 23,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากแผนงานฟื้นฟูฯ ภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ทั้งสองฉบับ รวมแล้วกว่า 1,942 ล้านบาท และงบประมาณจากงบกลางอีก 19,904 ล้านบาท

งบกระทรวงกลาโหมงบลดลงจริง แต่งบบุคลากรยังเพิ่มในทุกเหล่าทัพ กองทัพเรือยอมถอยเรือดำน้ำกลัวงบตกน้ำ กองทัพอากาศได้ F-35 มาแทน

• งบกระทรวงกลาโหมลดลงเล็กน้อย แต่งบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น ปี 66 อยู่ที่ 107,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 65 ประมาณ 2,401 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกองทัพบก 1,345 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพยังไม่จริงจังไม่มากพอในการลดกำลังพลของกองทัพ ซึ่งงบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมคิดเป็น 14% ของงบบุคลากรทั้งหมดของประเทศ

• ปีงบประมาณ 2566 กองทัพบก ได้รับโอนโครงการก่อสร้างหอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของแผ่นดิน จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 65 หากนำไม่นำโครงการดังกล่าวมารวมในงบประมาณของกระทรวงกลาโหม งบประมาณของกระทรวงกลาโหมจะลดลงเพียง 2,722 ล้านบาท

• กองทัพเรือยอมถอนโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาทออกไป แต่ไม่ใช่เพราะต้องการประหยัดงบประมาณเพื่อชาติ แต่เพราะทราบดีว่าจะต้องถูกกระแสต่อต้าน และหากถูกตัดงบหรือต้องถอนโครงการงบประมาณในส่วนนี้จะตกน้ำถูกแปรไปให้หน่วยงานอื่นทันที ไม่ได้กลับไปที่กองทัพเรือ

• กองทัพอากาศจะจัดจัดซื้อเครื่องบิน F-35 12 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ตามแผนงานที่วางไว้ล่วงหน้าจะจัดหาเครื่องบินทดแทน F-16 ทั้งหมด 12 ลำอยู่แล้ว และดูจะเป็นโครงการจัดซื้อเครื่องบินที่อยู่ในแผนเพียงโครงการเดียว จึงเกิดความสับสนว่าการจัดซื้อ F-35 จะเป็นการซื้อ “เพิ่มเติม” หรือซื้อ “ทดแทน” กันแน่ เพราะทั้ง 2 โครงการต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน และเป็นภาระผูกพันในระยะยาวแทบทั้งสิ้น

เห็นเค้าลางว่างบปี 66 แม้ว่าจะเป็นการตั้งงบครั้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ยังคงสร้างความผิดหวังอีกเช่นเคย

แต่ถ้าอยากมีความหวัง เชิญชวนทุกท่านร่วมติดตามงาน "Hackathon งบ 66 -- งบแบบไหนที่เราอยากเห็น?" ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการออกแบบงบประมาณที่ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดกับพวกเรา พรรคก้าวไกล เร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net