Skip to main content
sharethis

อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร แอบถ่ายแอร์โฮสเตส “เอาไปฝากน้องๆ ให้น้ำลายไหล” แต่บอกว่าไม่มีเจตนาคุกคามทางเพศ เป็นความเข้าใจผิด

นักศึกษา นักสิทธิสตรี เรียกร้องสภามหาวิทยาลัยสอบจริยธรรม ยังไม่รู้มีผลอย่างไร แต่ประชาชนทั่วไป ไม่ต้องเป็น ศ. รศ. ผศ. ก็ตัดสินได้ ว่าพฤติกรรมเหมาะกับความเป็นครูอาจารย์หรือไม่

นี่ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพ ไม่เหมือนครูใส่บิกินี เป็นสิทธิส่วนบุคคลไม่ได้ล่วงล้ำใคร (ให้ใส่ชฎา ใส่ชุดข้าราชการลงดำน้ำไหม) อธิการบดีอยากถ่ายภาพสาวสวยไปฝากน้องๆ ขอถ่ายดีๆ ก็ได้ ไม่ควรแอบถ่าย และไม่ควรใช้คำว่า “น้ำลายไหล”

ไม่ทราบว่าพวกคลั่งศีลธรรมที่ด่าครู จะรู้สึกอย่างไรกับอธิการบดี ซึ่งพอมีคนไปขุดโพสต์เก่าๆ ก็พบว่า นอกจาก 8 ปีก่อน ท่านพานักศึกษาอาจารย์ไปเป่านกหวีด และ 2 ปีก่อน ช่วงม็อบสามนิ้ว ท่านไล่คนเห็นต่างออกนอกประเทศทั้งโคตร ยังมีบางโพสต์ที่ท่านเอาใจแฟนคลับ “พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ และศิษยานุศิษย์ด้วยรูปคนสวย” Flight Attendant มาก่อนแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรก

มันอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าเป็นชายหื่นทั่วไป ไม่ใช่ครูอาจารย์ไม่ใช่อธิการบดีผู้มีอำนาจ ช่วงที่ผ่านมา นักศึกษาคณาจารย์หลายมหาวิทยาลัยพยายามเคลื่อนไหว ให้สถาบันการศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ พอเกิดเรื่องอย่างนี้ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะว่าอย่างไร

ให้สภามหาวิทยาลัยว่ากันเอง? ศิลปากรเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่มหาวิทยาลัยทั่วไป อธิการบดีกับกรรมการสภาแทบทุกแห่ง อยู่ในเครือข่ายอำนาจเดียวกัน “สภาเกาหลัง” ล้วนคนกันเอง ชงเองกินเอง แต่งตั้งอธิการบดีในเครือข่ายงอกราก สืบทอดอำนาจชั่วกัลปาวสาน

นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องอธิการบดีคนใดคนหนึ่ง เป็นปัญหาระบบ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วตกอยู่ใต้ก๊วนอำนาจแต่งตั้ง นักศึกษาคณาจารย์ไม่สามารถทัดทานถ่วงดุล อธิการบดีจึงใช้อำนาจหรือแสดงพฤติกรรมไม่ต้องเกรงใจใคร เพียงแต่ครั้งนี้อื้อฉาวออกมานอกมหาวิทยาลัย

ดูอย่างเชียงใหม่เพิ่งตั้งอธิการบดี มีปัญหาตั้งแต่ต้น เพราะประกาศข้อบังคับการสรรหา ให้เสนอชื่อด้วยวิธีปรึกษาหารือเท่านั้น ห้ามเสนอให้เลือกตั้งหรือหยั่งเสียง ใครเสนอหรือสนับสนุนผิดวินัย

อันที่จริง เกือบทุกมหาลัย’ไม่มีเลือกตั้ง มีรามคำแหงที่เดียว ธรรมศาสตร์มีหยั่งเสียง (เฉพาะอาจารย์หรือบุคลากร) แต่อำนาจชี้ขาดอยู่ที่กรรมการ มหาลัย’อื่นหนักกว่านั้น เช่น จุฬาฯ ชนะหยั่งเสียงไม่ได้เป็น คนได้เป็นไม่ต้องชนะ

มช.เผด็จการไปอีกขั้น ห้ามเลือกตั้งห้ามหยั่งเสียง ใครเสนอใครสนับสนุนมีความผิดทั้งหมด พวกท่านกลัวคนของตัวเองแพ้ย่อยยับหรือไร

นักศึกษาอาจารย์ฟ้องศาลปกครองจนชนะ 4 อาจารย์เสนอตัว ทัศนัย-ปิ่นแก้ว-สมชาย และรองอธิการบดีอีกคนหนึ่ง สโมสรนักศึกษาจัดหยั่งเสียง แสดงวิสัยทัศน์ ปรากฏว่ารองอธิการบดีไม่มา ได้แค่ 38 คะแนนจาก 1,375 คน

แต่แหงแซะ สภามหาวิทยาลัยเลือกรองอธิการบดีที่มาจากคณะแพทย์ เช่นเดียวกับอธิการบดีคนเดิมที่เป็นมา 2 สมัย โดยอ้างว่าการหยั่งเสียงมีคนเข้าร่วมไม่ถึง 3%

นี่เป็นระบอบอำนาจในมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง ซึ่งออกนอกระบบ เก็บค่าหน่วยกิตแพง มีอำนาจบริหารจัดการทรัพย์สินที่ดิน บางแห่งก็มหาศาล เช่น ทรัพย์สินจุฬาฯ กรรมการสภามีบ้างมาจากการเลือกตั้งของอาจารย์พนักงาน แต่เป็นเสียงข้างน้อย สูงวัยลากตั้งมีมากกว่า นายกสภาก็มักมาจาก elite เช่น มีชัย วิษณุ เป็นนายกจนตาลาย

ระบอบอำนาจงอกรากในมหาวิทยาลัยมักอ้างเหมือนสลิ่ม เลือกตั้งได้คนเลว (อธิการบดีเลยแห่ไปเป็น สนช.) งอกรากต่อเนื่องดีกว่า บางแห่งคุมอำนาจคนเดียว 20 ปี โดยใช้วิธีปูติน คือเป็นได้ 2 สมัย ก็ให้ลูกน้องสลับ แล้วกลับมาอีก 2 สมัยจนเกือบแก่ตาย แต่บางแห่งไม่ยอมกัน แก่งแย่งอำนาจวุ่นวาย เช่น ม.บูรพา ต้องใช้คำสั่ง คสช.ตั้งกรรมการทำหน้าที่แทนสี่ปี เพิ่งได้อธิการบดีเมื่อปี 53

ย้ำอีกทีว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ค่าหน่วยกิตแพง มีหลักสูตรพิเศษ สำหรับนักธุรกิจนักการเมืองที่อยากได้ ดร.นำหน้าชื่อ อธิการบดี คณบดี นอกจากรับเงินเดือนยังรับค่าที่ปรึกษาหลักสูตร มีอำนาจจัดแจงว่าอาจารย์คนไหนได้สอนหลักสูตรพิเศษที่ได้เงินเพิ่ม

“อธิการบดีรวย” ทำให้ชาวบ้านอ้าปากค้าง อย่าง “พี่เอ้ สุชัชวีร์ เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน รวยปกติรวยสุจริต รายได้ปีละ 18.7 ล้าน อธิการฯ รามคำแหงเข้าไปเป็น สนช.ปี 57 ก็แจ้งรายได้ปีละ 11.5 ล้าน อธิการฯ ราชภัฏบางแห่งได้ปีละร่วม 10 ล้าน จากค่าตอบแทนต่างๆ

ขณะที่อาจารย์มหาวิทยาลัยแทบไม่มีปากเสียง เพราะอยู่ในสถานะ “พนักงานมหาวิทยาลัย” ซึ่งต้องขอตำแหน่ง ผศ. รศ. ต้องถูกประเมินผลงาน เพื่อต่อสัญญาจ้าง ถ้าไม่อยากตกงานก็อย่าหือกับผู้บริหาร

เคยมีนะครับ อาจารย์ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย แล้วอยู่ฝ่ายตรงข้ามอธิการบดี โดนปลดจากพนักงาน เลิกสัญญาจ้าง ตกเก้าอี้กรรมการสภาทันที

อว.ยุคเอนกก็เอาแต่บ้าอันดับมหาวิทยาลัยโลก อยากให้มหาวิทยาลัยไทยติด Ranking ต้นๆ บังคับอาจารย์ทำผลงานส่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ซึ่งต้องเสียเงิน “จ้างตีพิมพ์”

ปัญหาอธิการบดีไม่ได้มีแห่งเดียว ปัญหาการศึกษาไทยก็ผุพังตั้งแต่รากถึงยอด จากครู สพฐ #ไม่ขอเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับเกียรติบัตรออนไลน์ วัดผลงานจากภาพถ่าย

อาจารย์มหาวิทยาลัยก็อยู่ใต้อำนาจผูกขาด และถูกวัดผลงานจากการจ้างตีพิมพ์

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7025047

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net