Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจัดเสวนาเรื่อง "ค่าจ้างต่ำ ค่าครองชีพสูง ในความจำยอมของคนทำงาน" บอกเล่าปัญหาของแรงงานในช่วงโควิค-19 พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาทต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพปัจจุบัน

5 พ.ค. 2565 เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาเครือข่ายแรงงานภาคเหนือจัดงาน "Worker Fest" เราทุกคน คือ คนงาน เนื่องในวันแรงงานขึ้น ณ ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง "ค่าจ้างต่ำ ค่าครองชีพสูง ในความจำยอมของคนทำงาน" โดยตัวแทนแรงงานจากอาชีพไรเดอร์ แม่บ้าน คนงานภาคเกษตร คนงานก่อสร้าง พนักงานบริการ และพนักงานโรงงาน

 

 

ไรเดอร์ : เราไม่ใช่พาร์ทเนอร์ แต่เราเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการบริษัทแพลตฟอร์ม

ตัวแทนไรเดอร์กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หลายคนอาจคิดว่าอาชีพไรเดอร์มีรายได้ดี แต่การทำงานบนแพลตฟอร์มขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์กับบริษัทแพลตฟอร์มต้นสังกัด ช่วงแรกของสถานการณ์โควิด-19 ยอดสั่งอาหารจะมีเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อโรคระบาดอยู่นาน เศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก ร้านค้าทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ ส่งผลให้งานของไรเดอร์มีน้อยลง บางครั้งรอ 2 ชั่วโมง ได้ 1 งาน

“การเป็นไรเดอร์ เราเป็นเหมือนคนใช้แรงงาน ตั้งแต่ขับรถ ไปซื้ออาหาร ต่อคิว รับอาหารไปส่งให้ลูกค้า ตากแดด ตากฝน ตากลม ช่วงที่งานดีที่สุดไม่ใช่ช่วงเวลาปกติ ช่วงฝนตกเป็นช่วงนาทีทองที่เราสามารถเลือกงานได้ เลือกระยะทางได้  

พวกเรามักจะป่วยเป็นโรคกระเพาะ เพราะไม่ค่อยได้กินข้าวตรงเวลา ผมไม่ปฏิเสธว่ามันเป็นงานอิสระ เข้างานเมื่อไหร่ก็ได้ เลือกวันหยุดได้ แต่เมื่อคุณทำงานแล้ว เลือกที่จะทำงานนี้แล้ว ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะตามมา เช่น ผมเป็นนักศึกษาจบใหม่ พอมาทำจริงๆ มันพึงเวลาการทำงานเหมือนคนทำงานทั่วไป ถ้าคุณจะทำตามเป้าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท คุณต้องรับทั้งหมด 10 งาน ไรเดอร์บางค่ายได้ค่ารอบ 28 บาทต่อหนึ่งงาน แสดงว่าคุณต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานไปเรื่อยๆ

การเป็นไรเดอร์ทำงานวันละ 300 บาท ไม่พอ ค่าน้ำมัน ค่ากิน เงินเก็บ ค่าซ่อมรถ บางวันต้องทำให้ได้เงินอย่างน้อย 500 บาท ตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็น ถ้าอยากได้เงินไปเลี้ยงลูกอีก คุณต้องเพิ่มชั่วโมงทำงานไปอีก บางคนทำงานถึง 16 ชั่วโมง” ตัวแทนไรเดอร์กล่าว

ตัวแทนไรเดอร์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าตั้งแต่ปีที่แล้วมีการลดค่ารอบลงอย่างไม่เป็นธรรม โดยที่บริษัทแพลตฟอร์มไม่มีการแจ้งกับเป็นไรเดอร์ก่อน

“สมมติประกาศลดวันอาทิตย์ วันจันทร์ลดลง เพียงแค่ส่งข้อความมาบอกว่าค่ารอบจาก 31 บาท เหลือ 28 บาท เราไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย ทั้งๆ ที่บอกว่าเราเป็นพาร์ทเนอร์ ถ้าเป็นพาร์ทเนอร์จริงๆ เขาต้องมาคุยกับเรา

พวกเราประท้วงหลายรอบ ขับรถไปที่ศาลากลาง ไปยื่นหนังสือที่กรมแรงงานให้ช่วยจัดการ ตอนนี้เราก็ยังไม่ได้ค่ารอบกลับคืนมา และเราต้องแลกรับความเสี่ยงบนท้องถนนทั้งอุบัติเหตุ สภาพอากาศ ทางบริษัทไม่มีสวัสดิการอะไรมาถึงไรเดอร์เลย” ตัวแทนไรเดอร์กล่าว

บางบริษัทแพลตฟอร์มมีประกันให้ไรเดอร์ แต่ก็ไม่ได้คุ้มครองอย่างจริงจัง ไรเดอร์ต้องไปสมัครเองบริษัทไม่ได้สมัครให้ บริษัทเอาคำว่า “พาร์ทเนอร์” มาใช้ เพื่อปัดความรับผิดชอบในการดูแลสวัสดิการให้คนขับ ตัวแทนไรเดอร์ระบุว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลจัดการระบบการจ้างงานของบริษัทแพลตฟอร์ม

ภาคเกษตร : แรงงานข้ามชาติในสวนลำไยไม่เคยได้รับการเยียวยา

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกล่าวว่า ปัญหาแรกในการทำงานภาคเกษตร ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรที่ทำงานในสวนลำไยและสวนอื่นๆ ต่างได้รับผลกระทบ เช่นแรงงานในสวนลำไย จังหวัดลำพูน ส่วนมากทำงานเป็นลูกจ้างเก็บลำไย เมื่อมีแรงงานครอบครัวหนึ่งติดโควิด-19 อสม. หรือหน่วยงานสาธารณสุขก็จะไม่อนุญาตให้แรงงานที่อาศัยอยู่ในห้องแถวใกล้เคียงกันเข้าไปเก็บผลผลิตในพื้นที่

“สมมติเราอยู่รวมกัน 10 ครอบครัว ติดคนหนึ่งต้องกักตัวทั้งหมด ขาดรายได้ไปเลย ซึ่งรัฐและนายจ้างก็ไม่ได้มีการดูแล ถ้าหยุดงานก็คือไม่ได้เงิน เหมือนกับตกงานไปเลย พี่น้องแรงงานในชุมชนแรงงานต้องพยายามช่วยเหลือกันเอง โดยการระดมสิ่งของ ข้าวสาร และอาหารแห้ง” ตัวแทนแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกล่าว

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรระบุอีกว่า แรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรที่ต้องเดินทางไปทำงานท้ายรถกระบะด้วยกัน 10 – 20 คน ถ้ามีแรงงานคนใดคนหนึ่งติดโควิด-19 แรงงานในรถคันนั้นจะต้องหยุดงาน กักตัวทั้งคัน โดยที่ภาครัฐหรือนายจ้างไม่มีเงินชดเชยให้

พนักงานบริการ : สถาบริการถูกสั่งปิด แต่ไร้การเยียวยา

ตัวแทนพนักงานบริการระบุว่า ปัญหาของแรงงานที่เป็นพนักงานบริการคือการที่สถาบริการถูกสั่งปิดก่อนธุรกิจอื่นๆ นับตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาด แต่กลับไม่มีหน่วยงานภาคไร้เข้ามาชดเชยเยียวยาหรือดูแลชีวิตคนทำงาน รัฐบาลไม่เคยสนใจว่าแรงงานจะอยู่กันอย่างไร

“เราถูกสั่งปิดก่อนเพื่อน และยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น บางคนต้องไปรับจ้างก่อสร้าง ขับรถส่งของ ขายอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพราะว่าทุกคนมีลูก พ่อแม่ที่ต้องดูแล ต้องดิ้นรนออกไป

บางร้านจากที่เป็นบาร์ก็ต้องเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร ขายอาหารเปิด-ปิดตามเวลา ไม่ได้ทิปเหมือนเมื่อก่อน

เราเรียกร้องขอความช่วยเหลือให้รัฐบาลมีการเยียวยาพนักงานบริการ แต่เราก็ไม่เคยได้ เขาบอกว่าพวกเราเป็นสถานบริการ เป็นพนักงานบริการ เขาไม่มองเราเป็นอาชีพ ไม่ได้มองเราเป็นแรงงาน แต่เราเป็นแรงงาน เราก็ทำงานเหมือนกัน” พนักงานบริการกล่าว

แม่บ้าน : โควิด-19 ทำให้นายจ้างหวาดกลัวคนทำงานแม่บ้าน

ตัวแทนแรงงานแม่บ้านเล่าถึงปัญหาการจ้างงานในช่วงโควิด-19 ของอาชีพแม่บ้านว่า นายจ้างหลายคนเกิดความกลัว ไม่อยากให้แม่บ้านเข้าไปทำความสะอาดบ้าน ทำให้แรงงานแม่บ้านต้องตกงานในช่วงโควิด-19 ค่าจ้างที่เคยได้วันละ 300 บาทของหลายคนจึงหลายไป

“หลังโควิด-19 นายจ้างกลัว ไม่อยากให้แม่บ้านเข้า-ออกบ้าน นายจ้างบางคนที่มีลูกเล็กก็อยากให้แม่บ้านไปกินอยู่ด้วยที่บ้านนายจ้าง แต่เราไปไม่ได้ เพราะมีแม่ต้องดูแล เราก็ต้องออกจากอาชีพแม่บ้าน ไปรับจ้างเป็นรายวัน ได้ทำบ้าง ไม่ได้ทำบ้าง หนึ่งอาทิตย์ 3 – 4 วัน ก็ไม่พอกิน”  ตัวแทนแรงงานแม่บ้านกล่าว

วันแรงงานปีนี้ทางตัวแทนแรงงานแม่บ้านอยากขอให้นายจ้างขึ้นค่าจ้างให้แก่อาชีพแม่บ้านบ้าง ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ รายได้ขั้นต่ำควรอยู่ที่อย่างน้อย 400-500 บาท เนื่องจากแรงงานข้ามชาติมีค่าใช้ที่ต้องแบกรับ อาทิ ค่าต่อใบอนุญาตทำงาน ค่าวีซ่า ค่าที่พัก ฯลฯ

ขอเรียกร้องของแรงงานต่อรัฐบาล

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือร่วมกับคนทำงานทุกสาขาอาชีพจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยด่วน

2. ขอให้รัฐบาลนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้เป็นหลักการการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบันโดยเสนอให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 492 บาทต่อวันและใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ โดยให้ดำเนินการและประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ภายในปี 2565

3. ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน

4. ขอให้รัฐบาลปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
  • ปรับปรุงเงื่อนไขการเกิดสิทธิในกองทุนประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม  
  • แก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที

5. ขอให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขนิยามของ “งาน” และ “แรงงาน” ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย รวมถึงรูปแบบการทำงานที่มีความหลากหลายในการจ้างงาน อาทิ การจ้างงานแบบชิ้น (gig worker) เพื่อให้ แรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย เช่น แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์  ลูกจ้างทำงานบ้าน คนทำงานแบบชิ้น (gig worker) ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน

6. ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ในระยาว เป็นแผน 5 ปี หรือ 10 ปี  โดยให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และแก้ไขพระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2561ในประเด็นต่อไปนี้

  • ให้มีการจัดระบบการขึ้นทะเบียนของแรงงานข้ามชาติเป็นระบบดิจิทัล และเปิดขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลาเพื่อสะดวกต่อการดำเนินการของทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ  ใบอนุญาตทำงานของคนงานควรปรับให้มีอายุคราวละ 4 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานทั้งลูกจ้าง นายจ้างและภาครัฐ
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานและเอกสารอื่น ทางภาครัฐควรกำหนดให้เหมาะสมกับรายได้ของแรงงานข้ามชาติ
  • ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน
  • ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี
  • ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีการอบรมอาชีพแรงงานข้ามชาติ  โดยระหว่างที่อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลังจากที่จบการอบรมแล้วให้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปใช้ในการปรับค่าจ้างตามระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานได้
  • เปิดขึ้นทะเบียนผู้ติดตามเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นผู้สูงอายุ

7. ขอให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net