Skip to main content
sharethis

เปิดแนวคิดผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. "กรุงเทพ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เวทีเปิดแนวคิดผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

 

6 พ.ค.2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา มีเปิดแนวคิดผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. "กรุงเทพ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เวทีเปิดแนวคิดผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

ก่อนที่เวทีแสดงแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนของบรรดาผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงาน "กรุงเทพ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" จะเริ่มขึ้น คณะผู้จัดงานได้รายงานว่า สำนักงานเขตปทุมวันไม่อนุญาตให้จัดงานบริเวณหอศิลป์ กทม. ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปิดกั้นการใช้พื้นที่สาธารณะของสำนักงานเขตปทุมวัน

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย แห่งสำนักข่าว The Reporter ในฐานะองค์กรร่วมจัด กล่าวว่า คณะผู้จัดงานต้องการเปิดเวทีให้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับฟังปัญหาจากเครือข่ายทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับสิทธิชุมชนและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตนมองว่าพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯเป็นพื้นที่สาธารณะที่อยู่ใจกลางเมือง เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการที่จะให้ผู้สมัครได้มารับฟังปัญหาสิทธิมนุษยชน

หนึ่งวันก่อนงานจะเริ่มขึ้น คณะผู้จัดงานได้รับหนังสือจากนางมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน แสดงเหตุผลการไม่อนุญาตให้จัดงานที่ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในวันที่ 3 พ.ค.65 ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น.

สำนักงานเขตปทุมวัน ระบุว่า ไม่อนุญาตให้ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงในการจัดกิจกรรมบริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นสถานที่ใกล้แยกการจราจรคับคั่ง การจัดงานไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติการยื่นคำร้องและการพิจารณาออกใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง อีกทั้งสถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ใช้ทางสัญจรจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดการรวมตัวของกลุ่มบุคคลจำนวนมาก ประกอบกับมาตรการป้องกันและการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่คณะผู้จัดเสนออาจไม่เพียงพอต่อการควบคุมการจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จึงส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

แม้จะถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้พื้นที่ แต่คณะผู้จัดฯยืนยันที่จะจัดงานดังเดิม โดยย้ายไปยังสถานที่ปิด และถ่ายทอดสดให้รับชมทางออนไลน์ 

กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปิดกั้นการใช้พื้นที่สาธารณะ แต่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำนวน 23 คนจากผู้สมัครทั้งหมด 24 คน ได้ขึ้นเวทีนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ยกเว้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งติดภารกิจในช่วงเวลาดังกล่าว

การถูกปิดกั้นใช้พื้นที่สาธารณะในการเสนอความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ได้กลายเป็นหนึ่งในความท้าทายของว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างยิ่ง

กรุงเทพฯ เมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชน?

ภายหลังจากที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้นำเสนอนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนครบทั้ง 23 คน ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวแสดงความรู้สึกว่า ตนมีความหวัง แต่ความหวังจะเกิดเป็นจริงได้จะต้องสร้างพื้นที่ให้พลเมืองได้นำเสนอปัญหาและความต้องการของตน

"ถ้าจะช่วยให้กรุงเทพฯมีความหวังจริงๆ เราต้องดูแลทุกคน สร้างเงื่อนไขให้ทุกคนได้ปรากฏตัว ที่ผ่านมาเราเห็นกรุงเทพฯแต่มองไม่เคยเห็นคน เราเห็นกรุงเทพฯสวยหรู แต่ว่ามองไม่เห็นชีวิตของคน หลังวันที่ 22 พฤษภาคม ผมสนใจมากเลยครับว่า สิ่งที่เราคุยกันในวันนี้จะสามารถสานต่อจนกลายเป็นความจริงได้ไหม” ศ.สุริชัย กล่าว

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว รองผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดประสงค์ของการจัดเวทีในวันนี้ เพราะอยากเห็นการปรับเปลี่ยนกรุงเทพฯเป็นเมืองที่คำนึงต่อคนทุกภาคส่วน อยากเห็นกรุงเทพฯเป็นเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

“เราจะผลักดันกรุงเทพให้เข้าใกล้ความเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร” ดร.เบญจรัตน์ ชวนขบคิดต่อถึงการออกแบบให้เมืองเอื้อต่อการมีสิทธิมนุษยชน

“เมืองต้องยึดหลักการสิทธิมนุษยชน การทำงานของผู้บริหารเมืองต้องสามารถตรวจสอบได้ ถ้านโยบายขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เมืองต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชน เป็นเมืองที่วางเป้าหมายเพื่อที่ส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน ทั้งภายในองค์กรและงการบริหารจัดการเมือง นโยบายต่างๆ รวมถึงการศึกษาที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” เบญจรัตน์ กล่าว 

รองผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังกล่าวอีกว่า เมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เมืองที่เพียงแต่ปฏิบัติตามขอบเขตกฎหมาย แต่จะต้องเป็นเมืองที่เข้าไปปรับโครงสร้างของกฎหมายให้เป็นมิตรกับหลักการสิทธิมนุษยชน 

“แต่ก็เข้าใจว่ายังมีปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งเราต้องแก้ไขมากมาย อย่างไรก็ตามฉันอยากจะฝากทุกท่านเอาไว้ว่า เราจะขยับกรุงเทพฯให้เป็นตัวอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง คำถามสำคัญที่ผู้ว่าราชการจะต้องหาคำตอบ ก็คือเราจะเอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิด้านอื่นๆ ได้จริงอย่างไร” เบญจรัตน์ กล่าว 

การผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชนในมุมมองของ ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะต้องจัดทำระบบข้อมูลที่เอื้อต่อการทำงาน เพราะเป็นกลไกสำคัญที่ผู้ว่าราชการฯสามารถมองเห็นทั้งปัญหาและความต้องการของประชากรทุกกลุ่ม และใช้ดุลยพินิจที่สอดคล้องกับข้อมูลที่เป็นจริง 

ผศ.ทวิดาเรียกร้องให้จัดทำข้อบัญญัติของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 

“เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้ว่าราชการแล้ว ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นท่านนำข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องพื้นที่สาธารณะ การดูแลคนทุกกลุ่ม การดูแลคนไร้บ้าน การให้ประโยชน์กลุ่มคนจนเมือง และรวมถึงประชากรแฝง เราต้องทิ้งข้อจำกัดเดิมๆ เสียที ข้อจำกัดที่บอกว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ต่อจากนี้ขอให้เปิดเผยเลยว่า ข้อจำกัดนั้นคืออะไร"

ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผศ.ดร.ทวิดา มองว่า กลไกการบริหารจัดการในกรุงเทพฯไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะระบบราชการไม่มีการติดตามและการประเมิน (Monitoring & Evaluation) 

“ท้ายที่สุดของภาคประชาชนจะตอบสนองกลับออกมาให้เห็นว่าท่านทำได้แค่ไหน ตรงนี้จะเป็นกลไกที่สมบูรณ์ที่สุด” ผศ.ทวิดา กล่าว

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การเป็นผู้ว่าฯกทม.ถือเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่มีความเข้าใจและบริหารจัดการผ่านเลนส์ของสิทธิมนุษยชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นเรื่องยากกว่า

หลังจากรับฟังการนำเสนอความคิดและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนจากผู้สมัครผู้ว่าฯ.กทม.ทั้ง 23 คน ตนไม่ได้ยินผู้สมัครฯพูดถึงคนอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่ต้องการกฎหมายทำแท้งปลอดภัย บุคคลผู้ลี้ภัยในเมือง กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แรงงานนอกระบบ รวมถึงผู้ที่ได้รับความรุนแรงทางการเมือง

“ไม่แน่ใจว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นฐานเสียงของท่าน หรือเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว หรือพวกเขาถูกลืมจริงๆ ยกตัวอย่างคนที่ไปชุมนุมที่ดินแดง พวกเขาโดนกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงก้าวร้าว หรือแม้กระทั่งคนกัมพูชาที่มาต่อแถวขอรับอาหารแล้วก็โดนจับไปด้วย แล้วก็คนที่ได้รับผลกระทบกระทั่งครอบครัวของเด็กชายวาฤทธิ อายุ 15 ที่โดนยิงเสียชีวิต ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในทางคดี”

ท้ายที่สุด ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า “เราจะรอดูนะคะ ผู้สมัครทุกคนนะคะ และคนที่จะเป็นผู้ว่าฯ ว่าคุณจะทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือเปล่า”

สิทธิมนุษยชน ความท้าทายของพ่อเมืองกรุงเทพฯ

สำหรับการนำเสนอความคิดเกี่ยวกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บนเวทีที่ถูกปฏิเสธให้ใช้พื้นที่สาธารณะ จึงเป็นทั้งเรื่องตลกร้ายและความท้าทายอย่างยิ่ง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสิทธิการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ว่าการจัดเตรียมห้องสุขา การดูแลกล้องวงจรปิดที่ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคนถือเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่มีอีก 2 เรื่องเป็นอย่างน้อยที่ควรจะต้องทำ คือการเปิดพื้นที่ของหน่วยงานราชการในสังกัดกรุงเทพฯให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุม รวมถึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างเป็นกลาง โดยทำงานร่วมกันกับนักข่าวพลเมืองและภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อทำให้สิทธิของประชาชนได้รับการปกป้อง 

นอกจากนี้ วิโรจน์ ได้แสดงความคิดเห็นถึง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ว่าที่ผ่านมาเป็นกฎหมายที่ใช้เอาผิดกับผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้น ทั้งที่ พ.ร.บ.นี้ควรใช้อำนวยความสะดวกเรียบร้อยให้แก่ผู้คนในเมือง 

“พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ควรใช้จัดการกับสายไฟระโยงระยางต่างหาก แต่กลับไม่เคยทำ คุณใช้กฎหมายจัดการกับกระดาษโพสต์อิท แต่ปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ รั้วลวดหนามหีบเพลง พอมีพลเมืองดีไปเก็บลวดหนามกลับถูกกล่าวหาว่าลักทรัพย์สินของทางราชการ”

วิโรจน์ กล่าวถึงการหยุดเดินรถ BTS ในวันที่มีการชุมนุมของประชาชน ว่าเป็นการทำให้กรุงเทพมหานครเสียค่าปรับและริดรอนสิทธิในการเดินทางของประชาชน 

“ต้องตั้งคำถามว่าคุณไปรอนสิทธิการเดินทางของคนอื่นทำไม และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าถ้าคุณหยุดการเดินรถ BTS อันตรายจะเกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม คุณหมายจะให้ใครขึ้นไปบนรางเหรอ คุณไม่สาแก่ใจกับเหตุการณ์วัดปทุมฯ เหรอ ผมจะไม่ยอมให้มีชายลายพรางหรือชุดอะไรก็ต่างขึ้นไปบนบีทีเอสส่องยิงประชาชนอีก” วิโรจน์ กล่าว 

สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 3 (อิสระ) กล่าวถึงประเด็นการใช้พื้นที่สาธารณะว่า ตนเห็นด้วยกับการเอื้ออำนวยให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการชุมนุมอย่างเต็มที่ เพราะตนก็เคยใช้พื้นที่สาธารณะในการเรียกร้องสิทธิเช่นกัน

“หลายคนรู้จักผมจากบทบาทที่เคยชุมนุมเรียกร้องสิทธิมาก่อน ผมคิดว่าเราต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ต้องการเรียกร้องสิทธิตราบเท่าที่กฎหมายให้ทำได้นะครับ แต่ถ้ากฎหมายไม่ให้ทำ แต่ยังจะทำ ผมก็อยากให้ดูตัวอย่างที่ไม่ดีอย่างผม ซึ่งต้องรับผลของการกระทำ ผมสู้ไปคดีมา 7-8 ปีกว่าจะหลุดพ้นมาก็ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร ถ้าผมมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ ถ้าการชุมนุมไม่ผิดกฎหมายยังไงก็ต้องช่วยประชาชน” สกลธี กล่าว

สำหรับประเด็นที่จะเอื้อให้เมืองเป็นมิตรกับสิทธิในการชุมนุม สกลธี กล่าวว่า กรุงเทพมหานครสามารถสนับสนุนในเรื่องของการจัดการขยะ ไฟฟ้า ห้องน้ำ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะควรมีลักษณะยืดหยุ่น

“การใช้พื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯไม่ควรจำเพาะเจาะจงในการใช้ประโยชน์ลักษณะใดอย่างตายตัว เช่น สวนสาธารณะไม่ใช่สถานที่สำหรับการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว สวนสาธารณะต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ด้วย อาจจะใช้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ หรือจัดกิจกรรมดนตรี สามารถทำได้ในโซนที่ไม่เบียดเบียนกิจกรรมของคนที่ใช้สวนสาธารณะนั้น การใช้พื้นที่สาธารณะเป็นประเด็นที่ผู้ว่าฯต้องพยายามดึงศักยภาพของสิ่งที่ตัวเองมีออกมาให้ได้มากที่สุดครับ” สกลธีกล่าว

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการใช้สิทธิทางการเมืองว่า ตนสนับสนุนการใช้สิทธิในการชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ยืนยันว่าหากตนเป็นผู้ว่าฯจะไม่มีเรื่องสองมาตรฐาน พร้อมดูแลทุกคนอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ประเด็นสำคัญคือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต้องเป็นสิทธิพื้นฐานของคน กทม. กล้อง CCTV ควรเชื่อมต่อด้วยระบบ WiFi

จากการลงพื้นที่กว่า 50 เขต สุชัชวีร์ พบว่า คนกรุงเทพฯมีคุณภาพชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นตนอยากจะผลักดันให้กรุงเทพฯเป็นเมืองสวัสดิการ

“กทม. ต้องเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย เป็นต้นแบบของอาเซียน ต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงการบริการที่ฟรี ทั่วถึงและเท่าเทียม ให้ประชาชนลุกยืนขึ้นอย่างแน่นและมั่นก่อนจะวิ่งไปทิศทางที่ต้องการ” สุชัชวีร์ กล่าว

ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 (อิสระ) กล่าวถึงการจัดเตรียมพื้นที่สาธารณะให้มีการชุมนุม โดยระบุว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ตามมาตรา 9 หน่วยงานราชการสามารถกำหนดพื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมได้ ผู้ชุมนุมไม่ต้องขออนุญาตตำรวจตามหมวด 2 เช่น พื้นที่ลานคนเมือง สวนลุมพินีบางส่วน สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น หรือสวนสาธารณะอื่นๆ ได้ กระทั่งสามารถจัดการพื้นที่การชุมนุมให้มีตลาดหรือการแลกเปลี่ยนพูดคุยปราศรัย

“เราควรทำให้เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมของการพูดคุยเวลาที่มีความเห็นแตกต่างกัน หน้าที่เราคือดูแลประชาชน ไม่ว่าความคิดต่างจากเราหรือรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน” ชัชชาติ กล่าว

ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง แรงงานนอกระบบ ผู้เรียกร้องให้มีการทำแท้งปลอดภัยและถูกกฎหมาย ว่าจะต้องรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง

“เขาจะต้องมีสิทธิในความเป็นคนในความเป็นมนุษย์ครับ อัตลักษณ์ที่แตกต่างต้องได้รับการดูแล  หลายสิ่งหลายอย่างที่กรุงเทพฯทำมา เช่น สกายวอล์ค เป็นสิ่งที่ดีแต่ยังไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม แต่ว่าคนพิการไม่ได้มองอย่างนั้นครับ เขามองว่าสกายวอล์คเป็นเหมือนอนุสรณ์สถานของความความอดสูหรือความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำไมเขาขึ้นไปใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯควรคำนึงถึงคนพิการให้สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เราต้องทำงานบนแนวคิด Universal Design จึงจะสามารถบอกได้ว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังครับ ทุกวันนี้เราทิ้งไว้ข้างหลังหมดนะครับ” ศิธา กล่าว

กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สุริชัย หวันแก้ว กล่าวว่า เราจะต้องสร้างเงื่อนไขให้ทุกคนได้ปรากฏตัว ที่ผ่านมาเราเห็นกรุงเทพฯแต่มองไม่เห็นคน เราเห็นกรุงเทพฯสวยหรู แต่ว่ามองไม่เห็นชีวิตของคน เพราะกรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย ตั้งแต่ประชากรแฝง แรงงานนอกระบบ คนเร่ร่อน ไปจนถึงคนจนเมือง

ชัชชาติ กล่าวว่า คนที่มาจากต่างจังหวัดเป็นกำลังสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่ง กทม.ต้องร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ และ พอช. ประสานงานอย่างเข้มแข็ง

“ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาคนจนเมืองไม่ได้ เพราะขาดการเอาใจใส่ปัญหาคนจน สนใจแต่เมกะโปรเจคต์ เราต้องดูว่านี่คือคนที่สำคัญของเมือง นี่คือเส้นเลือดฝอยของเมือง เราต้องพัฒนาเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็งมากขึ้น” ชัชชาติ กล่าว 

การกระจายอำนาจและงบประมาณ ดูจะเป็นแนวคิดสวยหรูที่ผู้สมัครผู้ว่าฯหลายคนเสนอตรงกัน เช่นเดียวกับนายสกลธี ภารกิจแรกๆ ที่จะทำหากได้รับการเลือกเป็นผู้ว่าฯ คือการกระจายงบประมาณให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาไม่มีการพัฒนาพื้นที่รอบนอกกทม.เท่าที่ควร ผู้ว่าฯต้องกระจายความเจริญไม่ให้กระจุกตัวอยู่เพียงตรงกลาง สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนนอกเมืองได้รับความเจริญที่เท่าเทียมกับในเมือง

ขณะที่อัตลักษณ์ของกรุงเทพฯอย่างความเจริญของเมืองในย่านชุมชนดั้งเดิม (Gentrification) ก็เป็นจุดแข็งของกรุงเทพฯ สุชัชวีร์ กล่าวว่า ตนจะไม่ปล่อยปละละเลยผังเมืองให้เละเทะอย่างที่ผ่านมา

“เราต้องคิดว่า กทม. เป็นเมืองที่ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ดูแลเขาให้เท่าเทียมกันจริงๆ ผมตั้งใจจะเป็นผู้ว่าฯ ที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน 4 ปีนี้ ต้องโฟกัส โฟกัส และโฟกัสเท่านั้น จะเป็นผู้ว่าฯ ที่ไม่อยากส่งมอบปัญหาและคำถามแบบเดิมให้ผู้ว่าฯ คนต่อไป” สุชัชวีร์ กล่าว

ความแออัดและความไร้ระเบียบคือปัญหาของกรุงเทพมหานคร นายวิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพฯผลักภาระทั้งหมดให้ประชาชน แต่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดในเมืองใหญ่แห่งนี้มาจากการที่เมืองละเลยการวางกติกาที่เป็นธรรม

“ถ้ากติกาเมืองไม่มีความเป็นธรรม ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยจะต่อสู้กันเอง สุดท้ายพอปัญหาเกิดขึ้น ก็โยนบาปให้เขาอีก ใช้การจัดระเบียบไล่รื้อ สุดท้าย กรุงเทพมหานครต้องเป็นเมืองที่ไม่เห็นแก่ตัว” วิโรจน์ กล่าว

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 7 (อิสระ) คือการประกาศเจตจำนง “ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯเปลี่ยนแน่” หากหยุดโกงได้จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ กทม.ได้

รสนา กล่าวว่า ตนมุ่งทำนโยบายให้ชัดเจน เช่นนโยบาย  50 ล้าน 50 เขต ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบโครงการแก้ปัญหาในเขตตัวเอง จะเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้าไปสำรวจเหตุแห่งปัญหา ดึงให้คนในพื้นที่ที่ใกล้ชิดปัญหาเข้ามามีส่วนร่วม จะช่วยให้แก้ปัญหาตรงจุดได้

สำคัญที่สุดในการดำเนินนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดก็คือความเป็นอิสระจากอำนาจต่างๆ ซึ่งโฆษิต สุวินิจิต ผู้สมัครอิสระหมายเลข 24 กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเอง คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และอย่าให้พรรคการเมืองเข้ามามีอิทธิผลต่อการตัดสินใจ

“ผมไม่เกี่ยวกับพรรคไหน นายกฯสั่งผมไม่ได้ ไม่มีใครก็สั่งผมได้ ผมเป็นอิสระ ผมมาจากประชาชน” โฆษิต กล่าว

สำหรับวงเปิดแนวคิดผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.นี้ จัดโดยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ สโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตรีคอเดอร์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิอิสรชน กลุ่มเส้นด้าย และ Mob Data Thailand สำนักข่าว The Reporters ข่าว 3 มิติ และ AIS PLAY

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net