สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 เม.ย.-6 พ.ค. 2565

เผย 2 แรงงานไทยบาดเจ็บจากเหตุถังไนโตรเจนระเบิดที่เกาหลีใต้

6 พ.ค. 2565มีรายงานว่า ถังไนโตรเจนขนาด 3.5 ตันนอกโรงงานแปรรูปอะลูมิเนียมที่ย่านอุตสาหกรรมฮักอุนคอมเพล็กซ์ในยางช็อนอึบ, กิมโปชี, คย็องกีโด ระเบิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ส่งผลให้แรงงาน 6 คนที่ทำงานในโรงงานได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ก่อนจะมีการนำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงในเวลาต่อมา พบแรงงานไทย 2 ราย วัย 20 กว่าปี ในจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บด้วย ซึ่งทั้งคู่กำลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากได้รับบาดเจ็บบริเวณขา อีกทั้งมีอาการปวดหัวและปวดไหล่ร่วมด้วย

ที่มา: Thaikuk News, 6/5/2565

รมว.แรงงานเยือนสิงคโปร์ หารือจัดหางานและพัฒนาทักษะให้คนไทย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเยือนประเทศสิงคโปร์ เพื่อพบกับ Dr.Tan See Leng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (Ministry of Manpower) ของประเทศสิงคโปร์ ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหารือการเชื่อมโยงระบบจัดหางานและพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับแรงงานไทย รวมทั้งสามารถจัดการข้อมูลแรงงานได้อย่างเป็นระบบและครอบคลุม

พร้อมด้วยนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

โอกาสนี้ได้หารือข้อราชการในประเด็นการดูแลแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์และศึกษาระบบการจับคู่ (matching) ตำแหน่งงานแก่นักศึกษาจบใหม่ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการของนายจ้าง เพื่อนำรูปแบบดังกล่าวไปปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจ้างงานในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ณ กระทรวงแรงงานสิงคโปร์

นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ที่ให้การดูแลแรงงานไทยที่เข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ทุกคนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ที่ได้ดูแลเรื่องการฉีดวัคซีน ความเป็นอยู่และสวัสดิการต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ยังหารือถึงการบริหารจัดการระบบการจ้างงาน การ matching ตำแหน่งงานให้แก่นักศึกษาจบใหม่เพื่อให้สามารถหางานทำได้และเชื่อมโยงข้อมูลตอบสนองความต้องการของนายจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการรับแรงงานไทยเข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานไทยไปทำงานกว่า 10,000 คน ผ่านกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 1,827 คน

ในปี 2565 นายจ้างและสถานประกอบการในประเทศสิงคโปร์มีความต้องการจ้างแรงงานไทยใน 3 สาขา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ช่างอู่ต่อเรือ และช่างเชื่อมฝีมือ เนื่องจากแรงงานไทยได้รับการชื่นชมในเรื่องทักษะฝีมือการทำงานขั้นสูง ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจและพึงพอใจของนายจ้างสิงคโปร์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่มีเป้าหมายพัฒนาคนในทุกมิติ

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้ยกระดับบริการจัดหางานออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกัน จุดเด่นของแพลตฟอร์มไทยมีงานทำสามารถรวบรวมตำแหน่งงานว่างจากเครือข่ายของบริษัทจัดหางานและของภาครัฐ โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI : artificial intelligence) มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจับคู่ตำแหน่งงาน ให้บริการแบบ single window ของหน่วยงานภาคี

การให้บริการจัดหางานผ่านแอปพลิเคชันไทยมีงานทำ การรวมบริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่จุดเดียว การติดตามผลการมีงานทำ ข้อมูลการให้บริการมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงได้แบบ real-time พร้อมรวบรวมหลักสูตรพัฒนาทักษะของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยให้คนหางานมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงานและมีระดับรายได้เพิ่มขึ้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/5/2565

ค่ายรถนำเทรนด์เพิ่มทางเลือกลูกจ้างเปลี่ยนอาชีพ “โตโยต้า” ใจป้ำจ่ายสูงสุด 54 เดือนลดอายุจาก 45 เหลือ 40 ปี ให้สิทธิหัวหน้างานพิจารณา

ประชาชาติธุรกิจรายงานอ้างแหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าในช่วงเดือน เม.ย. ต่อเนื่องเดือน พ.ค. 2565 เริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายเปิดโครงการสมัครใจลาออก เช่น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เปิดให้พนักงานอายุ 45-54 ปี เป็นพนักงานประจำ และมีอายุงานตั้งแต่ 10 ปี ถึง 25 ปีขึ้นไปที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพเข้าร่วมโครงการได้ โดยจะได้ผลตอบแทนเงินช่วยเหลือตามอายุงาน ต่ำสุด 17 เดือน สูงสุด 30 เดือน โดยให้ยื่นความจำนงต่อต้นสังกัดภายในวันที่ 6 พ.ค. 2565 นี้เท่านั้น

เช่นเดียวกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เปิดอย่างไม่เป็นทางการแล้ว โดยให้พนักงานยื่นความประสงค์ไปยังหัวหน้างานพิจารณาอนุมัติในเบื้องต้นก่อน แต่แม้หัวหน้างานไม่อนุมัติก็ไม่มีผล โดยจะมีการให้เงินตอบแทนตามกฎหมายแรงงานเบื้องต้น

ดร.ภูภาร สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โตโยต้าเตรียมประกาศเปิดโอกาสให้พนักงานที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพสมัครใจลาออกเพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพ หรือต้องการไปลงทุนทำธุรกิจ โดยจะมอบเงินพิเศษให้พนักงานสูงสุด 54 เดือน บวกเงินชดเชยตามกฎหมายกำหนด และเงินกองทุนต่าง ๆ

ซึ่งปีนี้เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาส และลดอายุพนักงานที่จะเข้าร่วมโครงการ จากเดิมต้องอายุ 45 ปีขึ้นไป ลดลงเหลือตั้งแต่ 40 ปีก็สมัครได้ คาดว่าบริษัทจะประกาศให้พนักงานทราบภายในวันที่ 5 พ.ค. 2565

“หลังสหภาพได้เจรจากับบริษัทแม่มาต่อเนื่อง 2-3 ปีแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานที่สมัครลาออกได้มีโอกาสในการเปลี่ยนอาชีพ และมีเงินทุนสำหรับไปต่อยอดสำหรับอาชีพในอนาคตได้ ทำให้เดิมเราเปิดให้พนักงานที่อายุ 45 ปีเข้าร่วม แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ลดอายุพนักงานลง โดยให้เริ่มตั้งแต่ 40 ปีก็สมัครเข้าโครงการได้”

ดร.ภูภารย้ำว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการลดจำนวนพนักงานแต่เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมตามความสมัครใจของพนักงานอย่างแท้จริง แต่การจะได้รับอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหัวหน้างาน

แหล่งข่าวจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเปิดโครงการ “เกษียณอายุก่อนกำหนด กรณีมีความจำเป็นเฉพาะบุคคล” ตั้งแต่ระดับพนักงานถึงผู้จัดการแผนกที่มีอายุงานเริ่มต้นตั้งแต่ 4 เดือนถึง 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายตั้งแต่ 1-13.33 เดือน บวกเงินช่วยเหลือพิเศษตามอายุ โดยให้เงินช่วยเหลือสูงสุด 20 เดือน สำหรับพนักงานที่อายุครบ 46 ปี แต่ไม่ครบ 51 ปี ถึงพนักงานที่มีอายุ 53 ปี ได้เงินช่วยเหลือพิเศษ 6 เดือน

นอกจากนี้ยังเพิ่มเงินช่วยเหลือ เพื่อขอบคุณสำหรับพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาอีกคนละ 500,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากปัจจัยลบต่าง ๆ จากสภาพเศรษฐกิจ ปัญหาโรคระบาด และภาวะสงคราม ล้วนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในกลุ่มของผู้ผลิตชิ้นส่วน และโรงงานผลิตรถยนต์ได้มีการปรับแผนการบริหารจัดการกำลังคนให้มีประสิทธิภาพและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนวิกฤตต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มพนักงานอัตราจ้างหรือซับคอนแทร็กต์มากขึ้น เนื่องจากจะสามารถบริหารจัดการกำลังคนได้อย่างรวดเร็ว กว่าในกรณีเกิดวิกฤตหรือต้องการลดกำลังการผลิต อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพได้มีโอกาสและทางเลือกมากขึ้น

ด้านนายบวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมแห่งสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลาย ๆ องค์กรเริ่มให้ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์วางแผนการบริหารกำลังคนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด (workforce optimization) โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานตั้งแต่ 5,000-10,0000 คนขึ้นไป เพื่อตรวจสอบว่าแผนกไหน ฝ่ายไหน หรือหน่วยงานไหน มีอัตรากำลังคนมากกว่าปริมาณงาน เพื่อให้การบริหารกำลังคนกับปริมาณงานมีความสมดุลยิ่งขึ้น

รวมไปถึงการตรวจสอบด้วยว่าในแต่ละส่วนงานสามารถจ้างเอาต์ซอร์ซเข้ามาทำงานทดแทนได้หรือไม่ หรืออาจนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนได้ไหม

นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นองค์กรขนาดใหญ่เปิดโครงการเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น (flexible retirement program) เช่นกันกับองค์กรขนาดกลางที่มีพนักงานตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป ทยอยเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์รูปแบบต่าง ๆ โดยมีแพ็กเกจจูงใจเพื่อให้พนักงานเลือก ซึ่งจะขึ้นอยู่กับองค์กรนั้น ๆ ด้วยว่าผลประกอบการดีหรือไม่ ถ้าดี นายจ้างอาจจ่ายให้พนักงานในอัตราที่น่าพอใจ แต่ถ้าไม่ดีก็อาจจ่ายค่อนข้างต่ำ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/5/2565

บช.ก.-ปคม. เปิดยุทธการ “เรือมนุษย์” นำกำลังเจ้าหน้าที่บุกทลาย ขบวนการค้ามนุษย์ หลอกทำงานเรือประมง บังคับเสพยาใช้แรงงานโหด

5 พ.ค.2565 พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. และ พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชไนาญ ผบก.ปคม. พร้อมตำรวจสังกัด บช.ก. ร่วมเปิดยุทธการ “เรือมนุษย์” กระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 6 จุดใน จ.สมุทรปราการ, นนทบุรี และ จันทบุรี เพื่อจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการค้ามนุษย์ที่บังคับใช้แรงงานบนเรือประมง

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 ทางการประเทศมาเลเซียส่งกลับแรงงานไทย จำนวน 44 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 ราย ที่เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ถูกหลอกไปทำงานประมง จึงสืบสวนขยายผล จนพบว่า มีการทำกันเป็นกลุ่มขบวนการ

ตั้งแต่นายหน้า คอยจัดหาเหยื่อที่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างจังหวัดที่นั่งรถไฟเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ก็จะถูกหลอกพาไปส่งให้เจ้าของเรือประมงแห่งหนึ่งที่จ.สมุทรสาคร นายหน้าจะได้ค่าตอบแทนไปเป็นเงิน 50,000 บาท ต่อแรงงาน 1 ราย

จากนั้นเจ้าของเรือก็จะนำเหยื่อลงเรือประมงออกนอกเขตน่านน้ำไทย ไปทำประมงอยู่ในเขตน่านน้ำประเทศมาเลเซีย โดยมีไต๋ก๋งเรือควบคุม และบังคับให้ทำงานอย่างหนัก มีเวลาพักวันละไม่เกิน 4 ชั่วโมง และยังมีการนำยาเสพติดมาให้เสพจนติด จนเหยื่อต้องยอมอยู่ในความควบคุม หากคนใดไม่ยอมทำตามก็จะถูกทำร้ายทุบตีอีกด้วย

พนักงานสอบสวน จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จนนำมาสู่การเปิดยุทธการดังกล่าว

สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้มีการเปิดใช้ศูนย์ปฏิบัติการ CCOC หรือ Command And Control Operations Center เพื่อคอยประสานงานควบคุม สั่งการจากส่วนกลาง แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผลการจับกุม จะมีการแถลงข่าวอีกครั้งต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 5/5/2565

ผู้ประกันตน ม.39 หักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคารออมสินได้แล้ว

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า สำนักงานประกันสังคมได้ร่วมมือกับธนาคารออมสิน เพิ่มช่องทางการให้บริการรับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารออมสิน โดยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคารได้แล้ววันนี้

โดยทางธนาคารออมสินจะหักบัญชีเฉพาะเงินสมทบงวดเดือนปกติเดือนละ 1 ครั้ง (เช่น หักบัญชีเงินฝากในวันที่ 15 เมษายน 2565 เป็นเงินสมทบงวดเดือนมีนาคม 2565) เพียงผู้ประกันตนยื่นหนังสือยินยอมการหักบัญชีเงินฝากธนาคารกับธนาคารที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารจะรับรองลายมือชื่อในหนังสือยินยอมฯ ให้ผู้ประกันตนนำสำเนาหนังสือยินยอมฯ ดังกล่าว พร้อมแบบคำขอส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยหักบัญชีเงินฝากธนาคาร และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพยของผู้ประกันตน ซึ่งเป็นบัญชีประเภทที่สามารถทำธุรกรรมหักบัญชีได้ไปยื่น ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา

ธนาคารจะทำการหักเงินในบัญชีเงินฝากผู้ประกันตนในวันที่ 15 ของทุกเดือน ถ้าหากวันที่ 15 ตรงกับวันหยุดทำการของธนาคารหรือสำนักงานประกันสังคม ธนาคารจะทำการหักเงินในบัญชีเงินฝากผู้ประกันตนในวันทำการถัดไป

ดังนั้น ผู้ประกันตนสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-receipt) ได้อีก 2 วันทำการนับถัดจากวันที่หักบัญชีเงินฝากธนาคารจากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม (www.sso.go.th/erc) หากผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/5/2565

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยืนยันช่วยเหลือลูกจ้างของบริษัท บริลเลียนท์ อย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกจ้างทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกรอบกฎหมาย

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อย่างเต็มที่ตามกรอบของกฎหมาย โดยในประเด็นนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างดังกล่าว และได้กำชับให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ติดตามและให้ความช่วยเหลือดูแลลูกจ้างมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้นพนักงานตรวจแรงงานของกรมฯ ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

พ.ศ. 2541 จำนวน 6 คำสั่ง โดยสั่งให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และเงินอื่นๆ ให้กับลูกจ้าง 1,267 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 244,469,873 บาท พร้อมดอกเบี้ย และได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างแล้ว จำนวนเงินทั้งสิ้น 35,723,013 บาท

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ได้มีการยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแรงงาน ภาค 1 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการได้ดำเนินคดีอาญา ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ทั้งนี้ กรมฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินตามคำสั่งภายในเดือน พ.ค. 2565 นี้

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 3/5/2565

กสร. แจงลูกจ้างเข้าข่ายเป็นโควิด นายจ้างมีสิทธิสั่งตรวจหาเชื้อ หากเลิกจ้างด้วยเหตุโควิด ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง และจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่ยังไม่ลดจำนวนลง ด้วยความห่วงใยของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีความต้องการให้ลูกจ้าง มีคุณภาพชีวิต และสุขภาพอนามัยที่ดี จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสร้างความเข้าใจ ต่อนายจ้างและลูกจ้างให้ทราบว่า หากนายจ้างมีข้อสงสัยว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ลูกจ้างสัมผัสกับผู้ป่วยหรือลูกจ้างอยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วย จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัวเป็นคำสั่งให้หยุดงาน เพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือหยุดพักผ่อนประจำปีได้ รวมไปถึงนายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ด้วยเหตุที่ลูกจ้างอยู่ในข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 ถือว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรที่จะมีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจได้ เพราะหากไม่ดำเนินการอาจเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างคนอื่น หรือกระทบต่อกิจการของนายจ้างได้ สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ฉะนั้น คำสั่งของนายจ้างดังกล่าว ถือเป็นคำสั่ง เพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เกี่ยวกับการทำงาน ที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างก็อาจปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าสถานที่ทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้ หรืออาจลงโทษทางวินัย เช่น ตักเตือนลูกจ้างด้วยวาจาหรือตักเตือนเป็นหนังสือ เป็นต้น

อธิบดี กสร. กล่าวทิ้งท้ายว่า หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อไวรัส COVID-19 ถือว่าไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง ไม่ใช่การกระทำผิดวินัย ลูกจ้างมีสิทธิ ได้รับค่าชดเชย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 หรือหากสงสัยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 3/5/2565

รมว.แรงงานเผยเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข ปลดล็อกเงินชราภาพประกันสังคม กู้ได้ ยืมก่อน รับบำเหน็จ หรือบำนาญ ต่อ ครม. แล้ว

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลายาวนาน 2 ปีเต็ม ส่งผลกระทบให้ประชาชนรายได้ลดลง บางคนถึงกับตกงานไม่ทันตั้งตัว ภาระหนี้สินพัวพันจนไร้ทางออก เพราะต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และจ่ายหนี้จ่ายสินจนหมดตัว โดยเฉพาะผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคมหลายคนที่ออกมาเรียกร้องให้ กระทรวงแรงงานและประกันสังคม ช่วยเพิ่มทางเลือกให้มีการนำกองทุนเงินชราภาพมาเป็นหลักค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินเพื่อไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันผ่านวิฤกติที่เกิดขึ้นได้

ความคืบหน้าล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำไปบรรจุเป็นวาระ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน โดยเฉพาะกรณีชราภาพสามารถเลือกบำเหน็จ หรือบำนาญ ใช้ค้ำเงินกู้ และขอนำเงินสมทบบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้

ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุน หมุนเวียน ที่มี นายอาคม พิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบแล้ว และเตรียมทำความเห็นประกอบเสนอเข้า ครม. ควบคู่ไปกับข้อเสนอของกระทรวงแรงงานภายในเดือน พ.ค. 65 นี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงทางเลือกเดียว คือ การได้เงินบำนาญ เพราะเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป ผู้ประกันตนบางคนก็อยากได้เงินก้อนเวลาที่เกษียณแล้ว

สำหรับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ หรือที่เรียกว่า โครงการ 3 ขอ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ จากปัจจุบัน ที่กำหนดสิทธิให้อย่างเดียว คือ เมื่อส่งเงินสมทบไปแล้ว 180 เดือนขึ้นไป จะได้เฉพาะเงินบำนาญ แต่โครงการ 3 ขอ มีรายละเอียด คือ

ขอที่ 1 ขอเลือก : เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อนำส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขของการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว

ขอที่ 2 ขอกู้ : เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธินำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้

ขอที่ 3 ขอคืน : เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธินำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน ก่อนอายุครบกำหนดได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาข้อกฎหมายในเรื่องนี้เป็นเวลากว่า 1 ปี จนตอนนี้เสร็จสิ้นแล้ว โดยกรณีการใช้เงินชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินนั้น ตอนนี้กำลังพิจารณาสัดส่วนของวงเงินก่อนว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ โดยจะพิจารณาออกเป็นกฎกระทรวง ให้สามารถนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อน 20-30% เพื่อไม่ให้กระทบต่อการออมในวันที่ผู้ประกันตนชราภาพแล้ว และเม็ดเงินที่ออมไว้หายไป

ขณะที่การขอให้นำเงินกรณีชราภาพที่ผู้ประกันตนได้สมทบไว้ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน ก่อนอายุครบกำหนดนั้น จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนในช่วงเกิดวิกฤติได้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 3/5/2565

แรงงานภาคเหนือโอดโควิด-19 กระทบชีวิต-การงาน-ครอบครัว

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 ในงานวันแรงงาน จ.เชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล ที่ข่วงประตูท่าแพ มีวงเสวนา “ค่าจ้างต่ำ-ค่าครองชีพสูงในความจำยอมของคนทำงาน และการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติแสนแพง” โดยมีตัวแทนคนทำงานจากภาคผลิตต่าง ๆ ได้แก่ ไรเดอร์ แรงงานภาคการเกษตร แรงงานก่อสร้าง แรงงานพนักงานบริการ แรงงานแม่บ้าน และแรงงานภาคประชาสังคม

ตัวแทนแรงงานไรเดอร์ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายคนอาจคิดว่าไรเดอร์เงินดี แต่งานเราขึ้นอยู่บนแพลตฟอร์มที่มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์กับบริษัท เมื่อโควิดอยู่นาน เศรษฐกิจก็ถดถอย ร้านค้าทยอยปิดตัวเรื่อย ๆ ส่งผลให้งานมีน้อยลง ไรเดอร์บางคนใช้เวลา 2 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ 1 งาน เป็นต้น

“ผมไม่ปฏิเสธว่า เป็นงานอิสระ จะเข้างานเมื่อไหร่ก็ได้ เลือกวันหยุดเองได้ แต่เมื่อเลือกทำงานนี้แล้ว ทุกคนจะค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะตามมา เช่น ผมเป็นนักศึกษาจบใหม่ พอมาทำจริง ๆ มันต้องใช้ชั่วโมงการทำงาน เหมือนคนทำงานทั่วไป ถ้าอยากจะได้ค่าตอบแทนเท่ากับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ไรเดอร์อาจต้องรับทั้งหมด 10 งาน หรือบางเจ้าให้ค่ารอบ 28 บาท แสดงว่าเราก็ต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ผู้แทนไรเดอร์กล่าว หลังเผชิญสถานการณ์การลดค่ารอบ ทำให้ไรเดอร์ออกมาประท้วงหลายครั้ง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ค่ารอบกลับคืนมา

ส่วนผู้แทนแรงงานภาคเกษตร กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ปัญหาแรกที่คนงานในภาคเกษตรได้รับผลกระทบ คือการขาดรายได้ หากเพื่อนแรงงานในกลุ่ม หรือพักอาศัยในห้องแถว ในชุมชน หรือแคมป์คนงานเดียวกัน ติดโควิดเพียงคนเดียว เจ้าหน้าที่รัฐหรือ อสม. จะห้ามไม่ให้แรงงานทั้งหมดไปเก็บผลผลิต หรือทำงานตามปกติ ทำให้ขาดรายได้แบบยกหมู่

“เมื่อขาดรายได้ รัฐและนายจ้างไม่ได้ดูแลเลย ถ้าหากหยุดงานคือไม่มีเงิน เหมือนกับตกงานไปเลย พี่น้องแรงงานในชุมชนต้องพยายามช่วยเหลือกัน โดยระดมสิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อบรรเทาช่วยเหลือซึ่งกันและกันไป”

ผู้แทนพนักงานสถานบริการ กล่าวว่า เราถูกสั่งปิดกิจการก่อนคนอื่น และยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ ทั้งสิ้น พวกเราอยู่กันอย่างไร ก็ทำเท่าที่ได้ บางคนต้องไปรับจ้างก่อสร้าง ขับรถส่งของ ขายอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะทุกคนมีภาระต้องดูแล มีลูก พ่อแม่ ต้องดิ้นรนกันไป

“แม้จะรวมตัวกันไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือให้มีการเยียวยา แต่เราก็ไม่เคยได้ เขาบอกว่าเราทำงานในสถานบริการ เป็นพนักงานบริการ เขาไม่มองเราเป็นอาชีพ ไม่ได้มองเราเป็นแรงงาน ทั้ง ๆ ที่เราเป็นแรงงาน เราก็ทำงานเหมือนกัน”

แรงงานภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นแรงงานชาติพันธุ์ กล่าวว่า ตนได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละประมาณ 300 บาท แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ค่าซื้อของ ค่าใช้จ่าย สูงขึ้น ต้องส่งลูกเรียน ค่าน้ำ ไฟ เมื่อโควิดระบาด แรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงาน บางครั้งต้องทำวันเว้นวัน และยังมีเรื่องค่าทำบัตรเข้ามาอีก ต้องยากลำบากมาก

ขณะที่ ตัวแทนแรงงานภาคประชาสังคม กล่าวว่า เรามาจากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เราจึงต้องรวมตัวกัน มีความคิด อุดมการณ์เพื่อแก้ไขปัญหา สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมามีมา 8 ปีแล้ว จนกระทั่งโควิดเข้ามา สถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลง สวัสดิการไม่มี ค่าแรงของแรงงานไม่เพียงพอ

“แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น คนละครึ่ง แต่ในความเป็นจริงนโยบายคนละครึ่ง ทำให้ร้านค้าและนายทุนขึ้นราคาสินค้า ทำให้เราต้องจ่ายแพงขึ้นไปอีก เราจึงออกมาเรียกร้องว่า ควรเพิ่มค่าแรงให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ จึงเกิดภาคประชาสังคมขึ้น เพื่อไปต่อรอง พูด เรียกร้อง ช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อน”

ภาคประชาสังคมแต่ละภาคส่วน ก็มาจากคนที่เดือดร้อน แต่กลับมีกฎหมายคัดค้านการรวมกลุ่มของประชาชน ตรวจสอบองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เนื้อหาใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำลังห้ามพวกเรารวมกลุ่มกัน ฉะนั้นถ้าเราเดือดร้อน อยากไปบอกความเดือดร้อนของเรามันทำไม่ได้อีกแล้ว เราจึงลุกขึ้นมาต่อต้าน

ทั้งนี้ ยังมีการเปิดตัวฉายสารคดีที่พูดถึงเรื่อง ต่อบัตร ภาระ ภาษี แรงงานข้ามชาติ โดย เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผูกติดอยู่กับการจ่ายค่า “ต่อบัตร” ของแรงงานข้ามชาติ หลายคน “ต้องลุ้นว่าปีนี้ค่าต่อบัตรจะเท่าไหร่ ทุกปีไม่เหมือนกัน”

ที่มา: Thai PBS, 2/5/2565

สสส.-ภาคีผลักดันข้อเสนอ 3 ด้านคุ้มครองแรงงานนอกระบบ จัดตั้งกองทุนสวัสดิการคนทำงานแพลตฟอร์ม หลังพบ 3 ปัญหาหลักด้านสุขภาพ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ โดยร่วมกับกระทรวงแรงงานในการประเมินสถานการณ์ของแรงงานนอกระบบในปัจจุบัน ที่มีรูปแบบการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนแปลงจากในอดีตอย่างมาก จึงได้สนับสนุน ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 3 ด้าน 1.ข้อเสนอเชิงนโยบายของงานที่เป็นธรรม (Fair Work) 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ผลักดันการบังคับใช้ข้อตกลงหรือสัญญาที่เป็นธรรม (Fair Agreement), กำหนดและเผยแพร่เกณฑ์มาตรฐานของงานที่เป็นธรรม (Fair Work Standard), ส่งเสริมการให้ความรู้ทางการทำงานและการเงิน (Operational and Financial Literacy)

2.ข้อเสนอเชิงนโยบายของผลตอบแทนที่เป็นธรรม (Fair Reward) ได้แก่ จัดตั้งกองทุนสวัสดิการคนทำงานแพลตฟอร์ม (Welfare Fund), กำหนดให้มีมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำในรายชั่วโมง (Hourly Wage), กำหนดมาตรการในการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลคนทำงานแพลตฟอร์ม หรือแรงงานนอกระบบประเภทอื่น โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มของงานแห่งอนาคต (Protection Measure) และ 3. ข้อเสนอเชิงนโยบายของการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) ได้แก่ การส่งเสริมธรรมาภิบาลดิจิทัล (Digital Governance) ในการทำงานของแพลตฟอร์ม และการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดแพลตฟอร์มอย่างเป็นธรรม (Market Entry) ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว กระทรวงแรงงานได้รับไปพิจารณาปรับกฎหมายลำดับรอง ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนอกระบบที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่าจะบังคับใช้ในปีหน้าต่อไป

นางภรณี กล่าวต่อว่า กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม (Plaform Labor) ที่ประกอบอาชีพ “ไรเดอร์” หรือ “พนักงานส่งอาหารหรือพัสดุ” คืออาชีพอิสระที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ สสส. และภาคีเครือข่ายสำรวจข้อมูลสุขภาพของไรเดอร์จำนวน 518 คน จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ พบ 3 ปัญหา ได้แก่ 1.ปัญหาสุขภาพร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อมือ เนื่องจากขับขี่รถเป็นเวลานาน 2.ปัญหาความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะต้องแข่งกับเวลาในการส่งของ และ 3.ปัญหาสุขภาพจิต ที่เกิดจากความเครียดระหว่างทำงานกับลูกค้า ร้านค้า และสภาพอากาศ และพบร้อยละ 87.5% ไม่มีโรคประจำตัว และร้อยละ 12.5 มีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิต ร้อยละ 24.2 ภูมิแพ้ ร้อยละ 19.4 หอบหืด ร้อยละ 6.5 เบาหวาน ร้อยละ 6.5 และ ไขมัน 4.8 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพไรเดอร์ในระยะยาว

“สถานการณ์ทางสุขภาพของไรเดอร์ ทำให้ สสส. ร่วมกับ บริษัทไลน์แมน วงใน จำกัด เตรียมสร้างให้เกิด “เครือข่ายไรเดอร์สร้างเสริมสุขภาพ” โดยจัดตั้งให้มีแกนนำจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างระบบช่วยเหลือดูแลกันเอง พัฒนาคู่มือสร้างเสริมสุขภาพไรเดอร์ และเตรียมพัฒนา Lineman driver application เป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของไรเดอร์ เช่น คลิปแนะนำวิธีการดูแลตัวเอง หรือออกแบบท่าออกกำลังกายที่ลดอาการปวดเมื่อย, ทำชุดข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรให้ขับขี่ปลอดภัยเกี่ยวกับประกันชีวิต ประกันภัย ประกันอุบัติเหตุ, ทำแบบประเมินความเครียด ระบายความรู้สึก ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่าน Chat – bot หรือส่งข้อความปรึกษาผู้ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มที่เหมาะสม เพื่อเป็นการผนึกพลังการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น” นางภรณี กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/5/2565

'สุชาติ' ยันปรับแน่ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ไม่ใช่ 492 บาท ใช้สูตร 'ค่าจ้าง-เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ' มาตรฐานทั่วโลก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงถึงข้อเรียกร้องในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เท่ากันทั้งประเทศอัตรา 492 บาท ว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน ที่ให้มีการพิจารณาประกอบการทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน กรณีที่เสนอให้ปรับ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ เป็นการคิดแบบตรรกะที่ตนไม่เข้าใจ เพราะสมมุติเช่าบ้านอยู่ลำปาง 2,000 บาท ค่าเช่าที่ชลบุรี กรุงเทพฯ ก็อีกราคาหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกัน ฉะนั้นจะต้องเอาค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่มาคำนวณ

นายสุชาติกล่าวว่า ตนเคยเป็นลูกจ้างอยู่ในมาตรา 33 มาก่อนเข้าใจทุกอย่าง แต่ข้อเรียกร้องนั้นบางครั้งตนจะต้องสร้างสมดุลทั้งสองฝ่าย หยิน หยางต้องสมดุล การระบาดของโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถามว่า นายจ้างบาดเจ็บเท่าไร เจ็บจนไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาประคอง ถ้าจะขึ้นเงินเดือนจริงๆ 48 เปอร์เซ็นต์ ไหวหรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องเอาค่าแรงขั้นต่ำ ค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อมาเป็นตัวพิจารณาประกอบกัน ซึ่งมาตรฐานทั่วโลกใช้สูตรนี้หมด

รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า ตนอธิบายตลอดอยู่แล้ว แต่ปรับเท่าไรให้นายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างพอไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ถามตนที่มาเรียกร้องที่มาหาตนว่าเขาได้ค่าแรงเท่าไร พบว่า ได้ค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำหลายเท่า จริงๆ เขาก็กลัวว่าการปรับฐานค่าจ้างแล้วจะกระทบไปหมดเป็นลูกโซ่ วันนี้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือ ไม่มีใครไปทำงานกรรมกรก่อสร้างค่าแรงขั้นต่ำ วันนี้ต้องยอมรับว่าพี่น้องเราทำงานในออฟฟิศ

“อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการปรับตามข้อเสนอของหลายๆ ท่านเพราะมองว่าค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามาจากกรณีสงครามรัสเซียยูเครนด้วย เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เราต้องให้ความเป็นธรรม หลายคนกลัวว่าเราจะเข้าข้างนายจ้าง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ปิดกิจการไปจะเอาเงินจากตรงไหนไปจ่าย เงินกองทุนว่างงานของประกันสังคมเพียงพอหรือไม่ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องไปให้ได้ถ้าทุกคนอยู่ได้ ขออย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้หลักการความเป็นจริง” นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/5/2565

'ประยุทธ์' รับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ 8 ข้อ ของ 15 สภาองค์การลูกจ้าง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. 2565 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตลอดจนผู้ใช้แรงงาน (กลุ่ม 15 สภาองค์การลูกจ้างเป็นหลัก) มาร่วมงานด้วย

โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ ทั้ง 8 ข้อ (เป็นข้อเรียกร้องของกลุ่ม 15 สภาองค์การลูกจ้าง) ได้แก่ 1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 2. ให้เร่งดําเนินการนําร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านประชาพิจารณ์มาแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาโดยเร่งด่วน 3. ให้ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้าย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 4. ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 5. ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม 6. เร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ 7. ให้จัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อการเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และ 8. แต่งตั้งคณะทํางานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2565

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาเปิดงานวันนี้ ยืนยันว่าไม่เคยทอดทิ้งแรงงาน และในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ก็จะเป็นโอกาสดีที่ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงสิทธิและความปลอดภัยของพี่น้องแรงงาน ย้ำว่า ต้องดูแลทุกคนอย่างทั่วถึง ตนทราบดีว่า แรงงานคือกำลังหลักที่ทำให้ประเทศเข้มแข็งมาถึงทุกวันนี้ ยอมรับว่า ที่เป็นห่วงคือชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของแรงงาน ซึ่งรัฐบาลก็พยายามดูแลทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และขณะนี้ก็เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งในโลกใบนี้ ซึ่งกระทบกับทุกห่วงโซ่การผลิต เพราะวัตถุดิบต้องมาจากหลายประเทศ เมื่อมีสถานการณ์ขัดแย้งก็ต้องเตรียมมาตรการอื่นไว้รองรับด้วย และที่สำคัญประเทศกำลังจะเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน เพราะกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบด้วย พร้อมยอมรับว่า เวลานี้ค่าใช้จ่ายของแรงงานก็เกิดปัญหาเงินเฟ้อ รัฐบาลจึงระมัดระวังมากที่สุด เพื่อไม่ให้มากจนเกินไป ย้ำว่ารัฐบาลไม่ทิ้งแรงงาน แต่ได้หารือกับรองนายกฯ และรัฐมนตรีมาตลอดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาฝีมือแรงงาน ประเทศไทยยังส่งสินค้านวัตกรรมเดิมๆ จึงเร่งเดินหน้าใช้เทคโนโลยีในการผลิต ใช้นวัตกรรมเข้ามาส่งเสริมการลงทุน

“แม้ว่าจะมีสงคราม แต่เชื่อมั่นว่าพวกเราจะรักและสามัคคี เพราะรัฐบาลเดินเพียงลำพังไม่ได้ ท่านก็เดินคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน ที่สำคัญมีสถาบันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและศูนย์รวมของคนทั้งประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สิ่งที่ดีที่สุด คือ รักและสามัคคี พัฒนาตัวเอง ทุกคนต้องร่วมมือกัน ส่วนตัวยินดีรับข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อไปพิจารณา ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ การหารายได้เข้าประเทศ แต่ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยลืมแรงงาน ส่วนการคุ้มครองแรงงาน กำลังพิจารณากันอยู่ ย้ำว่าไม่ทอดทิ้งประชาชน อะไรที่ทำให้ได้ จะทำให้เต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาถึงกระทรวงแรงงาน ก็ได้เข้าไปพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร ภายในห้องพักรับรอง เป็นเวลา 10 นาที ก่อนจะเดินเข้าห้องประชุมกระทรวงแรงงานบริเวณที่จัดงานพร้อมกัน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 1/5/2565

คสรท. และ สรส. เรียกร้อง 11 ข้อ ขอปรับค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ

1 พ.ค. 2565 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดกิจกรรมเนื่องในวันกรรมกรสากล ยื่น 11 ข้อเรียกร้องต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ในทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีตของพี่น้องกรรมกรทั่วโลก ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อยื่นข้อเสนอของคนงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ต่างๆ ต่อรัฐบาล โดยข้อเรียกร้องหลักเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นทุกเถียงในสังคม คือ ค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งขอปรับขึ้นเป็น 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้ทำโครงสร้างค่าจ้าง ขอให้หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ รวมทั้งจัดตั้งธนาคารแรงงาน โรงพยาบาลประกันสังคม รับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 98 183 189 และขอให้ยกเลิกการจ้างงานระยะสั้น ซึ่งไม่มั่นคง พร้อมขอให้ลูกจ้างของรัฐฯ ได้รับการบรรจุ เพื่อเป็นหลักประกันในคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอสำหรับแรงงานข้ามชาติด้วย โดยขอรัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หยุดขูดรีดแรงงานข้ามชาติ ไม่เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ ขอให้ลดค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารประจำตัวแรงงานข้ามชาติ และคุ้มครองไม่ให้แรงงานข้ามชาติตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เป็นต้น

ขณะบริเวณเดียวกัน ที่ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. นำโดย นางอภันตรี เจริญศักดิ์ จัดกิจกรรม “เนื่องในวันกรรมกรสากล” ก่อนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไทย ไปยังประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากล ปี 2565 "ยกเลิกการจ้างงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การจ้างงานแบบเหมาค่าแรง และสัญญาจ้างระยะสั้น - ส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รับรอง ILO 87, 98

-ปฏิรูป ปตท. เป็นองค์กรของประชาชนเพื่อประชาชน โดยลดราคาน้ำมัน เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม - ปฏิรูปการจัดเก็บภาษี ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน-ภาษีในตลาดหลักทรัพย์ -สร้างสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มและขยายสิทธิ์ประโยชน์กองทุนประกันสังคม - ลาคลอด 180 วัน ได้รับค่าจ้าง 100% -หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมและคุ้มครองระบบสหกรณ์ เรียนฟรี อนุบาลถึงปริญญาตรี - หยุดการโกงกินทุกรูปแบบ ไม่โกงกิน ไม่สิ้นชาติ" ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมร้องเพลงประสานเสียงเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลร่วมกัน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 1/5/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท