Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีประเด็นวิวาทะในโลกโซเชียลเวลานี้คือ “ปากท้องกับอุดมการณ์ควรเลือกอะไรก่อน” ผู้ที่พูดในนามคนเสื้อแดงยืนยันว่า “เลือกปากท้องก่อน” เพราะถ้าเลือกรัฐบาลที่มีความสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนท้องอิ่ม หรือประชาชนถูกยกระดับให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอำนาจทางการเงินมากขึ้น เสียงของพวกเขาก็จะดังขึ้น อำนาจต่อรองทางการเมืองก็จะเพิ่มขึ้นตามมา ในสถานการณ์เฉพาะหน้าหรือในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ใครชอบทางไหนก็เลือกทางนั้น ถ้าชอบเรื่องแก้ปัญหาปากท้องก็เลือก “พรรคเพื่อไทย” ถ้าต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็เลือก “พรรคก้าวไกล” สุดท้ายก็ตัดสินที่เสียงข้างมาก แบบนี้สิแฟร์ๆ ดี

ผมคิดว่านี่เป็นเพียงมุมมองหนึ่งของคนเสื้อแดง ซึ่งอาจมีคนเสื้อแดงอีกจำนวนมากทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง เพราะคนเสื้อแดงมีความหลากหลาย หากย้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนเสื้อแดง ปรากฏการณ์ใหม่ที่เราได้เห็น อาจสรุปได้เป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. การตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ซึ่งส่วนใหญ่คือคนใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด และคนชนบท เป็นการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่หวงแหน “สิทธิเลือกตั้ง” เพราะพวกเขาได้เห็นแล้วว่า การเลือกตั้งมีความหมายกับชีวิตของพวกเขาอย่างจับต้องได้เป็นครั้งแรกที่ได้รัฐบาลชูนโยบายแก้ปัญหาความยากจน และทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ผ่านนโยบาย “สวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรค” การกระจายงบประมาณลงไปถึงระดับชุมชนหมู่บ้าน ผ่านนโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” เป็นต้น 

การตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ดังกล่าว คือปรากฏการณ์ของพัฒนาการประชาธิปไตยในความหมายที่สำคัญคือ กลุ่มชนชั้นผู้ถูกกดขี่ออกมายืนยัน “อำนาจต่อรองทางการเมือง” ของพวกเขาผ่านการเลือกตั้ง และหวงแหนสิทธิเลือกตั้งของพวกเขาด้วยการออกมาต่อต้านเผด็จการที่ล้มรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือก

2. การต่อสู้ของคนเสื้อแดงแบบยอมเอาชีวิตเข้าแลกมีคุณูปการต่อปัญญาชน และสื่อมวลชนในระดับที่แน่นอนหนึ่ง เพราะมันเป็นการกระตุก “ต่อมสามัญสำนึก” ว่าที่ปัญญาชนและสื่อมวลชนจำนวนมากเวลานั้นเห็นว่า รัฐประหารเป็นทางแก้ปัญหานั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ที่ถูกต้องคือ ต้องหันมายืนยันแนวทางแก้ปัญหาผ่านกระบวนการประชาธิปไตยตามที่คนเสื้อแดงระดับชาวบ้านธรรมดาจำนวนมากออกมายืนยัน

3. ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” ผ่านวาทกรรม “มือที่มองไม่เห็น” “ระบบอำมาตยาธิปไตย” “อำนาจนอกระบบเลือกตั้ง” วาทกรรมเหล่านี้ทำให้ผู้คนมองเห็น “ช้างในห้อง” ว่าที่จริงแล้วปัญหาพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยไม่ใช่ปัญหาคอร์รัปชันของนักการเมืองเท่านั้น หากแต่มี “อำนาจนอกระบบเลือกตั้ง” เข้ามาแทรกแซงการเมืองและทำรัฐประหารได้เสมอ ซึ่งอำนาจนอกระบบนั่นเองที่คอร์รัปฯ ได้อย่างอย่างเป็นระบบ และปราศจากการตรวจสอบ 

ดังนั้น ที่เข้าใจกันมาตลอดว่า มีเลือกตั้งเท่ากับเป็นประชาธิปไตยจึงไม่จริง ตราบที่ไม่สามารถสร้างรัฐธรรมนูญและวางระบบอื่นๆ ป้องกันไม่ให้อำนาจนอกระบบแทรกแซงการเมือง หรือทำรัฐประหารได้ ก็ยังเป็นประชาธิปไตยไม่ได้จริง

ปรากฎการณ์ตาสว่างดังกล่าว คือ “จุดเริ่มต้น” ที่ทำให้เกิดการตีความ ขยายความ การนำเสนอข้อเท็จจริงหรือหลักฐานสนับสนุนมากมายผ่านระยะเวลากว่าทศวรรษ จนนำมาสู่ปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ชู 3 นิ้วลุกขึ้นสู้ และนำมาสู่ข้อเสนอแบบ “ทะลุเพดาน” คือข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เกิดกลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มทะลุแก๊ส, กลุ่มทะลุวัง, กลุ่มทะลุคุก ฯลฯ แม้กลุ่มต่างๆ เหล่านี้อาจไม่ใช่เนื้อเดียวกับคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 แต่ก็มีนัยยะสำคัญของความเชื่อมโยงกันในเชิงอุดมการณ์ที่ต้องการเอา “อำนาจนอกระบบ” ออกไปจากการกำกับและแทรกแซงการเมืองและการทำรัฐประหารให้ได้จริง

ดังนั้น ปากท้องกับอุดมการณ์จึงไม่แยกกันตั้งแต่แรก คนเสื้อแดงต้องการประชาธิปไตย เพราะพวกเขาเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยทำให้พวกเขามีสิทธิอำนาจต่อรองทางการเมืองผ่าน “การเลือกตั้ง” ได้จริง และได้รัฐบาลที่มีนโยบายตอบสนองปัญหาของพวกเขาได้จริง เพราะนอกจากสนามเลือกตั้งแล้ว พวกเขาแทบจะไม่มีเวทีอื่นในการ “ส่งเสียง” เท่ากับชนชั้นที่สุขสบายกว่า  

เมื่อเป็นเช่นนี้ อุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้ขัดแย้งกับปัญหาปากท้องและอุดมการณ์ของคนเสื้อแดงในสาระสำคัญ เพราะข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคนรุ่นใหม่ ก็คือข้อเสนอเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริงและมั่นคง เมื่อประชาธิปไตยมั่นคง การแก้ปัญหาปากท้องย่อมมีความชัดเจน มีประสิทธิภาพ และมีความต่อเนื่องมากขึ้น 

ผมจึงมองไม่เห็นเหตุผลว่า ทำไมต้องมาเถียงกันว่าปากท้องกับอุดมการณ์อะไรสำคัญกว่า หรือต้องเลือกอะไรก่อน เพราะปัญหาปากท้องกับอุดมการณ์คือเรื่องเดียวกัน คนเสื้อแดงที่เน้นปากท้องก็ต้องการประชาธิปไตยอยู่แล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ “พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรค” รับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปดำเนินการต่อในกระบวนการรัฐสภา พวกเขาก็พูดเรื่องปากท้อง รัฐสวัสดิการ (เป็นต้น) ด้วยอยู่แล้ว

เราจึงจะ “ตัดบท” ว่าให้เลือกระหว่าง “ปากท้องกับอุดมการณ์” คงไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่การเมืองในภาวะปกติที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว หรือไม่ใช่ว่าประเทศเรามีพัฒนาการมาถึงจุดที่เป็นประชาธิปไตยที่ตัดสินด้วยเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งแล้วจบโดยปราศจาก “อำนาจนอกระบบ” คอยกำกับและแทรกแซงการเมือง ไม่เช่นนั้นรัฐบาลเพื่อไทยคงไม่ถูกทำรัฐประหารต่อเนื่องสองครั้ง ถูกยุบพรรคสองครั้งโดยเครือข่ายอำนาจนอกระบบเดียวกัน หากเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลอีกก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่ถูกทำรัฐประหารอีก ถ้าไม่ร่วมกันแก้ปัญหาโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตยได้จริง

ดังนั้น ถ้าเราอยากมีประชาธิปไตยที่ประชาชนท้องอิ่ม และไม่มีประชาชนต้องถูกขังคุกรายวันด้วยมาตรา 112 เพียงเพราะพวกเขาใช้เสรีภาพในการแสดงออก เราก็ต้องถือว่าปากท้องกับอุดมการณ์เป็นเรื่องเดียวกัน และร่วมมือกันทุกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในการรับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคนรุ่นใหม่ไปดำเนินการต่อผ่านกระบวนการรัฐสภา ส่วนเรื่องปากท้องก็เป็นเรื่องหลักที่พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบายแข่งขันกันอยู่แล้ว เราชอบนโยบายเศรษฐกิจพรรคไหนก็เลือกพรรคนั้น แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปฏิรูปการศึกษา กองทัพ ศาล ฯลฯ ย่อมเป็นเรื่องของ “ความรับผิดชอบร่วมกัน” ของทุกพรรคการเมืองที่ยืนยันว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

พูดอีกอย่างคือ เราควรช่วยกันทำให้ประเด็น “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เป็นเรื่องที่พูดได้ทั้งนอกและในสภาอย่างปกติธรรมดาเช่นเดียวกับเรื่องปฏิรูปเศรษฐกิจ, การศึกษา, กองทัพ, ศาล และอื่นๆ เราคงไม่ต้องการท้องอิ่มและเป็นประชาธิปไตยในแบบที่ทนรับได้กับการเห็นคนหนุ่มสาวและคนทุกวัยที่มีอุดมการณ์ต้องถูกไล่ล่าด้วยมาตรา 112 รายวันไปตราบนานเท่านาน!  

 

ที่มาภาพ:  https://www.facebook.com/Friendstalkchannel

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net