นักสิ่งแวดล้อมเตือน ‘ป้ายหาเสียง’ รีไซเคิลไม่ได้จริง เสี่ยงซ้ำเติมปัญหาขยะ

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกทม.ครั้งนี้ ‘ป้ายหาเสียง’ กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้สมัครบางส่วนหยิบยกมาเป็นจุดเด่นในแคมเปญของตนเอง เช่น ลดขนาดป้าย ลดจำนวนป้าย จำกัดสถานที่ติดป้าย ขณะที่ผู้สมัครท่านหนึ่งสร้างกระแสฮือฮาด้วยการปิ๊งไอเดียจะเอาป้ายหาเสียงมารีไซเคิลเป็นกระเป๋าแฟชั่น หลังการเลือกตั้งยุติลง

แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วัสดุพลาสติกในป้ายหาเสียงนั้น แทบไม่มีทางรีไซเคิลได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแท้จริง นอกจากนี้ กฎหมายเลือกตั้งของไทยไม่มีส่วนใดที่กำกับดูแลการรีไซเคิลหรือกำจัดป้ายหาเสียงอย่างถูกวิธี กลายเป็นความเสี่ยงว่าป้ายหาเสียงเหล่านี้จะกลายเป็นขยะที่สร้างมลพิษในอนาคตสืบไป 

ฤดูการหาเสียงเลือกตั้ง กลับมาเยือนกรุงเทพอีกครั้ง พร้อมกับป้ายหาเสียงที่โผล่พรึ่บขึ้นมาอย่างแน่นขนัดตามถนนหนทางต่างๆ 

ป้ายหาเสียงที่พบเห็นทั่วไปเหล่านี้ ยังได้กลายเป็นเวทีศึกเลือกตั้งขนาดย่อมๆ ที่ผู้สมัครจำนวนหนึ่งขับเคี่ยวกันเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ผ่านป้าย มีการลดขนาดป้ายและลดจำนวนป้ายเพื่อความสะดวกของคนเดินเท้า และที่ฮือฮาเป็นพิเศษคือแนวคิดเอาป้ายหาเสียงมาทำเป็นกระเป๋าถือหลังเลือกตั้ง 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไอเดียนี้จะได้รับเสียงชื่นชมจำนวนมากจากชาวโซเชียลมีเดีย คนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้สัมภาษณ์กับ ‘ประชาไท’ ตั้งคำถามว่าจะการรีไซเคิลลักษณะนี้จะสามารถทำได้จริงในระยะยาวหรือไม่ ขณะเดียวกัน กฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบันไม่มีส่วนไหนที่กำหนดช่องทางการกำจัดขยะป้ายหาเสียงอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ขาดความกระตือรือร้นในเรื่องนี้

“ไม่มีกฎที่พูดถึงตรงนี้ครับ กฎหมายเลือกตั้งบอกแค่ว่าต้องเอาไปเก็บให้หมด” สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวให้สัมภาษณ์ “ไม่มีกติการ่วมกันว่าเก็บแล้วเอาไปทำอะไรต่อ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้สมัครอย่างเดียว”

ป้ายหาเสียงที่เราพบเห็นตามท้องถนน ทำมาจากกรอบไม้อัดและพอลิไวนิลคลอไรด์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ไวนิล” ซึ่งตามกฎหมายเลือกตั้งที่ กกต. วางไว้ ป้ายหาเสียงแต่ละอันมีขนาดใหญ่สูงสุดได้ไม่เกิน 245 x 130 ซม. และจำนวนป้ายไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง

กติกาเดียวกันยังใช้กับผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 คนด้วย

“รวมๆดูแล้ว ป้ายหาเสียงเลือกตั้งที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพตอนนี้ น่าจะมีประมาณ 100,000 ป้าย เป็นตัวเลขที่เยอะนะ” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซประเทศไทย กล่าวในสัมภาษณ์ โดยเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้นับป้ายผู้สมัคร ส.ก. เข้าไปด้วย 

ธารากล่าวว่าเท่าที่เขาลองวัดและคำนวณดู ป้ายหาเสียงแต่ละอันใช้ไวนิลประมาณ 900 - 930 กรัม ซึ่งตนมองว่าเป็นการผลิตขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นให้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็กำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกมากอยู่แล้ว
“ผมคิดว่ามันก็น่าสนใจว่า ข้อกำหนดของ กกต. ไม่ได้คิดเรื่องนี้ เค้าคิดเฉพาะว่าจำนวนไม่เกินเท่าไหร่ๆ แต่ไม่ได้คิดเรื่องวัสดุ” ธารากล่าว

หาเสียง(บ่น)? 

การกลับมาของป้ายหาเสียงเลือกตั้งคราวนี้ มาพร้อมกับเสียงบ่นและเสียงวิจารณ์อย่างแพร่หลายว่า กลายเป็นอุปสรรคทำให้ทางเท้าของกรุงเทพฯ ซึ่งเดินยากอยู่แล้ว ยิ่งเดินยากเข้าไปอีก ดังเช่นตัวอย่างจากคลิปไวรัลในโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นผู้ใช้รถเข็นคนหนึ่ง ลงไปบนถนนแทนเพราะฟุตปาธถูกปิดกั้นด้วยป้ายหาเสียงขนาดใหญ่ 

นอกจากนี้หลายคนก็ไม่พอใจที่ป้ายหาเสียงบดบังทัศนียภาพของเมือง หรือทำให้เป็นอุปสรรคต่อการโบกรถเมล์หรือข้ามถนน (เพราะมองไม่เห็นรถ) ในขณะที่บางส่วนก็มองว่าป้ายหาเสียงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป ในยุคที่ความสนใจและสายตาของประชาชน ย้ายไปอยู่บนโซเชียลมีเดียกันเกือบหมดแล้ว 

ตามจริงแล้ว ใมการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ก็เคยมีการพยายามหาเสียงด้วยทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ป้ายหาเสียงแทน เช่นเมื่อครั้งที่อดีตผู้ว่ากทม. “จำลอง ศรีเมือง” ใช้ฝาเข่งและหุ่นไล่กาใส่เสื้อม่อฮ่อมเป็นสัญลักษณ์ในการหาเสียง จนชนะการเลือกตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2529 และในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2563 “พรรคสามัญชน” ก็ใช้ผ้าใบและกระด้งมาทำป้ายหาเสียงเช่นกัน 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ คนที่จุดประเด็นป้ายหาเสียงขึ้นมาคนแรกๆคือ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีคมนาคม ผู้ที่ริเริ่มการใช้ป้ายหาเสียงขนาดเล็กตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมมากจน ผู้ว่าราชการกทม.คนปัจจุบัน “อัศวิน ขวัญเมือง” เอ่ยปากเองว่าเป็นวิธีการที่ดี 

“เมื่อป้ายไปกีดขวาง ก็บอกให้เก็บออกไป หรือย้ายที่ติดตั้ง และมีการปรับรูปแบบป้ายให้เล็กลง อย่างเช่น ป้ายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่บอกว่าป้ายใหญ่เกะกะ เป็นเหตุผลที่ถูกต้อง ซึ่งตนเห็นด้วยกับนายชัชชาติ ก็ต้องปรับให้เล็กลงเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน” ผู้ว่าฯอัศวินกล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 เม.ย.  

ขณะเดียวกัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา “รสนา โตสิตระกูล” ก็ประกาศด้วยว่าจะเน้นการหาเสียงบนโซเชียลมีเดีย แทนที่จะใช้วิธีระดมติดป้ายหาเสียงแข่งกับผู้สมัครคนอื่นๆ 

“มีแฟนคลับโทรมาถามไม่เห็นป้ายเบอร์ 7 ของรสนาเลย ต้องขออภัยที่ป้ายน้อย ไม่คิดลงทุนเพื่อถอนทุน ไม่ต้องการเพิ่มขยะให้มากขึ้น ไม่ต้องการวางป้ายกีดขวางทางสัญจรของประชาชน” รสนาเขียนในเฟซบุ๊ก 

“มีแฟนคลับหลายรายเสนอให้ดิฉันไปใช้พื้นที่ส่วนบุคคลของแต่ละท่านติดป้าย แทนสถานที่สาธารณะ ดิฉันขอขอบคุณในน้ำใจทุกๆ ท่าน หากมีท่านใดยินดีให้พื้นที่ติดป้าย ดิฉันจะได้นำป้ายไปติด”

ทัศนคติต่อป้ายหาเสียงที่เปลี่ยนไปของผู้สมัครบางคน อาจจะสะท้อนยุทธศาสตร์เอาใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มช่วงอายุที่ให้ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากเป็นพิเศษ และมีข้อมูลระบุว่าในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.นี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินผู้ชนะอย่างแน่นอน เพราะในบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดกว่า 4.5 ล้านคน จะมีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งแรกประมาณ 700,000 คนเลยทีเดียว หรือคิดเป็นร้อยละ 15 

‘กิมมิค’ ที่ดูเหมือนจะเอาใจกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้มากที่สุดชิ้นหนึ่ง น่าจะหนีไม่พ้นคำมั่นของทีมงานผู้สมัครชัชชาติ ที่ระบุว่าจะรวบรวมพลาสติกในป้ายหาเสียงและนำมาพับเป็นกระเป๋า tote bag 

“ป้ายหาเสียงแบบไวนิลของชัชชาติ ได้มีการออกแบบวางแพทเทิร์นรอยปรุ เพื่อให้ทีมงานเก็บกลับมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าถือแบบ Tote Bag ใช้งานต่อไปตามภาพที่แนบมา” ทีมงานของชัชชาติให้สัมภาษณ์ผ่านอีเมล “และเนื่องจากป้ายมีจำนวนน้อย การเก็บกลับมาใช้งานจึงเป็นเรื่องไม่ยากต่อการจัดการ”

ขยะ มีความตั้งใจ แต่ก็ยังเป็นขยะ 

อย่างไรก็ตาม มีเสียงเตือนจากคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมว่า การรีไซเคิลหรือ “รียูส” พลาสติกในป้ายหาเสียง ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายแบบที่หลายคนเข้าใจกัน 

นวพรรณ อัศวสันตกุล หนึ่งในผู้ดูแลเพจ Chula Zero Waste โครงการลดขยะและรณรงค์สิ่งแวดล้อมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าไม่ใช่พลาสติกทุกประเภทจะเหมือนกัน แต่ละประเภทมีความยาก-ง่ายในการรีไซเคิลแตกต่างกันไป 

ยกตัวอย่างเช่นขวดน้ำพลาสติก (PET) ประเภทที่เป็นขวดใส สามารถนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายกว่าประเภทที่มีสีเจือปน ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับพลาสติกไวนิลที่มีการปรินท์สีทับเข้าไปแล้ว อย่างป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 

“พลาสติกที่ใช้ทำป้ายไวนิล ทำจาก PVC ไม่สามารถรีไซเคิลได้  คือ ไม่ใช่พลาสติกทุกประเภทที่สามารถรีไซเคิลได้ อย่าง ขวด PET ใสๆ กับ ขวด PET ที่เจือสี แค่มีสีก็ทำให้การรีไซเคิลยากขึ้นแล้ว” นวพรรณกล่าวให้สัมภาษณ์ 

“ดังนั้นป้ายหาเสียงส่วนใหญ่คือ สุดท้ายถ้าไม่เอาไปเข้าเตา ใช้เป็นวัสดุ RDF (Refuse-derived fuel) … ก็ไปนอนตามกองขยะ ไม่สามารถเอาไปรีไซเคิลได้ ตามนั้นเลย”

อีกสาเหตุที่เป็นอุปสรรคต่อการรีไซเคิลป้ายหาเสียงคือ ตัววัสดุที่ไม่ได้มีคุณภาพคงทนถาวรตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะเป็นวัสดุที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้ครั้งเดียว หรือใช้ชั่วคราว ไม่ได้ทำมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ระยะยาว

"ป้ายพวกนี้ตากแดด ตากฝน ตากลม นานๆ มันจะเสี่อมสภาพ ไม่เหมาะกับการเอามาทำกระเป๋า ไม่เหมาะเอามาทำเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันได้ ถ้าไปดูเนื้อผ้าเทียบกับของต่างชาติที่เค้าเอาผ้าใบรถบรรทุกมาทำกระเป๋า มันจะคนละอย่างกันเลย” นวพรรณกล่าว “ยิ่งเจอฝุ่นสะสมด้วย ไม่ต้องพูดถึงเลย”

นวพรรณเตือนด้วยว่า ถึงแม้จะเอาขยะพลาสติกประเภทนี้มาทำเป็นกระเป๋าต่อ ก็จะใช้ได้ไม่นานอยู่ดี ก่อนจะค่อยๆแตกตัวกลายเป็นอนุภาค microplastic เล็กๆ ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้

“สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ดี มันไม่ตอบโจทย์ คนอื่นอาจจะคิดว่าเวิร์ก แต่เราคิดว่าไม่เวิร์ก” 

ธารา ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย เห็นตรงกับนวพรรณในเรื่องนี้ เขาอธิบายเสริมว่าไวนิลสูญเสียศักยภาพในการนำมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อปรินท์สีทับลงไป เพราะจะกลายเป็นขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวในตัวเองทันที 

“[ป้ายหาเสียง]ส่วนใหญ่ ก็ต้องเอาไปทิ้งอยู่ดี เพราะเป็นพลาสติก เอามาทำกระเป๋า หรือเข้ากระบวนการ upcycling ไม่ได้ครับ มันไม่ได้เป็นพลาสติกคุณภาพอย่างกระเป๋า Freitag เป็นคนละแบบกันครับ” ธารากล่าว

“ซึ่งในทางหลักการ ไม่มีเค้าใครเอาพลาสติกแบบนี้ไป upcycling หรอกครับ การใช้ประโยชน์ทำไม่ได้ครับ สุดท้ายก็ต้องเอาไปฝังกลบหรือเอาเข้าเตาเผาอยู่ดี”

ไม่ว่าจะเป็นการเผาหรือฝังกลบ ก็เสี่ยงที่จะสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอยู่ดี นวพรรณกล่าวว่า PVC เป็นวัสดุที่ไม่ควรเอาไปเผา เพราะจะเกิดสารพิษ ขณะที่ธาราให้ข้อมูลเพิ่มว่าเตาเผาขยะที่ใช้ในปัจจุบันยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไม่ได้มิตรต่อสิ่งแวดล้อมซะทีเดียว 

หากนำเอาป้ายหาเสียงไปฝังกลบ ก็เสี่ยงที่จะสร้างปัญหา microplastic ซ้ำเติมกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ นวพรรณคำนวนว่ากว่าที่พลาสติกเหล่านี้จะย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ ก็จะใช้เวลาประมาณ 450 ปี หรือสองเท่าของอายุกรุงเทพมหานคร 

“พูดแบบแฟร์ๆ คนที่ประดิษฐ์พลาสติก เค้าก็คงไม่ได้คาดคิดหรอกว่าเราจะเอามาใช้กันอย่างตะบี้ตะบันแบบทุกวันนี้ เพราะงั้นทางเดียวที่จะจัดการกับขยะพลาสติกได้ดีที่สุด คือการ reduce [ลดจำนวน] ตั้งแต่แรก” นวพรรณกล่าว 

ป้ายไปอยู่ไหน? 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำกับดูแลโดยกกต. ซึ่งได้ออกกฎเกณฑ์การหาเสียงยิบย่อยจำนวนมาก เช่น ห้ามผู้สมัครจัดมหรสพเพื่อโน้มน้าวผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ห้ามขายสุราในวันเลือกตั้ง ฯลฯ 

กฎของกกต.ยังครอบคลุมถึงขนาด จำนวน และสถานที่ติดตั้งป้ายหาเสียงอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ห้ามติดป้ายหาเสียงบริเวณ ศาลาที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบภายในระยะ 10 เมตร, สวนหย่อม, สวนสาธารณะ, วงเวียนทุกวงเวียน, ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง และถนนราชดำเนินทั้งเส้น 

แต่กกต.มีกฎเพียงข้อเดียวที่กำกับดูแลกระบวนการจัดเก็บป้ายหาเสียงหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง คือระบุว่าป้ายหาเสียงทั้งหมดต้องจัดเก็บโดยผู้สมัครหรือตัวแทนให้หมดโดยเร็ว และหากมีป้ายหาเสียงของผู้สมัครคนใดหลงเหลืออยู่ เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดของกรุงเทพมหานครจะเก็บไปทิ้งและปรับเงินค่าทำความสะอาดกับผู้สมัครคนนั้นๆ 

อดีตกกต.สมชัยกล่าวว่า ตนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยมีใครถูกปรับในสมัยที่ตนเป็นกกต. เพราะทันทีที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ป้ายหาเสียงเกือบทั้งหมดถูก “ซาเล้ง” สอยเรียบทุกครั้งไป 

“ตามปกติซาเล้งจะเป็นฝ่ายเก็บ เพื่อเอาไปขายต่อ หรือไปใช้ประโยชน์ต่อ” สมชัยกล่าว “จึงเกิดสภาพที่ว่า กลายเป็นประโยชน์ร่วมกัน ผู้สมัครเองรู้สึกว่า เป็นการดี ไม่ต้องค่าใช้จ่าย เลยไม่ต้องไปเก็บ ซาเล้งเค้าก็อยากเก็บพวกไวนิลกับไม้อัดไปขาย

“ความจริงถือว่าเป็นการลักทรัพย์นะครับ เพราะป้ายหาเสียงเป็นสมบัติของผู้สมัคร แต่เท่าที่ผมทราบเนี่ย ไม่มีใครแจ้งความกันหรอกครับ”

ในบางครั้ง ป้ายหาเสียงเลือกตั้งก็จัดเก็บโดยคนงานจากร้านค้าที่ผลิต โดยคิดรวมค่าจัดเก็บในราคาเหมาไปด้วย แต่สมชัยระบุว่าสุดท้ายป้ายเหล่านี้ก็ขายให้ซาเล้งอยู่ดี นอกจากนี้ แผ่นพลาสติกในป้ายหาเสียงยังเป็นที่ต้องการของร้านค้าหรือแผงลอยจำนวนมาก นำไปมุงหลังคา หรือกันแดดหรือฝนเวลาเปิดร้าน 

วิธีการจัดเก็บที่ “ร่วมด้วยช่วยกัน” เช่นนี้ อาจจะช่วยทำให้ป้ายหาเสียงหายไปจากสายตาของคนกรุงเทพ แต่ในเมื่อไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าด้วยขยะที่เกิดจากการเลือกตั้ง จึงไม่มีทางที่จะพิสูจน์ทราบว่าพลาสติกในป้ายหาเสียงมีการกำจัดอย่างไรหลังจากใช้งานจนเสื่อมสภาพแล้ว

ธาราจากกรีนพีซยกตัวอย่างว่า เราไม่รู้เลยว่าพลาสติกเหล่านี้ เข้ากระบวนการเผาขยะหรือฝังกลบในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย หรือขนไปเผาทิ้งตามข้างทาง หรือนำไปโยนทิ้งตามทุ่งนาหรือกองขยะนอกกรุงเทพมหานคร โดยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการใดๆ 

“ป้ายหาเสียงที่เป็นพลาสติกเนี่ยสุดท้ายต้องทิ้ง และเราก็ไม่รู้ด้วยว่ากำจัดถูกวิธีไหม” ธารากล่าว “ยากมากครับ แทบจะไม่มีทางรู้เลย นอกจากตามรถเก็บขยะไปดูอย่างเดียวเลย”

สมชัยยืนยันกับ ‘ประชาไท’ ว่ากกต.ในปัจจุบันยังไม่มีกฏหรือแนวทางชัดเจนที่ครอบคลุมวิธีการกำจัดขยะที่มาจากป้ายหาเสียง

“ถ้าคุณไปถามเค้า ผมฟันธงเลยว่าเค้าก็ไม่รู้เรื่องพวกนี้หรอก” สมชัยกล่าว

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครกล่าวทางโทรศัพท์ว่า กระบวนการเก็บกวาดหรือกำจัดป้ายหาเสียงเป็นความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร พร้อมกล่าวเสริมว่ากกต.ไม่ได้มีภารกิจในการติดตามว่าป้ายหาเสียงถูกกำจัดหรือเข้ากระบวนการรีไซเคิลอย่างไรหลังการเลือกตั้ง

โปรดเลือก… สิ่งแวดล้อม

ทั้งนวพรรณและธาราเรียกร้องให้ผู้สมัครเลือกตั้งในประเทศไทย หันมาสนใจการลดจำนวนป้ายหาเสียงที่ทำจากพลาสติกตั้งแต่เริ่มการหาเสียง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่ต้นทาง

“เราคิดว่าควรจะออกกติการ่วมกัน ให้ทุกคนตกลงกันว่าอย่าผลิตป้ายมาเยอะนะ” นวพรรณกล่าว 

“ที่จุฬาฯ  ก็ยังมีการทำสื่อประชาสัมพันธ์ตามที่ต่างๆ ด้วยสื่อคัทเอาท์ที่ทำจาก PVC นะ เพราะมันมองเห็นง่าย เดินผ่านก็เห็น แต่เราต้องรู้จักว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่ฟุ่มเฟือย วางเฉพาะตามจุดที่คนเห็นมากๆ ในจุฬาฯ คือจะมีจุดสำหรับวางป้ายคัตเอาท์ ที่เค้าศึกษาดูมาแล้วว่าเป็นบริเวณที่คนเดินเยอะ ไม่ใช่วางทุกที่”

ในสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งนี้ มีผู้สมัครบางส่วนประกาศแล้วว่าจะใช้ป้ายหาเสียงจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ทีมงานของชัชชาติที่ระบุว่า ตั้งเป้าทำป้ายจำนวนต่ำกว่าร้อยละ 50 ของป้ายที่ กกต. อนุญาต รวมไม่เกิน 17,277 ป้าย ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

“ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญคือ แขวงละ 20 ป้าย จำนวน 180 แขวง รวมเป็น 3,600 ป้าย คิดเป็น 10.42% ของจำนวนป้ายที่กกต.อนุญาต โดยจะติดตั้งป้ายเฉพาะพื้นที่ไม่รบกวนการเดินทางสัญจร หรืออยู่ในชุมชนที่ประเมินว่ายังเข้าไม่ถึงสื่อออนไลน์เป็นหลัก จากนั้นจึงทยอยติดตั้งป้ายในจุดที่มีคำแนะนำให้ติดเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ได้รับจากสื่อโซเชียล” ทีมงานหาเสียงของชัชชาติเขียนในอีเมล 

รสนาก็เป็นผู้สมัครอีกคนที่กล่าวว่าจะใช้ป้ายหาเสียงเป็นวิธีรองลงมาจากการทำแคมเปญในโซเชียลมีเดีย 

“ดิฉันเชื่อว่าป้ายในยุคนี้อยู่ในมือถือของทุกคน และดิฉันก็ต้องการให้เปลี่ยนความคิดในสังคมในการลงทุนทำป้ายหาเสียงเลือกตั้งจำนวนมากที่นอกจะกีดขวางทางเท้า ทำให้เกิดขยะจำนวนมาก” รสนาเขียนในเฟซบุ๊ก “การไม่เพิ่มขยะมากเกินไป เราจะได้ช่วยกันรักษาความสะอาดของกรุงเทพ และช่วยกันลดขยะไปด้วยในเวลาเดียวกัน” 

ด้านธาราเสนอว่าผู้สมัครเลือกตั้งควรลองมองหาวิธีอื่นในการประชาสัมพันธ์ตนเองโดยไม่พึ่งพาเฉพาะป้ายหาเสียงบ้าง เช่น ใช้ป้าย LED หรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และเสนอด้วยว่า กกต.ควรแก้ไขกฎระเบียบว่าด้วยการหาเสียง เพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อแวดล้อมในการหาเสียงแต่ละครั้ง

“มันก็เป็นประเด็นนึงแหละที่ผมคิดว่าบางคนมองว่าไม่สำคัญ แต่ถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีเลือกตั้งบ่อยขึ้น จะทำกันยังไง” ธารากล่าว “ผมคิดว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่ควรกลายเป็นการสร้างขยะหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมครับ”

สมชัย ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นกกต.ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2561 กล่าวว่าตนเองเคยได้แรงบันดาลใจมาจากการเลือกตั้งในประเทศญี่ปุ่น ที่มักจะจัดป้ายปิดโปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครหลายๆคนภายในบอร์ดเดียว 

สมชัยกล่าวว่าตนได้พยายามเสนอโมเดลดังกล่าวจากประเทศญี่ปุ่นให้กกต.นำไปปฏิบัติกับการเลือกตั้งทั่วประเทศมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบสนอง 

“ผมนึกว่าจะช่วยลดภาระผู้สมัครด้วยซ้ำ กะว่าจะให้ติดโปสเตอร์อย่างเดียว คุณเสียเฉพาะค่ากระดาษ ค่าโปสเตอร์อย่างเดียว” สมชัยเล่า “แต่สุดท้ายเค้าไม่เอาไปใส่ในกติกา” 

[หมายเหตุ: รายงานนี้นี้ได้รับการแก้ไข เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 9 พ.ค.65 จากเดิมที่มีท่อนการให้สัมภาษณ์ของตัวแทน ‘กรีนพีซ ประเทศไทย’ ระบุว่าพลาสติกในป้ายหาเสียงทั้งหมดมีน้ำหนักสูงสุดประมาณ 7,000 ตัน แต่หลังจากที่รายงานเผยแพร่ออกไปแล้ว ผู้ให้สัมภาษณ์ได้พบว่ามีการคำนวณข้อมูลผิดพลาดจนตัวเลขสูงกว่าความเป็นจริง ประชาไทจึงตัดข้อความออกเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้อ่าน]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท