Skip to main content
sharethis

ธุรกิจในญี่ปุ่นจ้างพนักงานใหม่ที่เป็นวัยกลางคนเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 5 ปี ก่อนหน้ามีค่านิยมที่ว่าเมื่ออายุ 35 ปี ถือเป็น "จุดเปลี่ยนสำคัญทางอาชีพ" เนื่องจากส่วนใหญ่หลายๆ บริษัทมีระบบอาวุโสและเสนอโอกาสให้พนักงานใหม่เพียงไม่กี่ตำแหน่งหากพวกเขาอายุเกินกว่านี้


ที่มาภาพประกอบ: Kojach (CC BY 2.0)

9 พ.ค. 2565 สถิติการจ้างงานคนทำงานวัยกลางคนและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทต่างๆ แสวงหาบุคคลที่มีประสบการณ์เพื่อหวังที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ได้ ตามรายงานของ Nikkei Asia เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา

จำนวนคนทำงานที่เปลี่ยนงานในช่วง 5 ปี พบว่าจนถึงปีงบประมาณ 2563 มีการจ้างงานใหม่กลุ่มคนทำงานที่อายุ 41 ปี ขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งเติบโตสูงกว่าคนทำงานที่อายุน้อยกว่ามาก

สมาคมจัดหางานและค้นหาผู้บริหารแห่งประเทศญี่ปุ่นระบุว่าคนทำงานสูงวัยราว 10,000 คน หางานใหม่ผ่านหน่วยงานจัดหางาน 3 แห่งในปีงบประมาณ 2563 เพิ่มขึ้น 1.9 เท่าจากเมื่อช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งการจ้างงานใหม่ในกลุ่มสูงวัยมีการเติบโตสูงสุดในทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มอายุ 40 ปี และ 50 ปี เป็นผู้นำในทุกกลุ่มอายุ

ชายวัย 44 ปี ในโตเกียวลาออกจากสำนักพิมพ์รายใหญ่เมื่อปีที่แล้ว หลังจากทำงานที่นั่นมา 19 ปี แม้ว่าเขาจะได้รับผิดชอบด้านธุรกิจดิจิทัลใหม่ แต่เขาก็รู้สึกไม่มีความสุขเพราะบริษัทยอมให้เขามีอิสระเพียงเล็กน้อยในการตัดสินใจด้านต่างๆ ด้วยตนเอง

หลังจากลาออก เขาย้ายไปเริ่มต้นใหม่ที่บริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันที่เสนอเงินเดือนให้เขาเท่าเดิม ซึ่งบริษัทแห่งนี้กำลังมองหามือที่มีประสบการณ์เพื่อช่วยขยายเพิ่มเติม

"ผมมีความสุข เพราะตอนนี้ผมสามารถทำในสิ่งที่ผมอยากจะทำได้แล้ว" เขากล่าว

แม้ในญี่ปุ่นช่วงอายุ 35 ปี ถือเป็นช่วงอายุที่เปรียบเสมือนเป็น "จุดเปลี่ยนสำคัญ" ในการเปลี่ยนแปลงที่ทำงานหรืออาชีพ เนื่องจากหลายๆ บริษัทมีระบบอาวุโสและเสนอโอกาสให้พนักงานใหม่เพียงไม่กี่ตำแหน่งหากพวกเขาอายุเกินกว่านี้

สิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลง

จำนวนผู้ที่ลงทะเบียนกับ 'Senior Job' ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการจัดหาคนงานที่มีอายุมากกว่า มีจำนวนถึง 61,500 คน ณ สิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 2.7 เท่าจากปี 2562

จำนวนพนักงานใหม่ที่มีอายุมากขึ้นกำลังเปลี่ยนงานส่วนหนึ่งเนื่องจากบริษัทต่างๆ กำลังเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียน 84 แห่งได้เปิดตัวโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด จาก 69 บริษัทในนั้นมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนพนักงานทั้งหมด 15,892 คน ตามรายงานของ Tokyo Shoko Research

ส่งผลให้เว็บไซต์จัดหางานมีการลงทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากอดีตพนักงานของบริษัทต่างๆ ที่มีแผนสนับสนุนการเกษียณอายุก่อนกำหนด 

อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานโดยรวมของประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากยังมีความพยายามสรรหาบุคลากรอย่างกระตือรือร้นจากสตาร์ทอัพและบริษัทใหม่ๆ ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวว่าการเคลื่อนย้ายไปสู่ตำแหน่งงานที่ดีขึ้นในหมู่คนงานวัยกลางคนสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้

"สิ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยมีความน่าสนใจคือประสบการณ์และทัศนคติที่ตรงต่อเวลาในการทำงาน" อากิซาบุโระ อิคุชิมะ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Globee บริษัทสื่อการเรียนรู้ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการศึกษาภาษาอังกฤษกล่าว

การจ่ายเงินที่ดีขึ้นเป็นแรงจูงใจให้คนทำงานสูงวัยหางานใหม่ เมื่อ 10 ปีที่แล้วคนเหล่านี้อายุ 45-49 ปี มีรายได้ลดลงหากพวกเขาเปลี่ยนงาน แต่ ณ ตอนนี้หลายคนสามารถคาดหวังการเพิ่มขึ้นได้

การสำรวจของกระทรวงแรงงานปี 2563 สัดส่วนของคนทำงานอายุ 45-49 ปี ซึ่งได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นหลังจากเปลี่ยนงานแล้วลบกับสัดส่วนของคนงานที่ค่าจ้างลดลง พบว่าตัวเลขอยู่ที่ 9.7 คะแนน เพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่ติดลบที่ -8.5 คะแนนเมื่อทศวรรษที่แล้ว ตามการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น

แต่กระนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับคนทำงานในวัย 50 ปีขึ้นไปที่คิดจะเปลี่ยนงาน ตัวอย่างเช่นชายวัย 58 ปีตัดสินใจลาออกจากบริษัทขายรถยนต์เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2565 เพื่อเริ่มต้นอาชีพใหม่ก่อนที่จะถึงอายุเกษียณ 60 ปี แต่เขาก็ยังหางานที่น่าพอใจไม่ได้

การสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พบว่าผลกระทบของการเปลี่ยนงานต่อค่าตอบแทนเป็นลบ 5.0 คะแนน สำหรับเด็กอายุ 50-54 ปี และ -26.3 คะแนนสำหรับคนงานอายุ 55-59 ปี

ทั้งนี้โอกาสในการเปลี่ยนอาชีพกลางคันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสำหรับคนงานที่มีอายุมากกว่า เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นได้ระบบเลิกจ้างงานตลอดชีพและเลื่อนตำแหน่งตามอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวกับ Nikkei Asia ดังนั้นจึงจำเป็นที่คนทำงานจะต้องปรับปรุงทักษะของตนอยู่เสมอผ่านการฝึกอบรมและการศึกษา


ที่มา
Middle-aged job-hopping booms in Japan (Nikkei Asia, YOSUKE SUZUKI, 24 April 2022)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net