จีนจ้างชาวต่างชาติทำวิดีโอ 'ท่องเที่ยว' ในซินเจียง สร้างภาพ-กลบเกลื่อนปัญหาค่ายกักกัน

ทางการจีนได้ว่าจ้างชาวตะวันตกทำวิดีโอ "การท่องเที่ยว" ในพื้นที่ซินเจียงและนำเสนอภาพลักษณ์ดีๆ แต่ก็มีผู้ที่โต้ว่าเป็นการท่องเที่ยวแบบจัดฉากที่มีไกด์จากรัฐบาลจีนคอยควบคุมเนื้อหา ทำให้มีคนมองว่ารัฐบาลจีนพยายามสร้างภาพกลบเกลื่อนข้อกล่าวหาเรื่องค่ายกักกันปรับทัศนคติชาวอุยกูร์ 1 ล้านคนที่กลายเป็นประเด็นระดับนานาชาติ

ที่มา: RFA

สื่อเรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า ทางการจีนจ้างอินฟลูเอนเซอร์ชาวตะวันตกที่เป็นคนรุ่นใหม่ ผลิตวิดีโอสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับประเด็นซินเจียง เพื่อลบล้างข้อกล่าวหาที่ว่ามีการพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์เกิดขึ้นในพื้นที่นี้

กลุ่มชาวตะวันตกเหล่านี้นำเสนอวิดีโอการท่องเที่ยวซินเจียงในรูปแบบของ "วล็อกเกอร์" ซึ่งหมายถึงบล็อกเกอร์ที่ใช้วิธีการนำเสนอผ่านวิดีโอ พวกเขาเผยแพร่เนื้อหาในโซเชียลมีเดียที่ถูกแบนในจีนอย่างทวิตเตอร์ แล้วสื่อรัฐบาลจีนกับเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องก็นำวิดีโอเนื้อหาของวล็อกเกอร์เหล่านี้มาเผยแพร่ต่ออีกที

เรดิโอฟรีเอเชียระบุว่า วิดีโอของวล็อกเกอร์เหล่านี้ช่วยเสริมสร้างและตอกย้ำการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนที่พยายามจะสร้างภาพให้ผู้คนมองว่าชาวอุยกูร์มีความพึงพอใจภายใต้การปกครองของจีนและสำนึกในบุญคุณของรัฐบาลจีน

ในวิดีโอเหล่านี้ "นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ" จะทำการสัมภาษณ์ผู้คนในโรงงานที่เขตปกครองพิเศษซินเจียงพร้อมคำบรรยายใต้วิดีโอประมาณว่า "พรรคพวก มันเป็นเรื่องโกหกที่ว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียง" "ทุกอย่างปกติดีที่นี่" และ "มีหลักฐานสักอย่างหนึ่งไหมที่แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนถูกคุมขังในค่ายกักกัน"

เรื่องค่ายกักกันในซินเจียงนี้เป็นที่พูดถึงกันมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีหลักฐานภาพถ่ายผ่านดาวเทียม และรายงานยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติอย่างน้อย 30 ราย สหประชาชาติก็เคยระบุว่าพวกเขามีรายงานที่น่าเชื่อถือจำนวนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าจีนกักขังชาวอุยกูร์อย่างน้อย 1 ล้านคนไว้ในค่ายกักกันตามสถานที่ต่างๆ

และสำหรับกรณีวล็อกเกอร์ต่างชาตินี้ มีเอกสารที่โพสต์ในโลกออนไลน์และผู้ผลิตวิดีโอที่มีความคุ้นเคยกับระบบแบบนี้เปิดเผยว่า สื่อของรัฐบาลจีนและหน่วยงานรัฐบาลจีนได้จ่ายเงินสนับสนุนให้วล็อกเกอร์เหล่านี้เดินทางไปเยือนซินเจียงแล้วทำวิดีโอออกมาในเชิงสร้างภาพให้กับรัฐบาลจีน

ผู้สร้างวิดีโอลงยูทูบชื่อ วินสตัน สเตอร์เซล เป็นชาวแอฟริกาใต้ที่อาศัยอยู่เซินเจิ้นเป็นเวลา 14 ปี เขาบอกว่า สื่อรัฐบาลจีนอย่าง CGTN หรือ CRI หรือ iChongqing กับองค์กรรัฐบาลจีนอื่นๆ ได้จ่ายเงินเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก และคอยดูแลจัดการการเดินทางให้กับผู้สร้างเนื้อหาวิดีโอเหล่านี้ มีการประสานงานกับคนทำวิดีโอ เชิญชวนให้พวกเขาเดินทางมาที่ซินเจียง

สเตอร์เซลเปิดเผยอีกว่าในจีนมีคนที่ทำตัวเป็นไกด์นำทางคอยเป็นล่ามและติดต่อประสานงานให้กับคนทำเนื้อหาวิดีโอเหล่านี้ และจะคอยติดตามคนทำวิดีโอไปทุกที่เพื่อทำให้แน่ใจว่า คนทำวิดีโอจะทำตามสคริปต์ที่วางไว้

มีผู้สร้างวิดีโอลงในยูทูบชื่อ ลี แบร์เรตต์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนได้จัดเตรียมเรื่องการเดินทางและที่พักให้กับพวกเขาในช่วงที่พวกเขาผลิตวิดีโอสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจีน นอกจากจ่ายค่าที่พักให้แล้วรัฐบาลจีนยังจ่ายค่าอาหารการกินให้ด้วย

ก่อนหน้านี้สื่อ บิสิเนสอินไซเดอร์ ก็เคยรายงานไว้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า สถานกงสุลจีนในนิวยอร์กได้ทำสัญญากับบริษัทสัญชาติอเมริกัน วิปปี มีเดีย ในนิวเจอร์ซีย์ ด้วยวงเงิน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้มีการทำโครงการสร้างภาพลักษณ์เป็นบวกให้กับจีนในโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง TikTok, อินสตาแกรม และ ทวิตช์ ในช่วงที่จีนกำลังจะจัดงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวช่วงเดือน ก.พ. ปีนี้ ผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียลมีเดียได้รับการจ้างวานให้ผลิตเนื้อหาให้กับผู้ชมเป้าหมายของพวกเขาเป็นเรื่องของวัฒนธรรมจีน, ความสัมพันธ์ทางการทูตในเชิงบวกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และข่าวทั่วไปจากสถานกงสุล

 

จีนเคยไล่ชาวต่างชาติออก ก่อนโครงการสร้างภาพ

ในเรื่องของซินเจียงนั้น ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนก็ห้ามไม่ให้นักข่าวต่างประเทศแทบทั้งหมดเดินทางเข้าซินเจียงและบังคับให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในซินเจียงออกจากพื้นที่

ยูทูบเบอร์หลายคนจากสหรัฐฯ และแอฟริกาใต้ที่เคยอาศัยอยู่ในซินเจียงหรือในพื้นที่อื่นๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่มาก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ตั้งข้อสังเกตว่าวิดีโอของชาวต่างชาติที่เดินทางไปเยือนซินเจียงในช่วงไม่นานนี้มีลักษณะเรียบง่ายและดูปกติทั่วไป ไกด์รัฐบาลจีนที่คอยตามควบคุมนั้นจะอยู่หลังกล้องเสมอไม่ปรากฏตัวหน้ากล้อง ไกด์เหล่านี้จะคอยควบคุมว่าต้องพูดอะไรและถ่ายวิดีโออะไรได้บ้าง

เลเล ฟาร์เลย์ นักแสดงตลกอเมริกันและศิลปินเพลงแร็ปที่อาศัยอยู่ในจีนเป็นเวลาหลายปีและเคยทำงานเป็นพิธีกรให้กับงานสื่อภาคภาษาจีนกล่าวว่า คนที่ทำวิดีโอจะมีไกด์หรือตัวกลางของพวกเขาเข้าหา คอยทำตัวเป็นผู้ติดต่อประสานงานระหว่างคนทำวิดีโอกับบริษัทที่ดำเนินการ ไกด์รัฐบาลเหล่านี้เรียกตัวเองว่าเป็น "เอเย่นต์ดารา" พวกเขาได้รับคำสั่งโดยตรงมาจากรัฐบาลจีน เช่นคำสั่งว่า "พวกเราต้องการบล็อกเกอร์ต่างชาติ ที่จะช่วยลบล้างภาพลักษณ์แย่ๆ ในซินเจียง พวกเราต้องการให้พวกเขาไปที่นั่น นี่คือแผนการเดินทางท่องเที่ยวที่พวกเราวางแผนไว้ให้พวกเขาเดินทางไป พวกเราจะออกเงินให้ทั้งหมดในช่วงของการเดินทาง"

โจช ซัมเมอร์ส ผู้สร้างบล็อกที่มีชื่อเสียงชื่อ "Far West China" หรือ "จีนตะวันตกไกล" และมีช่องยูทูบเป็นของตัวเองเคยย้ายไปอยู่ในกรุงอุรุมฉีซึ่งเป็นเมืองหลวงของซินเจียงมาก่อนในปี 2549 เขาใช้ชีวิตทั้งในอุรุมฉีและในเมืองคาราไมจนถึงปี 2561 ในตอนที่เขาอยู่อุรุมฉีนั้นเขาเคยเขียนบล็อกและทำวิดีโอเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวอุยกูร์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานของชาวอุยกูร์ อาหารการกินของชาวอุยกูร์ หรือการสวดภาวนาในวันอีด

ซัมเมอร์สเปิดเผยว่ามีนักเดินทางจำนวนมากที่ทำวิดีโอแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับซินเจียง "พวกเขาทำเป็นเหมือนรู้ แต่พวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับที่ๆ ผมเคยอาศัยอยู่" ซัมเมอร์สกล่าว

ซัมเมอร์สเปิดเผยว่านับตั้งแต่ที่ทางการจีนเพิ่มมาตรการสอดแนมและจับตามองชาวอุยกูร์ในปี 2558 รัฐบาลจีนก็เริ่มจับตามองชาวต่างชาติที่อาศัยในพื้นที่ซินเจียงเพิ่มมากขึ้น ซัมเมอร์สบอกว่าเขาเคยถูกคุมขังและสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่ทางการจีนมาก่อน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะปล่อยตัวซัมเมอร์สในที่สุด แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกซัมเมอร์สและครอบครัวของเขาว่า พวกเขาไม่สามารถอาศัยอยู่ในจีนได้อีกต่อไป

ในปี 2561 ตัวแทนของรัฐบาลจีนก็ส่งตัวซัมเมอร์สออกนอกประเทศแล้วห้ามไม่ให้เขากลับเข้าอุรุมฉีอีก ซัมเมอร์สเลือกที่จะไม่เผยแพร่วิดีโอเกี่ยวกับซินเจียงเพราะเขาไม่ต้องการสร้างปัญหาให้กับชาวอุยกูร์ที่เขาติดต่อด้วย

อดีตชาวต่างชาติในซิงเจียงแฉถูกจ้างให้สร้างภาพตีเนียน

นอกจากซัมเมอร์แล้วก็ยังมีกรณีของ แมธธิว ทาย ชาวอเมริกัน และ วินสตัน สเตอร์เซล ชาวแอฟริกาใต้ที่ถูกบีบให้ออกจากจีนด้วย พวกเขาถูกบีบให้ออกจากประเทศเพราะพวกเขาเผยแพร่วิดีโอเกี่ยวกับซินเจียงหลังจากที่พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มามากกว่า 10 ปี สองคนนี้มีชื่อที่ใช้เผยแพร่วิดีโอคือ laowhy86 และ Serpentza ซึ่งเป็นที่รู้จักในจีน วิดีโอเรื่องในจีนก่อนหน้านี้ของพวกเขาดูเผินๆ แล้วเหมือนจะทำเองอย่างอิสระ แต่จริงๆ แล้วเป็นวิดีโอที่จัดฉากขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นโดยสิ้นเชิง

ชาวอเมริกันที่ชื่อทายบอกว่า "สถานที่นี้ (ซินเจียง) ดูดีมากสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่รู้ภาษาจีนหรือวัฒนธรรมจีน แต่เรื่องนี้อันตรายมาก ... เมื่อคุณไปที่นั่น ส่งยิ้มแล้วบอกว่า 'ดูชาวอุยกูร์พวกนั้นเต้นรำสิ' คุณกำลังช่วยเหลือหนึ่งในรัฐบาลที่น่ารังเกียจที่สุดในโลก"

ทายและสเตอร์เซลกลับไปอยู่ในประเทศบ้านเกิดตัวเองแล้วตอนนี้ พวกเขายังคงทำวิดีโอที่เกี่ยวกับเรื่องประเทศจีนเผยแพร่ในยูทูบต่อไป พวกเขาแฉว่ารัฐบาลจีนเคยให้คนติดต่อพวกเขาทางอีเมล เสนอให้เงิน 2,000 ดอลลาร์ ถ้าหากพวกเขาโพสต์วิดีโอโฆษณาชวนเชื่อในช่องยูทูปของพวกเขา โฆษณาชวนเชื่อที่ว่านี้ระบุให้พวกเขาอ้างว่าไวรัส COVID-19 นั้นแพร่เชื้อมาจากกวางหางขาวในสหรัฐฯ เป็นการพยายามสื่อเป็นนัยให้เห็นว่า COVID-19 นั้น "พบในสหรัฐฯ ก่อนจีน"

ทายบอกว่า เขาเล่นไปตามน้ำกับรัฐบาลจีนเพื่อต้องการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ทางการจีนก็จับไต๋พวกเขาได้ในที่สุด ตรวจพบว่าพวกเขาเป็นใคร แล้วก็ตัดความสัมพันธ์กับพวกเขา ทายบอกว่าก่อนหน้านั้นทางการจีนพยายามติดต่อพวกเขาให้ช่วยสร้างภาพผ่านวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวหรือโฆษณาชวนเชื่อ

สเตอร์เซลเล่าว่ามีชาวแอฟริกาใต้อีกรายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า เจอร์รี กูด มีชื่อจริงว่า เกียร์ฮาร์ด ฟอน เดอ แมร์เว เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้าร่วมทริปเดินทางในซินเจียงที่จัดฉากโดยรัฐบาลจีนแล้วสร้างวิดีโอบล็อกจากการเดินทางนี้

กูดถ่ายทำวิดีโอแสดงให้เห็นตัวเขาเดินไปตามท้องถนนของเมืองของอุรุมฉี แวะเยี่ยมร้านค้าข้างทาง และตลาดกลางคืนที่แกรนด์บาซาร์ ซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวหลักๆ ของเมืองนี้ ในช่วงท้ายของวิดีโอกูดประกาศว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ "ไม่ใช่เรื่องจริง" วิดีโอชิ้นนี้โพสต์ออนไลน์เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา มีผู้รับชมแล้วกว่า 60,000 ราย ช่องของเขามีจำนวนผู้สมัครติดตามมากกว่า 390,000 ราย

กูดเคยกล่าวว่าจะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรดิโอฟรีเอเชียเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางในซินเจียง แต่เขาก็ไม่ได้ตอบกลับหลังจากที่สื่อพยายามติดต่อเพื่อพูดคุยกับเขา

วิดีโอในยูทูบของกูดนั้นมีเนื้อหาส่วนใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเดินทางไปในที่ต่างๆ ของจีน มีเนื้อหาบางส่วนพูดถึงการเมืองระหว่างประเทศในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ กับไต้หวันในทางลบ และสร้างภาพบวกให้กับจีน วิดีโอในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมานำเสนอเรื่องการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนซึ่งก่อปัญหาให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยดำรงชีพและการรักษาพยาบาลได้ แต่กูดกลับตั้งชื่อให้วิดีโอหนึ่งว่า "จีนกำราบไวรัสได้อีกครั้งแล้ว!"

วิดีโอเหล่านี้ห่างไกลจากสภาพความจริงในจีน?

อย่างไรก็ตามทายและสเตอร์เซลต่างก็บอกว่าวิดีโอของกูดเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน

"ซินเจียงเป็นพื้นที่ๆ ใหญ่มาก ไม่มีทางที่ยูทูบเบอร์ไร้ความรู้บางคนที่ไม่สามารถพูดจีนได้ ไม่สามารถพูดภาษาอุยกูร์ได้ ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับวัฒนธรรมของจีน จะสามารถเดินไปตามบริเวณเล็กๆ แล้วอ้างว่าไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น หรืออ้างว่าไม่มีอะไรแย่ๆ เกิดขึ้นในจีนเลย" สเตอร์เซลกล่าว

สเตอร์เซลพูดถึงวิดีโอเชิงการท่องเที่ยวจีนอีกว่า ถ้าหากมีใครเคยเห็นวิดีโอส่งเสริมการท่องเที่ยวจีนที่ทำโดยยูทูบเบอร์เกี่ยวกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในจีนโดยจำเพาะแล้ว "มันไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวแต่อย่างเดียว" อีกต่อไป แต่มันเป็นเรื่องการสนับสนุนมุมมองจากรัฐบาลจีนในบางด้านด้วย วิดีโอเหล่านี้จะแสดงภาพลักษณ์ให้เห็นว่า "รัฐบาลจีนได้พัฒนาความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตประชาชนพื้นที่นั้นๆ อย่างไร หรือเป็นเรื่องที่รัฐบาลสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้"

เลเล ฟาร์เลย์ บอกว่าตัวกลางจากรัฐบาลจีนเคยเข้าหาเขาในปี 2562 เพื่อขอให้เขาทำวิดีโอส่งเสริมโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือที่เรียกกันว่า "เส้นทางสายไหมใหม่" ซึ่งเป็นโครงการเด่นๆ ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่แผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางการค้าจากจีน

ในตอนนั้นฟาร์เลย์ตอบไปว่าเขาไม่สนใจจะทำเรื่องนี้เพราะเขาเคยรับหน้าที่เป็นพิธีกรให้กับงานอีเวนต์ของหน่วยงานรัฐบาลจีนในลอสแองเจลิสมาก่อน แล้วพบว่า "มันบ่อนทำลายจิตใจมากถ้าหากคุณไม่สามารถทำให้ตัวเองใจด้านชาพอสำหรับมันได้ หรือไม่สามารถจงใจทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ได้"

จีน บูนิน ผู้ก่อตั้ง "ฐานข้อมูลเหยื่อซินเจียง" เป็นนักวิจัยสัญชาติรัสเซีย-อเมริกันที่เคยเข้าไปเยือนซินเจียงในปี 2551 และเคยใช้ชีวิตอยู่ที่อุรุมฉีกับคัชการ์มาก่อนระหว่างปี 2557-2561 เขาบอกสื่อเรดิโอฟรีเอเชียว่าสภาพชีวิตของชาวอุยกูร์ในพื้นที่เหล่านั้นห่างไกลจากสภาวะปกติมาก นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมามีผู้คนที่ถูกลงโทษให้จำคุก 10 ปีเพิ่มมากชึ้นเรื่อยๆ

บูนินเปิดเผยอีกว่ามีชาวอุยกูร์ประมาณครึ่งล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ถูกย้ายจากค่ายกักกันไปสู่เรือนจำ มีจำนวนมากในกลุ่มนี้ถูกบังคับใช้แรงงานด้วยข้ออ้างจากทางการว่าเป็น "การบรรเทาความยากจน"

เรื่องนี้ดูขัดกับภาพลักษณ์ "ชาวอุยกูร์ผู้มีความสุข" ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียของจีน ซึ่งบูนินพูดถึงเรื่องนี้ว่า "เพื่อนของผมที่นั่น(ซินเจียง)หายตัวไป สิ่งที่ยูทูบเบอร์พูดในวิดีโอต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อที่พวกเขาทำเกี่ยวกับชาวอุยกูร์นั้นเป็นเรื่องโกหก"

ถึงแม้จีนจะจ้างชาวต่างชาติเพื่อให้กลบเรื่องค่ายกักกันในซินเจียง แต่กลับมีคนทำวิดีโอบางคนที่ทำในทางตรงกันข้าม เช่น คนทำวิดีโอที่ชื่อ Guanguan ใช้แผนที่ GPS ที่รวบรวมโดยสื่อตะวันตกในการตระเวนค้นหาค่ายกักกันตามที่ต่างๆ ในหลายพื้นที่ของซินเจียงแล้วทำการแอบถ่ายวิดีโอสถานที่คุมขังหลายแห่งไว้ จากนั้นก็นำมาโพสต์ลงยูทูบ

สเตอร์เซลบอกว่า "คนอย่าง Guanguan นั้นมีความกล้าหาญอย่างมาก" เพราะว่า ในฐานะที่ Guanguan เป็นชาวจีน เขามีโอกาสเจอปัญหาใหญ่กับตัวถ้าเขาทำเช่นนี้ แต่เขาก็ยังทำเสี่ยงทำวิดีโอของเขาต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งในสายตาสเตอร์เซล

เรียบเรียงจาก

China enlists foreign vloggers to whitewash Uyghur situation in Xinjiang, Radio Free Asia, 01-05-2022

First independent report into Xinjiang genocide allegations claims evidence of Beijing's 'intent to destroy' Uyghur people, CNN, 10-03-2022

U.N. says it has credible reports that China holds million Uighurs in secret camps, Reuters, 10-08-2018

China is spending $300,000 to get US influencers to share positive social media posts to boost the country's image ahead of the 2022 Winter Olympics, Business Insider, 23-01-2022

ช่องวิดีโอของ เจอร์รี กูด (เข้าดูเมื่อ 9 พ.ค. 2565)
https://www.youtube.com/c/JERRYGOODE/videos

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท