เวียงรัฐ เนติโพธิ์: เจ้าพ่อ คสช. ผู้ฉุดลากประชาธิปไตยท้องถิ่นถอยหลัง

ระบอบ คสช. ทำลายประชาธิปไตยถึงระดับท้องถิ่น ใช้กลไกราชการฉีกขาดความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนในท้องถิ่น ฉุดกระชากความสัมพันธ์ที่อิงกับนโยบายและงบประมาณกลับไปเป็นแบบตัวบุคคลหรือเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลในอดีต โดยมี คสช. เป็นเจ้าพ่อใหญ่ที่สั่งการลงมาผ่านกลไกราชการ ซ้ำยังดึงทุนผูกขาดระดับชาติลงไปครอบงำทุนท้องถิ่น

  • ประชาธิปไตยท้องถิ่นและการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการอุปถัมภ์จากตัวบุคคลไปสู่ความสัมพันธ์เชิงนโยบาย (Programmatic Linkage) ทำให้ผู้มีอิทธิพลเองต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับอำนาจที่เป็นทางการ
  • หลังรัฐประหาร คสช. สั่งระงับการเลือกตั้งท้องถิ่น ใช้กลไกราชการสั่งการ และกดดันนักการเมืองท้องถิ่นฝ่ายตรงข้าม ส่งผลให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นถอยหลังกลับไปสู่ยุคเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลอีกครั้ง โดยมี คสช. เป็นเจ้าพ่อใหญ่สุด
  • คสช. ยังดึงทุนผูกขาดระดับชาติผ่านนโยบายประชารัฐรักสามัคคี ซึ่งอาจเปิดช่องให้ทุนผูกขาดระดับชาติเข้าครอบงำทุนท้องถิ่น

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ (ที่มาภาพ www.polsci.chula.ac.th)

หลังรัฐประหารปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ทำลายประชาธิปไตยถึงระดับหน่วยย่อยในท้องถิ่น เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ ‘อุปถัมภ์ค้ำใคร: การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง’ เผยแสดงให้เห็นการเปลี่ยนไปของสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและประชาชนในช่วง คสช.

“ในทางรัฐศาสตร์ สถาบันพรรคการเมืองจะเข้มแข็งได้ นอกจากมีเรื่องการบริหารงาน มีเรื่องสมาชิกแล้ว  สายสัมพันธ์หรือ Identification การระบุอัตลักษณ์ของตัวเราที่สังกัดหรือชื่นชมพรรคไหนเป็นพิเศษเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง และสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนหรือ Voter ก็สำคัญ ซึ่งสายสัมพันธ์ที่สำคัญต้องเหนียวแน่น ยึดโยงกับอุดมการณ์ นโยบาย หรือสัมพันธ์กับผลตอบแทนแบบเฉพาะหน้าหรือเป็นเรื่องความกลัว การอยู่ใต้บารมี การอยู่ใต้คำสั่ง ก็ล้วนเป็นดีกรีความผูกพัน สิ่งที่ผู้เขียนดูคือดูความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์อันนี้ที่ส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งในปี 2562”

เวียงรัฐยังพบด้วยว่าภายใต้กระบวนการรวมศูนย์อำนาจที่รัฐบาลกลางพยายามดึงอำนาจกลับเข้าสู่ส่วนกลางและเพิ่มอำนาจให้ระบบราชการนี้ ยังได้ทำลายเครือข่ายเดิมและสร้างเครือข่ายใหม่ขึ้น

ระบบราชการ เจ้าพ่อ นักการเมือง

การศึกษาของเวียงรัฐที่ถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้ พบว่า เมื่อเอาระบบราชการกลับเข้ามาและดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางทำให้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในแบบผู้มีอิทธิพลกลับคืนมาอีกครั้ง

“หลายคนบอกว่าผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ มันมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับอาจารย์ที่ศึกษาเรื่องนี้เห็นว่ามันลดความสำคัญลงไปเยอะในช่วงที่มีการเลือกตั้ง หนังสือเล่มก่อนหน้านี้คือหีบบัตรและบุญคุณเป็นหนังสือที่ศึกษาในช่วงมีการกระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้คนผูกพันกับพรรคการเมือง เกิดภูมิทัศน์ทางความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป แต่ในเล่มนี้กำลังบอกว่ามันมีการดึงกลับเข้ามาหรือทำลายเครือข่ายเดิมในช่วงของการเลือกตั้ง”

เวียงรัฐเท้าความว่า ย้อนกลับไปช่วงของเผด็จการก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง หนังสือที่มีชื่อเสียงมากเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘อำมาตยาธิปไตย’ หรือ ‘Bureaucratic Polity’ เขียนโดย Fred Warren Riggs ซึ่งศึกษาการเมืองไทยยุค 1950 และมองว่าอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของระบบราชการ ขณะที่กลุ่มพลังนอกราชการ เช่น กลุ่มธุรกิจ กลุ่มผลประโยชน์หรือภาคประชาสังคม แทบไม่มีบทบาททางการเมือง ซึ่งทุกคนเห็นตรงกัน

อย่างไรก็ตาม งานของโยชิฟูมิ ทามาดะ ซึ่งเป็นอาจารย์ของเวียงรัฐที่เกียวโตเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งระบุว่า จริงๆ แล้วในช่วง Bureaucratic Polity แม้ Authority ที่เป็นทางการจะอยู่ในมือข้าราชการ แต่ถ้ามองในแง่อิทธิพลหรืออำนาจแบบไม่เป็นทางการกลับอยู่ในมือของผู้มีอิทธิพลและเจ้าพ่อมาโดยตลอด

“ในช่วงเผด็จการราชการ มันมีอำนาจนอกระบบราชการคืออำนาจเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ซึ่งถ้ามองแบบเป็นทางการเราจะไม่เห็น เจ้าพ่อมีมาตั้งแต่ก่อร่างสร้างรัฐสมัยใหม่แล้วและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างราชการกับประชาชน

“แต่คนมักจะบอกว่าการเลือกตั้งทำให้เจ้าพ่อมีบทบาทอำนาจทางการเมือง เห็นเด่นชัดขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่ามีมากขึ้น การเลือกตั้งอาจทำให้เห็นชัดขึ้นผ่านหน้าสื่อมวลชน แต่อำนาจมันมีมาโดยตลอด แล้วคนก็มองว่าระบอบประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้งที่เป็นตัวทำให้เติบโตขยายตัวมากขึ้น แล้วการกระจายอำนาจหลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 คนก็บอกอีกว่าการกระจายอำนาจทำให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามามีบทบาททางการเมือง เข้ามานั่งเป็น อบต. อบจ. ซึ่งข้อโต้แย้งสำคัญของหนังสือเล่มก่อนหน้านี้ทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งมันมาเปลี่ยนสายสัมพันธ์ คือต่อให้คุณเป็นผู้มีอิทธิพล เป็นเจ้าพ่อคนหนึ่ง ถือปืน มีลูกน้อง เอาธุรกิจผิดกฎหมาย เอาเงินมาอุปถัมภ์ มาซื้อเสียง แต่พอเข้ามานั่งเป็นนายก อบจ. มันไม่ต้องใช้ปืน ไม่ต้องใช้เงิน มันมีเงินให้บริหารเพื่อให้คนนิยม เสริมบารมีเดิมอีก”

เป็นเหตุผลให้รูปแบบการอุปถัมภ์เปลี่ยนไปสู่การใช้งบประมาณที่แปลงเป็นนโยบายในพื้นที่ กล่าวคือเป็นการพึ่งพานโยบายหรือความสัมพันธ์เชิงนโยบาย (Programmatic Linkage) เพราะหากผู้มีอิทธิพลไม่เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ตามครรลองอำนาจที่เป็นทางการก็อาจถูกคู่แข่งทางการเมืองโจมตี

คสช. ทำลายประชาธิปไตยท้องถิ่น

ณ จุดนั้น เวียงรัฐคิดว่าความสัมพันธ์เชิงนโยบายจะไม่กลับไปเหมือนเดิมแบบก่อนมีการเลือกตั้ง เพราะประชาธิปไตยท้องถิ่นได้เข้าไปเปลี่ยนภูมิทัศน์ วิธีคิด อุดมการณ์ และสำนึกของประชาชนที่มีต่อรัฐ

ทว่า ภายหลังการรัฐประหารและภายใต้ระบอบของ คสช. กลับมีความพยายามดึงสิ่งนี้กลับถอยหลังไปเป็นความสัมพันธ์แบบตัวบุคคล เพื่อนำตัวบุคคลมาใช้ประโยชน์ในพรรครัฐบาลและเพื่อให้ระบบราชการมีอำนาจมากขึ้น พูดอย่างรวบรับคือย้อนกลับสู่สมัยที่เจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลมีอำนาจทางการเมือง

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

คสช. ใช้กระบวนการอะไรดึงประชาธิปไตยท้องถิ่นถอยหลัง

“มันมีหลายกลไกที่อาศัยการใช้ระบบราชการ ราชการส่วนภูมิภาคเป็นกลไกสำคัญที่เป็นโครงสร้างที่รวมศูนย์มาก กรมการปกครอง ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน เรียกได้ว่าสั่งจากส่วนกลางถึงหมู่บ้านได้อย่างรวดเร็ว เมื่อก่อนหนังสือถึงใน 1 วัน เดี๋ยวนี้ไลน์ถึงภายใน 5 นาที ตั้งแต่ต้น คสช. สั่งย้ายผู้ว่าฯ คนไหนที่ดูแล้วว่าจะไม่ทำตามหรือจะมีการแข็งข้อ มีการระดมฝ่ายค้านขึ้นมา ผู้ว่าฯ ที่โยกย้ายโดยรัฐบาลชุดเดิม หรือมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดเดิมจะสั่งย้ายก่อน หัวใจอันหนึ่งคือการปกครองส่วนภูมิภาคที่เอามาใช้ประโยชน์”

ประการต่อมาคือการประกาศห้ามการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้นักการเมืองไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่มีกลุ่มมาแข่งขันอย่างเดียวเท่านั้นเพราะให้คนเดิมรักษาการระยะยาว แต่ยังตัดอำนาจ  ความอิสระ และการกล้าตัดสินใจของคนที่รักษาการ ตัดความหวังของกลุ่มการเมืองที่ต้องการล้มกลุ่มเดิมเพื่อเสนอสิ่งที่ดีกว่าให้แก่ประชาชน ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดเครือข่าย

เวียงรัฐยกตัวอย่างในพื้นที่เทศบาลจะมีความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายกับภาคประชาสังคม เช่น เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายสุขภาพ ที่ดึงงบประมาณมาใช้ทำกิจกรรมหรือทำงานร่วมกัน เหมือนการสร้างประสิทธิภาพและขีดความสามารถซึ่งกันและกัน ทั้งองค์กรที่เป็นทางการอย่างเทศบาล อบต. กับ องค์กรภาคประชาสังคมในระดับชุมชน

“แต่การทำงานร่วมกันมันต้องผ่านงบประมาณ พอมีขีดจำกัดเรื่องงบประมาณเลยทำให้ภาคประสังคมเริ่มไม่มีอะไรเป็นตัวผูกพัน ผูกมัดระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับภาคประชาสังคม เท่ากับตัดช่องทางการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่นของประชาชนออกไป พอไม่ให้มีการเลือกตั้งเลยทำให้คาดเดาอะไรไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ และฝ่ายตรงข้ามที่พยายามหาข้อมูลเพื่อให้ความรู้ประชาชนว่าตรงนี้ใช้งบไม่ถูกก็ไม่ทำงานแล้ว ทำให้การเมืองไม่มีสีสัน”

ใช้กลไกราชการสั่งการท้องถิ่น

นอกจากสั่งระงับการเลือกตั้ง คสช. ยังมีคำสั่งเพิ่มการตรวจสอบโดยใช้องค์กรอิสระอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ใช้เงินผิดประเภท ใช้เงินเกินระเบียบ หรือเกินขอบเขตหน้าที่หรือไม่ ส่งผลให้ท้ายที่สุด สตง. เลยกลายเป็นองค์กรอิสระที่มากำหนดขอบเขตหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“อย่างเช่นการเอาครูต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนในชุมชน สตง. บอกว่าเกินหน้าที่เพราะการให้การศึกษาเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาฯ การจัดซื้ออุปกรณ์เตือนภัยน้ำท่วมและเอาไปตั้งนอกเขตเทศบาลเพื่อที่เวลาน้ำท่วมเทศบาลจะได้รู้ตัวก่อน ก็หาว่าซื้อครุภัณฑ์นอกเขตเทศบาล และไม่ใช่แค่นี้ พอใกล้เลือกตั้ง เคสต่างๆ ที่อยู่ใน สตง. หลายเคสเข้าไปอยู่ใน ป.ป.ช. ว่าเป็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน พอเข้าไปอยู่ใน ป.ป.ช. ปุ๊บก็เป็นอำนาจต่อรองของพรรคพลังประชารัฐ แล้วก็มีตัวอย่างของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ติดคุก เลยทำให้นักการเมืองท้องถิ่นกลัว คุณจะเห็นว่า อบจ. ย้ายพรรค ย้ายข้าง นายกเทศมนตรีย้ายข้างหรือประกาศไม่เข้าพรรคใดพรรคหนึ่ง”

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานภายใต้กรมการปกครองอย่างการปกครองส่วนภูมิภาคให้มีบทบาทมากขึ้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอความร่วมมือจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นว่า อปท. อยู่ภายใต้คำสั่งผู้ว่าฯ

“พอนักการเมืองถูกตัดไปก็เริ่มมีเครือข่ายคนหน้าใหม่ๆ หรือคนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการ ไม่เอาความผูกพันที่เชื่อมโยงกับพรรคแล้ว แต่ใช้การข่มขู่ ใช้เงิน ใช้ความรุนแรง ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็น หรือข่าวที่เราเห็นว่าปลดล็อค อบจ. แล้ว อบจ.คนนี้มาลงเลือกตั้งได้ แต่อาจจะถูกชี้มูลความผิดอยู่ คสช. ก็สั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ให้รองฯ รักษาการ พอปลดล็อคเสร็จก็เข้ามาร่วมพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ก็ลาออกทางการเมืองไปเลย พอเราไปไล่ข่าวดู มันเป็นการข่มขู่ทางการเมือง การใช้ความสัมพันธ์แบบเดิมที่เราเคยเห็น”

เวียงรัฐยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการหรือการใช้กำลังข่มขู่ ถือว่าระบบราชการในประเทศอื่นไม่ค่อยเข้มแข็ง คำสั่งการอาจหลุดหายระหว่างทาง ขณะที่ของไทยทั้งนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กลับทำเต็มที่ เนื่องจากกลไกการบังคับบัญชาของระบบราชการของไทย ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ

“สรุปแบบนั้นก็ถูกว่าเป็นเจ้าพ่อใหญ่ แต่เจ้าพ่อมันจะ เฮ้ย ไม่ทำ มึงตาย เอาปืนไปวาง แต่ระบบราชการมีหนังสือสั่งการ ดูถูกต้องตามกฎหมาย เลี่ยงไม่ได้ ใช้คำว่าขอความร่วมมือ”

ดึงทุนผูกขาดระดับชาติครอบงำทุนท้องถิ่น

อีกจุดหนึ่งที่เวียงรัฐชวนสังเกตคือการที่กลุ่มทุนเข้าไปในท้องถิ่น เดิมทีเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลในอดีต และนักการเมือง มักเติบโตจากฐานการเป็นนักธุรกิจท้องถิ่น ถ้าไม่ใช่สีเทาก็ผูกขาด เช่น เหมือง ป่าไม้ ขุดทราย หรือไม่ก็เจ้าของโรงสี เจ้าของโรงงานแปรรูปธุรกิจ ขายปุ๋ยหรือเครื่องมือการเกษตร เป็นต้น นักธุรกิจเหล่านี้เป็นทุนท้องถิ่น สะสมทุนและเข้ามาใช้อิทธิพลทางการเมืองหรือสนับสนุนลูกหลานตัวเองเป็นนักการเมือง แต่เมื่อเข้ามาแล้วการเลือกตั้งกำกับให้คนเหล่านี้แสวงหาผลประโยชน์จากการเมืองโดยตรงเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าที่แสวงหาผลประโยชน์จากราชการ

“พูดง่ายๆ ว่าเอาเงินจ่ายใต้โต๊ะ แบ่งกันกินกับราชการ ไม่มีประชาชนตรวจสอบ ฉะนั้น สมการทางอำนาจในยุคที่ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีประชาชนหรือตัวแทนประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง มันก็กินกันได้เต็มที่”

แต่ในยุค คสช. มีการดึงทุนผูกขาดระดับชาติในรูปแบบบริษัทที่เข้าร่วมกับโครงการประชารัฐ โดยรัฐบาลทำร่วมกับหน่วยงานราชการในภูมิภาคต่างๆ ตรงนี้เหมือนใบเบิกทางที่ระบบราชการเปิดช่องให้ทุนระดับชาติผูกขาดเข้ามาแทรกทั้งกระบวนการผลิต การตลาด พ่อค้าคนกลาง ให้มาอยู่ในมือของบริษัทใหญ่ๆ รวมถึงที่ดินด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่

“เราก็ไม่อยากให้มี แต่อย่างน้อย (เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล) ยังมีการอุปถัมภ์ประชาชน ให้ประชาชนยืมเงิน ฝากลูกเข้าโรงเรียน สร้างเมรุ เอาเงินบริจาคโลงศพ เอารถไปขนศพ เรื่องที่ชาวบ้านที่เดือดร้อน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องพึ่งพาตลอด แต่พอมีพรรคที่ให้นโยบาย 30 รักษาทุกโรค คนก็ไม่ค่อยพึ่งพาเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลอย่างที่เราเห็นก่อนหน้านี้ แต่อย่างน้อยชาวบ้านมีที่พึ่ง

“แต่ทุนระดับชาติไม่ได้เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ คือเป็นตรรกะของทุนนิยมเต็มที่ว่ามนุษย์ก็คือลูกค้าหรือแรงงานที่อยู่ในกลไกของการทำกำไร การเปิดให้ทุนระดับชาติที่ผูกขาดระดับใหญ่เข้าไปมีพื้นที่ในชนบทในรูปแบบของการค้าปลีก การรับซื้อ แปรรูปสินค้าเกษตร จนถึงการเป็นเจ้าของที่ดินผ่านโครงการประชาชนรัฐ เป็นใบเบิกทางที่น่าจะสำคัญมากทีเดียวที่ทำให้ทุนท้องถิ่นตกที่นั่งลำบาก และในที่สุดประชาชนเองที่จะตกลงที่นั่งลำบาก เพราะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ให้ทุนขนาดใหญ่เข้าไปครอง”

ภาพการนับคะแนน เลือกตั้งท้องถิ่น

ความหวังยังไม่ดับ

ถึงประชาธิปไตยท้องถิ่นจะถูกระบอบ คสช. ฉุดลากถอยหลัง แต่ความหวังยังไม่ดับ เพราะไม่ว่าการเลือกตั้งจะพิกลพิการจากกติกาที่ถูกเขียนขึ้นอย่างไร อย่างน้อยก็มีพื้นที่ให้คนได้ส่งเสียง ได้เห็นบทบาทของพรรคการเมืองใหม่ คนรุ่นใหม่

เวียงรัฐอธิบายว่า

“การเลือกตั้งตั้งแต่ อบจ. เทศบาล ถึง อบต. ครบทุกระดับ มันก็เริ่มให้ความหวังแล้ว ครั้งแรกคนจะมองว่า อบต. ซื้อเสียงเหมือนเดิมหรือ อบจ. เป็นบ้านใหญ่เหมือนเดิม แต่อย่าลืมว่าเขาก็ต้อง Perform ให้ชาวบ้านชื่นชม ต่อให้ซื้อเสียงเข้ามาหนักมากๆ 4 ปี เขาก็คงไม่รอด พรรคตรงข้ามหรือคนอื่นที่เขาไม่เห็นความสามารถของนักการเมืองในตำแหน่ง เขาคงตั้งเป็นกลุ่มมาแข่งขันครั้งหน้า มีการเลือกตั้งยังไง ความหวังมันก็มา

“แล้วนักการเมืองก็เลือดนักสู้นะ จริงๆ แล้วคนด้อยค่านักการเมืองมากไปหน่อย ในบ้านเรานักการเมืองจำนวนหนึ่งก็น่าเกลียดมากทีเดียว แล้วระบอบที่น่าเกลียดก็ผลิตนักการเมืองที่อัปลักษณ์เข้ามา แต่นักการเมืองจำนวนมากก็รู้สึกว่าเขามีพันธสัญญากับประชาชน ไปหาเสียง แล้วไปรับว่าจะแก้ปัญหานี้ให้ พอมานั่งแล้วมันอยู่ไม่ได้ มันจะมีคนทวงตลอด หัวคะแนนบอกผมกลับไปหมู่บ้าน ถ้าไม่ทำชาวบ้านด่ามากนะท่าน ยังไงมันต้องมีกระบวนการตรวจสอบ การกดดันจากส่วนต่างๆ แม้ว่ามันจะไม่ได้ราบรื่นสวยงามอย่างประเทศประชาธิปไตยพัฒนาแล้วก็ตาม”

ทำไมระบอบอำนาจนิยมถึงกลัวการเลือกตั้งท้องถิ่น กลัวการกระจายอำนาจ

การพัฒนาประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งเป็นพื้นฐาน มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มี Rule of Law และหนึ่งในนั้นคือต้องมีประชาธิปไตยท้องถิ่นซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตอย่างไร

อีกประการหนึ่งก็คือสังคมประชาธิปไตยที่ดีต้องมีความหลากหลาย แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่

“ทีนี้ถ้าเสียงส่วนใหญ่เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพรรครัฐบาล โดยเฉพาะประเทศที่เป็นระบอบประธานาธิบดีมันเห็นชัดเลย เราจะเห็นได้ว่าท้องถิ่นเขาโกรธจากการที่พรรครัฐบาลไม่ใช่พรรคเขา เขาก็มาทุ่มให้กับเลือกท้องถิ่น อย่างทางใต้ก็ได้พรรครีพับลิกันเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะเพราะเขามีค่านิยมแบบนี้ แต่ว่าเขาไม่สามารถควบคุมทั้งประเทศได้ หรือในญี่ปุ่นพรรค LDP ครองเสียงข้างมากในสภา แต่ในท้องถิ่นก็มีพรรคอื่นๆ หรือมีผู้สมัครอิสระเข้ามาตลอดเพื่อจะมาทวงอำนาจ มันก็ทำให้เกิดความหลากหลายในพื้นที่ เกิดการต่อรองรัฐบาลกลาง”

และการที่เผด็จการณ์กลัวประชาธิปไตยท้องถิ่นก็เพราะว่า

“ถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือมีรัฐบาลท้องถิ่น มันจะมีข้อเรียกร้องที่หลากหลาย มีการระดมคนได้ เพราะการเลือกตั้งก็คือการระดมคนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง พอไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง มันก็ไม่มีช่องทางในการสื่อสารทางการเมือง ไม่มีช่องทางในการระดมคน แต่ว่ารัฐบาลไทยชอบ ใช้ระบบราชการมัน Function ได้ มีประสิทธิภาพไหม ไม่รู้ อีกเรื่องหนึ่ง รัฐบาลจะโง่ยังไง ประเทศเราไม่ Fail State”

การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นก้าวก้าวหนึ่งของประชาธิปไตยท้องถิ่น อีกส่วนสำคัญที่ต้องมีคือการกระจายอำนาจออกไปให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้จริง เป็นเรื่องสำคัญที่เวียงรัฐย้ำว่ายังคงต้องต่อสู้ต่อไป เพราะมีการยื้อยุดดึงกลับมาตลอดและอำนาจยังอยู่ในมือระบบราชการอยู่มาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท