Skip to main content
sharethis

กลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นต่อการเลือกให้ จอห์น ลี เป็นผู้ว่าการฮ่องกงคนใหม่ โดยที่ลีถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดรัฐบาลจีน ผู้เคยทำงานเป็นฝ่ายความมั่นคงปราบปรามผู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยในฮ่องกงมาก่อน ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกงและองค์กรนานาชาติอย่างสหภาพยุโรปประณามทั้งระบบการเลือกผู้นำใหม่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และประณามการที่จีนใช้ลีเป็นหุ่นเชิดโดยมองว่าเป็นการพยายามทำลาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของจีนกับฮ่องกง

จอห์น ลี หลังได้รับคัดเลือกจาก กกต.ฮ่องกง ภาพจากวิดีโอที่ผลิตโดย Xinhua Global Service 

ในฮ่องกง คณะกรรมการการเลือกตั้งเพิ่งโหวตลงคะแนนเลือกผู้ว่าการฮ่องกงกันเอง โดย กกต.เลือกจอห์น ลี ที่เป็นผู้สมัครแข่งขันเพียงคนเดียวให้เป็นผู้ว่าการฮ่องกงคนใหม่ ทั้งนี้ลีมีภาพลักษณ์ว่าเป็นฝ่ายจงรักภักดีต่อทางการจีนและเคยทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงที่คอยดูแลการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อปี 2562 มาก่อน

ผู้คนมองว่าการที่คณะกรรมาธิการ 1,500 คนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ภักดีต่อจีนทำการโหวตเลือกลีเป็นผู้นำฮ่องกงคนใหม่ด้วยคะแนนเสียง 1,416 เสียงนั้น เป็นความพยายามของรัฐบาลจีนในการใช้อำนาจคุมเข้มฮ่องกงมากขึ้น

สื่อฮ่องกงฟรีเพรสได้รวบรวมปฏิกิริยาจากกลุ่มต่างๆ ทั้งในฮ่องกงเองและในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง, หน่วยงานภาครัฐ, กลุ่มนักกิจกรรม และองค์การระหว่างประเทศ

สำนักงานประสานงานรัฐบาลจีนในฮ่องกง ซึ่งเป็นฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่แถลงว่าการลงมติเลือกผู้นำใหม่ของฮ่องกงในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็น "ความเหนือกว่า" ของการเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกผู้นำใหม่แบบยกเครื่องและนับเป็น "อีกก้าวหนึ่ง" ของการทำให้ "กลุ่มผู้รักชาติ" มาเป็นผู้บริหารฮ่องกง

สำนักงานประสานงานจีนในฮ่องกงอ้างอีกว่าการเปลี่ยนแปลงระบบที่ทำให้ผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้แทนเหลืออยู่คนเดียวเช่นนี้เป็น "ความสำคัญในการพัฒนาให้เกิดประชาธิปไตยที่มีคุณลักษณะแบบฮ่องกง" พวกเขาอ้างอีกว่ากระบวนการโหวตที่อาศัยคณะกรรมการการเลือกตั้งในวงปิดเพียงหนึ่งพันกว่าคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนี้ "เป็นตัวแทนความคิดเห็นของประชาชน"

แคร์รี แลม ผู้ว่าการฮ่องกงคนปัจจุบันออกแถลงการณ์เกี่ยวกับชัยชนะของลีว่า เธอและรัฐบาลของเธอจะ "ทำให้แน่ใจว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปสู่ผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างไร้อุปสรรค" แลมแถลงว่าเธอจะส่งรายงานเรื่องผลการลงมติให้กับรัฐบาลกลางของจีน และจะช่วยเหลือในเรื่องที่จำเป็นต่อการขึ้นดำรงตำแหน่งในรัฐบาลใหม่ของลี

พรรค DAB ซึ่งเป็นพรรคการเมืองผู้ภักดีต่อรัฐบาลจีนแถลงแสดงความยินดีต่อลี และหวังว่าลีจะสามารถ "ดึงดูดผู้มีพรสวรรค์" เข้ามาร่วมรัฐบาลเขาได้และวางแผนปฏิบัติตามนโยบายที่เขาประกาศเอาไว้

พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่อีกพรรคหนึ่งคือพรรค NPP ก็กล่าวในเชิงชื่นชมลีและบอกว่าลีจะช่วย "เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร" ได้

แรงต่อต้านจากฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศ และจากต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ในหมู่ประชาชนมีกระแสการต่อต้านลีเพราะมองว่าลีเคยมีบทบาทนำการปราบปรามผู้ประท้วงในฮ่องกงมาก่อน ซึ่งในตอนนั้นมีทั้งการใช้ปืนแรงดันน้ำ, กระสุนยาง, แก๊สน้ำตา และบางครั้งก็ใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม อีกทั้งลียังเคยสนับสนุนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งเป็นชนวนทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงมาก่อนด้วย และในเวลาต่อมาลียังสนับสนุนกฎหมายความมั่นคงจากจีนที่ทำให้เกิดการปราบปรามเอาผิดต่อผู้ประท้วงทางการเมืองและลดความสามารถในการปกครองตนเองของฮ่องกง

ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาหลังจากที่ลีได้รับการส่งเสริมเลื่อนขั้นในฮ่องกง นักวิเคราะห์ประเมินว่าการเลื่อนขั้นเช่นนี้เป็นการที่จีนพยายามคุมเข้มในด้านความมั่นคงในฮ่องกงมากขึ้น การที่ลีมีส่วนร่วมในการใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่นี้ทำให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรต่อลีและเจ้าหน้าที่ทางการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกสิบกว่าราย นอกจากนี้เว็บไซต์ยูทูปก็ทำการบล็อกวิดีโอหาเสียงของลีในปี 2565 ด้วย

ฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกงได้เดินขบวนประท้วงเมื่อเช้าวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่จะมีการลงมติเลือกลี การประท้วงนี้จัดโดยพรรคฝ่ายประชาธิปไตยคือพรรคสันนิชาตสังคมนิยมประชาธิปไตยฮ่องกง ประธานของพรรคคือ Chan Po-ying เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเลือกผู้ว่าฯ จากการโหวตลงมติของกลุ่มคนหนึ่งพันกว่าคนให้กลายเป็นการให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปได้

นอกจากนี้ Chan Po-ying ยังเรียกร้องให้มีการทำให้การเมืองระดับเขตขอบฮ่องกงเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต่อต้านการนำกฎหมายมาตรา 23 กลับมาใช้ใหม่ก่อนหน้าที่จะมีการจัดให้มีเลือกตั้งทั่วไป กฎหมายมาตรา 23 ที่ว่านี้ระบุอยู่ในกฎหมายขั้นพื้นฐานของฮ่องกงมีการเน้นประเด็นความมั่นคงของรัฐโดยสั่งห้ามเรื่อง "การแบ่งแยก" หรือ "ยุยงปลุกปั่น"

"จอห์น ลี ลอยลำเข้ามาเป็นผู้ว่าการฮ่องกง เขาได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลกลาง(จีน)" Chan Po-ying กล่าว

"ไม่มีกลไกระดับท้องถิ่นหรืออำนาจใดๆ ที่จะคอยสอดส่องดูแลหรือทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลของจอห์น ลี เลย" Chan Po-ying กล่าว

คณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน แถลงต่อการที่ลีได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ ฮ่องกงระบุเรียกร้องให้ลี "รับฟังและปฏิบัติตามความคิดเห็นของประชาชน เคารพสิทธิในการเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง และหยุดทำลายเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง"

คณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันแถลงต่อไปว่า "เป็นเวลานานมาแล้วที่ไต้หวันได้ผลักดันให้มีพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับฮ่องกงโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันและเน้นความสำคัญของสวัสดิการประชาชน"

กลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการคัดเลือกผู้ว่าการฮ่องกงอย่างตรงไปตรงมาคือสหภาพยุโรป อียูแถลงว่า การยกเครื่องระบบการเลือกผู้ว่าฯ ใหม่ของฮ่องกงนั้นลดจำนวนคณะกรรมการผู้ลงมติในสภาลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ระบบเดิมของฮ่องกงที่ "มีข้อจำกัดในด้านประชาธิปไตย" อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีก

คำแถลงของอียูออกมาในช่วงบ่ายของวันที่ 8 พ.ค. ระบุว่า ทางอียูรู้สึกเสียใจที่ทางการฮ่องกง "ละเมิดหลักการประชาธิปไตยและละเมิดหลักการพหุนิยมทางการเมือง" อีกทั้งอียูยังมองว่ากระบวนการคัดเลือกผู้ว่าฯ ใหม่นี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของการทำลายหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ระหว่างจีนกับฮ่องกง ซึ่งหมายถึงหลักการที่จีนจะคงไว้ซึ่งเสรีภาพทางการเมืองในฮ่องกงแทนที่จะทำให้การเมืองในฮ่องกงกลายเป็นแบบจีนแผ่นดินใหญ่

"สหภาพยุโรปให้ความสำคัญอย่างมากกับการดำรงไว้ซึ่งอิสระในการปกครองตัวเองของฮ่องกงรวมถึงให้ความสำคัญต่อการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพสื่อ, หลักการประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของกฎหมายขั้นพื้นฐานและพันธกรณีระดับนานาชาติ" อียูระบุในคำแถลง

"อียูขอเรียกร้องให้ทางการจีนและฮ่องกงปฏิบัติตามพันธกรณีของพวกเขาในระดับชาติและในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระดับเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้การเลือกผู้ว่าการฮ่องกงและสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงกลายเป็นระบบให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปได้" อียูระบุในคำแถลง

สภาหอการค้าฮ่องกงออกแถลงการณ์ในวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมาแสดงความยินดีต่อลี และพูดถึงเรื่องการทำให้ฮ่องกงฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 กลับมาเป็น "ศูนย์กลางทางธุรกิจชั้นนำของเอเชีย" ประธานของหอการค้าคือ ปีเตอร์ หว่อง กล่าวว่าทางหอการค้า "มีความเชื่อมั่นในความสามารถของลี ที่จะนำฮ่องกงในช่วงเวลาที่ท้าทายและนำทางฮ่องกงไปสู่อนาคตที่รุ่งเรืองและมั่นคง"

โฆษกของกลุ่มนักกิจกรรม "สแตนด์วิทฮ่องกง" (ยืนหยัดเคียงข้างฮ่องกง) จอห์น ซง บอกว่าการคัดเลือกผู้นำฮ่องกงคนใหม่ในครั้งนี้เป็นกระบวนการที่ "เสแสร้งหลอกลวง" และเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจากทั่วโลกอย่าได้ยอมรับการคัดเลือกลีให้เป็นผู้นำ

ซงบอกว่าการทำให้ลีมาเป็นผู้นำใหม่นั้น "เป็นเรื่องอันตราย ไร้ความชอบธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตย" มันจะทำให้เกิดความหวาดกลัวในจิตใจของชาวฮ่องกงเพราะลีเป็นหัวหอกของการเมืองแบบใช้อำนาจบีบบังคับอย่างโหดเหี้ยมจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ถูกนำมาใช้กับฮ่องกงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

"ผู้คนในฮ่องกงที่ให้คุณค่าต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยจะรู้สึกว่าพวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้น จากการที่จอห์น ลี น่าจะดำเนินนโยบายโหดเหี้ยมต่อจากเดิมอย่างแน่นอน และลีน่าจะยังคงอิงกับทางการจีนเป็นหลัก" ซงกล่าวในแถลงการณ์ช่วงเย็นวันที่ 8 พ.ค.

"ชาวฮ่องกงทนทุกข์อย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ณ บัดนี้ ต่อหน้าความพยายามอย่างเห็นได้ชัดในการที่จะทำลายอิสรภาพของฮ่องกงและสถาปนาการปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จที่โหดเหี้ยมเช่นนี้ ประเทศโลกเสรีควรต้องยืนหยัดเคียงข้างฮ่องกงและทำการคว่ำบาตรจอห์น ลี กับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง" ซงกล่าวในแถลงการณ์

องค์กรนักกิจกรรมอีกองค์กรหนึ่งคือ "แคมเปญฟอร์ฮ่องกง" ที่มีฐานในสหรัฐฯ แถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์การเลือกผู้นำคนใหม่ของฮ่องกงเช่นกัน ซามูเอล ชู ผู้ก่อตั้งแคมเปญฟอร์ฮ่องกงกล่าวว่าลีเป็น "สมุน(ของทางการจีน)ที่ถูกวางตัวไว้แล้ว"

ชูกล่าวว่าลีได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งในหน่วยงานตำรวจและฝ่ายบริหารมาเรื่อยๆ เป็นผู้คอยกำกับสั่งการ ทำให้ฮ่องกงเปลี่ยนแปลงจาก "หนึ่งในเมืองที่มีเสรีที่สุดในโลก" กลายเป็น "หนึ่งในเมืองที่ถูกจำกัดเสรีภาพมากที่สุด"

"ในเมืองที่ถูกบีบคั้นจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของทางการจีน การเลือกลีผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเดินหน้าปราบปรามและลิดรอนเสรีภาพมาเป็นผู้นำจึงถือเป็นการเลือกที่สมเหตุสมผล(สำหรับจีน)" ชูกล่าว

ชูกล่าวว่าลีเป็นหุ่นเชิดของระบบการคัดเลือกที่จอมปลอม และมองว่าลี "จะไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านทางการเมือง ไม่มีเสรีภาพสื่อหรือสื่อที่เป็นอิสระจากรัฐบาล และไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีเสรีภาพในการชุมนุม หรือการแสดงออก"

"วันนี้ จอห์น ลี ชนะ แต่ประชาชนของฮ่องกงพ่ายแพ้" ชูกล่าวในแถลงการณ์


 

เรียบเรียงจาก
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net