Skip to main content
sharethis

สื่อพม่ารายงาน ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการยูเอ็นเรื่องเมียนมา ถูกกองทัพพม่ากันไม่ให้เข้าร่วมประชุมการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน ณ ประเทศกัมพูชา เมื่อ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา คาดอาจเพราะก่อนหน้านี้เธอไปคุยหารือกับรัฐบาลเงา 'NUG'

 

11 พ.ค. 2565 สำนักข่าว 'อิรวดี' รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน มีการจัดการประชุมที่ประเทศกัมพูชา เพื่อหารือเรื่องการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในประเทศเมียนมา โดย ‘โกโกหน่าย’ รัฐมนตรีด้านการประสานงานกับนานาชาติ เป็นตัวแทนเจรจาของกองทัพพม่าหารือในประเด็นดังกล่าว

โนเอลลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการแห่งสหประชาชาติเรื่องเมียนมา (ที่มา korea.net)

อย่างไรก็ตาม "โนเอลีน เฮย์เซอร์" (Noeleen Heyzer) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา กลับไม่ได้เข้ามาร่วมประชุมในเวทีนี้ด้วย ทั้งที่ตอนแรกเธอถูกเชิญมาร่วม 

อิรวดี อ้างรายงานของ สภาที่ปรึกษาพิเศษด้านสถานการณ์เมียนมา หรือ (SAC-M) ซึ่งเป็นกลุ่มอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสถานการณ์เมียนมา และกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่าการเข้าร่วมของเฮย์เซอร์ถูกกีดกันโดยกองทัพพม่า 

“เธอได้รับการเชิญ และจากนั้นก็ไม่ได้ถูกเชิญ” สภาที่ปรึกษาพิเศษด้านสถานการณ์เมียนมา กล่าวในแถลงการณ์ 

เฮย์เซอร์ ได้รับการแต่งตั้งจากสหประชาชาติให้มาดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว (2564) เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตในประเทศพม่า และช่วยเหลือเรื่องการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

เหตุผลที่ทำให้เธอถูกกีดกันจากการประชุมไม่ชัดเจนนัก แต่สื่อ 'อิรวดี' ระบุว่า อาจเป็นเพราะเธอไปประชุมร่วมกับสภารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG และวินแมย้ดเอ รัฐมนตรีด้านการบรรเทาสาธารณภัยและตั้งถิ่นฐาน แห่งรัฐบาล NUG 

ทั้งนี้ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ เม.ย. 2564 เป็นรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นมาขับเคี่ยวกับกองทัพพม่าในการชิงบทบาทการนำประเทศ และก่อนหน้านี้ กองทัพพม่ามีการแปะป้ายรัฐบาล NUG เป็นองค์กรก่อการร้าย และประเทศไหนที่เอ่ยถึงรัฐบาล NUG จะถูกประณามหรือต่อว่าจากกองทัพพม่า 

ก่อนหน้านี้ ตอนที่ดาโตะ ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ (Datuk Seri Saifuddin Abdullah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย เสนอให้อาเซียนเข้าหารือกับรัฐบาล NUG อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อประชุมเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมา กองทัพพม่าออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความเห็นนี้ โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ ‘ไร้ความรับผิดชอบ และเลินเล่อ’ พร้อมเตือนทางการมาเลเซียไม่ให้ติดต่อและสนับสนุนกลุ่มที่ถูกเรียกว่า ‘กลุ่มก่อการร้าย’

เฮย์เซอร์ เป็นผู้แทนพิเศษฯ ต่างชาติคนแรกที่เข้าหารือกับรัฐบาล NUG การประชุมของเธอกับรัฐบาล NUG เริ่มหลังอาเซียนประณามกองทัพพม่า ต่อความล้มเหลวในการดำเนินการแผนการสร้างสันติภาพภายในเมียนมา แม้ว่าจะวิจารณ์ทางกองทัพ แต่เจ้าหน้าที่ของอาเซียนยังไม่เคยพบปะกับรัฐบาลคู่ขนานพม่าระหว่างที่กดดันทางกองทัพมาก่อน

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาล NUG ระบุว่า เฮย์เซอร์ เป็นตัวแสดงคนสำคัญ และการที่เธอถูกตัดออกจากการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 พ.ค.) ถือเป็นการดูหมิ่นต่อสหประชาชาติ 

“รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติยังเพิ่มการสนับสนุนต่อผู้แทนพิเศษยูเอ็น และแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับการมีส่วนร่วมของเธอกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และผู้มีส่วนสำคัญในระดับท้องถิ่นต่อการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาเซียนแก่เมียนมา” รมต.ต่างประเทศของ NUG ระบุ

ผลจากการประชุมที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ประกอบด้วย แผนการสำหรับศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ที่จะส่งต่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังพื้นที่ที่ระบุโดยกองทัพพม่า และในการประสานงานร่วมกับสภาทหารพม่า 

สภาที่ปรึกษาพิเศษด้านสถานการณ์เมียนมา ประณามว่าการประชุมเมื่อ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาว่าเป็นการดูหมิ่นต่อหลักการมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม และความเป็นอิสระ โดยระบุว่า นี่จะเป็นการส่งเสริมจุดประสงค์ทางการทหารของกองทัพพม่า 

สภาที่ปรึกษาพิเศษฯ ระบุต่อว่า ขณะนี้มีประชาชนพม่าจำนวนกว่า 14 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่อีกประมาณ 800,000 คนกลายเป็นพลัดถิ่นภายใน คนส่วนใหญ่ยังต้องแสวงหาที่ลี้ภัยจากการโจมตีของกองทัพพม่าตามตะเข็บชายแดน นอกเขตอิทธิพลของกองทัพ อีกทั้ง กองทัพพม่ามีการขัดขวางไม่ให้มีการส่งความช่วยเหลือข้ามแดนไปให้คนเหล่านี้ด้วย
 

แปลและเรียบเรียงจาก

Junta Bars UN Special Envoy on Myanmar From ASEAN Meeting

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net