Skip to main content
sharethis

เพจเฟซบุ๊กของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เตือนอย่าแชร์ข่าวทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยเมียนมา แจงเป็นสะพานขนสิ่งของผิดกฎหมาย แม้องค์กรสิทธิเคยระบุแล้วว่าเป็นสะพานผู้ลี้ภัยจริง พร้อมมีข้อมูลรองรับ 

 

12 พ.ค. 2565 จากกรณีที่ฟอติฟายไรท์ (Fortify Rights) องค์กรสิทธิมนุษยชน เผยแพร่คลิปวิดีโอบนสื่อออนไลน์ เผยให้เห็นว่า ทหารไทยกำลังทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาบริเวณชายแดน อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center Thailand โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘เฟซบุ๊ก’ วันนี้ (12 พ.ค.) ออกโรงเตือนว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นข่าวปลอม และขอความร่วมมือว่าอย่าแชร์ เนื่องจากกองทัพภาค 3 แจงแล้วว่า เป็นสะพานไม้ไผ่ลักลอบขนสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อ 4 พ.ค. 2564

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับประเด็นเรื่องทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกองทัพบก กระทรวงกลาโหม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีคลิปวีดีโอระบุว่า ทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ทางกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เส้นทางดังกล่าวไม่ใช่สะพานข้ามพรมแดน แต่เป็นเส้นทางชั่วคราวที่ลักลอบสร้างขึ้นเพื่อลำเอียงสิ่งผิดกฏหมาย โดยทางคณะทำงานทีมโฆษกกองทัพภาคที่ 3 ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนแล้ว เมื่อ 4 พ.ค. 65 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รื้อถอนสะพานไม้ชั่วคราวช่องทางธรรมชาติเนื่องจากเป็นเส้นทางลำเลียงสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันดูแลชายแดนและผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาตามหลักมนุษยธรรม

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกองทัพบก สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.rta.mi.th หรือโทร 0-2241-0404 , facebook : ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก Army PR Center twitter: armypr_news และแอปพลิเคชัน S.M.A.R.T. SOLDIERS

ย้อนดู ‘ภาค 3’ ชี้แจง

หลังจาก Fortify Rights เผยแพร่คลิปดังกล่าว เพจเฟซบุ๊ก ‘ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3’ โพสต์ข้อความเมื่อ 4 พ.ค. 2565 ชี้แจงคลิปวิดีโอว่า เจ้าหน้าที่รื้อถอนสะพานไม้ไผ่ชั่วคราวช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนจังหวัดตากนั้น เป็นเส้นทางลำเลียงสิ่งผิดกฎหมาย และภาพในคลิปวิดีโอนั้นเป็นเหตุการณ์เมื่อ พ.ย. 2564 ซึ่งเริ่มก่อนจะมีเหตุสู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์ และกองทัพพม่า ตรงข้ามแม่สอด รัฐกะเหรี่ยง 

นอกจากนี้ ทางกองทัพภาค 3 ยังระบุด้วยว่าจะดูแลชายแดน และผู้หนีภัยความไม่สงบ หรือผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม

โพสต์ข้อความระบุว่า กองทัพภาคที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ข่าวสารและข้อมูลเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ (Social Media) ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการจัดกำลังพลร่วมกับส่วนราชการพลเรือนที่เกี่ยวข้อง และผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ เข้าดำเนินการรื้อถอนสะพานไม้ไผ่ (แบบชั่วคราว) จำนวน 1 แห่ง ในพื้นที่บ้านวาเล่ย์ใต้ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 (ยังไม่เกิดสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารเมียนมา กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย และยังไม่มีกลุ่มหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาอพยพเข้ามายังฝั่งไทย) ซึ่งสะพานไม้ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย นำมาใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย ขอยืนยันเหตุรื้อสะพานไม้ ไม่เกี่ยวข้องกับการข้ามเข้ามายังฝั่งไทยของกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด และเป็นคนละห้วงเวลากัน ทั้งนี้ เป็นการจัดระเบียบพื้นที่ตามแนวชายแดน เพื่อเป็นการสกัดกั้น ป้องกัน และปราบปรามกลุ่มขบวนการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งเพื่อเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดตาก/ศูนย์สั่งการชายแดนไทย จังหวัดตาก ในการระงับการเข้า-ออกของบุคคล และยานพาหนะ รวมทั้งสินค้าผ่านแดน เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการข้ามเข้ามายังฝั่งไทย ของกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) แต่อย่างใด

ปัจจุบัน (4 พฤษภาคม 2565) ในพื้นที่จังหวัดตาก มีพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว สำหรับกลุ่มหนีภัยความ  ไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) อยู่ในเฉพาะพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บ้านเซอทะ, บ้านหนองหลวง, บ้านเลตองคุ และบ้านไม้ระยองคี มีจำนวน 1,547 คน โดย กองกำลังนเรศวร รับผิดชอบอำนวยการดูแล ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา หรือผู้ลี้ภัย ร่วมกับศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก ได้ดำเนินการตามหลักมนุษยธรรม มีรายละเอียดดังนี้

 1. ศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก, จังหวัดตาก, กองกำลังนเรศวร และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมดูแล ความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ โดยมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) ตามหลักมนุษยธรรม

2. จัดแพทย์ พยาบาล จากกระทรวงสาธารณสุข เข้าดูแลและให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้เจ็บป่วยในพื้นที่

3. กองกำลังนเรศวร จัดกำลังพล และ ยุทโธปกรณ์ ในการดูแลรักษาความปลอดภัย สถานที่พักพิงของผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่

ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3 ได้ปฏิบัติตามนโยบายของกองทัพบก และรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ขอยืนยันว่าจะดำรงตน เพื่อรักษาอธิปไตย, ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทยตลอดไป โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่าย และอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับด้วยความสมัครใจมาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 จนกระทั่งปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทหารไทยออกมาชี้แจง ทาง Fortify Rights ออกมาแถลงตอบโต้ ยืนยันว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวถ่ายเมื่อเดือน มี.ค. 2565 จริง และมีการตรวจสอบเมตะดาต้าแล้ว อีกทั้ง มีข้อมูลการสัมภาษณ์จากพยานที่ให้การยืนยันร่วมด้วย ไม่ใช่ภาพวิดีโอเมื่อ พ.ย. 2564 ตามที่กองทัพกล่าวอ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net