ผลกระทบจาก COVID-19 กับวงการกีฬาทั่วโลก

  • วงการกีฬาถือว่าเป็นแวดวงหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด ทั้งการจัดแข่งขันโดยไม่มีผู้ชมในสนาม มหกรรมกีฬานานาชาติที่เลื่อนการจัดการแข่งขัน สโมสรกีฬาระดับรากหญ้าที่กำลังล้มหายตายจาก และข้อถกเถียงเรื่องการฉีดวัคซีนในหมู่นักกีฬา
  • ช่วงโควิด-19 มีการระงับการแข่งขันในลีกกีฬาอาชีพต่างๆ เม็ดเงินในวงการกีฬาต้องหายไปจำนวนมหาศาล ลีกฟุตบอลมากกว่า 100 ลีกทั่วโลกเลื่อนการแข่งขันออกไป อีก 57 ลีกยกเลิกการแข่งขันในฤดูกาล 2019-2020 ไปเลย รวมถึงการเลื่อนมหกรรมกีฬาระดับโลกหลายรายการ เช่น ฟุตบอลยูโร 2020 และโอลิมปิก 2020 ที่แม้จะจัดการแข่งขันในภายหลังได้ก็มีข้อจำกัดมากมายท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สโมสรกีฬาเล็กๆ มากมายไม่สามารถอยู่รอดได้ กิจการสนามกีฬาขนาดเล็กต้องปิดตัว ศูนย์กีฬาหรือพื้นที่สาธารณะของภาครัฐขาดงบดูแล สร้างความเหลื่อมล้ำทำให้คนรากหญ้าไม่สามารถเข้าถึงการออกกำลังและกิจกรรมนันทนาการได้
  • ปี 2021 ถูกยกให้เป็นปีแห่ง “การกลับมาสู่ภาวะปกติของวงการกีฬา” หลังจากมีการทยอยฉีดวัคซีนทั้งในยุโรปและอเมริกา ทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น การแข่งขันหลายอย่างเริ่มอนุญาตให้แฟนๆ เข้ามาชุมในสนาม
  • นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่นักกีฬาระดับซุปเปอร์สตาร์หลายคนที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในวงการกีฬาไปจนถึงส่งผลกระทบทางสังคมและการเมืองเลยทีเดียว

แม้ในปัจจุบัน (ช่วงปี 2022) วงการกีฬาจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ การแข่งขันลีกและทัวร์นาเมนต์ดำเนินไปตามปกติ แฟนกีฬาสามารถกลับเข้าสู่สนามได้เต็มความจุ กฎข้อบังคับเกี่ยวกับโควิด-19 เริ่มถูกผ่อนคลายลง ใกล้เป็นเหมือนก่อนการมาถึงของเชื้อโควิด-19

วงการกีฬาถือว่าเป็นแวดวงหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด ตลอด 2 ปีกว่าของการแพร่ระบาด มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่ปกติเกิดขึ้นมากมาย ทั้งการจัดแข่งขันโดยไม่มีผู้ชมในสนาม มหกรรมกีฬานานาชาติที่เลื่อนจัดการแข่งขัน สโมสรกีฬาระดับรากหญ้าที่กำลังล้มหายตายจาก และข้อถกเถียงเรื่องการฉีดวัคซีนในหมู่นักกีฬา

แม้กีฬาจะถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิง หากย้อนมองผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับวงการกีฬา ก็สามารถสะท้อนให้เห็นวิธีการรับมือ ปรับตัว และแง่มุมทางสังคมการเมืองในแต่ละประเทศได้ดีอีกด้วย

ลีกและทัวร์นาเมนต์ระดับโลก ถูกเลื่อนและยกเลิก

สนามกีฬาที่ว่างเปล่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 | ที่มาภาพ: Peter F/Unsplash

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการกีฬา หลังจากมีผู้ติดเชื้อกระจายไปทั่วโลก คือการระงับการแข่งขันในลีกกีฬาอาชีพต่างๆ อย่างในยุโรปช่วงเดือน ก.พ. 2020 สมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) ได้ประกาศให้ UEFA Champions League และ UEFA Europa League การแข่งขันที่มีสโมสรฟุตบอลจากทั่วยุโรปเข้าร่วม ซึ่งขณะนั้นกำลังเข้าสู่รอบ knock out เปลี่ยนให้แข่งขันแบบไม่มีคนดู ก่อนต่อมาในเดือน มี.ค. ปีเดียวกัน UEFA ได้มีการประกาศให้เลื่อนการแข่งขันทั้งหมด

ในช่วงเวลาเดียวกัน ลีกฟุตบอลภายในประเทศต่างๆ ในยุโรปก็เริ่มมีการประกาศเลื่อนการแข่งขัน 9 มี.ค. Serie A ลีกสูงสุดของอิตาลีได้ประกาศการเลื่อนการแข่งขันทั้งหมดออกไป หลังพบการแพร่ระบาดในประเทศอย่างหนักในหมู่นักกีฬา ต่อมาวันที่ 12 มี.ค. 2020 ลีกใหญ่จาก 3 ประเทศคือ Bundesliga เยอรมนี Ligue 1 ฝรั่งเศส Laliga สเปน ได้ประกาศเลื่อนการแข่งขันทั้งหมดในวันเดียวกัน

ในส่วนของ Premier League อังกฤษ ในวันที่ 13 มี.ค. 2020 ได้มีการประกาศเลื่อนการแข่งขันทั้งหมดออกไป หลังจากมีการเลื่อนการแข่งขันบางคู่ออกไปก่อนหน้านี้ และทางรัฐบาลสั่งให้งดการแข่งขันกีฬาในประเทศทั้งหมดในวันที่ 12 มี.ค. 2020

จนมาถึงในวันที่ 16 พ.ค. 2020 Bundesliga เป็นลีกใหญ่ในยุโรปในลีกแรกที่กลับมาเริ่มแข่งขันอีกครั้ง ตามมาด้วยการกลับมาแข่งขันของทั้ง Laliga สเปนในวันที่ 11 มิ.ย.  Premier League อังกฤษ 17 มิ.ย. 2020 และ Serie A อิตาลี ในวันที่ 20 มิ.ย. 2020 ส่วน Ligue 1 ของฝรั่งเศส ไม่ได้มีการกลับมาแข่งใหม่ หลังมีการประชุมภายในและมีมติให้ตัดจบฤดูกาลโดยให้สโมสร Paris Saint-Germain ที่มีคะแนนนำโด่งสูงสุดเป็นแชมป์ประจำฤดูกาลนั้นไป หลังจากแข่งขันในฤดูกาลไปได้ทั้งหมด 28 เกม

ส่วน UEFA Champion League กลับมาแข่งขันในวันที่ 7 ส.ค. 2020 โดยเป็นการแข่งในรอบ knock out แบบนัดเดียว จากเดิมที่มีการแข่งแบบเหย้า-เยือน และได้ย้ายมาจัดการแข่งทั้งหมดในเมืองลิสบอนประเทศโปรตุเกส เช่นเดียวกันกับ Europa League ที่จัดการแข่งขัน Knock out นัดเดียว ในวันที่ 15 ส.ค. 2020 จัดการแข่งขันทั้งหมดในหลายเมืองของประเทศเยอรมนี

แม้ลีกใหญ่ของยุโรปต่างกลับมาแข่งขันได้ แต่เป็นการแข่งขันแบบไม่มีผู้ชม ทำให้ทั้ง 5 ลีกใหญ่ยุโรปสูญเสียรายได้รวมกันแล้วกว่า 4.5 พันล้านยูโร นอกจากลีกใหญ่ในยุโรปแล้ว ยังมีลีกฟุตบอลมากกว่า 100 ลีกทั่วโลกที่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป และจากการรวบรวมของ  Wikipedia พบว่ามีราว 57 ลีกที่ทำการยกเลิกการแข่งขันในฤดูกาล 2019-2020 ไปเลย

ข้ามฝั่งไปที่สหรัฐอเมริกา เกมบาสเกตบอล NBA ระหว่างทีม Utah Jazz กับ Oklahoma City Thunder ในวันที่ 11 มี.ค. 2020 ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่นาที มีการประกาศผลตรวจโควิด-19 ของ รูดี้ โกเบิร์ต เซ็นเตอร์ของ Jazz ออกมาว่าเป็นบวก จนทางการประกาศให้ยกเลิกการแข่งขันทันที ผู้ชมหลายพันคนต้องออกจากสนาม Chesapeake Energy Arena ทันที ก่อนที่วันต่อมา 12 มี.ค. 2020 ทาง NBA ได้มีการประกาศงดการแข่งขันทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด

ระหว่างช่วงเวลาที่ไม่มีการแข่งขัน ทาง NBA ได้มีข้อตกลงร่วมกับสมาพันธ์ผู้เล่นหรือ CBA ให้มีการลดค่าเหนื่อยของผู้เล่นทุกคนในลีก 25%

NBA ได้กลับมาทำการแข่งขันต่อในวันที่ 30 ก.ค. 2020 โดยการให้ 22 ทีมที่ผลงานสถิติเป็นไปได้ที่จะสามารถเข้ารอบ Play Off จากทั้งหมด 30 ทีมในลีก มาทำการแข่งขันแบบปิดที่ได้ชื่อว่า “NBA Bubble” ด้วยการย้ายทั้งนักกีฬา ทีมงาน การถ่ายทอดสดเข้าไปแข่งขันในสวนสนุก Disneyland ในรัฐฟลอริดา เป็นการแข่งขันในระบบปิดไม่ให้แฟนกีฬาหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปภายใน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

แม้จะถูกมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดี ทำให้ลีกสามารถแข่งขันต่อไปได้ แต่เป็นการตัดจบเกมในฤดูกาลปกติให้หายไปถึง 157 เกมและการไม่มีผู้ชมเข้าไปภายในสนาม มีการคาดการว่า NBA ต้องเสียรายได้ไปกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในส่วนของอเมริกันฟุตบอล NFL ลีกกีฬาซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดในสหรัฐฯ ขณะที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในอเมริกาและยุโรป เป็นช่วงปิดฤดูกาลของ NFL แต่ก็ทำให้ต้องยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปิดฤดูกาล ทั้งการแข่งขันในช่วงปิดฤดูกาล Pre-Season การจัดการแข่งขันนอกประเทศสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า International Games

ศึกคนชนคน NFL ประจำฤดูกาล 2020-2021 ก็ได้เปิดฤดูกาลตามกำหนดการเดิม คือวันที่ 10 ก.ย. 2020 โดยตลอดฤดูกาลมีการเลื่อนการแข่งขันในบางคู่ เนื่องจากมีปัญหาที่นักกีฬาหรือทีมงานติดเชื้อ การแข่งขันจัดขึ้นครบทั้ง 256 เกม ทั้งในฤดูกาลปกติ และ Play Off ถึงอย่างนั้นก็เป็นการแข่งแบบจำกัดคนดู หรือห้ามคนดูเข้าในสนาม ทำให้มีการคาดการณ์ว่า NFL ต้องเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนั้นยังมีลีกเบสบอล MLB ที่ต้องเลื่อนการเปิดฤดูกาลและการแข่งขันออกไปหลายคู่ ทั้งยังต้องกำจัดคนดูในสนาม และกีฬาอาชีพยอดนิยมอื่นๆ ทั้งฟุตบอล MLS ฮ็อคกี้น้ำแข็ง NHL ต่างได้รับผลกระทบไปด้วย มีการประเมินออกมาว่าวงการกีฬาในสหรัฐต้องสูญเสียรายได้รวมกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

รวมไปถึงประเภทกีฬาที่แข่งขันเป็นทัวร์นาเม้นต์ก็ต่างต้องเลื่อนหรือยกเลิกกันไปตามๆ กัน รายการกอล์ฟ “The Master” รายการเมเจอร์ใหญ่ ที่วางไว้จะจัดแข่งขันในวันที่  9 เม.ย. 2020 ก็ต้องถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 12 พ.ย. ปีเดียวกัน “2020 PGA Championship” ก็ถูกเลื่อนจากวันที่ 14 พ.ค. ไปจัดในวันที่  17 ส.ค. ซึ่งทั้ง 2 รายการและการแข่งขันกอล์ฟในปี 2020 ทั้งหมด เป็นการแข่งขันแบบไม่มีผู้ชม ส่วนการแข่งขัน “Ryder Cup” ซึ่งที่จัดขึ้นทุก 2 ปี ได้มีการเลื่อนออกไปแข่งขันกันในปี 2021 แทน

ส่วนเทนนิส 4 รายการใหญ่ที่สุดของโลก หรือที่เรียกว่า “Grand Slam” ในปี 2020 มี Australian Open ที่มีการแข่งขันไปตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. ก่อนที่จะมีการระบาดรุนแรง ส่วน “French Open” เลื่อนจาก 24 พ.ค. มาเป็นวันที่ 27 ก.ย. โดยลดจำนวนผู้เข้าชมให้เหลือระหว่าง 1,000-5,000 คน ไปจนห้ามผู้เข้าชม ตามความจุของสนาม และความสำคัญของเกมการแข่งขัน เพื่อรักษาระยะห่าง “Wimbledon Championships” รายการ Grand Slam อันเก่าแก่ที่สุด ซึ่งถูกจัดในประเทศอังกฤษ ถูกสั่งยกเลิกการแข่งขันในปีนั้นไป จากเดิมมีตารางแข่งขันในวันที่ 29 มิ.ย.  ซึ่งเป็นการยกเลิกการแข่งขันครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยฝ่ายจัดการแข่งขันต้องสูญเสียเงินไปมากกว่า 100 ล้านปอนด์จากการยกเลิกการแข่งขัน  ส่วน  “US Open” ถูกจัดขึ้นในวันที่ 29 ก.ย. ตามกำหนดการเดิม มีผู้เล่นหลายคนที่ถอนตัวจากการแข่งขัน จากความกังวลเรื่องความปลอดภัย เช่นมือเต็งอย่างราฟาเอล นาดาล

มหกรรมกีฬาระดับชาติท่ามกลางการแพร่ระบาด 

ปี 2020 กลายเป็นปีแห่งการเลื่อนการแข่งขันกีฬาต่างๆ นอกจากลีกกีฬาในทั่วโลกแล้ว มีมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติมากมายในปีเดียวกันนี้ ที่ต้องเลื่อนการจัดออกไป

EURO 2020

หลังจากลีกฟุตบอลทั่วยุโรปทยอยประกาศเลื่อนและยกเลิกไปตามๆ กัน วันที่ 17 เม.ย. 2020 ทางสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป ได้ประกาศให้เลื่อนการแข่งขัน ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 หรือ “Euro 2020” ที่เดิมมีกำหนดในวันที่ 12 มิ.ย. 2020 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากที่แต่เดิมมีแผนจะจัดขึ้น 12 เมืองใน 12 ประเทศที่เป็นสมาชิก UEFA เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 60 ปีของการแข่งขัน 

จากนั้น UEFA ได้ประกาศ ให้จัดการแข่งขันในวันที่ 11 มิ.ย. 2021 โดยตั้งใจจะจัดการแข่งขันใน 12 เมืองเช่นเดิม แต่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาด แต่ละประเทศมีความพร้อมไม่เท่ากันทำให้เหลือจัดการแข่งขันใน 11 เมือง และในช่วงเวลานั้นหลายประเทศในยุโรปเริ่มมีการฉีดวัคซีนกันอย่างกว้างขวางแล้ว ทำให้ทุกสนามที่มีการแข่งขันอนุญาตให้มีผู้เข้าชม จำนวนแต่ละสนามต่างกันขึ้นกับสถานการณ์ของแต่ละเมือง

โอลิมปิกฤดูร้อน

โอลิมปิกฤดูร้อน มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของโลก ถือเป็นอีเว้นท์กีฬาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด ถึงแม้จะมีการจัดการแข่งขันได้เสร็จสิ้น แต่ต้องถือว่าผ่านไปด้วยความทุลักทุเลอย่างมาก โอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่วางแผนจะจัดขึ้นในทีกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 20 ก.ค. 2020 แต่ด้วยการระบาดในช่วงต้นปีดังกล่าว ทำให้หลังจากการหารือกันระหว่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กับชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นในขณะนั้น มีการออกมาแถลงว่าจำเป็นต้องเลื่อนการจัดโอลิมปิกออกไปเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่จะไม่เกินปี 2021 และยังยืนยันจะจัดที่กรุงโตเกียวตามเดิม

ต่อมาเริ่มมีเสียงจากผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุข บุคคลสำคัญในญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกโอลิมปิกครั้งนี้ เพื่อป้องกันการระบาด จากการที่เปิดรับนักกีฬากว่าหมื่นคนจากทั่วโลก  ซึ่งตอนนั้นแม้แต่นายกอาเบะ เองก็ออกมายอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกโอลิมปิก แต่แล้ววันที่ 30 มี.ค. 2020 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นและ IOC ได้มีการประกาศวันจัดการแข่งขันออกมา เป็นวันที่ 24 ก.ค.-8 ส.ค. 2021

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปี 2021 มีกระแสออกมาว่าทางรัฐบาลยังคงมีความคิดจะยกเลิกการจัดอยู่ แต่ในเดือน ก.พ. ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ออกมายืนยันว่าจะมีการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียวอย่างแน่นอน

ทั้งกระแสต่อต้านการจัดโอลิมปิกในญี่ปุ่นยังคงสูงขึ้น มีหน่วยงานทางการแพทย์หลายหน่วยทยอยออกคำเตือนไม่ให้มีการจัดโอลิมปิก ผลการสำรวจออกมาว่า มีตัวเลขคนญี่ปุ่นที่เห็นว่าควรยกเลิกหรือเลื่อนการจัดโอลิมปิกออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อใกล้ถึงเวลาจัดงานตัวเลขยิ่งสูงขึ้นไปอีก จนถึงกับมีประชาชนออกมาเดินขบวนตามท้องถนนเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการจัดโอลิมปิก

มีการประเมินทางตัวเลขออกมาว่า การเลื่อนจัดโอลิมปิกออกไป 1 ปีนี้ญี่ปุ่นต้องเสียไปถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหากมีการยกเลิกตัวเลขอาจสูงไปถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก็มีหลายฝ่ายที่มองว่าหากจัดการแข่งขันแล้วมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีความเสียหายมากกว่าตัวเลขนี้

แม้จะใกล้ถึงวันแข่งขันเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ กระแสต่อต้านก็ยังรุนแรงยิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น มีประชาชนแค่ 33% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส และก็มีน้อยกว่า 22% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว ทั้งเริ่มมีรายงานออกมาว่าเริ่มมีนักกีฬาและทีมงาน ที่เดินทางมาเริ่มติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ถึงขั้นมีกระแสให้ยุติงานโอลิมปิก ผู้สนับสนุนหลายรายเริ่มถอนตัว อย่างบริษัทโตโยตา ประกาศถอนโฆษณาเกี่ยวกับโอลิมปิกทั้งหมดออก แม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ก็ออกมาบอกว่าเขาจะไม่เข้าร่วมพิธีเปิดด้วย 

จนทาง ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมากล่าวสนับสนุนการเดินหน้าจัดแข่งขันโอลิมปิก เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นถึงความสำเร็จจากการวางแผนและการใช้มาตรการที่เหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

โอลิมปิกฤดูหนาว

จีนถือว่าเป็นประเทศที่จัดการกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยมาตรการที่ควบคุมเข้มงวด ภายใต้ยุทธศาสตร์ทางนโยบายที่ต้องทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ให้ได้ หรือที่เรียกว่า “Zero Covid” ซึ่งสวนทางกับกระแสของโลกโดยเฉพาะประเทศตะวันตก ที่ต้องการลดความอันตรายของเชื้อให้สามารถเปิดประเทศอยู่ร่วมกับโรคระบาดได้

จีนถูกวางให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 ก.พ. 2022 ด้วยนโยบายที่เข้มงวดต่อโควิด-19 ทำให้หลายฝ่ายต่างคาดว่าจีนจะต้องเลื่อนจัดการแข่งขันออกไป แต่ทางการจีนกลับยืนยันจะจัดโอลิมปิกฤดูหนาวตามกำหนดการเดิมขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ได้กลายเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติที่เข้มงวดที่สุด โดยใช้ระบบที่เรียกว่า “Closed Loop” แยกเจ้าหน้าที่และนักกีฬาออกจากประชาชนทั่วไป ตั้งแต่เดินทางจากสนามบิน การอยู่อาศัยไปจนถึงการออกไปสนามแข่งขัน ด้วยความเข้มงวดนี้ทำให้มีนักกีฬาหลายคนไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้

มีการอนุญาตให้มีผู้เข้าชมการแข่งขันราวๆ 15,000 คน จากเดิมที่จะเปิดขายบัตรเข้าชม แต่เปลี่ยนมาเป็นการเชิญให้กับผู้ที่อยู่ในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ทางการทูต หรือคนที่ร่วมธุรกิจทางรัฐบาลได้เข้าชม แม้จะมีรายงานการติดเชื้อจากทั้งผู้ชม และนักกีฬา เจ้าหน้าที่อยู่บ้าง แต่ทางการจีนออกมาบอกว่าการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันนั้นอยู่ในอัตราที่สามารถควบคุมได้

มีการวิเคราะห์ว่าจีนใช้การจัดโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้เป็นการโชว์ศักยภาพให้ทั่วโลกเห็นว่า พวกเขาเป็นประเทศที่สามารถจัดการโควิด-19 ได้ดีเพียงใด

ส่วนมหกรรมกีฬาอื่นๆ ที่ต้องเลื่อนออกไปเพราะโควิด-19 ที่ดูจะใกล้ตัวคนไทยเข้ามาอีกหน่อยก็คือ ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพ จากกำหนดการเดิมคือวันที่ 21 พ.ย.- 2 ธ.ค. 2021 ที่กรุงฮานอย ต้องเลื่อนมาจัดในปี 2022 แทนด้วยเช่นกัน

ผลกระทบกับกีฬาระดับรากหญ้า

ไม่ใช่แค่เพียงเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลที่ต้องเสียไปกับการที่ลีกกีฬาชั้นนำ และอีเว้นท์กีฬาระดับนานาชาติ ต่างต้องเลื่อนหรือยกเลิก ไปจนถึงห้ามผู้ชมเข้าสู่สนาม ซึ่งตามมาด้วยการถอนตัวของผู้สนับสนุน แต่โควิด-19 ยังส่งผลไปยังกีฬาในระดับล่างสุด ตั้งแต่สโมสรกีฬาระดับสมัครเล่นที่อยู่ตามชุมชน ไปจนถึงการที่เยาวชนไม่สามารถออกกำลังกายได้ ซึ่งสร้างความเสียหายทางสังคมที่ยากจะประเมินค่า 

Sported องค์กรที่ทำงานกับเครือข่ายสปอร์ตคลับในชุมชนมากกว่า 2,600 แห่ง ทั่วประเทศอังกฤษ ออกมาเผยในช่วงปี 2020 ว่าน่าจะมีคลับที่อยู่ในเครือข่ายราว 25% ปิดตัวลงและไม่สามารถกลับมาเปิดอีกหลังจากยกเลิกการล็อกดาวน์ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเงินสนับสนุนและอาสาสมัคร

เช่นเดียวกับรายงานของสมาคมฟุตบอลอังกฤษหรือ FA ที่คาดว่ามีสโมสรฟุตบอลระดับรากหญ้ามากกว่า 5,000 สโมสรปิดตัวลงหลังการล็อกดาวน์ และมีสโมสรขนาดเล็กตามชุนชนต่างๆ ที่เป็นรากฐานสำคัญของฟุตบอลอังกฤษ ต้องประสบปัญหาด้านการเงิน จากการสำรวจของ utilita.co.uk พบว่าสโมสรฟุตบอลรากหญ้า 96% ต้องเผชิญปัญหาด้านการเงิน มีถึง 27% ที่บอกว่าสโมสรของพวกเขารายได้ลดลง 60-100% 

นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าชมรมกีฬาอื่นๆ รวมถึงนันทนาการต่างๆ มากมายต้องปิดตัวไป ทำให้ในปี 2020 เด็กๆ ในอังกฤษ 6 ล้านคน หรือราว 45% ออกกำลังกายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ในมุมมองระดับโลก ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 Oxfam ได้ยามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “เป็นการระบาดแห่งความเหลื่อล้ำ” ที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆ เห็นได้ชัดขึ้นมา เช่นเดียวกับวงการกีฬาที่ทั่วโลกพบว่าสโมสรที่กีฬาเล็กๆ มากมายไม่สามารถอยู่รอดได้ กิจการสนามกีฬาขนาดเล็กต้องปิดตัว ศูนย์กีฬาหรือพื้นที่สาธารณะของภาครัฐขาดงบดูแล จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทำให้คนรากหญ้าไม่สามารถเข้าถึงการออกกำลังและกิจกรรมนันทนาการได้

2021 ปีที่กีฬา(พยายาม)กลับสู่ภาวะปกติ

การกลับมาของการแข่งขันกีฬารายการต่างๆ หลังการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย มักจะเริ่มด้วยมาตรการจำกัดจำนวนผู้ชมในสนามก่อน และในปี 2021 ที่ผ่านมาการแข่งขันกีฬาในหลายแห่งก็มีจำนวนผู้ชมเต็มความจุของสนามแล้ว | ที่มาภาพ: Bundesliga News (CC)

ปี 2020 ถือว่าเป็นปีแห่งความยากลำบาก เดือน มี.ค. 2020 ถูกเรียกว่า “March of madness” หรือ “มีนาคมแห่งความบ้าคลั่ง” ที่ลีกกีฬาใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกาต้องระงับการแข่งตามกันไปในเวลาเพียงไม่กี่วัน สร้างความโกลาหลขึ้นในวงการกีฬา ส่วนปี 2021 ถูกยกให้เป็นปีแห่ง “การกลับมาสู่ภาวะปกติของวงการกีฬา”

หลังจากมีการทยอยฉีดวัคซีนในทั้งยุโรปและอเมริกา ทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น การแข่งขันหลายอย่างเริ่มอนุญาตให้แฟนๆ เข้ามาชมในสนาม ฟุตบอลยุโรปอย่างพรีเมียร์ลีกอังกฤษเริ่มให้แฟนบอลเข้ามาในสนามตั้งแต่ปลายปี 2020 เช่นเดียวกับลีกต่างๆ ในยุโรปที่เริ่มมีสัดส่วนแฟนเข้าสู่สนามมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแต่สถานการณ์ของแต่ประเทศ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ที่บางสนามอนุญาตให้แฟนบอลเข้ามาในสนามมากถึง 60,000 คน

เมื่อฤดูกาล 2021-2022 เริ่มขึ้น ลีกฟุตบอลในยุโรปต่างอนุญาตให้แฟนเข้ามาชมเกมในสนามมากขึ้นเรื่อยๆ จนก่อนสิ้นปี ทุกลีกสนามให้แฟนบอลเข้าไปในสนามได้เต็มความจุ

เช่นเดียวกันในสหรัฐฯ ที่ลีกกีฬาหลักของประเทศเริ่มเปิดให้มีผู้เข้าชมในสนาม ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 ไม่ว่าจะเป็นลีกใหญ่ๆ อย่าง NBA NFL MLB ไปจนถึงลีกระดับมหาวิทาลัย ที่ต่างทยอยให้แฟนๆ เข้ามาชมในสนาม จนก่อนสิ้นปี 2021 แทบจะทุกลีกกีฬาอาชีพในสหรัฐฯ ที่เปิดให้แฟนเข้าชมเต็มความจุสนาม

ส่วนหนึ่งมาจากความมั่นใจของคนในสหรัฐฯ หลังจากมีการฉีดวัคซีนที่ทั่วถึง การสำรวจของ Morningconsult เผยว่าในช่วงเดือน ม.ค. 2021 มีชาวสหรัฐฯ เพียง 20% ที่รู้สึกปลอดภัยที่จะเข้าไปรับชมเกมกีฬาในสนาม การสำรวจนี้เป็นการสำรวจที่เก็บข้อมูลทุกสัปดาห์ ทำให้เห็นว่าตลอดปี 2021 ชาวสหรัฐฯ เริ่มมั่นใจในการเข้าไปดูกีฬามากขึ้นเรื่อยๆ จนเดือน มี.ค. 2022 ที่ผ่านมาผลสำรวจสูงถึง 50% ที่รู้สึกปลอดภัยกับการไปชมเกมที่สนาม

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ผู้คนเริ่มเชื่อมั่นมากขึ้นทำให้ NBA ในหลายสนามเริ่มผ่อนกฎในการเข้าสนาม บางสนามไม่ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน หรือบางสนามไม่ต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 ในส่วน NFL การประชุมระหว่างลีกกับสมาพันธ์ผู้เล่น ในวันที่ 3 มี.ค. 2021 มีมติออกมาว่าจะยกเลิกมาตราข้อบังคับเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมด เพื่อให้ลีกกลับสู่ความเป็นปกติ 

ปัญหาการไม่ฉีดวัคซีนของนักกีฬาดาวดัง

โนวัค โยคอวิค นักเทนนิสชายเดี่ยวมือหนึ่งของโลกชาวเซอร์เบีย ผู้มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการปฏิเสธฉีดวัคซีนโควิด-19 | ที่มาภาพ: Carine06 (CC BY-SA 2.0)

ถึงวัคซีนจะเป็นสิ่งทำให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นในหลายพื้นที่ ก็ยังมีหลายคนที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีน ด้วยเหตุผลทางทัศนคติต่อวัคซีน ความเชื่อทางศาสนา ความคิดเรื่องสิทธิต่อร่างกาย เช่นเดียวกับในวงการกีฬา แม้การฉีดวัคซีน ทำให้วงการกีฬากลับมาสู่ความเป็นปกติ แต่ก็มีนักกีฬาหลายคนที่ปฏิเสธการนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในวงการกีฬาไปจนถึง ส่งผลกระทบทางสังคมและการเมือง

กรณีที่โด่งดังที่สุดเป็น โนวัค โยคอวิค นักเทนนิสชายเดี่ยวมือหนึ่งของโลกชาวเซอร์เบีย ที่เดินทางมาแข่งขัน Australia Open รายการ Grand Slam แรกของปี 2022 ซึ่งโนวัคคาดหวังจะคว้าแชมป์ Grand Slam ครั้งที่ 21 ของเขา ซึ่งจะกลายเป็นคนที่คว้าแชมป์ Grand Slam ได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์

ในการแข่งขันนี้มีกฎเกณฑ์การเข้าร่วม ไม่ต่างกับการเข้าประเทศออสเตรเลีย ที่บังคับให้ต้องฉีดวัคซีนถึงสามารถเข้าร่วมได้ เว้นแต่ “ขอการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษด้วยเหตุผลทางการแพทย์” ถึงจะเข้าแข่งขันโดยไม่ต้องฉีดวัคซีนได้ ซึ่งโยคอวิคได้ใช้ช่องทางนี้ เอกสารแจ้งความจำนงขอมาแข่งด้วยแม้จะไม่ได้ฉีดวัคซีน และทางผู้จัดการแข่งขันและรัฐวิคตอเรีย ก็อนุญาตให้เข้าแข่งขันได้ ทำให้เขาได้รับวีซ่าเข้าประเทศเป็นกรณีพิเศษ 

เมื่อเรื่องของโยคอวิคเป็นที่รับรู้ของสาธารณะ ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจอย่างมากในหมู่ชาวออสเตรเลีย ซึ่งมองว่าโยคอวิคได้รับอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ทั้งทางออสเตรเลียมีมาตรการที่เคร่งครัดเรื่องการฉีดวัคซีนมาก และการที่โยคอวิคได้รับยกเว้นเพราะความเป็นนักกีฬาซุปเปอร์สตาร์ เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ทัวร์นาเมนต์ได้รับความสนใจ

จนทางนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศจะตรวจสอบเรื่องนี้ ทางโยคอวิคได้เดินทางมาถึงออสเตรเลียในวันที่ 5 ม.ค. 2022 หลังจากนั้นทางด้านออสเตรเลียได้ทำการยกเลิกวีซ่าของเขา เนื่องจากตรวจสอบพบว่าข้ออ้างของเขาไม่เป็นความจริง 

โยคอวิคได้มีการยื่นเรื่องในศาลออสเตรเลีย แต่เรื่องนี้ก็มีขยายกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ ที่หลังจากนั้นมีการเดินขบวนในเซอร์เบีย เนื่องจากไม่พอใจการยกเลิกวีซ่าของออสเตรเลีย และทางประธานาธิบดีเซอร์เบีย ก็ยังเอามาบอกว่าโยคอวิค ถูกล่าแม่มดเนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียทนแรงกดดันของคนในประเทศไม่ไหว โดยหลายฝ่ายรวมทั้งทนายของโยคอวิค เองมองว่าที่รัฐบาลออสเตรเลียพยายามขับไล่โยคอวิค เพราะต้องการสกัดกั้นกลุ่ม Anti-Vaxxers หรือ คนต่อต้านวัคซีน ไม่ให้ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหว

ต่อมาศาลออสเตรเลียตัดสินว่าการยกเลิกวีซ่าของทางการออสเตรเลียไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎแบบปุบปับ โยคอวิค จึงสามารถออกจากโรงแรมที่กักตัวได้ แต่รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองออสเตรเลีย ก็ได้ใช้อำนาจพิเศษของรัฐมนตรี ระงับวีซ่าของโนวัคเป็นรอบที่ 2 สุดท้ายเรื่องก็ขึ้นสู่ศาลอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ศาลได้พิจารณาว่ารัฐมนตรีมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการยกเลิกวีซ่า ทำให้โนวัคต้องเดินทางออกจากออสเตรเลีย ไม่สามารถทำการแข่งได้

หลังจากนั้นทางด้านโยคอวิค ก็ได้ออกมาสัมภาษณ์ว่า "ผมไม่เคยต่อต้านวัคซีนเลย” ไม่ใช่อย่างที่หลายคนโยงเขาเข้ากับกลุ่มต่อต้านวัคซีน และยืนยันว่าเขาเคยฉีดวัคซีนอื่นๆ มาตั้งแต่เด็กๆ เพียงแต่ที่ผ่านมาเขาสนับสนุนสิทธิทางในร่างกายว่าปัจเจกทุกคนควรสามารถเลือกได้ว่าจะนำอะไรเข้าสู่ร่างกาย

กรณีใกล้เคียงการคือ ไครี เออร์วิง การ์ดซุปเปอร์สตาร์ของ Broklyn Nets ทีมใน NBA  ที่ออกมาบอกว่าตัวเขาเองไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการฉีดวัคซีน แต่เขาต้องการเรียกร้องสิทธิในร่างกายให้กับคนอื่น

แม้ทาง NBA จะไม่ได้มีการบังคับให้นักกีฬาทุกคนต้องฉีดวัคซีน แต่ก็ขอร้องให้นักกีฬาทำตามกฎข้อบังคับของเมืองที่เขาเล่นอยู่ ซึ่งช่วงใกล้เปิดฤดูกาล 2021-2022 มีรายงานว่ามีนักกีฬา NBA หลายคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน แต่ด้วยกฎข้อบังคับของเมืองต่างๆ ที่กำหนดให้นักกีฬาในเมืองต้องฉีดวัคซีนถึงจะทำการแข่งขันได้ในเมืองที่ตัวเองอยู่ได้ ส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนใจยอมฉีดวัคซีน 

ยกเว้นแต่เออร์วิง ที่ยืนยันหนักแน่นว่าเขาจะไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งในนิวยอร์คเมืองที่ทีม Broklyn Nets ตั้งอยู่กำหนดชัดเจนว่านักกีฬาที่แข่งขันในร่มทุกประเภท ต้องฉีดวัคซีนถึงจะได้รับอนุญาตให้ทำการแข่งขัน ดังนั้นเออร์วิง จึงไม่สามารถแข่งขันเกมเหย้าในบ้านที่นิวยอร์กได้ แต่สามารถออกไปแข่งขันเกมนอกบ้านในรัฐอื่นๆ ได้ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีข้อกำหนดสำหรับเรื่องวัคซีนสำหรับนักกีฬาทีมเยือน 

ทำให้เออร์วิง ลงแข่งขันได้เฉพาะเกมเยือนที่คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของฤดูกาลทั้งหมด ส่งผลให้เขาต้องสูญเสียเงินรายได้มหาศาล แต่เออร์วิงยังยืนยันจะไม่ฉีดวัคซีน เพราะมองว่าสิ่งที่เขาทำนั้นยิ่งใหญ่กว่าเกมกีฬา เป็นการต่อสู้ให้กับคนที่ถูกเลือกปฏิบัติจากการไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งควรเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล โดยกลุ่มชาวนิวยอร์กที่เดินขบวนต่อต้านการบังคับฉีดวัคซีน ยังได้ยกให้เออร์วิงเป็นฮีโร่ในการเคลื่อนไหว มีการชูป้าย “Stand with Kyrie” ในการเดินขบวนอีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายกรณี ที่เป็นปัญหาของนักกีฬาที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน อย่างใน NFL ที่มีนักกีฬาบางคนใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนปลอมเพื่อทำการลงแข่งขัน

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้แสดงให้ว่า ถึงดูเหมือนวงการกีฬาจะเริ่มกลับมาอยู่ในสถาวะปกติ แต่ก็ยังมีประเด็นอีกมากมายที่ต้องปรับตัวในภาวะหลังโควิด-19

 

ที่มาข้อมูล : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท