Skip to main content
sharethis

กรีนพีซประเทศไทย ชี้ “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไร้ซึ่ง “เจตจำนงทางการเมือง” ในการปกป้องสุขภาพของประชาชนซึ่งหายใจเอามลพิษ PM2.5 เข้าไปทุกวัน” หลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ใช้ร่างมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป

 

13 พ.ค. 2565 กรีนพีซประเทศไทย (Greenpeace) มีคิดความเห็นหลังเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ร่างค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั้งค่าเฉลี่ยรายปี และค่าเฉลี่ย 24 ชม. ตามแผนฝุ่นแห่งชาติที่กำหนดให้ปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป เฉลี่ยรายปี ไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรภายในปีนี้ (2565) และการปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปเฉลี่ย 24 ชม.ให้ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2566

 

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ไม่เหนือความคาดหมายนี้ นอกจากดำเนินการล่าช้าแล้ว ยังเป็นการซื้อเวลาแทนที่จะประกาศให้มีค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และรายปีไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องรีบขยับและปรับปรุงแผนการจัดการฝุ่นให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานใหม่นี้ เห็นได้ชัดว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไร้ซึ่ง “เจตจำนงทางการเมือง” ในการปกป้องสุขภาพของประชาชนซึ่งหายใจเอามลพิษ PM2.5 เข้าไปทุกวัน” อัลลิยากล่าว

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นักกิจกรรมทางสังคม และ นันทิชา โอเจริญชัย เยาวชนนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมเดินทางไปที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีฝุ่น PM2.5 ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการคืนอากาศสะอาดซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน

สำหรับคำขอท้ายฟ้องในคดีฝุ่น PM2.5 มีสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ

  1. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออกหรือแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล(WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  2. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมมลพิษฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนจากโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งกำเนิดอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ในการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ออกสู่สิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
  3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อมให้มีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล
  4. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษ หรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีการรายงานฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบ การปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net