Skip to main content
sharethis

องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ออกแถลงการณ์ย้ำนักข่าวยึดหลักจริยธรรม ปม 'หลวงปู่แสง' - เวิร์คพอยท์ให้นักข่าวพ้นสภาพการเป็นผู้สื่อข่าว - ขณะที่ปมช่อง 5 ปล่อยข้อมูลผิดเกี่ยวกับสงครามยูเครน ร้องกว่า 2 เดือน สภาวิชาชีพฯ ยังไม่มีคำตอบ

 

14 พ.ค.2565 กรณี จีรพันธ์ เพชรขาว หรือหมอปลา มือปราบสัมภเวสี พาสื่อมวลเข้าตรวจสอบพฤติกรรมของ 'หลวงปู่แสง ญาณวโร' พระเกจิชื่อดัง จากประเด็นวิดีโอคลิปที่พระรูปดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศผู้หญิง อย่างไรก็ตามภายหลังการเข้าตรวจสอบของคณะกลับมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ด้านหนึ่งถึงความเหมาะสมในการทำงานของสื่อมวลนั้น จนต่อมา (13 พ.ค.)กองบรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์ แถลงผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว มีความผิดดังนี้ 1. มีกิริยาไม่เหมาะสมไม่เคารพต่อแหล่งข่าว 2. แสดงความไม่เป็นกลางในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 3.ตัดสินใจร่วมกับสื่อสำนักอื่นและแหล่งข่าวในการสร้างหลักฐาน โดยไม่ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาหรือรายงานต้นสังกัด จึงมีมติให้ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวพ้นสภาพการเป็นผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์นั้น

วันเดียวกัน (13 พ.ค.) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วม ระบุว่าได้ติดตามในประเด็นการแสวงหาข้อเท็จจริงของการนำเสนอข่าวนี้ด้วยความห่วงใย ว่าอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพเกินขอบเขตหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งในภายหลัง สำนักข่าวที่เป็นต้นสังกัดของนักข่าวที่ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ออกหนังสือแสดงความขอโทษและตระหนักถึงความผิดพลาดและขออภัยเป็นอย่างสูงต่อผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทุกท่านทุกฝ่าย พร้อมดั่งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมแล้วนั้น

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอให้สำนักข่าวและสถานีต้นสังกัด ใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และใช้ความเข้มงวดในการตรวจสอบข้อมูลอย่างสมดุล รอบด้าน เพื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553 หมวด 4 แนวปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ข้อ 11 การได้มา หรือการนำเสนอหรือการเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พึงใช้วิธีการที่สุภาพ ซื่อสัตย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หรือมีความหมายที่ดูถูก เหยียดหยามผู้อื่น

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่ากรณีการนำเสนอข่าวที่อ้างอิงแหล่งข่าว ข้อมูล หรือแม้แต่ตัวบุคคลที่เป็นที่สนใจของสาธารณชน ได้ส่งผลต่อการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในข้อมูลข่าวสารโดยรวมร่วมกันของทั้งสังคม

และขอให้ผู้รับผิดชอบกองบรรณาธิการได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการตรวจสอบเนื้อหา และแนวทางการปฏิบัติของนักข่าวในสังกัดอย่างเคร่งครัด ไม่ส่งเสริมให้ละเมิดกฎหมายและจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อผลประโยชน์และความนิยมจากการนำเสนอข่าวสาร

จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ควรจะได้มีการศึกษา หาวิธีการแก้ไขป้องกันร่วมกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะนำประเด็นการนำเสนอข่าวในกรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาเพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกันในเร็ว ๆ นี้ จึงขอเชิญเพื่อนร่วมวิชาชีพเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน

(ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์)

ขณะที่ปมช่อง 5 ปล่อยข้อมูลผิดเกี่ยวกับสงครามยูเครน ร้องกว่า 2 เดือน สภาวิชาชีพฯ ยังไม่มีคำตอบ

อย่างไรก็ตาม 'ธีรนัย จารุวัสตร์' อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อและ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้เคยร้องเรียนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กรณีช่อง ททบ.5 เผยแพร่ข้อมูลผิดเกี่ยวกับสงครามยูเครน ตั้งแต่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยล่าสุด 13 พ.ค. เขาระบุอัพเดทความคืบหน้าหลังจากร้องเรียนประเด็นดังกล่าวว่า ถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้มีคำตอบจากสภาวิชาชีพฯใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้สงสัยอย่างยิ่งว่า ทำไมกรณีบุคคลากรช่อง Workpoint 22 ประพฤติไม่เหมาะสมตามหลักจริยธรรม สภาวิชาชีพฯ ดำเนินการได้รวดเร็วมาก แต่พอกรณีบุคคลากรช่อง ททบ.5 ประพฤติไม่เหมาะสมตามหลักจริยธรรม "สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย" เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปเลย

"ผมไม่ได้มีเจตนาร้าย หรือผูกพยาบาท หรืออคติใดๆ ต่อช่อง ททบ.5 หรือพิธีกรสองท่านนั้นเลยนะครับ ในฐานะผมเป็นสื่อเหมือนกัน ผมเข้าใจว่าอาชีพเราผิดพลาดกันได้ครับ ผมทราบข่าวว่าได้มีการตักเตือนกันภายในไปแล้ว พิธีกรทั้งสองท่านก็ขออภัยผู้ชมไปเรียบร้อยแล้ว และเท่าที่ผมติดตาม ช่องททบ.5 และพิธีกรทั้งสองท่าน ไม่ได้กระทำผิดซ้ำในลักษณะนี้อีกเลยตั้งแต่เป็นประเด็นขึ้นมา" ธีรนัย ระบุ

นักข่าวผู้ร้องเรียนรนะบุว่า ตนมีปัญหามากๆ คือท่าทีของ "สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย" โดยหลังแถลงการณ์นี้ออกมา ตนถามย้ำเพื่อหาคำอธิบายเรื่องคำร้องกรณียูเครนในกรุ๊ปไลน์องค์กรวิชาชีพสื่อ ก็ยังไม่ได้คำตอบเหมือนเดิม หรือว่าองค์กรวิชาชีพสื่ออย่าง "สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย" มีสองมาตรฐานในการทำงาน มาตรฐานนึงไว้ใช้กับช่องทีวีเอกชน อีกมาตรฐานนึงไว้ใช้กับหน่วยงานของรัฐ ถึงออกมารูปแบบนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้น ตนคิดว่าเราต้องคำถามจริงๆ จังๆ แล้วนะว่า วงการสื่อมวลชนจะมีองค์กรวิชาชีพสื่อแบบนี้ไปทำไม ในเมื่อท่านได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ท่านไม่สามารถวินิจฉัยประเด็นจริยธรรมในวิชาชีพอย่างเป็นกลางหรือเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง

"นี่ขนาดร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ยังไม่ผ่าน ยังเล่นกันโจ๋งครึ่มแบบนี้ แล้วถ้าร่างกฎหมายนั้นผ่าน มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกันอีก คือกล้าลุยเฉพาะกับช่องเอกชน แต่เกียร์ว่างกับหน่วยงานรัฐ วงการสื่อมวลชนของเราจะอยู่กันยังไงครับ" ธีรนัย โพสต์

ธีรนัย ยังไล่ลำดับเวลาในการร้องเรียนไว้ดังนี้

  • 28 ก.พ. 2565: ช่อง ททบ.5 เผยแพร่คลิปที่เป็นปัญหา
  • 3 มี.ค. 2565: ผมโพสต์เกี่ยวกับคลิปนั้น และเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้องวินิจฉัยว่าผิดจริยธรรมสื่อหรือไม่
  • 8 มี.ค. 2565: อัพเดตที่ไม่ใช่อัพเดต รอบที่ 1 ไม่มีการดำเนินการจากสภาวิชาชีพฯ (ดู)
  • 23 มี.ค. 2565: อัพเดตที่ไม่ใช่อัพเดต รอบที่ 2 ไม่มีการดำเนินการจากสภาวิชาชีพฯ (ดู)
  • 2 เม.ย. 2565: อัพเดตที่ไม่ใช่อัพเดต รอบที่ 3 ไม่มีการดำเนินการจากสภาวิชาชีพฯ (ดู)
  • 12 พ.ค. 2565: มีการเผยแพร่คลิปนักข่าว Workpoint 22 ประพฤติไม่เหมาะสม
  • 13 พ.ค. 2565: สภาวิชาชีพฯ ออกแถลงการณ์ แต่ยังไม่มีการดำเนินการกรณีข่าวยูเครนตามเดิม

หมายเหตุ : 17 พ.ค.2565 เวลา 9.15 น ประชาไทดำเนินการปรับแก้เนื้อหาในส่วน ID ของ ธีรนัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net