'วาด รวี' นักเขียนผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ไชน์เสียชีวิตแล้ว

14 พ.ค. 2565 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เวียง วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการ และเจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชน ได้โพสต์แสดงความอาลัยการจากไปของ นายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี นักเขียนและบรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ไชน์ (Shine Publishing) ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ด้วยรักและอาลัยยิ่ง “เป้” วาด รวี หมายเหตุ : งดตอบคำถามทางกล่องข้อความทุกประการ” โดยมีผู้คนในวงการนักเขียน นักวิชาการ อาจารย์ และสื่อมวลชนเข้ามาแสดงความอาลัยเป็นจำนวนมาก

วาด รวี เป็นนามปากกาของ นายรวี สิริอิสสระนันท์ มีงานเขียน งานแปล และบทความหลายสิบเล่ม เคยเป็นบรรณาธิการวารสารหนังสือใต้ดิน เคยเป็นกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ก่อนที่จะขอลาออก พร้อมคำประกาศไม่เป็นกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมใด ๆ อีกตลอดชีวิต รวมไปถึงการมีบทบาทเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองด้วย

ปี 2554 เป็น 1 ในคณะนักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยหัวก้าวหน้า 7 คน ประกอบด้วย บินหลา สันกาลาคีรี, ปราบดา หยุ่น, ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง, ซะการีย์ยา อมตยา, กิตติพล สรัคคานนท์ และ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ เพื่อเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอน เสรีภาพในการแสดงออก และการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

สำหรับกำหนดการพิธีสวดพระอภิธรรม นายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี จัดขึ้นที่วัดด่าน (พระราม 3) กรุงเทพฯ ศาลา 2 ระหว่างวันเสาร์ที่ 14 พ.ค. ถึงวันจันทร์ที่ 16 พ.ค. เวลา 17.30 น. และมีพิธีฌาปนกิจวันอังคารที่ 17 พ.ค. 2565 เวลา 14:00 น.

ด้านคณะก้าวหน้า ได้แสดงความรำลึก - อาลัย 'วาด รวี' ไว้ดังนี้

ข่าวเศร้าในเช้าวันหยุด คือ การจากไปของ "วาด รวี" อันเป็นนามปากกาของ รวี สิริอิสรนันท์ นักเขียน บรรณาธิการ และนักต่อสู้ฝ่ายประชาธิปไตยคนสำคัญ

สำหรับนักอ่านหนังสือ สำหรับคอวรรณกรรมสร้างสรรค์น้อยรายนักที่จะไม่เคยได้ยินชื่อนี้

วาด รวี ในวัยหนุ่มก็เหมือนนักกิจกรรมทั่วไป คือแม้เรียนคณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงินการธนาคาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค แต่เขาก็ไม่ค่อยเข้าห้องเรียน สนใจไปทำกิจกรรมข้างนอกมากกว่า เขาผ่านงานสารพัดไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยช่างภาพในสตูดิโอ เป็นช่างถ่ายภาพ และที่สุดก็มาเริ่มต้นเขียนหนังสือ โดยเรื่องสั้นเรื่องแรก "แจ้งเกิด" ได้รับการตีพิมพ์กับวารสารช่อการะเกด ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง เป็นบรรณาธิการ

จากนั้น นามปากกา วาด รวี ก็เริ่มมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการที่เขาเลิกเรียนมาเขียนหนังสืออย่างเดียว

วาด รวี ร่วมบริหารทำกิจกรรมในนามสำนักหนังสือใต้ดิน ซึ่งสำนักนี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตฟองสบู่ปี 2540 โดย เวียง-วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน สนับสนุน ให้ วาด รวี ทำหน้าที่บริหารสำนักพิมพ์ และเป็นบรรณาธิการวารสารหนังสือใต้ดิน ที่เกิดขึ้นมาเพื่ออยู่คู่กับร้านหนังสือใต้ดิน ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของโรงหนังสยาม ในย่านสยามสแควร์ ในยุคสมัยที่นิตยสารและวงการหนังสือกลังกลับมาคึกคัก และเหล่านี้เป็นสิ่งที่ "อินดี้" ของกระแสอินดี้ในยุคนั้น

วารสารหนังสือใต้ดินเปลี่ยนมือไปให้คนอื่นทำต่อ หรือบางช่วง วาด รวี ก็กลับมาทำเองอีกครั้ง แต่ในที่สุดแล้วก็ปิดตัวไปอย่างถาวรหลังจากออกเล่มสุดท้าย ปก "ไม้หนึ่ง ก. กุนที" เมื่อกลางปี 2558 ขณะที่วาด รวี ตลอดช่วงที่ผ่านมาเขาก็ได้มาทำสำนักพิมพ์ของตัวเองชื่อ สำนักพิมพ์ไชน์ (Shine Publishing )

สำนักพิมพ์ไชน์ พิมพ์งานวรณกรรมสร้างสรรค์ทั้งงานแปลและนักเขียนไทย และเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ห้วงยามแห่งความขัดแย้ง ก็เพิ่มเติมด้วยงานเขียนเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง บทสัมภาษณ์ งานวิชาการ เช่นของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นต้น

รวมถึงบทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทย ซึ่งเป็นงานเขียนของเขาเอง เช่น วิกฤต 19: ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน - 19 พฤษภาคม 2553, ภูเขาน้ำแข็ง, การเมืองโมเบียส, และล่าสุด โอลด์ รอยัลลิสต์ ดาย

สำหรับในแวดวงนักกิจกรรม นักต่อสู้ฝ่ายประชาธิปไตย วาด รวี มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ข้อเสนอแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 เริ่มต้นโดยอาจารย์กลุ่ม "นิติราษฎร์"  ขณะที่การณรงค์เข้าชื่อก็รับลูกเข้าต่อโดยภาคประชาชน

วาด รวี เป็น 1 ใน 7 นักเขียน/กวี ประกอบด้วย บินหลา สันกาลาคีรี, ปราบดา หยุ่น, ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง, ซะการีย์ยา อมตยา, กิตติพล สรัคคานนท์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และตัวเขาเอง เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ“ขอเชิญร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง”

จากนั้นในท้ายจดหมายก็มีผู้ลงชื่อสนับสนุนเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ อาทิ คำสิงห์ ศรีนอก หรือ ลาว คำหอม, สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สุจิตต์ วงษ์เทศ, วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นต้น

และในที่สุดก็มีการก่อตั้ง คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 เพื่อรณรงค์เข้าชื่อเสนอ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฉบับ "นิติราษฎร์"

วาด รวี ถือเป็นกำลังสำคัญในการเดินทางไปรณรงค์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายนี้ เขาและผองเพื่อนเดินทางจากเหนือสุดจรดใต้สุด ตะวันออกสุดจรดตะวันตกสุด และด้วยระยะเวลาแคมเปญที่ตั้งไว้ 112 วัน ในที่สุดก็ได้รายชื่อมาถึง 39,185 รายชื่อ และเมื่อคัดแยกรายชื่อที่ซ้ำหรือเอกสารไม่ครบออกแล้ว เหลือรายชื่อที่สมบูรณ์นำมายื่นต่อรัฐสภาได้ทั้งหมด 26,968 รายชื่อ ซึ่งถือว่าไม่ง่ายเลยกับจำนวนนี้ในยุคสมัยนั้น

แต่ก็น่าเสียดาย ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกบรรจุในวาระใด ไม่ได้เข้าสู่การอภิปรายถกเถียงกันในเวทีสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในขณะนั้น ระบุว่า “ร่าง พ.ร.บ.แก้ ป.มาตรา 112 ไม่ใช่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ"

ในช่วงการชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษาประชาชน รอบล่าสุดที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2563 และมีข้อเสนอเรื่อง "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" เขาก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมและสนับสนุนการชุมนุมในครั้งนี้

“ผมอยู่ในฝ่ายคนที่ผลักดันเรื่องนี้ให้เปลี่ยนแปลง ต้องเผชิญกับข้ออ้างมาตลอดว่ายังเปลี่ยนไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลา ถึงตอนนี้มันสะท้อนแล้วว่า ที่ผ่านมาเราคิดถูก ในแง่ที่ว่ามันเปลี่ยนได้ เสียงของคนจำนวนมากมันทำให้บรรยากาศเปลี่ยนได้ มันเปลี่ยนได้ด้วยทุกอย่างที่เราพูดออกมา ทำให้มันออกมาเหมือนเรื่องอื่นๆ ผมเชื่อแบบนี้มานานแล้ว”

บางตอนจากบทสัมภาษณ์ของเขา ซึ่งน่าจะเป็นห้วงเวลาที่กระแสเกี่ยวกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทะยานมาสู่จุดสูงสุด ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะถูกปราบ ถูกรัฐใช้กกฎหมายเล่นงานอย่างหนัก มาจนกระทั่งตอนนี้

คณะก้าวหน้า ขอร่วม รำลึก - อาลัย นักเขียน/บรรณาธิการ นักสู้เพื่อประชาธิปไตย "วาด รวี"

#คณะก้าวหน้า #วาดรวี #RIP

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท