ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกร้อนชี้ประเทศซีกโลกใต้แบกรับผลกระทบหนัก ในอินเดียถึงขั้นนกร่วงจากฟ้า

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าวิกฤตภูมิอากาศหรือวิกฤตโลกร้อนสร้างความเสียหายต่อกลุ่มประเทศโลกทางใต้หนักมาก ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติต่างๆ รวมถึงภาวะคลื่นความร้อน ที่ทำให้คนเสี่ยงป่วยและเสียชีวิตจากโรคลมแดดหรือ "ฮีทสโตรก" นอกจากนี้ภาวะร้อนจัดในบางพื้นที่ของอินเดียยังถึงขั้นส่งผลให้นกตกลงมาจากฟ้าเพราะความเหนื่อยล้าและขาดแคลนน้ำอีกด้วย

อินเดียร้อนจัด ทำเอานกหลายสิบตัวร่วงลงมาจากฟ้าด้วยความเหนื่อยล้าและอยู่ในภาวะขาดน้ำเพราะปรากฏการณ์ "คลื่นความร้อน" ทำให้แหล่งน้ำแห้งเหือดในเมืองอัห์มดาบาตของรัฐคุชราต

สื่อยูโรนิวส์รายงานว่าพื้นที่จำนวนมากในเอเชียใต้กำลังประสบภัยแล้งในช่วงไม่กี่เดือนนี้ซึ่งมีอากาศร้อนที่สุดเทียบกับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดียเตือนว่าอาจจะเกิดความเสี่ยงจากอัคคีภัยมากขึ้น

หมอในโรงพยาบาลสัตว์ที่บริหารจัดการโดยกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร ชีวดายา แชริเทเบิล ทรัสต์ ในอัห์มดาบาตกล่าวว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาต้องทำการรักษานกจำนวนหลายพันตัว และบอกอีกว่าคนที่ช่วยชีวิตนกนำนกที่บินได้สูงอย่างนกพิราบและนกเหยี่ยวไคทหลายสิบตัวมารับการรักษาพยาบาลทุกวัน

สัตวแพทย์เหล่านี้ต้องคอยช่วยเหลือพวกนกด้วยการให้เม็ดวิตามินรวมและใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำเข้าที่ปากนกพวกนี้ มาโนช ภาวษา คนที่ทำงานในมูลนิธิดูแลช่วยเหลือนกในอินเดียมามากกว่าสิบปีแล้วบอกว่า ปีนี้เป็นหนึ่งในปีที่มีสภาพการณ์ย่ำแย่ที่สุด มีจำนวนนกที่ต้องรับการช่วยเหลือมากขึ้นร้อยละ 10

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของคุชราตก็มีคำแนะนำต่อโรงพยาบาลในพื้นที่ว่า พวกเขาควรจะเตรียมตัวตั้งวอร์ดเพื่อรับมือรักษาคนไข้โรคลมแดดหรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความร้อนเนื่องจากภาวะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากกรณีนกแล้ว ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของอินเดีย ยังเคยมีกรณีที่คลื่นความร้อนทำให้ผู้คนเสียชีวิตอย่างน้อย 25 ราย จากการรวบรวมสถิติตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเปิดเผยว่าสาเหตุของการเสียชีวิต "น่าจะมาจากโรคลมแดด" ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในชนบท ทั้งนี้ยังมีการประเมินว่าอาจจะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุเดียวกันในที่อื่นๆ ของอินเดียจากการที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยที่ในรัฐโอฑิศาในปีนี้เคยมีระดับอุณหภูมิสูงถึง 43.2 องศาเซลเซียส

โรคลมแดด หรือ "ฮีทสโตรก" นั้นเกิดขึ้นจากการเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัด จนทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมความร้อนภายในร่างกายได้ อาการที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้เป็นฮีทสโตรกคือ ตัวร้อน, อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส, หน้ามืด, เพ้อ, กระสับกระส่าย, มึนงง, หายใจเร็ว, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปจนถึง ชักเกร็ง หรือกระทั่งหมดสติได้ วิธีการป้องกันคือการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแดดในช่วงร้อนจัด การอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก สวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ และการดื่มน้ำมากๆ ถ้าหากผู้ป่วยอาการแย่ลงเรื่อยๆ ควรทำส่งโรงพยาบาล

เมื่อไม่นานนี้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกร้อนยังเปิดเผยอีกว่าประเทศโลกทางใต้เผชิญผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรงมาก โดยยกตัวอย่างกรณีของอินเดียกับปากีสถานที่ภาวะคลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถทำงานข้างนอกอาคารได้ ส่งผลให้ผู้คนเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและแม้กระทั่งเสียชีวิต

ซาลีมูล ฮัค ผู้อำนวยการศูนย์นานาชาติเพื่อกรณีวิกฤตภูมิอากาศและการพัฒนา (ICCCAD) กับโมฮัมเหม็ด อาโดว์ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งองค์กรพาวเวอร์ชิฟต์แอฟริกา เปิดเผยในบทความว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนยังส่งผลต่อประเทศอย่างเคนยาคือทำให้เกิดภาวะภัยแล้งเป็นเวลานาน และส่งผลต่อบังกลาเทศทำให้มีปัญหาพายุฝนจนเกิดน้ำท่วมหนักและบ้านเรือนของผู้คนหลายล้านคนถูกทำลาย ฮัคและอาโดว์บอกว่าเรื่องแบบนี้กำลังกลายเป็นเรื่องที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศโลกทางใต้ ทำให้ประชากร 3,600 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ต้องแบกรับผลกระทบจากโลกร้อน

ฮัค และ อาโดว์ ระบุเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีอำนาจมากกว่า มีความมั่งคั่งมากกว่า และมีความรับผิดชอบต่อวิกฤตภูมิอากาศมากกว่าควรจะช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศ ถึงแม้ว่าในการประชุมหารือเรื่องโลกร้อนในหลายเวทีช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีการวางเป้าหมายแและช่วยทำให้สถานการณ์แย่น้อยลงบ้าง แต่เมื่อพิจารณาจากระดับความรุนแรงของผลกระทบที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญแล้ว ยังถือว่ามีความก้าวหน้าไม่มากพอ

ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนระบุว่า ประเทศพัฒนาแล้วควรมีการให้งบประมาณประเทศกำลังพัฒนาในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตภูมิอากาศในประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ เช่น ประเทศที่เป็นหมู่เกาะซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียพื้นดินจากภาวะที่น่ำทะเลมีระดับสูงขึ้น โดยมีการยกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณีที่สก็อตแลนด์ และ แคว้นวอลลูน ของเบลเยียม ให้งบประมาณช่วยเหลือเหยื่อผู้ประสบภัยจากภาวะวิกฤตภูมิอากาศ

เรียบเรียงจาก
Climate change is devastating the Global South, Aljazeera, 11-05-2022

Birds are falling from the sky as severe heatwave scorches India, Euro News, 12-05-2022

Extreme heat kills at least 25 in India’s Maharashtra state, Aljazeera, 03-05-2022

Heat Stroke: Symptoms and Treatment, WebMD

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนช่วงหน้าร้อน ระวังป่วยโรคฮีทสโตรก, กรมควบคุมโรคกระทรวงสาะารณสุข, 10-03-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท