Skip to main content
sharethis

จากกรณีดาราฮอลลีวู้ด 'รัสเซล โครว์' ที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทย ถ่ายภาพเสาไฟของไทยซึ่งมีสายพันรุงรังจนเกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย โดยในเวลาต่อมาการไฟฟ้านครหลวงได้ออกมาปฏิเสธว่าสายที่ปรากฏในภาพนั้นเป็นสายสื่อสาร ไม่ใช่สายไฟของการไฟฟ้านครหลวง 'Rocket Media Lab' ชวนเดินทางสำรวจว่าถนนเส้นไหนเอาสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินบ้าง

ที่มาภาพ: kmarius

  • สายระโยงระยางที่เราเห็นอยู่บนเสาไฟฟ้ามี 3 แบบ คือสายไฟฟ้ารับผิดชอบโโย กฟน. สายสื่อสารของบริษัทเอกชน รับผิดชอบโดย กสทช. และสายสื่อสาร CCTV รับผิดชอบโดย กทม.
  • การนำสายไฟฟ้าลงดินของ กฟน. เริ่มตั้งแต่ปี 2527 โดยโครงการแรกที่มีการนำสายไฟฟ้าลงดิน คือโครงการสีลม 
  • นอกจากการนำสายสื่อสารลงดินไฟพร้อมกับโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว โครงการนำสายสื่อสารลงดินเพิ่งจะเริ่มทำเมื่อปี 2560 นี่เอง 
  • ในขณะที่ กทม. เพิ่งจะปรากฏโครงการการนำสายสื่อสาร CCTV ลงดินพร้อมงบประมาณในข้อบัญญัติงบประมาณปี 2562  
  • ก่อนหน้านี้การนำสายสื่อสารลงดินเป็นงบฯ ของ อปท. แต่ล่าสุดรัฐบาลเล็งรับเป็นเจ้าภาพในการนำสายสื่อสารลงดินทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอใช้เงินจากกองทุน USO 
  • กฟน.ได้นำสายไฟฟ้าลงดินเสร็จสิ้นไปแล้ว 6 โครงการ ก็คือ สีลม จิตรลดา ปทุมวัน พหลโยธิน, พญาไท, สุขุมวิท รวม 46.6  กม.
  • การนำสายสื่อสารลงดินของ กสทช. จำนวน 72 เส้นทาง เสร็จสิ้น 48 เส้นทาง 70.992 กม.
  • การนำสายสื่อสารลงดินของสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร 36 เส้นทาง เสร็จสิ้น 11 เส้นทาง

จากกรณีดาราฮอลลีวู้ด รัสเซล โครว์ ที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทย ถ่ายภาพเสาไฟของไทยซึ่งมีสายพันรุงรังจนเกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย โดยในเวลาต่อมาการไฟฟ้านครหลวงได้ออกมาปฏิเสธว่าสายที่ปรากฏในภาพนั้นเป็นสายสื่อสาร ไม่ใช่สายไฟของการไฟฟ้านครหลวง 

Rocket Media Lab ชวนเดินทางสำรวจว่าถนนเส้นไหนเอาสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินบ้าง

สายไฟฟ้า 

บนเสาไฟฟ้าต้นหนึ่ง (ถนนบางเส้นแยกกันระหว่างเสาไฟฟ้าที่ให้ไฟส่องสว่างกับเสาไฟฟ้าที่เป็นตัวพาดสายไฟ) ประกอบไปด้วยสายไฟหลายแบบด้วยกัน หากเป็นสายไฟฟ้าก็จะมีสายไฟฟ้าแรงสูงที่อยู่ด้านบนสุด ต่ำลงมาก็คือสายไฟฟ้าแรงต่ำ ในกรุงเทพฯ รับผิดชอบโดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในต่างจังหวัดรับผิดชอบโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 

และที่เรามักเห็นเป็นเส้นม้วนระโยงระยางเป็นวงกลมอยู่ตามเสาไฟฟ้าที่กลายมาเป็นดราม่าอยู่บ่อยๆ นั้นก็คือสายสื่อสาร ซึ่งมีทั้งสาย CCTV (กล้องวงจรปิดและกล้องจราจร) รับผิดชอบโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสายสื่อสาร ทั้งสายโทรศัพท์, อินเทอร์เน็ต, เคเบิ้ลทีวี ซึ่งรับผิดชอบโดย กสทช. เช่าการพาดสายโดยจ่ายค่าเช่าให้ กฟน. 

สำหรับการนำสายไฟฟ้าลงดินนั้น กฟน.ริเริ่ม “โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน” ในพื้นที่ที่มีความสำคัญ ในแผนฉบับที่ 5 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 โดยในช่วงแรกนั้นวางไว้ 10 โครงการ ได้แก่  สีลม, ปทุมวัน, จิตรลดา, พหลโยธิน, พญาไท, สุขุมวิท (บางส่วน), นนทรี, พระราม 3, รัชดาภิเษก-อโศก และ รัชดาภิเษก-พระราม 9

แต่โครงการแรกที่มีการอนุมัติงบประมาณและลงมือทำก็คือถนนสีลม ความยาว 2.7 กม. โดยเริ่มต้นทำในปีพ.ศ.2527 และเสร็จสิ้นในปีพ.ศ. 2531 ตามมาด้วยโครงกรปทุมวัน 6.7 กม. (2535-2550) โครงการจิตรลดา 6.8 กม. (2539-2550) โครงการพหลโยธิน 8 กม. (2547-2557) โครงการพญาไท 3.8 กม. (2547-2557)  และโครงการสุขุมวิท (บางส่วน) 7 กม. (2547-2557) 

จากนั้นในปีพ.ศ. 2551 กฟน.ก็ได้มีการจัดทำแผนงานเปลี่ยนระบบสายฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน (2551-2556) อีก 3 โครงการคือ ปทุมวัน จิตรลดา, พญาไท (เพิ่มเติม) 25.2 กม. โดยเพิ่มเติมจากโครงการเดิม สุขุมวิท (ที่เหลือ) พระราม 3 และนนทรี ตามมาด้วยโครงการรัชดาภิเษก – อโศก และโครงการ รัชดาภิเษก – พระราม 9 ระยะทาง 22.5 กม. ในปีพ.ศ.2555 จากนั้นในปีพ.ศ.2557 ก็มีแผนโครงการสายไฟฟ้าลงดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ตามมาด้วยโครงการสายไฟฟ้าลงดินตามแนวรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ในปีพ.ศ.2558

ก่อนที่ในปีพ.ศ. 2558 จะมีการทบทวนแผนเดิมและเปลี่ยนเป็นแผนงานใหม่เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนระยะทางรวม 261.6 กม. วงเงิน 143,092 ล้านบาท (ระยะที่ 1 จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทางรวม 127.3 กม.) จากนั้นในปีพ.ศ. 2559 จึงมีความคิดเพื่อบูรณาการการนำทั้งสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน เพื่อรองรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน อันเป็นแผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปีซึ่งริเริ่มมาจากมรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อครั้งทำงานเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีการเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง กสทช., กฟน., ทีโอที, สตช, กทม. เพื่อดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน

โดยหลังจากมีการเปลี่ยนแผนใหม่เพื่อรองรับการเป็นมหานครอาเซียน กฟน. จึงนำเอาแผนเดิมมาปรับปรุงในปีพ.ศ. 2560 เป็นแผนงานเปลี่ยนระบบสายฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งในปีเดียวกัน ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการตามแผนจากปี 2558 วงเงิน 9,088.8 ล้านบาท

ต่อมา ในปีพ.ศ. 2561 คสช. ก็ได้อนุมัติแผนพัฒนา 10 ปี (2559-2568) ในการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินใน 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ 88.1 กม. สมุทรปราการ 25.7 กม. นนทบุรี 13.5 กม. วงเงิน 48,717 ล้านบาท และในปีเดียวกันนี้ยังปรากฏแผนงานสายไฟฟ้าลงดินโครงการสายไฟฟ้าลงดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูอีกด้วย จากนั้นในปีพ.ศ. 2562 กฟน.ก็ได้นำเสนอแผนงานเปลี่ยนระบบสายฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มเติม เป็นฉบับเร่งรัด (Quick Win) ใน 3 เส้นทางตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงและเขียว ระยะทาง 20.5 กม. วงเงิน 3,673.40 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแผนล่าสุด ณ ปัจจุบันนี้

จากปีพ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบัน เฉพาะในส่วนของกรุงเทพมหานคร กฟน.ได้นำสายไฟฟ้าลงดินเสร็จสิ้นไปแล้ว 6 โครงการ ก็คือ สีลม จิตรลดา ปทุมวัน พหลโยธิน, พญาไท, สุขุมวิท รวม 46.6  กม. 

โดยโครงการที่ยังคงดำเนินการอยู่ก็คือ โครงการนนทรี, พระราม 3, รัชดาภิเษก-อโศก, รัชดาภิเษก-พระราม 9, โครงการสายไฟฟ้าลงดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง,โครงการสายไฟฟ้าลงดินตามแนวรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล,โครงการสายไฟฟ้าลงดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู, โครงการมหานครอาเซียน,โครงการ Quick Win และเตรียมวางแผนเส้นทางแผนงานเปลี่ยนระบบสายฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 2 ระยะทาง 134.3 กม. ที่เหลือ

สายสื่อสาร

การนำสายสื่อสารลงดินนั้น ในช่วงแรกเป็นผลพวงมาจากโครงการริเริ่ม “โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน” ของ กฟน. เนื่องด้วยสายสื่อสารนั้นพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าที่ กฟน.รับผิดชอบอยู่แล้ว และการนำสายไฟฟ้าลงดินนั้น กฟน.ต้องมีการหักเสา จึงทำให้มีการนำสายสื่อสารลงดินไปด้วย เช่น โครงการสีลม 

แต่หากเป็นโครงการการนำสายสื่อสารลงดินโดยตรงนั้น เกิดขึ้นจากแผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปีเพื่อเป็นมหานครอาเซียน ซึ่งริเริ่มมาจาก มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อครั้งทำงานเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร โดยได้มีการเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างกสทช., กฟน., ทีโอที, สตช, กทม. ในปีพ.ศ. 2559

แผนแรกที่เกิดขึ้นภายใต้การทำแผนของ กสทช. ก็คือ แผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน พ.ศ.2559-60 โดยเป็นการสำรวจเส้นทางที่นำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว แต่ยังไม่ได้นำสายสื่อสารลงดิน จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทาง รวม 3.7 กิโลเมตร ต่อมาคือแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในปี 2560 จำนวน 4 โครงการ 9 เส้นทาง และแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารในซอยพหลโยธิน 8 (ซอยสายลม)

ตามมาด้วยแผนในปีพ.ศ.2561 ประกอบด้วย 5 เส้นทาง ระยะทาง 4.4 กม. เส้นทางจัดระเบียบสายสื่อสารเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 7 กม. และเส้นทางจัดระเบียบสายสื่อสารของการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 23 เส้นทาง ระยะทาง 45 กม.

นอกจากนี้ในปีพ.ศ.2561 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักจราจรและขนส่ง ยังได้มีแผน “การนำสายสื่อสารลงดินตามโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง” ออกมาจำนวน 39 เส้นทาง โดยจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นแผนของกสทช.หรือแผนของกทม. เส้นทางการนำสายสื่อสารลงดินล้วนแล้วแต่ดำเนินตามแผนการนำสายไฟฟ้าลงดินของกฟน.ทั้งสิ้น เนื่องด้วยสายสื่อสารนั้นพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าของ กฟน. จึงเป็นการง่ายในการทำงานหากจะดำเนินงานตามเส้นทางที่ กฟน.ทำไว้แล้วหรือกำลังดำเนินการอยู่

จากนั้นในปีพ.ศ. 2562 กสทช.นำเสนอแผนการนำสายสื่อสารลงดิน 26 เส้นทาง ระยะทาง 12.605 กม. และสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานครเองก็ปรากฏแผนพร้อมงบประมาณในการนำสายสื่อสารลงดินในปีพ.ศ. 2562 นี้ 8 โครงการ 12 เส้นทาง ในปีพ.ศ.2563  กสทช.นำเสนอแผนการนำสายสื่อสารลงดิน 12 เส้นทาง ระยะทาง 48.7 กม. และที่ยังทำไม่เสร็จในปี 2562 อีก 8 โครงการ ส่วนสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมานคร มีแผนและงบประมาณนำสายสื่อสารลงดินในปีพ.ศ.2563  จำนวน 13 โครงการ จำนวน 31เส้นทาง (เป็นงบฯ ต่อเนื่องจากปี 2562 จำนวน7 เส้นทาง) 

และในปีพ.ศ.2564 กสทช. นำเสนอแผนการนำสายสื่อสารลงดินในเส้นทางที่ไม่สามารถนำสายลงใต้ดินได้ในเขตการไฟฟ้านครหลวง ในปี 2563 จำนวน 4 โครงการ เส้นทางเดิมจากปี 2563 12 เส้นทาง และแผนภายใต้มหานครอาเซียน 3 โครงการ (เป็นเส้นทางซ้ำกับ กทม.) และสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร มีแผนและงบประมาณการนำสายสื่อสารลงดิน 8 โครงการ 23 เส้นทาง (เป็นงบฯ ต่อเนื่องจากปี 2563 ทั้ง 23 เส้นทาง และมี 6 เส้นทางเป็นงบฯ ต่อเนื่องไปถึงปี 2565) 

ถนนเส้นไหนนำ ‘สายไฟฟ้า’ ลงดินบ้าง

หากพิจารณาเฉพาะการนำสายไฟฟ้าลงดินของกฟน. จะพบว่าจนถึงปัจจุบันเส้นทางที่มีการนำสายไฟฟ้าลงดินเสร็จสิ้นมี 7 โครงการ ได้แก่

  1. โครงการสีลม รวม 2.7 กม.
  • ถนนสีลม (จากแยกเจริญกรุง - แยกศาลาแดง)
  1. โครงการปทุมวัน  รวม 6.7 กม.
  • ถนนพระรามที่ 4 (จากหน้าอาคารโอลิมเปีย - สี่แยกสามย่าน)
  • ถนนพญาไท (จากสี่แยกสามย่าน - สี่แยกราชเทวี)
  • ถนนพระรามที่ 1 (จากสี่แยกปทุมวัน - สี่แยกราชประสงค์)
  • ถนนเพลินจิต (จากสี่แยกราชประสงค์ - ทางรถไฟ)
  • ถนนราชดําริ (จากเชิงสะพานเฉลิมโลก - สี่แยกศาลาแดง)
  1. โครงการจิตรลดา รวม 6.8 กม.
  • ถนนพระราม 6 (จากถนนเพชรบุรี - ถนนราชวิถี)
  • ถนนศรีอยุธยา (จากถนนพระราม 6 - ถนนสวรรคโลก)
  • ถนนราชวิถี (จากถนนพระราม 6 - ถนนสวรรคโลก)
  • ถนนสวรรคโลก (จากถนนราชวิถี - ถนนสุโขทัย)
  • ถนนสุโขทัย (จากถนนสวรรคโลก - ถนนพิชัย)
  • ซอยสุโขทัย 3 (ตลอดซอย)
  • ถนนพิชัย (จากถนนสุโขทัย - ถนนราชวิถี)
  • ถนนอู่ทองใน (จากถนนราชวิถี - ถนนราชดําเนินนอก)
  • ถนนราชดําเนินนอก (จากถนนอู่ทองใน - ถนนพิษณุโลก)
  • ถนนพิษณุโลก (จากถนนราชดําเนินนอก - ถนนพระราม 6)
  • ถนนนครสวรรค์ (จากถนนพิษณุโลก - คลองผดุงกรุงเกษม)
  1. โครงการพหลโยธิน รวม 8 กม.
  • ถนนพหลโยธิน (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - ถนนลาดพร้าว)
  • ถนนประดิพัทธ์ (จากถนนพหลโยธิน - ถนนพระราม6)
  • ถนนวิภาวดีรังสิต (จากบริษัทการบินไทยจํากัด - ซ.เฉยพวง และซ.เฉยพ่วง)
  • ซ.แยกถนนพหลโยธิน คือ ซ.พหลโยธิน 7 และ8
  1. โครงการพญาไท รวม 3.8 กม.
  • ถนนพญาไท (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - ถนนเพชรบุรี)
  • ถนนโยธี (จากถนนพญาไท - ซอยเสนารักษ์)
  • ถนนศรีอยุธยา (จากถนนพญาไท - ถนนราชปรารภ)
  • ถนนเพชรบุรี (จากถนนพญาไท - ถนนบรรทัดทอง)
  1. โครงการสุขุมวิท รวม รวม 12.6 กม.
  • ถนนสุขุมวิท (จากถนนเพลินจิต - ซอยสุขุมวิท 81)
  • ซอยแยกถนนสุขุมวิท คือ ซอยสุขุมวิท 3, 15, 18, 20, 22, 24, 31 และ 33
  1. โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) รวม 6 กม.
  • ถนนโยธี (ซอยเสนารักษ์ – ถนนพระราม 6)
  • ถนนศรีอยุธยา (แยกพญาไท – ซอยศรีอยุธยา 7)
  • ถนนเพชรบุรี (แยกบรรทัดทอง – แยกอุรุพงศ์)
  • ถนนราชปรารภ (แยกประตูน้ำ – แยกศรีอยุธยา)
  • ถนนพระรามที่ 1 (แยกปทุมวัน – เชิงสะพานกษัตริย์ศึก)
  • ถนนราชวิถี (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - ถ. พระราม 6)

โดยในส่วนที่ยังดำเนินการอยู่ มีดังนี้

  • โครงการนนทรี รวม 8.3 กม.
  • โครงการพระราม 3 รวม 10.9 กม.
  • โครงการรัชดาภิเษก-อโศก รวม 8.2 กม.
  • โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 รวม 14.3 กม.
  • โครงการสายไฟฟ้าลงดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง 2557
  • โครงการสายไฟฟ้าลงดินตามแนวรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล 2558
  • โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 1 จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทางรวม 127.3 กม.
  • โครงการสายไฟฟ้าลงดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู 2561
  • โครงการเปลี่ยนระบบสายฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับเร่งรัด (Quick Win) จำนวน 3 เส้นทางตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงและเขียว ระยะทาง 20.5 กม.
  • โครงการเปลี่ยนระบบสายฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 2 ระยะทาง 134.3 กม.

ถนนเส้นไหนนำ ‘สายสื่อสาร’ ลงดินบ้าง 

หากพิจารณาเฉพาะการนำสายสื่อสารลงดิน โดยไม่นับรวมเส้นทางที่ถือเป็นผลพลอยได้จากโครงการริเริ่มนำสายไฟฟ้าลงดินของกฟน.ที่ทำให้มีการนำสายสื่อสารลงดินพร้อมไปด้วยในช่วงแรก 5 โครงการนั้น สามารถแยกพิจารณาเป็นรายปีและแยกตามแผนของ กสทช. และสำนักจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ได้ดังนี้

ปี 2560

ในแผนการนำสายสื่อสารลงดินปีพ.ศ. 2560 ของ กสทช. ประกอบไปด้วย

แผนที่หนึ่ง การนำสายสื่อสารลงใต้ดินปี 2559 – 2560 ในเส้นทางที่นําสายไฟฟ้าลงใต้ดินเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำสายสื่อสารลงได้ในปี 2559 จํานวน 5 เส้นทาง ระยะทาง รวม 3.7 กิโลเมตร ประกอบด้วย

  • ถนนโยธี (ซอยเสนารักษ์ – ถนนพระราม 6)
  • ถนนศรีอยุธยา (แยกพญาไท – ซอยศรีอยุธยา 7)
  • ถนนเพชรบุรี (แยกบรรทัดทอง – แยกอุรุพงศ์)
  • ถนนราชปรารภ (แยกประตูน้ำ – แยกศรีอยุธยา)
  • ถนนพระราม 1 (แยกปทุมวัน – เชิงสะพานกษัตริย์ศึก)

แผนที่สองคือ การนำสายสื่อสารลงใต้ดินปี 2560 จำนวน 4 โครงการ 9 เส้นทาง ระยะทางรวม 40.6 กม.ประกอบด้วย

  1. โครงการจิตรลดา
  • ถนนพิษณุโลก (แยกพาณิชยการพระนคร–แยกยมราช)
  1. โครงการพหลโยธิน
  • ถนนประดิพัทธ์ (แยกประดิพัทธ์ – แยกสะพานควาย)
  • ถนนพหลโยธิน (แยกลาดพร้าว –อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
  1. โครงการพญาไท
  • ถนนพญาไท (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – แยกปทุมวัน)
  • ถนนศรีอยุธยา (ถนนพญาไท – ถนนราชปรารภ)
  • ถนนโยธี (ถนนพญาไท – ซอยเสนารักษ์)
  • ถนนเพชรบุรี (ถนนพญาไท – ถนนบรรทัดทอง)
  1. โครงการสุขุมวิท
    -    
  • ถนนสุขุมวิท (ทางรถไฟ – ซอยสุขุมวิท 81)
  • ซอยสุขุมวิท 3 (ซอยนานา)

และแผนที่สาม คือการจัดการจัดระเบียบสายสื่อสารตั้งแต่ปากซอยพหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) ถึงกรมทหารราบที่ 1

จะเห็นได้ว่าการนำสายสื่อสารลงดินโครงการปี 2559-60 และโครงการปี 2560 ของกสทช. ส่วนมากจะเป็นเส้นทางที่กฟน.นำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว

ปี 2561

ในแผนการนำสายสื่อสารลงดินปีพ.ศ. 2561 ของกสทช. ประกอบไปด้วย

แผนการนำสายสื่อสารลงดิน จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 4.4 กม. ประกอบไปด้วย

  • ถนนราชปรารภ (ถนนศรีอยุธยา – แยกประตูน้ำ) 
  • ถนนพระราม 1 (ถนนพญาไท – สะพานกษัตริย์ศึก) 
  • ถนนพิษณุโลก (แยกพาณิชยการพระนคร –  แยกยมราช)
  • ถนนศรีอยุธยา (ถนนพญาไท – ถนนราชปรารภ)
  • ถนนราชดำเนินนอก (สะพานผ่านฟ้า– สะพานมัฆวานรังสรรค์) 

จะเห็นได้ว่าแผนการนำสาสื่อสารลงดินของกสทช. ในปีพ.ศ. 2561 ส่วนมากเป็นเส้นทางเดิมจากปีพ.ศ.2559-2560 ที่ยังทำไม่เสร็จ

นอกจากนี้ในแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินปีพ.ศ. 2561 ของ กสทช. ยังมีแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารอีกด้วย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เส้นทางจัดระเบียบสายสื่อสารเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 7 กม. และเส้นทางจัดระเบียบสายสื่อสารของการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 23 เส้นทาง ระยะทาง 45 กม.

ในส่วนของสำนักจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานครนั้น ในปีพ.ศ. 2561 ปรากฏเอกสารการแบ่งกลุ่มเส้นทางในการนำสายสื่อสารลงดินออกเป็น 15 กลุ่ม 35 เส้นทาง แต่ยังไม่ปรากฏแผนการดำเนินงานว่าจะเริ่มต้นนำสายไฟฟ้าลงดินที่เส้นทางไหนบ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มที่ 1 รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ประกอบด้วย ถนนราชวิถี ถนนสวรรคโลก ถนนศรีอยุธยา และถนนพระราม 5

กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย ถนนสามเสน (ถนนทหาร-ถนนนครไชยศรี) ถนนทหาร (ถนนสามเสน - ถนนประดิพัทธ์) ถนนประชาราษฎร์สาย 1 (ถนนประชาราษฎร์สาย 2 - ถนนทหาร)

กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วย ถนนสามเสน (ถนนนครไชยศรี - ถนนลูกหลวง) ถนนประชาธิปก (เชิงสะพานประปกเกล้า - วงเวียนใหญ่) ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน (วงเวียนใหญ่ - ถนนรัชดาภิเษก)

กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วย ถนนอรุณอมรินทร์ (เชิงสะพานพระราม 8 - ถนนประชาธิปก) ถนนพระบรมราชชนนี (ถนนจรัญสนิทวงศ์ - ถนนอรุณอมรินทร์) ถนนพรานนก (ถนนจรัญสนิทวงศ์ - ถนนอรุณอมรินทร์)

กลุ่มที่ 5 ประกอบด้วย ถนนลาดพร้าว (ถนนรัชดาภิเษก - ถนนศรีนครินทร์) ถนนศรีนครินทร์ (ถนนลาดพร้าว - ถนนรามคำแหง) ถนนเทพารักษ์ (ถนนสุขุมวิท - ถนนศรีนครินทร์)

กลุ่มที่ 6 ประกอบด้วย ถนนพหลโยธิน (แยกลาดพร้าว - แยกรัชโยธิน) ถนนพหลโยธิน (แยกรัชโยธิน - ถนนงามวงศ์วาน) และถนนลาดพร้าว (แยกลาดพร้าว - ถนนรัชดาภิเษก)

กลุ่มที่ 7 ประกอบด้วย ถนนแจ้งวัฒนะ (ฝั่งกรุงเทพฯ คลองประปา - คลองบางเขน) ถนนแจ้งวัฒนะ (ฝั่งจ.นนทบุรี แยกปากเกร็ด – คลองประปา) และถนนติวานนท์ (ถนนรัตนาธิเบศร์ - แยกปากเกร็ด)

กลุ่มที่ 8 ถนนสุขุมวิท (ฝั่งจ.สมุทรปราการ ช่วงซ.แบริ่ง - สถานีย่อยบางปิ้ง)

กลุ่มที่ 9 ถนนสุขุมวิท (ฝั่งจ.สมุทรปราการ ช่วงซ.แบริ่ง – ถนนเทศบาลบางปู 77)

กลุ่มที่ 10 ประกอบด้วย ถนนเพชรบุรี (ถนนพญาไท - ถนนราชปรารภ) ถนนราชปรารภ (ถนนศรีอยุธยา - สามเหลี่ยมดินแดง) ถนนรามคำแหง (ถนนเพชรบุรี - ถนนศรีนครินทร์) และถนนเพชรบุรี (ซ.สุขุมวิท 63 (เอกมัย) - ถนนรามคำแหง)

กลุ่มที่ 11 ประกอบด้วย ถนนชิดลม (ถนนเพชรบุรี - ถนนเพลินจิต) ถนนสาทร (ถนนเจริญกรุง - ถนนพระราม 4) ถนนเจริญราษฎร์ (ถนนพระราม 3 - ถนนสาทร) ถนนเพชรบุรี (ถนนราชปรารภ - ทางรถไฟ) และถนนดินแดง (ถนนราชวิถี - สามเหลี่ยมดินแดงแยกดินแดง - คลองสาน)

กลุ่มที่ 12 ประกอบด้วย ถนนหลังสวน (ถนนเพลินจิต - ถนนสารสิน) ถนนสารสิน (ถนนราชดำริ -ถนนวิทยุ) ถนนวิทยุ (ถนนเพลินจิต - ถนนพระราม 4) ถนนพระราม 4 (ถนนราชดำริ -สถานีย่อยคลองเตย)

กลุ่มที่ 13 ถนนอังรีดูนังต์ (ถนนพระราม 1 - ถนนพระราม 4)

กลุ่มที่ 14 ถนนประชาราษฎร์สาย 2 (ถนนประชาราษฎร์สาย 1 – ถนนเตชะวานิช) 

กลุ่มที่ 15 ถนนจรัญสนิทวงศ์ (เชิงสะพานพระราม 7 - แยกท่าพระ)

ปี 2562

ในแผนการนำสายสื่อสารลงดินปีพ.ศ. 2562 ของ กสทช. ประกอบไปด้วยเส้นทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง จำนวน 13 โครงการ 26 เส้นทาง ระยะทางรวม 12.605 กม. ประกอบไปด้วย

  1. โครงการถนนนานา
  • สุขุมวิท ซ. 3 (ถนนสุขุมวิท - คลองแสนแสบ)
  1. โครงการนนทรี
  • ถนนสาธุประดิษฐ์ (ถนนเลียบทางด่วนเฉลิมมหานคร - ซอยสาธุประดิษฐ์ 12)
  • ซอยสว่างอารมณ์ (ตั้งแต่ถนนสาธุประดิษฐ์ - ถนนนราธิวาสราชนครินทร์)
  1. โครงการถนนวิทยุ
  • ช่วงที่หนึ่ง (ถนนพระราม 4 - แยกสารสิน)
  • ช่วงที่สอง (แยกสารสิน - ถนนเพลินจิต)
  1. โครงการถนนพระจันทร์
  • ถนนหน้าพระธาตุ (ถนนหน้าพระลาน - หน้าทางเข้า ม. ธรรมศาสตร์)
  • ถนนพระจันทร์ (ถนนหน้าพระธาตุ - ถนนมหาราช)
  • ถนนมหาราช (หน้าพระลาน - ถนนพระจันทร์)
  1. โครงการจิตรลดา (เพิ่มเติม)
  • ถนนเพชรบุรี (แยกยมราช - แยกอุรุพงษ์)
  • ถนนนครสวรรค์ (แยกนางเลิ้ง - คลองผดุงกรุงเกษม)
  1. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนข้าวสาร
  • ถนนข้าวสาร (ตั้งแต่ถนนตะนาว - ถนนจักรพงษ์)
  1. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณปากคลองตลาด
  • ถนนจักรเพชร (เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า - สะพานเจริญรัช)
  1. โครงการบริเวณหน้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่
  2. โครงการบริเวณท่าน้ำนนทบุรี เทศบาลนนทบุรี
  3. โครงการถนนศรีสมาน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
  4. โครงการเส้นทางนำสายสื่อสารลงใต้ดินเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  • ถนนอัษฎางค์ (ถนนราชดำเนินกลาง - ถนนบำรุงเมือง)
  • ถนนบำรุงเมือง (สี่แยกช้างโรงสี - แยกสี่กั๊กเสาชิงช้า)
  • ถนนเฟื่องนคร (แยกสี่กั๊กเสาชิงช้า - แยกสี่กั๊กพระยาศรี)
  • ถนนเจริญกรุง (แยกสี่กั๊กพระยาศรี - แยกท้ายวัง)
  • ถนนราชินี (ถนนราชดำเนินกลาง - สี่แยกช้างโรงสี)
  • ถนนตะนาว (ถนนราชดำเนินกลาง - วงเวียนถนนตะนาว)
  • ถนนพระสุเมรุ (ถนนสิบสามห้าง - ถนนราชดานินกลาง)
  • ถนนบวรนิเวศน์ (วงเวียนถนนตะนาว - ถนนพระสุเมรุ)
  • ถนนราชบพิตร (ถนนเฟื่องนคร - ถนนอัษฎางค์)
  1. โครงการถนนอัษฎางค์ (ตั้งแต่สี่แยกช้างโรงสี - สี่แยกสะพานมอญ)
  2. โครงการถนนราชินี (สี่แยกช้างโรงสี - สี่แยกสะพานมอญ)

จะเห็นได้ว่าแผนการนำสายสื่อสารลงดินของ กสทช. ก็ยังคงดำเนินตามเส้นทางการนำสายไฟฟ้าลงดินของ กฟน. อยู่ และมีบางเส้นทางที่เป็นเส้นทางเดิมจากปี 2560-2561 ที่ยังไม่แล้วเสร็จ และส่วนมากเป็นส่วนทางส่วนต่อขยายจากปีที่ผ่านมา

ในปีพ.ศ.2562 มีรายงานว่าโครงการนำสายสื่อสารลงดินภายใต้แผนของ กสช. เสร็จสิ้นไปแล้วจำนวน 18 เส้นทาง ระยะทางรวม 9.582 กม.

ในขณะที่แผนของสำนักจราจรและการขนส่ง กรุงเทพมหานครนั้น ในปีพ.ศ.2562 ประกอบไปด้วย 8 โครงการ จำนวน 12 เส้นทาง  ประกอบไปด้วย

  • ถนนจรัญสนิทวงศ์ (เชิงสะพานพระราม 7 – แยกท่าพระ)
  • ถนนพหลโยธิน (แยกลาดพร้าว - ถนนงามวงศ์วาน)
  • ถนนลาดพร้าว (แยกลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษก)
  • ถนนพระราม 3 (สะพานพระรามเก้า ถึงเลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร)
  • ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้ – ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10)
  • ถนนรัชดาภิเษก – ถนนพระราม 9
  • ถนนรัชดาภิเษก – ถนนอโศก
  • ถนนประชาราษฎร์สาย 2 (ถนนประชาราษฎร์สาย 1 - ถนนเตชะวณิช)
  • ถนนพระราม 4 (ถนนราชดําริ - สถานีย่อยคลองเตย)
  • ถนนวิทยุ (ถนนพระราม 4 - ถนนเพลินจิต)
  • บริเวณนานาเหนือ (ถนนสุขุมวิท - คลองแสนแสบ)
  • ถนนสาธุประดิษฐ์ (ถนนเลียบทางด่วนเฉลิมมหานคร - ซอยสาธุประดิษฐ์ 12)

โดยทั้ง 8 โครงการ จำนวน 12 เส้นทาง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 149,347,000 บาท และมี 7 เส้นทางที่เป็นโครงการต่อเนื่องไปยังปีงบประมาณ 2563 และ 5 เส้นทางที่เป็นโครงการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่งปัจจุบันการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั้ง 12 เส้นทางนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ยังพบว่า ในบรรดา 12 เส้นทางที่ปรากฏในแผนปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของสำนักการจราจรและขนส่งนั้น มี 5 เส้นทาง ที่ไม่ปรากฏอยู่ในแผนการแบ่งกลุ่มเส้นทางเดิมของสำนักการจราจรและขนส่ง จากปีพ.ศ. 2561 โดยมี 3 เส้นทางที่ซ้ำกับในแผนการทำงานของ กสทช. ซึ่งก็คือบริเวณนานาเหนือ (ถนนสุขุมวิท - คลองแสนแสบ), ถนนสาธุประดิษฐ์ (ถนนเลียบทางด่วนเฉลิมมหานคร - ซอยสาธุประดิษฐ์ 12 และซอยสาธุประดิษฐ์ 19 ถึงถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ) และถนนวิทยุ (ถนนพระราม 4 - ถนนเพลินจิต)

ในขณะที่อีก 3 เส้นทางที่ไม่ปรากฏอยู่ในการแบ่งกลุ่มเส้นทางเดิมของสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร แต่ปรากฏในแผนปีงบประมาณพ.ศ. 2562 ก็คือถนนพระราม 3 (สะพานพระรามเก้า ถึงเลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร), ถนนรัชดาภิเษก – ถนนพระราม 9, ถนนรัชดาภิเษก – ถนนอโศก แต่ในขณะเดียวกัน 3 เส้นทางนี้คือ 3 เส้นทางที่ปรากฏในแผนการนำสายไฟฟ้าลงดินของกฟน.

ปี 2563

ในแผนการนำสายสื่อสารลงดินปีพ.ศ. 2563 ของกสทช. ประกอบไปด้วย เส้นทางที่ไม่สามารถนำสายสื่อสารลงใต้ดินได้ในปี พ.ศ. 2562 จำนวน 8 โครงการ 12 เส้นทาง รวมระยะทาง 9.53 กม. ประกอบด้วย

1.    โครงการถนนวิทยุ

  • ช่วงที่หนึ่ง (ถนนพระราม 4 - แยกสารสิน)
  • ช่วงที่สอง (แยกสารสิน - ถนนเพลินจิต)

2.    โครงการถนนพระจันทร์

  • ถนนหน้าพระธาตุ (ถนนหน้าพระลาน - หน้าทางเข้า ม. ธรรมศาสตร์)
  • ถนนพระจันทร์ (ถนนหน้าพระธาตุ - ถนนมหาราช)
  • ถนนมหาราช (หน้าพระลาน - ถนนพระจันทร์)

3.    โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนข้าวสาร

  • ถนนข้าวสาร (ถนนตะนาว - ถนนจักรพงศ์)

4.    โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณปากคลองตลาด ถนนจักรเพชร

5.    บริเวณด้านหน้าสํานักงาน กฟภ. สำนักงานใหญ่ (แยกพงษ์เพชร - ถนนวิภาวดี)

6.    บริเวณท่าน้ำนนทบุรี

7.    ถนนลูกหลวง (สะพานมัฆวานรังสรรค์ - ถนนนครสวรรค์)

8.    โครงการนนทรี

  • ซอยอนุมานราชธน (ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ - ถนนเดโช)
  • ซอยรัชดาภิเษก (ถนนนางลิ้นจี่ - ถนนสาธุประดิษฐ์)

แผนที่สองคือการนำสายสื่อสารลงดินบริเวณรอบคลองคูเมืองเดิม ภายใต้โครงการ “โครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิม เฉลิมพระเกียรติฯ” จำนวน 6  เส้นทาง รวม 4.19 กม. ประกอบไปด้วย

  • ถนนราชินี (สะพานมอญ - ปากคลองตลาด)
  • ถนนอัษฎางค์ (สะพานมอญ - ปากคลองตลาด)
  • คลองราชนัดดา (ถนนอัษฎางค์ - ถนนมหาไชย)
  • คลองราชบพิธ (ถนนอัษฎางค์ - ถนนมหาไชย)
  • ชุมชนแพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ 
  • ถนนตะนาว (ถนนราชดำเนินกลาง - แยกสี่กั๊กเสาชิงช้า)

แผนที่สามคือแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ปี 2563 ตามนโยบายของกสทช. จำนวน 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 48.7 กม. ประกอบด้วย

  • ถนนรัชดาภิเษก (แยก อสทม. - แยกรัชวิภา)
  • ถนนพระราม 4 (สามย่านมิตรทาวน์ - แยกคลองเตย)
  • ถนนเพชรบุรี (แยกประตูน้ำ - แยกมักกะสัน)
  • ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (แยกอโศกเพชรบุรี - แยกคลองตัน)
  • ถนนอโศก (แยกอโศกเพชรบุรี - แยกอโศกสุขุมวิท)
  • ถนนรัชดาภิเษก (แยกอโศกสุขุมวิท - แยกคลองเตย)
  • ถนนราชวิถี (แยกสะพานกรุงธนฯ - แยกถนนพระราม 5)
  • ถนนพหลโยธิน (แยกลาดพร้าว - อนุสาวรีย์หลักสี่)
  • ถนนสิรินธร (แยกบางพลัด - บรมราชชนนี)
  • ถนนจรัญสนิทวงศ์ (สะพานพระราม 7 - แยกท่าพระ)
  • ถนนอิสรภาพ (ถนนวังเดิม - ประชาธิปก)
  • ถนนวังเดิม (อิสรภาพ - อรุณอัมรินทร์)

ในปีพ.ศ.2563 มีรายงานว่าเส้นทางนำสายสื่อสารลงดินในโครงการ ของกสทช.นั้น เสร็จสิ้นจำนวน 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 8.08 กม. โดยมี 4 เส้นทางเป็นเส้นทางในโครงการรอบพระตำหนักจิตลดารโหฐานที่ไม่ได้เป็นเส้นทางที่ปรากฏอยู่ในแผนของกสทช.แต่เดิม แต่เป็นส้นทางส่วนต่อขยายของเส้นทางเดิมของโครงการรอบพระตำหนักจิตลดารโหฐาน

ส่วนแผนการนำสายสื่อสารลงดินในปีพ.ศ. 2563 ของสำนักจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานครนั้น พบว่ามีโครงการนำสายสื่อสารลงดินทั้งหมด 13 โครงการ จำนวน 31 เส้นทาง ประกอบด้วย

  • ถนนพหลโยธิน
  • ถนนลาดพร้าว 
  • ถนนรัชดาภิเษก – ถนนพระราม 9
  • ถนนรัชดาภิเษก – ถนนอโศก
  • ถนนลาดพร้าว (ถ.รัชดาภิเษก - ถ.ศรีนครินทร์)
  • ถนนศรีนครินทร์ (ถ.ลาดพร้าว - ถ.รามคำแหง)
  • ถนนแจ้งวัฒนะ (ฝั่งกรุงเทพฯ คลองประปา - คลองบางเขน)
  • ถนนเพชรบุรี (ถนนราชปรารภ - ทางรถไฟ)
  • ถนนดินแดง (ถนนราชวิถี - สามเหลี่ยมดินแดง แยกดินแดง - คลองสามเสน)
  • ถนนเพชรบุรี (ถนนพญาไท - ถนนราชปรารภ)
  • ถนนราชปรารภ (ถนนศรีอยุธยา – สามเหลี่ยมดินแดง)
  • ถนนวิภาวดี-รังสิต (สามเหลี่ยมดินแดง-สถานีต้นทางวิภาวดี)
  • ถนนดินแดง (สามเหลี่ยมดินแดง-แยกดินแดง)
  • ถนนรามคำแหง (ถนนเพชรบุรี – ถนนศรีนครินทร์)
  • ถนนเพชรบุรี (ถนนสุขุมวิท 63 (เอกมัย) – ถนนรามคำแหง) 
  • ถนนสามเสน (ถนนทหาร - ถนนนครไชยศรี)
  • ถนนทหาร (ถนนสามเสน - ถนนประดิพัทธ์)
  • ถนนประชาราษฎร์สาย 1 (ถนนประชาราษฎร์สาย 2 - ถนนทหาร)
  • ถนนอังรีดูนังต์ (ถนนพระราม 1 - ถนนพระราม 4)
  • ถนนพระราม 3
  • ถนนนราธิวาสราชนครินทร์
  • ถนนจรัญสนิทวงศ์ (เชิงสะพานพระราม 7 – แยกท่าพระ)
  • ถนนอรุณอมรินทร์ (เชิงสะพานพระราม 8- ถนนประชาธิปก)
  • ถนนบรมราชชนนี (ถนนจรัญสนิทวงศ์- ถนนอรุณอมรินทร์)
  • ถนนพรานนก(ถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนอรุณอัมรินทร์)
  • ถนนชิดลม (ถนนเพชรบุรี - ถนนเพลินจิต)
  • ถนนสาทร (ถนนเจริญกรุง - ถนนพระราม 4)
  • ถนนเจริญราษฎร์ (ถนนพระราม 3 - ถนนสาทร)
  • ถนนสามเสน (ถนนนครไชยศรี - ถนนลูกหลวง)
  • ถนนประชาธิปก (เชิงสะพานพระปกเกล้า - วงเวียนใหญ่)
  • ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน (วงเวียนใหญ่ - ถนนรัชดาภิเษก) 

โดยเป็นเส้นทางที่เป็นการทำงานต่อเนื่องมาจากปีงบประมาณพ.ศ. 2562 จำนวน 7 เส้นทาง และเป็นเส้นทางที่เป็นการทำงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณพ.ศ. 2563 -2564 จำนวน 23 เส้นทาง มีเพียง 1 เส้นทาง ที่เป็นการทำงานในปีงบประมาณพ.ศ. 2563 คือ ถนนอังรีดูนังต์ (ถนนพระราม 1 - ถนนพระราม 4) โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 400,107,400 บาท 

จากแผนการนำสายสื่อสารลงดินของ กสทช. และสำนักจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ในปีงบประมาณพ.ศ. 2563 จะพบว่า มีส่วนที่ซ้ำกันคือ ถนนจรัญสนิทวงศ์ (ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงแยกท่าพระ) ถนนรัชดาภิเษก ถนนพหลโยธิน ฯลฯ นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่เป็นส่วนต่อขยายกันและกัน เช่น ถนนเพชรบุรี

ปี 2564

ในแผนการนำสายสื่อสารลงดินปีพ.ศ. 2564 ของกสทช. ปรากฏ 3 เป้าหมายคือ 

1. แผนการดำเนินงานนสายสื่อสารลงดินในเขตการไฟฟ้านครหลวง เส้นทางที่ไม่สามารถนำสายลงใต้ดินได้ในเขตการไฟฟ้านครหลวง ในปี 2563 จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ ถนนพระจันทร์, ถนนจักรเพชรบริเวณปากคลองตลาด, โครงการนนทรี (4 เส้นทาง), และเส้นทางสี่แยกสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ถึง แยกศรีสมาน (คลองประปา) 

2. เส้นทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามนโยบายของสานักงาน กสทช. ปี 2563 ทั้ง 12 เส้นทาง (โปรดดูหัวข้อปี 2563) ที่ยังทำไม่เสร็จ

3. แผนงานเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินเพื่อรองรับการเป็น มหานครแห่งอาเซียน 3 โครงการ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 4.85 กม. ประกอบไปด้วย

3.1. โครงการถนนวิทยุ

  • ช่วงที่หนึ่ง (ถนนพระราม 4 - แยกสารสิน)
  • ช่วงที่สอง (แยกสารสิน - ถนนเพลินจิต)

3.2 โครงการรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

  • ถนนราชวิถี (ถนนอู่ทองใน - ถนนสวรรคโลก)
  • ถนนศรีอยุธยา (ถนนอู่ทองใน - ถนนพระราม 5)
  • ถนนพระราม 5 (ถนนสุโขทัย - ถนนราชวิถี)
  • โครงการถนนหลังสวน (ตั้งแต่แยกถนนเพลินจิต - แยกสารสิน)

ในปีพ.ศ.2564 มีรายงานว่าเส้นทางการนำสายสื่อสารลงดินของกสทช. เสร็จสิ้น 6 เส้นทาง รวมระยะทาง 8.13 กม.

ส่วนแผนการนำสายสื่อสารลงดินปีพ.ศ. 2564 ของสำนักจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร มี 10 โครงการ จำนวน 27 เส้นทาง ประกอบไปด้วย

  • ถนนเพชรบุรี (ถนนราชปรารภ-ทางรถไฟ)
  • ถนนดินแดง (ถนนราชวิถี–สามเหลี่ยมดินแดง แยกดินแดง–คลองสามเสน)
  • ถนนเพชรบุรี (ถนนพญาไท - ถนนราชปรารภ)
  • ถนนราชปรารภ (ถนนศรีอยุธยา – สามเหลี่ยมดินแดง)
  • ถนนวิภาวดีรังสิต (สามเหลี่ยมดินแดง - สถานีต้นทางวิภาวดี)
  • ถนนดินแดง (สามเหลี่ยมดินแดง – แยกดินแดง)
  • ถนนรามคําแหง (ถนนเพชรบุรี – ถนนศรีนครินทร์)
  • ถนนเพชรบุรี (ถนนสุขุมวิท 63 (เอกมัย) – ถนนรามคําแหง)
  • ถนนสามเสน (ถนนทหาร-ถนนนครไชยศรี)
  • ถนนทหาร (ถนนสามเสน–ถนนประดิพัทธ์)
  • ถนนประชาราษฎร์สาย 1 (ถนนประชาราษฎร์สาย 2- ถนนทหาร) 
  • ถนนแจ้งวัฒนะ (ฝั่งกรุงเทพฯ คลองประปา - คลองบางเขน)
  • ถนนลาดพร้าว (ถนนรัชดาภิเษก – ถนนศรีนครินทร์)
  • ถนนศรีนครินทร์ (ถนนลาดพร้าว-ถนนรามคําแหง)
  • ถนนชิดลม (ถนนเพชรบุรี- ถนนเพลินจิต)
  • ถนนสาทร (ถนนเจริญกรุง–ถนนพระราม 4)
  • ถนนเจริญราษฎร์ (ถนนพระราม 3–ถนนสาทร)
  • ถนนสามเสน (ถนนนครไชยศรี-ถนนลูกหลวง)
  • ถนนประชาธิปก (เชิงสะพานพระปกเกล้า - วงเวียนใหญ่)
  • ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน (วงเวียนใหญ่ - ถนนรัชดาภิเษก)
  • ถนนอรุณอมรินทร์ (เชิงสะพานพระราม 8 - ถนน ประชาธิปก)
  • ถนนบรมราชชนนี (ถนนจรัญสนิทวงศ์ - ถนนอรุณอมรินทร์)
  • ถนนพรานนก (ถนนจรัญสนิทวงศ์–ถนนอรุณอมรินทร์) 
  • ถนนพระราม 3
  • ถนนนราธิวาสราชนครินทร์
  • ถนนรัชดาภิเษก - ถนนพระราม 9
  • ถนนรัชดาภิเษก-ถนนอโศก

โดยทั้ง 23 เส้นทาง งบประมาณรวม 176,689,920 บาท เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการในงบประมาณปีพ.ศ. 2563 ทั้ง 27 เส้นทาง และมี 6 เส้นทางที่เป็นโครงการต่อเนื่องไปถึง งบประมาณปีพ.ศ. 2565 

เสร็จเท่าไร และตรงไหนยังไม่เสร็จ

จากข้อมูลทั้งหมดจะพบว่าในส่วนแผนการนำสายสื่อสารลงดินของ กสทช. จำนวน 72 เส้นทาง เสร็จสิ้น 48 เส้นทาง  (ไม่นับเส้นทางที่มีการรายงานซ้ำ) ระยะทางรวม 70.992 กม. ประกอบไปด้วย

  • ถนนนานา (ถนนสุขุมวิท - คลองแสนแสบ)
  • ถนนสาธุประดิษฐ์ (ถนนเลียบทางด่วนเฉลิมมหานคร - ซอยสาธุประดิษฐ์ 12)
  • ซอยสว่างอารมณ์ (ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 ตั้งแต่ถนนสาธุประดิษฐ์ - ถนนนราธิวาสราชนครินทร์)
  • ถนนเพชรบุรี (แยกยมราช - แยกอุรุพงศ์)
  • ถนนนครสวรรค์ (นางเลิ้ง - คลองผดุงกรุงเกษม)
  • ถนนข้าวสาร (ตั้งแต่ถนนตะนาว - ถนนจักรพงษ์)
  • บริเวณหน้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่
  • บริเวณท่าน้ำนนทบุรี เทศบาลนนทบุรี
  • ถนนศรีสมาน (สํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม)
  • ถนนอัษฎางค์ (ถนนราชดำเนินกลาง - ถนนบำรุงเมือง)
  • ถนนบำรุงเมือง (สี่แยกช้างโรงสี - แยกสี่กั๊กเสาชิงช้า)
  • ถนนเฟื่องนคร (แยกสี่กั๊กเสาชิงช้า - แยกสี่กั๊กพระยาศรี)
  • ถนนเจริญกรุง (แยกสี่กั๊กพระยาศรี - แยกท้ายวัง)
  • ถนนราชินี (ถนนราชดาเนินกลาง - สี่แยกช้างโรงสี)
  • ถนนตะนาว (ถนนราชดาเนินกลาง - วงเวียนถนนตะนาว)
  • ถนนพระสุเมรุ (ถนนสิบสามห้าง - ถนนราชดานินกลาง)
  • ถนนบวรนิเวศน์ (วงเวียนถนนตะนาว - ถนนพระสุเมรุ)
  • ถนนราชบพิตร (ถนนเฟื่องนคร - ถนนอัษฎางค์)
  • ถนนอัษฎางค์ (สี่แยกช้างโรงสี - สี่แยกสะพานมอญ)
  • ถนนราชินี (สี่แยกช้างโรงสี - สี่แยกสะพานมอญ)
  • ถนนข้าวสาร (ตั้งแต่ถนนตะนาว - ถนนจักรพงศ์)
  • ถนนราชินี (สะพานมอญ – ปากคลองตลาด)
  • ถนนอัษฎางค์ (สะพานมอญ – ปากคลองตลาด)
  • ถนนราชวิถี (ถนนพิชัย – ถนนสวรรคโลก)
  • ถนนสวรรคโลก (ถนนราชวิถี – ถนนศรีอยุธยา)
  • ถนนศรีอยุธยา (ถนนราชดำเนินการนอก – ถนนพระราม 5)
  • ถนนพระราม 5 (ถนนสุโขทัย – ถนนลูกหลวง)
  • ถนนราชวิถี (ตั้งแต่ถนนอู่ทองใน - ถนนสวรรคโลก)
  • ถนนศรีอยุธยา (ตั้งแต่ถนนอู่ทองใน - ถนนพระราม 5)
  • ถนนพระราม 5 (ตั้งแต่ถนนสุโขทัย - ถนนราชวิถี)
  • ถนนหลังสวน (ตั้งแต่แยกถนนเพลินจิต - แยกสารสิน)
  • ช่วงจากแยกปทุมวัน - แยกราชประสงค์ พื้นท่ีเขตปทุมวัน
  • ถนนโยธี (ซอยเสนารักษ์ – ถนนพระราม 6)
  • ถนนศรีอยุธยา (แยกพญาไท – ซอยศรีอยุธยา 7)
  • ถนนเพชรบุรี (แยกบรรทัดทอง – แยกอุรุพงศ์)
  • ถนนราชปรารภ (แยกประตูน้ำ – แยกศรีอยุธยา)
  • ถนนพระราม 1 (แยกปทุมวัน – เชิงสะพานกษัตริย์ศึก)
  • ถนนพิษณุโลก (แยกพาณิชยการพระนคร–แยกยมราช)
  • ถนนประดิพัทธ์ (แยกประดิพัทธ์ – แยกสะพานควาย)
  • ถนนพหลโยธิน (แยกลาดพร้าว – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
  • ถนนพญาไท (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – แยกปทุมวัน)
  • ถนนศรีอยุธยา (ถนนพญาไท – ถนนราชปรารภ)
  • ถนนโยธี (ถนนพญาไท – ซอยเสนารักษ์)
  • ถนนเพชรบุรี (ถนนพญาไท – ถนนบรรทัดทอง)
  • ถนนสุขุมวิท (ทางรถไฟ – ซอยสุขุมวิท 81)
  • ถนนราชดำเนินนอก (สะพานผ่านฟ้า – สะพานมัฆวานรังสรรค์)
  • ถนนจักรเพชร (ตั้งแต่เชิงสะพาน พระพุทธยอดฟ้า - สะพานเจริญรัช)
  • ถนนลูกหลวง (สะพานมัฆวานรังสรรค์ - ถนนนครสวรรค์)

และในส่วนของการนำสายสื่อสารลงดินโดยความรับผิดชอบของสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร จำนวน 39 เส้นทาง แต่ปรากฏตามแผนปีงบประมาณ 2562-2564 จำนวน 36 เส้นทาง เสร็จสมบูรณ์ (ภายในปีงบประมาณปี 2564) โดยอ้างจากรายงาน Digital Plans Report ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 เส้นทาง (ไม่นับรวมเส้นทางที่นำสายสื่อสารลงดินไปพร้อมกับสายไฟฟ้าของ กฟน.ในช่วงแรก) และยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี 25 เส้นทาง (เป็นเส้นทางที่ได้งบประมาณต่อเนื่อง) โดยเส้นทางที่เสร็จแล้ว ประกอบไปด้วย

  • ถนนจรัญสนิทวงศ์ (เชิงสะพานพระราม 7 – แยกท่าพระ)
  • ถนนพระราม 3 (สะพานพระรามเก้า - เลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร)
  • ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้ – ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10)
  • ถนนประชาราษฎร์สาย 2 (ถนนประชาราษฎร์สาย 1 - ถนนเตชะวณิช)
  • ถนนพระราม 4 (ถนนราชดําริ - สถานีย่อยคลองเตย)
  • ถนนวิทยุ (ถนนพระราม 4 - ถนนเพลินจิต)
  • บริเวณนานาเหนือ (ถนนสุขุมวิท - คลองแสนแสบ)
  • ถนนสาธุประดิษฐ์ (ถนนเลียบทางด่วนเฉลิมมหานคร - ซอยสาธุประดิษฐ์ 12)
  • ถนนเพชรบุรี (ถนนราชปรารภ - ทางรถไฟ)
  • ถนนดินแดง (ถนนราชวิถี - สามเหลี่ยมดินแดง และ แยกดินแดง- คลองสามเสน)
  • ถนนอังรีดูนังต์ (ถนนพระราม 1 - ถนนพระราม 4)

แต่จากการให้ข้อมูลของนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในเว็บไซต์สำนักข่าว PPTV ปรากฏข้อมูลว่ากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินมาตั้งแต่ปี 2561 - 2564 จำนวน 40 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 143.72 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 19 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 119 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 21 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 24.72 กิโลเมตร

โดยการนำสายสื่อสารทั้งหมดลงดินนั้นอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานครนั้นเป็นนโยบายการผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็น ‘มหานครแห่งอาเซียน’ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) จึงเหลือเวลาอีก 10 ปี ที่จะนำสายสื่อสารลงดินด้วยระบบท่อร้อยสายทั้งหมด ซึ่งกรุงเทพมหานครมีระบบท่อร้อยสายความยาวทั้งหมด 2,450 กิโลเมตร 

เสร็จช้า ล้มแผน และการตั้งกรรมาธิการศึกษาฯ

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าการนำสายสื่อสารลงดินเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่ต่างก็มีอำนาจและแนวทางในการทำงานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น กฟน. กทม. หรือแม้กระทั่งสตช. เช่น กทม. ไม่อนุญาตให้ สร้าง Riser ตำรวจไม่ให้เปิดบ่อพัก ไม่อนุญาตให้เอกชนเข้าไปทำงานในพื้นที่ ฯลฯ หรือสภาพแวดล้อม เช่น บนถนนมีการก่องสร้างโครงการอื่นๆ ของหน่วยงานอื่น  ฝนตก การจราจรติดขัด หรือแม้กระทั่งสถานการณ์โควิด-19

อีกหนึ่งปัญหาก็คือการท่อร้อยสาย โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยในเอกสารงบประมาณปีพ.ศ.2563 ของสำนักการจราจรและขนส่งระบุว่าบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการท่อร้อยสาย ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2563-2565) ระยะทางรวม 900 กม. แบ่งดำเนินการ 3 ระยะ ระยะละ 300 กม. และในเอกสารผลการดำเนินงานในปีพ.ศ. 2564 ระบุว่าในปีงบประมาณ 2563-2565 บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้รับงบประมาณ 9 โครงการ ระยะทางรวม 53.65 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 7 โครงการ เป็นระยะทางรวม 48.25 กิโลเมตร คงเหลือ 2 โครงการและอยู่ในระยะเวลาของสัญญา

นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องท่อร้อยสายว่าจะใช้ท่อโดยความรับผิดชอบของใคร ระหว่างทีโอทีและกรุงเทพธนาคม รวมไปถึงประเด็นเรื่องค่าเช่าท่อร้อยสายที่บริษัทเอกชนเจ้าของสายต้องจ่ายที่มีราคาสูงกว่าการพาดสายในแบบเดิม ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวปรากฏว่าบริษัท ทรู อินเอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ได้สัมปทานไป จึงเกิดเสียงเรีกกร้องให้หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็น กสทช.เข้ามาควบคุมราคาค่าเช่า รวมไปถึงข้อเรียกร้องให้กสทช.หรือแม้แต่ กทม.เข้ามาช่วยแบ่งเบาค่าเช่าท่อร้อยสายของบริษัทเอกชนด้วย

จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดการตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งการพิจารณาศึกษาครั้งนี้เป็นไปเพื่อบูรณาการการนำสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงใต้ดินและไฟส่องสว่างภายใต้โครงการเดียวกันทั้งประเทศ โดยมีส่วนกลางเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะแตกต่างจากที่ดำเนินการอยู่อันเป็นความรับผิดชอบขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เอง เช่น กรุงเทพมหานคร หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. ในจังหวัดต่างๆ

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เล่าถึงที่มาที่ไปของการตั้งคณะกรรมาธิการฯ นี้ว่า “ครม. ต้องการที่จะดำเนินการเรื่องสายไฟฟ้า-สายสื่อสารลงดิน เนื่องจากว่ามันเป็นสิ่งที่ต่างชาติหรือในประเทศเอาไปวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเรื่องภาพลักษณ์หน้าตาของประเทศ เลยเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้น ซึ่งจะเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการทำเอง แต่จะทำรูปแบบไหน ยังไง ต้องมาหาฉันทามติจากคณะกรรมาธิการฯ ที่ก็มีหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กฟน. กฟภ. กสทช. นั่งอยู่ด้วย”

“การดำเนินงานก็คือ เมื่อได้ทิศทางการทำงานแล้วว่าถนนเส้นไหนจะใช้วิธีการจัดระเบียบสาย เส้นไหนจะใช้วิธีนำลงดิน ก็จะให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมาจากการควบรวมระหว่าง TOT กับ CAT เป็นผู้รับผิดชอบในการนำสายสื่อสารลงดิน โดยจะใช้เงินจากกองทุน USO (กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ) ซึ่งเป็นกองทุนที่บริษัทโทรคมนาคมต่างๆ เป็นผู้จ่ายเงินเข้ามา จะได้ไม่เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ในส่วนของสายไฟฟ้าก็จะเป็นเรื่องและงบฯ ของกฟน. กฟภ. ไม่เกี่ยวกัน หรือสายกล้องจราจร CCTV ของ กทม. ก็จะเป็นความรับผิดชอบของ กทม. งบฯ ของ กทม. ไม่เกี่ยวกับส่วนนี้ ส่วนนี้จะเป็นสายสื่อสารของบริษัทเอกชนต่างๆ เท่านั้น เช่น ทรู ไอเอเอส ฯลฯ”

“ถนนเส้นไหนลงใต้ดินได้ก็จะนำลง ถนนเส้นไหนลงไม่ได้ก็จะใช้เป็นการจัดระเบียบโดยให้มีสายเส้นเดียวรวมสายสื่อสารของบริษัทเอกชนต่างๆ อยู่ในนั้น และใช้วิธีการจ่ายค่าเช่า ซึ่ง กสทช. จะเป็นผู้กำหนด แต่ค่าเช่านั้นจ่ายให้ NT ซึ่งจะเป็นบริษัทที่รับผิดชอบเรื่องท่อร้อยสายหรือกรจัดระเบียบการพาดสายทั้งหมดต่อจากนี้ แต่ก็ต้องรอดูว่าข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการฯ ที่สรุปออกมาแล้ว ครม. จะเห็นชอบกี่ข้อและเรื่องอะไรบ้างอีกที แต่ในขณะที่ยังไม่มีมติ ครม. ส่วนไหนที่อนุมติการทำงานไปแล้วก็ยังต้องทำต่อไปจนกว่าจะมีมติ ครม.และการแก้กฎหมายในหลายๆ ฉบับที่เกี่ยวกับงานส่วนนี้ ซึ่งการทำงานอาจล่าช้าไปหน่อยเพราะติดปัญหาเรื่องโควิด-19”

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ในส่วนของการนำสายไฟฟ้าลงดิน ไม่ว่าในกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัดก็จะยังคงเป็นความรับผิดชอบและงบประมาณของ กฟน.และ กฟภ. ในส่วนของสายสื่อสารของบริษัทเอกชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสายโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เคเบิลทีวี ฯลฯ ในอนาคตผู้ที่รับผิดชอบคือบริษัท NT ภายใต้แผนของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ โดยใช้งบประมาณของของกองทุน USO ในการทำทั้งประเทศ และในส่วนของสายสื่อสารของ กทม. เช่น CCTV ทั้งกล้องจราจรหรือกล้องบันทึกภาพเพื่อความปลอดภัยในการแก้ปัญหาอาชญากรรม ก็ยังคงเป็นความรับผิดชอบและงบฯ ของ กทม. เช่นเดิม

โดยล่าสุดคณะกรรมาธิการฯ เผยความคืบหน้าว่ากำหนดให้โครงการนำสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงดิน 1,500 กิโลเมตร ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้วเสร็จ ภายใน 3 ปี โดยปี 2565 นี้จะเริ่มการดำเนินการแบบเร่งด่วนสำหรับสายไฟสายสื่อสารระยะทาง 456 กิโลเมตร และในส่วน 936 กิโลเมตรที่เหลือจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 3 ปี นอกจากนี้ยังมีแผนนำสายไฟฟ้า-สายสื่อสารลงดินเพิ่มเติมในต่างจังหวัดกว่า 6,000 กิโลเมตร ภายในเวลา 3 ปี เช่นกัน

โดยหน่วยงานที่ดูแลจะประกอบไปด้วย

1) การไฟฟ้านครหลวง : กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง

2) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค : กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

3) กรุงเทพมหานคร : อำนวยความสะดวกการจราจรในพื้นที่การจัดระเบียบสายสื่อสาร และประสานงานกับตำรวจ ดูแลและอนุญาตการใช้พื้นที่ทางเท้า รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน

4) สำนักงาน กสทช. : กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานงานกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร

จากการเปลี่ยนแปลงนี้จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมีอยู่สองประการก็คือ การที่รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพโครงการนี้ทั่วประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นโครงการของอปท. และแหล่งที่มาของงบฯ ที่เปลี่ยนจากงบฯ ของอปท.เองมาเป็นงบฯ จากกองทุน USO รวมไปถึงการให้ บริษัท NT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เข้ามารับผิดชอบในการร้อยสายลงท่อแทนที่จะเป็นการเปิดประมูลให้เอกชนเหมือนก่อนหน้านี้

ในขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นยังเป็นหน่วยงานเดิม ไม่ว่าจะเป็น กสทช. ที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการวางแผนโครงการ และกทม. ก็รับผิดชอบในส่วนสายสื่อสารกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ของ กทม. เอง โดยดำเนินโครงการตามแผนของของการนำสายไฟฟ้าลงดินของกฟน. เนื่องจากไม่ว่าจะสายอะไร ในความรับผิดชอบของใครก็ล้วนแล้วแต่อยู่บนเสาไฟฟ้าของ กฟน. ทั้งนั้น

ซึ่งนำมายังคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยให้แผนการนำสายไฟฟ้าและสายสือสารลงดินนั้นรวดเร็วขึ้นหรือไม่ หลังจากที่ล่าช้ามาโดยตลอด และการกำหนดโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีนั้น จะทำได้หรือเปล่า ในขณะที่แผนเดิมในช่วงปีที่ผ่านมานั้นก็ยังไม่มีเส้นทางไหนแล้วเสร็จเลย

 

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-wireless

อ้างอิง

  • รายงานแผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร และการนําสายสื่อสารลงใต้ดิน ปีพ.ศ. 2560-2564

โดย กสทช.

  • แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ปีพ.ศ. 2561-2564
  • แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โดย การไฟฟ้านครหลวง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net