ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟจี้ 'ประยุทธ์' ต้องทวงคืนที่ดินเขากระโดง 5 พันไร่

ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ ยกรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 จี้ 'ประยุทธ์' ต้องทวงคืนที่ดินเขากระโดง 5 พันไร่ หลังศาลฎีการชี้ขาดแล้วว่าเป็นของการรถไฟ 


สุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.)

15 พ.ค. 2565 สภาที่ 3 แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่านายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึง การบุกรุกพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าพื้นที่โรงคลุมหรือโรงรถประวัติศาสตร์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่สักกะสัน เป็นพื้นที่สำคัญ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงกำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกา เวนคืนที่ดิน เพื่อที่จะเอาพื้นที่มักกะสันเป็นพื้นที่ของการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน พื้นที่นี้อนาคตจะต้องมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ตรงวัตถุประสงค์ ของรัชกาลที่ 5 เพราะฉะนั้นพื้นที่ของการรถไฟ ไม่ใช่มีเพียงที่โรงงานมักกะสัน แต่มีพื้นที่อื่นอีกในต่างจังหวัด เช่น เขากระโดง, หัวลำโพง ทั้งนี้รถไฟมีพื้นที่อยู่ 2 ประเภท คือ พื้นที่ใช้ในกิจการเดินรถและไม่ได้ใช้ในกิจการเดินรถ โดยจะใช้ขนส่งประชาชนและบริการทางสังคม ทั้งนี้รถไฟมีพื้นที่มากมายแต่ประสบปัญหาขาดทุน นั่นไม่ได้หมายความว่ารถไฟบริหารจัดการไม่ดี แต่รถไฟเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามวัตถุประสงค์เป็นรัฐวิสาหกิจไม่ได้มุ่งหากำไร แต่วัตถุประสงค์เพื่อที่จะตอบสนอง บริการประชาชน ทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งคนเป็นหลัก

“เพราะฉะนั้นเมื่อการรถไฟ ขาดทุนจากการเดินรถซึ่งตาม พ.ร.บ.รถไฟ 2494 ส่วนที่ขาดทุนนั้นรัฐจะต้องชดเชยแต่ที่ผ่านมารัฐไม่เคยที่จะชดเชยส่วนที่ขาด ตั้งแต่ปี 2528 เรื่อยมา ทำให้การรถไฟมีหนี้สะสม เพราะต้องไปกู้เงินเพื่อที่จะมาใช้จ่าย ในเรื่องของการบริหารจัดการ, การซ่อม, บำรุงต่างๆ จึงกลายเป็นหนี้สะสม รัฐไม่ได้สนับสนุนเรื่องชดเชยตรงนี้ จึงทำให้รถไฟต้องขาดทุน กลายเป็นวาทะกรรมหนึ่ง ที่สังคมไม่เคยรู้ว่า ความจริงแล้วรถไฟไม่ได้ขาดทุนเพราะบริหารจัดการไม่ดี แต่เป็นหน่วยงานสาธารณะประโยชน์ โดยบริการแบบไม่ได้มุ่งหากำไร และให้บริการในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าทุน เพื่อตอบสนองภาคประชาชน ภาคสังคม ภาคธุรกิจ ในเรื่องเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตประเทศมีความมั่นคง เพราะฉะนั้นตรงนี้เลยกลายเป็นภาระหน้าที่ของการรถไฟ และพนักงานการรถไฟทุกคน ที่ต้องบริการทางสังคม เพื่อที่จะให้ประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้สูง ใช้บริการเข้าถึงในราคาประหยัด ตรงนี้เป็นบริบทการทำงานของการรถไฟ” นายสุวิช กล่าว

นายสุวิช กล่าวว่าส่วนที่ดินที่มีอยู่แต่ไม่ได้ใช้ในเส้นทางการเดินรถ ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านก็ทรงมีวิสัยทัศน์ ที่จะนำพื้นที่เหล่านั้นไปสร้างประโยชน์หารายได้ และนำรายได้นั้นมาสนับสนุน เกี่ยวกับการบริการรถไฟ แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารถไฟมีปัญหา ในเรื่องของการถูกบุกรุก ใช้ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในเส้นทางการเดินรถ ตรงนี้จึงกลายเป็นประเด็นว่า รถไฟนอกจากบริหารจัดการด้านการขนส่งขาดทุนแล้ว ที่ดินที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าไร่ ก็ยังไม่ได้ทำให้เขาเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อที่จะนำรายได้มาสนับสนุนด้านบริการรถไฟ หนึ่งในนั้นคือเขากระโดง พื้นที่ประมาณ 5,083 ไร่ สังคมโดยเฉพาะพนักงานรถไฟ สงสัยว่าในเมื่อที่ดินของการรถไฟ ทั้งที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อปี 2560 และปี 2561 มีทั้งคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าที่ดิน 5,083 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟ มีคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาว่าที่ดิน ก็เป็นของการรถไฟ แต่ท้ายที่สุดการดำเนินการ เพื่อนำที่ดินกลับคืนมาเป็นของการรถไฟ ไม่มีความคืบหน้า จึงกลายเป็นข้อกังขาของสังคม และพนักงานการรถไฟ ว่าทำไมไม่บริหารจัดการที่ดิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วกลับมาเป็นของการรถไฟ 

“เขากระโดงเป็นพื้นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า รถไฟไม่ปฏิบัติหรือละเว้นจริงหรือไม่ หลายคนตั้งคำถามในข้อเท็จจริงนั้น ล่าสุดเท่าที่ฟังมาการรถไฟ ไปฟ้องศาลปกครอง ฟ้องกรมที่ดินเรื่องเกี่ยวกับ การไม่เลิกถอนเอกสารสิทธิ์ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อประมาณปลายเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่าน มาแต่ปรากฏว่า กรมที่ดินก็มีข้อชี้แจงมาว่า การที่จะออกโฉนดหรือการกำหนดแผนที่เขตที่ดิน รถไฟต้องไปทำชี้แนวรังวัดเขตของตัวเอง ร่วมกับกรมที่ดินซึ่งเป็นผู้ออกเอกสารสิทธิ์ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีชาวบ้านอยู่ในเขตที่เดียวกันหรือใกล้เคียง ก็จะต้องไปกำหนดเขตรังวัดเช่นกัน” นายสุวิช กล่าว

ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ กล่าวต่อว่า แต่ที่ผ่านมารถไฟไม่ได้ไปชี้แนวเขต ตรงนี้ จึงทำให้กรมที่ดินจะดำเนินการต่อ ก็มีความเห็นที่ว่าการจะออกเอกสารสิทธิ์ ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อที่จะสอบสวนข้อเท็จจริง เรื่องสิทธิ์หรือเอกสารที่จะออก แล้วนำเสนอต่ออธิบดีกรมที่ดิน เพื่อที่จะออกโฉนด จึงกลายเป็นข้อพิพาท ซึ่งเดิมทีการรถไฟ มีข้อพิพาทกับภาคประชาชน 35 ราย ปรากฏว่ารถไฟชนะคดี หมายความว่าสิ่งที่รถไฟจะต้องทำ คือ จะต้องเพิกถอนขับไล่ผู้บุกรุก เท่าที่ตนทราบมา 35 รายที่แพ้คดี ทางกรมที่ดินก็ระงับการขอออกโฉนดไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้น 35 รายไปฟ้องการรถไฟ ว่าที่รถไฟไปคัดค้านการขอออกโฉนด ท้ายที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาว่า ที่ดินทั้งหมดเป็นของการรถไฟ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ดังนั้นคนที่ไปบุกรุก 35 รายก็จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ และรถไฟต้องเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ 

“35 รายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ยังไม่ได้ออกจากพื้นที่ แต่ตนได้รับข้อมูลมา คือคนที่แพ้คดีในศาลและเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่มานาน เขาก็อยากอยู่แบบถูกกฎหมาย เขายินดีที่จะทำสัญญากับการรถไฟ ในเรื่องของการเช่าอยู่แบบถูกต้องตามกฎหมาย แต่วันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในส่วนนี้ เลยกลายเป็นมหากาพย์ของเขากระโดง และสังคมแม้แต่ สื่อก็ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมหน่วยงานของรัฐ ซึ่งควรที่จะประสานร่วมมือกัน ในการแก้ไขปัญหากลับกลายเป็นว่าฟ้องกันเอง”

นายสุวิช กล่าวอีกว่า ในการดำเนินการเหล่านี้ รวมถึงที่ดินแปลงอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อพิพาท 2 แปลงที่ว่า ให้มีการเพิกถอนก็ยังไม่ดำเนินการ ที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว เป็นที่ดินของนักการเมืองตระกูลใหญ่ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่จะดำเนินการอะไร ล่าสุดที่บอกว่าผู้ว่าให้สัมภาษณ์กับสื่อ เพราะทราบมาว่าทนายได้ไปยื่นต่อ คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่รัฐสภา และเรื่องการปฎิบัติด้านจริยธรรม ของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการรถไฟ หลังจากที่ไปยื่นแล้ว ผู้ว่าการการรถไฟก็แถลงข่าว ในวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ว่ารถไฟจะไม่ระรานประชาชนซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเขากระโดง เพราะเอกสารสิทธิ์นั้นถูกต้อง และว่ารัฐมนตรีก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง แต่สังคมก็ตั้งคำถามอีกว่าถ้าที่ดิน ที่มีผู้ปลูกสร้างแนวเขตริมทางรถไฟมักกะสัน 100 กว่าราย ถูกฟ้องขับไล่ ก็เลยกลายเป็นว่าเรื่องนี้ รถไฟปฏิบัติ 2 มาตรฐานหรือไม่

“ตรงนี้ทั้งผมและสังคมจับตาดูว่าท้ายที่สุดแล้ว การดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ของการรถไฟจะไปในรูปแบบไหน เพราะตอนนี้เหมือนกับหน่วยงานของรัฐ ปัดความรับผิดชอบ ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้อยากเรียนถึง นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 53 รัฐพึงใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากผู้นำรัฐบาลไม่ทำเรื่องนี้ให้ปรากฏ ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่เสถียรภาพของรัฐบาล อยากฝากถึงท่านนายกรัฐมนตรี ช่วยตรวจสอบและดำเนินการเรื่องนี้ ให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะสังคมตั้งข้อสังเกตมาก ท้ายที่สุดสื่อก็ติดตามเรื่องนี้ อย่างใจจดใจจ่อ และในเรื่องของการทวงคืนพื้นที่เขากระโดง จนกลายเป็นวลีมหากาพย์เขากระโดง หรือว่าเขากระโดงเป็นรัฐอิสระ ไม่สามารถที่จะทวงคืนกลับมาเป็นพื้นที่ของการรถไฟได้” นายสุวิช กล่าว

ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ กล่าวว่า ส่วนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเดินรถ อย่างเขากระโดง 5,083 ไร่ ถ้ารถไฟเรียกคืนกลับมาเป็นของการรถไฟ ก็สามารถที่จะสร้างรายได้ไม่น้อยในแต่ละปีเพราะที่ดินเขากระโดง มีสนามฟุตบอลช้างอารีน่า สนามแข่งรถ เป็นที่ตั้งสำนักงาน ถ้าดูในรายละเอียดก็จะมีความชัดเจน ในเรื่องของการที่จะนำมาพัฒนารายได้ แต่ท้ายที่สุดการรถไฟไม่ได้รายได้ แล้วจะตอบสังคมอย่างไร รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้หรือไม่ แต่เท่าที่ทราบภาคประชาชนและสังคม ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นมหากาพย์ยังหาข้อสรุปไม่ได้ นโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม จะนำพื้นที่ไปบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำพื้นที่ไปพัฒนาเพื่อให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะที่ดินมักกะสัน ซึ่งมีโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ที่จะปรับปรุงพัฒนา พื้นที่มักกะสันให้เป็นแลนด์มาร์ค ตรงนี้เป็นเงื่อนไข 1 ที่จะหารายได้ให้กับการรถไฟ แต่แท้จริงแล้วก็ยังมีประเด็นปัญหาอีก ในเรื่องของการที่จะส่งมอบพื้นที่ เพื่อที่จะหารายได้ 

“ที่ดินรถไฟทุกพื้นที่ มีการกำหนดเขตพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดิน ซึ่งมีประกาศเป็นพระบรมราชโองการ มีวัตถุประสงค์ว่าที่ดินนี้ เอาไว้ใช้ทำประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นหากเรานำที่ดินไปทำ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตรงนี้สามารถทำได้หรือไม่ตรงนี้ก็เป็นข้อสังเกตหนึ่ง ซึ่งมักกระสันก็เป็นพื้นที่ลักษณะเดียวกัน “นายสุวิช กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท