ทะลุวัง: พวกเธอกำลังทิ่มแทงทะลุทะลวงไปที่ใจกลางปัญหาของสังคมไทย 

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

BLACK LIVES MATTER 
FRIDAYS FOR FUTURE 
ME TOO
NO WAR, NO NATO
I WAS RAPED IN BUCHA 

เรากำลังอาศัยอยู่ในโลกที่เต็มไปวิกฤตนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น สงคราม โรคระบาด ความยากจน เผด็จการอำนาจนิยม การเหยียดเพศ สีผิว ชาติพันธุ์ สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ดังนั้น ย่อมเป็นเรื่องไม่แปลกที่ศตวรรษที่ 21 จะเป็นยุคสมัยแห่งการชุมนุมประท้วง ฝูงชนผู้ทนทุกข์ โกรธแค้นและต้องการส่งเสียงของตนต่างไหลบ่าลงบนท้องถนน

ตัวอย่างของการประท้วงทั่วโลกมีอยู่ดาษดื่น ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติทางสีผิวของเจ้าหน้ารัฐทำให้ขบวนการ Black Lives Matter จุดติด ผู้ชุมนุมต่างเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจอย่างเป็นรูปธรรม (ดังสโลแกน “defund the police (ตัดงบตำรวจ)”) สภาวะโลกร้อนทำให้เยาวรุ่นจำนวนมากประกาศว่าจะไม่ไปโรงเรียนทุกวันศุกร์ สารแห่งการประท้วงของพวกเขาชัดเจน “We will go to school if you keep the climate cool (เราจะไปโรงเรียนเมื่อคุณคงไว้ซึ่งอากาศเย็น)”

หรือตัวอย่างสุดท้าย เมื่อรัสเซียบุกยูเครน ยึดเมือง ระเบิดตึกรามบ้านช่อง และสังหารพลเรือนในพื้นที่ การประท้วงต่อต้านสงครามของปูตินก็เกิดขึ้นทั่วโลก สารของผู้ประท้วงอาจมีหลากหลาย ตั้งแต่การต่อต้านทั้งสงครามและไม่เอานาโต้ ไปจนถึงการประณามอาชญากรรมที่โหดร้ายที่ผู้ก่อสงครามกระทำในเมืองบูชา หรือแม้กระทั่งการประท้วงกดดันให้ประชาคมระหว่างประเทศลงโทษรัสเซียให้หนักขึ้นผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจ (“Puck Futin, More Sanctions!!”)

“คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” “เดือดร้อน/ไม่เดือนร้อน”

“คุณยินดียกบ้านของคุณให้กับราชวงศ์หรือไม่” “ยินดี/ไม่ยินดี”

ท่ามกลางวัฒนธรรมการประท้วงหรือการเมืองบนท้องถนนที่ลุกลามแพร่หลายไปทุกที่ เรามักคุ้นเคยกับแบบแผน สโลแกน การแสดงออกโดยทั่วไปของผู้ประท้วง โครงสร้างภาษาของการประท้วงมักต้องประกอบไปด้วยการระบุว่าผู้ประท้วง “ต่อต้าน” อะไร และพวกเขา “สนับสนุน” อะไร ยกตัวอย่างเช่น ในขบวนการ Occupy Wallstreet ผู้ประท้วงต่างมาพร้อมกับป้ายประท้วงที่ระบุว่าพวกเขาคือคนส่วนมาก “99%” ที่กำลังถูกอภิสิทธิ์ชนเพียงหยิบมือ “1%” เอาเปรียบขูดรีด ในอีกทางหนึ่ง วิกฤตผู้ลี้ภัยและกระแสชาตินิยมก็ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายขวา อนุรักษ์นิยมลงถนนพร้อมสารต้านคนต่างด้าวที่ชัดเจน “Build the wall, nice and tall (สร้างกำแพงซะ เอาให้สวยๆ และสูงๆ )”

เมื่อมองย้อนกลับมาที่วัฒนธรรมการประท้วงหรือการเมืองบนท้องถนนระลอกล่าสุดของไทย จะเห็นได้ว่าภาษาแห่งการประท้วงของกลุ่ม “ทะลุวัง” กลับมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน เป็นโพลสำรวจ เป็นการตั้งคำถาม ผู้คร่ำหวอดเชี่ยวชาญด้านการประท้วงจากโลกตะวันตก จากตำราขบวนการเคลื่อนไหวสำนัก contentious politics หรือสำนักฮาเบอมาสเซียนที่มุ่งสำรวจ communicative action เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยทางตรง พวกเขาเหล่านี้อาจปัดตกไปว่าป้ายโพลสำรวจของกลุ่มทะลุวังนี้ไม่อาจนับได้ว่าเป็นการประท้วงหรือการเคลื่อนไหวทางสังคมได้ อะไรคือข้อเรียกร้องของกลุ่ม? สารของนักกิจกรรมหญิงเยาวรุ่นเหล่านี้ต้องการจะสื่อไปยังใคร? พวกเธอกำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มีความสลักสำคัญอย่างไร?

มองจากมุมของมาตรฐานการประท้วงสากลแล้ว มันคงเป็นเรื่องแปลกหากเราจะเรียกการปรากฏตัวในที่สาธารณะพร้อมป้ายคำถาม “ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย” หรือ “ต้องการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ในเมืองนี้ ต้องการ/ไม่ต้องการ” ว่าเป็นการประท้วง ว่าเป็นการกระทำทางการเมืองที่ท้าทายผู้มีอำนาจ ว่าเป็นภัยต่อรัฐ อย่างดีที่สุด รูปแบบของการแสดงออกเหล่านี้ก็อาจเป็นได้แค่การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ หรือการหยั่งเสียงสำรวจความเห็นสาธารณชน มันจะกลายเป็นการต่อต้านที่ท้าทายอำนาจ ถูกรัฐตราหน้าว่าเป็นอาชญากรรมอันนำไปสู่การจับผู้ทำโพลเข้าคุกได้อย่างไร?  

ผู้เขียนมองว่า ป้ายโพลของกลุ่มทะลุวังคือภาษาแห่งการประท้วงต่อต้าน(อย่างสันติ)ที่ทิ่มแทงไปที่แก่นกลางปัญหาของสังคมไทย ปัญหาที่ว่านี้หาใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ขบวนเสด็จ” หรือ “ที่ดินของราชวงศ์” โดยตรง แต่เป็นปัญหาว่าด้วยการตั้งคำถามโดยรวมเกี่ยวกับอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในรัฐแบบไหน หากรัฐกำลังจับกุมคนที่เพียงแค่ “ตั้งคำถาม” โดยที่พวกเธอปล่อยให้คนที่เดินตามท้องถนนเป็นคน “ตอบ” ผ่านการติดสติ้กเกอร์ (ไม่ใช่การตอบแบบพรรณนาโวหารเสียด้วยซ้ำ) เพดานเสรีภาพของรัฐไทยได้ลดมาต่ำเตี้ยเพียงใดจนรูปแบบของการประท้วงต่อต้านถูกบีบให้เป็นเพียงแค่การเคลื่อนไหวของเยาวรุ่นหญิงไม่กี่คนพร้อมป้ายประโยคคำถาม? 

นี่คือคุณูปการของกลุ่มทะลุวัง การต่อสู้ของพวกเธอสะท้อนการหยัดยืนไม่ยอมแพ้ภายใต้บริบทที่แทบไม่เปิดโอกาสให้การเมืองบนท้องถนนเกิดขึ้นได้

ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า พวกเธอเหล่านี้ต้องมีความกล้าหาญสักเพียงใดที่จะออกไปปฏิบัติการทางการเมืองที่ทรงพลังเหล่านี้ การประท้วงของพวกเธอต่างไปจากการชุมนุมของมวลชนขนาดใหญ่ที่เราต่างพอจะอุ่นใจได้ว่าอย่างน้อยคนรอบข้างก็คือสหายร่วมอุดมการณ์ การต่อต้านของทะลุวังกลับกระโดดลงไปในหลุมมืดแห่งความไม่แน่นอน

พวกเธอปรากฏตัวพร้อมคำถามแสนธรรมดา “ที่ถามไม่ได้” พวกเธอไม่มีทางรู้ว่าคนมากหน้าหลายตาที่เดินผ่านไปมาแล้วเห็นป้ายนี้ จะมีใครที่ “รับไม่ได้” กับคำถามแบบนี้ไหม จะมีใครกล้าพอที่จะเดินเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นกับโพลของพวกเธอหรือไม่ ผลโพลสุดท้ายแล้วจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ในอีกทางหนึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็สะท้อนหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานสากลทั่วไปที่เชื่อว่า การเคลื่อนไหวประท้วงควรเปิดโอกาสให้คนธรรมดาเข้าร่วม (ไม่ว่าจะมีจุดยืนเหมือนหรือต่างไปจากเรา) เมื่อทะลุวังทำหน้าที่เป็นช่องทางให้คนมากหน้าหลายตาลงความเห็นแล้ว รัฐก็ควรรับฟัง ไม่ใช่เอากฎหมายไปไล่ล่าคนทำโพล

ในช่วงเวลาหนึ่ง ภัยคุกคามของรัฐอาจอยู่ในรูปแบบของการที่นิสิต นักศึกษาออกจากเมืองสู่ป่าไปจับปืน อีกสมัยหนึ่งอาจเป็นลุงๆ ป้าๆ ถือเสื้อแดงถือตีนตบ อีกสมัยหนึ่งอาจเป็นกลุ่มเยาวรุ่นพร้อมเป็ดยาง และในสมัยนี้ ภัยคุกคามของรัฐกลับเป็น เยาวรุ่นหญิงสามสี่คนพร้อมกระดาษหนึ่งแผ่น ปากกาเมจิค และสติ้กเกอร์ที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ อาวุธพวกนี้หรือที่กำลังบ่อนเซาะทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของผู้สูงส่งในราชอาณาจักร?
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท