งานศึกษา นศ.ป.โท ม.รังสิต เผยคนกรุงฯ 93% ไม่เอารัฐประหาร ขอเลือกตั้ง ผอ.เขต - เอา ส.ข.คืนมา

งานวิจัยนักศึกษา ป.โท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เผยคนกรุงฯ 93% ไม่เอารัฐประหาร 57 อีกทั้ง 97.8% ต้องการให้ ผอ.เขตทั้ง 50 เขต มาจากการเลือกตั้ง และ 97.7% ให้ ส.ข.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ชี้รัฐบาลรัฐประหาร คสช. ยกเลิกการมี ส.ข. นั้น เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความต้องการของคนกรุงเทพฯ

16 พ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 พ.ค.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ โฟกัสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยแพร่ ข้อมูลงานวิจัยของภาณุพัฒน์ เหลือพร้อม พิมพ์ณัฐชยา โรจนโยทิน ฐรดา สิรปวเรศ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ที่ได้วิจัยเรื่อง “ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565” เจาะลึกเขตดอนเมือง เขตพระนคร และเขตจอมทอง ตามลำดับ ซึ่งเก็บแบบสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป เขตละ 400 คน รวม 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16 เม.ย. - 8 พ.ค. 2565

โดย ธำรงศักดิ์ ระบุว่า ขอนำเสนอสรุปบางด้าน ดังนี้

ด้านเพศ ชาย 554 คน 46.2% หญิง 618 คน 51.5% เพศทางเลือก 28 คน 2.3%

ด้านอายุ Gen Z (อายุ 18-25 ปี) 300 คน 25.0% Gen Y (อายุ 26-42 ปี) 572 คน 47.6% Gen X (อายุ 43-57 ปี) 247 คน 20.6% Gen Baby Boomer ขึ้นไป (อายุ 58 ปีขึ้นไป) 81 คน 6.8%

ด้านการศึกษา ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 10 คน 0.8% มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 179 คน 14.9% อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 412 คน 34.3% ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 506 คน 42.2% สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 93 คน 7.8%

ด้านรายได้ รายได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10,000 มี 86 คน 7.1% รายได้ 10,001-20,000 มี 498 คน 41.5% รายได้ 20,001-30,000 มี 404 คน 33.7% รายได้ 30,001-40,000 มี 130 คน 13% รายได้ตั้งแต่ 40,001 ขึ้นไป มี 56 คน 4.7%

ด้านอาชีพ นักเรียนนักศึกษา 154 คน 12.8% พนักงานเอกชน 416 คน 34.7% รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 171 คน 14.2% เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 131 คน 10.9% ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 199 คน 16.6% พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน 7.8% อื่นๆ 36 คน 3.0%

คำถาม 1. ท่านคิดว่าผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ของ กทม. ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ (รวม 1,200 คน)

เห็นด้วย 1,173 คน 97.8%

ไม่เห็นด้วย 5 คน 0.4%

ไม่มีความเห็น 22 คน 1.8%

(หมายเหตุ : ผู้อำนวยการเขตมีหน้าที่บริหารงานเขตนั้นเป็นตำแหน่งของข้าราชการประจำตลอดมา ขณะที่ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจในระดับเทศบาลนครขนาดใหญ่)

คำถาม 2. ท่านคิดว่าควรมีสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ทั้ง 50 เขตที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ (รวม 1,200 คน)

เห็นด้วย 1,172 คน 97.7%

ไม่เห็นด้วย 7 คน 0.6%

ไม่มีความเห็น 21 คน 1.7%

(หมายเหตุ : สมาชิกสภาเขตทั้ง 50 เขต มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมแนะนำเร่งรัดการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการเขตที่เป็นข้าราชการประจำให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน รัฐบาลรัฐประหาร คสช. 2557 ได้ยกเลิก ส.ข. ด้วยกฎหมายปกครองท้องถิ่นฉบับแก้ไขเมื่อต้นปี 2562)

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุด้วยว่า จากการวิจัยเจาะลึก 3 เขตของกรุงเทพฯ สามารถกล่าวสรุปเชิงภาพรวมได้ว่า 1. คนกรุงเทพฯ เห็นด้วยให้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ของ กทม. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสูงมากถึง 97.8% ไม่เห็นด้วย 0.4% ไม่มีความเห็น 1.8% 2. คนกรุงเทพฯ เห็นด้วยให้สมาชิกสภาเขตทั้ง 50 เขต มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สูงมากถึง 97.7% ไม่เห็นด้วย 0.6% ไม่มีความเห็น 1.7% และ 3. รัฐบาลรัฐประหาร คสช. ยกเลิกการมี ส.ข. นั้น เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความต้องการของประชาชนกรุงเทพฯ

คนกรุงฯ 93% ไม่เอารัฐประหาร 57

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา เพจดังกล่าว นำข้อมูลงานวิจัยนี้มาเสนอด้วยว่า ในส่วนคำถาม ท่านเห็นด้วยกับการรัฐประหารของ คสช. พ.ศ.2557 หรือไม่ (1,200 คน) นั้น นั้น พบว่า เห็นด้วย 32 คน 2.7%, ไม่เห็นด้วย 1,116 คน 93.0% และ ไม่มีความเห็น 52 คน 4.3%

ธำรงศักดิ์ ระบุว่า สามารถกล่าวสรุปเชิงภาพรวมได้ว่า 1. คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คสช. 2557 อย่างชัดเจนถึง 93% เห็นด้วยกับรัฐประหาร 2557 เพียง 2.7% ไม่มีความเห็น 52 คน 4.3% และ 2. คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คสช. 2557 ทั้งชายหญิงเพศทางเลือก ทุกช่วงอายุ ทุกอาชีพแม้แต่ข้าราชการพนักงานของรัฐ และทุกกลุ่มรายได้

เพจดังกล่าวระบุหมายเหตุไว้ด้วยว่า เพจ “โฟกัสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต” มีวัตถุประสงค์ที่จะนำความรู้วิชาการด้านรัฐศาสตร์มาศึกษาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 22 พ.ค. 2565 และเผยแพร่ความรู้วิชาการแก่นักศึกษาและประชาชน ข้อมูลและทัศนะที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียน/ผู้สัมภาษณ์ ไม่ได้เป็นข้อมูล/ทัศนะของคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต แต่ประการใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท