Skip to main content
sharethis

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ยื่นหนังสือถึงนายอำเภอ เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบเหมืองแร่โปแตช ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีสัดส่วนของผู้ได้รับผลกระทบร้อยละ 50 สั่งให้ บริษัท จ่ายค่าชดเชยและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต้องมีการแก้ไข/ปรับปรุง วิธีการทำเหมืองแร่ หากทำไม่ได้ต้องมีการเพิกถอนใบประทานบัตร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาแทน

18 พ.ค.2565 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา รายงานต่อสือมวลชนว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายอำเภอด่านขุนทด ณ ที่ว่าการอำเภอด่านขุดทด เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ 3 ตำบล ตำบลหนองไทรตำบลหนองบัวตะเกียด และตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา

กลุ่มฯ ขอให้มีคําสั่งให้ตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด โดย บริษัท ไทยคาลิ จํากัด ประทานบัตรเลขที่ 28831/16137 พร้อมจ่ายค่าชดเชยเยียวยาผลกระทบจากการทําเหมือง และปรับปรุงแก้ไขโครงการ ไม่ให้สร้างผลกระทบอีกในอนาคต

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด รวมตัวมาร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่รัฐให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการของเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตชร่วมกับประชาชนในพื้นที่

โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด มีข้อเรียกร้องดังนี้  

  1. ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช โดยมีสัดส่วนของผู้ได้รับผลกระทบร้อยละ 50
  2. ขอให้ท่านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคำสั่งให้ บริษัท ไทคาลิ จำกัด จ่ายค่าชดเชยและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่
  3. ต้องมีการแก้ไข/ปรับปรุง วิธีการทำเหมืองแร่ไม่ให้สร้างผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอี
  4. หากบริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามข้อ 1. 2. และ 3. ต้องมีการเพิกถอนใบประทานบัตร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาแทน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด รายงานด้วยว่า นายอำเภอได้เดินทางลงมารับหนังสือ เวลาประมาณ 10.00 น.  พร้อมรับฟังปัญหาน้ำเค็มกระจายเข้าสู่บริเวณที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ และผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดยรับปากกับว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทันทีโดยการนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาในสัปดาห์หน้านี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ยังมีข้อสังเกตและข้อสงสัยในชุมชนว่ากระบวนการอนุมัติประทานบัตรอาจไม่ถูกต้องตามกระบวนการ และการดำเนินการขุดแร่โปแตชของบริษัทไทยคาลิอาจขุดไปเจอตาน้ำใต้ดิน เช่นเดียวกันกับเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ หรือไม่ จนทำให้น้ำในพื้นที่ทั้งหมดมีความเค็มขึ้น จนบริษัทต้องขอหยุดการทำเหมืองชั่วคราว ถ้าหากเรื่องนี้เป็นความจริงผลกระทบที่ตามมาคงจะกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างของอำเภอด่านขุนทดอย่างแน่นอน

ภาพผลกระทบ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม  กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ระบุว่า บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้เริ่มยื่นขอประทานบัตร ประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช จำนวน 9,900 ไร่ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2555 มีผลอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ.2557 และได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชในวันที่ 7 ก.ค. 2558 การประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตซ ของบริษัทไทยคาลิจำกัด มีแผนการทำเหมืองด้วยวิธีแบบห้องว่างสลับเสาค้ำยัน (Room and Pillar) แต่ใช้วิธีการแต่งแร่แบบตกผลึกเย็น (Cold Crystallization) และการลอยแร่ (Flotation) เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท จากปริมาณสำรองแร่โปแตซ 103 ล้านตัน

ทำให้พื้นที่ อำเภอด่านขุนทด จะเป็นแร่โปแตซชนิดคาร์นัลไลต์ มีความสมบูรณ์เฉลี่ย 20.78% KCI ข้อมูลทางธรณีวิทยาที่ระบุไว้ว่า แหล่งแร่โพแทชในประเทศรวมกัน 17,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่จะอยู่ใน 2 แอ่ง คือ แอ่งโคราช กับแอ่งสกลนคร

หลังได้รับประทานบัตรเพียงปีเดียว ในปี พ.ศ.2559 เหมืองแร่โปแตชดังกล่าว มีการขุดคันดินรอบเหมืองและบ่อเก็บกากแร่ และเกิดการรั่วไหลของน้ำเค็มเข้าสู่ที่ดินสาธารณะและพื้นที่ทำกินของประชาชนบริเวณโดยรอบ จนผลผลิตของประชาชนเสียหาย ต้นไม้โดยรอบตายเนื่องจากผลของความเค็ม บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างผุกร่อน เห็นได้จากเมรุวัดบ้านหนองไทร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณติดกับพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช มีการผุกร่อนจนมีความเสี่ยงที่จะพังทลายเสียหาย

ต่อมาประชาชนในพื้นที่ได้เรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากการดำเนินกิจการของเหมืองเเร่โปแตช ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ในครั้งนั้น ก็ได้ตกลงว่าจะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นรายปี กระทั่ง ปี 2564 บริษัทเเจ้งว่าไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เเละพบว่ายังมีการระบายน้ำเสียจาก เหมืองแร่ลงไปในบ่อน้ำสาธารณะ และแพร่กระจายลงไปยังที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net