แย้ง 'ศรีสุวรรณ' iLaw กางกฎหมายชี้การออกแบบป้ายหาเสียงให้รียูสได้ ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

iLaw กางกฎหมายชี้การออกแบบป้ายหาเสียงให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง หลัง 'ศรีสุวรรณ จรรยา' ร้อง กกต. เอาผิด 'ชัชชาติ' ทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไป ใช้ใหม่เพื่อทำ “กระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน” อันเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเอง

18 พ.ค.2565 จากกรณี ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ไต่สวนสอบสวน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อทำ “กระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน” อันเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 65 (1) นั้น

iLaw โพสต์แย้งว่า ตามบทบัญญัติ มาตรา 65 (1) ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ระบุว่า

"มาตรา 65 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไป ลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด"

iLaw ระบุว่า หากนำบทบัญญัติดังกล่าวมาเทียบเคียงกับกรณีการทำป้ายหาเสียงของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะพบว่า การทำป้ายดังกล่าวไม่มีเจตนาจัดทำป้ายเพื่อมาแจกจ่ายผู้ใดอันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับตัวเอง และชัชชาติได้ชี้แจงในทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 ว่า ทีมงานออกแบบป้ายหาเสียงเพื่อให้ Recycle ได้ เพราะไม่อยากให้กลายเป็นขยะหลังการเลือกตั้ง และจะไว้ใช้กันต่อกันเองในทีม

ดังนั้น ลำพังแค่การออกแบบป้ายหาเสียงให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ จึงไม่เพียงพอต่อการบอกว่าเป็นการจัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเอง

ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า หลังจากปิดหีบเลือกตั้งแล้ว ก็จะมีชาวบ้านหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่เขตต่างๆ จะออกมาเก็บป้ายหาเสียงของผู้สมัครไปเป็นของตนแทบทั้งสิ้น ก็ไม่ได้เข้าข่ายตามองค์ประกอบความผิด เพราะไม่ได้จัดทำ หรือ จัดเตรียมป้ายหาเสียงเพื่อจะแจกจ่าย หรือมีการสัญญาว่าจะให้กับผู้ใดเพื่อจูงใจอย่างเฉพาะเจาะจง การที่มีคนเก็บป้ายไปเป็นของตน จึงไม่ได้เกิดจากตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้จัดทำหรือมอบให้กับประชาชน

 

ด้าน ศรีสุวรรณ โพสต์อธิบายการยื่นคำร้องของตัวเองว่าา แผ่นป้ายดังกล่าว มีการจัดทำแพตเทิร์น(Pattern)เป็นลายบางๆ ไว้ให้นำไปตัดเย็บตามรอยปะไว้เสร็จสรรพ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปหมุนเวียน (Recycle) โดยตัดเย็บเป็นกระเป๋าหรือเป็นผ้ากันเปื้อน ไว้ใช้ต่อกันเองได้ แม้จะพยายามสื่อว่าจะนำแผ่นป้ายดังกล่าวกลับมาตัดเย็บใช้กันเองในทีมหาเสียงก็ตาม แต่ทว่าป้ายหาเสียงมีจำนวน 380 ป้ายทีมหาเสียงมี 380 คนหรืออย่างไร ซึ่งการเก็บกลับมาใช้เองเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะหลังจากปิดหีบเลือกตั้งแล้ว ก็จะมีชาวบ้านหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่เขตต่างๆ จะออกมาเก็บป้ายหาเสียงของผู้สมัครไปเป็นของตนแทบทั้งสิ้น ซึ่งถ้าจะเอาป้ายดังกล่าวนำกลับมาตัดเย็บใช้กันเองในทีม หลังจากเลือกตั้งผ่านไปแล้ว กกต. จะต้องไปตรวจสอบว่ามีการจัดเก็บป้ายทั้งหมดกลับไปทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อนครบ 380 ผืนจริงหรือไม่ด้วย

นอกจากนั้น แผ่นป้ายดังกล่าวอาจเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2563 ข้อ 18 อีกด้วยเนื่องจากไม่ระบุชื่อชื่อตัว ชื่อสกุล ของผู้ว่าจ้าง แต่กลับไประบุ“ชมรมกรุงเทพฯน่าอยู่กว่าเดิม”มาเป็นผู้ว่าจ้างแทน ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย เพราะตรวจสอบไม่ได้ว่าชมรมดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ อีกทั้งข้อความดังกล่าวอักษรตัวเล็กมากและเบลอไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตามที่ระเบียบกำหนด

ศรีสุวรรณ ระบุอีกว่า การจัดทำแผ่นป้ายหาเสียงในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ อันเข้าข่ายการฝ่าฝืน ม.65(1) แห่ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ซึ่งถ้า กกต.วินิจฉัยว่าเข้าข่ายก็อาจมีความผิดตาม ม.126 ของกฎหมายดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปีด้วย 

อนึ่ง รีไซเคิล (Recycle) กับ รียูส (Reuse) หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ มีความแตกต่างกัน Finance-Rumour อธิบายไว้ว่า รีไซเคิลคือการนำวัสดุที่เป็นขยะมาแปรสภาพเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ได้อีก เช่น การหลอมจนได้เป็นวัสดุเดิมหรือได้เป็นวัสดุใหม่ ขณะที่รียูส การนำวัสดุที่เป็นขยะนำกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดคุณค่ามากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นการนำกลับมาใช้ซ้ำนั่นเอง การรียูสแตกต่างจากการรีไซเคิลตรงที่เป็นการนำมาใช้ใหม่โดยไม่ต้องแปรรูปใดๆ แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้งานไปบ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท