Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา 5 พรรคการเมือง ประชาธิปัตย์ ใจรักชาติ เศรษฐกิจไทย ครูไทยเพื่อประชาชน และก้าวไกล ร่วมนำเสนอนโยบาย “การกระจายอำนาจและท่าทีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” ณ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนประกาศจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่คู่ขนานผู้ว่าฯ กทม. วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. ณ ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 16.00 -19.00 น.

18 พ.ค. 2565 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว “Lanner” ได้รายงานว่า ภาคีเครือข่ายรณรงค์ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่” ได้จัดเวทีพรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย “การกระจายอำนาจและท่าทีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” ณ ลานอเนกประสงค์ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพรรคการเมือง 5 พรรคได้แก่ 1. พรรคประชาธิปัตย์ 2. พรรครวมใจรักชาติ 3.พรรคเศรษฐกิจไทย 4.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ5. พรรคก้าวไกล ร่วมนำเสนอนโยบาย ทั้งนี้ มีพรรคไทยสร้างไทยร่วมสังเกตการณ์

พรรคประชาธิปัตย์มองจากอดีตที่ผ่านมา ในช่วงที่ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคมีนโยบายที่โดดเด่น เช่นนโยบายในการผลักดันการกระจายอำนาจ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลักดันในมีสภาตำบล และยังมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง เชียงใหม่มีศักยภาพในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีความพร้อม จึงเหมาะสมที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ

เช่นเดียวกันกับพรรครวมใจรักชาติให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการให้มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และจะสนับสนุนเต็มที่ วัฒนธรรมเชียงใหม่มีความเฉพาะ มีภาษาเขียน ภาษาพูดของตัวเอง น่าจะไปไกล ไม่ใช่แค่เมืองที่กำลังพัฒนา ควรมีผู้ว่าฯ ที่มาจากคนในพื้นที่ และพรรคพรรคครูไทยเพื่อประชาชนมีวาระการกระจายอำนาจเป็นหลัก และอยากเห็นการนำร่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่จะเป็นต้นแบบ อยากเห็นพรรคการเมืองทุกพรรคร่วมมือกันทำ ไปในแนวทางเดียวกัน พื้นที่จะต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ จะปฏิวัติการศึกษา หลักสูตร ครู และระบบบริหาร ต้องกระจายมาถึงโรงเรียน การศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง

ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทย เสนอให้มีการยุบส่วนภูมิภาค ควรจะมีแค่ราชการส่วนกลางและท้องถิ่นเท่านั้น ท้องถิ่นต้องมีการยุบรวม ปรับปรุงให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันกับพรรคก้าวไกล กล่าวว่าเรื่องกระจายอำนาจเป็นนโยบายเรือธงของพรรค ในชื่อว่า “ยุตินโยบายรวมศูนย์” คืนอำนาจที่พวกเราเคยมี พรรคมี 5 เสาหลักที่เป็นการกระจายอำนาจที่ควรจะเป็น คือ 1) ต้องยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมด ให้เหลือเพียงรัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น 2) งาน ต้องไปพร้อมกัน ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการบริการสาธารณะทั้งหมด 3) เงิน ท้องถิ่นได้เพียง 35% แต่เป็นเงินฝากไว้ ต้องผลักดันสัดส่วนรายได้ อย่างน้อย 50% ต้องเข้าท้องถิ่น และท้องถิ่นต้องสามารถหารายได้เพิ่มเองได้ด้วย 4) การจัดโครงสร้างท้องถิ่น ต้องสามารถจัดการเองได้ และ 5) การตรวจสอบการมีส่วนร่วม ต้องยิ่งมีการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยประชาชนในพื้นที่ สร้างเงื่อนไขให้ท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูล โปร่งใสได้ และประชาชนสามารถเข้าร่วมจัดการงบประมาณ เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ ต้องผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าในแต่ละจังหวัด ต้องผลักเชิงโครงสร้างให้เป็นทั้งระบบ อีกทั้งยังเสนอให้ทำประชามติด้วย

หลังจากนั้น ธเนศวร์ เจริญเมือง ตัวแทนภาคีเครือข่ายเลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ได้สรุปความเห็นจากทางพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรคเอาไว้ว่า “วันนี้เราได้ความรู้ ความคิด ของแต่ละพรรค เราได้รู้เรื่องการเมืองประเทศไทย มันขาดการพัฒนาอย่างต่อเรื่อง ยกตัวอย่าง 8 ปีที่ผ่านมา เราเพิ่งมีการเลือกตั้ง มาไม่มีกี่วันมานี้ บัดนี้ประชาชนไทยตื่นตัวขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่พอ ยังต้องการเวลา บ่มเพาะ แลกเปลี่ยนกันต่อ

ทำไมเราจึงมีพรรคการเมืองจำนวนมาก? เนื่องจากระบบเราเป็นแบบนี้ เราอยู่ในกรอบหนึ่งซึ่งเขาเป็นคนกำหนดมา เรากลับเล็กลง ๆ แล้วมีอำนาจต่อรองน้อยลง ๆ การเลือกตั้งจะต้องมีครบทุก 4 ปี เราจะผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนแบบนี้ต่อไปอย่างไร การพูดคุยทางการเมืองจะต้องมีเรียนรู้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง มีการพูดคุย พบปะกันเสมอ ข้าราชการท้องถิ่นจะทำยังไง ก็ให้เป็นเรื่องของประชามติหรือการพูดคุยกัน”

ทางไพรัช ใหม่ชมพู คณะทำงานรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ มองว่าวันนี้ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะว่าการเชิญพรรคการเมืองมาให้เสนอนโยบายเฉพาะในเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราไม่เคยจัดเลยสักครั้ง และมองว่าการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ จะสำเร็จได้ต้องมีปัจจัย 2 อย่างคือ พรรคการเมืองเห็นด้วย และพี่น้องประชาชนเห็นด้วย โดยทั้ง 2 ปัจจัยหลักนี้จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

แม้ก่อนหน้านี้ เราได้มีการพยายามขับเคลื่อนพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครต่อสภา แต่ก็หยุดชะงักไปเนื่องจากมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตอนนี้เราจึงเริ่มขับเคลื่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ คู่ขนานไปกับกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเราจะสรุปบทเรียนและวางแผนระยะยาวต่อไป รวมถึงจะลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน

โดยจังหวะในการขยับต่อจากนี้นั้นทางภาคีจะจัดกิจกรรมคู่ขนานกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ โดยกิจกรรมภายในงานจะมีกิจกรรมหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เสมือนจริง (และเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์) คู่ขนานไปกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นอกจากนี้จะมีการเดินขบวน ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์, การแสดงทัศนะต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ จากผู้แทนทุกกลุ่มอาชีพ และนิทรรศการปัญหาในเชียงใหม่ที่แก้ไม่ได้ เป็นต้น โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. ณ ลานอเนกประสงค์ประตูท่าแพ เวลา 16.00 -19.00 น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net