คดีชายชุดดำในเงื้อมมือ คสช. ความยุติธรรมถูกพรากจากคนเป็นและไปไม่ถึงคนตาย

  •  คดี "ชายชุดดำ" คือกลุ่มคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทหารเข้าสลายการชุมนุม นปช.ในคืนวันที่ 10 เม.ย.53 ซึ่งมีกลุ่มบุคคลปิดบังใบหน้าใช้อาวุธสงครามยิงตอบโต้กับทหารที่กำลังใช้อาวุธสลายการชุมนุมอยู่
  • เหตุการณ์ผ่านไป 4 ปี เมื่อ คสช.รัฐประหารเข้ามาท่ามกลางสถานการณ์ที่ คสช.ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเรียกบุคคลรายงานตัวไปจนถึงจับกุมคนเข้าค่ายทหารไปสอบสวนเกี่ยวกับคดีความมั่นคง ในเดือนกันยายน 2557 ก็ปรากฏข่าวการจับกุมชายชุดดำที่ก่อเหตุได้
  • อย่างไรก็ตามเมื่อมีการสืบพยานกันในศาล ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาทำให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการสอบสวนในค่ายทหาร การได้มาซึ่งพยานหลักฐาน และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่รัฐได้มา 
  • สุดท้ายศาลพิพากษาพิพากษายกฟ้องบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำเหล่านี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมภายใต้ยุค คสช.ถูกตั้งคำถาม ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการเยียวยาจากการที่ต้องติดคุกหลายปีโดยไม่ได้ประกัน 

วันนี้ (19 พ.ค.2565)เป็นวาระครบรอบรำลึกถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงถูกสลายการชุมุนมโดยเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ.ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งขึ้นได้วนกลับมาอีกครั้งเป็นปีที่ 12 แล้ว

ในขณะที่ความคืบหน้าในคดีของผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในเวลานั้นกว่า 84 คนไร้ความคืบหน้าใดๆ มาตั้งแต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.รัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามามีอำนาจ แต่ในอีกด้านคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 กลับคืบหน้ามาไกลจากการใช้อำนาจพิเศษของ คสช.ในการไปติดตามจับกุมคนที่พวกเขาอ้างว่าเป็น “ชายชุดดำ” ที่ก่อเหตุใช้อาวุธมาดำเนินคดีได้ในศาลยุติธรรมจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว

แต่ผลลัพธ์ทางคดีกลับออกมาเป็นตรงกันข้ามกับที่ คสช.ประโคมข่าวว่าจับชายชุดดำได้แล้ว เพราะสุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้องพวกเขาไปทั้งหมดเนื่องจากพยานหลักฐานที่ใช้ดำเนินคดีได้มาโดยอาศัยอำนาจของคณะรัฐประหารมากลับไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ประชาไทสัมภาษณ์วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ(สกสส.) ทีมทนายความที่คอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องหาคดีการเมืองมานานหลายปีและเข้าร่วมเป็นทนายความให้แก่จำเลยในคดีชายชุดดำทุกคดี เพื่อเป็นการทบทวนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของ คสช.ในคดีชายชุดดำเหล่านี้ที่สร้างผลกระทบต่อเนื่องจนเกิดข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย

วิญญัติ ชาติมนตรี

ที่ผ่านมาที่ไปให้การช่วยเหลือคดีชายชุดดำ ปัญหาที่เจอในกลุ่มคดีเหล่านี้มีอะไรบ้าง ตั้งแต่ชั้นจับกุม จนมีคำพิพากษา

ปัญหาที่เจอแรกๆ เลยคือไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าผู้ถูกจับถูกนำตัวไปไหน จริงๆ ตามกฎหมายโดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 ต้องแจ้งให้กับญาติหรือผู้ที่บุคคลไว้วางใจเขาทราบว่าผู้ถูกจับเขาจะต้องนำตัวไปไหน แต่กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองโดยเฉพาะทหารเขาจะอ้างว่าเขาไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากว่าการนำตัวหรือควบคุมตัวไปมิใช่การจับกุม เป็นการเชิญตัวหรือว่าเขาจะเรียกอีกคำนึงว่าเรียกไปสอบถาม หมายความว่าเชิญตัวเรียกไปสอบถามหนะ ประกอบด้วยกำลังที่ติดอาวุธ โดยทหารมีรถบรรทุกมีรถฮัมวี่ มีรถอะไรทำมาเป็นเรื่องราวถืออาวุธ แล้วก็มีใส่ชุดในเครื่องแบบ มาเชิญตัวไปอย่างนี้ เขาเรียกเชิญตัวหรอ หรือเป็นการควบคุมรึเปล่า ปัญหาคือมันเลยมามาก พอเอาตัวไปเลยไม่รู้ว่าเขาจะพาตัวไปค่ายไหนหรือที่แห่งไหนแน่ อันนี้คือปัญหาตั้งแต่ชั้นจับกุมเลยนะ ที่เราเคยเจอมาแทบทุกคดีเป็นอย่างนี้หมด

โดยเฉพาะชายชุดดำวันที่จับกุมไปคืออ้างถึงเหตุที่เกิดเมื่อ 10 เม.ย.53 แต่ระหว่างปี 53 – 57 ไม่มีการจับกุมไม่มีการดำเนินการกับคนเหล่านี้ที่คุณอ้างว่าคุณมีข้อมูลหรือคุณมีเบาะแสว่าพวกเขากระทำความผิด แต่เป็นว่าพอทหารเข้ามาปกครองยึดครองประเทศแล้วก็มากุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดินคุณก็ใช้ให้ทหารไปดำเนินการเรื่องนี้

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวจับกุมชายชุดดำของตำรวจเมื่อ 12 ก.ย. 2557 

แล้วเป็นที่รับรู้กันในเวลาต่อมาว่าไม่ใช่ทหารที่ไปดำเนินการโดยลำพัง แต่ทหารอ้างว่ามาจากสายข่าวสายลับมาจากทหารฝ่ายความมั่นคง แต่คำว่าสายลับจากทหารเหมือนกับว่าทหารไปดำเนินการเอง จริงๆ ไม่ใช่กลายเป็นว่าตำรวจดำเนินการโดยเฉพาะตำรวจระดับนายพลที่ในขณะนั้นคือพล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เข้าไปร่วมสอบในค่ายทหาร กลายเป็นว่าตำรวจเข้าไปรับรู้ตั้งแต่แรก แสดงให้เห็นว่าบุคคลตามกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญาของรัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไป พัวพันแล้วเข้าไปยุ่งตั้งแต่แรกในลักษณะสมรู้ร่วมคิดกันหรือไม่

ดังนั้นเมื่อปิดบังสถานที่ปลายทางไม่บอกญาติคนผู้ที่ถูกจับกุมให้รู้ว่าจะพาตัวไปที่ไหนญาติจึงเกิดความกังวล แล้วต่อมาทนายความก็ได้รับโทรศัพท์ทนายความก็กังวลอีก นี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกคดีในภาวะที่เกิดจากการใช้กำลังทหารเข้ามาในช่วงนั้น นี่คือการจับกุมครั้งแรกเลยนะปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ที่ไปไม่รู้ใครพาไป

ปัญหาที่สอง ก็คือเมื่อนำตัวไปเข้าค่ายแล้ว วิธีปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นไม่ใช่เป็นผู้ต้องหาหรือผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญา นั่นหมายความว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองบุคคลที่ถูกดำเนินคดีทางอาญาจะไม่ถูกนำมาใช้ในค่ายทหาร เทียบเคียงคล้ายๆ กับเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คล้ายๆ กันแล้วกระบวนการก็นำรูปแบบนั้นมาใช้กับที่กรุงเทพฯ ด้วย เหตุการณ์ที่หน่วยทหารความมั่นคงของ คสช.ดำเนินการเอาเข้าค่ายคุมตัวเอาไปรีด และขณะที่เอาไปคุณไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญเพราะคุณอ้างว่าคุณเชิญตัวไป

พยานที่เป็นทหารโดยเฉพาะพลเอกวิจารณ์ จดแตง ในขณะนั้นเบิกความต่อศาลชัดเจนเลยนะ คุณอ้างว่าคุณใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก แสดงว่าการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกจะได้รับการยกเว้นรัฐธรรมนูญกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช่หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้รับการวินิจฉัยจากศาลหรอกนะ แต่ในคำให้การคุณอ้างหน้าตาเฉยว่าคุณเช็คกฎอัยการศึกแล้วนำตัวพวกนี้ไปได้ ไม่ต้องตั้งทนาย ไม่ต้องถาม อยากถามก็ถาม อยากสอบก็สอบ แล้วในกระบวนการก่อนที่จะไปถามเขาคุณพันธนาการเขาด้วยสายเคเบิ้ลไทร์ก็ดี เอาผ้าดำหรือเอาถุงคลุมหัวด้วยก็ดี ทุกอย่างนี้เกิดขึ้นกับทุกเคสที่เราได้รับรายงานจากการทำคดี ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องปิดตาเอาถุงคุลมหัว แล้วก็มีการทำร้ายร่างกายผู้ที่ถูกจับในขณะที่เอาถุงคลุมศีรษะ

อีกปัญหาที่ตามมาคือ ปัญหาข้อกฎหมายเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ หลายศาลที่เราสู้คดีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนชั้นฎีกาบางคดีศาลยังไม่วินิจฉัยชัดเจนก็คือปัญหาเรื่องการทำบันทึกซักถามในค่ายทหาร เคยได้ยินเรื่องบันทึกซักถามกันมาตลอดเวลาอยู่แล้วสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มี

บนหัวกระดาษ(ที่ใช้บันทึกคำตอบของคนถูกจับ)เขียนว่าบันทึกซักถามเลย ตัวหนาๆดำๆ แล้วก็บอกว่าทำที่ไหนมีใครร่วมซักถามบ้าง ทำเหมือนบันทึกถ้อยคำในคดีอาญาหรือบันทึกปากคำในคดีของผู้ต้องหาเลย แต่คุณอ้างว่าตอนนั้นยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาเป็นการเชิญไปถามเลยมีบันทึกซักถาม ในบันทึกซักถามมีทั้งบุคคลที่เปิดเผยชื่อและไม่เปิดเผยชื่ออยู่ในเอกสารนั้นแล้วมีการบันทึกคำถามคำตอบและข้อเท็จจริงที่คุณอยากจะได้เพื่อนำเขาไปสู่การดำเนินคดีของเขา มันจึงเป็นปัญหาว่าแล้วบันทึกซักถามถือว่าเป็นเอกสารราชการหรือเป็นเอกสารสำคัญที่จะนำไปใช้ในคดีอาญาใช่หรือไม่

ถ้าตอบว่าใช่กระบวนการหรือวิธีการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอย่างบันทึกซักถามมันควรจะถูกศาลวินิจฉัยตรวจสอบว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เรียกว่าบทตัดพยาน ดังนั้นเมื่อเมื่อยังไม่มีการวินิจฉัยจากศาลสูงหรือศาลยังเห็นว่าบันทึกซักถามเป็นเอกสารสำคัญ มันจึงเป็นปัญหาที่เรายังเผชิญอยู่ เพราะหากเกิดปัญหาว่าทหารเอาไปทำอย่างนี้อีก ก็จะเป็นแบบนี้อีก

ถ้าจะทำให้ชัดเจนขึ้นมาอีกคือถ้าเทียบกับคดีอาญา ในคดีอาญามันจะมีบันทึกจับกุม มีบันทึกการตรวจค้น ก่อนถึงจะมีการทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แต่บางคดีก็ไม่ได้ตรวจค้น บางคดีไม่มีการจับกุม หรือบางคดีมีบันทึกบัญชีพยาน บัญชีทรัพย์สินที่ได้จากการตรวจยึดบางคดีเป็นอย่างนั้น

แล้วบันทึกการจับกุม ในการจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามันคุ้มครองว่าคำรับสารภาพในชั้นจับกุมรับฟังไม่ได้หรือการกระทำจะต้องทำโดยชอบคือต้องคำนึงถึงสิทธิของคนในคดีอาญาโดยคำนึงถึงสิทธิรัฐธรรมนูญ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนต่างๆ จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วน ถูกไหมครับ

แต่กลายเป็นว่าบันทึกซักถาม เมื่อเปรียบเทียบกับบันทึกการจับกุมของคดีอาญา มันมีสถานะเท่ากันหรือสถานะมากน้อยกว่ากันแค่ไหน มันกลายเป็นเอกสารนอกกฎหมายและวิธีการมันจึงเป็นวิธีการนอกกฎหมายด้วยหรือไม่ตรงนี้ ศาลกลับไม่วินิจฉัย นี่คือ 3 ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นในชั้นจับกุม หรือชั้นเชิญตัวของทหารนั้นแหละ

ในชั้นสอบสวน ถ้าโฟกัสในคดีอาญาที่เป็นคดีชายชุดดำ ปี 2557 จับกุมมาไปซักถามเขาในค่ายทหารทำเอกสารบันทึกซักถามเสร็จ จะส่งตัวให้ตำรวจทำอย่างไรหละ ก็เอาบันทึกซักถามไปขอออกหมายจับที่ศาลก่อน แล้วศาลในภาวะนั้นก็คือศาลทหารนะ

ก็คือศาลเขาพิจารณาออกหมายจับจากบันทึกซักถามที่ผู้ต้องสงสัยสารภาพ ในชั้นจับกุมไปแล้ว ใช่ไหมครับ

ใช่ เราได้รับรู้ข้อมูลมาอย่างนั้นจากการไปยื่นคำร้องของพนักงานสอบสวนหรือของทหาร เราไม่มั่นใจว่าเขาใช้อะไรมาประกอบบ้างเพราะเขาไม่เปิดเผย แต่เรามาทราบภายหลังว่ามีบันทึกซักถามเป็นส่วนหนึ่ง แล้วคุณก็บอกว่ามีข้อมูลอย่างนี้ เขา(ผู้ที่ถูกทหารจับ) จึงเป็นผู้กระทำความผิดต้องถูกออกหมายจับแล้วศาลก็ออกหมายจับให้ คุณก็เอาหมายจับไปให้เขา เขารับว่าเขาเป็นบุคคลที่ออกหมายจับแต่ ทั้งที่คุณเอาตัวเขามาจากการเชิญแล้วนะ

ที่เขาทำแบบนี้เพราะต้องการทำให้กระบวนการทางคดีอาญามันเริ่มต้นตรงนี้แล้วนำตัวไปให้พนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนในคดีชายชุดดำก็คือพนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามมาดูแลคดีให้ ผบ.ตร.ในขณะนั้นที่เป็นคนแถลงข่าวคือสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นั่งคู่กับ วิจารณ์ จดแตง(ทหารพระธรรมนูญ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ คสช.) ยืนยันชัดเจนว่าคนพวกนี้รับสารภาพแล้วเป็นบุคคลกระทำความผิด เอาเขาจับมาแต่งตัวผูกผ้าแดงที่แขนคลุมหัว นั่งแถลงข่าวกัน 4 คน ไม่มีแค่คนเดียวคือคุณอร(ปุณิกา ชูศรี) ผู้ต้องหาคนที่ 5 แล้วตำรวจก็รับตัวผู้ต้องหาจากทหารในวันนั้น มีให้ตรวจร่างกายเพื่อยืนยันว่าไม่ได้ซ้อมไม่ได้บังคับขู่เข็ญเขา อันนี้คือกระบวนการที่เหมือนจะทำตามปกติที่ชอบด้วยกฎหมายนะ

แต่เรามาทราบทีหลังแล้วเราเห็นว่าความไม่ปกตินั้นคืออะไร คือหนึ่งคุณรับมอบตัวจากทหาร โดยอ้างว่าไปจับตัวมาทั้งที่คุณไปเชิญตัวมา มันไม่ปกติแล้ว สองตำรวจรับมอบตัวมาพร้อมกับบันทึกซักถามแล้วตำรวจเอาบันทึกซักถามมาก๊อปปี้คัดลอกลอกลงในบันทึกปากคำของผู้ต้องหา คือคุณเอาเขามาแล้วคุณแจ้งข้อหาเขาก็ตกเป็นผู้ต้องหาใช่ไหมละ แล้วคุณเอาบันทึกซักถามนั้นแหละมาเป็นเชื้อมาเป็นต้นแบบต้นร่างในการที่บอกว่าข้อเท้จจริง คือข้อเท็จจริงที่คุณให้การวันสอบสวน

มันจึงมีคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีชายชุดดำนะขีดเส้นใต้เลยว่า “มีกระบวนการมีวิธีการ ลอกเลียนคำให้การในบันทึกซักถามมีลักษณะเหมือนแทบจะทุกถ้อยคำกับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวน” ซึ่งศาลก็ตรวจสอบบันทึกชั้นสอบสวนว่ามันเหมือนบันทึกคำให้การในชั้นซักถาม แต่ศาลกลับไม่ตรวจสอบว่าทำไมมันเหมือนกัน ปัญหานี้มันคือเรื่องที่ทำให้เห็นพิรุธว่ามันไม่ได้มีการให้การต่อพนักงานสอบสวนด้วยความสัตย์จริงหรือเป็นจริง

มิหนำซ้ำข้อเท็จจริงที่เราได้จากการทำคดี ถ้าคุณบอกว่ามีการให้การต่อพนักงานสอบสวนเหล่านี้ หลายหน้าเหมือนที่คุณทำมา คุณใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงเป็นไปไม่ได้ คุณทำวันเดียวจบหมดเลยแล้วคุณก็เอาไปชี้ที่เกิดเหตุถ้ากลับไปย้อนดูข่าวในอดีตมันจะเป็นอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงมันกลับที่เกิดขึ้นคือว่าเอาข้อเท็จจริงในที่ซักถามแหละมาเป็นถ้อยคำของผู้ต้องหาในคำให้การ มันจึงเป็นการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนของกองปราบปรามฯ โดยชอบตั้งแต่นั้นมา

แต่ในความเป็นจริงศาลบอกว่ามันไม่มีน้ำหนัก ศาลวินัจฉัยว่าบันทึกถ้อยคำของผู้ต้องหาที่ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวน มันไม่มีน้ำหนักหรือน้ำหนักน้อย เพราะมันไปเหมือนกับบันทึกซักถามคือไม่เชื่อว่าจำเลยได้ให้การไว้จริง

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้ระบุชัดว่าพยานหลักฐานที่ได้มาจากซักถามภายใต้สภาวะการใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้(กฎอัยการศึกหรือพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จะรับฟังได้หรือไม่ได้อย่างไร?

ไม่ได้ระบุชัด แต่มันมีมาตรา 226 ที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุค คสช. แก้ในมาตรา 226/3 ว่า “ข้อความที่เป็นพยานบอกเล่าที่บุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึกไว้ในเอกสาร หรือวัตถุอื่นใด ซึ่งห้ามเป็นพยานต่อศาลหากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้นถือให้เป็นพยานบอกเล่า ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่” อันนี้หลักเหมือนดีนะคือห้ามฟังพยานบอกเล่าเป็นหลักการทั่วไปที่ใช้ทั่วโลกเขาบอกว่าห้ามฟังพยานบอกเล่า

พยานเอกสารในชั้นทหารข้อซักถามพวกนี้คือพยานบอกเล่าทั้งนั้นแหละ แต่กฎหมายนี้มันครอบคลุมอยู่ มันบอกในวรรค 2ว่า “ห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่” แล้วในวงเล็บ 1 คือ “ตามสภาพลักษณะแหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้” ถ้าออกมาเป็นเอกสารอะไรก็ตามถ้าคุณบอกว่ามันจะพิสูจน์ความจริงได้คุณก็รับฟังมันได้ใช่ไหมละ อันนี้คือช่องว่าของกฎหมายบ้านเรา

เหมือนจะบอกว่า เออ ฉันกำลังคำนึงถึงสิ่งที่ไม่ควร ฉันคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนคำนึงหลักการอยู่นะ แต่ฉันก็มีกฎหมายแอบทำอย่างนี้ คุณยังมีข้อยกเว้นที่กว้างมากแค่วงเล็บ 1 คือกว้างแล้ว ไหนจะวงเล็บ 2 ที่กว้างมากกว่าอีก คือ “เหตุจำเป็น” อะไรคือเหตุจำเป็นบ้างถ้าคุณบอกมันมีเหตุจำเป็นทุกอย่าง คือ “เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยินหรือทราบ...” บุคคลที่ได้ยินได้เห็นได้ทราบคุณอ้างว่าเป็นสายลับหรือคุณอ้างว่าเป็นสายข่าว แต่คุณไม่นำตัวมา มันได้เหรอ อันนี้ยกตัวอย่างนะ

ในคดีพวกนี้จะอ้างสายข่าวสายลับหมดเหมือนคดียาเสพติด คดีชายชุดดำนี้ก็มีนะแต่พยานบางปากไม่เอามา พอไม่เอามาถามว่ามันเป็นเหตุจำเป็นไหมก็บอกว่าเป็นเหตุจำเป็นก็เลยรับฟังได้ อ้าวแล้วมันเป็นธรรมไหมละ เออ อันนี้คือคำถาม ซึ่งความจริงเราเห็นว่ามันไม่เป็นธรรมใช่ไหม คือ 226/3 มันเป็นการเปิดช่องให้เกิดการรับฟังเอกสารหรือพยาน จากที่คุณถามเมื่อกี้คือว่ามันไม่มีกฎหมายระบุไว้ชัดนะ แต่มันมีถ้อยคำเหล่านี้ เขียนไว้อย่างกว้างเลยเปิดช่องให้รับฟังได้ไง

พอมีข้อยกเว้นลักษณะนี้มันก็เปิดโอกาสให้เกิดการจับกุมมิชอบแล้วทำให้เกิดการสอบสวนที่เรียกได้ว่ามีการซ้อมทรมานได้

ใช่ ปัญหาต่อมาในชั้นสอบสวนมันแบ่งเป็น 2 ปัญหา คือชั้นซักถามแล้วก็ปัญหาระดับชั้นสอบสวนขึ้นมาก็คือ ชั้นสอบสวนคุณมารับรองว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนจะมาถึงตัวพนักงานสอบสวน ไม่ได้มีมลทินไม่ได้มีความไม่ถูกต้องนะ คือถ้าคุณจะอ้างว่าไม่มีการซ้อมทรมานก็ไม่มีนะเพราะรับตัวไว้แล้วแล้วก็ตรวจสอบแล้วตามหมายจับแล้วก็ตรวจร่างกายแล้ว

แต่ปรากฏว่าความเป็นจริงคืออะไร อย่างคดีชายชุดดำนี่ไม่ได้กล่าวหาหรือใส่ร้ายเจ้าหน้าที่นะ แต่เราเอาข้อเท็จจริงจากการสืบพยานคือ จำเลยทั้ง 4 คน ที่เป็นผู้ชายอ้างว่าถูกบังคับและถูกทำร้ายร่างกาย บางคนจะมากจะน้อยต่างกันไป แต่ร่องรอยของการทำร้ายร่างกายไม่ปรากฏ พนักงานสอบสวนจึงบอกว่าไม่มีการทำร้ายร่างกาย นี่คือปัญหา

ดังนั้นการซ้อมทรมาน หรือการทำร้ายร่างกายหรือการบังคับให้รับสารภาพ มันเกิดขึ้นในชั้นซักถามของค่ายทหารนั้นแหละ นี่คือคดีที่ชายชุดดำเผชิญอยู่ บางคนถูกเตะหน้าอกจนจุก แล้วเอาถุงดำคลุมหัวเหมือนคดีนครสวรรค์ผู้กำกับโจ้ แต่ปรากฏว่าเขาไม่ตายไงทำให้เขาจะขาดอากาศหายใจ จำเลยที่ 1 พี่อ้วน(กิตติศักดิ์ สุ่มศรี) นี่แหละโดน บางคนโดนเตะหน้าอก บางคนโดนตบ บางคนโดนโทรศัพท์ขู่ไปยังครอบครัวต่อหน้าเขา วิธีการมันต่างกัน มันจึงไม่ปรากฏร่องรอยของการทำ ปัญหามันซ้อนปัญหาอยู่ที่พนักงานสอบสวนไปทำเหมือนรับรองว่ากระบวนการในชั้นก่อนมาถึงชั้นสอบสวนเป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย

ระดับต่อมานอกจากชั้นสอบสวนแล้วก็คือลำดับของการพิจารณาสำนวนของอัยการ อัยการบางคดีก็ดีนะบางคดีก็ไม่รู้ได้รับใบสั่งหรือเปล่า หมายความว่าอะไร อัยการแทนที่จะเห็นว่าสำนวนมันอ่อนแล้วไม่มีประจักษ์พยานหรือไม่มีใครที่เชื่อมโยงให้รับฟังได้ชัดเจนว่าพยานหลักฐานนี้เพียงพอในการที่จะสั่งฟ้อง อัยการกลับกล้วแล้วสั่งฟ้องตามตำรวจเลย 90% ของคดีที่ตำรวจส่งมาอัยการก็สั่งฟ้องตามนั้น

เมื่ออัยการสั่งฟ้องตามนั้นแล้วไม่มีไม่มีการกลั่นกรองสำนวนของพนักงานสอบสวนที่ดีพอ ใครถูกจับโดยทหาร คุณตกเป็นจำเลยเท่านั้นยากที่จะรอด ยกเว้นพยานหลักฐานไปไม่ได้จริงๆ เลย บางคดีในอดีตที่เราเคยช่วยมันไม่มีอย่างคดีอั้งยี่ในอดีตที่มีแต่คนแก่ถูกจับแล้วก็ถูกกล่าวหาว่าไปเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดอัยการก็สั่งไม่ฟ้องให้เพราะหลักฐานมันไปไม่ได้ บางคดีสั่งฟ้องเลยขนาดคดีชุมนุมยังสั่งฟ้อง

อัยการแทนที่จะทำตัวเป็นทนายของรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบกลั่นกรองสำนวนคดีอาญาของตำรวจ แต่คุณกลับไม่ทำหน้าที่นั้นอย่างแข่งขันและกล้าพอ

ต่อมาชั้นศาล ชั้นศาลก็คือเป็นกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญาเกือบจะสุดท้ายแล้ว ศาลก็รอรับฟังจากสำนวนที่ถูกทำขึ้นมาจากตำรวจและอัยการเท่านั้น ถ้าศาลมีความเป็นธรรมมีอิสระแล้วก็ให้โอกาสกับจำเลย ศาลก็จะรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยแล้วเปิดโอกาสให้จำเลยถามค้านได้พอสมควร แต่ถ้าศาลมีอคติ หรืออาจจะไม่มีอิสระ หรือมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อจำเลย ศาลก็อาจจะบีบให้จำเลยรับสารภาพ แล้วไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่นัก นี่คือกระบวนการในชั้นศาล นี่คือปัญหาทั้งหมดในคำถามแรกที่คุณถาม

แล้วที่ผ่านมาเท่าที่ได้เห็นพยานหลักฐานในศาลแล้ว พอจะมีตัวอย่างพยานหลักฐานของฝ่ายรัฐที่เป็นตัวตัดสินได้เลยว่าน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานมันไม่มีน้ำหนักพอฟ้องตั้งแต่แรก

มีครับ คดีชายชุดดำที่พี่อ้วนเป็นจำเลยที่ 1 ถูกเอาไปฟ้องอีกหลายคดีตามมาหลังจากคดีชายชุดดำ คือคดีแรกที่เขาถูกดำเนินคดีคือคดีชายชุดดำ คดีที่2 คือคดีที่พบระเบิดที่อพาร์ทเม้นต์ริมน้ำ เป็นจำเลยคู่กับเสกสรรค์ ในปี 53 แต่คดีนี้ยกฟ้องไปแล้ว แล้วก็คดีระเบิดอีก 3 คดีที่ศาลเพิ่งยกฟ้องเมื่อเดือนที่แล้วที่เป็นจำเลยคู่กับเสกสรรค์อีก แล้วคดีล่าสุดเป็นคดีที่กำลังพิจารณาอยู่ตอนนี้คือคดีที่อ้างว่าพี่อ้วนมีอาวุธแล้วเอาอาวุธนั้นไปใช้ที่แยกคอกวัวยิงเจ้าหน้าที่ทหารด้รับบาดเจ็บ นี่คือคดีชายชุดดำภาคสอง

ที่ถามว่าพยานหลักฐานอะไรที่น้ำหนักไม่พอจะฟ้องคืออะไร ก็คือไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าไม่มีจำเลยที่ 1 อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่มีใครยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 มีอาวุธ เราอ่านสำนวนเราเห็นเรารู้อยู่แล้ว แต่เราไม่มีหน้าที่วินิจฉัยแค่นั้นเองเพราะเราไม่ใช่ศาล แต่สิ่งที่ศาลวินัจฉัยต่อมาหลังจากเราสู้คดีมันกลับตอกย้ำชัดเจนว่าสิ่งที่เราคิดไม่ผิด นั้นก็คือศาลมองว่าเมื่อไม่มีประจักษ์พยาน หรือพยานแวดล้อมหรือพยานบอกเล่า เหล่านี้มันมีน้ำหนักน้อย ก็คือตัวอย่างคดีชายชุดดำ อันแรกก็คือบันทึกซักถามของทหารที่ไปเป็นต้นแบบหรือเหมือนบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนของตำรวจ ศาลบอกว่าพยานนี้มีน้ำหนักน้อย

แล้วพยานหลักฐานที่พบอีกก็คือว่า พยานบุคคลที่อ้างว่าเป็นประจักษ์พยานอยู่ในที่เกิดเหตุตอนไปจับกุมไปยึดอาวุธ M79 ในที่เกิดเหตุจากชายคนหนึ่งแต่ชายคนนั้นก็สะบัดแขนแล้วหนีไปแล้วก็ถูกจับได้แล้วก็พยานคนนี้ก็อ้างว่าเป็นน้องชายของจำเลยที่ 1 ของพี่อ้วนมีแค่นี้แต่ไม่มีบันทึกเลยไม่มีคำยืนยันว่าเห็นพี่อ้วนอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย เมื่อพี่อ้วนไม่ได้เกี่ยวตัวไม่อยู่ในที่เกิดเหตุเลย มีแต่ที่อ้างว่าไปยึดอาวุธได้จากน้องชายเขามันคนละคนไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมถึงฟ้องพี่อ้วนตั้งหลายคดี อันนี้จึงทำให้เห็นว่าไม่มีประจักษ์พยานนะ

ประเด็นต่อมา อาวุธที่คุณอ้างว่าคุณยึดได้จากที่เกิดเหตุ แล้วเอามาประกอบคดี คือ M79 1 กระบอกที่สน.ชนะสงครามยึดได้ ที่ด้ามของ M79 มันมีความยาวไม่เท่ากัน มันมีด้ามตัดกับด้ามไม่ตัด อันนี้รายละเอียดเลยนะ แต่กลายเป็นว่าประเด็นนี้มันตกไปตั้งแต่อยู่ในชั้นต้นแหละมันทำให้เห็นว่าเรื่องอาวุธไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นหลักฐานในการยืนยัน ศาลก็เลยไม่วินิจฉัยในชั้นสูงขึ้นมา แต่พี่กำลังพูดถึงว่าเรื่องอาวุธนี่ก็สำคัญเพราะว่าถ้าอาวุธคุณยึดได้บอกว่าเป็นของจำเลยความผิดในคดีนี้ แต่ทำไมมันต่างกันกับความเป็นจริงตั้งแต่แรก สาระสำคัญในเรื่องอาวุธ ที่ยังมีอยู่อีกก็คงจะเห็นในคดีอาญาทั่วไปอยู่แล้ว 1.ไม่มีลายนิ้วมือของผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่ครอบครองอาวุธ เพราะถ้าไม่มีลายนิ้วมือไม่มี DNA การจะยืนยันว่าเป็นของจำเลยหรือจำเลยครอบครองหรือถืออยู่แทบจะไม่ได้อยู่แล้ว นี่คือพยานหลักฐานที่เรามักจะพบบ่อยแล้วที่บอกว่าเมื่อเราเห็นแล้วเราเชื่อว่ายังไงเราก็สู้คดีได้ แล้วเราชนะด้วย

อีกเรื่องนึงเรื่องนี้สำคัญเลย ไม่ได้พบบ่อยแต่พบในชายชุดดำคือบันทึกวิดีโอ ที่มีการตั้งกล้องบันทึกซักถามไว้ในค่ายทหาร หมายความว่าคุณเอาตัวเขาไปนั่งแล้วคุณถามเขา 4-5 คน มีทั้งวิจารณ์ (จดแตง) มีทั้งศรีวราห์ มีทั้งทหาร 2-3 คน ยืนคุมยืนถามอยู่ต่อหน้ากล้อง เป็นชั่วโมงชั่วโมงหลายชั่วโมง

บันทึกทั้งหมดเราตรวจสอบเราเห็นแล้ว เราเห็นพิรุธว่าจำเลยอยู่ในอาหารสลึมสลือและอากัปกริยาในช่วงต้นกับช่วงหลังไม่เหมือนกัน ช่วงหลังมันเหมือนถูกมอมยาหรือถูกทำให้กลัว ก็ทำให้เห็นว่าการบังคับให้การมันเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บันทึกวีดีโอที่เราว่ามา หลักฐานส่วนนี้มันรับฟังได้ไม่ได้แล้วก็ไม่ได้รับการตรวจสอบจากเราอย่างจริงจังคือศาลไม่อนุญาตให้เราคัดถ่าย เพราะศาลอ้างว่าเป็นความมั่นคงของประเทศ

ตำรวจทหารเอาตัวเขาไปค่ายแล้วคุณเอามาใช้ในศาล แต่เรากลับไม่ได้รับอนุญาตให้คัดลอกวิดีโอเพื่อมาตรวจสอบ เราได้ดูเฉพาะในชั้นศาลต่อหน้าศาล

คดีที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีชายชุดดำยังมีเหลืออีกกี่คดีหรือมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมาอีกไหม

มีโอกาสอยู่นะ แต่เพราะว่ามันยังมีบางคดีที่ยังมีการสอบสวนอยู่ โดย DSI คือฝ่ายเราก็รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่มันกลายเป็นว่าคดีที่เป็นผู้ชุมนุม ถูกดำเนินคดีเอาขึ้นศาล ขึ้นศาลแล้วศาลเล่าหลายคดี แต่อีกด้านคดีของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังกับประชาชนจนถึงแก่ความตายกลับไม่มีความคืบหน้าถูกแช่แข็ง และถูกวินิจฉัยด้วยเรื่องทางเทคนิกของคดี

มันจึงเห็นว่ามีแนวโน้มว่าจะมีคดีเพิ่มอีกอยู่เหมือนกันแต่ไม่รู้ว่ามันจะมีจริงหรือไม่มีอันนี้ยังไม่กล้าฟันธง แต่ถามว่ามันเป็นไปได้ไหมมันก็เป็นไปได้ มันก็เหมือนคดีของพี่อ้วนเราไม่คิดว่าคนเดียวจะมีคดีถึง 6 คดีแต่ก็ยังมีถึงเลย

มันผิดหลักการอย่างหนึ่งและทำให้เราไม่สบายใจที่ว่าคดีมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมาหรือไม่ มันทำให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ให้ความสำคัญก็คือ ผิดหลักเรื่องของการดำเนินคดีซ้ำ คือจากคดีแรกที่ศาลวินิจฉัยตรวจสอบข้อเท็จจริงอะไรทั้งหมดแล้ว กลับกลายเป็นการเอาเรื่องเดียวกันการกระทำอันเดียวกันมาฟ้องอีก โดยตั้งคนละข้อหา ซึ่งความเป็นจริงแล้วอัยการและฝ่ายรัฐควรจะฟ้องไปในคราวเดียวกันเป็นคดีเดียวกันคนละข้อหา แต่กลายมาเป็นว่าคุณมาแยกฟ้องเป็นรายคดีรายข้อหา ซึ่งไม่ถูกต้อง

จริงๆ หลักการนี้มันได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง หลักการนี้ไทยก็รับมาแต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เอาไปใช้จริง คือหลักว่าบุคคลจะต้องไม่ถูกพิพากษาหรือถูกลงโทษในการกระทำความผิดกรรมเดียวกันเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษหรือปล่อยตัวแล้ว คดีชายชุดดำนี้คือการปล่อยตัวถูกไหม แทนที่พี่อ้วนจะได้ออกมาจากคุกแต่กลายเป็นว่าคุณก็อายัติตัวเขาไว้ดำเนินคดีต่อ สุดท้ายพี่อ้วนก็เป็นคนเดียวในทุกๆ คดีที่คุณดำเนินการแต่กลับไม่ได้ปล่อยตัวเลยทุกครั้งจนกระทั้งปัจจุบัน กลายเป็นว่าพี่อ้วนถูกขังมาตั้งแต่ปี 57 ถึงปัจจุบัน 6-7 ปี ไม่ได้รับการปล่อยตัวเลย คิดดูครอบครัวเขาจะเป็นอย่างไร ตัวเขาด้วย

ผมจึงยืนยันว่าเมื่อคดีแรกที่ยกฟ้องไปแล้ว รวมถึงประเด็นแห่งคดีถูกพิจารณาวินิจฉัยไปแล้วมันจึงเป็นกฎหมายปิดปาก

การที่รัฐเอาคดีมาฟ้องซ้ำๆ อย่างนี้ มันสร้างปัญหาอย่างไรบ้างกับทั้งตัวจำเลยในคดี ผู้เสียหายที่เป็นผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อ 10 เม.ย.53 หรือแม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรมเอง?

แยกเป็นตัว 3 ตัวละคร ตัวแรกคือตัวจำเลย หรือผู้ที่ถูกจับหรือพี่อ้วน ข้อแรกทำให้เขาต้องถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อนจากการกระทำกรรมเดียวเรื่องเดียวกันโดยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อเขาถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อนเขาก็ไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีอาญาด้วย เขากลายเป็นคนเดียวที่โครตซวยเลยคือไม่ได้รับอนุญาติให้ปล่อยตัว ทั้งที่คนอื่นก็ได้รับปล่อยตัวไปแล้ว ศาลอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูงเกรงว่าจะหลบหนี แล้วดุลยพินิจนี้ทำไมไม่ใช้กับคนอื่นที่โดนคดีมีอัตราโทษสูงบ้าง ถูกไหม กลายเป็นว่าศาลเดียวกันในคดีลักษณะเดียวกันแต่ใช้ดุลยพินิจต่างกัน ปัญหามันจึงเกิดกับตัวจำเลย ว่าเขาโดนคดีซ้ำซ้อนแบบนี้ทำให้เขาไม่ถูกปล่อยตัวเลย

ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดียกฟ้องไปเขายังพูดว่าเขาไม่ควรจะถูกดำเนินคดีแบบนี้ ควรจะได้รับการปล่อยตัวแต่เขาเองไม่มีอำนาจ กลายเป็นอำนาจของผู้บริหารศาลที่จะพิจารณาว่าจะปล่อยหรือไม่ปล่อย พอเรายื่นคำร้องขอปล่อยตัวถึงผู้บริหารศาลซึ่งไม่ใช่ผู้ที่มานั่งพิจารณาคดีก็มีแค่ดุลยพินิจว่าไม่อนุญาตให้ปล่อยเพราะว่าคดีเยอะเกิน ซึ่งหลักกฎหมายและดุลยพินิจแบบนี้ รวมถึงการพิจารณาคดีแบบนี้ทำให้เขาขาดอิสรภาพต่อเนื่องยาวนาน ย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวอยู่แล้ว

ดีที่พี่อ้วนเมียเขาลูกเขายังดูแลดูอะไรอยู่ แต่เมียเขาซึ่งมีอาการป่วยหนักหลังจากที่ผัวเข้าคุก เขาก็ไม่มีหัวหน้าครอบครัวไม่มีกระเป๋าหลักกลายเป็นว่ารายได้ก็ขาดหายไป ถ้าเป็นครอบครัวอื่นป่านนี้เมียไปมีสามีใหม่แล้วหรืออาจจะแยกทางกันไปแล้ว แต่ของพี่อ้วนเขายังเข้มแข็งกันอยู่แต่ความเข้มแข็งเขาอยู่บนฐานของความทุกข์ทรมาน ความยากลำบากนั้นแหละ

แฟ้มภาพ

ประการที่สอง ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้คดีที่ผ่านมาจะยกฟ้องแล้วก็อาจทำให้ได้รับเงินเยียวยา จากการถูกคุมขัง แต่การถูกดำเนินคดีซ้ำก็ทำให้สิทธิต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นของเขาเกิดความลักลั่นไม่สมบูรณ์จากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรม

ตัวละครที่สอง ผู้เสียหายที่เป็นผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อย่างเช่นเหตุการณ์วันที่ 10 เมษาฯ ผู้บาดเจ็บผู้เสียหาย มีทั้งฝั่งประชาชน 20 กว่าราย ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตอยู่ประมาณ 5 ราย แล้วบาดเจ็บอีกหลายราย ทั้งหมดแทนที่เขาจะได้รับเงินเยียวยาอย่างเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ แต่ความเป็นจริงมันกลายเป็นว่ามันไม่เหมือนกันคือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นทหารที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้รับเงินหมดแล้ว เรื่องเงินเยียวยานี้เกิดจากมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลักตอนนั้นเขาก็เยียวยาหมดให้ประชาชนด้วยนะ แต่เท่าที่ทราบบางคนยังได้เงินไม่หมดเลย เรื่องเงินเยียวยาอาจจะไม่เท่ากัน

เมื่อเงินเยียวยาไม่เท่ากันแล้วแทนที่ผู้เสียหายจะได้มีกระบวนการในการตรวจสอบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐทำอย่างตรงไปตรงมาหาตัวผู้กระทำความผิดมาแต่กลับกลายเป็นว่าเหมือนเล่นปาหี่กัน จับคนนั้นคนนี้มาอะไรต่างๆ มาแล้วทำให้คดีมีช่องโหว่เกิดการสู้คดีกันแล้ว กลับกลายเป็นว่าสุดท้ายแล้วใครเป็นคนกระทำความผิดกันแน่ แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้พลเอกร่มเกล้าเสียชีวิตที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยาจริงๆ แล้วใครเป็นคนทำกันแน่ ทั้งๆที่มันมีพยานที่เป็นเจ้าของบ้านอ้างว่ามีคนปาระเบิด บอกว่ามีเจ้าหน้าที่รับผิดเจ้าหน้าที่แต่งตัวคล้ายทหารตอนเช้า 4-5 คนมาเอากระเดื่องระเบิดไปแล้วหายไปไหน สรุปแล้วมันยังเป็นเรื่องที่คลุมเครืออยู่ว่าใครเป็นคนทำให้พลเอกร่มเกล้าและคนอื่นๆ เสียชีวิต

มันก็เลยกลายเป็นว่าผู้เสียหายเขาก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในแง่ที่ว่ายังหาตัวผู้กระทำความผิดตัวจริงมาลงโทษไม่ได้ ส่วนที่เขาได้รับไปเงินเยียวยาก็ถือว่าเป็นเรื่องของตัวเงิน มันเทียบไม่ได้กับชีวิตหรอกแต่ในเมื่อคนตายไปแล้วเขาก็ให้เงินหลายล้านเหมือนกัน คนที่บาดเจ็บบางคนได้หลักล้านบางคนได้หลักแสนก็แล้วแต่ความเจ็บแล้วแต่สถานการณ์

ทีนี้ตัวละครตัวสุดท้าย คือ กระบวนการยุติธรรม ก็คือการเอาคดีมาฟ้องซ้ำ มันทำให้เกิดปัญหาเสียงบประมาณ เสียเวลา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล แทนที่จะได้ไปทำเรื่องอื่น แต่กลับต้องถูกเอามานั่งรับผิดชอบเรื่องแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนก็อาจจะอาสามาทำบางคนก็ต้องถูกบีบมาทำ หรือบางคนก็ต้องถูกยัดเยียดให้ทำเพราะไม่มีใครอยากทำ

ดังนั้นแน่นอนกระบวนการยุติธรรมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแต่ละคดีมันเกิดการสูญเสียงบประมาณแน่นอนอยู่แล้ว ไหนจะค่าน้ำค่าไฟค่าดำเนินการ ค่าเสียเวลา ค่าพยาน บางคดีมีค่าพยานในคดีคุ้มครองพยานด้วยเอาเงินรัฐไปใช้โดยเอาเงินของคุ้มครองพยานไปให้พยานที่จะให้การปรักปรำและซัดทอดจำเลย เพื่อให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงแต่เราตรวจสอบแล้วว่ามันกลับกลายเป็นพยานที่แลกมาด้วยผลประโยชน์ แต่คุณเอาเงินรัฐไปใช้อย่างนี้ ในแง่ของรัฐเราสูญเสียงบประมาณและเงินแผ่นดินไปกับเรื่องแบบนี้โดยที่ไม่สมควรที่จะเสีย

จากคดีที่มีคำตัดสินแล้วเป็นส่วนใหญ่แม้ว่าศาลจะยกฟ้อง แต่มันมีจุดไหนที่ทนายเห็นว่ามันยังเป็นปัญหาอยู่บ้างและทนายความเองก็ไม่เห็นด้วย

มีครับ แม้ว่าจะยกฟ้องแล้วได้รับประโยชน์จากคำพิพากษาซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ก็ตามนะ แต่มันก็กลับไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเต็มร้อยซะทีเดียว หลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาในคดีอาญาที่เขาเรียกว่าเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายสำหรับจำเลยในคดีอาญา มี 3 หลักเกณฑ์ก็คือ

  1. ถูกอัยการฟ้อง
  2. ถูกคุมคังในระหว่างพิจารณาคดี
  3. คำพิพากษายกฟ้องว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด

หลักเกณฑ์นี้ทำให้คดีที่เป็นจำเลยในคดีชายชุดดำแม้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง แต่ก็ไม่ได้รับเงินค่าทดแทน เนื่องจากว่าคุณสมบัติหลักเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นคุณสมบัติที่เจ้าพนักงานของสำนักงานประกันสิทธิของกระทรวงยุติธรรม มักจะใช้ดุลยพินิจว่าหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่ระบุคลุมเครือว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ก็คือต้องไม่เป็นผู้กระทำความผิดหรือปรากฏหลักฐานว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด แต่คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีชายชุดดำ ยกฟ้องก็จริงแต่ไม่ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

แม้ผลลัพธ์มันจะออกมาดีคือศาลยกฟ้องโดยใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/2 แต่ในการเยียวยาได้รับเงินทดแทน กลับไม่ได้รับเงินตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว กฎหมายเขียนไว้สวยหรูอย่างดี แต่ทางปฏิบัติกลับใช้ไม่ได้หรือไม่พยายามจะให้ใช้ เหมือนมีกฎหมายเขียนๆ ไปงั้นทำๆ ไปนะ เป็นกฎหมายที่ดีนะ แต่ความเป็นจริงฉันไม่อยากจ่ายหรือไม่อยากระบุอย่างนั้น เดี๋ยวเจ้าหน้าที่รัฐจะต่องจ่ายหรือมีมุมมองว่ารัฐทำไม่ถูกก็ต้องไปจ่าย เดี๋ยวมันจะเสียหน้าอะไรอย่างนี้หรือเปล่า อันนี้เป็นข้อสังเกตซึ่งไม่ได้ยืนยันว่ามันจะเป็นอย่างนั้นหรอก แต่มันทำให้เราคิดได้เหมือนกันว่า กฎหมายแบบนี้มันไม่ได้เป็นธรรมที่แท้จริง เขียนไปให้สวยหรูอย่างนั้น

ประการต่อมาที่ถามว่าคำตัดสินที่ให้ยกฟ้องก็จริงแต่มีส่วนไหนที่เป็นปัญหาอยู่ เรื่องที่สำคัญก็คือ เรื่องที่เราเห็นบ่อยไม่ว่าจะเป็นคดีชายชุดดำหรือคดีอื่นๆ ในศาลคือเรื่องหลักประกันสิทธิเสรีภาพของจำเลย มันเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะยกฟ้องในคดีแรกแต่พี่อ้วนชายชุดดำแทนที่จะปล่อยตัวแล้วทำให้คดีหลังสันนิษฐานไปก่อนว่า เขาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา คือคดีแรกก็ปล่อยไป แล้วแทนที่คดีที่สองจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ก็ไม่ใช่ กลายเป็นว่าเขาถูกดำเนินคดีด้วยอัตราโทษร้ายแรงเกรงว่าจะหลบหนี อิสรภาพของเขาถูกริดรอนไปไม่พอยังทำให้เขาเสื่อมลงไปอีก มันเห็นชัดๆเลยโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยกระบวนการยุติธรรมไทย นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าหลักประกันสิทธิเสรีภาพเราย่ำแย่และเสื่อมถอยไปทุกทีๆ

อีกเรื่องหนึ่งคือปัญหาที่คิดว่ามันยังมีอยู่ก็คือเรื่องความไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างเพียงพอ อันนี้คือปัญหาใหญ่มาก ที่เราควรจะแก้ ไม่เฉพาะคดีการเมืองคดีชายชุดดำหรือคดีการเมืองหรอก มันมีหลายคดีที่ผู้กระทำเป็นคนรวย ผู้กระทำเป็นคนมีอิทธิพล ผู้กระทำเป็นคนที่มีหน้ามีตาหรือเป็นคนที่มีอำนาจต่อรองหรือเป็นพรรคพวกของใครก็ตาม มันกลับกลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือคนใดคนหนึ่งเท่านั้นเอง

นอกจากปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารแล้ว ทั้งเรื่องกระบวนการรับฟังพยานหลักฐาน ทั้งเรื่องชดเชยเยียวยา มันดูเป็นปัญหาที่มีอยู่แล้ว ถ้าเรามองไปข้างหน้าจากเรื่องนี้คิดว่าควรต้องไปแก้ปัญหาที่ตรงไหนบ้าง อย่างเช่นต้องแก้กฎหมายหรือไม่?

เห็นสมควรว่าต้องแก้กฎหมาย แต่แก้กฎหมายไม่พอ แต่ในทางปฏิบัติคนก็ยังวางระเบียบหลักเกณฑ์อะไรที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายอยู่เหมือนกัน มันแก้กฎหมายแม่บทไม่พอ ต้องแก้ระเบียบ แล้วก็แนวทางปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย นี่คือสมควรที่จะทำ

แล้วที่สำคัญก็คือต้องแก้ที่ตัวบุคคลทัศนคติของคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย เพราะว่าถ้าเราเรียกร้องเรื่องจริยธรรมคุณธรรมจากบุคคลเหล่านี้มันเป็นนามธรรมนะ มันเรียกร้องยาก แต่มันก็ต้องเรียกร้องจากทัศนคติก่อน แม้คุณจะไม่ชอบแต่คุณต้องมีทัศนคติที่ดีแล้วก็คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของเขาให้ได้เหมือนกันคุณก็จะปฏิบัติออกมาให้ดีได้ แต่เรื่องจริยธรรมคุณธรรมบ้านเรามันเขียนมาตรฐานจริยธรรมของหน่วยงานไว้อย่างนั้นอย่างนี้ พอผิดจริยธรรมบางอย่างคุณยังบอกว่าไม่ผิดเลย ดังนั้นการแก้ไขจริยธรรมมันไม่ใช่หลัก แต่มันต้องแก้ไขที่ทัศนคติบวกกับการปฏิบัติเลย เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องช่วยกันแก้

คำถามสุดท้าย เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 12 ปี คิดว่ามันจะมีวันที่รัฐสามารถจับกุมชายชุดดำได้จริงๆ หรือไม่ แล้วถ้าถึงวันที่เขาจับกุมมาได้แล้วรัฐยังเหลือความน่าเชื่อถืออีกหรือไม่ว่าคนที่จับกุมมาได้จะเป็นชายชุดดำจริงๆ

มันไม่ทันต่อเหตุการณ์แล้ว หมายความว่ามันไม่ทันต่อเหตุการณ์ในแง่ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐ เพราะหลายๆ อย่างที่รัฐทำออกมา ทั้งที่รัฐมันดำเนินคดีแล้วศาลยกฟ้องหรือหลายอย่างที่รัฐทำอย่างการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือการเลือกปฏิบัติ มันทำให้เกิดภาพลักษณ์ในทางที่ไม่ดีต่อรัฐแล้ว ซึ่งยิ่งช้ายิ่งทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือไปเรื่อยๆ ว่าแล้วที่ผ่านมาถึงจับไม่ได้ แล้วทำไมอีกคดีจับได้เร็ว พอจับมาแล้วคุณเอาแพะมาอีกหรือเปล่า

แล้วที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรามักจะเห็นว่ารัฐให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเองก่อน ซึ่งมันกลายเป็นมาตรฐานหรือฐานันดรคนละชั้นกันนะ ดังนั้นมาตรฐานที่ปฏิบัติต่อสถานะของบุคคล หรือฐานันดรที่ว่ามันถูกเลือกปฏิบัติแล้วถูกลักลั่นกันขนาดนี้ แม้ในอนาคตจะสามารถตอบคำถามหรือหาคนมารับผิดชอบเรื่องนี้เป็นชายชุดดำจริงๆ ก็ยากที่ประชาชนจะเชื่อหรือยากที่จะไปตอบโจทย์ในอดีตได้อย่างถูกต้องเพราะมันเป็นผลของการกระทำที่ไม่ตรงไปตรงมาของฝ่ายรัฐนั้นเอง นี่แหละคือผลเสียของมัน

 

ที่มาของ “ชายชุดดำ” กลุ่มบุคคลปริศนาที่ยังไม่คลาย

ชายชุดดำปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 ภายหลังจากที่กองกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเข้าทำการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.) หรือที่เรียกว่า “คนเสื้อแดง” มาตั้งแต่ช่วงบ่ายจนเกิดผู้เสียชีวิตรายแรกที่สะพานมัฆวานและต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเย็นที่กำลังทหารเข้าปิดล้อมพื้นที่ถนนราชดำเนินที่มีเวทีหลักของกลุ่ม นปช.ตั้งอยู่จากหลายทิศทางและเริ่มมีการใช้แก๊สน้ำตาทิ้งลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ตั้งแต่ช่วงก่อนหกโมงเย็นและกำลังทหารเคลื่อนเข้าสลายการชุมนุมจากทางถนนดินสอและถนนตะนาวจนเกิดผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกในคืนนั้นรวมแล้วเหตุการณ์ในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตฝั่งผู้ชุมนุมรวม 20 ราย(มีอีก 2 รายเสียชีวิตภายหลังในเวลาต่อมาจากอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจที่รักษาต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังวันที่ 10 เม.ย.จากการถูกใช้แก๊สน้ำตา)

ในคืนนั้นระหว่างที่ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตแล้ว หลายสำนักข่าวรายงานการปรากฏตัวของบุคคลสวมหมวกไหมพรมสีดำปิดหน้าตา บางรายสวมชุดดำพร้อมอาวุธสงครามที่แยกคอกวัวบนถนนตะนาวใช้อาวุธยิงตอบโต้กับทหารที่ตั้งแนวอยู่บริเวณปากทางเข้าถนนข้าวสาร จนทำให้ทหารต้องล่าถอยไป ทั้งนี้ในเวลาไล่เรี่ยกันทางด้านถนนดินสอหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาก็เกิดเหตุระเบิดในแนวหลังของทหารจนทำให้นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่อย่างพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมเสียชีวิตคือพร้อมกับทหารอีก 4 นาย เบื้องต้นมีการรายงานว่าเป็นการยิงกระสุนระเบิดจากเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 เป็นเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิตดังกล่าว

ภายหลังเหตุการณ์คืนวันที่ 10 เม.ย.2553 เรื่องของชายชุดดำก็กลายเป็นคำอธิบายหลักของ ศอฉ.ในการใช้กำลังทหารในการจัดการกับการชุมนุมที่ยังดำเนินต่อไป และมีการรายงานการปรากฏตัวของชายชุดดำอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุตลอดระยะเวลา 4 ปี ก่อน คสช.ทำการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 คดีความที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ดังกล่าวกลับมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นกล่าวคือจากการเสียชีวิตทั้งหมด 94 คน มีเพียง 33 คนที่คดีมีความคืบหน้าได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และมีเพียง 18 คนที่ศาลมีคำสั่งระบุว่าเป็นการตายจากการถูกยิงมาจากทิศทางที่ทหารวางกำลังอยู่ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะยังมีอีก 15 คนที่ศาลไม่ได้ระบุว่าเป็นการยิงจากทหารหรือไม่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งศาลในคดีใดที่ระบุว่าการตายที่เกิดขึนเกิดจากการยิงของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายหรือชายชุดดำ ศาลเพียงแต่ระบุว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

แต่กระบวนการไต่สวนการตายนี้เป็นขั้นตอนตามกฎหมายสำหรับการพิสูจน์สาเหตุการตายที่เกิดขึ้นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้การเสียชีวิตของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารในคืนวันที่ 10 เม.ษ.ไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการนี้

แต่ถึงกระนั้นภายหลังการสลายการชุมนุมก็ไม่ปรากฏข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมชายชุดดำได้อยู่เป็นเวลาถึง 4 ปีเต็มๆ จนกระทั่ง คสช.ทำการรัฐประหารเข้ามาและเริ่มมีการกวาดล้างกลุ่มทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะสมาชิก นปช.โดยอาศัยทั้งการประกาศคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว ใช้กำลังทหารไปจับกุมคนเข้าค่ายทหาร จนกระทั่งวันที่ 5 ก.ย.2557 เจ้าหน้าที่ทหารได้ทยอยจับกุมบุคคุลไปเข้าค่ายทหารรวม 5 คน ได้แก่ กิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรืออ้วน, ปรีชา อยู่เย็น หรือไก่เตี้ย, รณฤทธิ์ สุวิชา หรือนะ, ชำนาญ ภาคีฉาย หรือเล็กและปุณิกา ชูศรี หรืออร พวกเขาถูกคุมตัวและสอบสวนในค่ายทหาร จากนั้นได้มีการนำตัวมาแถลงข่าวว่าเป็นกลุ่มชายชุดดำที่ก่อเหตุใช้อาวุธสงครามยิงต่อสู้บนถนนตะนาวในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553

การแถลงข่าวหลังการจับกุมถูกจัดขึ้นอย่างใหญ่โตมีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงหลายนายตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการตำรวจห่งชาติลงมา มีการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจคอมมานโดพร้อมอาวุธปืนกลเล็กคุมตัวพวกเขามาแถลงข่าว มีการพาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ จนเสมือนกับว่าการจับกุมครั้งนี้สามารถเปิดเผยปริศนาของชายชุดดำที่ดำเนินอยู่เป็นเวลาหลายปีได้แล้ว แม้ว่าเมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดี ข้อหาที่มีโทษหนักสุดจะเป็นเพียงข้อหามีอาวุธสงครามในครอบครองและพกพาไปในเมืองเท่านั้น

แต่เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลอาญาในช่วงปี 2558-2559 จนกระทั่งมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นออกมาเมื่อ 31 ม.ค.2560 ผลปรากฏว่าศาลยกฟ้องจำเลยถึง 3 คนจากทั้งหมด 5 คน กระทั่งพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ตำแหน่งในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา) ให้สัมภาษณ์ภายหลังมีคำตัดสินว่าดีใจที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 เพราะทำให้สังคมเห็นว่าชายชุดดำมีจริง

อย่างไรก็ตามพยานปากสำคัญในคดีซึ่งเป็นอดีตทหารพลขับรถฮัมวี่ที่ระบุว่าเห็นกิตติศักดิ์ในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 อยู่บนรถตู้คันที่ขับสวนไปและเห็นอาวุธสงครามในรถ แต่ปรากฏว่าพยานอดีตทหารปากนี้กลับเคยเบิกความในศาลในคดีไต่สวนการตายของฮิโรยูกิ มุราโมโต้ นักข่าวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตบนถนนดินสอในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 ที่เบิกความถึงคืนเกิดเหตุว่าอยู่ที่ถนนตะนาวเช่นกันแต่ในครั้งนั้นเขาไม่เห็นใบหน้าและจำไม่ได้ว่าคนบนรถตู้เป็นใคร ประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆ ของฝ่ายจำเลยที่ทำให้มีการอุทธรณ์คดีต่อมาและนำไปสู่การที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด

ศาลยกฟ้อง 'อ้วน กิตติศักดิ์' และ 'เสกสรร' คดีระเบิด Big C ราชดำริและอีก 2 แห่งในปี 53

ทั้งนี้ระหว่างที่คดีชายชุดดำยังอยู่ในระหว่างการสืบพยานในศาลชั้นต้น พนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในคดีอื่นๆ ต่อกิตติศักดิ์ สุ่มศรี เพิ่มเติมอีกหลายคดีหากรวมคดีชายชุดดำด้วยกิตติศักดิ์ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 6 คดี โดย5 คดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปหมดแล้ว บางคดีเขาถูกฟ้องร่วมกับบุคคลอื่นนอกกลุ่ม 5 คนในคดีชายชุดดำ

แต่มีคดีที่กิตติศักดิ์และปรีชาถูกฟ้องซ้ำอีกคดีจากเหตุการณ์คืนวันที่ 10 เม.ย.2553 แต่เป็นคดีที่ทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่ามีเจตนาฆ่าจากการทำทหารได้รับบาดเจ็บ 25นาย และพยานหลักฐานอาวุธสงครามที่ใช้ฟ้องพวกเขาก็เป็นชุดเดียวกับคดีชายชุดดำที่ยกฟ้องไป ซึ่งมีปัญหาในข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่จะไม่สามารถฟ้องจำเลยซ้ำในเหตุการณ์กระทำความผิดเดียวกันได้ซ้ำอีกครั้งในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว(หากเป็นการฟ้องเพิ่มระหว่างคดีไม่สิ้นสุดแยกเป็นอีกคดีจะเรียกว่าฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173)

นอกจากคดีของกลุ่มชายชุดดำ 5 คนข้างต้นนี้แล้ว ที่ผ่านมายังมีคดีของจำเลย 3 คน ได้แก่ สุขเสก หรือเสก พลตื้อ, พรกมล บัวฉัตรขาว หรือกนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์ อดีตผู้ดำเนินรายการทีวีสถานีประชาชน ช่องเอเชียอัพเดต และสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปาระเบิดบนถนนดินสอที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยาที่เป็นเหตุทำให้ทหารจำนวน 5 นายเสียชีวิตจากการระเบิดซึ่งมีพล.อ.ร่มเกล้ารวมอยู่ด้วยนั้น ศาลก็ยกฟ้องอีกเช่นกันและศาลยังระบุอีกว่าการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นการเสียชีวิตจากระเบิดชนิดขว้างแบบเอ็ม 67 ทั้งนี้มีข้อสังเกตจากวิญญัติที่เป็นทนายความในคดีนี้เช่นกันว่าจากการสืบพยานพบว่าภายหลังเกิดเหตุมีชาย 4-5 คนอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าไปเก็บกระเดื่องระเบิดไป แต่กลับปรากฏว่าหลักฐานชิ้นนี้หายไป

จากข้อมูลที่ปรากฏในศาล เมื่อชายชุดดำที่คณะรัฐประหารยืนยันว่าจับกุมมาได้แล้วแต่พยานหลักฐานในคดีกลับบอกไปในทางตรงกันข้ามว่าพวกเขาไม่ใช่ชายชุดดำ มิหนำซ้ำหลักฐานของฝ่ายคณะรัฐประหารหามาเสียเองที่มีแต่ปัญหาสร้างข้อกังขาเพิ่มว่านี่จะเป็นการพยายามหาแพะมาเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของชายชุดดำที่พวกเขาใช้เป็นข้ออ้างหลักในการใช้กำลังสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมปี 2553 และยังอาจรวมถึงเป็นข้ออ้างให้ คสช.ดำรงอยู่ได้นานถึง 6 ปีจากข้ออ้างที่ว่าเข้ามาทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่านายทหารหลายนายใน คสช. ก็เคยทั้งนั่งอยู่ในคณะกรรมการ ศอฉ.หรือเป็นนายทหารที่คุมกำลังในการสลายการชุมนุมครั้งนั้นด้วย

แม้ว่าอาจจะปฏิเสธการมีอยู่ของชายชุดดำไม่ได้ว่าเคยปรากฏตัวในเหตุการณ์คืนวันที่ 10 เม.ย.2553 แต่เรื่องราวของชายชุดดำก็จะยังคงเป็นปริศนาต่อไปและอาจจะตลอดไปเมื่อพยานหลักฐานค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลา อีกทั้งกลับกลายมาเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของรัฐและลดทอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเสียเอง

อ้างอิง

บทที่ 2 ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง เมษา 53 ของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท