ยูเครนใช้ยุทธศาสตร์แบบใด ถึงยังไร้พ่ายต่อการรุกรานจากรัสเซียจนถึงตอนนี้

มิค ไรอัน นักยุทธศาสตร์อดีตทหารยศพลตรีของกองทัพออสเตรเลียเขียนบทความในเรื่องที่ว่าชาวยูเครนใช้ยุทธศาสตร์แบบไหนในการต่อกรกับกองทัพรัสเซีย และสามารถประสบชัยชนะอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

 

20 พ.ค. 2565 มิค ไรอัน นักยุทธศาสตร์อดีตทหารยศพลตรีของกองทัพออสเตรเลียชี้ว่า ตลอดช่วงที่มีการรุกรานยูเครน กองทัพรัสเซียถูกบีบให้ต้องปรับเปลี่ยนการประเมินเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ใหม่อยู่เสมอ แผน A ของพวกเขาคือการยึดครองกรุงเคียฟ เมืองคาร์คีฟ และจุดยุทธศาสตร์สำคัญอื่นๆ รวมถึงจับตัวกลุ่มผู้นำรัฐบาลยูเครนและบีบบังคับให้ยูเครนต้องยอมตามพวกเขาในทางการเมือง

แต่แผนการเหล่านี้ของรัสเซียก็ล้มเหลว ซึ่งไรอันมองว่าเป็นเพราะความสามารถในปฏิบัติการรบของยูเครนเองและความเป็นผู้นำทางยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี

เมื่อแผน A ล้มเหลวก็บีบให้รัสเซียต้องหันไปใช้แผน B นั่นคือการโจมตีจากหลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นจากทางใต้, ตะวันออก, ตะวันออกเฉียงเหนือ, จากทางเหนือ และจากทางอากาศ ซึ่งแผนการเหล่านี้มีตารางการปฏิบัติการที่ช้ากว่า ไรอันระบุว่า แผนการ B ของรัสเซียก็ล้มเหลวเช่นกัน ทำให้หลังจากนั้นรัสเซียก็หันไปเน้นเรื่องดอนบัสและการพยายามสร้าง "สะพานแผ่นดิน" จากรัสเซียไปที่ไครเมีย ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของยูเครนที่รัสเซียอ้างสิทธิเหนือพื้นที่และเคยใช้กำลังเข้ายึดครองในปี 2557

มีการตั้งข้อสังเกตจากไรอันว่า นับตั้งแต่ที่รัสเซียรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. เป็นต้นมา รัสเซียก็ทำการลดระดับเป้าหมายทางการเมืองของพวกเขาที่มีต่อยูเครนลงมาเรื่อยๆ รวมถึงลดระดับยุทธศาสตร์ในการที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นด้วย

ไรอันชี้ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ปกติในการสงคราม ในขณะที่เป้าหมายทางการเมืองเป็นสิ่งที่คอยกำหนดว่าจะมีการดำเนินสงครามอย่างไรและการสู้รบจะเป็นไปในรูปแบบไหน ขณะเดียวกันการสู้รบที่เกิดขึ้นก็จะย้อนกลับมากำหนดเป้าหมายทางการเมืองเองด้วย เช่นที่นักยุทธศาสตร์อเมริกัน เอเลียต โคเฮน เขียนไว้ในบทความเมื่อไม่นานมานี้ว่า "การรักษาไว้ซึ่งการรับรู้ทิศทางของสงครามนั้นเป็นสิ่งที่ผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางทหารในระดับสูงต่างก็ต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เองเหล่าเจ้าหน้าที่เสนาธิการ (และนักวิจารณ์ตามหน้าสื่อ) ต่างก็ต้องเผชิญกับความน่าหงุดหงิด"

ไรอันมองว่าทางฝ่ายยูเครนนั้นไม่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายไปมาแบบเดียวกับรัสเซีย น่าจะเป็นเพราะว่าพวกเขาเป็นฝ่ายป้องกันตัวเอง เป้าหมายของพวกเขาจึงไม่ซับซ้อนนั่นก็คือการปกป้องอธิปไตยของประเทศตัวเอง ปกป้องประชาชนของตัวเอง และปกป้องผืนแผ่นดินของตัวเอง แต่ในช่วงไม่นานนี้ก็เริ่มมีการพูดถึงการได้รับชัยชนะเหนือรัสเซียเล็ดลอดเข้ามาในวาทกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้วย

ทั้งนี้ไรอันยังมองว่ากองทัพของยูเครนมีความมั่นใจจากการที่ผู้นำทางการเมืองของพวกเขามีความแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ทำให้กองทัพยูเครนแสดงให้เห็นถึงความคงเส้นคงวาตลอดช่วงที่มีสงคราม

ไรอันระบุว่าสาเหตุที่ยูเครนทำได้สำเร็จในเรื่องนี้เป็นเพราะการนำยุทธศาสตร์การทหารแบบหนึ่งมาใช้ เป็นยุทธศาสตร์แบบเรียบง่ายที่เรียกว่า "การกร่อนทำลาย" (Corrosion) ในออสเตรเลียนั้นมีการเรียกความสามารถในการสู้รบว่าเป็น "พลังต่อสู้" (fighting power) ซึ่งนับจากทั้งปัจจัยทางด้านกายภาพ, ปัจจัยด้านขวัญกำลังใจ และปัจจัยทางการข่าว วิธีการของยูเครนคือการลดทอนกำลังเหล่านี้ของรัสเซียจากภายใน ไม่ว่าจะเป็นการกร่อนทำลายกำลังในด้านกายภาพ, ขวัญกำลังใจ และการข่าว พวกเขาใช้วีธีลดทอนกำลังเช่นนี้ทั้งบนสนามรบและในพื้นที่ข้อมูลข่าวสารนานาชาติ

ยุทธการ "กร่อนทำลาย" กำลังของรัสเซียทีละน้อยนั้นกระทำโดยการที่ยูเครนโจมตีรัสเซียในจุดที่รัสเซียอ่อนแอ ขณะเดียวกันก็ใช้กำลังการรบของยูเครนในการชะลอกองกำลังของรัสเซีย ในเรื่องนี้ บาซิล ลิดเดลล์ ฮาร์ท นักประวัติศาสตร์และนักทฤษฎีด้านการทหารของอังกฤษเคยพูดเอาไว้ว่ามันเป็นวิธีการทางอ้อม ฮาร์ทระบุเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ "ยุทธศาสตร์" (Strategy) ที่นับเป็นผลงานคลาสสิกของเขาในเรื่องที่ว่าทำไม "การบรรลุเป้าหมายในสงครามอย่างเต็มประสิทธิภาพนั้นถึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก เว้นแต่ว่าวิธีการที่ใช้จะมีการกระทำแบบทางอ้อมเพื่อทำให้แน่ใจว่าศัตรูจะไม่พร้อมรับมือกับมัน การกระทำแบบอ้อมๆ นี้เองมักจะเป็นไปในลักษณะเชิงกายภาพโดยทั่วไป และจะเป็นไปในเชิงจิตวิทยาอยู่เสมอ"

ซึ่งดูเหมือนว่ายูเครนจะใช้ยุทธศาสตร์ตำรานี้อย่างเต็มที่ พวกเขาโจมตีใส่ระบบที่สนับสนุนเชิงกายภาพของกองกำลังรัสเซียที่อ่อนแอที่สุดในสนามรบ นั่นก็คือเครือข่ายการสื่อสาร, เส้นทางขนส่งลำเลียงเสบียง, พื้นที่แนวหลัง, ปืนใหญ่และผู้บัญชาการระดับสูงที่อยู่ในกองบัญชาการ ในศึกสงครามที่กรุงเคียฟ ชาวยูเครนสามารถต่อสู้กับรัสเซียได้จนทำให้รัสเซียต้องหยุดนิ่งเพราะพวกเขาสามารถเจาะพื้นที่แนวหลังของรัสเซียและทำลายบางส่วนของช่องทางขนส่งลำเลียงการสนับสนุนได้สำเร็จ พวกเขา "กร่อนทำลาย" กองกำลังสำรวจทางเหนือของรัสเซียอย่างช้าๆ จากภายใน จนกระทั่งในที่สุดก็บีบให้พวกนั้นเลิกล้มภารกิจหนีออกจากพื้นที่ไปอย่างอัปยศอดสู

ในภาคตะวันออกของยูเครน ชาวยูเครนก็ใช้ยุทธศาสตร์แบบ "กร่อนทำลาย" เช่นกัน พวกเขาโจมตีระบบการขนส่งลำเลียงของรัสเซีย ถึงแม้ว่ารัสเซียจะเคลื่อนพลอย่างระมัดระวังมากกว่าเดิมก็ตาม ชาวยูเครนยังทำการโจมตีส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับกองทัพรัสเซียด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยวิศวกร, โดรนสอดแนม, คลังน้ำมัน และผู้บัญชาการระดับสูงของรัสเซีย เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชาวยูเครนใช้วิธีการกัดกร่อนจากภายในเพื่อทำลายประสิทธิภาพเชิงรูปธรรมในการสู้รบของรัสเซีย

ไรอันระบุว่าเป็นไปได้ว่าการทำลายประสิทธิภาพเชิงรูปธรรมดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในด้านขวัญกำลังใจและด้านข่าวกรองของของกองกำลังรัสเซียด้วย ที่พวกเขาถูกกร่อนขวัญกำลังใจเพราะพ่ายแพ้ในสนามรบ เป็นเพราะปัญหาเกี่ยวกับเสบียงและการต้องล่าถอยเพราะเผชิญกับแรงกดดันของยูเครนในกรุงเคียฟและเมืองคาร์คีฟ

นอกจากนี้การที่ชาวยูเครนใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงให้เห็นความบกพร่องของรัสเซียก็ยิ่งส่งผลต่อการกร่อนขวัญกำลังใจรัสเซียมากขึ้น เมื่อสูญเสียขวัญกำลังใจก็ส่งผลให้วินัยในสนามรบย่อหย่อนลง มีทหารรัสเซียที่หนีทัพ การปฏิเสธจะลงสนามรบ และก่ออาชญากรรมสงคราม และเมื่อเกิดปัญหาการเสียขวัญกำลังใจและการขาดวินัยในสนามรบขึ้นมาแล้ว ถ้าหากไม่มีการแก้ไขปัญหา มันก็อาจจะลุกลามไปเรื่อยๆ ภายในกองทัพได้ ชาวยูเครนได้ทำให้ใจที่จะสู้ของรัสเซียลดน้อยถอยลงอย่างช้า ถ้าหากมีความล้มเหลวในสนามรบเกิดขึ้นอีกก็อาจจะส่งผลให้ขวัญกำลังใจของกองทัพรัสเซียพังพาบเลยก็ได้

นอกจากนี้ยูเครนยังสามารถบีบให้เกิดการกร่อนทำลายการข่าวของรัสเซียได้ด้วย การที่กองทัพรัสเซียถูกกดดันให้ต้องได้รับชัยชนะอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากที่ล้มเหลวไปก่อนหน้านี้ ทำให้ปฏิบัติการทางทหารของพวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้นในเชิงยุทธวิธีและเชิงปฏิบัติการ จากความล้มเหลวไม่เป็นท่าในการบุกสะพานข้ามแม่น้ำเซเวอร์สกีย์ โดเนตส์ ที่กองพลน้อยของรัสเซียอย่างน้อยกองหนึ่งถูกทำลายสมรรถนะทางการสู้รบ แสดงให้เห็นว่ากองทัพรัสเซียมีความสามารถลดลงในการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการตัดสินใจที่สำคัญในเชิงปฏิบัติการและในเชิงยุทธวิธี

ไรอันระบุว่าการที่ยูเครนมีความคงเส้นคงวาในการใช้ยุทธศาสตร์เหล่านี้ทำให้ยูเครนได้เห็นว่ากองทัพรัสเซียได้ใช้ความพยายามอย่างถึงขีดจำกัดแล้ว และจากการที่พวกเขากร่อนทำลายรัสเซียทั้งทางกายภาพ, ทางขวัญกำลังใจ และทางการข่าวจากภายใน ทำให้ยูเครนพัฒนาการกลยุทธ์สงครามขึ้นไปอีกขั้นโดยการผสมผสานทั้งปฏิบัติการตามแบบ (conventional operation) ทั้งทางบก, ทางน้ำ, ทางอากาศ รวมกับปฏิบัติการนอกแบบ (unconventional operation) และปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารมาบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวแบบแบ่งแยกไม่ได้

"นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการทำสงครามในยุคสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไร ยูเครนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาเป็นเซียนในเรื่องนี้ นี่เป็นสิ่งที่ประเทศขนาดกลางที่มีทรัพยากรจำกัดทุกประเทศ (รวมถึง ออสเตรเลีย ด้วย) สามารถเรียนรู้จากมันได้" ไรอันระบุในบทความ

 

 

 

เรียบเรียงจาก

The ingenious strategy that could win the war for Ukraine, The Sydney Morning Herald, 17-05-2022
https://www.smh.com.au/world/europe/the-ingenious-strategy-that-could-win-the-war-for-ukraine-20220517-p5alz4.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท